(1) ลูกหนี้ทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้
(2) ลูกหนี้ชำระหนี้ให้บางส่วน
(3) ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ย
(4) ลูกหนี้ให้ประกัน
(5) ลูกหนี้กระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้
(1) ลูกหนี้ทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ คือ ลูกหนี้ทำหนังสือไว้แก่เจ้าหนี้เพื่อยอมรับว่าตนเป็นหนี้เจ้าหนี้จริง
เมื่อทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้ว แม้เจ้าหนี้จะไม่ตกลงด้วย แต่หนังสือรับสภาพหนี้นั้นก็ยังมีผลใช้บังคับได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 344/2506 จำเลยรับฝากสินค้าราคาสองหมื่นบาทเศษของโจทก์ไว้แล้วสินค้านั้นสูญหายไป จำเลยจึงมีหนังสือยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ 5,000 บาท โจทก์ปฏิเสธ ต่อมาได้มีการเจรจากันอีก จำเลยมีหนังสือยอมใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ครึ่งหนึ่งของราคาสินค้า แต่โจทก์ก็ไม่ตกลง ดังนี้ เห็นได้ว่าเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ที่จำเลยยอมชดใช้ค่าสินค้าที่หายรายนี้ให้โจทก์นั้นเป็นการยอมรับแล้วว่าหนี้ค่าสินค้าของโจทก์ที่หายไปมีอยู่จริงเรียกได้ว่าจำเลยยอมรับสภาพหนี้ชดใช้ค่าสินค้าของโจทก์ที่หายไปแล้ว
(2) ลูกหนี้ชำระหนี้ให้บางส่วน
การชำระหนี้บางส่วนนี้ อาจจะชำระด้วยตัวเงินหรือเป็นทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 132/2533 จำเลยได้ชำระหนี้ค่าสินค้าให้โจทก์งวดแรกเป็นการชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วน อันถือได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 172 ย่อมทำให้อายุความสะดุดหยุดลง จึงต้องเริ่มนับอายุความใหม่ ดังนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน 2 ปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8032/2556 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ว่าจ้างโจทก์ให้รื้อถอนและต่อเติมโครงหลังคาเหล็กโรงสีข้าวของจำเลยที่ 1 โดยจ้างเหมาค่าแรงต่อตารางเมตร โจทก์เป็นฝ่ายจัดหาเครื่องมือสำหรับใช้ในการทำงาน ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายจัดหาสัมภาระ การทำงานของโจทก์จึงเป็นการรับเหมาก่อสร้างเป็นลักษณะของการรับจ้างทำของชนิดหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 แม้โจทก์ลงมือทำงานด้วยก็หาทำให้โจทก์เป็นช่างฝีมือตามมาตรา 193/34 (1) ไม่ ความรับผิดของผู้ว่าจ้างจึงไม่อยู่ในอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) โจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าจ้างจากผู้ว่าจ้างจึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับจากการนั้น ต้องเรียกร้องเอาภายใน 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/34 (7) โจทก์ส่งมอบงานก่อสร้างประมาณเดือนมีนาคม 2545 และจำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างครั้งสุดท้ายวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 อายุความจึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายตามมาตรา 193/14 (1) ประกอบมาตรา 193/15 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 เกิน 2 ปี แล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยตกลงชำระหนี้บัตรเครดิตโดยยินยอมให้โจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลย และสัญญาการใช้บัตรเครดิตระบุว่า หากมีการยกเลิกการใช้บัตรเครดิตไม่ว่าด้วยเหตุประการใด ให้ถือว่าเป็นการยกเลิกการใช้บัตรเครดิตเท่านั้น มิใช่เป็นการยกเลิกสัญญา และหากปรากฏว่ามียอดเงินเป็นลูกหนี้โจทก์ จำเลยตกลงที่จะชำระหนี้โดยให้โจทก์หักเงินจากบัญชีชำระหนี้ได้ ดังนี้ การที่โจทก์หักเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยเพื่อชำระหนี้จึงเป็นกรณีที่จำเลยยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามข้อตกลง หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์หักเงินจากบัญชีของจำเลยตามอำเภอใจไม่ กรณีจึงเป็นการรับสารภาพหนี้ต่อโจทก์ด้วยการชำระหนี้ให้บางส่วนอันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) เช่นนี้นับแต่วันที่จำเลยชำระหนี้บัตรเครดิตให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายจนถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15907/2553 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างโดยขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของบุคคลภายนอกเป็นเหตุให้รถยนต์โดยสารของโจทก์และรถยนต์ของบุคคลภายนอกเสียหาย เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในส่วนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดกับรถยนต์โดยสารของโจทก์ จึงเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โดยนับจากวันที่จำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้รถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหาย มิใช่นับจากวันที่โจทก์จ่ายค่าซ่อมรถยนต์โดยสารของโจทก์ให้แก่บุคคลอื่นที่โจทก์ได้ว่าจ้างให้ซ่อมรถยนต์โดยสารดังกล่าว เมื่อนับจากวันที่จำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้รถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหายถึงวันฟ้องเกินสิบปีแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์โดยสารของโจทก์จึงขาดอายุความ
สำหรับความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดแก่บุคคลภายนอกซึ่งโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 ไปแล้วนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ยินยอมให้โจทก์หักค่าจ้างชำระค่าเสียหายดังกล่าวคืนอันเป็นผลให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ก็ตาม แต่เมื่อเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่วันถัดจากวันรับสภาพหนี้ถึงวันฟ้องก็พ้นกำหนดสิบปีแล้ว และแม้ว่าโจทก์จะมีสิทธิหักค่าจ้างของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ แต่เมื่อโจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน โจทก์ย่อมมีสิทธิหักค่าจ้างของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้อย่างช้าที่สุดคือวันที่โจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน อายุความสะดุดหยุดลงอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ครั้งสุดท้ายก็คือวันที่โจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน เมื่อนับถัดจากวันดังกล่าวถึงวันฟ้องก็เกินสิบปีแล้วเช่นกัน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในส่วนเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ชำระแก่บุคคลภายนอกแทนจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8051/2551 การที่โจทก์นำเงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยมาชำระหนี้หลังจากสัญญาบัตรเครดิตและข้อตกลงในสัญญาได้สิ้นสุดลงแล้วจึงเป็นการกระทำของโจทก์เอง หาใช่ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้โดยชำระหนี้ให้เจ้าหนี้บางส่วนไม่ กรณีย่อมไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาเงินที่ได้ทดรองไป สิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2544 พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5384/2551 หนี้จากการใช้บัตรเครดิตไม่ว่าจะเป็นหนี้จากการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ หรือหนี้จากการถอนเงินสด ล้วนเป็นหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตด้วยกัน จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) ไม่อาจแยกบังคับนับอายุความแตกต่างกันได้
การรับสภาพหนี้โดยการชำระหนี้บางส่วนที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้น จำเลยจะต้องเป็นผู้กระทำหรือยินยอมให้กระทำ ดังนั้น การที่โจทก์หักทอนบัญชีเงินฝากของจำเลยชำระหนี้บัตรเครดิตอันเป็นการใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ โดยมิได้มีข้อตกลงกันไว้ขณะทำสัญญา ดังนี้ แม้จำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านจะถือว่าจำเลยยินยอมในการกระทำของโจทก์ดังกล่าวด้วยหาได้ไม่ กรณีไม่ถือว่าจำเลยชำระหนี้บางส่วนอันเป็นการรับสภาพหนี้ซึ่งจะมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงได้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ
(3) ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ย
การชำระดอกเบี้ย อาจจะชำระด้วยเงิน หรือทรัพย์สิน หรือกระทำการแทนการชำระดอกเบี้ยด้วยเงินก็ได้ เช่น การอนุญาตให้เจ้าหนี้ทำกินในที่ดินต่างดอกเบี้ย เป็นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1324/2519 ป. กู้เงินของสามีโจทก์ไป และมอบนาให้ทำกินต่างดอกเบี้ยตลอดมา ต่อมา ป. ตาย จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ได้มอบนานั้นให้ทำต่างดอกเบี้ยจนกระทั่งสามีโจกท์ตายและเมื่อสามีโจกท์ตายแล้ว จำเลยก็มอบนาดังกล่าวให้โจกท์ซึ่งเป็นผู้รับมรดกของสามีทำนาต่างดอกเบี้ยต่อมาอีกดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้ปฎิบัติการชำระดอกเบี้ยด้วยการให้ทำนา เป็นการรับสารภาพต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องด้วยการส่งดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง (อ้างฎีกาประชุมใหญ่ที่ 159/2513)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 159/2513 (ประชุมใหญ่) พฤติการณ์ที่จำเลยซึ่งเป็นผู้รับมรดกของ ด. ผู้กู้ ให้โจทก์ผู้ให้กู้ทำนาถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติการชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ด้วยการให้โจทก์ได้ทำนาจึงเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องด้วยการส่งดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยยอมให้โจทก์ได้ทำนาต่างดอกเบี้ย หรือมิฉะนั้นให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีดังนี้ โจทก์จะมีสิทธิทำนาได้ก็แต่โดยจำเลยยินยอม เมื่อจำเลยไม่ยินยอมให้โจทก์ทำนาและเอาที่นาคืนไปทำเองแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิติดตามเอาคืน ด. เจ้ามรดกกู้เงินโจทก์ตกลงจะให้ดอกเบี้ย ดอกเบี้ยที่ตกลงให้ก็คือให้โจทก์ทำนาต่างดอกเบี้ย เมื่อจำเลยไม่ยอมชำระดอกเบี้ยโดยไม่ยอมให้โจทก์ทำนาต่างดอกเบี้ย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงินนับแต่วันผิดนัดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดวันใดก่อนโจทก์ฟ้องศาลคิดคำนวณให้จากวันฟ้อง
(4) ลูกหนี้ให้ประกัน
การให้ประกัน ลูกหนี้อาจจะหาบุคคลมาค้ำประกัน หรือให้ประกันหนี้ด้วยทรัพย์สิน โดยการจำนองหรือจำนำ ก็ได้ โดยจะต้องทำให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ในเรื่องนั้นๆด้วย
(5) ลูกหนี้กระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2536 การที่จำเลยเป็นหนี้ค่าซื้อไก่จากโจทก์หลายครั้งหลายรายการในระหว่างวันที่ 22 ถึง 31 มีนาคม 2527 จำเลยนำเช็คมาชำระหนี้ให้โจทก์ 4 ฉบับ ดังนี้ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่า จำเลยยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ อายุความจึงสะดุดหยุดลง จำเลยนำเช็คมาชำระหนี้ให้โจทก์เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2527 ซึ่งยังอยู่ภายในอายุความ 2 ปี นับแต่วันทำการซื้อขายสินค้า อายุความสะดุดหยุดลงในวันนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 172(เดิม) เช็คพิพาท 4 ฉบับที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ฉบับแรกลงวันที่ 30 ตุลาคม 2527 ฉบับที่สองลงวันที่ 30 พฤศจิกายน2527 ฉบับที่สามลงวันที่ 30 ธันวาคม 2527 และฉบับที่สี่ลงวันที่ 30 มกราคม 2528 เมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดสั่งจ่ายเงิน จึงเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันนั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2529 จำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกตามเช็คฉบับแรกและฉบับที่สองจึงเกินกำหนด 2 ปี ย่อมขาดอายุความ ส่วนจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกตามเช็คฉบับที่สามและฉบับที่สี่ยังไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10692/2558 ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ" มาตรา 193/14 บัญญัติว่า "อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้ (1)... กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง..." และมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ" วรรคสอง บัญญัติว่า "เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น" โจทก์เรียกร้องเอาทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 1754 และอยู่ในบังคับตามมาตรา 193/9 มาตรา 193/14 และมาตรา 193/15 ดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่า ณ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 ศาลตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ณ. เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 จึงทำให้อายุความมรดกสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แม้ต่อมา ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกจะจดทะเบียนโอนมรดกพิพาทให้แก่ตนเองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ณ. เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 โดยไม่ได้โอนแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ยังครอบครองทรัพย์มรดกโดยอาศัยในบ้าน ว. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกพิพาทอยู่ จึงเป็นกรณีที่ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยอันแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับว่าโจทก์ยังครอบครองมรดกอยู่อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14
แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงว่า ส. ไถ่ถอนจำนองโดย ส. มีหนังสือแจ้งธนาคารผู้รับจำนองว่า ไม่ให้ธนาคารมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินให้แก่โจทก์ และโอนที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 พฤติการณ์ดังกล่าวของ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาไม่ยึดถือมรดกแทนโจทก์ต่อไปนับแต่วันที่ธนาคารได้แจ้งแก่โจทก์อย่างช้าไม่เกินวันที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของโจทก์อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมสิ้นสุดลงไม่ถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งต่อไปนับแต่วันนั้น อายุความจึงเริ่มนับใหม่ในวันดังกล่าวตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินหนึ่งปี ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13839/2553 จำเลยได้บรรยายฟ้องแย้งให้เข้าใจได้แล้วว่า อุปกรณ์ที่สั่งซื้อจากโจทก์ซึ่งมีความบกพร่องต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแก้ไขคือ อุปกรณ์ระบบควบคุมเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์ตรวจจับควัน และอุปกรณ์วาล์วผีเสื้อปิดเปิดน้ำ ซึ่งโจทก์ก็ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สินค้าอุปกรณ์ดังกล่าวที่ส่งให้จำเลยมิได้ชำรุดบกพร่อง แต่สามารถใช้การได้ดี ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากความผิดพลาดจากระบบติดตั้งของจำเลยเอง แสดงว่าโจทก์เข้าใจข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามฟ้องแย้งเป็นอย่างดี ส่วนค่าใช้จ่ายในการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวที่จำเลยต้องว่าจ้างผู้ชำนาญรายใดมาดำเนินการแก้ไขเป็นรายละเอียดที่จำเลยสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา จำเลยได้บรรยายฟ้องแย้งไว้โดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ดังนั้น ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เคลือบคลุม
ภายหลังจากจำเลยได้รับแจ้งจากบริษัท ซ. ให้ทราบถึงค่าใช้จ่ายในการแก้ไขความชำรุดบกพร่องของสินค้าตามหนังสือลงวันที่ 15 ตุลาคม 2542 เอกสารหมาย ล.9 และจำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบถึงค่าใช้จ่ายนั้นแล้ว โจทก์ได้มาดำเนินการแก้ไขในระบบให้จำเลย แต่ไม่อาจแก้ไขให้สมบูรณ์ได้ ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์ผู้เป็นลูกหนี้ได้กระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายแล้วว่าโจทก์ยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของจำเลยแล้ว อายุความจึงสะดุดหยุดลงนับแต่เวลาดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) แม้จำเลยจะมิได้นำสืบให้เห็นว่าการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นวันเวลาใดก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นระยะเวลาภายหลังวันที่ 15 ตุลาคม 2542 อันเป็นวันที่บริษัท ซ. เจ้าของสินค้ามีหนังสือแจ้งจำเลยถึงจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงแก้ไข เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดลง จึงต้องเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่วันดังกล่าวถึงวันที่ 27 มีนาคม 2543 อันเป็นวันฟ้องแย้ง จึงยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 และแม้จะนับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2542 ถึงวันที่ 27 มีนาคม 2543 อันเป็นวันฟ้องแย้ง ก็ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2542 เช่นกัน ดังนั้น สิทธิเรียกร้องให้โจทก์ผู้ขายรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อจากโจทก์ตามฟ้องแย้งของจำเลยจึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 474
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7953/2553 การที่จำเลยทำหนังสือแจ้งผ่านองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งภริยาโจทก์ไปร้องเรียนไว้ว่าจะซ่อมแซมทาวน์เฮาส์ของโจทก์ เป็นกรณีที่จำเลยกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดที่จำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ได้รับสภาพหนี้ต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ซึ่งขณะที่จำเลยทำหนังสือทั้งสองฉบับนั้นยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่เกิดเหตุละเมิดเมื่อกลางปี 2541 อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความและให้เริ่มนับอายุความใหม่ แต่จะนับอายุความใหม่ก็ต่อเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดก็ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 เมื่อเอกสารหมาย จ.7 มีข้อความว่า จำเลยจะเริ่มซ่อมแซมทาวน์เฮาส์เวลาใดจำเลยจะแจ้งให้โจทก์ทราบก่อน 30 วัน แสดงว่าการยอมรับสภาพหนี้ของจำเลยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะชำระหนี้โดยเริ่มซ่อมแซมทาวน์เฮาส์เมื่อใด จำเลยจะแจ้งล่วงหน้าให้โจทก์ทราบอย่างน้อย 30 วัน ดังนั้นตราบใดที่จำเลยยังไม่ได้แจ้งกำหนดวันเริ่มซ่อมแซมทาวน์เฮาส์ให้โจทก์ทราบ ก็ถือว่าจำเลยยังคงยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวสืบต่อเนื่องตลอดมา แต่เมื่อจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 แจ้งทนายความของโจทก์ว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับมิได้เกิดจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงไม่เข้าดำเนินการซ่อมแซมทาวน์เฮาส์ของโจทก์ เป็นกรณีจำเลยปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ ถือว่าเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดลงในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 อายุความตามสิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดจึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 28 มกราคม 2548 จึงยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
แต่ถ้าไม่ใช่กรณีที่ลูกหนี้กระทำต่อเจ้าหนี้ ก็ไม่ใช่การรับสภาพหนี้ ไม่มีผลให้อายุความสะดุดหยุดลง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2550 การรับสภาพหนี้อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้กระทำต่อเจ้าหนี้ การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้หักลดหนี้ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามบทมาตราดังกล่าว ส่วนการที่จำเลยที่ 1 คืนสินค้าให้โจทก์บางส่วนก็เป็นการใช้สิทธิในฐานะคู่สัญญา มิใช่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่ายังค้างชำระหนี้โจทก์อยู่ ถือไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เช่นกัน จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง
การรับสภาพหนี้ต้องกระทำก่อนที่หนี้จะขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2552 เอกสารการส่งมอบและรับสินค้า ไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามตกลงหรือขอให้โจทก์หักหนี้ค่าจ้างที่จำเลยทั้งสามค้างชำระกับหนี้สินค้าที่โจทก์สั่งซื้อจากจำเลยทั้งสาม กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามทำหนังสือรับสภาพหนี้หรือกระทำการใดๆ อันปราศจากสงสัยแสดงให้เป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ส่วนใบเซ็นรับเอกสารการประมาณการค่าใช้จ่ายที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเอกสารไว้นั้น ก็ไม่มีข้อความใดที่ระบุหรือแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าเป็นหนี้ตามที่โจทก์อ้าง การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับเอกสารดังกล่าวไว้ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำอันปราศจากสงสัยที่แสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์แต่อย่างใด กรณีตามที่โจทก์อ้างจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 ที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง และการรับสภาพหนี้จะต้องเป็นการกระทำก่อนที่หนี้จะขาดอายุความ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 ปี ตั้งแต่จำเลยทั้งสามรับมอบงานที่โจทก์ทำเสร็จสิ้นแล้ว สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้จ้างทำของทั้ง 3 รายการของโจทก์จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1687/2551 ครบกำหนดชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าธนาคารยอมให้จำเลยใช้บัตรเครดิตอีก แสดงว่าธนาคารกับจำเลยถือว่าสัญญาที่มีต่อกันเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 ธนาคารย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 แต่จำเลยนำเงินมาชำระให้ธนาคารวันที่ 10 กรกฎาคม 2539 จำนวน 5,000 บาท อันเป็นการรับสภาพหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 2 ปี ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2541 การที่ธนาคารนำเงินจำนวน 6.68 บาท จากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยมาหักชำระหนี้บัตรเครดิตเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2541 หลังจากจำเลยผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 โดยปล่อยเวลาให้ผ่านไปถึง 2 ปีเศษ และคิดดอกเบี้ยกับค่าเบี้ยปรับชำระหนี้ล่าช้าตลอดมา นอกจากจะเป็นการไม่ใช้สิทธิของธนาคารตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ยังเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นว่า ธนาคารอาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายเป็นช่องทางให้ธนาคารได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยได้ดอกเบี้ยและค่าเบี้ยปรับชำระหนี้ล่าช้าระหว่างนั้นและเพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับ ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง
จำเลยนำเงินมาชำระหนี้บางส่วนโดยให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2541 จำนวน 1,000 บาท เป็นการชำระหนี้ภายหลังจากสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว จึงเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้ภายหลังจากสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว จึงเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้เรียกเงินคืนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิจากธนาคารนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2543 จึงเกิน 2 ปี นับแต่วันที่เริ่มนับอายุความใหม่วันที่ 10 กรกฎาคม 2539 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นเรื่องอำนาจฟ้องและเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาตรา 246 ประกอบมาตรา 247