ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ หลักทั่วไป ลักษณะ ๖ อายุความ หมวด ๒ กำหนดอายุความ


         
               
          มาตรา ๑๙๓/๓๐  อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี

          มาตรา ๑๙๓/๓๑  สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรให้มีกำหนดอายุความสิบปี ส่วนสิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาหนี้อย่างอื่นให้บังคับตามบทบัญญัติในลักษณะนี้

          มาตรา ๑๙๓/๓๒  สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด หรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้มีกำหนดอายุความสิบปี  ทั้งนี้ ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด

          มาตรา ๑๙๓/๓๓  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี
          (๑) ดอกเบี้ยค้างชำระ
          (๒) เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ
          (๓) ค่าเช่าทรัพย์สินค้างชำระ เว้นแต่ค่าเช่าสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๑๙๓/๓๔ (๖)
          (๔) เงินค้างจ่าย คือ เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดูและเงินอื่น ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา
          (๕) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา ๑๙๓/๓๔ (๑) (๒) และ (๕) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี

          มาตรา ๑๙๓/๓๔  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี
          (๑) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปอุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง
          (๒) ผู้ประกอบเกษตรกรรมหรือการป่าไม้ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบอันเป็นผลิตผลทางเกษตรหรือป่าไม้ เฉพาะที่ใช้สอยในบ้านเรือนของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง
          (๓) ผู้ขนส่งคนโดยสารหรือสิ่งของหรือผู้รับส่งข่าวสาร เรียกเอาค่าโดยสาร ค่าระวาง ค่าเช่า ค่าธรรมเนียม รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
          (๔) ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมหรือหอพัก ผู้ประกอบธุรกิจในการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม หรือผู้ประกอบธุรกิจสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการเรียกเอาค่าที่พัก อาหารหรือเครื่องดื่ม ค่าบริการหรือค่าการงานที่ได้ทำให้แก่ผู้มาพักหรือใช้บริการ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
          (๕) ผู้ขายสลากกินแบ่ง สลากกินรวบ หรือสลากที่คล้ายคลึงกัน เรียกเอาค่าขายสลาก เว้นแต่เป็นการขายเพื่อการขายต่อ
          (๖) ผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ เรียกเอาค่าเช่า
          (๗) บุคคลซึ่งมิได้เข้าอยู่ในประเภทที่ระบุไว้ใน (๑) แต่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำงานการต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
          (๘) ลูกจ้างซึ่งรับใช้การงานส่วนบุคคล เรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นเพื่อการงานที่ทำ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือนายจ้างเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป
          (๙) ลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างรายวัน รวมทั้งผู้ฝึกหัดงาน เรียกเอาค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือนายจ้างเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป
          (๑๐) ครูสอนผู้ฝึกหัดงาน เรียกเอาค่าฝึกสอนและค่าใช้จ่ายอย่างอื่นตามที่ได้ตกลงกันไว้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
          (๑๑) เจ้าของสถานศึกษาหรือสถานพยาบาล เรียกเอาค่าธรรมเนียมการเรียนและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ หรือค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอย่างอื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
          (๑๒) ผู้รับคนไว้เพื่อการบำรุงเลี้ยงดูหรือฝึกสอน เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
          (๑๓) ผู้รับเลี้ยงหรือฝึกสอนสัตว์ เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
          (๑๔) ครูหรืออาจารย์ เรียกเอาค่าสอน
          (๑๕) ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม การพยาบาล การผดุงครรภ์ ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ หรือผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาอื่น เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป
          (๑๖) ทนายความหรือผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย รวมทั้งพยานผู้เชี่ยวชาญเรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือคู่ความเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป
          (๑๗) ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ผู้สอบบัญชี หรือผู้ประกอบวิชาชีพอิสระอื่น เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้ รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป หรือผู้ว่าจ้างให้ประกอบการงานดังกล่าวเรียกเอาคืนซึ่งเงินเช่นว่านั้นที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป

          มาตรา ๑๙๓/๓๕  ภายใต้บังคับมาตรา ๑๙๓/๒๗ สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือโดยการให้ประกันตามมาตรา ๑๙๓/๒๘ วรรคสอง ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดหรือให้ประกัน