ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค ๒ วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น ลักษณะ ๑ วิธีพิจารณาสามัญในศาลชั้นต้น




          มาตรา ๑๗๐  ห้ามมิให้ฟ้อง พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเป็นครั้งแรกในศาลหรือโดยศาลอื่นนอกจากศาลชั้นต้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งเป็นอย่างอื่น
          ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในภาคนี้ว่าด้วยคดีไม่มีข้อพิพาท คดีมโนสาเร่ คดีขาดนัด และคดีที่มอบให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด การฟ้อง การพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้น นอกจากจะต้องบังคับตามบทบัญญัติทั่วไปแห่งภาค ๑ แล้ว ให้บังคับตามบทบัญญัติในลักษณะนี้ด้วย

          มาตรา ๑๗๑  คดีที่ประมวลกฎหมายนี้บัญญัติว่าจะฟ้องยังศาลชั้นต้น หรือจะเสนอปัญหาต่อศาลชั้นต้นเพื่อชี้ขาดตัดสิน โดยทำเป็นคำร้องขอก็ได้นั้น ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลย และวิธีพิจารณาที่ต่อจากการยื่นคำฟ้องมาใช้บังคับแก่ผู้ยื่นคำขอและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าหากมี และบังคับแก่วิธีพิจารณาที่ต่อจากการยื่นคำร้องขอด้วยโดยอนุโลม

          มาตรา ๑๗๒  ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๕๗ ให้โจทก์เสนอข้อหาของตนโดยทำเป็นคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้น
          คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น
          ให้ศาลตรวจคำฟ้องนั้นแล้วสั่งให้รับไว้ หรือให้ยกเสีย หรือให้คืนไป ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๘

          มาตรา ๑๗๓  เมื่อศาลได้รับคำฟ้องแล้ว ให้ศาลออกหมายส่งสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยเพื่อแก้คดี และภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันยื่นคำฟ้อง ให้โจทก์ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายนั้น
          นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้
          (๑) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่นและ
          (๒) ถ้ามีเหตุเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพฤติการณ์อันเกี่ยวด้วยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้น เช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิลำเนาของจำเลย การเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้หาตัดอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีไว้ในอันที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไม่

          มาตรา ๑๗๔  ในกรณีต่อไปนี้ให้ถือว่าโจทก์ได้ทิ้งฟ้อง คือ
          (๑)  ภายหลังที่ได้เสนอคำฟ้องแล้ว โจทก์เพิกเฉยไม่ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายเรียกให้แก้คดีแก่จำเลย และไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุแห่งการเพิกเฉยเช่นว่านั้นภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันยื่นคำฟ้อง
          (๒) โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้นโดยได้ส่งคำสั่งให้แก่โจทก์โดยชอบแล้ว

          มาตรา ๑๗๕  ก่อนจำเลยยื่นคำให้การ โจทก์อาจถอนคำฟ้องได้โดยยื่นคำบอกกล่าวเป็นหนังสือต่อศาล
          ภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้ว โจทก์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น เพื่ออนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องได้ ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่
          (๑) ห้ามไม่ให้ศาลให้อนุญาต โดยมิได้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอด ถ้าหากมี ก่อน
          (๒) ในกรณีที่โจทก์ถอนคำฟ้อง เนื่องจากมีข้อตกลงหรือประนีประนอมยอมความกับจำเลย ให้ศาลอนุญาตไปตามคำขอนั้น

          มาตรา ๑๗๖  การทิ้งคำฟ้องหรือถอนคำฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย แต่ว่าคำฟ้องใด ๆ ที่ได้ทิ้งหรือถอนแล้ว อาจยื่นใหม่ได้ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ

          มาตรา ๑๗๗  เมื่อได้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้จำเลยแล้ว ให้จำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวัน
          ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น
          จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก
          ให้ศาลตรวจดูคำให้การนั้นแล้วสั่งให้รับไว้ หรือให้คืนไปหรือสั่งไม่รับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๘
          บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ ให้ใช้บังคับแก่บุคคลภายนอกที่ถูกเรียกเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดตามมาตรา ๕๗ (๓) โดยอนุโลม

          มาตรา ๑๗๘  ถ้าจำเลยฟ้องแย้งรวมมาในคำให้การ ให้โจทก์ทำคำให้การแก้ฟ้องแย้งยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ส่งคำให้การถึงโจทก์
          บทบัญญัติแห่งมาตราก่อน ให้ใช้บังคับแก่คำให้การแก้ฟ้องแย้งนี้โดยอนุโลม

          มาตรา ๑๗๙  โจทก์หรือจำเลยจะแก้ไขข้อหา ข้อต่อสู้ ข้ออ้าง หรือข้อเถียงอันกล่าวไว้ในคำฟ้องหรือคำให้การที่เสนอต่อศาลแต่แรกก็ได้
          การแก้ไขนั้น โดยเฉพาะอาจเป็นการแก้ไขในข้อต่อไปนี้
          (๑) เพิ่ม หรือลด จำนวนทุนทรัพย์ หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือ
          (๒) สละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อ หรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์โดยวิธีเสนอคำฟ้องเพิ่มเติม หรือเสนอคำฟ้องเพื่อคุ้มครองสิทธิของตนในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หรือ
          (๓) ยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ เป็นข้อแก้ข้อหาเดิม หรือที่ยื่นภายหลัง หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้ออ้าง หรือข้อเถียงเพื่อสนับสนุนข้อหา หรือเพื่อหักล้างข้อหาของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง
          แต่ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดเสนอคำฟ้องใดต่อศาล ไม่ว่าโดยวิธีฟ้องเพิ่มเติมหรือฟ้องแย้ง ภายหลังที่ได้ยื่นคำฟ้องเดิมต่อศาลแล้ว เว้นแต่คำฟ้องเดิมและคำฟ้องภายหลังนี้จะเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้

          มาตรา ๑๘๐  การแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้ว ให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย

          มาตรา ๑๘๑  เว้นแต่ในกรณีที่คำร้องนั้นอาจทำได้แต่ฝ่ายเดียว
          (๑) ห้ามไม่ให้มีคำสั่งยอมรับการแก้ไข เว้นแต่จะได้ส่งสำเนาคำร้องให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าอย่างน้อยสามวัน ก่อนกำหนดนัดพิจารณาคำร้องนั้น
          (๒) ห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดในประเด็นที่คู่ความได้แก้ไขคำฟ้อง หรือคำให้การ เว้นแต่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้มีโอกาสบริบูรณ์ในอันที่จะตรวจโต้แย้งและหักล้างข้อหาหรือข้อต่อสู้ใหม่ หรือข้ออ้าง หรือข้อเถียงใหม่ที่กล่าวไว้ในคำร้องขอแก้ไขนั้น

          มาตรา ๑๘๒  เมื่อได้ยื่นคำฟ้อง คำให้การ และคำให้การแก้ฟ้องแย้งถ้าหากมีแล้ว ให้ศาลทำการชี้สองสถานโดยแจ้งกำหนดวันชี้สองสถานให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
          (๑) จำเลยคนใดคนหนึ่งขาดนัดยื่นคำให้การ
          (๒) คำให้การของจำเลยเป็นการยอมรับโดยชัดแจ้งตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น
          (๓) คำให้การของจำเลยเป็นคำให้การปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้น โดยไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธ ซึ่งศาลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีการชี้สองสถาน
          (๔) ศาลเห็นสมควรวินิจฉัยชี้ขาดคดีให้เสร็จไปทั้งเรื่องโดยไม่ต้องสืบพยาน
          (๕) คดีมโนสาเร่ตามมาตรา ๑๘๙ หรือคดีไม่มีข้อยุ่งยากตามมาตรา ๑๙๖
          (๖) คดีที่ศาลเห็นว่ามีประเด็นข้อพิพาทไม่ยุ่งยากหรือไม่จำเป็นที่จะต้องชี้สองสถาน
          ในกรณีที่ไม่ต้องมีการชี้สองสถาน ให้ศาลมีคำสั่งงดการชี้สองสถานและกำหนดวันสืบพยาน ถ้าหากมี แล้วให้ส่งคำสั่งดังกล่าวให้คู่ความทราบตามมาตรา ๑๘๔ เว้นแต่คู่ความฝ่ายใดจะได้ทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว
          คู่ความอาจตกลงกันกะประเด็นข้อพิพาทโดยยื่นคำแถลงร่วมกันต่อศาลในกรณีเช่นว่านี้ ให้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไปตามนั้น แต่ถ้าศาลเห็นว่าคำแถลงนั้นไม่ถูกต้อง ก็ให้ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งยกคำแถลงนั้น แล้วดำเนินการชี้สองสถานไปตามมาตรา ๑๘๓

          มาตรา ๑๘๒ ทวิ  (ยกเลิก)

          มาตรา ๑๘๓  ในวันชี้สองสถาน ให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจคำคู่ความและคำแถลงของคู่ความ แล้วนำข้ออ้าง ข้อเถียง ที่ปรากฏในคำคู่ความและคำแถลงของคู่ความเทียบกันดู และสอบถามคู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียง และพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้นอย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คำคู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคำคู่ความให้ศาลกำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้
          ในการสอบถามคู่ความตามวรรคหนึ่ง คู่ความแต่ละฝ่ายต้องตอบคำถามที่ศาลถามเองหรือถามตามคำขอของคู่ความฝ่ายอื่น เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายอื่นยกขึ้นเป็นข้ออ้าง ข้อเถียง และพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่คู่ความจะยื่นต่อศาล ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด หรือปฏิเสธข้อเท็จจริงใดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ถือว่ายอมรับข้อเท็จจริงนั้นแล้ว เว้นแต่คู่ความฝ่ายนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่จะตอบหรือแสดงเหตุผลแห่งการปฏิเสธได้ในขณะนั้น
          คู่ความมีสิทธิคัดค้านว่าประเด็นข้อพิพาทหรือหน้าที่นำสืบที่ศาลกำหนดไว้นั้นไม่ถูกต้อง โดยแถลงด้วยวาจาต่อศาลในขณะนั้นหรือยื่นคำร้องต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลสั่งกำหนดประเด็นข้อพิพาทหรือหน้าที่นำสืบ ให้ศาลชี้ขาดคำคัดค้านนั้นก่อนวันสืบพยาน คำชี้ขาดคำคัดค้านดังกล่าวให้อยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๒๒๖

          มาตรา ๑๘๓ ทวิ   ในกรณีที่คู่ความทุกฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันชี้สองสถาน ให้ศาลทำการชี้สองสถานโดยให้ถือว่าคู่ความที่ไม่มาศาลได้ทราบกระบวนพิจารณาในวันนั้นแล้ว
คู่ความที่ไม่มาศาลนั้นไม่มีสิทธิคัดค้านว่าประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบที่ศาลกำหนดไว้นั้นไม่ถูกต้อง เว้นแต่เป็นกรณีที่ไม่สามารถมาศาลได้ในวันชี้สองสถาน เพราะเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ หรือเป็นการคัดค้านในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในกรณีเช่นนี้ให้นำมาตรา ๑๘๓ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          มาตรา ๑๘๓ ตรี  (ยกเลิก)

          มาตรา ๑๘๓ จัตวา  (ยกเลิก)

          มาตรา ๑๘๔  ในกรณีที่มีการชี้สองสถาน ให้ศาลกำหนดวันสืบพยานซึ่งมีระยะเวลาไม่น้อยกว่าสิบวันนับแต่วันชี้สองสถาน
          ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน ให้ศาลออกหมายกำหนดวันสืบพยานส่งให้แก่คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบวัน

          มาตรา ๑๘๕  ในวันนัดสืบพยาน เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ศาลจะอ่านให้คู่ความฟังซึ่งคำฟ้อง คำให้การ และคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ถ้าหากมี หรือรายงานพิสดารแห่งการชี้สองสถาน แล้วแต่กรณี และคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติม (ที่ได้ยื่นต่อศาลและส่งไปให้แก่คู่ความแล้วโดยชอบ) ก็ได้
          ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติสามมาตราต่อไปนี้ ให้ศาลสืบพยานตามประเด็นในข้อพิพาทตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยพยานหลักฐาน และฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาของคู่ความทั้งปวง

          มาตรา ๑๘๖  เมื่อสืบพยานเสร็จแล้ว ให้ศาลอนุญาตให้โจทก์แถลงการณ์ด้วยวาจาก่อน แล้วจึงให้จำเลยแถลงการณ์ด้วยวาจาทบทวน ข้อเถียง แสดงผลแห่งพยานหลักฐานในประเด็นที่พิพาท ต่อจากนี้ให้ศาลอนุญาตให้โจทก์แถลงตอบจำเลยได้อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ห้ามไม่ให้คู่ความแถลงการณ์ด้วยวาจาอย่างใดอีก เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
          ก่อนพิพากษาคดี ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะได้แถลงการณ์ด้วยวาจาแล้วหรือไม่ คู่ความฝ่ายนั้นจะยื่นคำแถลงการณ์เป็นหนังสือต่อศาลก็ได้ แต่ต้องส่งสำเนานั้น ๆ ไปยังคู่ความอื่น ๆ

          มาตรา ๑๘๗  เมื่อได้สืบพยานตามที่จำเป็นและคู่ความได้แถลงการณ์ ถ้าหากมี เสร็จแล้ว ให้ถือว่าการพิจารณาเป็นอันสิ้นสุด แต่ตราบใดที่ยังมิได้มีคำพิพากษา ศาลอาจทำการพิจารณาต่อไปอีกได้ตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

          มาตรา ๑๘๘  ในคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ให้ใช้ข้อบังคับต่อไปนี้
          (๑) ให้เริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาล
          (๒) ศาลอาจเรียกพยานมาสืบได้เองตามที่เห็นจำเป็น และวินิจฉัยชี้ขาดตามที่เห็นสมควรและยุติธรรม
          (๓) ทางแก้แห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้ใช้ได้แต่โดยวิธียื่นอุทธรณ์หรือฎีกาเท่านั้น และให้อุทธรณ์ฎีกาได้แต่เฉพาะในสองกรณีต่อไปนี้
               (ก) ถ้าศาลได้ยกคำร้องขอของคู่ความฝ่ายที่เริ่มคดีเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือ
               (ข) ในเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาหรือพิพากษาหรือคำสั่ง
          (๔) ถ้าบุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อม ให้ถือว่าบุคคลเช่นว่ามานี้เป็นคู่ความ และให้ดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยคดีอันมีข้อพิพาท แต่ในคดีที่ยื่นคำร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้คำอนุญาตที่ผู้แทนโดยชอบธรรมได้ปฏิเสธเสียหรือให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถอนคืนคำอนุญาตอันได้ให้ไว้แก่ผู้ไร้ความสามารถนั้น ให้ถือว่าเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท แม้ถึงว่าผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้ไร้ความสามารถนั้นจะได้มาศาล และแสดงข้อคัดค้านในการให้คำอนุญาตหรือถอนคืนคำอนุญาตเช่นว่านั้น