01 มีนาคม 2567

การถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณ

 

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 531  "อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้นท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้
          (1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา หรือ
          (2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ
          (3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้"

           (1) เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณเนื่องจากผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ตามมาตรา 531 (1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8485/2538   ข้ออ้างของโจทก์ที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ทั้งสองตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องนั้น มิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 ได้ประทุษร้ายต่อโจทก์ทั้งสองเป็นความผิดอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายอาญา หรือจำเลยที่ 1 ได้ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสองอย่างร้ายแรง หรือจำเลยที่ 1 ได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ทั้งสองในเวลาที่โจทก์ทั้งสองยากไร้และจำเลยที่ 1 ยังสามารถจะให้ได้แต่อย่างใด แม้โจทก์ได้บรรยายฟ้องมาว่า จำเลยที่ 1 ขับไล่โจทก์ทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ทั้งสอง แต่โจทก์ก็มิได้บรรยายมาด้วยว่าจำเลยที่ 1 ขับไล่โจทก์ทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทด้วยการกระทำหรือด้วยวาจาอย่างใดอันจะฟังได้ว่าเป็นการที่จำเลยที่ 1 ได้ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสองอย่างร้ายแรง ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ ก็ไม่มีเหตุที่จะถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ทั้งสองอันจะทำให้โจทก์ทั้งสองเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 531 แต่อย่างใด โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 ได้ และเมื่อโจทก์ทั้งสองไม่อาจเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ทั้งสองก็ย่อมไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 และนิติกรรมการขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 และที่ 4 ได้ด้วย
          ปัญหาว่าโจทก์ทั้งสองจะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ทั้งสองได้หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาหากศาลฎีกาเห็นสมควร ก็ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้


          (2) เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณเนื่องจากผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง ตามมาตรา 531 (2)

          ด่าผู้ให้ว่า "เป็นคนจัญไร" มีความหมายว่า "เลวทราม เป็นเสนียด ไม่เป็นมงคล" เป็นการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7301/2559 จำเลยด่าโจทก์ว่า เป็นคนจัญไร ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายไว้ว่า "เลวทราม เป็นเสนียด ไม่เป็นมงคล" อันเป็นถ้อยคำรุนแรงไร้ความเคารพนับถือเป็นการลบหลู่เหยียดหยาม อกตัญญูต่อบิดาผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ซึ่งเป็นบิดาและเป็นผู้ให้อย่างร้ายแรง จึงเป็นเหตุให้โจทก์เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)

          การพูดจาโดยไม่มีสัมมาคารวะและไม่เคารพยำเกรงโจทก์ผู้เป็นมารดาเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง อันจะถือได้ว่าจำเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกถอนคืนการให้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18347/2557  คดีนี้ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยกล่าวแก่โจทก์ว่า "แม่แก่แล้วอายุตั้ง 90 ปี พูดกลับไปกลับมา แม่ใหญ่ได้แค่ในห้องนี้แหละ ข้างนอกฉันใหญ่ ถ้าไม่มีแม่ ฉันก็ดูแลทุกอย่างเองได้ ออกไปจากบ้านเถอะ" ต่อมาชั้นสืบพยานโจทก์เบิกความแต่เพียงว่า จำเลยกล่าวแก่โจทก์ว่า "แม่อายุ 90 ปี แล้ว พูดกลับไปกลับมา แม่ไม่อยู่ไม่มีแม่เค้าก็ทำได้" และจำเลยบอกคนดูแลโจทก์ให้จูงโจทก์ออกไปข้างนอก แม้ในข้อนี้จำเลยจะให้การปฏิเสธว่าไม่ได้พูดข้อความเช่นนั้นและอ้างว่าวันเกิดเหตุจำเลยเดินทางไปต่างจังหวัดก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อความดังกล่าวเป็นเพียงการพูดจาโดยไม่มีสัมมาคารวะและไม่เคารพยำเกรงโจทก์ผู้เป็นมารดาเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง อันจะถือได้ว่าจำเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกถอนคืนการให้ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)

          กล่าวเพียงคำหยาบไม่ให้ความเคารพและลำเลิกบุญคุณ หาใช่เจตนาทำให้โจทก์ต้องเสียชื่อเสียงหรือเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10552/2557   การที่จำเลยกล่าวต่อโจทก์ซึ่งเป็นบิดาโดยใช้คำว่ามึงกู เป็นคำหยาบไม่ให้ความเคารพโจทก์ ส่วนข้อความที่ว่า “ถ้ากูไม่ช่วยมึง มึงติดคุกไปนานแล้ว” เป็นการกล่าวเพื่อลำเลิกบุญคุณ ที่จำเลยเคยช่วยเหลือโจทก์ในอดีตเท่านั้น หาใช่เจตนาทำให้โจทก์ต้องเสียชื่อเสียงหรือเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงไม่ คำกล่าวนี้ยังไม่ถึงขนาดที่จะพอฟังได้ว่า จำเลยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)

          เรียกโจทก์ว่า อีแก่ ขึ้นมึงขึ้นกูกับโจทก์ ย่อมทำให้โจทก์อับอายเสียชื่อเสียง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1078/2553 ถ้อยคำที่จำเลยด่าโจทก์ว่า “อีแก่ไม่ยุติธรรม มึงทำให้ครอบครัวกูแตกแยก กูจะไม่อยู่กับมึงแล้ว” เป็นการแสดงเจตนาดูหมิ่นโจทก์ซึ่งเป็นอา จำเลยเรียกโจทก์ว่า อีแก่ ขึ้นมึงขึ้นกูกับโจทก์ ย่อมทำให้โจทก์อับอายเสียชื่อเสียงและเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) โจทก์ย่อมเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้
          ก่อนฟ้องคดีจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 27546 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ผู้อื่น เมื่อถอนคืนการให้ จำเลยต้องส่งคืนทรัพย์สินแก่โจทก์ตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ โดยคืนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ตามสภาพที่เป็นอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 413 วรรคหนึ่งและมาตรา 534

          ต้องนำสืบด้วยว่าจำเลยด่าว่าโจทก์อย่างไรบ้างที่ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6323/2552  โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยประพฤติเนรคุณเป็น 2 ประการ ประการแรกจำเลยขับไล่และด่าว่าโจทก์ว่า “แก่แล้วทำไมไม่ตายเสียที น่าจะตายให้พ้นๆ ไป จะได้ไม่เป็นภาระคนอื่น” ประการที่สอง จำเลยไม่ยอมให้สิ่งจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ทั้งๆ ที่จำเลยสามารถจะหยิบยื่นให้ได้ อันเป็นเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) และ (3) ตามลำดับ แต่เหตุประการแรกโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยด่าว่าโจทก์อย่างไรบ้างที่ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) ส่วนเหตุในประการที่สองโจทก์อ้างว่าจำเลยไม่อุปการะเลี้ยงดูและไม่ให้ค่าเลี้ยงชีพเมื่อโจทก์ขอ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ยังมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินอีกอย่างน้อย 1 แปลง และโจทก์ยังมีบุตรคนอื่นๆ ให้การอุปการะเลี้ยงดูอีกด้วย ตามสถานภาพของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าเป็นคนยากไร้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (3) กรณีจึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะถอนคืนการให้ได้

           ด่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้ว่า เป็นหมา ไม่มีศีลธรรม เป็นการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 980/2550   โจทก์เจ็บป่วยไปขอความช่วยเหลือจากจำเลย จำเลยไม่พอใจพร้อมพูดว่า บักหมามึงแก่แล้ว พูดจากลับไปกลับมาเหมือนเด็กเล่นขายของ มึงไม่มีศีลธรรม มึงไปตายที่ไหนก็ไป ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง จึงมีเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณที่โจทก์ถอนคืนการให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)       
 
          พูดกับผู้ให้ว่า "..เสือกโง่เอง.." เป็นเพียงการกล่าวถ้อยคำไม่สุภาพเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 576/2550   คำฟ้องโจทก์อ้างเหตุประการแรกว่า จำเลยที่ 1 หมิ่นประมาทโจทก์ด้วยถ้อยคำว่า "โจทก์ยกที่ดินให้แล้ว ยังจะเอาคืน เสือกโง่เอง อย่าหวังว่าจะได้สมบัติคืนเลย" ข้อความนี้ เป็นเพียงการกล่าวถ้อยคำไม่สุภาพเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงแต่อย่างใด ดังนั้น แม้หากจะฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กล่าวถ้อยคำตามคำฟ้องจริงก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเพิกถอนการให้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้กล่าวข้อความตามคำฟ้องหรือไม่
          โจทก์บรรยายฟ้องต่อมาความว่า หลังจากโจทก์ยกที่ดินให้จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ตัดโค่นไม้ยางพาราเสียและรับเงินราคาค่าไม้ยางทั้งหมดและจงใจทอดทิ้งโจทก์เสีย ไม่ยอมส่งอาหารหรือปัจจัยสี่แก่โจทก์เลย โจทก์พักอาศัยอยู่คนเดียว จำเลยที่ 1 จงใจประพฤติเนรคุณโจทก์ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2542 ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส อาจได้รับอันตรายแก่ชีวิต ทั้งนี้จำเลยที่ 1 สามารถดูแลปรนนิบัติโจทก์ได้แต่จำเลยที่ 1 ละเลยทอดทิ้งเสียทั้งที่สามารถทำได้ ตามคำฟ้องของโจทก์และการนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่า โจทก์เคยขอและจำเลยที่ 1 บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์แต่อย่างใด กรณีจึงไม่เข้าเหตุที่โจทก์มีสิทธิถอนคืนการให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (3)

           ด่าว่าผู้ให้ด้วยถ้อยคำ "ไอ้เหี้ย.." และไล่ให้ไปเป็นขอทาน พฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น แสดงว่าจำเลยที่ 1 สิ้นความเคารพยำเกรงผู้ให้ซึ่งเป็นบิดา เป็นการลบหลู่และอกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2304/2548  โจทก์เป็นบิดาจำเลยที่ 1 ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา โดยตนเองยังปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 1 ขับไล่โจทก์ให้รื้อถอนบ้านออกจากที่ดินพิพาท โดยพูดด่าว่าโจทก์ว่า "ไอ้เหี้ย ให้รื้อบ้านออกไปจากที่ดินของกู ไปให้พ้นไม่ต้องมาใช้น้ำบ้านกู ให้มึงรื้อบ้านออกไปเป็นขอทานที่วัดเสียเลย" ทั้งยังด่าว่าโจทก์อีกว่า "พ่ออย่างมึงกูไม่นับถือเป็นพ่อต่อไป" นอกจากนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาข้อหายักยอกเงินค่าขายที่ดินที่โจทก์ฝากไว้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ได้พาพวกไปที่บ้านโจทก์โดยจำเลยที่ 1 พูดจาข่มขู่ให้โจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาเสีย มิฉะนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกจะฆ่าโจทก์ ทั้งจำเลยที่ 1 ได้ด่าว่าโจทก์อีกว่า "ไอ้เหี้ยให้รื้อบ้านออกไปจากที่กู" และบอกเรื่องที่ดินว่า "ได้ขายให้คนอื่นแล้ว มึงอย่าหวังว่าจะได้คืนจากกูได้" การที่จำเลยที่ 1 ด่าว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำและพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น แสดงว่าจำเลยที่ 1 สิ้นความเคารพยำเกรงโจทก์ซึ่งเป็นบิดา เป็นการลบหลู่และอกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) แม้คำเบิกความของพยานโจทก์จะมิได้ระบุว่า จำเลยที่ 1 ด่าโจทก์เมื่อใด ก็มิใช่สาระสำคัญถึงขนาดทำให้พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้
          การที่จำเลยที่ 2 ตกลงซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 แต่กลับปล่อยให้จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาโดยอ้างเหตุว่าตนเห็นว่ายังมีการฟ้องร้องกันอยู่ย่อมเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่ก่อนแล้วว่าจำเลยที่ 1 กับโจทก์มีปัญหาเรื่องที่ดินพิพาทกันแล้วยังซื้อไว้ เช่นนี้น่าจะเป็นการซื้อไว้โดยไม่สุจริต ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ยังอาศัยอยู่กับบิดามารดา และไม่มีเหตุผลใดๆ ในการซื้อที่ดินพิพาทมาทิ้งไว้โดยไม่เข้าทำประโยชน์ พฤติการณ์ในการโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำไปโดยรู้ว่าโจทก์ผู้ให้อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้และเป็นฝ่ายต้องเสียเปรียบ จึงเป็นการสมคบกันฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้

          ด่าด้วยถ้อยคำที่รุนแรงและหยาบคายเปรียบผู้ให้เป็นสัตว์และด่าว่าให้ผู้ให้ไปตาย การกระทำของจำเลยทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียงเป็นการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8655/2544   โจทก์ได้ยกที่ดินให้แก่จำเลย ต่อมาจำเลยประพฤติตนไม่ดี เล่นการพนันและเสพสุรา โจทก์ได้ว่ากล่าวตักเตือน จำเลยไม่ยอมเชื่อฟังกลับด่าโจทก์ว่า "อีแก่ อีชาติหมา มึงจะไปตายไหนก็ไป กูไม่นับถือมึงเป็นแม่ลูกกัน" อันเป็นถ้อยคำที่รุนแรงและหยาบคายเปรียบโจทก์เป็นสัตว์และด่าว่าให้โจทก์ไปตาย และจำเลยใช้ไม้จะตีโจทก์ ซึ่งจำเลยในฐานะบุตรไม่พึงกระทำต่อโจทก์ผู้เป็นมารดา การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์ผู้ให้ย่อมเรียกถอนคืนการให้ เพราะเหตุจำเลยผู้รับประพฤติเนรคุณได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(2)

          ด่าว่าผู้ให้ด้วยถ้อยคำรุนแรงแสดงว่าจำเลยสิ้นความเคารพยำเกรงผู้ให้ซึ่งเป็นมารดาเป็นการลบหลู่ และอกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ หาใช่เป็นเพียงถ้อยคำไม่สุภาพหรือไม่สมควรกระทำต่อมารดาไม่ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2543  หลังจากโจทก์ยกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่จำเลยซึ่งเป็นบุตรแล้วจำเลยยังคงเลี้ยงดูโจทก์โดยโจทก์อาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าว ต่อมาจำเลยเริ่มเปลี่ยนแปลงโดยแสดงอาการรังเกียจเมื่อโจทก์ไปที่บ้านจำเลย และต่อมาเริ่มด่าว่าโจทก์ว่า"อีหัวหงอก อีสันดานหมา ไม่รู้จักภาษาคนมึงจะไปอยู่ที่ไหนก็ไป" กับเคยด่าโจทก์ว่า"อีหัวหงอก อีหัวโคน อีสันดานหมา อีตายยาก กูเกิดผิดพ่อผิดแม่ กูเกิดหลงรูหลังจากนั้นจำเลยขายบ้านที่โจทก์อยู่อาศัยโดยมิได้บอกกล่าว ผู้ซื้อจึงได้รื้อถอนบ้านดังกล่าวไป จำเลยบอกโจทก์ว่า "ก็ไม่เลี้ยงมึงอีก มึงจะไปอยู่ที่ไหนก็ไป" โจทก์จึงไปอาศัยอยู่กับน้องสาวจำเลย การที่จำเลยด่าว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำรุนแรงดังกล่าวแสดงว่าจำเลยสิ้นความเคารพยำเกรงโจทก์ซึ่งเป็นมารดาเป็นการลบหลู่ และอกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ หาใช่เป็นเพียงถ้อยคำไม่สุภาพหรือไม่สมควรกระทำต่อมารดาไม่ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิถอนคืนการให้ เพราะจำเลยประพฤติเนรคุณได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 531(2) แม้คำเบิกความของพยานโจทก์จะมิได้ระบุว่า จำเลยด่าโจทก์เมื่อใด ก็มิใช่สาระสำคัญที่ถึงขนาดทำให้พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้เสียเลย

          ด่าผู้ให้ด้วยถ้อยคำที่ทำให้เข้าใจได้ว่าผู้ให้เป็นคนไม่ดี บ้าสมบัติ บ้าผู้หญิง ถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงแต่คำหยาบคายและเป็นคำกล่าวที่ไม่สมควรเท่านั้นหากแต่เป็นการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3880/2540  โจทก์จดทะเบียนยกที่ดินให้แก่จำเลยผู้เป็นบุตรเพื่อนำไปทำมาหาเลี้ยงชีพนั้น เป็นการให้ทรัพย์สินแก่บุตรโดยเสน่หามิใช่เป็นการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยาดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 535(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะโจทก์ไม่มีหน้าที่ตามธรรมจรรยาที่จะต้องกระทำเช่นนั้น ทั้งในการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยก็ระบุไว้ในสารบัญจดทะเบียนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์และหนังสือสัญญาให้ที่ดินว่าเป็นการให้ไม่มีค่าตอบแทน เพราะผู้รับให้เป็นบุตร จำเลยผู้รับให้จะอ้างว่าที่ระบุการให้เช่นนั้น เป็นแต่เพียงกระทำขึ้นตามระเบียบ ปฎิบัติของกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทยมิได้กระทำตามเจตนาแห่งการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยาหาได้ไม่จึงต้องฟังว่าการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยดังกล่าวเป็นการให้ทรัพย์สินโดยเสน่หา 
          จำเลยด่าโจทก์ผู้ให้ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยด้วยถ้อยคำว่า"ไอ้เปรต"ไอ้เฒ่าบ้าแก่จะเข้าโลงยังหลงบ้าสมบัติแถมบ้าเมียไม่สมแก่ไอ้หัวล้าน" และด้วยถ้อยคำว่า "ไอ้เปรตไอ้เฒ่าไอ้หัวดอ ตายกับหีอีคลี่" ต่อหน้าบุคคลอื่น การที่จำเลยด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำเช่นนั้นผู้ได้ยินฟังย่อมเข้าใจได้ว่าโจทก์เป็นคนไม่ดี บ้าสมบัติบ้าผู้หญิง ถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงแต่คำหยาบคายและเป็นคำกล่าวที่ไม่สมควรเท่านั้นหากแต่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ผู้ให้อย่างร้ายแรง อันถือได้ว่าเป็นการประพฤติเนรคุณ โจทก์ย่อมจะเรียกถอนคืนการให้จากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(2) 
          แม้สารบัญจดทะเบียนตามโฉนดที่ดิน จะระบุว่า อ.ขายให้แก่จำเลยก็ตาม แต่โจทก์ก็สามารถนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่าโจทก์ผู้เป็นบิดาเป็นผู้ชำระราคาที่ดิน โดยให้จำเลยบุตรของโจทก์ของโจทก์เป็นผู้รับโอนในฐานะผู้ซื้อเนื่องจากโจทก์ประสงค์จะยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย เพราะเป็นการนำสืบถึงเหตุแห่งความจริงเกี่ยวกับเจตนาของโจทก์ผู้ให้และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กับผู้รับการยกให้ การจดทะเบียนก็ยังคงเป็นการจดทะเบียนขายที่ดินของ อ. ให้โจทก์ เพียงแต่ระบุชื่อผู้ซื้อเป็นจำเลยซึ่งเป็นผู้ที่โจทก์ประสงค์จะยกที่ดินนั้นให้เท่านั้น หาใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 
         
           (3) เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณเนื่องจากผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้ ตามมาตรา 531 (3)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3601/2542   โจทก์กู้เงินจาก ร. โดยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทให้ ร. ยึดถือไว้เป็นประกัน จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนโจทก์เป็นเงิน 70,000 บาท และรับหนังสือรับรองการทำประโยชน์คืนมา ต่อมาโจทก์ขอออกโฉนดที่ดินพิพาทแล้วจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างราคา 500,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา ไม่มีค่าตอบแทน เมื่อเปรียบเทียบแล้วราคาที่ดินพิพาทสูงกว่าจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนโจทก์เมื่อ 3 ถึง 4 ปี ที่แล้วไม่น้อยกว่า 7 เท่า การที่โจทก์ให้ที่ดินพิพาทจึงถือไม่ได้ว่าเป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้ในการที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทน และการที่ ร. ยึดถือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทไว้โดยไม่ได้จดทะเบียนจำนอง ไม่ใช่กรณีที่มีภาระเกี่ยวกับตัวที่ดินพิพาท การให้ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่การให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน จำเลยที่ 1 บอกปัดไม่ยอมให้เงินโจทก์ซื้อยารักษาตัวอันเป็นการบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์ในเวลาที่โจทก์ยากไร้และจำเลยที่ 1 ยังสามารถจะให้ได้ โจทก์จึงเรียกถอนคืนการให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (3)
          โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกถอนคืนการให้จากจำเลยที่ 1 ได้แต่เพียงผู้เดียว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 301/2551  เหตุที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุที่จำเลยซึ่งเป็นผู้รับประพฤติเนรคุณตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (3) นั้น จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ให้มีความจำเป็นเพราะขาดแคลนปัจจัยในการดำรงชีวิต แล้วผู้ให้ร้องขอความช่วยเหลือจากผู้รับ และผู้รับอยู่ในฐานะที่จะให้ได้โดยไม่เดือดร้อน แล้วผู้รับปฏิเสธที่จะให้นั้น การที่จำเลยจะขายที่ดินที่โจทก์ยกให้แต่ถูกโจทก์ห้ามปราม จำเลยจึงไปอยู่เสียที่อื่นจนโจทก์ต้องไปอาศัยอยู่กับน้องสาวนั้น จะฟังว่าโจทก์ได้ขอความช่วยเหลือจากจำเลยและจำเลยอยู่ในฐานะที่จะให้ความช่วยเหลือโจทก์ได้โดยไม่เดือดร้อน แล้วจำเลยไม่ช่วยเหลือหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติเนรคุณโจทก์ตามฟ้อง

          (4) ทายาทของผู้ให้อาจเรียกให้ถอนคืนการให้ได้แต่เฉพาะในเหตุที่ผู้รับได้ฆ่าผู้ให้ตายโดยเจตนาและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือได้กีดกันผู้ให้ไว้มิให้ถอนคืนการให้
          มาตรา 532  "ทายาทของผู้ให้อาจเรียกให้ถอนคืนการให้ได้แต่เฉพาะในเหตุที่ผู้รับได้ฆ่าผู้ให้ตายโดยเจตนาและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือได้กีดกันผู้ให้ไว้มิให้ถอนคืนการให้
          แต่ว่าผู้ให้ได้ฟ้องคดีไว้แล้วอย่างใดโดยชอบ ทายาทของผู้ให้จะว่าคดีอันนั้นต่อไปก็ได้"

          อายุความฟ้องคดีถอนคืนการให้

          มาตรา 533  "เมื่อผู้ให้ได้ให้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณนั้นแล้วก็ดี หรือเมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้วหกเดือนนับแต่เหตุเช่นนั้นได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้นั้นก็ดี ท่านว่าหาอาจจะถอนคืนการให้ได้ไม่
          อนึ่ง ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสิบปีภายหลังเหตุการณ์เช่นว่านั้น"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9854/2544    บุคคลผู้ชอบที่ะฟ้องเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณได้นั้น ต้องฟ้องคดีภายในหกเดือนนับแต่เหตุประพฤติเนรคุณนั้นได้ทราบถึงผู้นั้น และห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสิบปีภายหลังเหตุการณ์เช่นว่านั้นตามป.พ.พ. มาตรา 533 บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ให้สิทธิเลือกจะฟ้องคดีภายในหกเดือนหรือสิบปี
          แม้ผู้ให้ยังมีชีวิตอยู่และยากไร้ ผู้รับให้มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้ให้ตามความจำเป็นและผู้รับให้สามารถให้ได้ตลอดเวลาที่ผู้ให้ยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม แต่เหตุประพฤติเนรคุณทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อนับถึงวันฟ้องเกินกว่าหกเดือนนับแต่วันที่ผู้ให้ได้ทราบถึงเหตุเหล่านั้น คดีจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 533 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6962/2550   โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ยกที่ดินเฉพาะส่วนทั้งห้าแปลงให้จำเลยโดยเสน่หา ต่อมาประมาณปลายปี 2538 ถึงต้นปี 2539 จำเลยประพฤติเนรคุณด้วยการด่าว่าและหมิ่นประมาทโจทก์ในฐานะบุพการีอย่างร้ายแรง ขอเรียกถอนคืนการให้ที่ดินทั้งห้าแปลงจากจำเลย จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กระทำการดังกล่าว มูลเหตุของการฟ้องคดีนี้ หากเหตุการณ์ดังกล่าวตามฟ้องของโจทก์เกิดขึ้นจริง ฟ้องของโจทก์ก็ขาดอายุความแล้ว แม้คำให้การของจำเลยจะไม่ระบุระยะเวลาที่เป็นอายุความตามข้อต่อสู้ไว้ แต่โจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณเพียงเรื่องเดียว ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติเรื่องอายุความการถอนคืนการให้ไว้ในลักษณะให้ มาตรา 533 เพียงมาตราเดียวดังนี้ นอกจากจำเลยได้แสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องโจทก์แล้ว จำเลยยังได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธและการขาดอายุความให้ปรากฏว่าเหตุใดฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความคำให้การของจำเลยชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงมีประเด็นเรื่องอายุความ
         จำเลยประพฤติเนรคุณด่าและหมิ่นประมาทโจทก์เมื่อประมาณปลายปี 2538 ถึงต้นปี 2539 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2544 เกินกว่า 6 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ได้ทราบถึงเหตุเหล่านั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 533 วรรคหนึ่ง

          การให้ที่จะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้


          มาตรา 535  "การให้อันจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านว่าจะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้ คือ
          (1) ให้เป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้
          (2) ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน
          (3) ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา
          (4) ให้ในการสมรส"

          ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน จะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3384/2552 จำเลยทั้งสองนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่เปิดบัญชีไว้กับธนาคารเพื่อประโยชน์ของโจทก์ในวันเดียวกับที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสอง จึงเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพันซึ่งผู้ให้ไม่อาจถอนคืนการให้เพราะเหตุเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 535 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4475/2551   หลังจากจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์แล้ว จำเลยได้กู้เงินจากธนาคาร ก. เพื่อรับภาระหนี้แทนโจทก์ สอดคล้องกับสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาทซึ่งระบุว่าในวันที่ 27 มกราคม 2538 โจทก์ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. แล้วจึงจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลย และในวันเดียวกันจำเลยได้ จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันไว้แก่ธนาคาร ก. โดยจำเลยกู้เงิน 150,000 บาท จึงรับฟังได้ว่า โจทก์ให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยเป็นการตอบแทนที่จำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท อันเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณตาม ป.พ.พ. มาตรา 535 (2)
          แม้หนังสือสัญญาให้ที่ดินจะระบุว่า เป็นการให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน จำเลยก็มีสิทธินำสืบพยานบุคคลให้เห็นว่าการให้ตามสัญญาให้ที่ดินนั้น เป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพันได้ เพราะคดีนี้เป็นการฟ้องถอนคืนการให้ ไม่ใช่คดีฟ้องร้องให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้ จึงไม่ใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร อันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2651/2543   การที่โจทก์ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยโดยเสน่หา โดยโจทก์ยังคงมีสิทธิเก็บกินในที่ดินที่ยกให้นั้น ถือได้ว่าเป็นการให้ทรัพย์สินแก่จำเลยโดยมีค่าภาระติดพัน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณตามป.พ.พ. มาตรา 535 ได้ และหากโจทก์ถูกจำเลยรบกวนสิทธิเก็บกิน โจทก์สามารถใช้สิทธิทางศาลบังคับจำเลยไม่ให้ขัดขวางการใช้สิทธิเก็บกินของโจทก์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องถอนคืนการให้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10344/2551   ขณะ ท. สามีโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ โจทก์กับ ท. แบ่งที่ดินสำหรับปลูกบ้าน ที่นาและที่สวนให้แก่บุตรทุกคนรวมทั้งจำเลยด้วย โดยจำเลยได้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงในการให้ที่ดินดังกล่าวมีข้อตกลงว่า โจทก์กับ ท. มีสิทธิเก็บกินในที่ดิน ถ้าเป็นที่นาโจทก์กับ ท. มีสิทธิเก็บค่าเช่าที่นา ถ้าเป็นที่สวนผลไม้ โจทก์กับ ท. มีสิทธินำผลไม้ไปขายได้หรือหากบุตรซึ่งเป็นผู้รับนำผลไม้ไปขายก็ต้องนำเงินมาให้โจทก์กับ ท. ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยโดยโจทก์ยังมีสิทธิเก็บกินผลประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกถอนคืนการให้ เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 535 (2)

          ให้ในการสมรส จะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5126/2545   การที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าโจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองเนื่องในโอกาสที่จำเลยทั้งสองสมรสกันเพื่อให้ใช้ทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวสืบไปนั้นหาใช่เป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารหลักฐานการจดทะเบียนที่ระบุว่าเป็นการให้โดยเสน่หาไม่ เพราะเป็นการนำสืบให้เห็นถึงมูลเหตุจูงใจที่โจทก์ให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองว่าเป็นการให้เนื่องในโอกาสใด จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธินำสืบได้ 
          โจทก์ให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองในการสมรส ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะได้ประพฤติเนรคุณโจทก์หรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็จะฟ้องขอถอนคืนการให้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 535 (4) ไม่ได้