1 มี.ค. 2567

โมฆะกรรม และโมฆียะกรรม

          โมฆะกรรม
          โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกล่าวอ้างก็ได้
          ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ (ป.พ.พ.มาตรา 172)

          นิติกรรมที่เป็นโมฆะ ได้แก่
          1.นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 150 หรือ
          2.การทำนิติกรรมที่มิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ ตามมาตรา 152 หรือกรณีอืนที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นโมฆะ เช่น การแสดงเจตนาลวง เป็นต้น

          โมฆียะกรรม

          โดยหลักแล้ว นิติกรรมที่เป็นโมฆียะกรรมนั้น กฎหมายถือว่านิติกรรมนั้นมีความสมบูรณ์แต่อาจถูกบอกล้างได้ ซึ่งนิติกรรมที่เป็นโมฆียะกรรมเมื่อถูกบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม  ...(มาตรา 176) แต่ถ้านิติกรรมนั้นไม่มีการบอกล้างหรือผู้ที่มีสิทธิบอกล้างไปให้สัตยาบันไว้ ก็ถือว่านิติกรรมนั้นมีความสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก
          นิติกรรมที่เป็นโมฆียะ ได้แก่ นิติกรรมที่มิได้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความสามารถของบุคคล ตามมาตรา 153 หรือกรณีอื่นๆที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นโมฆียะ เช่น กรณีการแสดงจเตนาทำนิติกรรมเพราะถูกฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่ เป็นต้น

          ตัวอย่างโมฆะกรรม

          โจทก์และจำเลยทราบดีว่าที่ดินมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามมาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ก็ซื้อขายกันโดยหลีกเลี่ยงข้อกำหนดดังกล่าว โดยวิธีทำสัญญาจะซื้ัอจะขาย อันเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ทั้งยังจดทะเบียนการเช่าให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้จะซื้อเป็นการอำพราง และทำนิติกรรมไว้ว่า เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตายให้ที่ดินของโจทก์ตกเป็นของจำเลย ซึ่งนิติกรรมดังกล่าวล้วนเป็นโมฆะมาแต่ต้น มิใช่กรณีที่เป็นโมฆียะแล้วมาถูกบอกล้างภายหลัง อันที่จะทำให้คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม เงินค่าที่ดินบางส่วนที่จำเลยชำระไปจึงเป็นการกระทำตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จำเลยจึงไม่มีสิทธิจะได้รับเงินดังกล่าวคืนจากโจทก์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1365/2554)
          กรณีนี้ เป็นเรื่องที่คูกรณีสมัครใจทำนิติกรรมกัน ทั้งที่รู้ว่านิติกรรมนั้นเป็นเรื่องต้องห้ามตามกฎหมาย จึงเป็นโมฆะ ตามมาตรา 150 ส่วนเงินที่คู่กรณีชำระไปบางส่วน ถือว่าเป็นการกระทำตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้ โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินคืน ตามมาตรา 407

          ตัวอย่างโมฆียะกรรม

          ในการตกลงซื้อห้องชุดทั้ง 8 ห้องของโจทก์จากจำเลยนั้น โจทก์มีความประสงค์จะได้ห้องที่อยู่ชั้นบนสุด การที่จำเลยขออนุญาตดัดแปลงอาคารชุดจากที่มีเพียง 27 ชั้น เป็น 30 ชั้น ในภายหลังจากที่โจทก์ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยแล้ว โดยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบ ต่อมาโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวจากจำเลยโดยเข้าใจว่าห้องที่รับโอนมาอยู่ชั้นบนสุดตามความประสงค์ของโจทก์ที่ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยมาแต่แรก นิติกรรมการโอนห้องชุดดังกล่าวระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ทราบว่าห้องชุดที่รับโอนกรรมสิทธิ์มา มิใช่ชั้นสูงสุดตามความประสงค์ของโจทก์ ก็คงจะไม่ยอมรับโอน ดังนั้น นิติกรรมการโอนห้องชุดระหว่างโจทก์และจำเลยจึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ.มาตรา 157 โจทก์มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมการโอนได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 176 แต่โจทก์มิได้ใช้สิทธิบอกล้าง ดังนั้น กรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้ง 8 ห้องดังกล่าวยังเป็นของโจทก์อยู่ การที่โจทก์ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดชั้น 26 และ 27 ทั้ง 8 ห้องคืนให้แก่จำเลย และจำเลยตกลงเปลี่ยนแปลงโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดชั้น 29 และ 30 ให้แก่โจทก์ ถือว่าคู่กรณีต่างตกลงโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้กันและกันอันเป็นการแลกเปลี่ยนตาม ป.พ.พ.มาตรา 518 ซึ่งมาตรา 519 ให้นำบทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะซื้อขายมาใช้ถึงการแลกเปลี่ยนด้วย ดังนั้น การแลกเปลี่ยนห้องชุดระหว่างโจทก์และจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมการโอนโจทก์จำเลยจึงพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 457 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3942/2553)
          กรณีนี้ เป็นเรื่องนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ คือ นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ แต่อาจถูกบอกล้างได้ เมื่อถูกบอกล้างเมื่อใด นิติกรรมก็จะตกเป็นโมฆะมาตั้งแต่แรก แต่ถ้าไม่มีการบอกล้างเช่นกรณีตามคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น นิติกรรมนั้นก็คงมีผลสมบูรณ์อยู่ต่อไป