28 ก.พ. 2567

ความผิดฐานหมิ่นประมาท


          ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326  "ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          ความผิดฐานหมิ่นประมาท มีลักษณะดังนี้
               1. ใส่ความผู้อื่น
               2. ต่อบุคคลที่สาม 
               3. โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่น......(พฤติการณ์ประกอบการกระทำ)
                    o เสียชื่อเสียง
                    o ถูกดูหมิ่น หรือ
                    o ถูกเกลียดชัง
               4. เจตนา

          การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ต้องเป็นการกล่าว “ใส่ความ” “ผู้อื่น” ต่อ “บุคคลที่สาม”  โดยต้องมีบุคคลสามฝ่าย คือ
          1. ผู้กระทำการหมิ่นประมาท (ผู้กล่าวใส่ความ)
          2. ผู้ถูกหมิ่นประมาท (ผู้ถูกใส่ความ)
          3. บุคคลที่สาม 

          การใส่ความในความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น หมายความว่า การยืนยันข้อเท็จจริงซึ่งอาจเป็นความจริงก็ได้หรือเป็นความเท็จก็ได้ แม้จะเป็นการบอกเล่าเรื่องที่ได้ยินมาให้กับผู้อื่นฟังก็อยู่ในความหมายของคำว่าใส่ความ (ฎ.380/2503) 
          วิธีการใส่ความ โดยการพูดต่อบุคคลที่สาม หรือโดยวิธีอื่น เช่น ส่งจดหมาย (ฎ.2822/2515) พิมพ์ลงในนิตยสาร (ฎ.83/2501 และ 1310/2500) ส่งข้อความหรือภาพถ่ายผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์




ข้อเท็จจริงที่จะถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทหรือเป็นการใส่ความ 


          1. ต้องไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นเพียงคำหยาบหรือข้อเท็จจริงที่เป็นไปไม่ได้ เช่น ด่าว่าไอ้เหี้ย หรือกล่าวหาเป็นผีปอบ ย่อมไม่ผิดหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 324/2490  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อันถ้อยคำที่บุคคลกล่าวตามภาษาไทยธรรมดานั้น จะมีความหมายอย่างไรคนธรรมดาจะเข้าใจได้ ศาลย่อมรู้ได้เอง คู่ความไม่ต้องนำสืบ เว้นแต่โจทก์จะกล่าวหาว่า ถ้อยคำนั้นมีความหมายเป็นพิเศษ คดีตามฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องกล่าวถ้อยคำตามธรรมดาสามัญ เมื่อพิเคราะห์คำที่จำเลยกล่าวต่อหน้าบุคคลหลายคนว่า "อ้ายครูกำจร ครูชาติหมา สอนให้เด็กชกต่อยกัน" แล้วเห็นว่า ถ้อยคำที่กล่าวนอกจากเป็นคำหยาบแล้ว มีความหมายเพียงว่า ครูสอนให้เด็กชกกัน ซึ่งคนทั่วไปย่อมไม่เห็นเป็นการใส่ร้ายอย่างใด จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 256/2509  ความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ต้องเป็นการแสดงข้อความให้คนฟังคนเห็นเชื่อ จึงจะเกิดความรู้สึกเกลียดชัง ดูหมิ่น ขึ้นได้ จำเลยกล่าวว่าโจทก์เป็นผีปอบ เป็นชาติหมา ความรู้สึกนึกคิดของคนธรรมดาไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นไปได้ จึงไม่ก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นอย่างใด และข้อความใดจะเป็นการทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ต้องถือตามความคิดของบุคคลธรรมดาผู้ได้เห็นได้ฟัง คำกล่าวของจำเลยจึงไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท 
          ความผิดฐานดูหมิ่น ถ้าเป็นการกล่าวด้วยวาจา ต้องเป็นกล่าวซึ่งหน้าตามมาตรา 393 โจทก์มิได้อยู่ในที่เกิดเหตุ มิใช่กล่าวซึ่งหน้า จึงไม่ผิดฐานดูหมิ่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 576/2550  คำฟ้องโจทก์อ้างเหตุประการแรกว่า จำเลยที่ 1 หมิ่นประมาทโจทก์ด้วยถ้อยคำว่า "โจทก์ยกที่ดินให้แล้ว ยังจะเอาคืน เสือกโง่เอง อย่าหวังว่าจะได้สมบัติคืนเลย" ข้อความนี้ เป็นเพียงการกล่าวถ้อยคำไม่สุภาพเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงแต่อย่างใด ดังนั้นแม้หากจะฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กล่าวถ้อยคำตามคำฟ้องจริงก็ไม่เป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเพิกถอนการให้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้กล่าวข้อความตามคำฟ้องหรือไม่ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3920/2562  ข้อความที่จำเลยกล่าวจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงความรู้สึกของวิญญูชนทั่วๆไป เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าข้อความที่กล่าวถึงนั้นถึงขั้นที่ทำให้ผู้ถูกหมิ่นประมาทซึ่งเป็นทนายความน่าจะเสียชื่อเสียง บุคคลอื่นดูหมิ่น เกลียดชังหรือไม่ มิใช่พิจารณาตามความรู้สึกของผู้ถูกหมิ่นประมาทแต่ฝ่ายเดียว ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวว่า "เอาทนายเฮงซวยที่ไหนมา สถุล" นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายของคำว่า "เฮงซวย" ว่า เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี เช่น คนเฮงซวย ของเฮงซวย เรื่องเฮงซวย ส่วนคำว่า "สถุล" ให้ความหมายว่า หยาบ ต่ำช้า เลวทราม (ใช้เป็นคำด่า) เช่น เลวสถุล เช่นนี้ แม้ถ้อยคำที่จำเลยด่าโดยการกล่าวว่าทนายเฮงซวย เป็นเพียงการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทโจทก์ อันเป็นการพูดดูหมิ่นเหยียดหยามให้อับอายเจ็บใจ แต่ยังไม่เป็นการใส่ความให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังก็ตาม แต่เมื่อฟังประกอบกับถ้อยคำตอนท้ายว่า "สถุล" แล้ว วิญญูชนทั่วไปจึงอาจเข้าใจว่า โจทก์ซึ่งเป็นทนายความเอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดีและเป็นไปในทางหยาบ ต่ำช้า เลวทราม ถ้อยคำดังกล่าวจึงอาจทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง อันอาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้
          

          2. ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่แน่นอน ไม่คลุมเครือ เลื่อนลอย หรือกล่าวด้วยความน้อยใจ 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 121/2490  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อความในจดหมายของจำเลยหาได้มีข้อความว่า โจทก์เป็นผู้ร้ายปล้น ฉ้อ, ยักยอกดังกล่าวในฟ้องใน และโจทก์มิได้กล่าวในฟ้องให้ชัดแจ้งว่า ข้อความใด, วรรคใด, ตอนใด, ที่เป็นที่เสียหายต่อชื่อเสียงของโจทก์ และเรื่องนี้มิใช่กล่าวต่อหน้าหรือกล่าวต่อคนสองคน จึงไม่ต้องด้วยลักษณะหมิ่นประมาท 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 481/2506  ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อหน้าบุคคลหลายคนว่าโจทก์เป็นคนนิสัยไม่ดี มีความรู้สึกต่ำ โจทก์เป็นคนมีหนี้สินเป็นแสนๆ ยังใช้หนี้เขาไม่หมด อวดมั่งมีคาดเข็มขัดทอง ไม่เป็นถ้อยคำที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวว่าโจทก์เป็นคนนิสัยไม่ดี มีความรู้สึกต่ำนั้น เป็นถ้อยคำที่เลื่อนลอย ไม่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจว่าโจทก์นิสัยไม่ดีหรือมีความรู้สึกต่ำอย่างไร จึงไม่เป็นถ้อยคำที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ส่วนที่จำเลยกล่าวอีกว่าโจทก์เป็นคนมีหนี้สินเป็นแสนๆ ยังใช้หนี้เขาไม่หมด อวดมั่งมีคาดเข็มขัดทองนั้น จำเลยก็มิได้กล่าวถึงกับว่าโจทก์เป็นคนหนี้สินล้นพ้นตัวและโจทก์ก็มิได้ฟ้องว่าจำเลยกล่าวว่าโจทก์เป็นหนี้เขาถึงขนาดนั้น การที่โจทก์กล่าวว่าจำเลยเป็นหนี้เขามาก ยังใช้ไม่หมด แล้วอวดมั่งมีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่ายังไม่เป็นถ้อยคำที่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจถึงความชั่วร้าย คดโกง ขาดความเชื่อถือไว้วางใจ อันจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังอย่างใด ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยยังไม่มีความผิดดังฟ้อง พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 426-427/2520  ส่งข่าวไปลงหนังสือพิมพ์ว่า  ส. เป็นนายทุนขูดรีดจนถึงขนาดถูกสอบสวนว่าเป็นภัยต่อสังคม เป็นคำกล่าวหมิ่นประมาทและไม่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ส่วนที่กล่าวว่าเป็น  ส.ส. ขบวนการปลาทู เป็นการเปรียบเทียบเลื่อนลอย ไม่ยืนยันข้อเท็จจริง ไม่เป็นหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4425/2545  จำเลยพูดกับชาวบ้านที่เดินผ่านมาว่า "ระวังทนายสกปรกจะเอาเรื่อง" พร้อมกับชี้มือมาที่โจทก์ คำพูดของจำเลยดังกล่าวไม่มีข้อความประกอบให้เห็นว่าโจทก์ซึ่งมีอาชีพทนายความสกปรกในเรื่องอะไร แม้จะเป็นคำเสียดสีโจทก์ว่าเป็นคนน่ารังเกียจ แต่ไม่ถึงขนาดทำให้ผู้ที่ได้รับฟังเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนคดโกงขาดความน่าเชื่อถือหรือน่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง 
          โจทก์ยอมรับในคำฟ้องฎีกาว่า หากคนธรรมดาพูดเช่นนั้น ก็คงไม่เป็นการหมิ่นประมาท เท่ากับโจทก์เห็นว่าโดยสภาพของถ้อยคำดังกล่าวไม่เป็นการหมิ่นประมาท ดังนั้น แม้จำเลยผู้พูดจะเป็นสมาชิกวุฒิสภาก็ไม่ทำให้ความหมายของถ้อยคำเปลี่ยนแปลงไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6624/2537  จำเลยกล่าวถ้อยคำต่อหน้าโจทก์ร่วมและลูกน้องของโจทก์ร่วมว่า"แม่มึงไม่ต้องไปฟัง กูจะเอาอย่างนี้ ถ้าเซ็นไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คุณเป็นหัวหน้าคนได้อย่างไร ทำงานไม่รับผิดชอบ ตัดสินปัญหาไม่ได้ พอมีปัญหาก็โยนกันไปโยนกันมา คน ร.ส.พ.ทำงานกันอย่างนี้หรือ" โดยกล่าวในที่ทำงานของโจทก์ร่วมขณะที่โจทก์ร่วมกำลังปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นการสบประมาทโจทก์ร่วม ทำให้โจทก์ร่วมอับอายขายหน้าเป็นการดูหมิ่นโจทก์ร่วมซึ่งหน้า ตาม ป.อ. มาตรา 393 และเนื่องจากถ้อยคำดังกล่าวเป็นการวิจารณ์การทำงานของโจทก์ร่วมที่กล่าวต่อโจทก์ร่วมโดยตรง ไม่มีลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

          3. ข้อเท็จจริงที่กล่าวนั้น ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันในอดีตหรือในปัจจุบัน ไม่ใช่การคาดคะเนหรือกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคต

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1734/2503  มารดาถูกขว้างด้วยก้อนอิฐ บุตรไม่เห็นคนขว้าง แต่ได้กล่าวต่อหน้าคนหลายคนว่า ไม่มีใครนอกจากอ้ายแก้ว (โจทก์) อ้ายชาติหมา อ้ายฉิบหาย ดังนี้ พฤติการณ์ในคดีแสดงว่าเป็นแต่เพียงคาดคะเนไม่มีเจตนาใส่ความให้โจทก์เสียชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2531  จำเลยถาม ป. ว่า มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับโจทก์จริงหรือไม่ ถ้าจริงก็ให้เลิกเสีย ไม่ได้ยืนยันว่า ป. มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับโจทก์ยังไม่เข้าลักษณะเป็นการใส่ความอันจะเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยกล่าวเช่นนั้นต่อหน้าโจทก์จึงมิใช่เป็นการดูหมิ่นโจทก์ซึ่งหน้าอีกเช่นกัน


          การหมิ่นประมาทต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม คำว่า "ผู้อื่น" นั้น ต้องทราบว่าหมายถึงใคร แต่ไม่จำเป็นต้องระบุชื่อคนนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 56/2490  โจทก์บรรยายฟ้องใจความว่า จำเลยได้สมรู้ร่วมคิดกันออกคำสั่งและส่งข้อความทางวิทยุกระจายเสียงถึงคณะกรรมการจังหวัดทุกจังหวัดไม่ให้เชื่อฟังคำโฆษณาขอเสียงเลือกตั้งของบุคคลที่เป็นพวกและพรรค "ประชาธิปัตย์" โดยจำเลยกล่าวว่า คำโฆษณาของพวกและพรรคประชาธิปัตย์เป็นการหลอกลวงราษฎรให้หลงเชื่อโจทก์ถือตัวว่าเป็นพวกหรือพรรคประชาธิปัตย์ คำกล่าวในคำสั่งนั้นเล็งถึงโจทก์หรืออาจเล็งถึงโจทก์และกระทบกระเทือนหรืออาจกระทบกระเทือนถึงโจทก์ ขอให้ลงโทษฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ทุจจริต ผิดพระราชบัญญัติเลือกตั้งและหมิ่นประมาท 
ศาลฎีกาเห็นว่า ในกรณีเช่นนี้ต้องพิจารณาถึงข้อหาหมิ่นประมาทอันเป็นมูลเหตุที่โจทก์ฟ้องก่อน ตามหลักกฏหมายการที่จะเป็นหมิ่นประมาทได้ จะต้องมุ่งต่อบุคคลใดโดยฉะเพาะและโจทก์ต้องนำสืบให้เห็นว่าตนเป็นบุคคลที่ถูกกล่าวถึง ในคดีนี้ คำสั่งของกระทรวงมหาดไทยที่โจทก์กล่าวอ้างนั้น กล่าวถึงการกระทำของบุคคลบางคนในพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีข้อความอันใดที่กล่าวว่าเป็นการกระทำของโจทก์ทั้งไม่มีเหตุอะไรที่จะแสดงว่า เป็นการกล่าวเพ่งเล็งถึงโจทก์ซึ่งโจทก์ควรเป็นเจ้าของคดี ในฟ้องของโจทก์ก็มิได้ยืนยันว่าข้อความในคำสั่งนั้นเป็นการกล่าวโดยมุ่งหมายถึงโจทก์ การกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกและไม่พอใจนั้นจะนับว่าเป็นผู้เสียหายยังไม่ได้ ส่วนข้อหาว่าละเมิดกฏหมายอื่นก็มิใช่เป็นการกระทำต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายดุจกัน จึงพิพากษายืน.
         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1636/2522   จำเลยกล่าวถ้อยคำถึงราษฎร 2 อำเภอ ที่อพยพมาอยู่รวมกันในหมู่บ้านซึ่งมีจำนวนประมาณ 4,000 คน ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ดังนี้ คนธรรมดาสามัญย่อมไม่เข้าใจว่าเป็นการกล่าวพาดพิงหรือใส่ความบุคคลใด เพียงแต่โจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลที่รวมอยู่ในจำนวนคนเหล่านั้น  จะว่าจำเลยใส่ความโจทก์ทั้งสองโดยตรงหาได้ไม่ โจทก์ทั้งสองจึงมิใช่เป็นผู้เสียหาย อันจะมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2489  ได้ความว่า จำเลยได้กล่าวต่อหน้าบุคคลหลายคนในงานวัดญาโนทัยว่า "พระวัดนี้ดูหนัง พระวัดนี้เลวมากดูหนังบ้าง บ้าผู้หญิงบ้างฯลฯ"  ปรากฎว่าพระวัดที่กล่าวนี้มีอยู่ 5 รูป พระภิกษุแดงซึ่งเป็นพระอยู่ในวัดนี้ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน 
ศาลฎีกาเห็นว่า  ตามถ้อยคำที่จำเลยกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทพระภิกษุในวัดนั้นทุกรูป และพระในวัดนั้นก็มีอยู่เพียง 6 รูป พระภิกษุแดงย่อมมีอำนาจร้องทุกข์ได้ เพราะเป็นผู้เสียหายด้วยผู้หนึ่ง ส่วนผู้เสียหายอื่นๆ จะไม่ร้องทุกข์ก็แล้วแต่ท่าน พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดให้ลงโทษจำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2517  ภาพวาดและข้อความที่จำเลยโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ไม่มีข้อความตอนใดพาดพิงถึงเทศบาลเมืองยะลา หรืออาจให้เข้าใจได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความ ส.ซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีกับคณะเทศมนตรีเมืองยะลาครั้งแรกจนถึงวันเกิดเหตุคดีนี้ เทศบาลเมืองยะลามีคณะเทศมนตรีสับเปลี่ยนกันถึง 7 ชุด มิใช่มีคณะเทศมนตรีชุดนี้เพียงชุดเดียว และในความผิดฐานหมิ่นประมาทอันจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังนั้น ต้องถือตามความรู้สึกนึกคิดของบุคคลธรรมดาทั่วไป มิใช่ถือเอาแต่ความรู้สึกของผู้ที่อ้างว่าตนเป็นผู้เสียหายเท่านั้น จึงยังไม่พอถือได้ว่า ส.และคณะเทศมนตรี เมืองยะลาเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลยได้ โจทย์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษตามมาตรา 326, 328
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 295/2505  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 โดยกล่าวในฟ้องว่า จำเลยได้โฆษณาด้วยเครื่องกระจายเสียงต่อชุมนุมชนซึ่งมาประชุมกันว่า ทนายความเมืองร้อยเอ็ดคบไม่ได้ เป็นนอกสองหัว เหยียบเรือสองแคม เป็นมวยล้ม ว่าความทีแรกดี ครั้นได้รับเงินแล้วก็ว่าเป็นอย่างอื่น และได้กล่าวในฟ้องด้วยว่าทนายความจังหวัดร้อยเอ็ดมีอยู่ในวันที่จำเลยกล่าวข้อความนี้เพียง 10 คนและในขณะที่จำเลยกล่าว จำเลยได้เห็นโจทก์ซึ่งเป็นทนายความคนหนึ่งประกอบอาชีพว่าความอยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ดเข้าประชุมอยู่ด้วย กับยืนยันมาในฟ้องว่า การที่จำเลยกล่าวเช่นนั้นก็โดยมีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์และบรรดาผู้ประกอบอาชีพทนายความในจังหวัดร้อยเอ็ดทุกคนให้ได้รับความเสียหาย ดังนี้เป็นฟ้องที่ควรให้มีการไต่สวนมูลฟ้องฟังข้อเท็จจริงต่อไป (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 10/2505)






          การใส่ความนั้น ต้องเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สาม ความผิดฐานหมิ่นประมาทจะสำเร็จก็ต่อเมื่อบุคคลที่สามได้ทราบและเข้าใจข้อความนั้น ดังนั้น ถ้าบุคคลที่สามไม่ได้รับข้อความหรือหูหนวกหรือไม่รู้เรื่อง ก็เป็นความผิดแค่เพียงพยายามหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 23/2474 พูดกับ ก. เป็นภาษาไทย เป็นถ้อยคำหมิ่นประมาท ก. ต่อหน้าบุคคลอื่นที่เป็นชาวต่างชาติ โดยผู้พูดคิดว่าชาวต่างชาตินั้นไม่เข้าใจภาษาไทย ไม่ผิดหมิ่นประมาท ก.ต่อหน้าบุคคลที่สาม แม้ ก. จะแปลให้ชาวต่างชาติฟังในภายหลัง ก็ไม่ใช่การกระทำของจำเลย


          องค์ประกอบสุดท้ายของความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 คือ เจตนา ถ้าขาดเจตนาก็ไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2557  โจทก์และจำเลยทะเลาะโต้เถียงกันด้วยความโกรธ ต่างคนต่างว่าซึ่งกันและกัน ที่จำเลยพูดว่า "มึงโกงกู" เป็นคำโต้ตอบโจทก์เนื่องจากจำเลยไม่เชื่อว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ให้จำเลยแล้วโดยการโอนเงินผ่านธนาคาร จะถือว่าจำเลยเจตนาใส่ความโจทก์อันจะเข้าลักษณะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6310/2539  จำเลยนำแถบบันทึกเสียงที่มีผู้สนทนากันกล่าวถึงผู้เสียหายทั้งสองมีพฤติกรรมในทางชู้สาวต่อกันที่โรงเรียนที่ผู้เสียหายทั้งสองสอนอยู่ไปเปิดให้นาย ส.ม.หัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอกับพวกฟังที่บ้านของนาย ส.ม.โดยเกิดจากการแนะนำของนาย ส.กับนายส.ม. และผู้ร่วมฟังแถบบันทึกเสียงก็เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวงการศึกษาทั้งสิ้น ทั้งไม่ใช่เปิดในที่สาธารณสถานเป็นทำนองปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะหากผู้เสียหายทั้งสองกระทำการในทางชู้สาวจริง นอกจากจะผิดต่อศีลธรรมแล้วยังผิดในทางวินัยข้าราชการอีกด้วย เนื่องจากผู้เสียหายทั้งสองต่างรับราชการเป็นครูและต่างมีสามีและภรรยาแล้ว ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงไม่มีเจตนาที่จะใส่ความผู้เสียหายทั้งสองให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชังหรือเสียหาย แต่เป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 110/2526  จำเลยส่งจดหมายที่มีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงโจทก์ดโยตรง ณ สำนักงานโจทก์ แสดงเจตนาจำเลยว่าจะให้โจทก์ทราบเท่านั้น มิใช่เจตนาใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม แม้เสมียนของโจทก์ทราบข้อความในจดหมายก็เป็นเรื่องที่นอกเหนือเจตนาของจำเลย จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

          เกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท นอกจากมาตรา 326 แล้ว  ยังมีบทบัญญัติเพิ่มเติมไว้อีก เช่น

          หมิ่นประมาทผู้ตาย

          มาตรา 327  "ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้บิดา มารดา คู่สมรส  หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา 326 นั้น"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6031/2531  จำเลยที่ 1 เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์มีข้อความว่า"พรรคไหนเอ่ยที่คนในพรรคพัวพันกับการค้าเฮโรอีนระหว่างประเทศจนต้องแก้ปัญหาด้วยการปลิดชีพตัวเองลาโลก" ข้อความดังกล่าวทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าหมายถึงพรรค ป. และ ด. สามีโจทก์ ดังนี้ จำเลยที่ 1 มีเจตนาใส่ความผู้ตายโดยการโฆษณาด้วยเอกสารอันน่าจะเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นภรรยาของผู้ตายและบุตรเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากผู้อื่นได้ มิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาท

          หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

          มาตรา 328  "ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"

          การกระทำที่ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
          มาตรา 329  "ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต 
          (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
          (2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
          (3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
          (4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
          ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท"
          มาตรา 331  "คู่ความ หรือทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความคิดเห็นหรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาล เพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท"

          การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามมาตรา 329 (1) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20106/2556 จำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด โจทก์เคยเป็นประธานทอดกฐิน โจทก์ จำเลย บุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัดและกรรมการของวัดขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องการเงินของวัดแยกออกเป็นหลายฝ่าย และกล่าวหาอีกฝ่ายยักยอกเงินของวัดจนมีการฟ้องคดีต่อศาล โจทก์เขียนข้อความกล่าวหาจำเลยว่าเคยบวชพระและมีประวัติเป็นอลัชชียักยอกเงินของวัด ไม่มีความละอายต่อบาป และเขียนป้ายประกาศติดไว้ที่หน้าวัดห้ามจำเลยเข้าบริเวณวัดและจำเลยยักยอกเงินของวัด ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยเป็นคนโกง เป็นคนไม่ดี การที่จำเลยเขียนหนังสือ และแจกจ่ายหนังสือถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัดเป็นทำนองตอบโต้โจทก์ เนื่องจากจำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด และได้รับผลกระทบทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง การแสดงข้อความของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมที่จะป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10034/2555 การที่จำเลยซึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียม ออกแถลงการณ์เป็นหนังสือแจกจ่ายแก่ประชาชนว่า โจทก์ร่วมปลอมประกาศนียบัตรผ่านการอบรมงานด้านคอมพิวเตอร์ขององค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียม และนำเอกสารดังกล่าวไปใช้ในการสมัครเป็นพนักงานส่วนตำบลที่จังหวัดราชบุรี โดยองค์การบริหารส่วนตำบลสระกระเทียมไม่เคยฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ให้แก่โจทก์ร่วม และการที่จำเลยประกาศด้วยการใช้เครื่องขยายเสียงให้ประชาชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุทราบถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แม้ข้อความนั้นจะมีลักษณะน่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง แต่การกระทำของจำเลยมีเหตุให้เชื่อตามผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนที่มีความเห็นเชื่อว่าโจทก์ร่วมทำปลอมประกาศนียบัตร จึงถือได้ว่าจำเลยแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8974/2555 จำเลยพิพาทสิทธิในที่ดินพิพาทกับ ส. การที่โจทก์เข้าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยได้รับสิทธิจาก ส. โจทก์จึงเป็นผู้สืบสิทธิจาก ส. ซึ่งมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิที่ดินพิพาทอยู่เช่นเดิม แม้ข้อโต้แย้งในปี 2541 ระหว่างจำเลยกับ ส. จะได้ข้อยุติตามคำแนะนำของพนักงานสอบสวนให้คู่กรณีดำเนินการในทางแพ่ง แต่เมื่อยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในการฟ้องคดีแพ่งก็หาได้ทำให้ข้อโต้แย้งถึงสิทธิเหนือที่ดินพิพาทเดิมระงับลงแต่ประการใด ดังนั้น การที่โจทก์เข้าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของ ส. จึงต้องถือว่าโจทก์ยังโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทกับจำเลยเช่นเดียวกับ ส. การที่จำเลยเข้าแจ้งความเป็นหลักฐานอันเป็นการอ้างสิทธิในที่ดินพิพาทเพื่อดำเนินคดีแก่โจทก์ต่อไป จึงเป็นการใช้สิทธิแห่งตนตามกฎหมายเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2554 การที่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการร้องขอจาก ห. ให้ไปช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องบุตรของ ห. ทะเลาะวิวาทกันเอง จึงไปที่บ้านของ ค. พบ ค. และบุตรของ ห. อีกหลายคน บรรดาบุตรของ ห. และจำเลยเข้าใจว่าโจทก์ร่วมมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ ห. จึงปรึกษาหารือพูดคุยกับ ส. เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว โดยจำเลยกับพวกเกรงว่า ห. จะถูกโจทก์ร่วมหลอกลวงเอาทรัพย์สินไปหมดจะทำให้จำเลยกับพวกเดือดร้อน ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ถือได้ว่าในฐานะที่จำเลยเป็นลูกบ้านอยู่ในความปกครองของ ส. การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นการปรับทุกข์กับ ส. เพื่อให้ ส. หาทางช่วยแก้ไขปัญหาให้ครอบครัวของ ห. เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12460/2547 เวลาเช้าตรู่ของวันเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่หลายคนแต่งกายนอกเครื่องแบบไปขอค้นบ้านจำเลยเพื่อพบและจับน้องชายของจำเลยในคดีเช็ค ส่วนโจทก์ไม่ใช่เจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ แต่ได้แต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจไปที่บ้านของจำเลยด้วยในฐานะที่เป็นบิดาของผู้เสียหายในคดีเช็คที่น้องชายของจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ค่าสินค้าให้ แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อคำนึงถึงเหตุการณ์และพฤติการณ์เกี่ยวกับการทวงหนี้ของโจทก์ที่แต่งเครื่องแบบไปขอค้นบ้านของจำเลยซึ่งเป็นผู้หญิงและมีบุตรผู้เยาว์ 2 คน จนจำเลยเกิดความเกรงกลัวต่อโจทก์จนต้องยอมใช้หนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ จำเลยมีสิทธิที่จะเข้าใจได้โดยสุจริตว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประพฤติตนของโจทก์และมีสิทธิที่จะร้องเรียนโดยสุจริตได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประพฤติตนไม่เหมาะสม ดังนั้น การที่จำเลยส่งโทรสารไปลงหนังสือพิมพ์โดยมีใจความเป็นการแสดงความเสียใจ น้อยใจของจำเลยและเกรงกลัวจากการกระทำของโจทก์จนต้องชำระหนี้แทนน้องชายให้แก่โจทก์ไป เป็นทำนองขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสอดส่องตักเตือนเจ้าพนักงานตำรวจให้เป็นมิตรกับประชาชน จึงเป็นการติชมโจทก์ด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนเยี่ยงจำเลยที่ต้องประสบเหตุการณ์เช่นนั้นพึงกระทำได้ และการที่จำเลยระบุชื่อนามสกุลจริงของโจทก์และจำเลย ตลอดจนที่อยู่ของจำเลยไว้แจ้งชัดในโทรสารด้วยย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยเขียนข้อความในโทรสารนั้นด้วยเจตนาสุจริตตามเรื่องที่เกิดขึ้นแก่จำเลย กรณีต้องด้วย ป.อ. มาตรา 329 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4565/2544 จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า โจทก์เบียดบังเอาทรัพย์สินของทางราชการไปขายเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอันเป็นการไม่ชอบทำให้ราชการเสียหายและอาจทำให้จำเลยซึ่งรับราชการในตำแหน่งเดียวกันกับโจทก์และปฏิบัติงานร่วมกันต้องร่วมรับผิดด้วยในการที่ทรัพย์สินของทางราชการขาดหายไป การที่จำเลยมีหนังสือร้องเรียนโจทก์เป็นการกระทำเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (1)

          การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ ตามมาตรา 329 (2) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท


          การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมเพื่อความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตามมาตรา 329 (3) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813/2559  การเปิดบ่อนที่มีเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย มิใช่เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ประชาชนโดยทั่วไปประสงค์จะทราบเท่านั้น เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า การพนันเป็นการมอมเมาประชาชนให้หลงในอบายมุข ก่อให้เกิดการกระทำความผิดอื่นตามมาเป็นลูกโซ่ มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลปราบปรามอาชญากรรมกลับมากระทำความผิดเสียเอง นอกจากจะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาต่อวงการราชการตำรวจแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการปราบปรามอาชญากรรมอีกด้วย ที่จำเลยทั้งสองสัมภาษณ์ พล.ต.อ. ส. ประธานสอบข้อเท็จจริงกรณีบ่อนรัชดาซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ก็เพื่อทำให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องปรากฏ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน เชื่อว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปโดยสุจริต เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แม้จะมีข้อความหมิ่นประมาท การกระทำนั้นย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3546/2558 ข่าวเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและมีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนพื้นที่สวนป่าเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจเพราะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม และข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 นำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของตนเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบสวนและสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงเจ้าพนักงานตำรวจ เมื่อจำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสืบสวนและสอบสวนได้ความ หาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วยอันเป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย โดยที่โจทก์ยังมิได้ถูกเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี แต่การดำเนินคดีก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ภายในกำหนดอายุความ ทั้งการนำเสนอข่าวสารเชิงวิเคราะห์ของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความมาจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8511/2554 จำเลยลงพิมพ์ข้อความโดยอาศัยข้อเท็จจริงในคดีหมายเลขดำที่ พ.2/2543 ของศาลล้มละลายกลาง และคดีหมายเลขดำที่ 2450/2546 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อันเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง ทั้งข้อมูลดังกล่าวยังเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นศาลที่ดำเนินไปโดยเปิดเผย แม้ในการลงพิมพ์ข้อความของจำเลยจะเป็นการกล่าวสรุปโดยมิได้อ้างว่าเป็นเรื่องของการกล่าวอ้างของคู่ความฝ่ายตรงข้ามกับโจทก์ในชั้นพิจารณาของศาล แต่ก็มิได้เกินเลยไปจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ และความผิดปกติต่าง ๆ ก็ล้วนเป็นเรื่องที่วิญญูชนทั่วไปสามารถรับรู้ได้ แม้จะยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าความจริงเป็นเช่นใดแน่ก็ตาม ประกอบกับเนื้อหาในการลงพิมพ์ข้อความของจำเลยโดยรวมมิได้กล่าวถึงการกระทำของโจทก์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการกล่าวในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ความล้มเหลวของบรรษัทภิบาลในเอเชียหลังวิกฤตการณ์ด้านการเงินปี 2540 โดยกล่าวถึงการแก้ปัญหาของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศอินโดนีเซียและประเทศสิงคโปร์ด้วย ส่วนที่มีการกล่าวถึงบริษัท อ. เนื่องจากเป็นบริษัทได้รับผลกระทบที่เป็นผลร้ายมากที่สุดและมีข้อพิพาทรุนแรงที่สุดในเรื่องล้มละลาย ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์การเงินจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ อันเป็นเรื่องประชาชนควรรู้ จึงไม่พอถือว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาร้าย หากแต่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4563/2544 โจทก์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว จำเลยได้พูดผ่านเครื่องกระจายเสียงว่า โจทก์เป็นคนขี้โกงเอาที่สาธารณประโยชน์เป็นของตนเอง เพื่อให้ประชาชนต่อต้านการกระทำที่จำเลยเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะการที่โจทก์เสนอตัวต่อประชาชนให้เลือกตน เป็นการแสดงว่าตนเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์สุจริต ไว้วางใจให้เข้าไปมีส่วนร่วมบริหารกิจการแทนประชาชนได้ และการเรียกร้องเอาที่สาธารณประโยชน์คืนก็เพื่อประโยชน์ของประชาชนและจำเลยเองด้วย จำเลยจึงมีความชอบธรรมที่จะเปิดเผยให้ประชาชนทราบเพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตลอดจนแสดงความคิดเห็นติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งการกระทำดังกล่าวอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แม้ขณะจำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าว โจทก์ยังไม่ถูกดำเนินคดีอาญา หากจำเลยเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งใส่ร้ายโจทก์และมีมูลอันควรเชื่อ ก็เป็นการกระทำโดยสุจริตแล้ว จำเลยไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6310/2539 จำเลยนำแถบบันทึกเสียงที่มีผู้สนทนากันกล่าวถึงผู้เสียหายทั้งสองมีพฤติกรรมในทางชู้สาวต่อกันที่โรงเรียนที่ผู้เสียหายทั้งสองสอนอยู่ไปเปิดให้นาย ส.ม.หัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอกับพวกฟังที่บ้านของนาย ส.ม.โดยเกิดจากการแนะนำของนาย ส.กับนายส.ม. และผู้ร่วมฟังแถบบันทึกเสียงก็เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวงการศึกษาทั้งสิ้น ทั้งไม่ใช่เปิดในที่สาธารณสถานเป็นทำนองปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะหากผู้เสียหายทั้งสองกระทำการในทางชู้สาวจริง นอกจากจะผิดต่อศีลธรรมแล้วยังผิดในทางวินัยข้าราชการอีกด้วย เนื่องจากผู้เสียหายทั้งสองต่างรับราชการเป็นครูและต่างมีสามีและภรรยาแล้ว ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงไม่มีเจตนาที่จะใส่ความผู้เสียหายทั้งสองให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชังหรือเสียหาย แต่เป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำจำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 62/2535 ก่อนเกิดเหตุได้มีผู้บริจาคเงินให้โรงเรียนซึ่งผู้เสียหายเป็นครูใหญ่จำนวนหนึ่ง ผู้เสียหายลงจำนวนเงินไว้ในบัญชีรับบริจาคน้อยกว่าตามที่รับบริจาคมาทั้งไม่มีบัญชีแสดงว่าได้ใช้จ่ายเป็นค่าอะไรจำนวนเท่าใด ไม่เคยทำบัญชีแสดงรายรับรายจ่ายของโรงเรียนให้คณะกรรมการศึกษาของโรงเรียนทราบเหมือนครูใหญ่คนก่อน ๆ การกระทำของผู้เสียหายดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยซึ่งเป็นกรรมการศึกษาของโรงเรียนเข้าใจไปได้ว่าผู้เสียหายไม่สุจริต การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำต่อบุคคลที่สามในทำนองที่ว่าผู้เสียหายทุจริตว่าเบียดบังเอาเงินของโรงเรียนไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ไม่ทำการพัฒนาโรงเรียน จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมผู้เสียหายด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของจำเลยในฐานะกรรมการศึกษาของโรงเรียนย่อมกระทำได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326.

          การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม ตามมาตรา 329 (4) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3654/2543 ข้อความที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นข้อความในคำฟ้องที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยคำฟ้องของจำเลยที่ 1ที่จำเลยที่ 2 ได้นำไปพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ข. เป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลทั้งข้อความในคำฟ้องที่จำเลยที่ 1ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ตามที่ได้ความจากคำฟ้องของ โจทก์ในคดีนี้กับที่จำเลยที่ 2 นำไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ข. ก็ปรากฏว่าล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับข้อหาความผิดที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะหมิ่นประมาทโจทก์ หากแต่เพื่อประโยชน์แก่คดีของจำเลยที่ 1 ที่ฟ้องโจทก์เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 และข้อความที่จำเลยที่ 2 นำไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ข. นอกจากข้อเท็จจริงจะฟังได้ ตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ว่าเป็นข้อความในคำฟ้องที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลดังกล่าวแล้ว ยังได้ความอีกว่าการกระทำของ จำเลยที่ 2 เป็นการเผยแพร่คำฟ้องไม่มีข้อความอื่นนอกเหนืออันจะ ส่อแสดงให้เห็นเจตนาไม่สุจริตของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 นำข้อความดังกล่าวลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ข. จึงเป็น การรายงานข่าวเรื่องที่โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 ฟ้องคดีอาญาต่อ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้แจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลโดยสุจริต จำเลยที่ 2 จึงได้รับ ความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(4) ไม่เป็นความผิด ฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

การกระทำที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา 330  "ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14401/2555  ในความผิดฐานหมิ่นประมาท แม้ตาม ป.อ. มาตรา 330 วรรคสอง จะห้ามไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ว่า ข้อความที่หมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนก็ตาม คดีนี้โจทก์เป็นภริยาที่ไม่จดทะเบียนสมรสของ ป. กำนัน บุตรชายโจทก์เปิดร้านเกมได้รับอนุญาตตามกฎหมายภายในบริเวณบ้านโจทก์ จำเลยทำหนังสือถึงสารวัตรใหญ่หัวหน้าสถานีตำรวจว่า มีเด็กนักเรียนมั่วสุมติดตู้เกมที่ร้านเกมซึ่งตั้งอยู่หน้าบ้านเมียน้อยกำนัน ข้อความที่จำเลยร้องเรียนนั้น เป็นการส่งหนังสือร้องเรียนไปถึงเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อขอให้ดูแลกวดขันร้านเกมเพราะจำเลยเห็นว่ามีเด็กนักเรียนเข้าไปมั่วสุมติดเกมไม่สนใจการเรียน ไม่สนใจงาน อันเป็นการแสดงข้อเท็จจริงและความเห็นโดยสุจริตด้วยความชอบธรรมป้องกันตนและส่วนได้เสียของตน ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยมีสิทธิทำหนังสือดังกล่าวได้ ข้อความในหนังสือร้องเรียนของจำเลยต้องพิจารณารวมกันทั้งฉบับ จะพิจารณาแยกออกเป็นส่วน ๆ เพื่อพิจารณาว่าส่วนใดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์โดยแยกจากกันหาได้ไม่ เว้นแต่ข้อความเห็นได้โดยชัดเจนว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จำเลยร้องเรียนหรือเห็นเจตนาของจำเลยโดยชัดแจ้งว่า มีเจตนาจะใส่ความโจทก์เป็นการเฉพาะ และเมื่อพิจารณาการกระทำของจำเลยแล้วจำเลยส่งหนังสือร้องเรียนโดยนำหนังสือร้องเรียนใส่ในซองจดหมายซึ่งระบุชื่อและที่อยู่ผู้รับสารวัตรใหญ่อันเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจฯ อันเป็นตำแหน่งที่มีผู้รับเอกสารของจำเลยโดยแน่ชัดเพียงคนเดียวมิได้มีเจตนาให้ข้อความดังกล่าวแพร่หลายออกไป ส่วนในหนังสือร้องเรียนที่โจทก์อ้างว่า มีข้อความที่หมิ่นประมาทว่า ตู้เกมตั้งอยู่หน้าบ้านเมียน้อยกำนัน แต่ในบรรทัดถัดมาของหนังสือร้องเรียน มีข้อความว่า "พวกพ่อแม่เด็กนักเรียน เยาวชนได้แต่มองดูแล้วก็พูดอะไรไม่ได้ เพราะตู้เกมตั้งอยู่บ้านกำนันเลยก็ว่าได้ พ่อแม่ของเด็กไม่มีที่พึ่ง มีหลายคนไปหาผม บอกให้ผมทำหนังสือมาหาท่าน..." อันเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ต้องการให้เจ้าพนักงานตำรวจกวดขันดูแลจับกุม มิให้เด็กนักเรียนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศชาติไปถูกมอมเมาและมั่วสุมทำสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและครอบครัวเท่านั้น นอกจากนี้ในหนังสือของจำเลยยังให้ข้อมูลแก่เจ้าพนักงานตำรวจว่า สาเหตุที่เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองมิได้กวดขันดูแล เป็นเพราะสาเหตุใด ผู้ปกครองของเด็กไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานในท้องที่ได้แล้ว จึงได้ทำหนังสือมาแจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้มีหน้าที่รับผิดชอบให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แม้ข้อมูลบางอย่างจะเป็นเรื่องส่วนตัวของโจทก์ แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเลยมีความชอบธรรมที่จะกระทำได้ เพราะเป็นเรื่องต่อเนื่องเกี่ยวพันกับเรื่องที่จำเลยร้องเรียน การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์

          ความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นความผิดที่สามารถยอมความได้

มาตรา 333  "ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้
ถ้าผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย"
 
เมื่อเป็นความผิดที่ยอมความได้ ดังนั้น ความผิดฐานหมิ่นประมาทจึงต้องดำเนินคดีภายในอายุความร้องทุกข์ตามมาตรา 96 แห่งประมวลกฎหมายอาญาด้วย กล่าวคือ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีเป็นอันขาดอายุความ