01 มีนาคม 2567

โอนสิทธิเรียกร้อง

          การโอนสิทธิเรียกร้อง เป็นการโอนสิทธิความเป็นเจ้าหนี้ กล่าวคือ เมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องแล้วจะมีผลให้บุคคลภายนอกเข้ามาเป็นเจ้าหนี้ สามารถบังคับเอากับลูกหนี้ได้โดยตรง เท่ากับเป็นข้อยกเว้นของหลักที่ว่าหนี้ผูกพันเฉพาะเจ้าหนี้และลูกหนี้
          ทั้งนี้ เมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องแล้ว เจ้าหนี้คนเดิมย่อมหมดสิทธิในหนี้นั้น ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องสามารถจะฟ้องลูกหนี้ได้ในนามของตนเอง การโอนสิทธิเรียกร้องจะโอนนั้นจะโอนให้แก่ผู้ใดก็ได้ ตัวอย่างที่ทำกันอยู่ประจำก็คือ กรณีการรับเหมาก่อสร้างที่ผู้รับเหมาไม่มีทุนต้องไปกู้ยืมจากธนาคารมาลงทุนโดยโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างก่อสร้างจากผู้ว่าจ้างให้แก่ธนาคารไปเลย เป็นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 244/2529   โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อที่ดินจากจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินชำระราคาแล้วบางส่วน จำเลยจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อแบ่งแยกโฉนดเสร็จต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินรายเดียวกันนี้ให้แก่โจทก์ที่ 2 โดยโจทก์ที่ 1 ตกลงโอนเฉพาะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยให้แก่โจทก์ที่ 2 ส่วนหนี้ของโจทก์ที่ 1 ที่จะต้องชำระราคาส่วนที่เหลือยังคงอยู่กับโจทก์ที่ 1 ตามเดิม ดังนี้ สิทธิที่จะขอให้ศาลบังคับให้จำเลยโอนที่ดินให้โดยสภาพย่อมเปิดช่องให้โอนกันได้ ไม่เป็นการเฉพาะตัวหรือมีกฎหมายห้ามโอนแต่ประการใดกรณีนี้โจทก์ที่ 1 ยังคงเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระค่าที่ดินให้จำเลยและจำเลยก็ยังคงเป็นลูกหนี้ที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ ไม่มีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันจะต้องมีการทำสัญญากันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 โจทก์ที่ 1 มีสิทธิโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อขายให้แก่โจทก์ที่ 2 ได้เมื่อการโอนได้ทำเป็นหนังสือและโจทก์ที่ 1 ได้มีหนังสือบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 แล้ว โจทก์ทั้งสองจึงร่วมกันฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 ได้




          สิทธิเรียกร้องที่โอนกันไม่ได้ 

          มาตรา  303 "สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้
          ความที่กล่าวมานี้ย่อมไม่ใช้บังคับ หากคู่กรณีได้แสดงเจตนาเป็นอย่างอื่นการแสดงเจตนาเช่นว่านี้ ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต"
          มาตรา  304 "สิทธิเรียกร้องเช่นใด ตามกฎหมายศาลจะสั่งยึดไม่ได้ สิทธิเรียกร้องเช่นนั้น ท่านว่าจะโอนกันหาได้ไม่"
          สิทธิเรียกร้องที่โอนกันไม่ได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 303 และมาตรา 304 ได้แก่กรณีดังนี้
          1) สภาพแห่งสิทธิไม่เปิดช่องให้โอนกันได้ (มาตรา 303 วรรคหนึ่งตอนท้าย)
          2) คู่กรณีตกลงกันห้ามโอน (มาตรา 303 วรรคสอง)
          3) สิทธิเรียกร้องที่ศาลยึดไม่ได้ (มาตรา 304)

          วิธีการโอนสิทธิเรียกร้อง

          มาตรา  306 วรรคหนึ่ง "การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่ง การโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ"
          มาตรา  309 "การโอนหนี้อันพึงต้องชำระตามเขาสั่งนั้น ท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้ หรือบุคคลภายนอกคนอื่นได้แต่เฉพาะเมื่อการโอนนั้นได้สลักหลังไว้ในตราสาร และตัวตราสารนั้นได้ส่งมอบให้แก่ผู้รับโอนไปด้วย"
          มาตรา 311 "บทบัญญัติแห่งมาตราก่อนนี้ ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่มีกำหนดตัวเจ้าหนี้ระบุไว้ในตราสาร ซึ่งมีข้อความจดไว้ด้วยว่าให้ชำระหนี้แก่ผู้ทรงตราสาร"
          1) การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง (มาตรา 306 วรรคหนึ่ง) กำหนดขั้นตอนการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าหนี้กับผู้รับโอนไว้ว่า เจ้าหนี้กับผู้รับโอนต้องทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องไว้เป็นหนังสือ มิฉะนั้นไม่สมบูรณ์ ซึ่งหนี้รายใดที่จะมีการโอนสิทธิเรียกร้องโดยสมบูรณ์ใช้ยันลูกหนี้ได้นั้น จะต้องมีการบอกกล่าวการโอนหรือได้รับความยินยอมจากลูกหนี้เป็นหนังสือด้วย มิฉะนั้น ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องย่อมไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่ตน 
          2) การโอนหนี้อันพึงต้องชำระตามเขาสั่ง (มาตรา 309) เป็นหนี้ตามตราสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ที่เปลี่ยนมือได้และเป็นตราสารที่ระบุชื่อผู้ทรงสิทธิตามตราสารไว้โดยเฉพาะแล้ว เช่น ตั๋วแลกเงิน เช็ค กรมธรรม์ประกันภัย ใบตราส่ง หรือใบรับของคลังสินค้า เป็นต้น การโอนสิทธิเรียกร้องตามตราสารดังกล่าวจึงต้องมีการสลักหลังและส่งมอบตราสารแก่ผู้โอนตามมาตรา 309
          3) การโอนหนี้อันพึงชำระแก่ผู้ถือ (มาตรา 311) เป็นหนี้ตามตราสารเช่นเดียวกับข้อ 2) แต่ไม่ได้ระบุชื่อผู้ทรง สามารถทำการโอนสิทธิเรียกร้องตามตราสารโดยการส่งมอบให้แก่ผู้รับโอนก็มีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 311
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7105/2546  ตามปกติของการซื้อขายปุ๋ยของจำเลยที่ 1 เมื่อมีผู้นำใบสั่งจ่ายสินค้ามาขอรับปุ๋ยจำเลยที่ 1 จะส่งมอบปุ๋ยให้โดยมิต้องตรวจสอบว่าผู้นำใบสั่งจ่ายสินค้ามาขอรับปุ๋ยเป็นใคร มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ทั้งด้านหลังของใบสั่งจ่ายสินค้ามีข้อความคำเตือน 3 ข้อ โดยข้อหนึ่งระบุว่าต้องให้ผู้โอนลงลายมือชื่อรับรองและด้านล่างมีช่องให้ผู้โอนลงลายมือชื่อด้วย แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และลูกค้าที่มาซื้อปุ๋ยมีข้อตกลงโดยปริยายแต่ต้นว่าผู้ซื้อสามารถโอนขายใบสั่งจ่ายสินค้าให้แก่บุคคลใดก็ได้ และจำเลยที่ 1 จะมอบปุ๋ยแก่ผู้นำใบสั่งจ่ายสินค้ามาแสดง ใบสั่งจ่ายสินค้าจึงเป็นเอกสารที่อาศัยความไว้วางใจกันในประเพณีในวงการค้าขายปุ๋ยว่า จำเลยที่ 1 สัญญาจะส่งมอบปุ๋ยแก่ผู้นำใบสั่งจ่ายสินค้ามารับปุ๋ยจากจำเลยที่ 1 ดังนั้นโจทก์ในฐานะผู้ครอบครองตั๋วปุ๋ยหรือใบสั่งจ่ายสินค้าซึ่งซื้อปุ๋ยจากจำเลยที่ 2 จึงสามารถนำไปรับหรือเบิกปุ๋ยจากจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 จะยกเหตุส่วนตัวระหว่างร้าน อ. กับจำเลยที่ 2 มาปฏิเสธไม่ส่งมอบปุ๋ยแก่โจทก์ไม่ได้

          ผลของการโอนสิทธิเรียกร้อง

          1) ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมีฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนเจ้าหนี้คนเดิม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2124/2527  เดิม ธ. ทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินกับจำเลยที่ 2 ต่อมา ธ. ได้โอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อที่ดินดังกล่าวให้แก่ เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้  เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยที่ 2 จนครบถ้วนแล้ว แต่ยังไม่ทันได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เช่าซื้อ จำเลยที่ 2 ก็ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ดังนี้หนี้ขอรับชำระจึงเป็นหนี้ที่มีมูลมาจากการเช่าซื้อที่ดินซึ่งเจ้าหนี้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจาก ธ. ผู้เช่าซื้อเดิม อันเป็นหนี้ที่มูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จึงเป็นหนี้ที่ขอรับชำระได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94 และเจ้าหนี้ เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อนี้มาโดยชอบตามมาตรา 303 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการโอนสิทธิเรียกร้องก็ทำโดยถูกต้องสมบูรณ์ตามมาตรา 306 โดย ธ. ผู้โอนได้บันทึกการโอนสิทธิเป็นหนังสือ และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งสิทธินั้นได้บันทึกยินยอมไว้เป็น หนังสือในสัญญาเช่าซื้อโดยแจ้งชัด  เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้จึงมีสิทธิสมบูรณ์ในฐานะเป็นผู้รับโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อโดยชอบ และกรณีไม่จำต้องมีการทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อกันใหม่ระหว่างเจ้าหนี้ผู้รับโอนกับจำเลยที่ 2 ผู้ให้เช่าซื้ออีก
          2) เมื่อสิทธิเรียกร้องโอนไปยังผู้รับโอนแล้ว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของผู้โอนไม่มีสิทธิอายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าว เพราะไม่ใช่สิทธิเรียกร้องของผู้โอนแล้ว
          3) ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมีสิทธิเหนือประกันแห่งหนี้นั้นด้วย ตามมาตรา 305
          4) ลูกหนี้มีสิทธิยกข้อต่อสู้ของตนที่มีอยู่ต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนได้ตามมาตรา 308
          มาตรา  308 "ถ้าลูกหนี้ได้ให้ความยินยอมดังกล่าวมาในมาตรา 306 โดยมิได้อิดเอื้อน ท่านว่าจะยกข้อต่อสู้ที่มีต่อผู้โอนขึ้นต่อสู้ผู้รับโอนนั้นหาได้ไม่ แต่ถ้าเพื่อจะระงับหนี้นั้นลูกหนี้ได้ใช้เงินให้แก่ผู้โอนไปไซร้ ลูกหนี้จะเรียกคืนเงินนั้นก็ได้ หรือถ้าเพื่อการเช่นกล่าวมานั้น ลูกหนี้รับภาระเป็นหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นใหม่ต่อผู้โอน จะถือเสมือนหนึ่งว่าหนี้นั้นมิได้ก่อขึ้นเลยก็ได้
          ถ้าลูกหนี้เป็นแต่ได้รับคำบอกกล่าวการโอน ท่านว่าลูกหนี้มีข้อต่อสู้ผู้โอนก่อนเวลาที่ได้รับคำบอกกล่าวนั้นฉันใด ก็จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แก่ผู้รับโอนได้ฉันนั้น ถ้าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องจากผู้โอน แต่สิทธินั้นยังไม่ถึงกำหนดในเวลาบอกกล่าวไซร้ ท่านว่าจะเอาสิทธิเรียกร้องนั้นมาหักกลบลบกันก็ได้ หากว่าสิทธินั้นจะได้ถึงกำหนดไม่ช้ากว่าเวลาถึงกำหนดแห่งสิทธิเรียกร้องอันได้โอนไปนั้น"