18 พฤศจิกายน 2559

สัญญาจำนอง

          ลักษณะของสัญญาจำนอง
          มาตรา  702 "อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
          ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่"

          ลักษณะสำคัญของสัญญาจำนอง มีดังนี้
          1. ผู้จำนองอาจเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหรือบุคคลที่สามก็ได้ เนื่องจากการจำนองเป็นการประกันการชำระหนี้ด้วยทรัพย์สิน ดังนั้น ผู้จำนองจึงอาจเป็นลูกหนี้ชั้นต้นเองหรือบุคคลที่สามก็ได้ (มาตรา 709)
          2. เอาทรัพย์สินตราไว้เป็นประกันการชำระหนี้ หมายถึง นำเอกสารที่แสดงถึงสิทธิในทรัพย์สินนั้นไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ทรัพย์สินนั้นผูกพันเป็นประกันการชำระหนี้ประธาน ซึ่งหมายถึงหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ชั้นต้น กฎหมายจึงกำหนดให้สัญญาจำนองต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ (มาตรา 714)
          3. ผู้รับจำนองต้องเป็นเจ้าหนี้ ตามมาตรา 702 ซึ่งใช้คำว่า "เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้" ดังนั้น ถ้าจำนองต่อบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหนี้ การจำนองนั้นก็ไม่มีผล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 817/2521 (ประชุมใหญ่)  โจทก์ที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำกัด โจทก์ที่ 1  จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ที่ 1  จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินไว้กับโจทก์ที่ 2  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณามาตรา 702 ประกอบกับมาตรา 709 แล้ว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าผู้รับจำนองจะต้องเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่มีการจำนองค้ำประกันนั้น ซึ่งอาจเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในอนาคต หรือหนี้มีเงื่อนไข จะจำนองไว้เพื่อหนี้นั้น อาจเป็นผลได้จริง ก็จำนองได้ ส่วนผู้จำนองจะเป็นลูกหนี้หรือบุคคลอื่นใดก็ได้ไม่จำกัด เมื่อโจทก์ที่ 2 ผู้รับจำนองยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้สัญญาจำนองจึงไม่มีหนี้ที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ดังนั้น โจทก์ที่ 2 ซึ่งไม่ใช่เจ้าหนี้จำนองจึงบังคับแก่หนี้ที่จำเลยที่ 1 กู้โจทก์ที่ 1 ไม่ได้


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2545   การที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่โจทก์นั้น แท้จริงแล้วเป็นการจำนองประกันหนี้ที่จำเลยมีต่อ ล. โจทก์ผู้รับจำนองจึงมิได้เป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่จำเลยจำนองที่ดินเป็นประกัน สัญญาจำนองจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงบังคับจำนองแก่จำเลยมิได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2761/2549   โจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำนิติกรรมแทนโจทก์ที่ 2 การที่โจทก์ที่ 1 รับจำนองที่ดินจากจำเลยเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์ที่ 2 เป็นการกระทำแทนโจทก์ที่ 2 แม้ตามหนังสือสัญญาจำนองระบุชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับจำนองเท่านั้น โดยไม่ได้ระบุว่ากระทำการแทนโจทก์ที่ 2 ก็เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 2 ตัวการซึ่งยังไม่เปิดเผยชื่อแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาจำนองซึ่งโจทก์ที่ 1 ได้ทำไว้แทนตน ซึ่งโจทก์ที่ 2 มีสิทธิกระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 และเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 798 วรรคหนึ่ง ที่การตั้งตัวแทนเพื่อทำสัญญาจำนองเป็นหนังสือ ดังนั้นแม้การตั้งตัวแทนของโจทก์ที่ 2 เพื่อทำสัญญาจำนองกับจำเลยจะมิได้ทำเป็นหนังสือ แต่เมื่อสิทธิของโจทก์ที่ 2 ตามสัญญาจำนองเป็นสิทธิที่มีอยู่ในฐานะตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองได้
          4. ผู้จำนองไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์สินที่จำนอง เพียงแต่มีการตราไว้เป็นการประกันการชำระหนี้ดังกล่าวก็ใช้ได้ ในทางกลับกันถ้าไม่มีการตราทรัพย์สินไว้เป็นการประกันการชำระหนี้ แต่ได้มอบเอกสารแสดงถึงสิทธิในทรัพย์สินนั้นไว้กับเจ้าหนี้เพื่อเป็นประกันหนี้ก็ไม่ใช่สัญญาจำนอง
          แม้ไม่ใช่จำนอง แต่เจ้าหนี้มีสิทธิตามสัญญาที่จะยึดเอกสารนั้นไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1369/2510   สามีภริยาร่วมรู้เห็นยินยอมให้บุคคลภายนอกเอาโฉนดที่ดินซึ่งเป็นสินบริคณห์ไปให้ธนาคารยึดถือไว้เป็นหลักฐานในการกู้เบิกเงินเกินบัญชีของบุคคลภายนอก เมื่อบุคคลภายนอกยังค้างชำระหนี้ธนาคารอยู่ ธนาคารก็มีสิทธิยึดโฉนดไว้ได้ สามีและภริยาเจ้าของโฉนดไม่มีสิทธิเรียกคืนโฉนดนั้น
          เมื่อไม่ใช่จำนอง ถ้าต่อมาหนี้นั้นขาดอายุความแล้วเจ้าหนี้ย่อมไม่มีสิทธิยึดเอกสารของลูกหนี้นั้นไว้ต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 229/2522   แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยนำสืบว่า  โจทก์ได้กู้เงินจำเลยและได้มอบโฉนดที่ดินให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันการกู้เงิน   ตามสัญญากู้มิได้กำหนดวันชำระเงินไว้  สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่จะให้โจทก์ชำระเงินตามสัญญากู้  เริ่มนับตั้งแต่วันกู้เป็นต้นไป  และมีอายุความ 10 ปี  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 164  นับตั้งแต่วันกู้เงิน ถึงวันที่โจทก์ฟ้องเป็นเวลาเกิน 10 ปีแล้ว  จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยไม่ขาดอายุความเพราะเหตุใด  เมื่อหนี้ที่จำเลยอาศัยป็นมูลเหตุยึดถือโฉนดฉบับพิพาทของโจทก์ไว้ขาดอายุความเสียแล้ว  จำเลยก็ไม่มีสิทธิยึดถือโฉนดไว้เป็นประกันหนี้นั้นต่อไป
          การที่โจทก์กู้เงินและมอบโฉนดให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้  ไม่เข้าลักษณะจำนำ  กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 189  จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดของโจทก์ไว้ต้องคืนให้โจทก์  (วรรคแรกวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่  19/2521)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1064/2509   มอบอำนาจให้ไปทำจำนองและมอบโฉนดให้ไว้ ตราบใดที่ยังมิได้ไปจดทะเบียนจำนองการจำนองก็ยังไม่มีขึ้นโดยสมบูรณ์ เพราะยังไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ เมื่อผู้มอบอำนาจตาย ใบมอบอำนาจย่อมระงับไป ผู้ที่รับโฉนดไว้ไม่มีสิทธิยึดโฉนดไว้ได้
          5. หนี้ที่จำนองเป็นประกันต้องเป็นหนี้ที่สมบูรณ์ ตามมาตรา 707
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9091/2538   ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนไว้ภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 31 ดังนั้นการที่โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายเพื่อโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยภายในกำหนดเวลาห้ามโอนเป็นการกระทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายจึงตกเป็นโมฆะ แม้ต่อมาหลังจากทำสัญญาแล้วจะได้มีพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.ที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2521 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 31 แห่ง ป.ที่ดิน ที่ใช้บังคับอยู่เดิมมิให้ใช้บังคับกับที่ดินในกรณีเช่นคดีนี้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้นิติกรรมที่เป็นโมฆะแล้วนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นได้อีก ดังนั้นเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะ สัญญาจำนองเพื่อประกันสัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่อาจบังคับได้เพราะสัญญาจำนองจะมีได้เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 707 ประกอบด้วย มาตรา 681 ดังนั้น จึงไม่อาจบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาจำนองได้ เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะ จึงต้องบังคับตามป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง กล่าวคือ ในการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ จำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และรับเงินค่าที่ดินพิพาทที่โจทก์นำไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4372/2545   การที่โจทก์นำเงินดอกเบี้ยจำนวน 60,000 บาท  ที่จำเลยค้างชำระซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่คิดในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน  อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.  2475  มาตรา 3 ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 654 ไปรวมเข้ากับต้นเงิน 300,000 บาท ที่กู้ยืมนั้น  แสดงว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาที่จะแบ่งแยกการกู้เงินออกเป็นสองส่วน  คือจำนวน 300,000 บาท และ 60,000 บาท เฉพาะนิติกรรมกู้ยืมส่วนที่เป็นดอกเบี้ย 60,000 บาท เท่านั้นที่ตกเป็นโมฆะ  ส่วนนิติกรรมการกู้ยืมในส่วนจำนวน 300,000 บาท ยังคงสมบูรณ์อยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 หนี้กู้ยืมระหว่างโจทก์จำเลยในส่วนนี้จึงเป็นหนี้ที่สมบูรณ์  จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้เงินกู้ในวงเงิน 360,000 บาท   สัญญาจำนองดังกล่าวจึงมีผลบังคับได้ตามจำนวนหนี้ประธานที่สมบูรณ์คือจำนวน 300,000 บาท  เมื่อโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองแล้วโจทก์ก็ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองในหนี้ส่วนนี้ได้
          เมื่อหนี้สมบูรณ์แล้ว แม้จะขาดหลักฐานในการฟ้องร้อง ก็สามารถจำนองประกันหนี้นั้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1604/2536  การนำสืบถึงมูลหนี้เดิมอันเป็นที่มาแห่งหนี้ตามฟ้องเป็นการนำสืบตามประเด็นแห่งคดีหาเป็นการนำสืบนอกประเด็นไม่   จำเลยที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 แม้การกู้ยืมเงินขาดหลักฐานตามกฎหมายก็เพียงต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องบังคับคดีเอากับจำเลยที่ 1 เท่านั้นเมื่อหนี้การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีอยู่จริงและสมบูรณ์ตามกฎหมาย ย่อมมีการจำนองเป็นประกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 707 และ 681 เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ โจทก์ย่อมบังคับเอากับผู้จำนองได้
          หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขจะจำนองไว้เป็นประกันก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2207/2531   ก.  ผู้เป็นสมาชิกสหกรณ์จำเลยได้กู้เงินจำเลยโดยโจทก์ผู้เป็นสมาชิกอีกผู้หนึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาโจทก์กู้เงินจำเลยโดยจำนองที่ดินไว้แก่จำเลยสัญญาจำนองมีข้อความว่า เพื่อประกันเงินซึ่งโจทก์เป็นหนี้จำเลยอยู่ในขณะทำสัญญาหรือในเวลาหนึ่งเวลาใดต่อไปภายหน้า กับทั้งหนี้สินต่าง ๆ ซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดไม่ว่าในฐานะใด ๆ ต่อจำเลย ดังนี้ สัญญาจำนองย่อมครอบคลุมถึงหนี้ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวด้วย แม้โจทก์จะชำระหนี้ที่โจทก์กู้จากจำเลยครบถ้วนแล้ว สัญญาจำนองก็ยังไม่ระงับสิ้นไป จำเลยมีสิทธิที่จะไม่จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินให้โจทก์
          6. สัญญาจำนองเป็นสัญญาที่ก่อให้เกิดหนี้อุปกรณ์ คือ สัญญาจำนองทำขึ้นมาเพื่อประกันการชำระหนี้ประธาน หนี้จำนองจึงต้องอยู่ในกรอบหนี้ประธาน ถ้าหนี้ประธานไม่มีผลผูกพัน สัญญาจำนองก็ไม่มีผลผูกพันให้ผู้จำนองต้องรับผิดไปด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 906/2536   การที่จำเลยที่ 1 ผู้จัดการสาขาธนาคารจำเลยที่ 2 ให้สินเชื่อแก่โจทก์ร่วมอยู่ในกรอบวัตถุประสงค์ของธนาคารจำเลยที่ 2 และการที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ลงชื่อในใบรับเงินในใบถอนเงิน โดยจำเลยที่ 1ไม่ได้จ่ายเงินนั้น เป็นการกระทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุควรเชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีอำนาจกระทำได้ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามหลักกฎหมายเรื่องตัวการตัวแทน   การจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ แม้จะจดทะเบียนจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยชอบ แต่เมื่อไม่มีมูลหนี้ที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดต่อผู้รับจำนอง ผู้จำนองก็มีสิทธิขอให้ผู้รับจำนองจดทะเบียนปลดจำนองได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 40/2513   จำนองเป็นสัญญาที่เอาทรัพย์สินตราไว้เป็นประกันการชำระหนี้ จึงมีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันอันเป็นหนี้ประธาน และมีจำนองเป็นอุปกรณ์ของหนี้นั้น
          การบังคับจำนองแก่ทรัพย์ซึ่งจำนองจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีการไม่ชำระหนี้อันเป็นประธานเกิดขึ้น ดังนั้น ในกรณีที่มีการบังคับจำนองโดยเอาทรัพย์สินของจำเลยซึ่งจำนองไว้ออกขายทอดตลาดเพื่อใช้เงินที่จำเลยกู้โจทก์ไป แต่ขายได้เงินสุทธิน้อยกว่าเงินที่จำเลยค้างชำระอยู่ หากในสัญญาจำนองไม่ปรากฏว่าจำเลยยอมให้เอาทรัพย์อื่นนอกจากทรัพย์ที่จำนองชำระหนี้ได้อีกแล้ว จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ขาด โจทก์จะขอให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยมาชำระหนี้อีกหาได้ไม่
          7. ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ ตามมาตรา 702 วรรคสอง "ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่" ซึ่งเจ้าหนี้สามัญ คือ เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันอะไรเป็นพิเศษที่จะทำให้ได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6293/2545   โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดปรากฏว่าโฉนดที่ดินของที่ดินที่ถูกยึดอยู่ในความครอบครองของผู้ร้องในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากเจ้าหนี้เดิมของจำเลย ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้จำนองในที่ดินผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินจำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญโดยมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคสอง เพราะการจำนองย่อมติดตามตัวที่ดินไปตลอดจนกว่าผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้ แต่การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ผู้ร้องส่งมอบโฉนดที่ดินที่จะขายทอดตลาดนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275, 276 ประกอบด้วยมาตรา 304 กรณีเรื่องสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินจึงเป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องผู้เป็นเจ้าหนี้กับจำเลยผู้เป็นลูกหนี้เท่านั้น ผู้ร้องจะยึดหน่วงโฉนดที่ดินไว้รอจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้อันเป็นการกระทบสิทธิโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งที่จะบังคับยึดที่ดินเพื่อขายทอดตลาดหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4105/2548   การขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองมีทั้งการขายโดยปลอดจำนอง และการขายโดยจำนองติดไป หากเป็นการขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง เจ้าหนี้จำนองย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ส่วนการขายทอดตลาดโดยจำนองติดไป ผู้รับจำนองยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง โดยบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองตามมาตรา 735 เมื่อจำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองโดยการซื้อทรัพย์สินที่จำนองจากการขายทอดตลาด มิใช่คู่สัญญาตามสัญญาจำนอง จำเลยจึงเป็นบุคคลภายนอก ย่อมไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ยอมให้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นที่มิใช่ทรัพย์สินที่จำนอง แม้โจทก์ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง แต่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองก็มีหน้าที่เพียงปลดเปลื้องภาระจำนองด้วยการไถ่ถอนจำนอง ตามบทบัญญัติในบรรพ 3 ลักษณะ 12 หมวด 5 แห่ง ป.พ.พ. เท่านั้น ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องชำระหนี้ตามสัญญาจำนองแก่โจทก์ และหากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองได้เงินสุทธิไม่พอ จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดแก่โจทก์อีก