13 ส.ค. 2559

สัญญากู้ยืมเงิน

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 650  "อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น
          สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม"
          มาตรา 653   "การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
          ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว"
          มาตรา 654  "ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี"
          มาตรา 655  "ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ
          ส่วนประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกทบต้นในบัญชีเดินสะพัดก็ดี ในการค้าขายอย่างอื่นทำนองเช่นว่านี้ก็ดี หาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติซึ่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นไม่"
          มาตรา 656  "ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงินนั้นไซร้ ท่านให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
          ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
          ความตกลงกันอย่างใดๆ ขัดกับข้อความดั่งกล่าวมานี้ ท่านว่าเป็นโมฆะ"

          สำหรับอายุความฟ้องคดีสัญญากู้ยืมเงินแบ่งเป็น 3 ประเภท
          1. อายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 มีอายุความสิบปี
          2. กรณีเงินกู้ที่มีการชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ตามมาตรา 193/33(2) มีอายุความห้าปี
          3. กรณีลูกหนี้เงินกู้เสียชีวิต เจ้าหนี้ต้องฟ้องคดีภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตามมาตรา 1754 วรรคสาม



       
          สัญญากู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองชนิดหนึ่ง ซึ่งจะบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ยืม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13825/2553  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 และจำเลยได้รับเงินกู้ยืมไปครบถ้วนแล้ว จำเลยให้การว่าจำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์และไม่เคยได้รับเงินไปจากโจทก์ จำเลยทำสัญญาจำนองที่ดินเพื่อประกันการทำสัญญานายหน้าจัดส่งคนงานไปทำงานที่ไต้หวัน เท่ากับจำเลยให้การว่าสัญญากู้ยืมเงินตามคำฟ้องซึ่งเป็นการยืมใช้สิ้นเปลืองไม่สมบูรณ์ เพราะไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา 650 จำเลยจึงไม่ต้องห้ามมิให้นำสืบพยานบุคคลว่าสัญญากู้ยืมเงินตามคำฟ้องไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
          ที่จำเลยให้การและนำสืบพยานบุคคลว่าสัญญาจำนองดังกล่าวเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญานายหน้าส่งคนไปทำงานที่ดินแดนไต้หวันและจำเลยได้ชำระหนี้หมดแล้วนั้น ก็เป็นการนำสืบถึงที่มาแห่งมูลหนี้จำนอง หาใช่การนำสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ไม่ และการนำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามสัญญานายหน้าส่งคนไปทำงานที่ต่างประเทศก็มิใช่การนำสืบถึงการใช้เงินกู้ยืมที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 653 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7229/2552  หนังสือสัญญากู้เงินซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้ระบุจำนวนเงิน 500,000 บาท โดยจำเลยไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีมูลหนี้เดิมเหลืออยู่เพียง 192,111.28 บาท จึงเป็นการทำให้จำนวนหนี้ในสัญญากู้ไม่สมบูรณ์จำนวน 192,111.28 บาท ได้ มิใช่ว่าสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ทั้งหมด
          สัญญาขายลดเช็คไม่มีกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราไว้เหมือนเช่นการกู้ยืมเงิน ดังนั้น การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือนในมูลหนี้เดิมจึงมิใช่เป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5292/2548  โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้จากจำเลย จำเลยให้การว่าไม่ได้กู้เป็นเรื่องการเล่นแชร์กัน การที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยเล่นแชร์กับโจทก์และจำเลยประมูลแชร์ได้ โจทก์ซึ่งเป็นนายวงแชร์ให้จำเลยทำสัญญากู้เงินเพื่อเป็นประกันว่าจำเลยจะส่งชำระค่าแชร์ในงวดที่เหลือต่อไป และต่อมาการเล่นแชร์สิ้นสุดลงโดยจำเลยส่งชำระค่าแชร์ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ซึ่งเป็นการนำสืบตามที่จำเลยให้การต่อสู้ และเป็นการนำสืบถึงมูลเหตุที่มาของการทำสัญญากู้เงิน เพื่อแสดงให้เห็นว่าสัญญากู้เงินตามฟ้องไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ เพราะจำเลยส่งชำระค่าแชร์ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว เท่ากับเป็นการนำสืบว่าสัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคสอง จำเลยจึงมีสิทธินำสืบได้ หาใช่เป็นการนำสืบถึงการชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินไม่ 
          โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้เถียงในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน แต่กำหนดให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลเป็นพับซึ่งเป็นผลให้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นพับไปด้วย จึงไม่ถูกต้อง เพราะการกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดเป็นผู้รับผิดในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแค่ไหนเพียงไรนั้น เป็นดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดี ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์รับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยเป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจ มิใช่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย จึงมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7275/2546  เดิม น. และจำเลยได้กู้ยืมเงิน ส. น้องโจทก์จำนวน 150,000 บาท ต่อมาโจทก์และจำเลยตกลงกันให้โจทก์นำเงินกู้ยืมตามฟ้องไปชดใช้หนี้แก่ ส. โดยจำเลยยอมกู้ยืมเงินจากโจทก์และจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้จำนวน183,300 บาท แก่โจทก์แม้ในวันที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจำนองที่ดิน โจทก์จะไม่ได้ส่งมอบเงินกู้ยืมให้แก่จำเลย แต่เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ที่จำเลยมีต่อ ส. แทนจำเลยไป และจำเลยยอมทำสัญญาจำนองที่ดินแทนถือได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบเงินกู้ยืมให้แก่จำเลยแล้ว การกู้ยืมเงินและสัญญาจำนองที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยย่อมบริบูรณ์ใช้บังคับระหว่างกันได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6792/2543  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คโดยกล่าวอ้างและนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัทฟาร์มอ่างทองรีสอร์ท จำกัด เพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่บริษัทฟาร์มอ่างทองรีสอร์ท จำกัด กู้ไปจากโจทก์ร่วม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฟาร์มอ่างทองรีสอร์ท จำกัด ยังไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน ดังนั้น สัญญากู้ยืมเงินย่อมไม่สมบูรณ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 650 วรรคสอง จึงถือไม่ได้ว่าบริษัทฟาร์มอ่างทองรีสอร์ท จำกัด เป็นหนี้โจทก์ร่วมตามสัญญากู้ยืมเงิน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
  
          การกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมไว้ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11637/2556  เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับมิได้มีคำว่ากู้หรือยืมเลย และอ่านข้อความในเช็คพิพาททั้งหมดก็ไม่มีข้อความใดเลยที่ส่อแสดงให้รู้ได้ว่าเป็นการกู้ยืมเงินกัน อีกทั้งสภาพของเช็คก็เป็นการใช้เงิน ไม่ใช่การกู้หรือยืมเงิน เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับจึงมิใช่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม          
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3927/2556  เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบแล้วไม่ปรากฏว่ามีเอกสารฉบับใดเลยที่มีข้อความแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์หรือมีข้อความว่าจะใช้คืนอันเป็นสาระสำคัญของหลักฐานเป็นหนังสือที่บ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์ ลำพังหนังสือขอเบิกค่าใช้จ่ายประจำเดือนของจำเลยที่ 1 ที่มีเพียงข้อความระบุถึงจำนวนเงินที่ขอเบิกและวันที่ขอรับเงินตามเอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.24 คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 ได้รับเช็คไปจากโจทก์แล้วเท่านั้น ยังไม่อาจฟังขยายความออกไปได้ว่าเป็นการรับเช็คที่กู้ยืมเงินจากโจทก์หรือรับเงินที่กู้ยืม หนังสือขอเบิกค่าใช้จ่ายประจำเดือนตามเอกสารดังกล่าวจึงมิใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ส่วนรายงานที่ ป. มีถึงโจทก์ ก็ปรากฎเพียงข้อความว่า ขอให้โจทก์พิจารณาจ่ายเงินกู้ยืมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเอกสารที่ ป. จัดทำขึ้นเองแต่ฝ่ายเดียว ทั้งไม่ปรากฏลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ลงไว้เป็นสำคัญ เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินอีกเช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22631/2555  การนำสืบถึงการชำระหนี้กู้ยืมด้วยเงินนั้น ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง กำหนดให้ผู้นำสืบต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองนำสืบโดยมีสมุดบันทึกการเก็บเงินเป็นรายวัน ซึ่งมีลายมือชื่อโจทก์มาแสดง แม้สมุดบันทึกดังกล่าวที่ลงลายมือชื่อโจทก์ไม่ได้ระบุว่ารับเงินค่าอะไร แต่ก็มีข้อความระบุจำนวนดอกเบี้ยที่ค้าง ซึ่งบ่งชี้ว่าในเดือนนั้นจำเลยทั้งสองชำระในส่วนที่เป็นต้นเงิน โดยยังค้างดอกเบี้ยไว้ ดังนี้ หลักฐานเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง มิได้เคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่าใช้หนี้กู้ยืมเงิน เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าหนี้มาเก็บเงินเป็นรายวัน มีจำนวนเงินที่เรียกเก็บ และเมื่อลูกหนี้ค้างชำระในส่วนดอกเบี้ย ก็มีรายละเอียดว่าค้างดอกเบี้ยเดือนใดบ้าง โดยมีลายมือชื่อเจ้าหนี้ลงในช่องทุกวัน ที่มาเรียกเก็บเงิน ถือว่าสมุดบันทึกดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการชำระหนี้เงินกู้ตามมาตรา 653 วรรคสอง จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธินำสืบการใช้เงินได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 36/2555  เอกสารหมาย จ.2 นอกจากจะเป็นหลักฐานว่าจำเลยรับโฉนดที่ดินจาก ส. แล้ว เอกสารดังกล่าวยังมีข้อความที่แสดงว่าเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2536 จำเลยได้กู้ยืมเงินจาก ส. จำนวน 2,000,000 บาท จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ด้วย แม้จำเลยซึ่งเป็นผู้กู้ไม่เจตนาให้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมก็ตาม การที่คู่สัญญาได้ทำสัญญากู้ยืมกันเป็นหนังสือไว้แล้ว หามีผลทำให้เอกสารฉบับนี้ไม่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม โจทก์จึงใช้เอกสารหมาย จ.2 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือฟ้องให้จำเลยรับผิดได้
          การกู้ยืมเงินระหว่าง ส. กับจำเลยมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้ยืมตามเอกสารหมาย จ.2 แม้จำเลยอ้างว่าชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืม ไม่มีการเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว จำเลยจึงนำสืบการใช้เงินไม่ได้เพราะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10406/2554  แบบฟอร์มคำขอกู้ยืมเงินและหนังสือกู้เงินของสมาชิกสหกรณ์ที่โจทก์นำมาใช้กับพนักงานลูกจ้างของโจทก์ ซึ่งคำขอกู้เงินมีสาระสำคัญเพียงว่า จำเลยที่ 1 เสนอคำขอกู้เงินจำนวน 153,500 บาท ส่วนหนังสือกู้เงินมีสาระสำคัญเพียงว่าจำเลยที่ 1 ทำหนังสือกู้ไว้ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นหลักฐาน จำเลยที่ 1 ขอกู้เงินไม่เกิน 153,500 บาท เมื่อโจทก์อนุมัติให้ใช้หนังสือกู้นี้ได้ จำเลยที่ 1 จะเบิกรับเงินกู้ตามที่โจทก์อนุมัติ และทำหลักฐานการรับเงินกู้ให้ไว้แก่สหกรณ์ทุกครั้ง ด้านหลังระบุว่า ถ้าโจทก์กำหนดวงเงินกู้ให้น้อยกว่าที่ขอกู้ จำเลยที่ 1 เป็นอันตกลงด้วยทั้งสิ้น ลงชื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ โดยไม่มีลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้อยู่ด้วย คงมีเพียงลายมือชื่อประธานคณะทำงานจากกรรมการดำเนินการซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเป็นผู้อนุมัติพร้อมเลขานุการในช่องบันทึกการอนุมัติเงินกู้หน้าแรกของหนังสือกู้เงิน อันเป็นขั้นตอนปฏิบัติงานตามระเบียบ ฯ ข้อ 9 จึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิใช่หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ส่วนสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำให้ไว้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฝ่ายเดียวลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคสองเท่านั้น หนังสือกู้เงินและหนังสือค้ำประกัน จึงมิใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามความมุ่งหมายแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 118 แม้โจทก์จะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 503/2554  โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในฐานะผู้กู้ยืมจำนวนเงิน 600,000 บาท และจำเลยที่ 2 กับที่ 4 ให้ร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ยืมจำนวนเงิน 50,000 บาท อีก โดยอาศัยมูลเหตุการกู้ยืมเงินเช่นเดียวกัน แม้โจทก์จะอ้างมูลหนี้กู้ยืมคนละจำนวน และอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ต่างกู้เงินโจทก์อีกต่างหากก็ตาม แต่มูลหนี้คดีนี้ก็คือการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 โดยโจทก์อ้างในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืม โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน แต่ไม่ได้ระบุจำนวนเงินไว้ในสัญญากู้ยืมเช่นเดียวกับคดีก่อน และอ้างอีกว่าหากบุตรจำเลยที่ 1 คือ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องการใช้เงินมาขอกู้เงินจากโจทก์เพิ่มก็ขอให้โจทก์ให้กู้โดยอาศัยสัญญากู้ฉบับดังกล่าว โดยให้บุตรของจำเลยที่ 1 เพียงแต่ทำหลักฐานการรับเงินจากโจทก์ให้โจทก์ยึดเป็นประกัน จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รับผิดชอบต่อโจทก์เอง เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระ โจทก์จึงได้รวบรวมเงินที่จำเลยทั้งสี่กู้ไปจากโจทก์รวมเป็นเงินจำนวน 600,000 บาท กรอกลงในช่องที่ว่างไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน แล้วนำไปฟ้องจำเลยทั้งสี่ตามคดีเดิม ดังนั้นมูลหนี้คดีนี้ก็เป็นมูลหนี้เดิมที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไปแล้วในคดีเดิมนั่นเอง โดยอาศัยเหตุที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไป มีจำเลยที่ 2 และที่ 4 ค้ำประกันรวมกับที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 กู้ยืมโจทก์ด้วย เท่ากับโจทก์ได้รื้อร้องฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะ ผู้กู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 กับที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้กู้ยืมด้วย จึงเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีเดิมต้องห้ามตามกฎหมาย ทั้งคดีเดิมศาลชั้นต้นก็ได้วินิจฉัยไปแล้วว่า สัญญาการกู้ยืมเงินเป็นสัญญากู้ปลอม โจทก์ไม่อาจอาศัยสัญญากู้ยืมปลอมดังกล่าวมาเป็นหลักฐานฟ้องร้องบังคับคดีได้ เพราะถือว่าการกู้ยืมไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ และลำพังเฉพาะหลักฐานการรับเงินของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ที่โจทก์อ้างก็ไม่ใช่หลักฐานการกู้ยืมเงินที่จะฟ้องร้องบังคับคดีให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้รับผิดได้ 
          หลักฐานการรับเงิน ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าจำเลยที่ 3 กู้ยืมเงินจากโจทก์และตกลงจะใช้เงินคืนแก่โจทก์หรือกำหนดการเสียดอกเบี้ยไว้อันเป็นลักษณะของการกู้ยืมเงิน หลักฐานการรับเงิน จึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4537/2553  ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคแรก (เดิม) บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” สาระสำคัญของหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคแรก อยู่ที่ว่า มีการแสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกันก็เพียงพอแล้ว ไม่ได้บังคับถึงกับจะต้องระบุชื่อของผู้ให้กู้ไว้ ดังนั้น เมื่อโจทก์นำหนังสือสัญญากู้และค้ำประกันมาฟ้องจำเลยทั้งสาม และปรากฏชัดว่าเอกสารพิพาทมีสาระสำคัญแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ แม้จะไม่ได้ระบุชื่อผู้ให้กู้ไว้ให้ถูกต้อง แต่ระบุจำนวนเงินและจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้กู้ครบถ้วน จึงถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมและค้ำประกันของโจทก์ได้แล้ว



          ปัจจุบันนี้เอกสารหลักฐานซึ่งเกิดจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็ถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้เช่นกัน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2556  การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสดควิกแคชไปถอนเงินและใส่รหัสส่วนตัวเปรียบได้กับการลงลายมือชื่อตนเอง ทำรายการเบิกถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและสลิป การกระทำดังกล่าวถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7,8 และมาตรา 9 ประกอบกับคดีนี้จำเลยมีการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สินเชื่อเงินสดควิกแคชที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มีเอกสารซึ่งมีข้อความชัดว่าจำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์ขอขยายเวลาชำระหนี้ โดยจำเลยลงลายมือชื่อมาแสดง จึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมอีกโสดหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

          การกู้ยืมเงินห้ามคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ยกเว้นสถาบันการเงินเป็นผู้ให้กู้สามารถคิดดอกเบี้ยได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย หากคิดดอกเบี้ยเกินอัตราดังกล่าว ส่วนดอกเบี้ยนั้นเป็นโมฆะ เพราะเป็นการคิดดอกเบี้ยที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 654 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3132/2556  ผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับจากจำเลยตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 9 ต้องเป็นผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบได้ความว่าจำเลยที่ 2 หลอกลวงผู้เสียหายแต่ละคนว่าจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในลักษณะเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 120 ต่อปี ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มิใช่เป็นการกู้เงินอันจะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 จึงมีผลทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะ ดังนั้นเงินที่จำเลยที่ 2 ได้ไปจึงเป็นลาภมิควรได้ ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นละเมิด จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเงินในฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 วรรคหนึ่ง และ 438 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงิน ผู้เสียหายย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5162/2553  แม้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจะระบุว่า ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือน หรือเท่ากับร้อยละ 15 ต่อปี ถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่โจทก์และจำเลยตกลงเรียกดอกเบี้ยสัญญากู้ยืมเงินกันในอัตราร้อยละ 3 บาทต่อเดือน หรือร้อยละ 36 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยจึงเป็นการไม่ชอบและตกเป็นโมฆะ เสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น ผลเท่ากับไม่เคยมีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยอยู่ในสัญญา แต่กรณีเป็นหนี้เงินโจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9189/2552  เจ้าหนี้อื่นนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินที่จำเลยจำนองไว้แก่โจทก์ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถึงที่สุดให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จำนองจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นตามคำขอของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับชำระหนี้ตามคำสั่งศาลชั้นต้นได้อยู่แล้ว เมื่อจำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์อีกนอกจากหนี้จำนองดังกล่าว การที่โจทก์กลับนำเอาหนี้จำนองนั้นมาให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินอีกโดยบวกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่จะเรียกได้ตามกฎหมาย อันทำให้ส่วนดอกเบี้ยที่กำหนดตกเป็นโมฆะโดยจำเลยมิได้รับเงินตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวแต่อย่างใด สัญญากู้ยืมเงินจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2552  แม้โจทก์จะไม่นำสืบให้ได้ความชัดว่ามูลหนี้ตามเช็คพิพาทจำนวน 7 ฉบับ ประกอบไปด้วยเงินต้นและดอกเบี้ยซึ่งตกเป็นโมฆะอย่างละเท่าใดก็ตาม แต่เมื่อเป็นเรื่องของการกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์อันเนื่องมาจากเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการชำระเงิน ศาลก็ย่อมมีดุลพินิจที่จะกำหนดให้ตามที่เห็นสมควรโดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงในสำนวนประกอบพฤติการณ์แห่งคดีและทางได้เสียของคู่ความทุกฝ่าย เมื่อพิจารณาถึงจำนวนเงินต้นตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นที่มาของมูลหนี้ตามเช็ค จำนวนเงินในเช็คพิพาทจำนวน 7 ฉบับ และจำนวนเงินในเช็คที่เหลืออีก 8 ฉบับแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าเงินจำนวน 881,250 บาท ตามที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงินนั้นแบ่งเป็นดอกเบี้ยที่โจทก์คิดล่วงหน้าและเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจำนวน 81,250 บาท ซึ่งคิดเป็นต้นเงินจำนวน 800,000 บาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 90.78 ของจำนวนเงินที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงินจึงสามารถคำนวณต้นเงินของเช็คแต่ละฉบับไว้ว่าเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 90.78 ของยอดเงินตามเช็คฉบับนั้นๆ ตามฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่เช็คพิพาทแต่ละฉบับถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6465/2552  โจทก์เป็นบริษัทจำกัดที่ประกอบกิจการให้เช่าซื้อทรัพย์สินและให้กู้เงิน เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมาย การเรียกดอกเบี้ยเงินกู้ของโจทก์จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน และค่าธรรมเนียมที่โจทก์หักไว้ล่วงหน้าซึ่งคิดแล้วเกินอัตรร้อยละ 15 ต่อปี จึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายและตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวรวมทั้งค่าธรรมเนียมจากจำเลยทั้งสองได้ ต้องนำดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่โจทก์เรียกเก็บล่วงหน้าไปแล้วทั้งหมดหักออกจากเงินต้นตามสัญญากู้
          ส่วนดอกเบี้ยซึ่งกำหนดตามสัญญาในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่โจทก์คิดจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 30 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้เรียกดอกเบี้ยได้ ตกเป็นโมฆะ โจทก์จะกลับมาใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามกำหนดในสัญญาอีกไม่ได้ คงเรียกได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 3 พฤษภาคม 2550 อันเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

          แต่ถ้าเป็นสัญญาขายลดเช็ค(หรือสัญญาอื่น)ไม่ใช่สัญญากู้ยืมเงิน ก็ไม่มีกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7229/2552  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินและรับเงินสดไปจากโจทก์ จำเลยให้การและนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยเคยนำเช็คไปขายลดแก่กลุ่มของโจทก์ ต่อมากลุ่มของโจทก์อ้างว่าจำเลยยังเป็นหนี้ประมาณ 700,000 บาท หากจำเลยยอมทำสัญญากู้จะลดยอดหนี้ให้เหลือ 500,000 บาท จำเลยจึงได้ลงชื่อในสัญญาเงินกู้ โดยไม่เคยได้รับเงิน ดังนี้ ศาลล่างทั้งสองย่อมมีอำนาจวินิจฉัยถึงรายละเอียดที่มาแห่งมูลหนี้ในการทำสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่โต้แย้งกันนั้นได้ ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์จริง ไม่ว่ามูลหนี้จะเป็นการกู้ยืมเงินสดหรือเป็นหนี้เงินที่ค้างชำระจากการขายลดเช็ค สัญญากู้ก็มีผลบังคับได้
          โจทก์มีหนังสือสัญญากู้เงินซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม ส่วนจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญากู้แม้จะฟังได้ว่ามูลหนี้เดิมเหลือเพียง 192,111.28 บาท ก็เป็นเพียงการทำให้จำนวนหนี้ในสัญญากู้ไม่สมบูรณ์บางส่วนเท่านั้น โจทก์จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ส่วนที่สมบูรณ์จำนวน 192,111.28 บาท ได้ หาใช่ว่าสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ทั้งหมดตามที่จำเลยอ้าง เมื่อจำเลยยืนยันข้อเท็จจริงมาในฎีกาว่าหนี้เดิมเป็นมูลหนี้ จากการขายลดเช็ค ซึ่งกรณีสัญญาขายลดเช็คนั้นมิได้มีกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราไว้เหมือนเช่นการกู้ยืมเงิน ดังนั้น การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน ในมูลหนี้เดิมจึงมิใช่เป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย

          ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่เมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4239/2554  การฟ้องเรียกให้ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยเป็นการฟ้องให้ผู้กู้ปฏิบัติตามสัญญา ทั้งนี้โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาก่อน ตามหนังสือขอให้ชำระหนี้นั้นมีเนื้อหาระบุไว้เพียงว่า จำเลยทั้งสี่เป็นหนี้อยู่จำนวนเท่าใดและขอให้จัดการชำระหนี้ทั้งหมด ไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการบอกเลิกสัญญา หนังสือดังกล่าวจึงเป็นเพียงแต่การทวงถามหรือเตือนให้ชำระหนี้เท่านั้น ไม่อาจแปลหรือถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญา ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงในสัญญาและนำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปี ทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ตามข้อตกลงแม้ลูกหนี้ผิดนัดแล้วก็ตาม เมื่อโจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกิน 1 ปี มาทบรวมกับยอดเงินต้นแล้วดอกเบี้ยที่ทบนั้นก็กลายเป็นต้นเงินไม่เป็นดอกเบี้ยที่ค้างอีกต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่อยู่ในบังคับข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10588/2551  โจทก์นำเอาต้นเงินกับดอกเบี้ยค้างชำระมารวมไว้ในสัญญากู้ยืมเงินฉบับใหม่และคิดดอกเบี้ยในหนี้ต้นเงินใหม่ดังกล่าว การคิดดอกเบี้ยจากดอกเบี้ยที่นำมาทบต้นจึงเป็นการคิดดอกเบี้ยที่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง เมื่อดอกเบี้ยตามฟ้องได้รวมเอาดอกเบี้ยที่ต้องห้ามตามกฎหมายไว้ด้วย แต่โจทก์ไม่สามารถแยกดอกเบี้ยที่ต้องห้ามดังกล่าวออกมาให้ทราบได้ ฉ. จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เฉพาะต้นเงินที่กู้ยืมเท่านั้น โดยให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญานับแต่เวลาที่ ฉ. ผิดนัด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5532/2550  สัญญาข้อ 8 ที่ว่า “เมื่อสัญญานี้ครบกำหนดหากผู้ให้กู้หรือผู้กู้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้บอกเลิกสัญญา ให้ถือว่าสัญญาฉบับนี้มีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละ 1 ปี ตลอดไป โดยมีเงื่อนไขและข้อตกลงคงเดิมทุกประการจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญา...” มีผลเพียงว่า เมื่ออายุสัญญาเป็นอันต่อออกไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้แล้ว กำหนดเวลาที่จำเลยต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี ก็ขยายตามไปด้วย กำหนดเวลาชำระหนี้ซึ่งทำให้โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเปลี่ยนแปลงไปเฉพาะเวลาขณะเริ่มนับอายุความ ส่วนอายุความมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยข้อสัญญาดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการขยายอายุความ
          ข้อตกลงตามสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏที่ให้โจทก์มีสิทธิหักชำระหนี้จากเงินเดือนที่นายจ้างของจำเลยโอนเข้าบัญชี ไม่มีผลทำให้เงินที่จำเลยเบิกถอนจากบัญชีกลายเป็นเงินที่โจทก์ได้ทดรองจ่าย ส่วนบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มที่โจทก์ออกให้แก่จำเลย ก็เพื่อความสะดวกในการเบิกถอนเงิน ซึ่งหากจำเลยมีเงินฝากอยู่ในบัญชีเกินจำนวนที่เบิกถอน ก็เป็นการเบิกถอนเงินฝาก แต่หากจำเลยไม่มีเงินฝากอยู่ในบัญชี เงินที่เบิกถอนไปก็เป็นเงินกู้ที่ตกลงไว้กับโจทก์นั่นเอง สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้รับผิดตามสัญญากู้ที่ทำขึ้นเช่นนี้กฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
          สัญญากู้กรุงไทยธนวัฏไม่มีข้อตกลงที่ให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้ การที่โจทก์นำหนี้ที่รวมดอกเบี้ยอยู่ด้วยมาเป็นต้นเงินในการคิดดอกเบี้ยต่อไป ย่อมมีผลเป็นการคิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ จึงฝ่าฝืนข้อห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง

          การกู้ยืมเงินนั้น ผู้กู้หรือผู้ให้กู้อาจยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนเงินนั้นได้ โดยให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7378/2552  การกู้ยืมเงินโดยผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาที่ดินเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมนั้น ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง บัญญัติให้หนี้เป็นอันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้นให้ต้องคิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลา และ ณ สถานที่ส่งมอบในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนโอนที่ดินตีราคาที่ดิน 590,000 บาท ซึ่งเป็นราคาประเมินของกรมที่ดิน แม้โจทก์จำเลยจะมิได้นำสืบถึงราคาซื้อขายในท้องตลาดที่แท้จริงซึ่งเป็นราคาที่ดินเป็นหลักในการคำนวณ ณ เวลาที่ส่งมอบ แต่ก็เห็นได้ว่าราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินในเบื้องต้นพอจะอนุมานได้ว่าน่าจะใกล้เคียงกับราคาท้องตลาดและไม่แตกต่างกันมาก เว้นแต่จะมีเหตุผลพิเศษสำหรับที่ดินบางแปลงเป็นการเฉพาะรายเท่านั้น ราคาที่ดินขณะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จึงสูงกว่าภาระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยค้างชำระตามที่จำเลยอ้าง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 230,000 บาท จำเลยก็รับว่ามีส่วนต่างอยู่ประมาณ 300,000 บาท ดังนี้ ความตกลงดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพราะเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้กู้และทำให้ผู้ให้กู้ได้เปรียบในทางทรัพย์สินเงินทอง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาและเป็นปัญหาที่มิได้ว่ากันมาโดยชอบในศาลล่างศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 เมื่อการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะ จำเลยจึงไม่ได้ที่ดินไปทางทะเบียน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 142/2550  ข้อตกลงที่กำหนดว่า หากโจทก์ผู้กู้ไม่ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ ส. ผู้ให้กู้ เมื่อครบกำหนดตามสัญญา ก็ให้สิทธิ ส. โอนที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้เงินกู้ได้ทันทีตามหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้โดยไม่กรอกข้อความให้ ส. ยึดถือไว้เป็นประกันโดยไม่คำนึงถึงราคาที่ดินพิพาทว่าจะเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบคือเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง ย่อมตกเป็นโมฆะตาม มาตรา 656 วรรคสาม ส. หามีสิทธิบังคับให้โจทก์ดำเนินการโอนที่ดินพิพาทไม่ การที่จำเลยบุตรของ ส. จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยขัดต่อ มาตรา 656 วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติห้ามไว้โดยชัดแจ้งเพื่อป้องกันมิให้ผู้กู้ยืมถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ให้กู้ยืม ปัญหานี้จึงเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วย มาตรา 246 และมาตรา 247
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2533/2549  การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่า ศ. นำโฉนดที่ดินที่พิพาทไปมอบให้จำเลยเพื่อโอนชำระหนี้เงินยืม 1,500,000 บาท เป็นการนำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้โฉนดที่ดินที่พิพาทมาอย่างไร โดยมิได้อ้างถึงหนังสือสัญญากู้เงินและมิได้เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารหนังสือสัญญากู้เงินมาแสดง แม้จะมีข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากข้อความในหนังสือสัญญากู้เงินที่ระบุว่ามอบโฉนดที่ดินพิพาทไว้เป็นประกันก็ไม่เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความที่ห้ามมิให้ศาลรับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 
          จำเลยรับโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์เพื่อชำระหนี้ตามเช็คที่ ศ. ซึ่งเป็นบุตรโจทก์ค้างชำระอยู่ มิใช่หนี้ตามสัญญากู้ยืมที่มีการออกเช็คนั้นชำระหนี้ จึงไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 656 มาปรับใช้ได้ ความตกลงในการโอนที่ดินพิพาทชำระหนี้ดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6449/2544  เมื่อศาลได้มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ทายาทย่อมหมดอำนาจจัดการทรัพย์มรดกและกระทำนิติกรรมใด ๆ กับบุคคลภายนอก ทั้งนี้จนกว่าจะแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จ ผู้จัดการมรดกเท่านั้นที่รับชำระหนี้แทนผู้ตายได้ จำเลยเพิ่งโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่อ้างว่าโอนเพื่อชำระหนี้ตามฟ้องภายหลังที่ศาลได้มีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว แม้จำเลยร่วมจะเป็นทายาทของผู้ตายก็ไม่มีสิทธิรับชำระหนี้แทนผู้ตาย 
          เอกสารที่จำเลยอ้างว่าเป็นข้อตกลงการโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อชำระหนี้เงินกู้แทนการชำระเงินที่จำเลยทำกับจำเลยร่วมไม่ปรากฏว่าได้มีการคิดเป็นหนี้เงินที่ค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งที่ดินในวันที่จดทะเบียนอันเป็นการส่งมอบ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการตกลงชำระหนี้เงินกู้ยืมด้วยทรัพย์สินอื่นแทนจำนวนเงินที่กู้ยืมโดยไม่มีการคำนวณหนี้เงินที่ค้างชำระเท่ากับราคาท้องตลาดของที่ดิน จึงเป็นข้อตกลงที่ขัดกับ ป.พ.พ.มาตรา 656 วรรคหนึ่ง และตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 656 วรรคท้าย ดังนั้นการจดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยร่วมและการทำข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ทำให้หนี้เงินกู้ระงับลง จำเลยต้องชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

          อายุความฟ้องคดีสัญญากู้ยืมเงิน


          อายุความทั่วไปกำหนดสิบปีตามมาตรา 193/30
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7593/2555  สัญญากู้กรุงไทยธนวัฏแม้จะมีข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิหักชำระหนี้จากเงินเดือนที่นายจ้างของจำเลยที่ 1 โอนเข้าบัญชีและเรียกค่าธรรมเนียมบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มจากจำเลยที่ 1 เป็นรายปี ก็ไม่มีผลทำให้เงินที่จำเลยที่ 1 เบิกถอนจากบัญชีของจำเลยที่ 1 กลายเป็นเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองจ่ายได้ ส่วนบัตรกรุงไทยเอทีเอ็มที่โจทก์ออกให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น ก็เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเบิกถอนเงินหรือรับเงินกู้ของจำเลยที่ 1 จากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติของโจทก์หรือของธนาคารอื่นที่มีข้อตกลงกับโจทก์ หากจำเลยที่ 1 มีเงินฝากอยู่ในบัญชีเพียงพอกับจำนวนที่เบิกถอนก็เป็นการเบิกถอนเงินฝาก แต่หากจำเลยที่ 1 มีเงินฝากอยู่ในบัญชีไม่เพียงพอกับจำนวนที่เบิกถอน เงินที่เบิกถอนเกินจากเงินฝากก็เป็นเงินกู้ที่ตกลงไว้กับโจทก์ตามสัญญากู้ การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ไปจึงมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์เรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปก่อนแต่อย่างใด สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้รับผิดตามสัญญากู้ดังกล่าวมิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30 แต่ในส่วนค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเอทีเอ็มปีละ 100 บาท ถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันพึงได้รับในการนั้น ซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16051/2555  โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2541 อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์กู้ยืมเงินเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา ส่วนการนำส่งคืนกองทุนยังให้โอกาสผู้กู้ยืมชำระคืนเมื่อสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี ทั้งยังกำหนดให้คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินเงินฝากประจำหนึ่งปีของธนาคารออมสิน และห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยทบต้น กำหนดใช้คืนเป็นรายเดือนเป็นระยะเวลาสูงสุดถึงสิบห้าปี ในกรณีผู้ยืมถึงแก่ความตาย ให้หนี้ตามสัญญาระงับไป หรือกรณีผู้กู้พิการหรือทุพลภาพไม่สามารถประกอบการได้ คณะกรรมการกองทุนมีอำนาจระงับการให้ชำระหนี้ตามสัญญาได้ โดยมีเหตุผลการออกพระราชบัญญัติเนื่องจากมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการพัฒนามนุษย์ เพื่อรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในการยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ดังนั้นการให้กู้ยืมเงินตามพระราชบัญญัติก็เป็นไปเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และให้โอกาสแก่บุคคลผู้ด้อยโอกาสในสังคมโดยแท้ กรณีเป็นเรื่องที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 หาใช่เป็นสิทธิเรียกร้องในเงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมีอายุความห้าปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) ไม่ เพราะแม้ผู้กู้สามารถเลือกผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนหรือรายปีได้ แต่หากมีความจำเป็นอาจร้องขอผ่อนผันการชำระหนี้ตามระยะเวลาที่แตกต่างไปหรือชะลอการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวได้ 

          อายุความห้าปี กรณีเงินกู้ที่มีการชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ตามมาตรา 193/33 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2075/2540  การที่ บ. ผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน ตามตารางกำหนดชำระหนี้เงินกู้ของสัญญากู้ยืมลดหลั่นกันไปแต่ละเดือนจนถึงงวดสุดท้ายนั้น ถือได้ว่า บ.ตกลงชำระหนี้เพื่อผ่อนทุนเป็นงวดๆตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33(2) สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 16 พฤศจิกายน 2536 เป็นเวลาเกินกว่า 5 ปีนับแต่วันที่ 9 มกราคม 2523 ซึ่งเป็นวันที่ บ. ผิดนัดและโจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ทั้งหมดได้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
          จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันย่อมถือตามอายุความของลูกหนี้ เมื่อคดีเกี่ยวกับ บ. ลูกหนี้ขาดอายุความแล้ว คดีที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส.ผู้ค้ำประกันก็ย่อมขาดอายุความไปด้วย  
          การที่โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายภายหลังเวลาที่คดีขาดอายุความแล้ว และการที่ บ. ชำระหนี้แก่โจทก์ไปจำนวนหนึ่งนั้นก็เป็นการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความไม่ใช่เป็นเรื่องรับสภาพหนี้ ฉะนั้นการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายของโจทก์และการที่ บ. ชำระหนี้โจทก์ไปบางส่วน จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12442/2553  แม้จะมีข้อตกลงกำหนดเงื่อนไขในการชำระเงินกู้คืนทุกเดือนตามคำสั่งหรือกำหนดชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน เดือนละ 148,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539 และงวดต่อๆ ไปทุกวันที่ 23 ของเดือนจนกว่าเงินต้นและดอกเบี้ยจะได้มีการชำระครบถ้วนแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เมื่อผู้ให้กู้เดิมและจำเลยที่ 1 เลือกผูกพันตามข้อตกลงในการชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยคืนโดยวิธีชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทุกเดือนรวมระยะเวลา 5 ปี นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กู้เดิมหรือโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องกับจำเลยที่ 1 จึงต้องบังคับตามข้อตกลงที่คู่สัญญาเลือกปฏิบัติผูกนิติสัมพันธ์กันนั้น เมื่อข้อตกลงชำระหนี้เงินกู้คืนที่ตกลงผูกนิติสัมพันธ์กันนั้นเป็นการชำระหนี้เพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวจึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6854/2553  โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินบริษัท ก. โดยตกลงผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยรายเดือนรวม 144 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 22 เมษายน 2548 และชำระงวดถัดไปทุกวันที่ 22 ของทุกเดือน หากผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดใด ยอมให้บริษัท ก. เรียกหนี้ตามสัญญาทั้งหมดคืนได้ทันที ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ในสัญญากู้ โดยจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 5 กรกฎาคม 2538 เป็นการฟ้องขอให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ซึ่งมีข้อตกลงชำระหนี้ผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้ดังกล่าวจึงมีกำหนดอายุความห้าปี นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้คือตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2538 เป็นต้นไป เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดห้าปี นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 13 มิถุนายน 2544 คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว

          อายุความหนึ่งปี กรณีผู้กู้ตาย ผู้ให้กู้ต้องฟ้องคดีภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่ผู้ให้กู้ได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก(ผู้กู้) ตามมาตรา 1754 วรรคสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8811/2556  สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับ ส. ไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดจากวันทำสัญญากู้เงิน และเมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก่อนที่โจทก์ทวงถามก็ไม่อาจใช้อายุความทั่วไปตามที่โจทก์ฎีกาเพราะสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกซึ่งยังไม่ถึงกำหนดเวลาบังคับเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนถึงกำหนดนั้น เจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้น ภายในหนึ่งปีนับแต่ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์เบิกความรับว่า ส. ถึงแก่ความตายในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 และโจทก์อยู่ช่วยงานศพด้วย แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ส. ให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 พ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม