1 มี.ค. 2567

ทางจำเป็น



          1. ทางจำเป็นคืออะไร

          มาตรา 1349  "ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้
          ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้  แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชัน อันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่าให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ
          ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้
          ผู้มีสิทธิจะผ่าน ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ค่าทดแทนนั้นนอกจากค่าเสียหายเพราะสร้างถนน ท่านว่าจะกำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้"

          ทางจำเป็นเป็นการให้สิทธิเจ้าของที่ดินรวมทั้งคนในครอบครัวหรือบริวารของเจ้าของที่ดิน ที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ สามารถผ่านที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ ในขณะเดียวกันทางจำเป็นก็ถือเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิของผู้เป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ ที่จะต้องยอมให้เจ้าของที่ดินแปลงในที่ถูกล้อมผ่านที่ดินของตนออกไปสู่ทางสาธารณะ มีข้อสังเกตว่าผู้ที่จะใช้สิทธิในทางจำเป็นได้จะต้องเป็นเจ้าของที่ดิน หากเป็นเจ้าของโรงเรือนเท่านั้นไม่ใช่เจ้าของที่ดิน แม้จะถูกที่ดินอื่นล้อมก็ไม่มีสิทธิขอใช้ทางจำเป็น และทางสาธารณะที่จะออกไปสู่นั้นจะเป็นถนนหรือแม่น้ำลำคลองได้ การใช้ทางจำเป็นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้นี้มีข้อจำกัดไว้ว่าจะต้องเป็นการขอผ่านไปสู่ทางสาธารณะเท่านั้น จะขอผ่านไปสู่สถานที่หรือทางอย่างอื่นนอกจากทางสาธารณะไม่ได้ ซึ่งต่างจากทางภาระจำยอมที่ทางภาระจำยอมอาจผ่านไปสู่ที่ใดก็ได้ นอกจากนั้นทางสาธารณะที่จะผ่านไปสู่จะต้องเป็นทางสาธารณะที่มีสภาพการใช้ประโยชน์อย่างทางสาธารณะได้ ถ้าเป็นคลองสาธารณะที่ตื้นเขินแล้วใช้ประโยชน์ในการสัญจรไปมาไม่ได้ ก็ไม่ถือว่าเป็นทางสาธารณะในความหมายเรื่องทางจำเป็น          


          ที่ดินมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว กรณีย่อมไม่อาจขอทางผ่านที่ดินผู้อื่นโดยอ้างเรื่องทางจำเป็น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621/2559  เมื่อที่ดินของโจทก์ทั้งสามด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือติดลำกระโดงสาธารณะ สามารถใช้เรือสัญจรไปมาได้ ที่ดินของโจทก์ทั้งสามจึงมีทางออกสู่สาธารณะได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ที่โจทก์ทั้งสามจะอ้างใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12116/2553 ก. ยกที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่ ให้แก่กระทรวงการคลังเพื่อใช้ประโยชน์ในราชการกรมตำรวจ ที่ดินส่วนนี้จำเลยที่ 1 ใช้จัดตั้งสถานีวิทยุตำรวจตระเวนชายแดนค่ายพระเจ้าตากนับแต่ได้รับการยกให้ในปี 2528 มีการกันที่ดินไว้เป็นทางสาธารณประโยชน์เพื่อเชื่อมจากที่ดินจำเลยที่ 1 สู่ทางหลวงแผ่นดินสายตาก - เถิน (พหลโยธิน) ซึ่งเป็นทางสาธารณะไว้ก่อนตั้งแต่ ก. แสดงเจตนายกที่ดินให้แก่กระทรวงการคลัง จึงไม่ใช่กรณีที่ดินจำเลยที่ 1 มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจผ่านที่ดินโจทก์ซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5740/2551 ทางจำเป็นนั้น กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกปิดล้อมโดยเฉพาะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เจ้าของที่ดินเท่านั้นที่จะมีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของที่ดินแต่เป็นเพียงผู้ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินเท่านั้น แม้ที่ดินดังกล่าวถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อม โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็น
          โจทก์ที่ 4 ที่ 5 ส. น. และ ม. เป็นเจ้าของรวมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 โดยมิได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดว่าผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดินส่วนใด ความเป็นเจ้าของของแต่ละคนจึงครอบที่ดินทั้งแปลง เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งจึงอาจใช้สิทธิในฐานะเป็นเจ้าของรวมครอบที่ดินทั้งแปลงเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 การที่โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ใช้สิทธิฟ้องจำเลยขอให้เปิดทางจำเป็นจึงเป็นการใช้สิทธิแทนเจ้าของรวมอื่นซึ่งรวมถึง ส. ด้วย กล่าวคือหากโจทก์ที่ 4 และที่ 5 มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นได้ ทางดังกล่าวย่อมได้ประโยชน์แก่เจ้าของรวมทุกคน แต่ ส. เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 ซึ่งด้านหนึ่งติดถนนสาธารณะอีกด้านหนึ่งติดกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 ส. จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นสำหรับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 ได้ เพราะ ส. สามารถเข้าออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 ของตนเอง การที่ ส. ปลูกสร้างอาคารในที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 โดยเว้นทางเข้าออกด้านที่ติดกับของจำเลยไว้เพียง 1 เมตร เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ไม่สามารถนำรถยนต์ผ่านเข้าออกได้แต่ยังคงเดินเข้าออกได้นั้นเป็นเพียงทำให้ความสะดวกของโจทก์ที่ 4 และที่ 5 ในการเข้าออกสู่ทางสาธารณะลดลงเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 439 ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็น





          แม้ที่ดินอยู่ติดคลองระบายน้ำ แต่ไม่ได้ใช้เป็นทางสัญจรแล้ว และในหน้าแล้งมีผักตบชวาขึ้นเต็มหนาแน่น คลองระบายน้ำนั้นย่อมมิใช่ทางสาธารณะที่จะใช้เป็นทางออกของที่ดิน ตามมาตรา 1349 วรรคหนึ่ง แต่เป็นกรณีที่ดินมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้แต่ต้องข้ามสระ บึง ทะเล หรือในสภาพยากลำบากอื่นทำนองเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสอง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13874/2557  คลองบางสี่บาทมีสภาพเป็นทางระบายน้ำ ตื้นเขิน มีวัชพืชปกคลุม น้ำในคลองเน่าเสีย เรือไม่สามารถลอดใต้สะพาน สภาพเช่นนี้ประชาชนไม่สามารถใช้คลองสัญจรไปมาได้อย่างคลองสาธารณะอื่น จึงไม่ถือเป็นทางสาธารณะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13760/2556  แม้ที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกจะติดกับแม่น้ำท่าคอยหรือคลองระบายสายใหญ่สามชุก 1 แต่ปัจจุบันแม่น้ำท่าคอยไม่ได้ใช้เป็นทางสัญจรไม่มีเรือโดยสารหรือเรือสินค้าสัญจรผ่านไปมาคงมีแต่เรือหาปลาและในหน้าแล้งจะมีผักตบชวาขึ้นเต็มหนาแน่นเช่นนี้ แม่น้ำท่าคอยหรือคลองระบายสายใหญ่สามชุก 1 จึงหาใช่ทางสาธารณะที่จะใช้เป็นทางออกของที่ดินโจทก์ตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง แต่หมายความว่าที่ดินโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้แต่ต้องข้ามสระ บึง ทะเล หรือในสภาพยากลำบากอื่นทำนองเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสอง เมื่อเจ้าของที่ดินเดิมของโจทก์และโจทก์เคยใช้ทางพิพาทที่มีอยู่ในที่ดินของจำเลยเป็นทางผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อผ่านที่ดินจำเลยออกสู่ทางสาธารณะได้

          ต้องขออนุญาตผ่านที่ดินผู้อื่นออกไปสู่ทางสาธารณะ ถือว่าที่ดินถูกล้อมรอบด้วยที่ดินของผู้อื่นจนไม่อาจออกสู่ทางสาธารณะได้ จึงฟ้องขอเปิดทางจำเป็นได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9325/2553  ทางจำเป็นจะขอได้ต่อเมื่อที่ดินมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1349 แต่หากเป็นกรณีแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกันทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกนั้นแปลงใดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่งหมายถึงทางสาธารณะที่มีอยู่ในขณะแบ่งแยกนั้นแล้ว ก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 เมื่อปรากฏว่าที่ดินของโจทก์และที่ดินพิพาทถูกแบ่งแยกออกจากที่ดินแปลงเดียวกันก่อนมีถนนพุทธมณฑลสาย 1 กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 มาบังคับได้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะ 3 ทาง แต่เป็นเส้นทางที่ต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นและไม่ปรากฏว่าเป็นทางสาธารณะ อีกทั้งไม่ใช่ทางที่เป็นภารยทรัพย์ของที่ดินของโจทก์ ซึ่งเจ้าของที่ดินอาจจะอนุญาตให้โจทก์ใช้ทางหรือไม่ก็ได้ และแม้เจ้าของที่ดินนั้นจะยินยอมให้โจทก์ผ่านที่ดินของตนได้ก็ไม่ใช่สิทธิตามกฎหมาย ประกอบกับมีระยะทางจากที่ดินของโจทก์ไปสู่ทางสาธารณะไกลไม่สะดวก จึงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์ถูกล้อมรอบด้วยที่ดินของผู้อื่นจนไม่อาจออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นได้ แต่การที่จะเปิดทางจำเป็นนั้นต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็นของโจทก์โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอยที่ดินพิพาทให้เสียหายน้อยที่สุด

          แม้ทางเข้าที่ดินผ่านทางสาธารณะประโยชน์ซึ่งเชื่อมต่อถนนทางหลวงมีความสูงชันกว่ากันมาก แต่ก็เป็นความสูงชันแตกต่างระหว่างทางสาธารณะด้วยกัน มิใช่ความสูงชันของที่ดินกับทางสาธารณะ จึงมิใช่กรณีตามมาตรา 1349 วรรคสอง 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12116/2553 แม้ทางเข้าที่ดินจำเลยที่ 1 ผ่านทางสาธารณประโยชน์ซึ่งเชื่อมต่อกับถนนพหลโยธินมีความสูงชันกว่ากันมาก ก็เป็นความสูงชันแตกต่างระหว่างทางสาธารณะด้วยกัน มิใช่ความสูงชันของที่ดินจำเลยที่ 1 กับทางสาธารณะ จำเลยทั้งสองจึงมิอาจถือประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสอง ได้เช่นกัน

          ที่ดินที่แบ่งจากที่ดินแปลงใหญ่ทุกแปลงมีทางออกผ่านที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะเป็นทางจำเป็นอยู่แล้ว ดังนั้น โจทก์ทั้งสามที่แบ่งแยกที่ดินมาจากที่ดินแปลงใหญ่ดังกล่าวย่อมมีสิทธิผ่านที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นทางจำเป็นได้เช่นเดียวกัน เพราะจำเลยไม่มีสิทธิปิดกั้นทางจำเป็นได้อีกต่อไป

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2900/2553 เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 319 เป็นที่ดินแปลงใหญ่ ต่อมามีการแบ่งแยกออกไปรวม 8 แปลง โดยที่ดินของโจทก์ทั้งสามแปลงต่างแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 319 ด้วย ส่วนที่เหลือจากการแบ่งแยกมีโจทก์ที่ 2 และนาย ล. กับพวกอีก 6 คน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม และโฉนดที่ดินของนาย ล. ที่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 319 แปลงใหญ่ เป็นที่ดินที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้เช่นเดียวกับที่ดินโจทก์ทั้งสาม เมื่อนาย ล. ผ่านที่ดินจำเลยซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะคลองคอกกระบือและถนนเอกชัยได้ โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่แบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 319 ย่อมมีสิทธิผ่านที่ดินจำเลยซึ่งเป็นทางจำเป็นได้เช่นเดียวกับนาย ล. จำเลยไม่มีสิทธิปิดกั้นทางจำเป็นได้อีกต่อไป และถือว่าโจทก์ทั้งสามมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิให้จำเลยเปิดทางจำเป็นในที่ดินแปลงอื่นได้อีก

          สำหรับการวางท่อน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันในที่ดินติดต่อ หาใช่เป็นเรื่องทางจำเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 และ 1350 ไม่ แต่เป็นเรื่องที่เจ้าของที่ดินจำต้องยอมให้เจ้าของที่ดินติดต่อวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกับผ่านที่ดินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1352 ซึ่งการใช้สิทธิวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ ในที่ดินของผู้อื่น จะต้องยอมจ่ายค่าทดแทนตามสมควรให้แก่เจ้าของที่ดินเสียก่อน 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7775/2552   การวางท่อน้ำ สายไฟฟ้า ท่อประปา สายโทรศัพท์ หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันในที่ดินติดต่อ หาใช่เป็นเรื่องทางจำเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 และ 1350 ไม่ แต่เป็นเรื่องที่เจ้าของที่ดินจำต้องยอมให้เจ้าของที่ดินติดต่อวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกับผ่านที่ดินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1352 การใช้สิทธิวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ ในที่ดินของผู้อื่น ผู้ที่จะวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ จะต้องยอมจ่ายค่าทดแทนตามสมควรให้แก่เจ้าของที่ดินเสียก่อน หากผู้ที่จะวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ ไม่จ่ายค่าทดแทนตามสมควรแล้ว เจ้าของที่ดินย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยอมให้วางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ ในที่ดินของตนได้ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นผู้วางท่อน้ำ สายไฟฟ้า ฯลฯ ที่จะต้องบอกกล่าวเสนอจำนวนค่าทดแทนให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินทราบก่อน มิฉะนั้นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยยอมให้โจทก์วางท่อน้ำ สายไฟฟ้า ฯลฯ ในที่ดินของจำเลย เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เสนอค่าทดแทนแก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยยินยอมให้โจทก์วางท่อน้ำ สายไฟฟ้า ฯลฯ ในที่ดินของจำเลยได้


          2. ทางจำเป็นเกิดขึ้นได้อย่างไร

          การได้สิทธิใช้ทางจำเป็น ไม่จำต้องมีนิติกรรมสัญญาระหว่างเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมกับเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ เพราะทางจำเป็นเป็นการได้สิทธิตามกฎหมาย และผู้ที่จะขอใช้ทางจำเป็นไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิมานาน ถูกล้อมวันไหน เวลาใด แม้จะเพิ่งเข้ามาอยู่ในที่ดินซึ่งถูกล้อมก็ขอใช้ทางจำเป็นได้ 
          สิทธิในทางจำเป็นย่อมเกิดขึ้นโดยอำนาจของกฎหมาย ตามสภาพความเป็นจริงของที่ดินในขณะยื่นฟ้อง

          ทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย เมื่อที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2989/2552  ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้” กฎหมายบัญญัติให้มุ่งพิจารณาถึงสภาพของที่ดินนั้นจะต้องถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเป็นสำคัญ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจึงมีสิทธิจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ ทั้งมิได้บังคับว่าเจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจะต้องขอผ่านที่ดินที่ล้อมซึ่งอยู่ใกล้ทางสาธารณะมากที่สุด เจ้าของที่ดินซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจึงมีสิทธิขอผ่านที่ดินที่ล้อมแปลงใดก็ได้ เพียงแต่การที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมนั้น มาตรา 1349 วรรคสาม บัญญัติว่า “ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่านกับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้” เมื่อที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิขอเปิดทางในที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็น
          ทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย ผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นจึงต้องใช้โดยมีขอบเขตด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลเสียหายอันเกิดขึ้นแก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกบังคับใช้ทางจำเป็นด้วย เมื่อที่ดินของโจทก์เป็นที่ว่างเปล่ายังไม่ทำประโยชน์ใดๆ ส่วนที่ดินแปลงอื่นที่ล้อมอยู่โดยรอบมีสภาพเป็นทุ่งนา โจทก์ซื้อที่ดินมาตั้งแต่ปี 2517 ขณะนั้นยังไม่มีทางสาธารณะ โจทก์ย่อมรู้อยู่แล้วแต่ในขณะนั้นว่า ที่ดินที่โจทก์ซื้อไม่อาจใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้ คงใช้ทางได้เฉพาะการเดินเข้าออกเท่านั้น เมื่อโจทก์ยอมรับสภาพการที่จะไม่ใช้รถยนต์เข้าออกในทางขณะที่ซื้อที่ดินมาแต่แรกเท่ากับโจทก์ยอมรับสภาพที่จะต้องจอดรถยนต์ไว้ในสถานที่อื่น โจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นทางจำเป็นเพื่อการใช้รถยนต์ ประกอบกับที่ดินของจำเลยมีเนื้อที่ประมาณ 3 งานเศษเท่านั้น หากเปิดทางกว้างถึง 2 วา หรือ 4 เมตร ตามที่โจทก์ขอย่อมเสียหายแก่จำเลยเกินสมควร



          3. การพิจารณาทำทางจำเป็น

          การผ่านที่ดินของผู้อื่นก็ไม่จำกัดว่าจะต้องเดินผ่านเท่านั้น ถ้าจำเป็นอาจทำถนนให้ยานพาหนะผ่านก็ได้ แต่ถ้าผู้ขอผ่านไม่มีรถยนต์ใช้จะขอทำถนนสำหรับรถยนต์ไม่ได้ เพราะเกินความจำเป็น นอกจากนี้ การใช้ทางจำเป็นก็ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นทางบก อาจเป็นทางน้ำก็ได้ เช่น ที่ดินตั้งอยู่ในบริเวณที่มีทางสาธารณะเป็นทางน้ำ การสัญจรไปมาต้องใช้เรือเป็นพาหนะ เช่นนี้จะขอขุดคูทำทางน้ำสำหรับใช้เรือผ่านไปมาก็ได้ เว้นแต่จะเกินจำเป็นแก่ผู้ขอผ่านและเสียหายแก่เจ้าของที่ดินที่ให้ผ่านมาก
          ทั้งนี้ การพิจารณาทำทางจำเป็นผ่านที่ดินต้องคำนึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยที่สุด ดังนั้น ระหว่างที่ดินที่มีอาคารปลูกเต็มพื้นที่กับที่ดินว่างเปล่า การเลือกทำทางจำเป็นผ่านที่ดินว่างเปล่าย่อมเสียหายน้อยที่สุดแล้ว หรือการขอผ่านที่ดินส่วนที่ใช้เป็นทางเข้าออกอยู่แล้วซึ่งเป็นเส้นทางที่เหมาะสมและสะดวก ทั้งก่อความเสียหายให้แก่ที่ดินที่ล้อมอยู่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้




          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13874/2557  ด้านทิศตะวันออกของที่ดินของโจทก์อยู่ห่างจากทางสาธารณประโยชน์เพียง 50 เซนติเมตร เท่ากับความกว้างของที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 ซึ่งปิดล้อมอยู่ด้านนี้ แต่ด้านทิศตะวันตกของที่ดินของโจทก์อยู่ห่างจากทางสาธารณประโยชน์ถึง 4 เมตร 50 เซนติเมตร เท่ากับความกว้างของที่ดินของจำเลยทั้งสี่ จากที่ดินของโจทก์เมื่อผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 เพื่อออกสู่ถนนพระรามที่ 2 ก็เป็นระยะทางที่ใกล้กว่าที่จะผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสี่ออกสู่ถนนพระรามที่ 2 ถึง 280 เมตร แม้ทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันออกจะมีความกว้างประมาณ 4 เมตร ถึง 6 เมตร 40 เซนติเมตร ส่วนทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันตกแม้มีความกว้างถึง 12 เมตร มี 4 ช่องเดินรถ แต่ก็ไม่ได้มีความกว้างเช่นนี้ตลอดแนวที่ดินของจำเลยทั้งสี่ คงมีความกว้างเช่นนี้เฉพาะบริเวณที่อยู่หน้าสวนหย่อมสำหรับพักผ่อนและออกกำลังกายของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล พระราม 2 พ้นจากนั้นก็ลดลงเหลือเพียง 2 ช่องเดินรถ เฉพาะความกว้างเพียงบางส่วนของทางสาธารณประโยชน์ด้านนี้ก็ไม่ได้ทำให้ความสะดวกในการใช้ทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันตกมีมากกว่าทางด้านทิศตะวันออก โดยเฉพาะทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันตกนี้ติดกับทางเข้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล พระราม 2 และอยู่ตรงข้ามกับสวนหย่อมสำหรับพักผ่อนและออกกำลังกายของห้างซึ่งน่าจะมีการจราจรที่พลุกพล่านมากกว่าทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันออก เมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นของโจทก์ที่ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์แล้ว ทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันออกจึงมีความเหมาะสมแก่ความจำเป็นมากกว่าเพราะเนื้อที่ดินที่จะต้องสูญเสียไปเนื่องจากการทำทางผ่านมีความกว้างเพียง 50 เซนติเมตร น้อยกว่าเนื้อที่ดินที่จำเลยทั้งสี่ต้องสูญเสียไปเนื่องจากการผ่านของโจทก์ถึง 4 เท่า ทั้งเมื่อเทียบขนาดความกว้างของที่ดินแล้ว ที่ดินของจำเลยทั้งสี่ย่อมอยู่ในสภาพที่สามารถทำประโยชน์ได้มากกว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 ซึ่งปรากฏว่า จำเลยทั้งสี่ทำร้านขายอาหารและเครื่องดื่มอยู่บนที่ดินด้วย ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 มีสภาพเป็นร่องสวน
          ถนนภายในหมู่บ้านเป็นทางสาธารณประโยชน์ ประชาชนทั่วไปย่อมมีสิทธิใช้สอยร่วมกัน ผู้ใดจะกีดกันหรือไม่ยินยอมให้ผู้อื่นใช้สอยไม่ได้เพราะไม่ใช่ทรัพย์ส่วนตัว ส่วนผู้ที่ใช้สอยไม่ว่าเป็นสาธารณประโยชน์ประเภทใดก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายทั่วไปและกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสาธารณประโยชน์นั้นเพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นและไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่สาธารณประโยชน์นั้นเช่นกัน ที่โจทก์อ้างว่า ชาวบ้านภายในหมู่บ้าน พ. จะไม่ยินยอมให้โจทก์ใช้ถนนภายในหมู่บ้านและการนำรถบรรทุกดินผ่านถนนในหมู่บ้านจะทำให้ถนนเสียหาย จึงไม่ใช่เหตุผลที่โจทก์จะนำมาอ้างว่าโจทก์ไม่สามารถใช้ทางสาธารณประโยชน์ภายในหมู่บ้านได้ เมื่อยังมีที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 ที่โจทก์จะผ่านออกถึงทางสาธารณประโยชน์ได้และจะเกิดความเสียหายแก่ที่ดินที่ล้อมอยู่น้อยกว่าของจำเลยทั้งสี่ ทั้งไม่ได้ทำให้โจทก์สูญเสียความสะดวกหรือประโยชน์ใช้สอยที่พอสมควรแก่ความจำเป็นที่จะออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ได้แล้ว แต่โจทก์กลับมาขอผ่านในที่ดินของจำเลยทั้งสี่ซึ่งจะได้รับความเสียหายมากกว่าจึงเป็นกรณีเกินกว่าความจำเป็นของโจทก์ที่จะออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ จึงไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1349
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11428 - 11429/2556  ที่ดินเลขที่ดิน 106 และ 107 มีสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารบนที่ดินจนเต็มพื้นที่ โจทก์ทั้งสองไม่สามารถใช้เป็นทางเข้าออกได้ หากจะใช้ทางดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ขณะที่ใช้ทางผ่านที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับเป็นการสะดวกมากกว่า เพราะที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นที่ดินว่างเปล่า และมีระยะทางออกสู่ทางสาธารณะใกล้ที่สุด ทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เสียหายน้อยที่สุด โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องขอผ่านที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ และเนื่องจาก ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคท้าย บัญญัติให้ผู้มีสิทธิจะผ่านทางจำเป็นต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 3 ในคราวเดียวกันกับจำเลยที่ 2 ด้วย แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้ให้การและฟ้องแย้งในเรื่องค่าทดแทนไว้ก็ตาม มิฉะนั้นจำเลยที่ 3 ก็คงต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่ และโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 3 ก็จะต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงซ้ำในเรื่องที่เคยนำสืบมาแล้ว ซึ่งหาชอบด้วยความยุติธรรมไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2989/2552  ทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย ผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นจึงต้องใช้โดยมีขอบเขตด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลเสียหายอันเกิดขึ้นแก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกบังคับใช้ทางจำเป็นด้วย เมื่อที่ดินของโจทก์เป็นที่ว่างเปล่ายังไม่ทำประโยชน์ใดๆ ส่วนที่ดินแปลงอื่นที่ล้อมอยู่โดยรอบมีสภาพเป็นทุ่งนา โจทก์ซื้อที่ดินมาตั้งแต่ปี 2517 ขณะนั้นยังไม่มีทางสาธารณะ โจทก์ย่อมรู้อยู่แล้วแต่ในขณะนั้นว่า ที่ดินที่โจทก์ซื้อไม่อาจใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้ คงใช้ทางได้เฉพาะการเดินเข้าออกเท่านั้น เมื่อโจทก์ยอมรับสภาพการที่จะไม่ใช้รถยนต์เข้าออกในทางขณะที่ซื้อที่ดินมาแต่แรกเท่ากับโจทก์ยอมรับสภาพที่จะต้องจอดรถยนต์ไว้ในสถานที่อื่น โจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นทางจำเป็นเพื่อการใช้รถยนต์ ประกอบกับที่ดินของจำเลยมีเนื้อที่ประมาณ 3 งานเศษเท่านั้น หากเปิดทางกว้างถึง 2 วา หรือ 4 เมตร ตามที่โจทก์ขอย่อมเสียหายแก่จำเลยเกินสมควร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1997/2552  ที่ดินที่ ล. ยกให้จำเลยที่ 1 เป็นที่ดินที่อยู่บริเวณกลางที่ดินของ ล. ไม่ติดทางสาธารณประโยชน์ แต่เพื่อให้จำเลยที่ 1 มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ได้ ล. จึงยกที่ดินทางด้านทิศใต้ที่เชื่อมติดทางสาธารณะให้จำเลยที่ 1 แสดงว่า ล. ประสงค์จะให้ใช้เป็นทางออกร่วมกัน การที่ที่ดินของโจทก์มีที่ดินของบุคคลอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์และโจทก์ขอทางจำเป็นผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 จึงเป็นการขอผ่านที่ดินส่วนที่ใช้เป็นทางเข้าออกอยู่แล้วซึ่งเป็นเส้นทางที่เหมาะสมและสะดวก ทั้งก่อความเสียหายให้แก่ที่ดินที่ล้อมอยู่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
          ภาระจำยอมหรือทางจำเป็น เป็นทรัพย์สิทธิที่ติดกับตัวทรัพย์ สามารถใช้ยันกับบุคคลภายนอกโดยทั่วไปได้ โจทก์จึงฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินกับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินจากจำเลยที่ 1 และกระทำละเมิดโดยเปิดทางจำเป็นของโจทก์ได้ แต่จำเลยที่ 4 ไม่ได้ความว่ากระทำการปิดกั้นทางของโจทก์ในนามส่วนตัวเกินอำนาจหน้าที่หรือกระทำการโดยขัดกับระเบียนหรือนอกขอบอำนาจของจำเลยที่ 3 การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นการกระทำในนามจำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ให้เปิดทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6229/2551 การอ้างสิทธิที่จะผ่านที่ดินของบุคคลอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 ที่ดินที่แบ่งแยกออกมานั้นจะต้องไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยทางอื่นได้ แม้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 แบ่งแยกหรือแบ่งโอนมาจากที่ดินแปลงใหญ่โฉนดเลขที่ 81 ทำให้ที่ดินแปลงนี้ถูกที่ดินที่แบ่งแยกในคราวเดียวกันปิดล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ก็ตาม แต่ในเวลานั้น ฉ. ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ได้รับที่ดินจากการแบ่งแยกยังเป็นเจ้าของที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งอยู่ติดกับที่ดินแปลงที่ได้รับการแบ่งแยกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ คือที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 (ก่อนการแบ่งแยกตามคำพิพากษาศาลฎีกา) และที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 เดิมนั้นมีทางพิพาทกว้างประมาณ 10 เมตร เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่ง ฉ. สามารถใช้ทางพิพาทในที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะของที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ได้ จึงถือได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ที่แบ่งแยกออกมานั้นมีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยทางอื่นได้อยู่แล้ว สิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกมาในคราวเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 ย่อมหมดไปตั้งแต่นั้นแล้ว แม้ต่อมาที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 เดิมจะถูกบังคับให้แบ่งแยกและบังคับให้โอนขายแก่จำเลยตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ทำให้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12253 ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะอีกครั้ง โจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12253 ก็จะกลับไปใช้สิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นบนที่ดินแปลงที่แบ่งแยกมาด้วยกันในครั้งก่อนตามมาตรา 1350 อีกไม่ได้ คงมีสิทธิที่จะผ่านที่ดินแปลงใดแปลงหนึ่งซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ในฐานะทางจำเป็นตามมาตรา 1349 เท่านั้น เมื่อโจทก์นำสืบฟังได้ว่า การใช้ทางพิพาทบนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 79060 ของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะซึ่งโจทก์เคยใช้ผ่านมาก่อนมีระยะทางเพียง 50 เมตร แต่หากใช้เส้นทางอื่นผ่านที่ดินแปลงที่แบ่งแยกมาด้วยกันในครั้งก่อนเพื่อออกทางถนนราชมรรคาต้องใช้ระยะทางถึง 100 เมตรเศษ ซึ่งไกลกว่ากันถึงหนึ่งเท่าตัวเช่นนี้ทางพิพาทย่อมสะดวกและเหมาะสมที่จะเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ของโจทก์กว่าทางอื่น โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เปิดทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 79060 ของจำเลยเป็นทางจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ของโจทก์ได้


          4. การได้มาและการสิ้นสุดของทางจำเป็น

          ด้วยเหตุที่ทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยเป็นการได้สิทธิตามกฎหมาย ในเมื่อมีความจำเป็น ดังนั้น ถ้าหมดความจำเป็นไม่ถูกล้อมเมื่อใด เช่น ซื้อที่ดินติดต่อกับทางสาธารณะออกเองได้ ทางจำเป็นก็จะต้องสิ้นสุดไป ขอผ่านที่เขาอีกไม่ได้
          
          แม้ต่อมาที่ดินที่ใช้เป็นทางจำเป็นจะเปลี่ยนมือไปเป็นของคนอื่น หากยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ ทางจำเป็นก็ยังคงอยู่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7775/2552 โจทก์มีสิทธิใช้ทางเดินและทางรถยนต์ในที่ดินเป็นทางจำเป็นด้วยอำนาจแห่งกฎหมาย แม้มีการโอนที่ดินแปลงดังกล่าวไปเป็นของผู้อื่น โจทก์ก็ยังคงมีสิทธิใช้ทางจำเป็นในที่ดินดังกล่าวอยู่นั่นเอง จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิทางจำเป็น



          5. ค่าทดแทน

          ในเรื่องการขอใช้ทางจำเป็น กฎหมายบังคับว่า ผู้มีสิทธิจะผ่านต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่             
          1. ค่าทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่มีทางผ่าน จะเสียหายมากหรือน้อยก็แล้วแต่ชนิดของทางที่ผ่าน เช่น จำต้องตัดต้นไม้บางต้นเพื่อให้ทำทางผ่านไปได้            
          2. ค่าทดแทนที่เป็นค่าใช้ที่ดินของเขาเป็นทาง การที่ต้องมีทางผ่านไปย่อมทำให้เจ้าของที่ดิน ไม่ได้ใช้ที่ดินตรงนั้นทำประโยชน์ได้ตามประสงค์ การใช้ค่าทดแทนในกรณีนี้คล้ายกับเป็นค่าเช่า จะตกลงกันเป็นรายปีหรือเป็นเงินก้อนก็ได้
          นอกจากทางจำเป็นจะมีขึ้นได้ดังได้กล่าวข้างต้นแล้ว ในมาตรา 1350 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ยังได้บัญญัติว่า ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่ง ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกัน และไม่ต้องเสียค่าทดแทน” ดังนั้น กรณีที่มีการแบ่งแยกที่ดินแล้วทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกออกมาแปลงหนึ่งแปลงใดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นก็สามารถเรียกร้องเอาทางผ่านจากที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยก โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกำหนดค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคท้าย นั้น เป็นการกำหนดค่าทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ที่ดินที่ตกเป็นทางจำเป็น ไม่ได้กำหนดจากการที่จำเลยใช้ทางจำเป็นแล้วจะทำให้ที่ดินของจำเลยมีราคาสูงเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไรเพราะมิใช่ความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ฉะนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์สำหรับการรื้อถอนรั้วคอนกรีตบางส่วนบนที่ดินโฉนดเลขที่ 47798 และค่าทดแทนสำหรับการใช้ถนนบนที่ดินโฉนดเลขที่ 302 และ 295 เป็นเงินรวม 100,000 บาทนับว่าเป็นประโยชน์แก่โจทก์มากแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น          
          
          การกำหนดค่าทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ที่ดินที่ตกเป็นทางจำเป็น ไม่ได้กำหนดจากการที่ใช้ทางจำเป็นแล้วจะทำให้ที่ดินของผู้ได้สิทธิใช้ทางจำเป็นมีราคาสูงเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4727/2555  การกำหนดค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคท้าย เป็นการกำหนดค่าทดแทนเพื่อความเสียหายแก่ที่ดินที่ตกเป็นทางจำเป็น ไม่ได้กำหนดจากการที่ใช้ทางจำเป็นแล้วจะทำให้ที่ดินของผู้ได้สิทธิใช้ทางจำเป็นมีราคาสูงเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร เพราะไม่ใช่ความเสียหายที่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ได้รับ



          6. ข้อแตกต่างระหว่างทางจำเป็นกับภาระจำยอม

            1. ทางจำเป็นจะต้องเป็นการขอผ่านไปสู่ทางสาธารณะเท่านั้น ส่วนทางภาระจำยอมไม่จำเป็นต้องเป็นการผ่านไปสู่ทางสาธารณะ จะผ่านไปสู่ที่ใดก็ได้
            2. ทางจำเป็นจะเกิดขึ้นได้จะต้องเป็นกรณีที่ที่ดินถูกล้อมอยู่จนออกสู่ทางสาธารณะไม่ได้  ถือเป็นการได้สิทธิโดยกฎหมาย แต่การขอใช้ทางภาระจำยอมไม่จำเป็นจะต้องเป็นที่ดินที่ถูกล้อมจนออกสู่ทางสาธารณะไม่ได้ แม้ที่ดินไม่ถูกล้อมก็สามารถขอใช้ทางภาระจำยอมได้ โดยอาจได้สิทธิภาระจำยอมโดยนิติกรรมหรือโดยอายุความ
            3. ผู้ขอใช้ทางจำเป็นจะต้องเสียค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ แต่ทางภาระจำยอมโดยนิติกรรม กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเสียค่าทดแทนจึงแล้วแต่จะตกลงกันว่าจะมีการเสียค่าทดแทนหรือไม่
            4. ทางจำเป็นเป็นการได้สิทธิตามกฎหมาย การได้สิทธิไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนภาระจำยอมที่ได้มาโดยนิติกรรมต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 1299 วรรค 1 มิฉะนั้นไม่บริบูรณ์




          7. การจดทะเบียน “สิทธิทางจำเป็น”

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติเรื่องทางจำเป็นไว้ในมาตรา 1349 ว่า "ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้"
          ทางจำเป็นเป็นการได้สิทธิโดยอำนาจของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 โดยไม่ต้องจดทะเบียน (คำพิพากษาฎีกาที่ 3774/2549) แต่อย่างไรก็ตาม กรมที่ดินได้เคยพิจารณาตอบข้อหารือว่า ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนในประเภท “สิทธิทางจำเป็น” โดยอนุโลมปฏิบัติตามแนวทางการจดทะเบียนประเภทภาระจำยอม



            โดยที่ทางจำเป็นเป็นเรื่องการได้สิทธิโดยกฎหมาย ดังนั้น การได้มาซึ่งทางจำเป็นจึงไม่ต้องจดทะเบียนแต่ประการใด แต่ผู้ขอใช้ทางจำเป็นต้องใช้ค่าทดแทนอันเนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดจากการใช้ทางจำเป็นนั้นให้แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกใช้ทาง อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามเจ้าของที่ดินที่จะตกลงให้จดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอม อาจมีการตกลงกันให้จดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอมก็ได้ ทางจำเป็นนั้นก็กลายเป็นทางภาระจำยอมได้ อย่างไรก็ตาม ก็เคยปรากฏว่าได้มีคำพิพากษาของศาลให้จดทะเบียนทางจำเป็น ในกรณีนี้ การจดทะเบียนสิทธิทางจำเป็นก็จะดำเนินการโดยอนุโลมปฏิบัติเช่นเดียวกับการจดทะเบียนภาระจำยอม