3 เม.ย. 2567

ฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น

          ประมวลกฎหมายอาญา

          มาตรา 342  "ถ้าในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ
          (1) แสดงตนเป็นคนอื่น ....
          ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"


          มาตรา 341  "ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          การแสดงตนเป็นคนอื่นตามมาตรา 342 (1) นั้น ต้องเป็นที่เข้าใจว่าหมายถึงคนอีกคนหนึ่ง ไม่ใช่เป็นการหลอกลวงให้ผู้อื่นเข้าใจผิดในเรื่องฐานะของตนผิดไปเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 122/2506 (ประชุมใหญ่)  จำเลยไม่ได้แสดงตนเป็นคนอื่น  แต่เป็นเพียงแสดงฐานะของตนเองเป็นเท็จเท่านั้น  ย่อมไม่ผิดฐานแสดงตนเป็นคนอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 (1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1784/2493 (ประชุมใหญ่)  คำว่า "ปลอมตัวเป็นคนอื่น" ตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 306(1) นั้น มุ่งหมายถึงการแสดงตัวให้เขาหลงเชื่อว่าเป็นคนอื่น ซึ่งไม่ใช่ตัวของตัวเอง
          จำเลยใช้ถ้อยคำหลอกลวงให้เขาหลงเชื่อว่าจำเลยเป็นนายร้อยตำรวจโทประจำกองสอบสวนกลางปทุมวัน (ระบุชื่อ) เมื่อความจริงจำเลยมิใช่เป็นนายร้อยตำรวจประจำกองสอบสวนกลางแล้ว แม้จะไม่ปรากฎว่ามีนายร้อยตำรวจโทชื่อนั้นในกองสอบสวนกลางหรือไม่, ก็ถือว่าเป็นการปลอมตัวตามความหมายในมาตรา 342 (1) แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2507   เมื่อการที่จำเลยลงลายมือชื่อปลอมลงในตั๋วแลกเงินธนาคารออมสินนั้น เป็นการกระทำส่วนหนึ่งที่ต้องทำลงในเอกสารดังกล่าว เพื่อให้เอกสารนั้นสมบูรณ์ครบถ้วน เพื่อที่เจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินจะจ่ายเงินให้  และก็ทำให้เจ้าหน้าที่หลงเชื่อว่าเป็นผู้ทรงที่แท้จริงจึงได้จ่ายเงินให้จำเลยรับไป ดังนี้ ย่อมเป็นไปโดยประการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้มีสิทธิรับเงินที่แท้จริงและแก่ธนาคารออมสิน การกระทำของจำเลยเป็นผิดตามมาตรา 266 (4) แต่การลงลายมือชื่อปลอมก็เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน คือ เงิน อันเป็นการกระทำส่วนหนึ่งในกรรมที่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 342(1) การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20/2546   การที่จำเลยนำ น.ส.3 ก. ที่ระบุชื่อ ส. และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของ ส. ซึ่งเลอะเลือนมองเห็นไม่ชัดเจนมาแสดงต่อผู้เสียหายเพื่อขอกู้ยืมเงิน ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าจำเลยคือ ส. เจ้าของที่ดินตาม น.ส.3 ก. ที่แท้จริง จึงตกลงให้จำเลยกู้ยืมเงินไปนั้น เป็นความผิดฐานฉ้อโกงผู้อื่นโดยการแสดงตนเป็นคนอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342(1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10552/2553  จำเลยหลอกลวงด้วยการทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นบุคคลเดียวกับ ป. ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินที่จำเลยนำมาเป็นหลักประกันในการกู้เงินจากผู้เสียหายที่ 2 จากการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ได้ไปซึ่งเงินจากผู้เสียหายที่ 2 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง