01 มีนาคม 2567

สิทธิเก็บกิน

          สิทธิเก็บกิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1417 เป็นทรัพยสิทธิชนิดหนึ่งที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นอยู่ แต่ยอมให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินเข้ามามีสิทธิครอบครอง ใช้ และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งทรัพย์สินของตน ตลอดจนมีอำนาจจัดการทรัพย์สินนั้นได้ อาทิเช่น เจ้าของที่นาย่อมมีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่นาของตน ส่วนผู้ทรงสิทธิเก็บกินในที่นานั้นก็ใช้ที่นาทำนาได้ หรือจะนำที่นานั้นออกให้เช่าเพื่อเก็บค่าเช่าก็ได้เสมอกับเป็นเจ้าของเองทีเดียว เพียงแต่กรรมสิทธิ์ในที่นาดังกล่าวยังอยู่ที่เจ้าของ
          สิทธิเก็บกินนั้นเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง ดังนั้น สิทธิเก็บกินจึงต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนจึงจะสามารถใช้ต่อสู้กับบุคคลภายนอกได้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าไม่ได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินต่อเจ้าหน้าที่ แต่สิทธิเก็บกินนั้นก็มีผลเป็นบุคคลสิทธิซึ่งใช้ยันได้ระหว่างคู่สัญญา ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจึงสามารถยกเรื่องสิทธิเก็บกินขึ้นยันกับคู่สัญญาได้


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15033/2555   โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดที่พิพาท โจทก์จดทะเบียนให้ ส. และ บ. เป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินใน ที่ดินพิพาทตลอดชีวิต ส. และ บ. ย่อมมีสิทธิครอบครอง ใช้และถือเอาประโยชน์แห่งที่ดินนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1417 วรรคหนึ่ง ในระหว่างที่สิทธิเก็บกินยังไม่สิ้นไป เจ้าของกรรมสิทธิ์จึงหามีสิทธิเช่นว่านั้นด้วยไม่ การบอกเลิกสัญญาเช่าหรือการฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากที่ดินพิพาทจึงเป็นอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของผู้ทรงสิทธิเก็บกิน แม้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทก็ไม่มีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4446/2543  โจทก์ตกลงให้จำเลยใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดชีวิตของจำเลยจำเลยจึงมีสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทตลอดชีวิต แม้จะมิได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนสิทธิดังกล่าวให้บริบูรณ์อย่างทรัพยสิทธิตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่ก็สมบูรณ์ อย่างบุคคลสิทธิที่ใช้ยันกันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลย  โจทก์ต้องผูกพัน ตามข้อตกลงดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7341/2542   แม้ตามรายการจดทะเบียนเพียงแต่จดทะเบียนให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 3350 ตามฟ้อง โดยไม่ได้ระบุถึงตึกแถวพิพาทซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยเป็นผู้ทำสัญญาเช่าจากเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินก็ตามแต่โจทก์ก็เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้มีชื่อในที่ดินโฉนดเลขที่ 3350 ตามฟ้อง และผู้มีชื่อซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมได้จดทะเบียนให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินเฉพาะส่วนตลอดชีวิต ดังนี้ ข้อความที่จดทะเบียนสิทธิเก็บกินนั้น ย่อมหมายรวมถึงสิ่งปลูกสร้างใด ๆบนที่ดิน คือ ห้องแถวพิพาทซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินที่โจทก์มีสิทธิเก็บกินด้วย และการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินก็ไม่ได้ระบุจำกัดว่าให้โจทก์มีสิทธิถือเอาประโยชน์แต่เฉพาะในที่ดินโดยแยกออกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากตึกแถวพิพาทที่ปลูกอยู่บนที่ดินที่จำเลยเช่าอยู่นั้นและแม้โจทก์จะมิใช่เป็นผู้ทำสัญญาให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทในฐานะเป็นผู้ให้เช่าก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ในฐานะผู้ทรงสิทธิเก็บกินหมดสิทธิในการจัดการให้จำเลยออกไปจากตึกแถวพิพาทซึ่งเป็นการจัดการทรัพย์สินหรือถือเอาประโยชน์แห่งทรัพย์สินในที่ดินนั้นจนตลอดชีวิตของโจทก์ตามที่จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้ดังกล่าวตาม ป.พ.พ.มาตรา1417 และเมื่อสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทได้สิ้นอายุการเช่าแล้ว และโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่ในตึกแถวพิพาทต่อไป และมีหนังสือบอกกล่าวให้ออกไป จำเลยย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทต่อไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2380/2542 (ประชุมใหญ่)  โจทก์จำเลยตกลงกันด้วยวาจาให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตลอดชีวิตของโจทก์ เพื่อเป็นการตอบแทนในการที่โจทก์ยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นให้แก่จำเลยซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ จำเลยจะมีผลประโยชน์จากสิ่งปลูกสร้างโดยได้เงินกินเปล่าจากผู้เช่า ส่วนโจทก์มีรายได้เฉพาะการเก็บค่าเช่าเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงพิเศษอย่างสัญญาต่างตอบแทน ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินนั้นตราบใดที่จำเลยผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังมิได้โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นให้แก่บุคคลอื่น โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1256/2519   การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยมิได้จดทะเบียนนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 บัญญัติไว้เพียงว่า "การที่ได้มาซึ่ง ฯลฯ ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่สมบูรณ์ เว้นแต่จะ ฯลฯ ได้จดทะเบียนการได้มา ฯลฯ" เท่านั้น  ฉะนั้น ถ้าหากเมื่อใดได้มีการจดทะเบียนการได้มาเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมจะกลายเป็นทรัพยสิทธิที่สมบูรณ์ขึ้นมาทันที หาใช่ว่าสิทธิเช่นว่านั้นจะไม่สมบูรณ์เสียเปล่าไปเสียเลยไม่
          สัญญาต่างตอบแทนที่จำเลยยอมให้โจทก์มีสิทธิอาศัยและสิทธิเก็บกินในบ้านและห้องแถวที่พิพาทจนกว่าโจทก์จะถึงแก่กรรม เพื่อตอบแทนที่โจทก์ไม่ร้องคัดค้านในการที่จำเลยร้องขอต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกนั้น แม้ไม่ได้จดทะเบียนการได้มาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ไม่เป็นทรัพยสิทธิที่จะใช้ยันบุคคลภายนอกได้ทั่วไป แต่ก็เป็นบุคคลสิทธิซึ่งใช้ยันได้ระหว่างคู่สัญญา สัญญาต่างตอบแทนนี้จึงมีผลบังคับกันได้ เมื่อจำเลยจะโอนขายบ้านห้องแถวพิพาทพร้อมทั้งที่ดินซึ่งบ้านและห้องแถวนั้นตั้งอยู่ไปเสีย โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลพิพากษาห้ามมิให้จำเลยโอนขายได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679/2514 (ประชุมใหญ่)  จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า ให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินของจำเลย ย่อมเป็นการทำนิติกรรมที่ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้เป็นทรัพย์สิทธิอันบริบูรณ์ตามกฎหมายได้ตราบเท่าที่จำเลยยังมิได้โอนที่ดินให้แก่บุคคลอื่น และสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยประนีประนอมยอมความเช่นนี้ มีกำหนดอายุความ 10 ปี
          ตั้งแต่วันทำสัญญาดังกล่าว จำเลยยอมให้โจทก์เข้าใช้สิทธิเก็บกินตลอดมา ดังนี้ย่อมถือว่าจำเลยได้ทำการอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ อายุความฟ้องร้องของโจทก์จึงยังไม่เริ่มนับ

          ประเภทของการจดทะเบียนเกี่ยวกับสิทธิเก็บกิน (กรมที่ดิน)
          1. สิทธิเก็บกิน หมายถึง กรณีอสังหาริมทรัพย์หนึ่งต้องตกอยู่ในบังคับสิทธิเก็บกินทั้งหมด
          2. สิทธิเก็บกินเฉพาะส่วน หมายถึง กรณีที่เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งในอสังหาริมทรัพย์แต่ไม่ใช่ทุกคนก่อให้เกิดสิทธิเก็บกินในอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเฉพาะส่วนของตนทั้งหมด
          3. ปลอดสิทธิเก็บกิน หมายถึง กรณีที่ที่ดินได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้แล้ว ต่อมามีการแบ่งแยกออกไป คู่กรณีตกลงกันให้ที่ดินแปลงที่แยกออกไปหรือที่ดินแปลงคงเหลือไม่มีสิทธิเก็บกินติดไปด้วย
          4. ครอบสิทธิเก็บกิน หมายถึง กรณีที่ที่ดินได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้แล้ว ต่อมามีการแบ่งแยกออกไป คู่กรณีตกลงกันให้ที่ดินแปลงที่แยกออกไปยังคงมีสิทธิเก็บกินต่อไปด้วย
          5. เลิกสิทธิเก็บกิน หมายถึง กรณีที่ได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้แล้ว ต่อมาคู่กรณีประสงค์จะเลิกสิทธิเก็บกินต่อกัน หรือผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย และเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มาขอจดทะเบียนเลิกสิทธิเก็บกินตามผลของกฎหมาย

          สิทธิเก็บกินนั้นจะก่อให้เกิดขึ้นโดยมีกำหนดเวลาหรือตลอดชีวิตของผู้ทรงสิทธิก็ได้ แต่ถ้าเป็นสิทธิเก็บกินที่ไม่มีกำหนดเวลากฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสิทธิเก็บกินนั้นมีอยู่ตลอดชีวิตของผู้ทรงสิทธิ ส่วนถ้ามีกำหนดเวลาก็ต้องไม่เกิน 30 ปี ถ้าเกินก็ต้องลดมาเหลือเพียง 30 ปี อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย สิทธิเก็บกินนั้นย่อมสิ้นไปเสมอ
          แม้สิทธิเก็บกินระงับสิ้นไป แต่หามีผลให้สัญญาเช่าที่ผู้เช่าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกทำไว้กับผู้ทรงสิทธิเก็บกินต้องระงับไปด้วยไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2297/2541   โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาทได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ ท. ต่อมา ท.ในฐานะผู้ทรงสิทธิเก็บกินทำสัญญาให้จำเลยเป็นผู้เช่ามีกำหนดเวลา 30 ปี โดยมีการทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาเช่าย่อมมีผลผูกพันโจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท แม้ในระหว่างอายุสัญญาเช่า ท.จะถึงแก่ความตายซึ่งเป็นผลให้สิทธิเก็บกินสิ้นไปตาม ป.พ.พ.มาตรา 1418 วรรคสุดท้าย แต่ก็ไม่กระทบถึงสิทธิของจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และหามีผลทำให้สัญญาเช่าดังกล่าวระงับไปไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 498/2536   เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2525 ห.ทำสัญญาให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทมีกำหนด 11 ปี 5 เดือน โดยได้ยื่นเรื่องราวขอจดทะเบียนการเช่าต่อเจ้าหน้าที่ในวันเดียวกัน สัญญาเช่าย่อมมีผลใช้บังคับได้ไม่เป็นโมฆะ เป็นแต่ว่าหากไม่มีการจดทะเบียนการเช่าก็บังคับกันได้เพียง 3 ปี การที่เจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนการเช่าอาคารพิพาทเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2525 ก็มิได้หมายความว่าสัญญาเช่าเพิ่งเกิดขึ้นในวันดังกล่าว การที่ ห. จดทะเบียนยกที่ดินและอาคารพิพาทให้ภรรยาและบุตร แล้วภรรยาและบุตรของ ห.จดทะเบียนให้ห.มีสิทธิเก็บกินในที่ดินและอาคารพิพาทก่อนวันจดทะเบียนการเช่า ภรรยาและบุตรของ ห.ผู้รับโอนย่อมต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าที่ ห.ทำไว้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569 ภรรยาและบุตรของห.จดทะเบียนโอนที่ดินและอาคารพิพาทให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2530 โจทก์ผู้รับโอนย่อมต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าดังกล่าว โดยต้องยอมให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทจนครบ 11 ปี 5 เดือน การที่ ห.ถึงแก่ความตาย หาทำให้สัญญาเช่าระงับไม่ เมื่อสัญญาเช่ายังไม่ครบกำหนด และไม่ปรากฏว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าและฟ้องขับไล่จำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 807/2503   การที่โจทก์ยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกที่จำเลยเช่าให้แก่บุตรในภายหลัง โดยโจทก์ยังสงวนสิทธิ์เก็บกินไว้ต่อไปจนตลอดชีวิต ผู้ทรงสิทธิเก็บกินเช่นโจทก์นี้ ตามกฎหมายย่อมมีสิทธิครอบครองใช้และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งที่ดินและตึกนั้นได้แต่ผู้เดียว เจ้าของกรรมสิทธิ์หามีสิทธิเช่นว่านี้ด้วยไม่ในระหว่างมีสิทธิเก็บกินยังไม่สิ้นไป โจทก์จึงมีสิทธิจะตัดให้เช่าตึกหลังนี้ เพื่อเก็บเอาประโยชน์จากการเช่าได้

          ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดสิทธิเก็บกิน ผู้ทรงสิทธินั้นจะโอนการใช้สิทธิของตนให้บุคคลภายนอกก็ได้ ในกรณีเช่นนั้นเจ้าของทรัพย์สินอาจฟ้องร้องผู้รับโอนโดยตรง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6278/2537   ที่ดินและตึกแถวที่เกิดเพลิงไหม้เป็นของบิดาโจทก์ บิดาโจทก์ให้ ข. มีสิทธิเก็บกินตลอดชีวิต  ข. ให้จำเลยเช่าเป็นเวลา 7 ปี  เมื่อบิดาโจทก์และ ข. ถึงแก่ความตายระหว่างสัญญาเช่ายังไม่สิ้นสุดลง  โจทก์ทั้งสองเป็นผู้รับโอนมรดกที่ดินและตึกแถวดังกล่าว  จึงรับโอนสิทธิหน้าที่ที่บิดาโจทก์ทั้งสองมีอยู่รวมถึงสิทธิที่ ข. ผู้มีสิทธิเก็บกินให้จำเลยเช่านี้ด้วย  โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
          สัญญาเช่าระบุวัตถุประสงค์การเช่าว่าเพื่อใช้ประกอบธุรกิจการค้า การที่จำเลยนำสินค้าของจำเลยซึ่งมีกล่องกระดาษบรรจุสินค้าและเศษกล่องกระดาษที่ใช้แล้วเก็บไว้ในตึกแถวพิพาทจำนวนมากเป็นการใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจากการที่กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยไม่จัดให้มีเครื่องดับเพลิงและเวรยาม แม้ผลการสอบสวนไม่อาจทราบได้ว่าบุคคลใดทำให้เกิดเพลิงไหม้ก็ตามแต่เหตุเกิดเพลิงไหม้ครั้งนี้ก็เพราะความผิดของจำเลยดังกล่าวมาแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เช่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 552 และมาตรา 562

          อายุความฟ้องคดี
          คดีอันเกี่ยวกับสิทธิเก็บกินในระหว่างเจ้าของทรัพย์สินกับผู้ทรงสิทธิเก็บกิน หรือผู้รับโอนนั้น ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อเกินปีหนึ่งนับแต่วันสิทธิเก็บกินสุดสิ้นลง แต่ในคดีที่เจ้าของทรัพย์สินเป็นโจทก์นั้น ถ้าเจ้าของไม่อาจรู้ว่าสิทธิเก็บกินสุดสิ้นลงเมื่อใด ให้นับอายุความปีหนึ่งนั้นตั้งแต่เวลาที่เจ้าของทรัพย์สินได้รู้ หรือควรรู้ว่าสิทธิเก็บกินสุดสิ้นลง ตามมาตรา 1428
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1548/2503   ตั้งแต่จำเลยจดทะเบียนสิทธิเก็บกินสวนพิพาทให้โจทก์ตลอดชีวิต โจทก์ ไม่เคยเข้าครอบครองและไม่เคยให้สิทธิเก็บกินเลยตลอดมา เป็นเวลา 7 - 8 ปี แล้ว โจทก์ก็ยังฟ้องขอให้บังคับจำเลยตามสิทธินี้ได้ คดีเช่นนี้มีอายุความฟ้องร้อง 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30) ไม่ใช่อายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1374, 1375 หรือ 1428