เรื่องราวของผู้ฟ้องคดี 22 ราย ที่พยายามต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิครอบครองในที่ดินที่พวกตนอยู่อาศัยมายาวนาน เนื่องจากที่ดินดังกล่าวได้ถูกทางราชการกําหนดให้เป็นเขตป่าชายเลนซึ่งต้องห้ามมิให้มีการออกเอกสารสิทธิแต่ให้มีสิทธิในการทํากินหรือทําประโยชน์ในที่ดินได้เท่านั้น ทั้งนี้ การต่อสู้ของผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน เพื่อให้ได้มาซึ่งโฉนดที่ดินในครั้งนี้ได้มีการสู้คดีกันจนถึงชั้นศาลปกครองสงสูด
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.193/2553 คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อปี 2538 กรมที่ดินได้ทําการเดินสํารวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่ที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คนอาศัยอยู่ ซึ่งผู้ที่พนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ให้ได้จะต้องเป็นผู้ซึ่งครอบครองที่ดินภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบยํ่า หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ และต้องเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิในที่ดินได้ครอบครองและทําประโยชน์แล้ว แต่ห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินสําหรับที่ดินที่คณะรัฐมนตรีสงวนไว้เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น (มาตรา 58 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน)
ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน เห็นว่าตัวเองเข้าข่ายตามเงื่อนไขดังกล่าว จึงรีบพากันไปแจ้งความประสงค์และนําเจ้าพนักงานที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ทําการเดินสํารวจออกโฉนดที่ดิน ซึ่งหลังจากที่ได้มีการรังวัดสอบสวนสิทธิและตรวจสอบระวางแผนที่ที่ใช้ในการออกโฉนดแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินเห็นว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีอาจอยู่ในเขตป่าชายเลน จึงได้มีหนังสือไปถึงผู้อำนวยการสํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) เพื่อให้ทําการตรวจสอบ ซึ่งผลปรากฏว่าที่ดินจํานวน 22 แปลงดังกล่าวอยู่ในเขตป่าชายเลนเขตเศรษฐกิจ ข ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2530 เจ้าพนักงานที่ดินจึงไม่อาจออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 รายได้
ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดจึงได้โต้แย้งว่า พวกตนได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว โดยเป็นการครอบครองที่ดินซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้เป็นป่าชายเลน อีกทั้งปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นชุมชน มีไฟฟ้า ประปา ถนนคอนกรีต ซึ่งหมดสภาพการเป็นป่าชายเลนไปแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ที่ได้ทําการเดินสำรวจรังวัดที่ดินก็ได้แจ้งกับผู้ฟ้องคดีว่าที่ดินที่พิพาทไม่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ไม่อยู่ในเขตป่าชายเลน และได้กําหนดวันเพื่อแจกโฉนดที่ดิน พอถึงวันดังกล่าวพวกตนกลับได้รับแจ้งว่าไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้ได้เพราะเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี ขณะที่เจ้าของที่ดินรายอื่นซึ่งมีที่ดินอยู่ในบริเวณเดียวกันกับผู้ฟ้องคดีต่างก็ได้รับแจกโฉนดกันไปแล้ว
การที่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมออกโฉนดให้แก่ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนด ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอให้ตรวจสอบและดําเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่พวกตน แต่ก็ไม่มีการดําเนินการใดๆ สุดท้ายจึงได้นําเรื่องมาฟ้องต่อศาลปกครอง
ศาลปกครองสูงสุดได้มีคําวินิจฉัยโดยสรุปดังนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดได้ครอบครองที่ดินมาก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะได้กําหนดเขตป่าชายเลนครอบคลุมที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองอยู่โดยสภาพที่ดินในปัจจุบันมีลักษณะเป็นแหล่งชุมชน อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 500 เมตร และอยู่ห่างจากทะเลประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งสภาพที่ดินที่คณะรัฐมนตรีจะกําหนดให้เป็นพื้นที่ป่าชายเลนได้นั้น ต้องเป็นที่ดินที่คณะรัฐมนตรีสงวนไว้เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและต้องมีสภาพเป็นป่าเลน
ดังนั้น เมื่อสภาพที่ดินที่พิพาทไม่มีลักษณะเป็นป่าชายเลนตามที่คณะรัฐมนตรีต้องการสงวนรักษาไว้ แม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติกําหนดให้ที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าชายเลน แต่เมื่อที่ดินไม่ได้มีสภาพเป็นป่าชายเลน มติคณะรัฐมนตรีจึงไม่มีผลทําให้ที่ดินดังกล่าวกลับกลายสภาพคืนเป็นป่าชายเลนไปได้อีก
เมื่อฟังได้ว่าที่ดินที่พิพาทไม่มีสภาพเป็นป่าชายเลนและมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2530 ไม่มีผลทำให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ได้ครอบครองตามมาตรา 58 มีสภาพเป็นที่ดินป่าชายเลน ที่ดินของผู้ฟ้องคดีจึงจัดอยู่ในประเภทที่พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถออกโฉนดที่ดินให้ได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน การที่เจ้าพนักงานที่ดินปฏิเสธการออกโฉนดที่ดินตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดร้องขอ โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าชายเลน จึงถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนด
ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาให้ดําเนินการออกโฉนดที่ดินตามคําขอให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคําพิพากษา