1 มี.ค. 2567

กรรมสิทธิ์รวม (เจ้าของร่วมกัน)


          กรรมสิทธิ์รวม หมายถึง ทรัพย์สินที่มีบุคคลหลายคนเป็นเจ้าของรวมกัน 

          มาตรา 1356  ถ้าทรัพย์สินเป็นของบุคคลหลายคนรวมกัน ท่านให้ใช้บทบัญญัติในหมวดนี้บังคับ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

          มาตรา 1357  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน

          การครอบครองของเจ้าของรวมคนหนึ่งถือว่าเป็นการครอบครองแทนเจ้าของรวมคนอื่นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6237/2541  ที่ดินพิพาทตาม น.ส.3 ก. มีชื่อโจทก์จำเลยซึ่งเป็น สามีภริยากันในขณะนั้นเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ โดยในบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์ เพื่ออก น.ส.3 ก. ได้ระบุว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์ มีกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย จึงต้องฟังว่าจำเลยมีเจตนาให้โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทครึ่งหนึ่ง แม้นับแต่โจทก์หย่าขาดกับจำเลยเป็นต้นมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โจทก์ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนาสละการครอบครอง เพราะกรณีต้องด้วยลักษณะเจ้าของรวม ซึ่งมีผลในทางกฎหมายว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ตราบใดที่จำเลยยังมิได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทของโจทก์ย่อมไม่สิ้นสุดลง โจทก์มีสิทธิเรียกเอาที่ดินพิพาทจากจำเลยได้ครึ่งหนึ่ง

          ทรัพย์สินที่สามีภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ไม่ได้จดทะเบียนสมรส) ได้มาระหว่างอยู่กินด้วยกัน ถือเป็นกรรมสิทธิ์รวมของสามีภริยา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786/2533  การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ที่พิพาทมาในระหว่างอยู่กินเป็นสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรสนั้นถือว่าเป็นทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันคนละครึ่ง แม้ที่พิพาทจะมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแต่ผู้เดียวก็เป็นการกระทำแทนโจทก์ด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเอาที่พิพาทส่วนของโจทก์ไปจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 2 โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนที่พิพาทมาจากจำเลยที่ 1 โดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย จึงเป็นการไม่สุจริต ไม่ผูกพันส่วนของโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาทด้วย.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13718/2555  เงินที่โจทก์และจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันก่อนที่โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อนำเงินดังกล่าวไปซื้อที่ดินและบ้าน ที่ดินและบ้านที่ซื้อจึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์และจำเลย การจดทะเบียนสมรสกันในภายหลังไม่มีผลทำให้ที่ดินและบ้านดังกล่าวกลายเป็นสินสมรสแต่อย่างใด จึงยังคงเป็นสินส่วนตัวของทั้งโจทก์และจำเลย ซึ่งต้องแบ่งกันคนละกึ่งหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9577/2552  ขณะจำเลยได้รับสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จำเลยอยู่กินฉันสามีภรรยากับโจทก์ โดยยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย แต่สิทธิดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับโจทก์ได้มาขณะอยู่กินด้วยกันแล้ว จึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยสมัครเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองเพียงผู้เดียวก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับนิคม เมื่อโจทก์กับจำเลยมีสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทร่วมกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกึ่งหนึ่ง แม้ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 วรรคสอง จะบัญญัติว่าที่ดินในนิคมซึ่งได้รับการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีภายในห้าปี ศาลก็พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งได้มิใช่เป็นการบังคับให้จำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้โจทก์แต่อย่างใด กรณีไม่ขัดกับบทบัญญัติดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10274/2551  สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา โจทก์และจำเลยจึงเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่เมื่อกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงมีการจดทะเบียนในรูปบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่าบริษัท ท. จึงมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์และจำเลย นับแต่วันที่มีการจดทะเบียนบริษัท แม้จำเลยจะเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท ก็เป็นเพียงผู้บริหารในนามบริษัทไม่ใช่บริหารเป็นการส่วนตัว ทั้งมีบุคคลอื่นเป็นผู้ถือหุ้นซึ่งมีส่วนแห่งความเป็นเจ้าของในบริษัท ท. ด้วย การที่ไม่ปรากฏว่า มีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น แล้วโจทก์มาฟ้องขอให้จำเลยแบ่งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงของบริษัท ท. จึงเป็นคำขอที่ไม่อาจบังคับได้ โจทก์ชอบที่จะไปฟ้องเรียกเอาส่วนของโจทก์จากหุ้นที่จำเลยถืออยู่ในบริษัท ท. เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยแบ่งผลกำไรจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น กิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นของบริษัท ท. มิใช่ของจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งผลกำไรของบริษัท ท. ทั้งสองกรณีเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้

          ทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาท ทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกจึงมีส่วนเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2780/2550 โจทก์ทั้งสี่และจำเลยเป็นบุตรของเจ้ามรดก ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนแบ่งให้แก่ทายาททั้งห้าจึงไม่ใช่ของจำเลย โจทก์ที่ 2 เป็นทายาทคนหนึ่งและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาท จึงมีส่วนเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท และมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์ที่ 2



          ข้อสันนิษฐานทางกฎหมายในเรื่องกรรมสิทธิ์รวม


          1. ข้อสันนิษฐานทางกฎหมาย ว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน (มาตรา 1357)  กล่าวคือ กรณีที่ยังไม่แน่ชัดว่าเจ้าของรวมแต่ละคนมีส่วนเท่าใด ก็จะนำข้อสันนิษฐานนี้มาใช้  แต่ถ้ามีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดแล้ว หรือได้ตกลงแบ่งสัดส่วนในเรื่องกรรมสิทธิ์รวมเอาไว้แล้ว ก็ถือเอาตามนั้น ไม่ต้องใช้ข้อสันนิษฐานทางกฎหมายแต่อย่างใด 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6292/2554  จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับทั้งโจทก์และจำเลยที่ 2 ในเวลาห่างกันเพียง 20 วัน และอยู่กินฉันสามีภริยาทั้งกับโจทก์และจำเลยที่ 2 ในลักษณะเป็นครอบครัวเดียวกันมานานถึงประมาณ 20 ปี โจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้ ทรัพย์สินตามคำฟ้องที่โจทก์อ้างเป็นสินสมรสนั้น เป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างเวลาดังกล่าวโดยไม่อาจทราบได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของคนละเท่าใด กรณีต้องสันนิษฐานว่าแต่ละคนมีส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 จึงต้องแบ่งทรัพย์เป็นสามส่วนเท่าๆ กัน และมีสิทธิคนละหนึ่งส่วน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5658/2552  จำเลยที่ 2 ตั้งบริษัท ล. และจำเลยที่ 2 อยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ในบริเวณที่ตั้งของบริษัทดังกล่าวมาตั้งแต่ เริ่มก่อตั้งบริษัทจนมีบุตรด้วยกันถึงเก้าคนและโจทก์ได้ร่วมช่วยเหลือกิจการของบริษัท ล. แม้โจทก์เป็นภริยานอกสมรสก็ต้องถือว่าที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงเป็นทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน การที่จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแต่เพียงผู้เดียวก็เป็นการกระทำแทนโจทก์เท่านั้น ดังนี้ โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง
          เมื่อที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงที่จำเลยที่ 2 ได้มาเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 และเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาททั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์อีกคนหนึ่งมิได้รู้เห็นยินยอม นิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6034/2551  ผู้เป็นเจ้าของรวมกันในที่ดินจะมีส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 ต้องเป็นกรณีที่ยังไม่ได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วน ถ้าแบ่งแยกการครอบครองออกเป็นสัดส่วนแล้ว ก็ต้องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมไปตามที่มีการครอบครอง ซึ่งอาจไม่เท่ากันก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2115/2551  โฉนดที่ดินและสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินเป็นเอกสารมหาชนที่รัฐออกให้แก่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ ย่อมสันนิษฐานไว้ก่อนว่าได้ออกมาโดยถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 เมื่อโฉนดที่ดินดังกล่าวมีชื่อจำเลยกับพี่น้องเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันย่อมสันนิษฐานได้ว่าจำเลยกับพี่น้องมีส่วนเป็นเจ้าของเท่ากัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 การที่จำเลยอ้างว่าจำเลยได้รับส่วนแบ่งมากกว่าพี่น้องคนอื่น จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว 

          2. ข้อสันนิษฐานทางกฎหมาย ว่าเจ้าของรวมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินรวมกัน (มาตรา 1358 วรรคแรก) โดยถ้าเป็นเรื่องจัดการตามธรรมดา พึงตกลงโดยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม แต่เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ อาจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งในทางจัดการตามธรรมดาได้ เว้นแต่ฝ่ายข้างมากได้ตกลงไว้เป็นอย่างอื่น แต่เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ อาจทำการเพื่อรักษาทรัพย์สินได้เสมอ (มาตรา 1358 วรรคสอง)  แต่ถ้าเป็นเรื่องจัดการอันเป็นสาระสำคัญ ต้องตกลงกันโดยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนข้างมากนั้นต้องมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์สิน (มาตรา 1358 วรรคสาม) แต่กรณีที่เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงวัตถุที่ประสงค์นั้น จะตกลงกันได้ก็แต่เมื่อเจ้าของรวมเห็นชอบทุกคน (มาตรา 1358 วรรคท้าย)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9009/2552  ส. เป็นเจ้าของรวมในที่ดินที่เช่าและการให้เช่าที่ดินเป็นการจัดการตามธรรมดาเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ตามสภาพปกติของทรัพย์สินซึ่งเจ้าของรวมคนหนึ่งมีสิทธิจัดการได้เสมอแต่ต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 วรรคสอง และ 1360 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยทำสัญญาเช่าฉบับใหม่กับ ส. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินที่จำเลยเช่า โดยเสียค่าเช่าเพียงเดือนละ 2,500 บาท น้อยกว่าเดิมที่เคยเสียค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท ย่อมทำให้เจ้าของรวมคนอื่นซึ่งได้มอบหมายให้โจทก์เป็นผู้ทำสัญญาเช่ากับ จำเลยได้รับความเสียหาย ส. จึงไม่มีอำนาจที่จะทำสัญญาเช่ากับจำเลย สัญญาเช่าที่ดินจึงไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่ง เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยแล้ว จำเลยยังอยู่ในที่ดินที่เช่าจึงเป็นการอยู่โดยละเมิด โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินเช่าได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  79/2551  การจัดการทรัพย์สินตามธรรมดาเพื่อรักษาทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 วรรคสอง เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งมีสิทธิจัดการได้เสมอโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมคนอื่นก่อน แต่การที่ ส. เจ้าของรวมคนหนึ่งให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทโดยทำสัญญาเช่าหลังจากโจทก์เจ้าของรวมอีกคนกำลังฟ้องขับไล่จำเลยผู้เช่าออกไปจากที่เช่า ย่อมเป็นการก่อให้เกิดภาระติดพันตึกแถวพิพาทซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์เจ้าของรวมด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง เมื่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าของรวมในตึกแถวพิพาทมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย สัญญาเช่าจึงไม่สมบูรณ์และถือว่าเป็นการใช้สิทธิขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง สัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับ ส. เจ้าของรวมจึงไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6520/2549  โจทก์กับจำเลยร่วมทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคารพิพาทร่วมกัน เดิมโจทก์ให้บริษัทจำเลยใช้อาคารพิพาทประกอบการค้า ต่อมาโจทก์แจ้งให้จำเลยออกจากอาคารพิพาท แต่หลังจากนั้นจำเลยร่วมทั้งสองให้จำเลยเช่าอาคารพิพาท แม้การทำหนังสือสัญญาเช่าระหว่างจำเลยร่วมทั้งสองจำเลยดังกล่าวโจทก์จะไม่ทราบ แต่การให้เช่าอาคารพิพาทถือเป็นการจัดการธรรมดา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 วรรคสอง ซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของรวมและนอกจากจะไม่เสียหายแล้วกลับมีประโยชน์ยิ่งกว่า เพราะเดิมโจทก์เพียงให้จำเลยอาศัยโดยไม่มีค่าตอบแทน แต่จำเลยร่วมทั้งสองให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทโดยคิดค่าเช่า กรณีไม่เป็นการใช้ทรัพย์สินในทางขัดต่อสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะไม่ตกลงยินยอมด้วยก็ตาม แต่จำเลยร่วมทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของรวม ย่อมมีสิทธิใช้สอยทรัพย์สินได้เช่นกันจึงมีสิทธิทำสัญญาให้จำเลยเช่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  250/2547  ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินซึ่งมีจำเลยที่ 1 พ. และ ก. ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1358 ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรวมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินรวมกันและเจ้าของรวมคนอื่นๆมีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ ตามมาตรา 1360 ตราบใดที่ยังไม่มีการแบ่งแยกที่ดินกันเป็นส่วนสัด การที่ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์คนหนึ่งคนใดเข้าครอบครองส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินก็ต้องถือว่าครอบครองที่ดินส่วนนั้นๆในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งเท่านั้น หาก่อให้เริ่มเกิดสิทธิที่จะอ้างว่าตนครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเสียแต่คนเดียวไม่ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทายาทผู้สืบสิทธิจาก พ. ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท หาทำให้จำเลยทั้งห้าได้กรรมสิทธิ์ทางปรปักษ์ไม่ เว้นเสียแต่จะได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ เมื่อจำเลยทั้งห้าไม่ได้บอกกล่าวไปยัง ก. ว่าจะไม่ยึดถือทรัพย์สินแทน ก. อีกต่อไป ตามมาตรา 1381 จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงฐานะยึดถือแทนผู้มีสิทธิครอบครองได้ และไม่อาจถือได้ว่ามีการแย่งการครอบครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6219/2559  เมื่อ จ. และ น. ถึงแก่ความตายแล้วทายาทยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกกัน ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ จ. และ น. ดังนั้น ส. ย่อมมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคน เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จึงอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของทายาททุกคนของ จ. และ น. เช่นเดียวกับ ส. จำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้จัดการมรดกของ น. ร่วมกับ ธ. และเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ร่วมกับ ก. จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะตัวแทนของทายาททุกคนในการจัดการทรัพย์มรดกของ จ. และ น. มีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก และต้องรับผิดต่อทายาทในฐานะตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1720 โดยทายาทแต่ละคนไม่จำต้องตั้งตัวแทนอีก การที่จำเลยที่ 1 และ ธ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. ได้จัดการประชุมทายาทของ น. ถึงเจ็ดครั้ง และเสนอให้ทายาททุกคนประมูลซื้อที่ดินพิพาทก่อน แต่ไม่มีทายาทคนใดเสนอราคา จากนั้นทายาทลงคะแนนด้วยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิได้รับมรดกให้ขายที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินไปชำระหนี้กองมรดกของ น. แล้วนำเงินส่วนที่เหลือมาแบ่งปันระหว่างทายาท จากนั้นจำเลยที่ 1 ให้ ธ. และบริษัท ซ. เป็นผู้ดำเนินการจัดการประมูลที่ดินพิพาท แต่เมื่อได้ราคาต่ำเกินควร ก็ดำเนินการจัดหาผู้เสนอซื้อรายใหม่ ต่อมาจำเลยที่ 2 เสนอซื้อในราคาที่สูงขึ้น และในการประชุมครั้งที่ 7 ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกเกินกว่ากึ่งหนึ่งลงคะแนนเสียงข้างมากให้ขายที่ดินพิพาทในราคาดังกล่าว คงมีแต่เพียงโจทก์ที่ 1 คัดค้าน ซึ่งในวันเดียวกันทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ จ. ก็ให้ความยินยอมขายที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นมรดกของ จ. ไปพร้อมกับมรดกของ น. ด้วย กรณีดังกล่าวจึงเป็นการที่เจ้าของรวมจัดการอันเป็นสาระสำคัญโดยตกลงกันด้วยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนข้างมากนั้นมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์มรดกแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1358 วรรคสาม และจำเลยที่ 1 กับ ธ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. ได้จัดการตามที่จำเป็นเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกของ น. และทายาททุกคนตามหน้าที่อันควรแล้ว แม้จำเลยที่ 1 และ ธ. จะยังไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ขายที่ดินพิพาทในส่วนมรดกของ น. ตามเงื่อนไขในคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ แต่จำเลยที่ 1 และ ธ. ก็ยื่นคำร้องขออนุญาตขายที่ดินทรัพย์ถึงสามครั้ง และยังยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการห้ามทำนิติกรรมในทรัพย์สินกองมรดกของ น. ซึ่งศาลมีคำสั่งว่า ผู้จัดการมรดกมีอำนาจตามกฎหมายในการแบ่งปันทรัพย์มรดก และปรากฏว่ากองมรดกของ จ. และ น. มีหนี้ที่ต้องชำระเป็นจำนวนมากและต้องรับภาระชำระค่าดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าปีละ 66,000,000 บาท หากไม่รีบดำเนินการขายที่ดินพิพาทย่อมเกิดความเสียหายแก่กองมรดกที่จะต้องรับภาระหนี้เพิ่มขึ้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลและทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยชอบแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทมีชื่อ ส. เป็นผู้มีชื่อในทะเบียน จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จึงมีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทและมีอำนาจจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2

          3. ข้อสันนิษฐานทางกฎหมาย ว่าเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิได้ดอกผลตามส่วนของตนที่มีในทรัพย์สินนั้น (มาตรา 1360 วรรคสอง) ทั้งนี้ เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ (มาตรา 1360 วรรคแรก)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  457/2553  โจทก์ทั้งสี่กับจำเลย เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทร่วมกัน จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสี่โดยมีกำหนดระยะเวลา เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าแล้ว สัญญาเช่าย่อมสิ้นสุดลง คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ โจทก์ทั้งสี่และจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรวมต่างก็มีสิทธิเท่าเทียมกันในการที่จะครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้งแปลงจนกว่าจะแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมตามกฎหมาย การที่จำเลยยังคงครอบทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวย่อมขัดต่อสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่น ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายต้องขาดประโยชน์อันควรได้รับจากที่ดินดังกล่าว จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่เป็นค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลา ที่จำเลยยังคงครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตามควรค่าแห่งการใช้นั้น ตามมาตรา 391 วรรคสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1669/2548  จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์รวมกับโจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในที่ดินพิพาทโดยยังไม่ได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง การใช้ทรัพย์สินกรรมสิทธิ์รวมต้องเป็นการใช้ที่ไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ การที่จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างอาคารโดยเลือกบริเวณติดถนนสุขุมวิทโดยไม่ได้รับความยินยอมของเจ้าของรวมคนอื่น จึงไม่มีสิทธิที่จะทำได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาทได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4920/2547   โจทก์ จำเลย และ ร. เป็นเจ้าของรวมในที่ดิน แต่ละคนย่อมมีสิทธิใช้สอยที่ดินดังกล่าวได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ และเจ้าของรวมคนหนึ่งๆจะจำหน่ายที่ดินดังกล่าวส่วนของตนก็ได้ การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินไว้นำโฉนดที่ดินไปให้บุคคลอื่นยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้ เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถจดทะเบียนขายที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ได้ ย่อมขัดต่อสิทธิของโจทก์ จำเลยมีหน้าที่ต้องดำเนินการนำโฉนดที่ดินคืนมาเพื่อส่งมอบแก่โจทก์ กรณีมิใช่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ 

          การใช้สิทธิของเจ้าของรวมเพื่อต่อสู้กับบุคคลภายนอก (มาตรา 1359)
          เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก แต่ในการเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนนั้น ท่านว่าต้องอยู่ในบังคับแห่งเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 302 แห่งประมวลกฎหมายนี้ (มาตรา 1359)  เช่น  เจ้าของรวมคนหนึ่งมีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้เช่าหรือผู้บุกรุกได้ (ฎีกาที่ 1721-1722/2534),  เจ้าของรวมคนหนึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องขัดทรัพย์ เพื่อให้เพิกถอนการยึดได้ (ฎีกาที่ 116/2553),  เจ้าของรวมที่ถูกฟ้องต่อสู้คดี ถือว่าเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์รวมครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตามมาตรา 1359 จึงเป็นการกระทำแทนเจ้าของรวมคนอื่นด้วย ย่อมผูกพันเจ้าของรวมคนอื่นด้วย โจทก์จึงไม่ต้องฟ้องเจ้าของรวมคนอื่นอีก (ฎีกาที่ 4926/2548)  ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้น กรณีที่เจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก จึงย่อมมีผลผูกพันเจ้าของรวมคนอื่นด้วย





          มาตรา 1361 “เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ จะจำหน่ายส่วนของตน หรือจำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้ 
          แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน             
          ถ้าเจ้าของรวมคนใดจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันทรัพย์สินโดยมิได้รับความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน แต่ภายหลังเจ้าของรวมคนนั้นได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินแต่ผู้เดียวไซร้ ท่านว่านิติกรรมนั้นเป็นอันสมบูรณ์”  
          เช่น สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายได้ทรัพย์สินมาระหว่างสมรสจะเป็นสินสมรส เมื่อหย่าขาดกันแล้วโดยยังไม่แบ่งสินสมรสกัน ทรัพย์สินสิ้นสภาพจากสินสมรสและมีฐานะเป็นกรรมสิทธิ์รวมของทั้งสองฝ่าย ต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม ถือว่ามีส่วนเท่ากัน หากสามีทำสัญญาขายที่ดินและบ้านให้บุคคลอื่น โดยภริยาไม่ทราบเรื่องและไม่ให้ความยินยอม แม้สามีทำสัญญากับบุคคลภายนอกโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน สัญญาดังกล่าวไม่ผูกพันกรรมสิทธิ์ส่วนของภริยาตามมาตรา 1361 วรรคสอง คงผูกพันส่วนของสามี ภริยาฟ้องให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของภริยาได้ (ฎีกาที่ 5461/2544) หรือการจัดการสินสมรสของสามีภริยาต้องบังคับตามมาตรา 1476 คือต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง หากฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวมีผลตามมาตรา 1480 คู่สมรสอีกฝ่ายฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสฝ่ายนั้นให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะทำนิติกรรมบุคคลภายนอกกระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ซึ่งกรณีต้องเป็นสามีภริยากันอยู่ หากหย่ากันแล้วแต่ยังไม่แบ่งสินสมรส การจัดการที่ดินและบ้านจึงนำมาตรา 1476 และ 1480 มาใช้ไม่ได้ ต้องบังคับในฐานะกรรมสิทธิ์รวมตามมาตรา 1361  ซึ่งไม่มีบทบัญญัติคุ้มครองบุคคลภายนอกเช่นมาตรา 1480 แม้บุคคลภายนอกจะสุจริตเสียค่าตอบแทนก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง 
          หรือ โจทก์จำหน่ายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์แก่ ม. มิใช่เป็นการก่อให้เกิดภาระติดพันแก่ตัวทรัพย์สิน ย่อมเป็นสิทธิโจทก์ที่สามารถทำได้ตามมาตรา 1361 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยเจ้าของรวม(ฎีกาที่ 1454/2551) 
          ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์กับจำเลยที่ 2 คนละครึ่ง จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวย่อมไม่มีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งได้ (ฎีกาที่ 5658/2552
          เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ จะจำหน่ายส่วนของตนหรือจำนองหรือก่อให้เกิดภาระผูกพันก็ได้ หมายถึงส่วนที่จะได้ในฐานะเป็นเจ้าของรวม ไม่ใช่ตัวทรัพย์ การจำหน่ายส่วนของตนเท่ากับเป็นการจำหน่ายสิทธิการเป็นเจ้าของรวมนั่นเอง มีผลทำให้ผู้ซื้อหรือผู้รับโอนเข้าเป็นเจ้าของรวมแทน การจำหน่ายตามมาตรานี้ไม่จำต้องให้เจ้าของรวมคนอื่นยินยอมด้วย แต่ถ้าเป็นตัวทรัพย์แล้ว เจ้าของรวมคนใดจะจำหน่าย ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมคนอื่นด้วยไม่ว่าจะจำหน่ายทั้งหมดหรือบางส่วน เช่นเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ ขายที่ดินให้คนอื่นโดยระบุส่วนของตนบอกจำนวนเนื้อที่ไว้ชัดแจ้ง ไม่เกินสิทธิของตน แม้เจ้าของรวมคนอื่นไม่รู้เห็นยินยอมการซื้อขายสมบูรณ์ (ฎีกา 1980/2494)      
          การจำหน่ายตัวทรัพย์ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมดก็ทำไม่ได้ เช่น ที่ดินโฉนดซึ่ง ด.ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับ ล.บิดาจำเลยทั้งสอง ที่ดินดังกล่าวไม่มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดว่าส่วนของใครอยู่ตอน ไหนและมีเนื้อที่เท่าใด ด.และ ล.ผู้มีชื่อในโฉนดซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ยังเป็นเจ้าของรวมอยู่ตามส่วนที่ตนถือกรรมสิทธิ์ โจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดินกับ ด.โดยระบุเนื้อที่ 6 ไร่ ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของที่ดิน เป็นการซื้อขายตัวทรัพย์ เมื่อเจ้าของรวมคนอื่นไม่ยินยอมไม่มีผลผูกพันเจ้าของรวมคนอื่น(ฎีกาที่ 5492/2548) เจ้าของรวมคนหนึ่งขายทรัพย์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของร่วมคนอื่น สัญญานั้นไม่ตกเป็นโมฆะ แต่ผูกพันเฉพาะส่วนของเจ้าของรวมที่ทำนิติกรรมนั้น ไม่ผูกพันเจ้าของรวมคนอื่น 
         โจทก์มีสิทธิได้ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์และครอบครองมาด้วยกันโดยเข้าทำกินในที่พิพาทแล้วให้เงินจำเลยที่ 1 เป็นรายปีทุกปีตลอดมา ไม่ได้แบ่งกัน ถือว่าต่างเป็นเจ้าของรวมตาม ปพพ.1745 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกให้จำเลยที่ 2 และ 3 ทั้งแปลง จึงผูกพันได้เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 โจทก์ขอให้เพิกถอนการโอนในส่วนของตนที่จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิโอนกลับคืนมาได้(ฎีกาที่ 952/2522) เจ้าของรวมคนหนึ่งจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของตนไม่กระทบถึงสิทธิเจ้าของรวมคนอื่น(ฎีกาที่ 5423/2553)
       
          การแบ่งกรรมสิทธิ์รวม (มาตรา 1363, 1364)          

          1. มาตรา 1363 เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุที่ประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร ก็เรียกให้แบ่งไม่ได้ 
          สิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินนั้น ท่านว่าจะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้ 
          เจ้าของรวมจะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้"         
    
          นิติกรรมขัดอยู่ จะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้ แต่ถ้าสัญญาไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด เจ้าของรวมคนหนึ่งอาจบอกเลิกสัญญาเมื่อเวลาผ่านไปพอสมควรได้ เช่น 
          สัญญาจะขายที่ดินและสัญญาซื้อขายหุ้นคู่สัญญาตกลงนำที่ดินซึ่งโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของรวมไปขายเพื่อนำเงินมาชำระค่าหุ้น ไม่มีลักษณะที่จะให้เป็นเจ้าของรวมอย่างถาวร แต่มีผลให้ยังเรียกให้แบ่งที่ดินไม่ได้ตราบที่ข้อตกลงยังมีผลผูกพันอยู่ เมื่อสัญญาไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด หากจะให้คู่สัญญาต้องผูกพันตลอดไปจนกว่าจะขายที่ดินได้ ไม่แน่ว่าอีกกี่ปี ไม่ใช่เจตนาของคู่สัญญา เมื่อนับแต่วันทำสัญญาถึงวันฟ้องคดีนานกว่า 6 ปี ยังขายที่ดินไม่ได้ จึงมีเหตุผลสมควรที่โจทก์ทั้งสองจะบอกเลิกสัญญาได้ ความผูกพันสิ้นสุดลง นิติกรรมที่เป็นเหตุขัดข้องไม่ให้ขอแบ่งที่ดินจึงไม่มี โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสามแบ่งที่ดินได้ไม่ขัดมาตรา 1363 (ฎีกาที่ 1576/2550
          และการฟ้องขอแบ่งทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์รวมตามมาตรา 1363 ไม่มีอายุความ ผู้มีกรรมสิทธิ์รวมจะทำนิติกรรมห้ามแบ่งกรรมสิทธิ์รวมได้คราวละไม่เกิน 10 ปี ไม่ใช่อายุความ (ฎีกาที่ 6437/2550)


          2. วิธีการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม
          มาตรา 1364 การแบ่งทรัพย์สินพึงกระทำโดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวม หรือโดยขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน  
          ถ้าเจ้าของรวมไม่ตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไร เมื่อเจ้าของรวมคนหนึ่งคนใดขอ ศาลอาจสั่งให้เอาทรัพย์สินนั้นออกแบ่ง ถ้าส่วนที่แบ่งให้ไม่เท่ากัน จะสั่งให้ทดแทนกันเป็นเงินก็ได้ ถ้าการแบ่งเช่นว่านี้ไม่อาจทำได้หรือจะเสียหายมากนักก็ดี ศาลจะสั่งให้ขายโดยประมูลราคากันระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาดก็ได้ 

          วิธีแบ่งกรรมสิทธิ์รวมต้องเป็นไปตาม ปพพ.มาตรา 1364 แม้ศาลจะพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินให้โจทก์กึ่งหนึ่งก็ตาม แต่จะพิพากษาให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยไม่ได้ หรือจะพิพากษาให้เอาทรัพย์สินขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่งทันทีไม่ได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6781/2545 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ แต่จะเรียกให้แบ่งในเวลาไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้การแบ่งทรัพย์สินในเวลานั้นจะทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของรวมคนอื่น การที่โจทก์และจำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาท โดย หจก. อ. ที่มีโจทก์และจำเลยเป็นหุ้นส่วนและได้เลิกกิจการไปแล้วเปิดดำเนินกิจการอยู่ในอาคารบนที่ดินทั้งโจทก์และจำเลยมีปัญหากันถึงขนาดจำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญา โจทก์จึงมิได้เข้าไปในที่ดินและอาคารพิพาทอีก แม้จะปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินและอาคารพิพาท แต่ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยฝ่ายเดียว มิใช่เพื่อผลประโยชน์ของเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นด้วย ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมดังกล่าวจะฟังว่าโจทก์ฟ้องขอแบ่งในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้
          การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยเอาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทออกขายทอดตลาดเอาเงินที่ขายได้แบ่งให้โจทก์ครึ่งหนึ่งในทันทีนั้นไม่ถูกต้อง เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ได้บัญญัติกำหนดวิธีการแบ่งทรัพย์สินของเจ้าของรวมไว้เป็นขั้นตอนแล้ว ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขโดยให้จำเลยแบ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง โดยให้โจทก์จำเลยแบ่งทรัพย์สินกันเองก่อน เมื่อไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลราคาระหว่างกันเอง ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาด ได้เงินสุทธิเท่าใดให้แบ่งกันคนละครึ่ง

          การจะแบ่งกรรมสิทธ์อย่างไรเป็นเรื่องในชั้นบังคับคดีศาลไม่จำต้องพิพากษากำหนดวิธีการแบ่งไว้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2651/2537  เมื่อที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อยู่ครึ่งหนึ่งโจทก์จึงฟ้องขอให้แบ่งแยกได้ ส่วนการจะแบ่งที่ดินพิพาทกันอย่างไรเป็นเรื่องชั้นบังคับคดีซึ่งสามารถดำเนินการแบ่งได้โดยโจทก์ไม่ต้องขอมา และศาลก็ไม่จำต้องพิพากษากำหนดวิธีการแบ่งไว้

          แต่ถ้าเจ้าของรวมตกลงแบ่งแยกการครอบครองทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมออกเป็นส่วนสัดแล้ว ถือว่าเป็นการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างเจ้าของรวมกันเองแล้วตาม ปพพ.มาตรา 1364 วรรคหนึ่ง ศาลต้องพิพากษาให้แบ่งทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมตามที่ตกลงกันนั้น กรณีนี้หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามย่อมถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้  
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2503/2523  เหตุที่จำเลยทำบันทึกข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยกำหนดส่วนของที่ดินด้วย และทำบันทึกให้จดทะเบียนบรรยายส่วนกรรมสิทธิ์ในโฉนดเกิดจากการกระทำของโจทก์และ ว. โดยจำเลยสำคัญผิดในข้อสารสำคัญแห่งนิติกรรมว่าแบ่งตามที่ครอบครองเป็นส่วนสัด จึงตกเป็นโมฆะไม่อาจแบ่งที่ดินให้โจทก์ตามที่ได้จดทะเบียนบรรยายส่วนกรรมสิทธิ์ที่ดินไว้ เมื่อโจทก์จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรวมต่างครอบครองที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของเป็นส่วนสัด จึงต้องแบ่งที่พิพาทตามส่วนดังกล่าว

          เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีสิทธิขอให้ยึดถือเอาทรัพย์สินส่วนที่เป็นของเจ้าของรวมคนอื่นมาขายทอดตลาด คงยึดได้เฉพาะส่วนที่เป็นของเจ้าของรวมซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2451/2548  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด เมื่อผู้ร้องและจำเลยได้ตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยกับผู้ร้องก่อนจะมีการบังคับคดีแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยและผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 โจทก์ซึ่งเป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญจึงมีสิทธิบังคับคดีได้เท่าที่จำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทเท่านั้น ไม่มีสิทธิเอาที่ดินของผู้ร้องมาขายทอดตลาดได้ ถือได้ว่าผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีสิทธิอื่นๆ อันอาจร้องขอให้บังคับเหนือที่ดินนั้นได้ตามกฎหมายซึ่งการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอให้กันที่ดินส่วนที่ผู้ร้องครอบครองก่อนนำที่ดินพิพาททั้งแปลงออกขายทอดตลาดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287

          การแบ่งทรัพย์สินกรรมสิทธิ์รวม ศาลย่อมใช้ดุลพินิจเพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่เจ้าของรวมได้ เช่น ให้แบ่งที่ดินให้เจ้าของรวมได้รับตรงตามที่ดินที่เจ้าของรวมปลูกบ้านอยู่อาศัย โดยไม่จำต้องสั่งให้ประมูลหรือขายทอดตลาดก็ได้ (ฎีกาที่ 4329/2539)  เจ้าของรวมมิได้แบ่งแยกกันครอบครองที่ดิน โจทก์ฟ้องประสงค์ให้ศาลพิพากษาแบ่งที่ดินที่โจทก์และจำเลยทั้งสองถือกรรมสิทธิ์รวมกันตามส่วนของแต่ละคนที่มีกรรมสิทธิ์อยู่เป็นประการสำคัญ แม้โจทก์ขอมาในคำขอท้ายฟ้องอย่างไร ศาลย่อมมีอำนาจแบ่งให้ได้ตามที่กำหนดไว้ใน ปพพ.มาตรา 1354 ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ (ฎีกาที่ 2299/2539
          ทรัพย์สินสามีภริยาเมื่อยังไม่แบ่งกัน ย่อมเป็นทรัพย์สินซึ่งสามีภริยาเป็นเจ้าของรวม การแบ่งทรัพย์สินตาม ปพพ.มาตรา 1364 กระทำได้โดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวมหรือโดยการขายแล้วเอาเงินที่ขายแบ่งกัน ไม่ต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือต่อกันก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ (ฎีกาที่ 3415/2524

          การฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ไม่จำเป็นต้องฟ้องเจ้าของรวมทุกคน 
          เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้โดยกฎหมายมิได้บังคับให้เจ้าของรวมผู้ประสงค์จะให้แบ่งทรัพย์สินต้องฟ้องผู้มีกรรมสิทธิ์รวมทุกคน 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8121/2540  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 บัญญัติให้เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้โดยมิได้บังคับให้เจ้าของรวมผู้ประสงค์จะให้แบ่งทรัพย์สินต้องฟ้องผู้มีกรรมสิทธิ์รวมทุกคน และเมื่อไม่ปรากฏว่ามีนิติกรรมขัดอยู่ ทั้งวัตถุประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทก็ไม่มีลักษณะเป็นการถาวร โจทก์ในฐานะที่เป็นเจ้าของรวมร่วมกับจำเลยบุคคลอื่นอีก จึงมีสิทธิเรียกขอให้แบ่งที่ดินพิพาทดังกล่าวให้แก่ตนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363   การที่โจทก์เรียกให้แบ่งที่ดินพิพาทซึ่งอาจต้องดำเนินการแบ่งตามวิธีการที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 กำหนดไว้นั้น มิใช่เป็นการเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรตามมาตรา 1363 วรรคสาม

          แต่อย่างไรก็ตาม กรณีที่การกำหนดส่วนแบ่งตามคำขอในฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมอาจจะกระทบถึงสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่นๆด้วย ก็ควรต้องฟ้องเจ้าของรวมทุกคน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5/2538  โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่เจ้าพนักงานที่ดิน และให้จำเลยให้ความยินยอมในการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมจำเลยให้การว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาท คือ โจทก์ จำเลยและพี่น้องร่วมบิดามารดารวมทั้งหมด 5 คน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก ซึ่งมีทายาทคนอื่นนอกจากโจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยแต่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยผู้เดียวแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ การกำหนดส่วนแบ่งตามคำขอของโจทก์อาจกระทบถึงสิทธิของทายาทคนอื่นซึ่งมิได้เข้ามาในคดีได้ คำขอของโจทก์จึงไม่อาจบังคับได้ ศาลย่อมพิพากษายกฟ้อง