27 ก.พ. 2567

อายุความคดีมรดก


          กรณีที่เจ้ามรดกตายนั้นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาททันที แต่อย่างไรก็ตาม กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในกองมรดกยังไม่ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทโดยเด็ดขาดจนกว่าจะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทกันเสร็จสิ้น เพราะถ้าตราบใดที่ยังมีความเป็นมรดกอยู่ทายาทก็อาจเสียสิทธิได้ ถ้าเกิดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการแบ่งมรดกขึ้น เงื่อนไขที่สำคัญของกฎหมายเกี่ยวกับการใช้สิทธิเรียกร้องเรียกเอาทรัพย์มรดกนั้น คือ"อายุความฟ้องคดีมรดก" เพราะหากมิได้ใช้สิทธิเรียกร้องเรียกเอาทรัพย์มรดกภายในกำหนดอายุความแล้ว ก็ย่อมเสียสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกเนื่องจากขาดอายุความฟ้องคดี

          มาตรา 1754 " ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
          คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม
          ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
          ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อนๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย "



          คดีมรดก หมายถึง คดีที่พิพาทกันระหว่างทายาทที่มีสิทธิในการรับมรดกด้วยกันตามกฎหมายหรือตามพินัยกรรม หรือคดีที่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกถูกฟ้องในฐานะทายาทให้รับผิดในหนี้สินของผู้ตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3316/2542  คดีมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 หมายความว่า คดีที่พิพาทกันระหว่างทายาทที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกด้วยกัน ด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดก จำเลยมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดก และโจทก์ฟ้องคดี เพื่อเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยผู้ครอบครองแทน กรณีจึงมิใช่เรื่องโจทก์เรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก จำเลยย่อมไม่อาจอ้างอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาตัดฟ้องโจทก์ได้

          กำหนดอายุความคดีมรดกมีข้อพิจารณาดังนี้ คือ

          1. อายุความฟ้องคดีมรดก ผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมายหรือทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกผู้ตาย ต้องฟ้องคดีมรดกภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม (จะรู้ว่าเจ้ามรดกตายหรือไม่ก็ตาม) ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4268/2562  จำเลยที่ 1 กับ ก. ต้องการยกที่ดินพิพาทและที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งหกรับรู้แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ตามคำสั่งศาลจังหวัดพัทยาแล้วจำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 เป็นไปตามเจตนารมณ์ของจำเลยที่ 1 และ ก. โดยบุตรทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งหกรับรู้และไม่มีผู้ใดคัดค้านแต่อย่างใด โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. โอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นกรณีการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุด" จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่เหลืออยู่เพียงแปลงเดียวให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 ถือได้ว่าการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นลงนับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2558 หลังจากการจัดการมรดกสิ้นสุดลงแล้วเป็นเวลาเกือบสิบสองปี คดีของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความการจัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง โจทก์ทั้งหกไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้
          จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเรื่อยมาทั้งก่อนและภายหลัง ก. ถึงแก่ความตาย โดยไม่ปรากฏว่าภายหลัง ก. ถึงแก่ความตาย ทายาทอื่นของ ก. ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทด้วยแต่อย่างใด ทั้งยังได้ความว่า โจทก์ทั้งหกไม่เคยโต้แย้งการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ ก. ถึงแก่ความตายจนมีการฟ้องคดีนี้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เป็นมรดกของ ก. จึงมิใช่การครอบครองแทนทายาทอื่นหากแต่เป็นการครอบครองเพื่อตน ดังนั้น หากทายาทของ ก. ต้องการใช้สิทธิเรียกร้องให้มีการแบ่งมรดกของ ก. ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทก็ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าทายาทอื่นของ ก. ซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งหกในคดีนี้ได้ฟ้องแบ่งมรดกในส่วนของ ก. ภายใน 1 ปี แม้ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2542 จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนให้ที่พิพาททั้งแปลงรวมถึงส่วนที่เป็นมรดกของ ก. แก่จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ยังคงเป็นเรื่องการแบ่งปันมรดกของ ก. ให้แก่ทายาทอยู่นั่นเอง การที่โจทก์ทั้งหกฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทในส่วนของ ก. ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อจะให้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก. แก่ทายาทคนอื่น เมื่อโจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 2 ภายหลังจาก ก. ถึงแก่ความตายเกิน 1 ปี ฟ้องของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความมรดก ตามบทบัญญัติดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10692/2558  คดีจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคดีคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับการฟ้องร้องคนละมาตรา อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกมีอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกมีอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิใช่ผู้จัดการมรดกแต่เป็นทายาทและถูกโจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดก ย่อมเป็นคดีมรดก อันมีอายุความตามมาตรา 1754 แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องจะได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเข้ามาด้วย ก็หาอาจทำให้สิทธิเรียกร้องแบ่งมรดกของโจทก์จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทกลับเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไปได้ไม่
          ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ" มาตรา 193/14 บัญญัติว่า "อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้ (1)...กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง..." และมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ" วรรคสอง บัญญัติว่า "เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น" โจทก์เรียกร้องเอาทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 1754 และอยู่ในบังคับตามมาตรา 193/9 มาตรา 193/14 และมาตรา 193/15 ดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่า ณ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 ศาลตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ณ. เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 จึงทำให้อายุความมรดกสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แม้ต่อมา ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกจะจดทะเบียนโอนมรดกพิพาทให้แก่ตนเองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ณ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 โดยไม่ได้โอนแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ยังครอบครองทรัพย์มรดกโดยอาศัยในบ้าน ว. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกพิพาทอยู่ จึงเป็นกรณีที่ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยอันแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับว่าโจทก์ยังครอบครองมรดกอยู่อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14
          แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงว่า ส. ไถ่ถอนจำนองโดย ส. มีหนังสือแจ้งธนาคารผู้รับจำนองว่า ไม่ให้ธนาคารมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินให้แก่โจทก์ และโอนที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 พฤติการณ์ดังกล่าวของ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาไม่ยึดถือมรดกแทนโจทก์ต่อไปนับแต่วันที่ธนาคารได้แจ้งแก่โจทก์อย่างช้าไม่เกินวันที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของโจทก์อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมสิ้นสุดลงไม่ถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งต่อไปนับแต่วันนั้น อายุความจึงเริ่มนับใหม่ในวันดังกล่าวตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินหนึ่งปี ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1774/2558  ภายหลังจาก ห. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ส. สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของ ห. พูดคุยกับ จ. ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ห. ว่า เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ห. ให้จัดการทำบุญให้เรียบร้อยเสียก่อน หลังจากนั้น จ. ไปหา ส. ปีละ 3 ถึง 4 ครั้ง แต่ละครั้ง ส. ได้มอบข้าวสารแก่ จ. และก่อน ส. ถึงแก่ความตาย ส. บอกแก่ จ. ว่า หาก ส. ถึงแก่ความตายแล้ว ให้ จ. จัดการเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ห. ได้ ข้อเท็จจริงยังได้ความต่อไปว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ดำเนินการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11467 ให้จำเลยเฉพาะส่วนของ ส. ในส่วนที่ดินพิพาทยังเป็นชื่อของ ห. เช่นเดิม แสดงว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ยอมรับสิทธิในการรับมรดกที่ดินพิพาทของทายาทของ ห. นอกจากนี้ หลังจากฟ้องคดีนี้ ทายาทบางส่วนของ ส. ทำหนังสือมอบอำนาจมีเนื้อความทำนองให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ทายาทของ ห. ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ส. และจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นตัวแทนทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว จำเลยไม่อาจยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ห. ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19775/2557  คดีก่อน โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้น ฐานยักยอกทรัพย์มรดกของ น. จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ คดีเสร็จการพิจารณา ศาลสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 คดีนี้โจทก์มาฟ้องเป็นคดีแพ่งเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 ว่า โจทก์มีสิทธิรับมรดกของ น. แทนที่ ส. บิดาตนที่ถึงแก่ความตายไปก่อน แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาท น. อีกคนหนึ่งได้กระทำความผิดอาญาโดยแจ้งเท็จปิดบังทายาทของ น. คนอื่น จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นของตนเองและไปจดทะเบียนขายแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว จึงเป็นคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องทางแพ่งเนื่องจากอ้างว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 ซึ่งอายุความในการฟ้องทางแพ่งต้องบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า การฟ้องคดีอาญาต่อศาลและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลด้วย โดยคดีอาญายังไม่เด็ดขาด อายุความซึ่งผู้เสียหายจะฟ้องคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาดังกล่าว คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16430/2557  อ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2524 แต่ยังไม่มีการจัดการมรดกและแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาท อายุความการฟ้องคดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 และ มาตรา 1754 จึงยังไม่เริ่มนับและถือว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาทโดยจำเลยไม่เคยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ทั้งสี่และ พ. ว่าไม่เจตนาจะยึดถือแทนอีกต่อไป จำเลยจึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 และมาตรา 1384
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13705/2557  ร. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ฟ. จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนในฐานะส่วนตัว โดยไม่ปรากฏว่า ร. ได้บอกกล่าวทายาทของ ฟ. ทุกคนว่า ไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์แทนทายาททุกคนต่อไปมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวโดยเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ย่อมถือได้ว่า ร. ครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ฟ. แทนทายาทอื่นและเป็นตัวแทนของบรรดาทายาทในการแบ่งปันทรัพย์มรดกจนกระทั่ง ร. ถึงแก่ความตาย เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาจาก ร. ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของ ฟ. เช่นเดียวกัน ประกอบกับที่ดินของ ฟ. อีกแปลงหนึ่ง ไม่ปรากฏว่าได้มีการแบ่งปันแก่ทายาทแล้ว แสดงว่าทรัพย์มรดกของ ฟ. ยังจะต้องมีการแบ่งปันแก่ทายาท การจัดการมรดกของ ฟ. ยังไม่เสร็จสิ้น อายุความที่ห้ามมิให้ทายาทฟ้องภายในห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงจึงยังไม่เริ่มนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิติดตามเอาที่ดินพิพาทคืนเพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาทได้ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7036/2557  กำหนดอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดก เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายนั้น ใช้บังคับสำหรับกรณีที่ทายาทฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกจากทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันกัน แต่สำหรับกรณีที่มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อรวบรวมทรัพย์มรดกมาแบ่งปันแก่ทายาทนั้น ตราบใดที่ยังมิได้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกหรือการแบ่งปันทรัพย์มรดกยังไม่แล้วเสร็จ ถือว่าทรัพย์มรดกอยู่ระหว่างการจัดการมรดกทายาทย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกำหนดอายุความ เมื่อที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกยังมิได้จัดสรรแบ่งปันแก่ทายาท จึงถือว่าอยู่ในระหว่างการจัดการทรัพย์มรดกของผู้จัดการมรดก อายุความตามมาตรา 1754 จึงไม่นำมาใช้บังคับ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความมรดก
          แม้จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกในที่ดินพิพาท แต่การถูกกำจัดมิให้รับทรัพย์มรดกนั้นเป็นเรื่องเฉพาะของจำเลย ผู้สืบสันดานของจำเลยสืบมรดกแทนจำเลยต่อไปได้ ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่า จำเลยมีบุตรทั้งหมด 4 คน จึงถือว่าจำเลยมีผู้สืบสันดานที่สามารถสืบมรดกแทนจำเลยเสมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้วได้ตามมาตรา 1607 เมื่อทายาทของ ก. เจ้ามรดกมีทั้งหมด 10 คน แม้ ส. ทายาทคนหนึ่งได้ตายไปก่อนที่ ก. ถึงแก่ความตาย แต่ ส. ก็มีผู้สืบสันดานเข้ารับมรดกแทนที่ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ก. คนหนึ่งถูกกำจัดมิให้ได้มรดกที่ดินพิพาท แต่จำเลยก็มีผู้สืบสันดานมรดกแทนที่จำเลยได้ ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงต้องแบ่งเป็น 10 ส่วนเท่าจำนวนทายาทของ ก. โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทคนละ 1 ใน 10 ส่วน
          คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ย่อมเป็นการพิพากษาตามคำขอบังคับของโจทก์ทั้งสามที่ให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสามถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยครบถ้วนแล้ว ไม่จำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขในกรณีที่จำเลยไม่สามารถปฏิบัติการตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ต่อไปอีก ทั้งการถูกกำจัดมิให้รับมรดกเป็นการวินิจฉัยถึงสิทธิในการรับมรดกของทายาท ไม่จำเป็นต้องระบุไว้ในคำพิพากษาเพื่อบังคับคดี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21897/2556  โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้จัดการมรดกของมารดาโจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทซึ่งอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์คืนจากจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสามในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ มิใช่กรณีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดกอันจะอยู่ภายใต้บังคับอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามเกิน 10 ปี นับแต่มารดาโจทก์ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6389/2551  เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ถือว่าผู้จัดการมรดกเป็นผู้ถือครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน และมีหน้าที่จัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อการแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 หากผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยมิชอบขัดต่อกฎหมายและถึงแก่ความตายก่อนจัดการมรดกเสร็จสิ้น ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของทายาทย่อมฟ้องผู้จัดการมรดกที่ศาลแต่งตั้งขึ้นใหม่ให้จัดการแก้ไขแบ่งทรัพย์มรดกให้ถูกต้องได้ภายในห้าปีนับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคท้าย
          ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกแก่ทายาทหลังเจ้ามรดกตายเกินกว่า 1 ปี การฟ้องขอเพิกถอนการโอนทรัพย์มรดกดังกล่าว จึงนำอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาใช้ไม่ได้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4095/2549  ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย..." คำว่า คดีมรดก ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายความว่า คดีที่พิพาทกันระหว่างทายาทที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกด้วยกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดก ฉะนั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของทายาทคือจำเลยที่ 1 จึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของ บ. และโจทก์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินจากจำเลยทั้งสองเพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาทของ บ. กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก จำเลยที่ 2 ไม่อาจยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ขึ้นกล่าวอ้างได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1823/2537  แม้ผู้จัดการมรดกได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกมาเป็นของตนก่อนถูกฟ้องคดีถึง 7 ปี เศษแล้วก็ตาม ก็เป็นเรื่องดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดก หาใช่การจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าหลังจากศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้วได้มีการแบ่งมรดกให้แก่ทายาทแต่อย่างใด จึงถือได้ว่าผู้จัดการมรดกได้ครอบครองทรัพย์มรดกทั้งหมดไว้แทนทายาทการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันตามส่วนสัดของทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทตามกฎหมาย เว้นแต่ทายาทจะตกลงยินยอมกันการที่ผู้จัดการทรัพย์มรดกโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเป็นของตนทั้งหมด และภายหลังโอนยกให้โดยเสน่หาแก่บุตรของผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่ง โดยไม่ยอมแบ่งปันแก่บุตรต่างบิดาซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก ทั้งที่ผู้จัดการมรดกทราบดีว่าเจ้ามรดกมีบุตรกี่คนแสดงให้เห็นว่าผู้จัดการมรดกมีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเททรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้ จึงถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของเจ้ามรดกเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 วรรคแรก
       
          2. อายุความคดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม เป็นกรณีที่เจ้ามรดกผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ ผู้ฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งอาจเป็นบุคคลใดๆ ก็ได้ที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกมรดกให้จะต้องฟ้องคดีภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม (จะรู้หรือควรรู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรมหรือไม่ก็ตาม) ห้ามมิให้ฟ้องคดีเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรมเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1223/2551  พลตรี น. ไม่ได้ลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมทหารฉบับพิพาท คงมีพันเอก พ. ลงชื่อเป็นพยานเพียงคนเดียวเท่านั้น พินัยกรรมทหารฉบับพิพาทจึงทำขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามแบบที่ ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 จำเลยที่ 3 ไม่อาจอาศัยพินัยกรรมทหารฉบับพิพาทมาอ้างอิงแสวงสิทธิใดๆ ได้
          พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับเป็นพินัยกรรมซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ผู้ทำพินัยกรรมเขียนข้อความในส่วนสาระสำคัญด้วยลายมือตนเองทั้งหมด มีใจความกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในเรื่องอื่นที่จะให้เกิดผลบังคับเมื่อตนตายก็ได้ ทั้งนี้ ข้อความที่เขียนด้วยลายมือตนเองต้องมีข้อความที่อ่านแล้วพอเข้าใจได้ว่าผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะให้ทรัพย์มรดกตกได้แก่ใคร แต่พินัยกรรมทหารฉบับพิพาทเป็นแบบพิมพ์พินัยกรรมของทางราชการทหาร ซึ่งพิมพ์ข้อความกำหนดการเผื่อตายของผู้ทำพินัยกรรมไว้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว คงเว้นช่องว่างไว้ให้ผู้ทำพินัยกรรมกรอกแต่เฉพาะสถานที่และวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรมกับชื่อของผู้ทำพินัยกรรม ผู้รับพินัยกรรมและลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น หากตัดข้อความที่เป็นตัวพิมพ์ออกเสียให้เหลือแต่เฉพาะข้อความที่พลเอก อ. ผู้ทำพินัยกรรมเขียนด้วยลายมือตนเองก็ไม่มีความหมายเป็นพินัยกรรม พินัยกรรมทหารฉบับพิพาทจึงไม่เป็นพินัยกรรมแบบผู้ทำพินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ
          บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ที่จำเลยที่ 3 ยกขึ้นอ้างเป็นเรื่องอายุความการใช้สิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกที่ตนมีสิทธิได้รับในฐานะทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม แต่คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมทหารฉบับพิพาทตกเป็นโมฆะ ไม่ใช่การใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 3 จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติเรื่องอายุความดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6855/2541  ห. เป็นเจ้าของที่ดินสองแปลง แปลงแรกมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี เว้นแต่ตกทอดทางมรดกตาม ป. ที่ดิน มาตรา 31 ห. ทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงแรกให้จำเลย 20 ไร่ ส่วนที่เหลือยกให้แก่ ถ. ภริยาของ ห. แปลงที่สองยกให้แก่จำเลย 4 ไร่ ส่วนที่เหลือยกให้แก่ ถ. การที่ ห. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยตามจำนวนเนื้อที่ดินที่ตกลงซื้อขายซึ่งเป็นเจตนาอันแท้จริงของ ห. ผู้ทำพินัยกรรม พินัยกรรมของ ห. ในส่วนของที่ดินแปลงที่สองซึ่งไม่มีข้อกำหนดห้ามโอนจึงมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ จำเลยจึงมีสิทธิขอรับโอนที่ดินแปลงนี้ในฐานะผู้รับพินัยกรรมได้ ส่วนข้อกำหนดพินัยกรรมที่ ห. ยกที่ดินแปลงแรกให้แก่จำเลยนั้น ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 31 วรรคหนึ่ง กฎหมายมุ่งหมายที่จะให้ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินได้มีที่ดินไว้ทำกินตลอดไปถึงลูกหลานหรือทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมาย และเพื่อป้องกันมิให้ผู้ได้มาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินไปให้บุคคลอื่นได้โดยง่าย เมื่อมูลเหตุที่ ห. ทำพินัยกรรมสืบเนื่องมาจาก ห. ตกลงแบ่งขายที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลย เนื้อที่ 20 ไร่ และ 4 ไร่ ตามลำดับ โดยให้จำเลยปรับปรุงพื้นที่และสร้างอาคารเรียนเพื่อสร้างโรงเรียนได้ แต่ ห. ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยตามสัญญา เพราะที่ดินแปลงแรกมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 31 ทำให้จำเลยไม่อาจขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนได้ เพราะตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือสัญญาเช่าที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนมีกำหนดไม่น้อยกว่า 10 ปี ดังนั้น เจ้าหน้าที่ที่ดินจึงแนะนำให้ทำสัญญาเช่ากัน หากเกรงว่าจะเกิดปัญหาก็ให้ทำพินัยกรรมไว้ ประกอบกับขณะนั้น ห. ป่วยเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ซึ่งอาจจะทำให้เสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้น จำเลยเองก็ทราบว่า ห. เป็นโรคดังกล่าว ฉะนั้น การที่ ห. ทำพินัยกรรมยกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยตามเนื้อที่ดินที่จะแบ่งขายให้แก่จำเลยโดยได้รับเงินค่าที่ดินจากจำเลยแล้ว ต่อมาจำเลยกับ ห. ไปทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวกันมีกำหนด 10 ปี โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นได้โดยชัดแจ้งว่า ห. และจำเลยจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตาม ป.ที่ดิน มาตรา 31 วรรคหนึ่ง โดย ห. ทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงแรกซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอน และที่ดินแปลงที่สองซึ่งไม่มีข้อกำหนดห้ามโอนให้แก่จำเลยตามจำนวนเนื้อที่ดินที่ตกลงจะซื้อขายกัน เพื่อให้ มีผลเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย เมื่อจำเลยร่วมรู้เห็นให้ ห. ทำพินัยกรรมเพื่อหวังผลได้กรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวมาเป็นหลักฐานประกอบการขอรับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียน อันแสดงถึงความไม่สุจริตของจำเลย จึงถือได้ว่าการยกที่ดินแปลงแรกให้แก่จำเลยตามพินัยกรรมมีวัตถุประสงค์เป็นการฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าว ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
          คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกที่ดินคืนทั้งสองแปลงคืนจากจำเลย เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของที่ดินแปลงแรกไม่เป็นผลเพราะตกเป็นโมฆะ จำเลยย่อมมิใช่เป็นทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรมของ ห. ผู้ตาย จึงอ้างอายุความมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 และ 1755 มาเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ ทั้งโจทก์ฟ้องว่าพินัยกรรมปลอม มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งผู้ทำพินัยกรรมได้กระทำโดยสำคัญผิด ถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1708 และ 1709 จึงไม่อยู่ในบังคับของอายุความตามมาตรา 1710 ดังนั้น คดีของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ แต่คดีโจทก์สำหรับที่ดินแปลงที่สองนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยมีสิทธิขอรับโอนที่ดินดังกล่าวในฐานะผู้รับพินัยกรรม โจทก์ซึ่งมิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมจึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกที่ดินดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินแปลงที่สองขาดอายุความหรือไม่อีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง


          3. อายุความสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดก เจ้าหนี้ของเจ้ามรดกผู้ตายจะต้องฟ้องเรียกร้องสิทธิภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แม้ว่าสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้เดิมมีอายุความยาวกว่า 1 ปีก็ตาม แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม (จะรู้ว่าเจ้ามรดกตายหรือไม่ก็ตาม) ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย
          แต่มีข้อยกเว้นสำหรับเจ้าหนี้ของเจ้ามรดกผู้ตายซึ่งเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิตามมาตรา 193/27 ได้แก่ ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ นั้นยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินเฉพาะที่ตนมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้นได้ แม้ว่าจะเกินอายุความฟ้องคดีมรดกแล้ว ก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14516/2558  โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเรียกร้องอันมีต่อ อ. เจ้ามรดก ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่เจ้ามรดกทำไว้กับโจทก์ซึ่งต้องฟ้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม หาได้เป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ที่ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 7824/2550 หมายเลขแดงที่ 2979/2551 ของศาลชั้นต้นที่นำมาผูกรวมกับคดีนี้ว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกรู้ถึงความตายของ อ. ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2549 เมื่อนับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 26 มิถุนายน 2551 จึงพ้นกำหนด 1 ปี คดีเป็นอันขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16195/2556  คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ได้เงินไม่พอชำระหนี้ และความปรากฏว่าจำเลยถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยเพิ่ม จึงเป็นกรณีที่โจทก์ขอให้ดำเนินการบังคับคดีเอาจากกองมรดกของจำเลยตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะดำเนินการดังกล่าวภายในระยะเวลา 10 ปี มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องคดีมรดกซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ดังที่ผู้ร้องอ้าง ผู้ร้องทั้งสามจึงไม่อาจยกเหตุนี้ขึ้นอ้างเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8811/2556  สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับ ส. ไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดจากวันทำสัญญากู้เงิน และเมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก่อนที่โจทก์ทวงถามก็ไม่อาจใช้อายุความทั่วไปตามที่โจทก์ฎีกาเพราะสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกซึ่งยังไม่ถึงกำหนดเวลาบังคับเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนถึงกำหนดนั้น เจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้น ภายในหนึ่งปีนับแต่ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์เบิกความรับว่า ส. ถึงแก่ความตายในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 และโจทก์อยู่ช่วยงานศพด้วย แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ส. ให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 พ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4578/2556  โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ค่าเช่าซื้อที่ ส. มีอยู่ต่อบริษัท ม. ต่อมาโจทก์ได้ชำระหนี้ที่ ส. มีอยู่แก่บริษัท ม. หลังจากที่ ส. ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิของการเป็นเจ้าหนี้แทนบริษัท ม. ที่จะฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตาย สิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นในวันที่โจทก์ชำระหนี้แก่บริษัท ม. อันเป็นเวลาหลังจากที่ ส. ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงมิใช่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ในอันที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ยอยู่ในขณะที่ ส. ถึงแก่ความตาย เพราะสิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เกิดขึ้นหลังจากการตายของ ส. ผ่านพ้นไปแล้ว อายุความในการใช้สิทธิไล่เบี้ยของโจทก์ดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 จะนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754 วรรคสาม ซึ่งเป็นอายุความสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีต่อเจ้ามรดกมาใช้ไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2474/2552  ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสามอยู่ใต้บังคับมาตรา 193/27 เป็นผลให้เจ้าหนี้จำนองยังคงมีสิทธิฟ้องบังคับชำระหนี้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้ว แต่ก็ต้องเป็นกรณีที่เจ้าหนี้จำนองฟ้องบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง อันเป็นการบังคับตามทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น แม้โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่า บ. ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ แต่โจทก์เพียงแต่ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ บ. ชำระหนี้อันเป็นตัวเงินคืนต้นเงินและดอกเบี้ย มิได้ขอให้บังคับชำระหนี้จากที่ดินที่จำนองจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องเรียกให้ชำระหนี้เงินกู้อย่างเจ้าหนี้สามัญ มิใช่ฟ้องบังคับจำนอง กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 193/27 จึงต้องนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่คดี
          โจทก์ได้รู้ถึงความตายของ บ. ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2548 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2550 ซึ่งพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์ได้รู้ถึงความตายของ บ. สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้เงินกู้อันเป็นหนี้ประธานจึงขาดอายุความ ดอกเบี้ยซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นอุปกรณ์ย่อมเป็นอันขาดอายุความด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/26
          ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระ มีกำหนดอายุความ 5 ปี สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระที่พ้นกำหนดอายุความ 5 ปี นับย้อนหลังตั้งแต่วันฟ้องขึ้นไปจึงเป็นอันขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743/2552  กรมสรรพากรโจทก์รู้ถึงความตายของ อ. แล้ว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ภาษีอากร พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงความตายของ อ. สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อกองมรดกของ อ. จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมยกข้อต่อสู้ดังกล่าวได้ตามมาตรา 694

          4. อายุความฟ้องคดีมรดกมีข้อยกเว้นตามมาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม มาตรา 1754 แล้วก็ดี" กล่าวคือ ทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งกันสามารถฟ้องเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ครอบครองนั้นได้แม้จะเกินอายุความฟ้องคดีมรดกตามมาตรา 1754 แล้วก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12972/2557  ตามพินัยกรรมข้อ 22 มีข้อความระบุให้สถานีบริการน้ำมันพร้อมที่ดินได้แก่ ช. ผู้เป็นทายาท เมื่อ ช. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรจึงเป็นทายาทผู้รับโอนทรัพย์มรดกจาก ช. ชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทในการอ้างอายุความมรดกยันโจทก์ผู้เป็นทายาทได้
          เดิมโรงน้ำแข็ง โรงเรือนและอาคารปลูกสร้างอยู่ในที่ดินแปลงใหญ่ ต่อมาเจ้ามรดกได้แบ่งแยกที่ดินออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 11295 เป็นที่ตั้งสถานีบริการน้ำมัน และโฉนดเลขที่ 11296 เป็นที่ตั้งโรงน้ำแข็ง ขณะเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ได้ใช้ในกิจการทุกอย่างของเจ้ามรดก และเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวยังคงใช้ในกิจการร่วมกันตลอดมา โดยโจทก์ช่วยดูแลกิจการโรงน้ำแข็งและสถานีบริการน้ำมันของเจ้ามรดก และที่ดินโฉนดเลขที่ 11295 บางส่วนให้บริษัท ท. เช่า จึงถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินตามพินัยกรรมซึ่งยังไม่ได้แบ่งกัน ส่วนที่ดินที่ให้บริษัท ท. เช่านั้น ถือว่าผู้เช่าครอบครองแทนทายาทรวมทั้งโจทก์ด้วย ดังนั้นแม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความหนึ่งปี นับแต่เมื่อทายาทได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก หรือกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย โจทก์ผู้เป็นทายาทยังมีสิทธิเรียกร้องขอให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 และ 1754
          การตีความข้อใดข้อหนึ่งในพินัยกรรมที่อาจตีความได้เป็นหลายนัย ให้ถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จผลตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นได้ดีที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1684 และต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษรตามมาตรา 171 จึงต้องพิจารณาจากข้อความที่กำหนดในพินัยกรรมเพื่อหาเจตนาที่แท้จริงของผู้ทำพินัยกรรมว่าเป็นเช่นไร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11628/2557  จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องแบ่งที่ดินมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม แต่จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยมิได้แบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่ จำเลยที่ 1 จึงกระทำผิดหน้าที่ในการจัดการทรัพย์มรดก โดยปราศจากความยินยอมของทายาททุกคนจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสี่ เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกยังมิได้ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทตามที่กฎหมายกำหนดไว้ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวมาจากจำเลยที่ 1 จึงถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมด โจทก์ทั้งสี่ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่ดินพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง กรณีมิอาจนำอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้ายมาใช้บังคับได้ เพราะมาตราดังกล่าวจะใช้บังคับต่อเมื่อการจัดการทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8371/2557  การแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดตามมาตรา 1750 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เป็นกรณีซึ่งข้อเท็จจริงต้องได้ความชัดแจ้งแล้วว่าทายาทได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างได้เข้าครอบครองทรัพย์มรดกตามส่วนแบ่งนั้นอย่างเป็นส่วนสัดชัดเจนว่าทายาทคนใดเข้าครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกนั้นในส่วนใด มีอาณาเขตและเนื้อที่ดินเข้าครอบครองแบ่งแยกกันจนชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์กันได้ เมื่อข้อเท็จจริงจากทางนำสืบไม่ได้ความ เช่นนั้นที่ดินพิพาทจึงยังไม่พ้นสภาพจากการเป็นทรัพย์มรดกของ พ. และกรณีต้องถือว่าการที่ ต. และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่นั้นเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ๆ ของ พ. ทุกคน กรณีจึงเข้าเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ พ. เพราะเข้าสืบสิทธิในมรดกส่วนของ ต. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วก็ตาม ดังนั้น คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15039/2555  ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างเป็นทายาทและบุตรของผู้ตายเจ้ามรดก ผู้ร้องได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ก่อนเจ้ามรดกมีชีวิตอยู่เรื่อยมาเพียงผู้เดียวกระทั่งเจ้ามรดกถึงแก่ความตายและได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องดังกล่าวจึงเป็นการครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตน และไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า การที่ทายาทคนหนึ่งคนใดครอบครองทรัพย์มรดกเพียงผู้เดียวเป็นสัดส่วนชัดเจนจะถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น และภายหลังเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านก็ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทและไม่เคยร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกภายในอายุความมรดก 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านเพิ่งมาขอแบ่งทรัพย์มรดกหลังผู้ร้องได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้วเกิน 1 ปี ฉะนั้นสิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่จะเรียกร้องให้ผู้ร้องแบ่งทรัพย์มรดกจึงต้องห้ามตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่งดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกย่อมตกเป็นของผู้ร้องโดยสมบูรณ์ และการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วเกือบ 3 ปี โดยมิได้ระบุในคำร้องว่าจะนำที่ดินพิพาทมาแบ่งปันแก่ทายาทก็เป็นเพียงการที่ผู้ร้องดำเนินการให้ตนมีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนได้เท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่ผู้คัดค้านและทายาทอื่นที่สิ้นสิทธิในการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกโดยอายุความไปแล้วตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด ทั้งการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกก็ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องสละประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา 193/24 ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ร้องที่กล่าวข้างต้นจึงมิใช่เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นและแทนผู้คัดค้านที่สิ้นสิทธิในการรับมรดกโดยอายุความไปแล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะยื่นคัดค้านการตั้งผู้จัดการมรดก และขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713 ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5691/2554  เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทได้แก่ ภริยาและบุตรทั้งเจ็ดโดยภริยามีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในการรับมรดกเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635 (1) ภริยาขอรับโอนที่ดินพิพาทแทนทายาทและยกที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งด้วยเพราะจำเลยทั้งสองเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีไปกว่าภริยาเจ้ามรดกผู้โอน โจทก์ที่ 1 จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหนึ่งในแปดส่วนและชอบที่จะฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นตัวแทนจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ 1 ลงในโฉนดที่ดินพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786/2535  จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะเป็นผู้จัดการมรดก เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย เมื่อการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้นแม้จำเลยจะครอบครองนานเพียงใด จำเลยก็จะยกอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทหาได้ไม่.

          5. บุคคลที่จะสามารถยกอายุความคดีมรดกตามมาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้ได้นั้น ได้แก่ บุคคลตามมาตรา 1755 กล่าวคือ ทายาท หรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท หรือโดยผู้จัดการมรดก เท่านั้น ส่วนบุคคลอื่นนอกจากที่กล่าวมานี้ไม่มีสิทธิยกอายุความคดีมรดกขึ้นต่อสู้แต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1276/2558  โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. เนื่องจาก ป. จดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรม โดย ส. ผู้ตาย ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ป. ให้ความยินยอมด้วย โจทก์จึงถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ป. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก่อน ป. โดยมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินส่วนตัว ป. คู่สมรสย่อมเป็นทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 วรรคสอง และมีสิทธิรับมรดกของ ส. ด้วยตามมาตรา 1635 แม้ ป. ยินยอมให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกและไม่ได้เข้ายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก แต่เมื่อไม่ปรากฏว่า ป. แสดงเจตนาสละมรดกดังกล่าวตามมาตรา 1612 ป. จึงยังคงเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. ตามกฎหมาย เมื่อ ป. ถึงแก่ความตายโดยยังไม่ได้รับการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ส. โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. ในฐานะเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้     จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. แบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ในส่วนที่ตกแก่ ป. ได้
          จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ซึ่งมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนซึ่งรวมถึง ป. คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะที่ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกทั้งสามแปลง ให้แก่ตนเองเพียงผู้เดียวจึงเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว และถือได้ว่าการมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนในที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงการครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นของ ส. ทุกคนเท่านั้น จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. ในส่วนที่ตกได้แก่ ป. คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1023/2566 เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 จำเลยที่ 1 จัดการโอนมรดกทั้งหมดให้ตนเอง รวมทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย แต่เป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่อาจยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้ได้ โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการรับโอนมรดกของผู้ตายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แสดงว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทรัพย์มรดกของผู้ตายกลับคืนกองมรดกเพื่อแบ่งปันระหว่างทายาท จึงเป็นคดีมรดก ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ยังมิได้แบ่งปันกันโดยชอบ การที่จำเลยที่ 1 มีชื่อในโฉนดที่ดินเลขที่ 24990 ถือว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย จึงไม่อาจอ้างการครอบครองขึ้นต่อสู้โจทก์และโจทก์ร่วมได้ คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ขาดอายุความ
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14174/2557  โจทก์ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมระหว่าง อ. กับจำเลย โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ก. และ อ. ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของบิดามารดาโจทก์ เมื่อ ก. บิดาของโจทก์ถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทจึงเป็นมรดกตกทอดมายังโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ก. ด้วย แต่ อ. มารดาโจทก์กลับจดทะเบียนยกที่ดินทั้งแปลงให้แก่จำเลยโดยเสน่หา โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของ ก. และ อ. จึงไม่มีอำนาจฟ้องและคดีโจทก์ขาดอายุความมรดกแล้ว คดีจึงมีประเด็นพิพาทว่า โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ก. และเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของ ก. หรือไม่ จึงเป็นการฟ้องคดีมรดกตกอยู่ในบังคับแห่งอายุความมรดกซึ่งห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดก เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง อีกทั้งยังอยู่ในบังคับแห่ง มาตรา 1754 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า "ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย" แม้ตามคำฟ้องจะไม่ปรากฏว่า ก. ถึงแก่ความตายเมื่อใด แต่ตามคำฟ้องระบุว่า ก. ถึงแก่ความตายก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2517 ที่ อ. ยื่นคำร้องขอรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาท เมื่อคำนวณนับถึงวันฟ้องวันที่ 5 เมษายน 2550 พ้นกำหนดสิบปี นับแต่ ก. ถึงแก่ความตายแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ แม้จำเลยจะมิใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ ก. ก็ตาม แต่ อ. ผู้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเป็นคู่สมรสซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635 จำเลยจึงเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของ อ. ทายาทโดยธรรมของ ก. ยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1755
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6383/2551  โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกและเข้าครอบครองทรัพย์เป็นส่วนสัดแล้ว การแบ่งมรดกจึงมีผลสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ฉะนั้น จำเลยไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาที่ดินให้ผิดไปจากที่ได้แบ่งปันกันไปแล้วหาได้ไม่ และไม่มีสิทธิยุ่งเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวทั้งไม่มีสิทธิยกอายุความมรดกเป็นข้อต่อสู้ได้ เพราะสิ้นความเป็นทายาทในส่วนที่ดินพิพาทที่แบ่งปันกันแล้ว จึงไม่ใช่บุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754
          ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งดั่งเช่นคดีนี้ ถือว่าเป็นผู้แทนของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทหาอาจยกอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3568/2548  ร. ผู้จัดการมรดกผู้ตายจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่ทายาทผู้ตายโดยไม่มีค่าตอบแทนและโดยไม่สุจริต แล้วจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายมีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300
          จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย ดังนั้น จึงไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 1754 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้

          6. อายุความสะดุดหยุดลง กรณีที่มีการตั้งผู้จัดการมรดก ถือว่าผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์สินแทนทายาท ย่อมมีผลทำให้อายุความมรดกยังไม่เริ่มนับจนกว่าการจัดการมรดกนั้นจะเสร็จสิ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7458/2553  เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนาง น. ให้เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ย. นาง น. จึงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามกฎหมาย มีผลให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของนาย ย. ไม่จำต้องฟ้องร้องภายในอายุความมรดก 1 ปี เพราะอายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 และถือได้ว่านาง น. ในฐานะผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันแทนทายาทของนาย ย. ทุกคน แม้ต่อมานาง น. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนาย ย. ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของนาย ย. ก็เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และการจัดการมรดกที่ไม่ชอบนั้นย่อมทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลง ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนาย ย. และยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งทรัพย์มรดก เมื่อจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนาง น. ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมด โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง คดีของโจทก์ทั้งสี่จึงยังไม่ขาดอายุความมรดก