28 ก.พ. 2567

ฉ้อโกงประชาชน


          มาตรา 343 "ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท"

          สำหรับความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความได้และมีโทษหนักกว่าความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 โดยการกระทำความผิดนั้นจะต้องมีลักษณะเป็นการฉ้อโกงตามมาตรา 341 ซึ่งได้กระทำต่อประชาชนโดยทั่วไป สาระสำคัญของความผิดฐานนี้จึงต้องดูว่าการกระทำความผิดนั้นได้กระทำต่อประชาชนหรือไม่ ทั้งนี้ คำว่าประชาชนไม่ได้มีบทนิยามหรือคำจำกัดความไว้ในประมวลกฎหมายอาญา แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานหมายถึงบรรดาพลเมืองซึ่งมีความหมายถึงชาวเมืองทั้งหลาย


          หลอกลวงเฉพาะเจ้าหนี้ของตนแม้มีจำนวนมาก แต่มิใช่การหลอกลวงประชาชนทั่วไป จึงไม่ผิดมาตรา 343
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 709/2523  ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 เป็นเรื่องฉ้อโกงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน คำว่า "ประชาชน" มิได้มีคำจำกัดความไว้ในประมวลกฎหมายอาญา แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหมายถึง "บรรดาพลเมือง" และคำว่า "พลเมือง" มีความหมายถึง "ชาวเมืองทั้งหลาย"
          โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกหลอกลวงโจทก์และประชาชนที่เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ประมาณ 30 คน จึงเป็นการหลอกลวงเฉพาะบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ซึ่งมีจำนวนมากเท่านั้น มิใช่เป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่วๆ ไป ฟ้องดังกล่าวจึงไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343
          หลอกลวงกลุ่มนักศึกษาเพื่อขายข้อสอบไม่เป็นการหลอกลวงประชาชนทั่วไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 563/2531  จำเลยโฆษณาหลอกลวงนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเพื่อขายข้อสอบที่จำเลยเขียนขึ้นเองเพื่อให้นักศึกษาที่ซื้อข้อสอบจากจำเลยหลงเชื่อว่าเป็นข้อสอบจริงที่จะออกสอบ การกระทำของจำเลยไม่เป็นการหลอกลวงประชาชนทั่วไป จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 คงมีความผิดตามมาตรา 341 เท่านั้น
          หลอกลวงเฉพาะกลุ่มคนต่างด้าวในหมู่บ้านเดียวกับจำเลยเท่านั้น ไม่เป็นการหลอกลวงประชาชนทั่วไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15505/2553   ป.อ. มาตรา 343 บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน" คำว่า "ประชาชน" หมายถึงบุคคลทั่วไปไม่จำกัดตัวว่าเป็นผู้ใด แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งหกซึ่งเป็นคนต่างด้าวและคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านซึ่งจำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น โดยคนต่างด้าวดังกล่าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยชั่วคราว แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงเฉพาะคนต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวเท่านั้น อันเป็นการจำกัดตัวผู้ถูกหลอกลวงว่าเป็นผู้ใดมิใช่หลอกลวงบุคคลทั่วไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 คงมีความผิดตามมาตรา 341 ตามที่จำเลยให้การรับสารภาพเท่านั้น ซึ่งความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งหกว่าจำเลยได้ชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งหกแล้ว และผู้เสียหายทั้งหกไม่ติดใจดำเนินคดีนี้แก่จำเลยอีก ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวย่อมระงับไปตาม .ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

          แม้มีการหลอกลวงผู้เสียหายเพียงรายเดียว แต่ถ้ามีลักษณะแสดงเจตนาหลอกลวงต่อประชาชนทั่วไปก็ผิดมาตรา 343
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1867/2523  การแสดงข้อความอันเป็นเท็จจริงต่อประชาชน ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 นั้น หาได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลวงลวงมากหรือน้อยเป็นหลักไม่ แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ แม้ไม่ได้ความว่าจำเลยหลอกผู้อื่นอีกนอกจากผู้เสียหายรายเดียว แต่แสดงเจตนาต่อประชาชนทั่วไปหลอกให้สมัครฝากเงินไว้กับบริษัทจำเลยก็ผิดมาตรา 343 (ข้อเท็จจริงเรื่องนี้มีการดำเนินการด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อหลอกลวงประชาชน โดยได้พิมพ์ข้อความโฆษณา)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5292/2540  การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน้อยแต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญและไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำการดังกล่าวด้วยต้นเองมาตั้งแต่ต้นทุกครั้ง เพียงแต่จำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วมีการบอกต่อกันไปเป็นทอดๆ เมื่อผู้เสียหายคนหลังทราบข่าวและมาสอบถามจำเลยจำเลยได้ยืนยันแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้นและให้ผู้เสียหายไปติดต่อที่แฟลตทุกครั้ง อันถือได้ว่าเป็นสำนักงานของจำเลยกับพวก แม้จะไม่มีการประกาศรับสมัครงานปิดไว้ก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 แล้ว จำเลยกับพวกมิได้เป็นผู้รับอนุญาตให้จัดหางานมิได้เป็นกรรมการหุ้นส่วนหรือผู้จัดการของผู้ได้รับอนุญาตให้จัดหางานซึ่งเป็นนิติบุคคล ประกอบกับฟ้องโจทก์ที่บรรยายไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยกับพวกรู้อยู่แล้วว่ายังไม่มีตำแหน่งงานหรืออัตรางานในประเทศบาร์เรนตามที่โฆษณาชักชวนแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายอย่างจริงจังเป็นเพียงอุบายหลอกลวงอ้างเรื่องการจัดหางานเพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อมอบค่าบริการให้จำเลยเท่านั้นไม่ต่างกับการหลอกลวงโดยอ้างเหตุอื่นๆ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต

          วางแผนหลอกลวงโดยประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันเปิดรับสมัครบุคคลมาทำงานกับบริษัท เป็นการฉ้อโกงประชาชน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 340/2512 (ประชุมใหญ่)    จำเลยวางแผนประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันเปิดรับสมัครบุคคลมาทำงานกับบริษัท เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อมาสมัครทำงาน โดยวางอัตราค่าจ้างเงินเดือนสูง วางระเบียบให้ต้องซื้อหุ้นอย่างน้อยหนึ่งหุ้นเป็นเงิน 900 บาท บริษัทตั้งขึ้นแล้ว จำเลยก็มิได้ดำเนินกิจการค้าดังวัตถุประสงค์แต่อย่างใด สินค้าในบริษัทก็ไม่มี ธุรกิจที่จะมอบหมายให้ผู้สมัครรับจ้างปฏิบัติก็ไม่มี ถือได้ว่าจำเลยก่อตั้งบริษัท ดำเนินการด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเพื่อหลอกลวงประชาชน จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343
          เมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งฟ้องคดีเกี่ยวกับการฉ้อโกงของจำเลยดังกล่าวแล้ว โจทก์ฟ้องจำเลยฐานฉ้อโกงผู้เสียหายคนอื่นในกรณีนี้อีกได้ เพราะผู้เสียหายเป็นคนละคนต่างถูกหลอกลวงคนละวันคนละเวลา จำนวนเงินที่ถูกหลอกแตกต่างกัน ตำแหน่งงานที่จะจ้างผู้เสียหายไม่เหมือนกัน จึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ  มิใช่เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 135/2547   จำเลยกับพวกได้ก่อตั้งบริษัท ด. ขึ้น และได้โฆษณาทางหนังสือพิมพ์ประกาศแพร่ข่าวชักชวนประชาชนว่าบริษัท ด. เป็นบริษัทที่มั่นคงประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ต้องการรับสมัครพนักงานหรือบุคลากรเพิ่มหลายตำแหน่ง และโฆษณาชักชวนให้บุคคลทั่วไปนำเงินมาลงทุนในธุรกิจรูปแบบใหม่กับบริษัทซึ่งให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งความจริงแล้วบริษัท ด. ไม่ได้ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และไม่ได้เป็นตัวแทนซื้อขายสินค้าที่ประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อการลงข่าวประกาศทางหนังสือพิมพ์ ก. เป็นความเท็จโดยทุจริตของบริษัท ด. เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ที่ได้อ่านข่าวหลงเชื่อ จึงไปติดต่อและมอบเงินให้จำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยกับพวกสำหรับผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

          เลือกสุ่มโทรศัพท์ไปหลอกลวงประชาชน อ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับบัตรและบัญชีธนาคาร โดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งเงินในบัญชีของประชาชน อันมีลักษณะเป็นการหลอกลวงทั่วไป มิได้มุ่งหมายเจาะจงหลอกลวงคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกจะสุ่มได้หมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนคนใดที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลย จึงเป็นการฉ้อโกงประชาชน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 831/2559   การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ โดยจะเห็นได้จากวิธีการหลอกลวง เมื่อจำเลยทั้งสี่กับพวกจัดตั้งระบบอุปกรณ์โทรศัพท์และระบบคอมพิวเตอร์ในรูปสำนักงานเครือข่ายโทรศัพท์ ขึ้นในต่างประเทศ และใช้การสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ด้วยวิธีการสุ่มหมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวก แล้วโทรศัพท์หรือส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อไปยังประชาชนทั่วไป รวมทั้งประชาชนไทยในราชอาณาจักร และแจ้งแก่ผู้ที่ได้รับการติดต่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่าง ๆ ในลักษณะอ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลอกลวงผู้ได้รับการติดต่อว่าผู้นั้นเป็นหนี้บัตรเครดิต หรือมียอดการใช้เงินในบัญชีสูงผิดปกติ ให้ไปตรวจดูยอดเงินในบัญชี หรือให้ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงรหัสข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีธนาคารที่ประชาชนผู้ถูกหลอกลวงใช้บริการหรือให้ไปดำเนินการใส่รหัสผ่าน หรือรหัสสั่งให้ระงับการทำรายการในบัญชีเงินฝาก บัตรเบิกถอนเงินสดเอทีเอ็มหรือรหัสระงับบัญชีธนาคาร หรือรหัสป้องกันมิให้ข้อมูลรั่วไหล โดยแจ้งว่าเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้อื่นเบิกถอนเงินออกจากบัญชีของประชาชนผู้ถูกหลอกลวงได้ ซึ่งเป็นการหลอกลวงเหมือนกัน อันมีลักษณะเป็นการหลอกลวงทั่วไป มิได้มุ่งหมายเจาะจงหลอกลวงคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกจะสุ่มได้หมายเลขโทรศัพท์ของประชาชนคนใดที่ปรากฏข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทั้งสี่กับพวกเพื่อทำการหลอกลวง การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องจึงเป็นการร่วมกันฉ้อโกงประชาชน

          แม้จะแสดงข้อความเท็จแก่ประชาชน แต่ถ้าการแสดงข้อความเท็จนั้นไม่มีเจตนาจะได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวง ก็ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง เมื่อไม่ผิดฐานฉ้อโกงก็ย่อมไม่ผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2728/2557   โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นตัวแทนของบริษัท ด. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลง ทำสัญญานายหน้ากับโจทก์กับพวกเพื่อให้โจทก์กับพวกทำหน้าที่ชี้ช่องติดต่อหาผู้ซื้อที่ดินดังกล่าว ต่อมาโจทก์กับพวกติดต่อจำเลยที่ 2 ว่าจะซื้อที่ดิน แต่ยังไม่มีการนัดจดทะเบียนโอน จำเลยทั้งสองร่วมกันไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 3 แปลง และจำเลยที่ 2 ให้บริษัท จ. ซึ่งมี ธ. เป็นตัวแทนเป็นผู้ซื้อที่ดิน โจทก์กับพวกมีสิทธิได้รับค่านายหน้าตามสัญญาเป็นเงิน 5,560,000 บาท แต่จ่ายค่านายหน้าให้โจทก์เพียง 250,000 บาท การให้บริษัท จ. โดย ธ. เป็นผู้ซื้อที่ดินทั้งสามแปลง เพื่อให้ตนได้รับค่านายหน้าทั้งหมดหรือบางส่วน อันเป็นการแสดงตนเป็นคนอื่น และการติดต่อทำสัญญากับโจทก์และพวกให้มีการซื้อขายที่ดินของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงได้ไปซึ่งเงินค่านายหน้าของโจทก์ ดังนี้ หากจะฟังว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ตามฟ้องจริง การหลอกลวงเช่นนั้นก็มิได้ทำให้จำเลยทั้งสองได้เงินไปจากโจทก์ซึ่งอ้างว่าถูกหลอกลวงแต่อย่างใด เงินที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้ไปนั้นเป็นเพียงเงินค่านายหน้าซึ่งโจทก์ถือว่าตนมีสิทธิจะได้ และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้เท่านั้น เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องว่ากล่าวกันในทางแพ่ง ทั้งข้อเท็จจริงตามฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองแสดงตนเป็นบุคคลอื่นหรือฉ้อโกงประชาชนแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามฟ้องโจทก์และไม่มีมูลเป็นความผิด

          เมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้องถึงจำเลยคนใด ถึงแม้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยคนนั้นกระทำความผิด แต่ศาลก็ลงโทษไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่มิได้กล่าวในฟ้องและเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ซึ่งต้องห้าม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2562  ความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 306 และฐานฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 343 มีองค์ประกอบที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล โดยทุจริต หลอกลวง ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน โดยนำข้อมูลเท็จไปเผยแพร่ในงบการเงินประจำปี 2547 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยแก่ประชาชนทั่วไป แล้วผู้เสียหายซึ่งเป็นประชาชนเข้ามาดูข้อมูลเท็จในงบการเงินผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่างบการเงินเป็นความจริง จึงตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจนเหลือหุ้นที่ยังไม่ได้ขาย 140,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 878,169.19 บาท และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นทำให้จำเลยที่ 1 ได้ไปซึ่งเงินลงทุนจำนวนดังกล่าวจากผู้เสียหายซึ่งเป็นประชาชนผู้ถูกหลอกลวง เห็นได้ว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานดังกล่าวเพียงคนเดียว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีความผิดฐานดังกล่าวมาด้วยนั้น เป็นการพิพากษาเกินคำขอและที่มิได้กล่าวในฟ้อง เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้คู่ความไม่ได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225