4 พ.ค. 2557

ภาระจำยอม


          ภาระจำยอม เป็นทรัพยสิทธิประเภทรอนสิทธิ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบกระเทือนถึงการใช้สิทธิในทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

          มาตรา 1387 "อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น"


          อสังหาริมทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากภาระจำยอมเรียกว่า "สามยทรัพย์" ส่วนอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในบังคับภาระจำยอมเรียกว่า "ภารยทรัพย์" ตัวอย่างภาระจำยอม เช่น ยอมให้มีทางเดินหรือทางน้ำ ยอมให้ชายคาหรือหน้าต่างบุคคลอื่นล้ำเข้ามาในที่ดินของตน ยอมที่จะไม่ปลูกสร้างอาคาร ปิดบังแสงสว่าง ทางลม แก่ที่ดินข้างเคียง เป็นต้น

          ทางภาระจำยอมนี้ทำให้จำเลยต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 โดยจำเลยยังมีสิทธิในทางภาระจำยอมอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเช่นเดิม การใช้สิทธิเหนือที่ดินส่วนที่เป็นทางภาระจำยอมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงยังคงเป็นของจำเลยต่อได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1188/2556  ที่ดินอันตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเพียงแต่ทางภาระจำยอมนี้ทำให้จำเลยต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 โดยจำเลยยังมีสิทธิในทางภาระจำยอมอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเช่นเดิม เพียงแต่มาตรา 1390 ห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใดๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกเท่านั้น การใช้สิทธิเหนือที่ดินส่วนที่เป็นทางภาระจำยอมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงยังคงเป็นของจำเลยต่อไป การที่ศาลชั้นต้นห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับทางดังกล่าวจึงมิชอบด้วยกฎหมาย 




          เจ้าของภารยทรัพย์คงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นภารยทรัพย์นั้นเช่นเดิม จึงมีสิทธิในฐานะเจ้าของที่ดินที่สามารถขายที่ดินภารยทรัพย์นั้นได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2058/2549  ภาระจำยอมนั้นเพียงแต่ทำให้เจ้าของภารยทรัพย์ต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น และห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใดๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 และ 1389 เท่านั้น เจ้าของภารยทรัพย์คงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ขายหรือจำหน่ายจ่ายโอนกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด จำเลยในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทจึงมีสิทธิขายที่ดินพิพาทได้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นโมฆะ

          เจ้าของสามยทรัพย์ไม่มีสิทธิทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์หรือในสามยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ ตามมาตรา 1388

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1023/2546  การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. จัดจำหน่ายที่ดินพร้อมตึกแถวซึ่งมีสภาพติดต่อกันเป็นแปลงย่อยมีจำนวนตั้งแต่ 10 แปลง ขึ้นไปโดยมีทางเท้าและถนนผ่านตึกหน้าโครงการ เป็นการแสดงออกโดยปริยายว่าจะจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะ ถือได้ว่าเป็นการจัดสรรที่ดิน ดังนั้นทางเท้าและถนนซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินจึงต้องตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินที่จัดสรรทุกแปลง ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 1 และข้อ 30 โจทก์ซื้อที่ดินจากผู้ที่รับโอนที่ดินมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ภารจำยอมจึงตกติดไปยังโจทก์ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของทางภารจำยอมที่ตกแก่ที่ดินที่จัดสรรทุกแปลงรวมทั้งที่ดินของจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทได้
          ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทางเท้าตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของจำเลย จำเลยมีสิทธิที่จะใช้ทางเท้าและกันสาดปูนซึ่งมีสภาพติดกับตึกแถวมาแต่แรกโดยไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ แต่วัสดุผ้าใบกันฝนที่จำเลยนำมาติดตั้งไว้หน้าตึกแถว เป็นการกระทำขึ้นภายหลัง จำเลยไม่มีสิทธิกระทำให้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินซึ่งเป็นภารยทรัพย์ เพราะทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ จำเลยจึงต้องรื้อออกไป แม้จะมีการติดตั้งผ้าใบกันฝนที่ตึกแถวของจำเลย แต่โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้

          ถ้าความต้องการแห่งเจ้าของสามยทรัพย์เปลี่ยนแปลงไป ท่านว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ให้สิทธิแก่เจ้าของสามยทรัพย์ที่จะทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ได้ ตามมาตรา 1389

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5634/2555  โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทอยู่ภายใต้การจัดสรรเป็นพื้นที่ส่วนที่กันไว้เป็นสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะประเภทสนามเด็กเล่น การถูกจำกัดสิทธิโดยภาระจำยอมของโจทก์ให้แก่ที่ดินที่โจทก์จัดสรรขายไปซึ่งสามยทรัพย์จึงเป็นภาระจำยอมเฉพาะใช้เป็นสาธารณูปโภคประเภทสนามเด็กเล่นเท่านั้น และแม้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายโดยมิได้เข้าดูแลสาธารณูปโภค เช่น ถนน ท่อระบายน้ำ หรือสนามเด็กเล่น ภายในหมู่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้านที่ชาวบ้านภายในหมู่บ้านจัดตั้งขึ้นเป็นผู้ดูแล แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์เดิมที่โจทก์ได้จดทะเบียนภาระจำยอมไว้
          อาคารที่จำเลยทั้งสี่ก่อสร้างเป็นอาคารที่เป็นศูนย์แสดงจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและฝึกทักษะอาชีพจึงเป็นเรื่องนอกเหนือวัตถุประสงค์เดิมที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ แม้อาคารดังกล่าวมีห้องน้ำซึ่งสามารถทำให้เด็กที่มาออกกำลังกายที่สนามเด็กเล่นใช้ประโยชน์ในห้องน้ำนั้นได้ด้วย หรือการที่ตามหนังสือขออนุญาตก่อสร้างอาคารระบุว่าใช้เป็นสถานที่จัดประชุม และจัดกิจกรรมทางกีฬาต้านยาเสพติดของเยาวชนด้วย ก็เป็นเรื่องปลีกย่อย โดยอาคารดังกล่าวยังคงเป็นศูนย์แสดงสินค้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและฝึกทักษะอาชีพ และไม่อาจถือได้ว่ามีส่วนเกี่ยวเนื่องกับสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะประเภทสนามเด็กเล่นที่โจทก์จดทะเบียนภาระจำยอมไว้ จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิก่อสร้างอาคารดังกล่าวบนที่ดินพิพาท การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4845/2550  ภาระจำยอมรายพิพาทได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามสำเนาโฉนดที่ดิน และสำเนาบันทึกข้อตำลงเรื่องภาระจำยอม จึงมีผลบริบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยอ้างว่าไม่มีเจตนาผูกพันตามสำเนาบันทึกข้อตกลงดังกล่าว แต่จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมรายพิพาทตามคำขอของโจทก์ที่แจ้งแก่จำเลยว่าเพื่อให้บริษัทเงินทุนผู้รับจำนองยอมรับจำนองที่ดินของโจทก์เป็นประกันการขอกู้ยืมเงินของโจทก์นั้นวัตถุประสงค์ดังกล่าวไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่เป็นการพ้นวิสัยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งจำเลยยังยืนยันว่าบริษัทเงินทุนผู้รับจำนองจะรับจำนองต่อเมื่อที่ดินของโจทก์ได้สิทธิภาระจำยอมเรื่องทางเดินแล้วเท่านั้น และหลังจากจดทะเบียนภาระจำยอมรายพิพาทโจทก์ได้จำนองที่ดินไว้แก่บริษัทเงินทุนผู้รับจำนอง แสดงว่าจำเลยทราบดีถึงวัตถุประสงค์และผลของการจดทะเบียนทางภาระจำยอมว่าเป็นการให้สิทธิแก่ที่ดินของโจทก์ที่จะใช้ที่ดินของจำเลยเป็นทางภาระจำยอม การจดทะเบียนภาระจำยอมรายพิพาทของจำเลยเป็นการกระทำด้วยใจสมัครและไม่ได้สำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม จึงไม่เป็นโมฆะ แม้ต่อมาภายหลังโจทก์ได้ไถ่ถอนจำนองจากบริษัทเงินทุนดังกล่าว ก็หาทำให้ภาระจำยอมที่มีผลบริบูรณ์ตามกฎหมายมาแต่ต้นกลับกลายเป็นโมฆะไม่
          เมื่อบันทึกข้อตกลงเรื่องภาระจำยอมระบุว่าเป็น "ภาระจำยอมเรื่องทางเดิน" ย่อมไม่จำเป็นต้องมีความกว้างถึง 3 เมตร ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ทางภาระจำยอมรายพิพาทกว้าง 3 เมตร โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ต้องใช้รถยนต์ผ่านทางภาระจำยอมรายพิพาท เป็นการทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นภารยทรัพย์จากที่จดทะเบียนระบุว่าเป็นทางเดิน ต้องห้ามตาม ป.พ.พ.มาตรา 1388 และ 1389

          แต่ปัจจุบันบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงและเจริญมากขึ้น การปักเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าตามแนวทางภาระจำยอมด้านข้าง เมื่อไม่เป็นการกีดขวางทางเข้าออก ถือไม่ได้ว่าทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ และไม่ได้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ จึงมีสิทธิทำได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4595/2551  บันทึกข้อตกลงทางภาระจำยอมเรื่องทางเดินและทางรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีข้อตกลงให้ปักเสาไฟฟ้าลงบนที่ดินที่เป็นทางภาระจำยอม แต่ปัจจุบันบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงและเจริญมากขึ้น การใช้ไฟฟ้าตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นที่อาศัยหรือใช้ประกอบกิจการย่อมเป็นสิ่งจำเป็นต่อประชาชนทั่วไป การที่จำเลยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคติดตั้งเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าบนที่ดินภาระจำยอมเพื่อนำไปใช้ในที่ดินของจำเลยโดยปักเสาไฟฟ้าอยู่ตามแนวยาวของทางภาระจำยอมด้านข้างไม่เป็นการกีดขวางทางเข้าออกจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเจ้าของสามยทรัพย์ทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1388 จำเลยย่อมมีสิทธิกระทำได้

          สิทธิและหน้าที่ของเจ้าของภารยทรัพย์ มีดังนี้ 
          1. ต้องไม่ประกอบการใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก (มาตรา 1390)
          2. ถ้าภาระจำยอมแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์ เจ้าของทรัพย์นั้นอาจเรียกให้ย้ายไปยังส่วนอื่นก็ได้ แต่ต้องแสดงได้ว่าการย้ายนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนและรับเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ต้องไม่ทำให้ความสะดวกของเจ้าของสามยทรัพย์ลดน้อยลง (มาตรา 1392)
          3. ถ้ามีการแบ่งภารยทรัพย์ ภาระจำยอมก็คงมีอยู่ทุกส่วน ที่แยกออกไป แต่ถ้าส่วนใดไม่ใช้ หรือ ใช้ไม่ได้ เจ้าของส่วนอาจเรียกหรือ ขอให้พ้นจากภาระจำยอมได้  (มาตรา 1394)
          4. ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่าย หรือตกไปในบังคับแห่งสิทธิอื่น
          ท่านว่าจะจำหน่าย หรือทำให้ภาระจำยอมตกไปในบังคับแห่งสิทธิอื่นต่างหากจากสามยทรัพย์ไม่ได้ (มาตรา 1393)

          ต้องไม่ประกอบการใดๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ตามมาตรา 1390

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621/2559  จำเลยซื้อที่ดินจากโจทก์ทั้งสาม โดยทำข้อตกลงว่ากรณีจำเลยสามารถหาทางออกสู่ถนนสาธารณะได้ จำเลยจะให้ทางออกแก่ที่ดินอีกแปลงหนึ่งของโจทก์ทั้งสาม เฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม 3 ครอบครัว เป็นทางกว้าง 3 เมตร ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาไม่ใช่เป็นแต่เพียงความยินยอม จำเลยจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงนั้น ข้อความดังกล่าวแสดงชัดว่าจำเลยสัญญาจะให้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม แม้จะมีข้อความต่อไปว่า เฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม 3 ครอบครัว ก็เป็นเพียงข้อจำกัดในการใช้ภาระจำยอมว่าให้แก่โจทก์ทั้งสามเท่านั้นที่จะใช้ภาระจำยอมได้ ส่วนข้อความว่าหากโจทก์คนใดคนหนึ่งขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลอื่นนอกครอบครัว ยินยอมให้จำเลยปิดทางออกได้ ก็เป็นเพียงข้อกำหนดเป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่ายเท่านั้นซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ทำได้ ต่อมาเมื่อจำเลยนำที่ดินที่ซื้อจากโจทก์ทั้งสามไปจัดสรรและทำทางพิพาทออกสู่ถนนสาธารณะ ดังนั้น ทางพิพาทจึงเป็นภาระจำยอมที่โจทก์ทั้งสามได้มาโดยนิติกรรม การที่จำเลยทำกำแพงปิดกั้นทางพิพาทจึงเป็นการผิดสัญญาและเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390 โจทก์ทั้งสามขอให้รื้อกำแพงได้
เมื่อที่ดินของโจทก์ทั้งสามด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือติดลำกระโดงสาธารณะ สามารถใช้เรือสัญจรไปมาได้ ที่ดินของโจทก์ทั้งสามจึงมีทางออกสู่สาธารณะได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ที่โจทก์ทั้งสามจะอ้างใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น
จำเลยร่วมที่ 1 ซื้อที่ดินซึ่งมีกำแพงและทางพิพาทบางส่วนต่อจากจำเลย โดยทำบันทึกข้อตกลงว่า ผู้จะซื้อได้รับทราบแล้วตั้งแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินว่าผู้ซื้อจะต้องยินยอมให้โจทก์ทั้งสามและบริวารผ่านเข้าออกที่ดินที่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้ หรือจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อผู้จะขายแจ้งให้ทราบ แสดงว่าจำเลยร่วมที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าที่ดินนั้นตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ถือว่าจำเลยร่วมที่ 1 รับโอนที่ดินซึ่งเป็นภารยทรัพย์มาโดยไม่สุจริต จำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสามเพื่อให้ภาระจำยอมสิ้นไปได้ นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 จึงมีหน้าที่รื้อกำแพงที่ปิดกั้นทางพิพาทออกไป
จำเลยร่วมที่ 2 เป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้รับโอนทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณูปโภคซึ่งรวมทั้งทางพิพาทด้วยจากจำเลยผู้จัดสรรที่ดินมาบำรุงรักษาเท่านั้น ไม่ถือเป็นบุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 2 จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ทั้งสาม และโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องให้จำเลยร่วมที่ 2 จดทะเบียนภาระจำยอมได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 วรรคหนึ่ง
จำเลยโอนที่ดินภารยทรัพย์ทางพิพาทแก่จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ไปแล้ว จำเลยไม่ใช่เจ้าของภารยทรัพย์อีกต่อไป สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้โจทก์ทั้งสามบังคับจำเลยให้จดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ แต่หากจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ จำเลยย่อมตกเป็นผู้ผิดสัญญา ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2554  ที่ดินพิพาทเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิใช้ทางพิพาทได้ แต่การที่โจทก์ก่อสร้างเพิงเก็บสินค้าในที่ดินพิพาทเพื่อประโยชน์ของโจทก์แต่เพียงผู้เดียวเป็นการทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ที่ดินพิพาทอันเป็นภารยทรัพย์ ทำให้เจ้าของภารยทรัพย์เสียหาย แม้โจทก์จะก่อสร้างเพิงเก็บสินค้าดังกล่าวมาก่อนที่ดินพิพาทจะตกเป็นของจำเลย แต่เมื่อจำเลยบอกกล่าวให้โจทก์รื้อถอนเพิงเก็บสินค้าแล้วโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม จึงเป็นการทำละเมิดแก่จำเลย
การที่ อ. เจ้าของที่ดินคนก่อนก่อสร้างรั้วคอนกรีตกีดขวางทางภาระจำยอม ย่อมเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เมื่อที่ดินพิพาทโอนมาเป็นของจำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่รื้อถอนรั้วคอนกรีตออกไปจากที่ดินพิพาท ส่วนการที่จำเลยสร้างโครงหลังคาเหล็กยึดกับผนังโรงงานของจำเลยซึ่งอยู่ติดกับที่ดินพิพาทโดยไม่มีเสาหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของโครงเหล็กติดตั้งอยู่บนที่ดินพิพาทนั้นไม่ทำให้ประโยชน์ในการใช้ทางภาระจำยอมของโจทก์ลดลงหรือเสื่อมความสะดวก โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรื้อถอนโครงเหล็กหลังคา





เจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิทำการทุกอย่างอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง ตามมาตรา 1391
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621/2559  จำเลยร่วมที่ 2 เป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้รับโอนทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณูปโภคซึ่งรวมทั้งทางพิพาทด้วยจากจำเลยผู้จัดสรรที่ดินมาบำรุงรักษาเท่านั้น ไม่ถือเป็นบุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 2 จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ทั้งสาม และโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องให้จำเลยร่วมที่ 2 จดทะเบียนภาระจำยอมได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6855/2548  เมื่อที่ดินพิพาทซึ่งเชื่อมต่อกับทางสาธารณะ น. บิดาจำเลยมีเจตนาที่จะให้เจ้าของที่ดินแปลงอื่นที่จัดสรรมีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยสะดวก ที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงถือเป็นสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดิน และตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินจัดสรรทุกแปลงตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง
เมื่อทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้เนื่องจากการจดทะเบียนภาระจำยอมถือว่าเป็นการอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1391

ถ้าภาระจำยอมแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์ เจ้าของทรัพย์นั้นอาจเรียกให้ย้ายไปยังส่วนอื่นก็ได้ แต่ต้องแสดงได้ว่าการย้ายนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนและรับเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ต้องไม่ทำให้ความสะดวกของเจ้าของสามยทรัพย์ลดน้อยลง ตามมาตรา 1392
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8168/2554  โจทก์กับบริวารใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 บริเวณที่เป็นทางคอนกรีตเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะมาตั้งแต่ปี 2516 ถือว่าโจทก์ใช้สิทธิเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 มาโดยตลอดจำเลยทั้งสี่กับพวกมาซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 หลังจากโจทก์กับบริวารใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว นับแต่วันที่โจทก์ใช้ทางในที่ดินนี้จนกระทั่งจำเลยทั้งสี่รับโอนที่ดินโฉนดดังกล่าว ที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ตกอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินโจทก์โดยอายุความแล้ว ส่วนที่จำเลยทั้งสี่กับพวกทุบทำลายทางคอนกรีตที่โจทก์ใช้เป็นทางพัฒนาที่ดินและแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมแล้ว ทำถนนบริเวณกึ่งกลางที่ดินกว้าง 8 เมตร อันเป็นทางพิพาท โจทก์กับบริวารจึงย้ายมาใช้ทางพิพาท การที่จำเลยทั้งสี่กับพวกซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์ทุบทำลายทางคอนกรีตอันเป็นทางภาระจำยอมเดิมของโจทก์แล้วไปทำถนนบริเวณกึ่งกลางที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 จึงเป็นกรณีที่เจ้าของทรัพย์ให้ย้ายภาระจำยอมไปยังส่วนอื่น เพื่อประโยชน์แก่จำเลยทั้งสี่ที่เป็นเจ้าของภารยทรัพย์นั้น จำเลยทั้งสี่ประสงค์ให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ทั้งแปลงตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับภาระะจำยอมเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1392 ที่โจทก์มาใช้ทางพิพาทจึงไม่จำต้องนับอายุความกันใหม่
คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ โจทก์ขอให้ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอม ในเรื่องทางรถยนต์ด้วยและข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อจำเลยทั้งสี่ย้ายภาระจำยอมเดิมมาเป็นทางพิพาทที่มีสภาพเป็นถนน สำหรับรถยนต์แล่นเข้าออก และโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่า เมื่อจำเลยทั้งสี่ย้ายทางภาระจำเลยเดิมมาเป็นทางใหม่ โจทก์และบริวารใช้รถยนต์แล่นผ่านเข้าออกทางพิพาท ฟังได้ว่า ทางดังกล่าวตกอยู่ภาระจำยอมทางรถยนต์ด้วย
โจทก์มีคำขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ได้ภาระจำยอมที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ทั้งแปลงและข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทั้งสี่ย้ายทางภาระจำยอมไปยังทางที่พิพาท อันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่จำเลยทั้งสี่ จนทำให้โจทก์ได้ภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ทั้งแปลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1392 ก็ตาม แต่ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ทางภาระจำยอมแล้วพิพากษาให้โจทก์ได้ภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ซึ่งไม่เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1392 ก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขให้ถูกต้อง ทั้งทางที่พิพาทคงเป็นเพียงทางภาระจำยอม มีผู้ได้ภาระจำยอมในทางที่พิพาทเพียงไม่กี่รายเท่านั้น การที่โจทก์ใช้ทางพิพาทอาจไม่ได้รับความสะดวกบ้างแต่ไม่ถึงกับทำให้เกิดความไม่สงบในสังคม ปัญหาดังกล่าวฟังไม่ได้ว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาในปัญหาดังกล่าวมา จึงเป็นการพิพากษาในสิ่งใดๆ นอกเหนือจากคำฟ้องของโจทก์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247

ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่าย หรือตกไปในบังคับแห่งสิทธิอื่น ตามมาตรา 1393 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 446/2541  เดิม ค.สามีโจทก์ที่ 1 และโจทก์ทั้งสองได้ใช้ทางเดินบนที่ดินของ พ.ทางด้านทิศตะวันออกออกสู่ทางสาธารณะโดยสงบและเปิดเผยติดต่อกันเกินกว่า10 ปี ที่ดินของ พ.ดังกล่าวจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของ ค.ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1401 ประกอบกับมาตรา 1382 ต่อมา พ.ขอให้ ค.ย้ายทางภาระจำยอมเดิมมายังทางพิพาทเพื่อประโยชน์ของ พ. ซึ่งประสงค์จัดสรรที่ดินขาย ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแทนทางเดิม ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1392 เมื่อโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินสามยทรัพย์มาจาก ค. และโจทก์ที่ 2 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสามยทรัพย์มาจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินจาก พ.ซึ่งมีทางพิพาทอันเป็นภารยทรัพย์ให้เปิดทางพิพาทและจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองได้ เพราะการจดทะเบียนภาระจำยอมนั้นถือว่าเป็นการอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมประการหนึ่ง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1391วรรคแรก
โจทก์ทั้งสองใช้ทางเดินในที่ดินของ พ.โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมมิใช่ถือวิสาสะ จนได้ภาระจำยอมโดยอายุความแล้ว แม้โจทก์ที่ 1 จะทราบหรือไม่ทราบระหว่างโจทก์ที่ 1 หรือ ค.เจ้าของที่ดินเดิมที่โจทก์ที่ 1 รับโอนที่ดินมา ผู้ใดเป็นผู้ได้สิทธิภาระจำยอมตามกฎหมาย ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ
เหตุที่ พ.ขอให้ ค.ย้ายทางภาระจำยอมนั้นเนื่องจาก พ.จะนำที่ดินแปลงที่เป็นภารยทรัพย์มาจัดสรรขาย ดังนั้นการย้ายทางภาระจำยอมไปใช้ทางพิพาทจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ พ. การย้ายทางภาระจำยอมดังกล่าวไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ หรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ และการที่ ค.เจ้าของที่ดินแปลงที่เป็นสามยทรัพย์ตกลงจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ พ.ก็เป็นค่าตอบแทนในส่วนที่ค.จะได้ใช้ทางพิพาทกว้างขึ้นจากเดิมนั้น คู่กรณีย่อมสามารถตกลงกันด้วยความสมัครใจได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1392 โจทก์ทั้งสองจึงสามารถสืบพยานบุคคลถึงข้อตกลงดังกล่าวเพื่ออธิบายประกอบให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของคู่กรณีได้
โจทก์ทั้งสองได้ใช้ทางพิพาทจนได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินของจำเลยโดยอายุความ และโจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิที่ได้ภาระจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความ มิใช่ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่าง ค.กับโจทก์ แม้ว่า ค.จะผิดสัญญาการชำระเงินหรือไม่ก็ตาม ก็หาทำให้สิทธิภาระจำยอมในทางพิพาทของโจทก์ทั้งสองที่มีอยู่สิ้นไปไม่
การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองทุกแปลง ตามรายละเอียดในแผนที่เอกสารหมาย จ.1 ที่โจทก์อ้างส่ง แต่ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ระบุเลขโฉนดที่ดินของโจทก์ที่ 1 ไม่ครบทุกแปลงโดยไม่ระบุที่ดินตามฟ้องของโจทก์ที่ 1 ด้วย ย่อมทำให้คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในส่วนที่ดินของโจทก์ที่ 1 แปลงดังกล่าวนั้นไร้ผล เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5)

ภาระจำยอมเป็นบทบัญญัติที่ไม่มีการจำกัดระยะเวลา เหมือนทรัพยสิทธิประเภทอื่น ดังนั้น การทำนิติกรรมที่ก่อให้เกิดภาระจำยอมต้องกำหนดเงื่อนไขไว้ให้ชัดเจน เช่น ความกว้างความยาว การให้ยานพาหนะผ่านได้หรือไม่ หรือการกำหนดว่าให้หมดภาระจำยอม เมื่อมีการโอนสามยทรัพย์ให้บุคคลอื่น

ภาระจำยอม อาจเกิดขึ้นจากนิติกรรม โดยอายุความหรือโดยผลของกฎหมาย


ภาระจำยอมโดยนิติกรรม จะทำได้โดยการตกลงกันระหว่างเจ้าของที่ดินแปลงที่จะจดเป็นภาระจำยอม และแปลงที่จะได้ประโยชน์จากภาระจำยอม โดยต้องจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7436/2553  ภาระจำยอมเมื่อจดทะเบียนแล้วมีผลผูกพันตราบเท่าที่ยังไม่มีการยกเลิกเพิกถอนเพราะเป็นทรัพยสิทธิที่ก่อตั้งขึ้นโดยอำนาจของกฎหมายตาม ป.พ.พ.มาตรา 1298 ทั้งจำเลยที่ 2 มิได้ฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมเข้ามาในคดีนี้ แต่ฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหากและคดีดังกล่าวยังไม่มีคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง แก้ไขหรือกลับว่าการจดทะเบียนภาระจำยอมไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เพิกถอน จึงต้องฟังว่าการจดะเบียนภาระจำยอมชอบและมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวและเจ้าของที่ดินภารยทรัพย์ให้ต้องปฏิบัติตาม แม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าไม่รู้ว่ามีการจดทะเบียนภาระจำยอม ก็ไม่เป็นเหตุให้ยกเว้นความรับผิดในเรื่องทรัพยสิทธิที่จดทะเบียนแล้วได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2975/2553  น. เสนอขายที่ดินโดยนำรูปแผนที่หลังโฉนดที่ดินมาแสดงแก่โจทก์เพื่อยืนยันรับรองแก่โจทก์ว่า หากโจทก์ซื้อที่ดินของ น. โจทก์ก็มีสิทธิใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกและใช้ประโยชน์เกี่ยวแก่การสาธารณูปโภคสำหรับที่ดินที่ซื้อได้ อันเป็นเหตุให้ น. ต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น เมื่อโจทก์ตกลงซื้อที่ดินตามที่ น. เสนอจึงเกิดเป็นสัญญาก่อให้เกิดภาระจำยอม การที่ น. ไม่ได้จดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์เหมือนอย่างที่ดินซึ่งแบ่งแยกพร้อมกับแปลงอื่นๆ คงมีผลเพียงทำให้ภาระจำยอมดังกล่าวยังไม่เป็นทรัพยสิทธิที่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่ก็เป็นบุคคลสิทธิใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา และไม่ใช่สิทธิที่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของ น. โดยแท้ เมื่อ น. ถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ตามสัญญาภาระจำยอมย่อมตกทอดแก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และ 1600 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนภาระจำยอมและบังคับให้จำเลยรื้อรั้ว เสาปูนและลวดหนามที่ปิดกั้นทางพิพาทซึ่งเป็นภารทรัพย์ออกได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5791/2556  ขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินและทำพินัยกรรม ท. มีเจตนาให้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกถนนสาธารณะสำหรับที่ดินอีก 3 แปลง และตามพฤติการณ์ที่ ท. พักรักษาตัวอยู่กับจำเลยก่อนถึงแก่ความตายและจำเลยอยู่ด้วยในขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินตลอดจนในขณะทำพินัยกรรมทั้งได้รับทราบเจตนาดังกล่าวของ ท. แล้ว ซึ่งต่อมาจำเลยก็ไม่เคยโต้แย้งการใช้ที่ดินพิพาทของโจทก์และบุคคลที่อาศัยอยู่ในห้องแถวมาโดยตลอด ย่อมเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายว่า ท. กับจำเลยได้มีข้อตกลงกันก่อนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยตามพินัยกรรมว่าให้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินอีก 3 แปลง อันเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 60977 ตามพินัยกรรมและเข้าใช้ทางพิพาทอันเป็นการแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวแล้ว สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่นั้น อันเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทต้องยอมรับกรรมบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการก่อตั้งภาระจำยอม แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นเพียงทำให้การได้มาซึ่งภาระจำยอมนั้นไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะหรือเสียเปล่าแต่อย่างใด ยังคงบังคับกันได้เป็นบุคคลสิทธิในระหว่างจำเลยซึ่งต้องผูกพันชำระหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกกับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้ กรณีหาใช่เป็นการได้ภาระจำยอมโดยอายุความอันเป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 แม้โจทก์ใช้ที่ดินพิพาทไม่ถึงสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ก็ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621/2559  จำเลยซื้อที่ดินจากโจทก์ทั้งสาม โดยทำข้อตกลงว่ากรณีจำเลยสามารถหาทางออกสู่ถนนสาธารณะได้ จำเลยจะให้ทางออกแก่ที่ดินอีกแปลงหนึ่งของโจทก์ทั้งสาม เฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม 3 ครอบครัว เป็นทางกว้าง 3 เมตร ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาไม่ใช่เป็นแต่เพียงความยินยอม จำเลยจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงนั้น ข้อความดังกล่าวแสดงชัดว่าจำเลยสัญญาจะให้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม แม้จะมีข้อความต่อไปว่า เฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม 3 ครอบครัว ก็เป็นเพียงข้อจำกัดในการใช้ภาระจำยอมว่าให้แก่โจทก์ทั้งสามเท่านั้นที่จะใช้ภาระจำยอมได้ ส่วนข้อความว่าหากโจทก์คนใดคนหนึ่งขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลอื่นนอกครอบครัว ยินยอมให้จำเลยปิดทางออกได้ ก็เป็นเพียงข้อกำหนดเป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่ายเท่านั้นซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ทำได้ ต่อมาเมื่อจำเลยนำที่ดินที่ซื้อจากโจทก์ทั้งสามไปจัดสรรและทำทางพิพาทออกสู่ถนนสาธารณะ ดังนั้น ทางพิพาทจึงเป็นภาระจำยอมที่โจทก์ทั้งสามได้มาโดยนิติกรรม การที่จำเลยทำกำแพงปิดกั้นทางพิพาทจึงเป็นการผิดสัญญาและเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390 โจทก์ทั้งสามขอให้รื้อกำแพงได้
          จำเลยร่วมที่ 1 ซื้อที่ดินซึ่งมีกำแพงและทางพิพาทบางส่วนต่อจากจำเลย โดยทำบันทึกข้อตกลงว่า ผู้จะซื้อได้รับทราบแล้วตั้งแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินว่าผู้ซื้อจะต้องยินยอมให้โจทก์ทั้งสามและบริวารผ่านเข้าออกที่ดินที่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้ หรือจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อผู้จะขายแจ้งให้ทราบ แสดงว่าจำเลยร่วมที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าที่ดินนั้นตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ถือว่าจำเลยร่วมที่ 1 รับโอนที่ดินซึ่งเป็นภารยทรัพย์มาโดยไม่สุจริต จำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสามเพื่อให้ภาระจำยอมสิ้นไปได้ นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 จึงมีหน้าที่รื้อกำแพงที่ปิดกั้นทางพิพาทออกไป
          จำเลยร่วมที่ 2 เป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้รับโอนทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณูปโภคซึ่งรวมทั้งทางพิพาทด้วยจากจำเลยผู้จัดสรรที่ดินมาบำรุงรักษาเท่านั้น ไม่ถือเป็นบุคคลภายนอก จำเลยร่วมที่ 2 จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ทั้งสาม และโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องให้จำเลยร่วมที่ 2 จดทะเบียนภาระจำยอมได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 วรรคหนึ่ง
          จำเลยโอนที่ดินภารยทรัพย์ทางพิพาทแก่จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ไปแล้ว จำเลยไม่ใช่เจ้าของภารยทรัพย์อีกต่อไป สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้โจทก์ทั้งสามบังคับจำเลยให้จดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ แต่หากจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามได้ จำเลยย่อมตกเป็นผู้ผิดสัญญา ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม

          ภาระจำยอมที่เกิดจากอายุความ เกิดโดยทื่ดินแปลงหนึ่งได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินอีกแปลงหนึ่ง โดยสงบ เปิดเผย และด้วยมีเจตนาเป็นเจ้าของสิทธินั้น ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 10 ปี จนได้ภาระจำยอมโดยอายุความ  

          การใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอม ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องคดีนี้ยังไม่ครบ 10 ปี ทางพิพาทจึงยังไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8591/2552  ก่อนหน้าวันที่ 15 พฤศจิกายน 2544 อันเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1129-1130/2544 ที่ดินโฉนดเลขที่ 3437 เดิมซึ่งมีทางพิพาทอยู่บนที่ดิน เป็นที่ดินที่โจทก์กับพวกมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย ดังนั้น การใช้ทางพิพาทในช่วงระยะเวลาดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นการใช้ตามกรรมสิทธิ์ของตนซึ่งไม่ใช่การใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้เป็นทาภาระจำยอม แต่การใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมหากจะเกิดขึ้นก็ต้องเป็นเวลาภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีดังกล่าว ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องคดีนี้ยังไม่ครบ 10 ปี ทางพิพาทจึงยังไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์

          ชักน้ำเข้านาผ่านลำรางพิพาทในที่ดินจำเลยไปยังที่ดินโจทก์ ด้วยความสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมเกินกว่า 10 ปี ที่ดินของจำเลยจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5927/2552  โจทก์ทั้งสี่ใช้ลำรางพิพาทในการชักน้ำเข้านาที่ดินโฉนดเลขที่ 3191 แล้วขุดเป็นบ่ออยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าว จากนั้นโจทก์ทั้งสี่ใช้ระหัดวิดน้ำหรือใช้เครื่องสูบน้ำชักน้ำเข้าไปยังที่ดินแปลงอื่นของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ด้วยความสงบ และเปิดเผย ด้วยเจตนาให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมเกินกว่า 10 ปี แล้ว แม้จะได้ความว่ามีลำรางพิพาทถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 3191 ของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เท่านั้น ส่วนที่ดินแปลงอื่น ๆ ดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีการชักน้ำเข้าไปโดยการใช้ระหัดวิดน้ำหรือเครื่องสูบน้ำจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3191 แต่ก็อยู่ในลักษณะที่ลำรางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสามต้องรับกรรม หรือรับภาระเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 และที่ดินของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ที่อยู่ถัดไปด้วยเช่นกัน เพราะสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ไม่จำเป็นต้องอยู่ติดกัน ถ้าการที่ต้องภาระจำยอมนั้นมีลักษณะเป็นภาระแก่อสังหาริมทรัพย์อื่น จะเป็นแปลงหนึ่งหรือหลายแปลงก็ดี จะมีอสังหาริมทรัพย์อื่นคั่นอยู่ก็ดี ก็ตกเป็นภาระจำยอมได้ ที่ดินของจำเลยทั้งสามจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ทั้งหกแปลงในการใช้ลำรางพิพาทโดยอายุความ

          ภาระจำยอมที่ได้มาโดยผลของกฎหมาย เป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นภาระจำยอม เช่น มาตรา 1312 มาตรา 1339-1343 และ 1352 รวมถึงกรณีกฎหมายตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน เป็นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1613/2562  ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 กำหนดว่า สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้ถือว่าตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรและให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์ในภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวกมิได้ โดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับในขณะจัดสรรที่ดินตามโครงการที่ดินจัดสรรกรีนวัลเล่ โครงการ 1 ถึง 7 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นสาธารณูปโภคซึ่งจำเลยและบริษัท ก. ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต แต่ผู้ร้องสอดเพิ่งจัดให้ที่ดินพิพาทใช้เป็นที่จอดรถ ที่กลับรถ และสวนหย่อมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรภายหลังจากที่ดินจัดสรรด้านหน้าโครงการถูกเวนคืนแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าเจ้าของที่ดินพิพาทจะยินยอมให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรใช้ประโยชน์หรือไม่ก็ตาม เมื่อที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นสาธารณูปโภคที่อยู่ในแผนผังและโครงการที่ดินจัดสรร ที่ดินพิพาทจึงไม่ตกเป็นภาระจำยอมโดยผลของกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรในโครงการที่ดินจัดสรรกรีนวัลเล่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ร้องสอดให้รื้อถอนกำแพงพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารจอดรถในที่ดินพิพาท ห้ามยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท และเรียกค่าเสียหายได้ ส่วนจำเลยไม่ได้เป็นผู้ก่อสร้างรั้วกำแพงและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 819/2562  ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นถนนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ผู้จัดสรรได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินเพื่อประโยชน์ให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในที่ดินที่จัดสรรโดยเฉพาะ มิได้มุ่งหมายให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ถนนร่วมกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรที่ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรร ภาระจำยอมดังกล่าวเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง พันเอก ว. เจ้าของกรรมสิทธิ์มีสิทธิในการใช้สิทธิเหนือที่ดินพิพาทที่เป็นภาระจำยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามจำหน่ายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณูปโภค เพียงแต่ต้องยอมรับกรรมบางอย่าง ซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งหก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวกมิได้เท่านั้น ภาระจำยอมเป็นทรัพยสิทธิย่อมตกติดไปกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ แม้ต่อมา พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แต่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 ยังคงมีบทบัญญัติกำหนดให้สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ และมาตรา 70 วรรคสาม บัญญัติว่า "การพ้นจากความรับผิดชอบในการบํารุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้รับโอนใบอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 หรือผู้รับโอน กรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค ให้นํามาตรา 44 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" โดยมาตรา 44 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่บํารุงรักษาสาธารณูปโภค ตามมาตรา 43 เมื่อได้ดําเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ภายหลังจากครบกําหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบ การบํารุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 23 (5) แล้วตามลําดับ ดังต่อไปนี้...(2) ผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้...ดําเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์" ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองว่า ผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์มีสิทธิที่จะจดทะเบียนโอนถนนให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้พ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาถนนอันเป็นสาธารณูปโภคเช่นเดียวกัน การที่ พ. ผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทโดยธรรมของพันเอก ว. โดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทายาทโดยธรรมผู้รับโอนมรดกที่ดินพิพาทต้องการจะพ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาที่ดินพิพาทย่อมมีอำนาจที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 6 เพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ และเพื่อให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ผู้จัดสรร รวมทั้ง พ. และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์พ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคสอง และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 70 วรรคสาม ประกอบมาตรา 44 (2) จึงไม่ใช่การกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ไม่ใช่การกระทำโดยไม่สุจริต ไม่ใช่การกระทำที่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งหก และไม่เป็นการกระทำอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวก โจทก์ทั้งหกไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้

การสิ้นไปแห่งภาระจำยอม
1. ถ้า ภารยทรัพย์ หรือ สามยทรัพย์ สลายไปทั้งหมดเท่ากับภาระจำยอมจะสิ้นไปโดยอัตโนมัติ
2. เมื่อภารยทรัพย์ และ สามยทรัพย์ ตกเป็นเจ้าของคนเดียวกัน เจ้าของสามารถขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมได้
3. ภาระจำยอมไม่ได้ใช้ 10 ปี ติดต่อกัน ภาระจำยอมย่อมหมดสิ้นไป
4. ภาระจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์
5. เมื่อภาระจำยอมนั้นยังประโยชน์ให้แก่สามยทรัพย์นั้นน้อยมาก เจ้าของภารยทรัพย์ขอให้พ้นจากภาระจำยอมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ แต่ต้องใช้ค่าทดแทน 

โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2532 ถึงปี 2544 โดยมิได้ขออนุญาตจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน แม้จะเข้าใจผิดว่าทางพิพาทอยู่ในที่ดินของโจทก์เอง ก็ถือว่าโจทก์มีเจตนาถือเอาทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทาง สาธารณะ เมื่อใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยมาครบสิบปี ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5886/2552 โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2532 ถึงปี 2544 โดยมิได้ขออนุญาตจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน แม้การใช้ทางพิพาทของโจทก์ตั้งแต่ปี 2532 ถึงปี 2537 จะใช้โดยเข้าใจผิดว่าทางพิพาทอยู่ในที่ดินของโจทก์เอง ก็ถือว่าโจทก์มีเจตนาถือเอาทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทาง สาธารณะตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมาแล้ว หาใช่โจทก์เพิ่งใช้เป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์ในปี 2537 ไม่ เมื่อโจทก์ใช้ทางพิพาทต่อมาจนครบสิบปีก็ถือว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้ได้ภาระจำยอมแล้ว และเมื่อปรากฏว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผย ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์

จำเลยทั้งสองตกลงยินยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้อย่างเป็นทางภาระจำยอม แม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ระหว่างคู่กรณียังคงบังคับกันได้ในฐานะบุคคลสิทธิ จำเลยทั้งสองจึงต้องเปิดทางภาระจำยอมและจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3498/2551  จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชักชวนให้โจทก์ซื้อที่ดินจาก ป. โดยจำเลยทั้งสองตกลงยินยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้อย่างเป็นทางภาระจำยอม แม้ข้อตกลงจะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเพียงทำให้การได้มาไม่บริบูรณ์และไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกได้เท่านั้น แต่ระหว่างคู่กรณียังคงบังคับกันได้ในฐานะบุคคลสิทธิ จำเลยทั้งสองจึงต้องเปิดทางภาระจำยอมและจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์

มีข้อตกลงกันว่าต่างฝ่ายต่างยอมให้อาศัยใช้ทางพิพาทออกสู่ถนนคลองชลประทานได้ เป็นการเอื้อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ทางพิพาทจึงไม่เป็นทางภาระจำยอมระหว่างโจทก์จำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8391/2549  โจทก์ยอมรับว่ามีข้อตกลงกับจำเลยว่าต่างฝ่ายต่างยอมให้อาศัยใช้ทางพิพาทออกสู่ถนนคลองชลประทานได้ เป็นการเอื้อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ทางพิพาทจึงไม่เป็นทางภาระจำยอมระหว่างโจทก์จำเลย เพราะต่างคนต่างยอมให้ผ่าน ในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย เป็นการยอมให้ผ่านทางพิพาทโดยถือวิสาสะซึ่งกันและกันนั่นเอง
ที่ดิน โฉนดเลขที่ 15673 ของโจทก์ไม่ได้ถูกปิดล้อมโดยที่ดินโฉนดเลขที่ 15671 ของจำเลย แต่ถูกปิดล้อมโดยที่ดินโฉนดเลขที่ 15672 ของ ว. เพราะที่ดินตามโฉนดเลขที่ 15673 ของโจทก์จะผ่านไปสู่ถนนคลองชลประทานระยะทางที่ใกล้ที่สุดก็คือผ่านที่ดิน โฉนดเลขที่ 15672 ของ ว. ดังนั้นทางพิพาทช่วงระยะที่ดินของจำเลยตามโฉนดเลขที่ 15671 จึงไม่เป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินของโจทก์ ตามโฉนดเลขที่ 15673          

          การใช้ทางพิพาทโดยการใช้สิทธิของผู้เช่านั้นหาใช่เป็นการใช้ด้วยเจตนาให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมไม่

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3635/2554  โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินพร้อมตึกแถว ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของทางพิพาทซึ่งมีสภาพเป็นถนนผ่านหน้าที่ดินโจทก์ทั้งสอง แม้จำเลยจะเบิกความรับว่า ว. เจ้าของที่ดินและตึกแถวเดิมได้ก่อสร้างถนนหรือทางพิพาทไว้เพื่อให้ผู้มาเช่าเซ้งตึกแถวใช้เป็นทางเข้าออก ซึ่งถ้าหากนับถึงขณะที่โจทก์ทั้งสองได้ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวเป็นเวลาเกิน 10 ปี ก็ตาม แต่การใช้สิทธิของผู้เช่านั้นหาใช่เป็นการใช้ด้วยเจตนาให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมไม่ อีกทั้งโจทก์ทั้งสองไม่ได้นำหรืออ้าง อ. ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวก่อนโจทก์ทั้งสองมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลว่าได้ใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้ได้มาซึ่งภาระจำยอมหรือไม่เช่นกัน พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าทางพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินทั้งเจ็ดแปลงของโจทก์ทั้งสอง
          เดิมจำเลยก่อสร้างกำแพงสูงปิดกั้นทางพิพาทถัดแนวเขตที่ดินกับแนวถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินเข้าไปประมาณ 16 เมตร ซึ่ง ก. ผู้เช่าตึกแถวจาก ว. ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ว. เป็นจำเลยที่ 1 และจำเลยเป็นจำเลยที่ 2 ให้รื้อถอนกำแพงดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกำแพง สิ่งปลูกสร้างออกจากทางพิพาท ต่อมาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ว. เจ้าของเดิมก่อสร้างทางพิพาทไว้สำหรับให้ผู้ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวใช้เป็นทางสัญจรเข้าออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ การที่จำเลยซื้อทางพิพาทจาก ว. และได้ก่ออิฐเป็นกำแพงปิดกั้นทางพิพาทบริเวณปากทางออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริตมุ่งแต่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว โดยรู้อยู่แล้วว่าต้องเกิดความเสียหายแก่ผู้ซื้อหรือผู้เช่าตึกแถวจาก ว. ที่ไม่สามารถใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะด้านถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้โดยปกติสุข การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อ ก. โจทก์ในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นผู้เช่ารายหนึ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยยอมให้ อ. ผู้เช่าทำประตูเหล็กและคานเหล็กปิดกั้นทางพิพาทก็ดี จำเลยนำท่อระบายน้ำไปวางไว้บนทางพิพาทก็ดี ล้วนเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพร้อมตึกแถวติดทางพิพาทไม่สามารถใช้ทางพิพาทออกสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง