คำว่า “บุคคลสิทธิ” และ “ทรัพยสิทธิ” นั้นเป็นคำที่ใช้ในภาษากฎหมาย คำว่า “ทรัพยสิทธิ”
มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1298 ว่า
“ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น
ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น”
แต่คำว่า “บุคคลสิทธิ” ไม่มีกฎหมายได้บัญญัติไว้
คำพิพากษาฎีกาที่ 695/2508 วินิจฉัยกล่าวถึงบุคคลสิทธิ และทรัพยสิทธิว่า
“จำเลยเสียเงินช่วยค่าก่อสร้างห้องที่เช่าให้แก่ผู้ให้เช่าคนเดิม
และเสียเงินค่าต่อเติมอีก
สัญญาต่างตอบแทนระหว่างจำเลยกับผู้ให้เช่าคนเดิมเป็นบุคคลสิทธิ
ซึ่งมีผลผูกพันระหว่างคู่สัญญา มิใช่ทรัพยสิทธิ
ย่อมไม่มีผลตกติดไปกับทรัพย์ของคู่สัญญา ซึ่งโอนไปยังบุคคลอืน
จะบังคับให้โจทก์ทำสัญญาและจดทะเบียนให้จำเลยเช่าไม่ได้”
ความหมายของคำว่า "บุคคลสิทธิ" และ "ทรัพยสิทธิ"
บุคคลสิทธิ หมายถึง
สิทธิที่มีอยู่เหนือบุคคลในอันที่จะบังคับบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญาหรือเป็นลูกหนี้ให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือให้งดเว้นมิให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือให้ส่งมอบทรัพย์ให้ เช่น
สิทธิของเจ้าหนี้ตามสัญญากู้ซึ่งสามารถบังคับให้ลูกหนี้ชำระเงินตามสัญญากู้
ได้ สิทธิตามสัญญาเช่า
ซึ่งผู้ให้เช่ามีสิทธิบังคับผู้เช่าให้ชำระค่าาตามสัญญาเช่าได้
และผู้เช่าก็มีสิทธิบังคับผู้ให้เช่าให้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าได้
หรือสิทธิตามสัญญาจ้างทำของซึ่งผู้ว่าจ้างมีสิทธิบังคับให้ผู้รับจ้างทำการ
ใด ๆ ตามสัญญาจ้างทำของได้
และผู้รับจ้างก็มีสิทธิบังคับให้ผู้ว่าจ้างชำระค่าจ้างได้
หรือสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในทางละเมิด
ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิบังคับผู้ทำละเมิดให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตนได้
เป็นต้น
บุคคลสิทธินี้เป็นสิทธิที่จะบังคับเอาแก่คู่สัญญาผู้สืบสิทธิของคู่สัญญา
หรือ ลูกหนี้เท่านั้น จะใช้บังคับหรือใช้ยันต่อบุคคลอื่นทั่วไปมิได้เลย
และหากคู่สัญญาผู้สืบสิทธิของคู่สัญญา หรือลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามสิทธินั้น ๆ
ผู้ที่มีสิทธิความสัญญาหรือเจ้าหนี้ต้องฟ้องร้องบังคับคดียังโรงศาล
จะบังคับกันเองมิได้ บุคคลสิทธินี้อาจเกิดขึ้นได้โดยนิติกรรม เช่น สัญญา
หรือนิติเหตุ เช่นละเมิดก็ได้
ทรัพยสิทธิ หมายถึง สิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สิน
หรือเป็นสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินโดยตรง เช่น
กรรมสิทธิ์เป็นทรัพยสิทธิที่ทำให้ผู้เป็นเจ้าของทรัพยสิทธิสามารถใช้สอย
จำหน่ายทรัพย์สิน
ติดตามเอาทรัพย์สินนั้นคืนจากผู้ที่ไม่มีอำนาจยึดถือไว้ได้
ทรัพยสิทธิเป็นสิทธิที่ใช้ยันแก่บุคคลได้ทั่วไป
หรือใช้ยันแก่บุคคลได้ทั่วโลก เช่น
เรามีกรรมสิทธิ์ในนาฬิกาของเราซึ่งเป็นทรัพยสิทธิ
แม้ว่าเราจะนำนาฬิกานั้นไปต่างประเทศแห่งใด
เราก็ยังมีกรรมสิทธิ์ในนาฬิกาของเราอยู่ ผู้ใดมาเอาไปโดยไม่มีสิทธิ
เราย่อมติดตามเอาคืนได้เสมอ ทรัพยสิทธินอกจากตัวอย่าง เช่น
กรรมสิทธิ์แล้วยังมีสิทธิครอบครอง สิทธิจำนำ สิทธิจำนอง สิทธิยึดหน่วง
ลิขสิทธิ์ สิทธิในเครื่องหมายการค้า ภารจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน
สิทธิเหนือพื้นดิน และภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์เป็นต้น
เนื่องจากทรัพยสิทธิเป็นสิทธิที่ใช้ยันต่อบุคคลใด ๆ ได้ทั่วไป
ทรัพยสิทธิจึงจะก่อตั้งขึ้นได้ก็โดยอาศัยอำนาจของกฎหมาย
เพื่อที่จะให้บุคคลทั้งหลายทั่วไปได้รับรู้
เพราะมีหลักอยู่ว่าบุคคลจะอ้างความไม่รู้กฎหมายมาเป็นข้อแก้ตัวมิได้ เช่น
สิทธิอาศัยจะก่อตั้งขึ้นได้ก็เฉพาะในโรงเรือนเท่านั้น
ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1402
จะตกลงให้มีสิทธิอาศัยในที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นมิได้
ความแตกต่างของบุคคลสิทธิ และทรัพยสิทธิ
1. บุคคลสิทธิ เป็นสิทธิระหว่างคู่สัญญา ผู้สืบสิทธิของคู่สัญญา
หรือเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ในอันที่จะบังคับให้คู่สัญญา
ผู้สืบสิทธิของคู่สัญญา หรือลูกหนี้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ
หรือส่งมอบทรัพย์ตามสัญญา หรือตามมูลหนี้
สิทธิเช่นนี้เป็นสิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่ง
ทรัพยสิทธิ เป็นสิทธิที่ใช้บังคับเอาจากทรัพย์สิน(สิทธิเหนือทรัพย์สิน)
โดยไม่คำนึงถึงตัวบุคคลว่าจะเป็นคู่สัญญาผู้สืบสิทธิของคู่สัญญา
หรือลูกหนี้ของผู้ทรงทรัพยสิทธิหรือไม่ เช่น สิทธิจำนองเป็นทรัพยสิทธิ
ฉะนั้นผู้จำนองจึงมีสิทธิบังคับจำนองเอาจากตัวทรัพย์จำนองได้เสมอ
ไม่ว่าทรัพย์จำนองจะโอนไปเป็นของผู้ใดทั้งๆที่ผู้นั้นมิได้เป็นผู้จำนองทรัพย์นั้นต่อผู้รับจำนองเลยก็ตาม
(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702)
2. บุคคลสิทธิ เกิดขึ้นได้โดยนิติกรรม เช่น ทำสัญญาจะซื้อขาย
ทำสัญญาเช่าทรัพย์ ทำสัญญาจ้างแรงงาน หรือจ้างทำของเป็นต้น
สิทธิที่จะบังคับคู่สัญญาหรือผู้สืบสิทธิของคู่สัญญาให้ปฏิบัติตามสัญญานั้นๆ คือ บุคคลสิทธิ นอกจากนี้บุคคลสิทธิยังเกิดจากนิติเหตุได้ เช่น
เมื่อมีการทำละเมิดนั้น
ผู้เสียหายย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิด
สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนี้ก็เป็นบุคคลสิทธิ
ทรัพยสิทธิ เกิดขึ้นได้โดยอาศัยอำนาจของกฎหมายเท่านั้น กล่าวคือ
ถ้าไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจในการก่อตั้งไว้แล้ว
ผู้หนึ่งผู้ใดจะคิดค้นก่อตั้งทรัพยสิทธิขึ้นมาเองมิได้
ทรัพยสิทธิที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้อำนาจก่อตั้งได้ เช่น
กรรมสิทธิ์ สิทธิอาศัย การจำยอม สิทธิครอบครอง สิทธิเก็บกิน
สิทธิเหนือพื้นดิน ภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์ บุริมสิทธิ
สิทธิยึดหน่วงจำนอง และจำนำเป็นต้น ส่วนทรัพยสิทธิตามกฎหมายอื่น เช่น
ลิขสิทธิเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม
สิทธิในเครื่องหมายการค้าเกิดขึ้นตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า
3. บุคคลสิทธิ
ก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจงเท่านั้น เช่น
ในกรณีสัญญาก็คือคู่สัญญา หรือผู้สืบสิทธิของคู่สัญญา ในอันที่จะกระทำการ
งดเว้นกระทำการ หรือส่งมอบทรัพย์ตามสัญญา ในกรณีละเมิดก็คือผู้ทำละเมิด
หรือผู้อื่นที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดร่วมกับผู้ทำละเมิดด้วยเท่านั้น
เช่น นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
425 ตัวการต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนตามมาตรา 427
ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดในการทำละเมิดของผู้รับจ้างตามมาตรา 428 ครูอาจารย์
นายจ้าง ผู้รับดูแลผู้ไร้ความสามารถ
ต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถตามมาตรา 430 เป็นต้น
ทรัพยสิทธิ ก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลทั่วไปกล่าวคือบุคคลใด ๆ
ก็ตามจะต้องรับรู้ในทรัพยสิทธิของเจ้าของทรัพยสิทธิ
จะต้องไม่เกี่ยวข้องขัดขวางการใช้ทรัพยสิทธินั้น เช่น ก.
มีการจำยอมในอันที่จะเดินผ่านที่ดินของ ข. เป็นเวลา 10 ปี ก่อนครบ 10 ปี ข.
ขายที่ดินนั้นให้ ค. ค. ก็จำต้องยอมให้ ก.
มีสิทธิเดินผ่านที่ดินนั้นได้ต่อไปจนกว่าจะครบ 10 ปี ค.
จะอ้างว่าภารจำยอมมีอยู่ระหว่าง ก. และ ข. เท่านั้น
ตนมิได้ยินยอมรู้เห็นด้วยมิได้
4. บุคคลสิทธิ เป็นสิทธิที่ไม่คงทนถาวร มีระยะเวลาจำกัดในการใช้
หากไม่ใช้เสียภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ บุคคลสิทธินั้นย่อมสิ้นไป
ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้นี้เรียกว่า อายุความ
ทั้งนี้จะเห็นได้จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 163 ซึ่งบัญญัติว่า
“อันสิทธิเรียกร้องอย่างใด ๆ
ถ้ามิได้ใช้บังคับเสียภายในระยะเวลาอันกฎหมายกำหนดไว้
ท่านว่าตกเป็นอันขาดอายุความ ห้ามมิให้ฟ้องร้อง”
อายุความที่ยาวที่สุดที่กฎหมายอนุญาตไว้มีกำหนด 10 ปี
ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 164
ทรัพยสิทธิ เป็นสิทธิที่คงทนถาวร
หม้จะไม่ใช้ทรัพยสิทธิช้านานเพียงใด ทรัพยสิทธิก็หาระงับสิ้นไปไม่ เช่น
กรรมสิทธิ์
แม้ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์จะมิได้ใช้สอยทรัพย์นั้นช้านานเท่าใดก็ตาม
กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นก็ยังมีอยู่ ทรัพย์นั้นยังเป็นของเจ้าของอยู่เสมอ
เว้นเสียแต่จะปล่อยให้บุคคลอื่นครอบครองปรปักษ์ทรัพย์นั้นจนครบระยะเวลาตาม
ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1382 หรือ มาตรา 1383
บุคคลอื่นย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นไป
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่บุคคลอื่นได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ตามวิธีการที่กฎหมาย
บัญญัติไว้ หาใช่กรรมสิทธิ์ระงับไปเพราะการไม่ใช้ไม่
เพราะเพียงแต่ไม่ใช้กรรมสิทธิ์โดยไม่มีผู้ใดเข้ามาเกี่ยวข้องโดยการครอบครอง
ปรปักษ์แล้ว ไม่มีทางที่กรรมสิทธิ์จะระงับไปได้เลย
มีข้อยกเว้นสำหรับทรัพยสิทธิอยู่ 2 ประเภท คือ
ภารจำยอมและภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น
ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1399 และ มาตรา 1434 บัญญัติว่า
ถ้าไม่ใช้ 10 ปี ย่อมสิ้นไป การสิ้นไปของทรัพยสิทธิ 2
ประเภทนี้ถือว่าเป็นกรณีพิเศษนอกเหนือไปจากหลักทั่วไป
บุคคลสิทธิใช้บังคับได้เฉพาะคู่สัญญา
ผู้สืบสิทธิของคู่สัญญาหรือลูกหนี้เท่านั้น
คู่สัญญานั้นรวมถึงตัวการซึ่งมอบให้ตัวแทนเข้าทำนิติกรรมแทนตนด้วย
ทั้งนี้เพราะตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลาย
อันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจของตัวแทน
ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820
ส่วนผู้สืบสิทธิของคู่สัญญานั้นได้แก่ทายาทของคู่สัญญา
ไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรม หรือผู้รับพินัยกรรมก็ตาม ทั้งนี้เพราะมาตรา 1600
บัญญัติว่า “ฯลฯ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย
ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว
เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้” และ มาตรา 1603 บัญญัติว่า
“กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม ฯลฯ”
นอกจากนี้หากมีกฎหมายบัญญัติให้บุคคลใดซึ่งได้รับโอนทรัพย์สิน
ต้องรับสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนไปด้วย
ก็ถือว่าผู้รับโอนทรัพย์สินนั้นเป็นผู้สืบสิทธิของผู้โอนทรัพย์ด้วย เช่น
ผู้รับโอนทรัพย์สินหรือรับโอนสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ขายฝากตามมาตรา 498
และผู้ที่รับโอนทรัพย์สินที่เช่าย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอน
ซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 569 เป็นต้น
การได้ทรัพยสิทธิในทรัพย์สินนั้น มีทางได้มา 2 ประการด้วยกันคือ
ได้มาโดยนิติกรรมประการหนึ่ง
และได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมอีกประการหนึ่ง
สำหรับการได้ทรัพยสิทธิไม่ว่าจะโดยนิติกรรมหรือโดยทางอื่น นอกจากนิติกรรม
ทรัพยสิทธินั้นจะต้องเป็นทรัพยสิทธิที่กฎหมายอนุญาตให้ก่อตั้งได้ดังที่
บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1298 เช่น กรรมสิทธิ์ จำนำ
จำนอง ภารจำยอมเป็นต้น
ฉะนั้นการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจึงอาจทำได้โดยนิติกรรม เช่น ซื้อ
แลกเปลี่ยน หรือรับให้
หรืออาจได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมเช่นครอบครองปกปักษ์ เป็นต้น
การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิโดยนิติกรรมก็ดี
หรือโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมก็ดี
จะสมบูรณ์เพียงใดแค่ไหนย่อมแล้วแต่บทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องนั้นๆ
บัญญัติไว้โดยเฉพาะ เช่น การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 มิฉะนั้นเป็นโมฆะ
การจำนองก็ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 714
มิฉะนั้นก็เป็นโมฆะ
นอกจากนี้การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่บริบูรณ์ ตามที่บัญญัติไว้ในวรรคแรกของมาตรา 1299
และการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม
ถ้ายังมิได้จดทะเบียน จะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนมิได้
และจดยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน
และโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วมิได้
ทั้งนี้ดังที่บัญญัติไว้ในวรรคท้ายของมาตรา 1299
การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น
มีความหมายกว้างขวางไม่ว่าจะได้มาโดยการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้หรือจำนอง
ก็อยู่ในความหมายของคำว่า “ได้มา” แต่ “การได้มา” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา
1299 วรรคแรกนั้น จะนำไปใช้กับการได้มาโดยการซื้อขาย แลกเปลี่ยน
ให้หรือจำนอง หรือนิติกรรมอย่างอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษมิได้
เพราะ มาตรา 1299 วรรคแรกบัญญัติว่า
“ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่น
ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับ
อสังหาริมทรัพย์นั้นไม่สมบูรณ์
เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่” ซึ่งแสดงว่าวรรคแรกของมาตรา 1299
นี้นำไปใช้เฉพาะกับการได้มาโดยนิติกรรม
ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
นอกเหนือไปจากที่มีบัญญัติไว้ในลักษณะอื่นแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
หรือที่มีบัญญัติไว้เป็นพิเศษในกฎหมายอื่นๆเท่านั้น กล่าวโดยสรุปก็คือ
มาตรา 1299 วรรคแรก ส่วนใหญ่จะใช้กับการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิต่างๆ ในบรรพ 4
ตั้งแต่การจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน
ภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์
และการยกอสังหาริมทรัพย์ตีใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่เท่านั้น
เพราะการได้ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรมดังกล่าวข้างต้น มิได้มีบัญญัติเป็นอย่างอื่นไว้ในประมวลกฎหมายอื่น
การได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมนั้น ตามแนวคำพิพากษาฎีกาพอจะแบ่งได้เป็น 3 ประการ คือ
1. เป็นการได้มาโดยผลแห่งกฎหมาย หรือโดยกฎหมายบัญญัติไว้ เช่น
การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
1382 (คำพิพากษาฎีกาที่ 513/2518 วินิจฉัยว่า
การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองตามมาตรา 1382
ย่อมเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมอย่างหนึ่งที่
มาตรา 1299 วรรค 2 มุ่งหมายถึง) หรือการได้ภารจำยอมโดยอายุความตามมาตรา
1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 (คำพิพากษาฎีกาที่ 237/2508 วินิจฉัยว่า
โจทก์ใช้ตรอกพิพาทเป็นทางเดินเข้าออกจากที่ดินโจทก์สู่ทางสาธารณะมากกว่า 10
ปี ตรอกพิพาทจึงตกอยู่ในการจำยอมโดยอายุความตามมาตรา 1401
และมิใช่เป็นการได้มาโดยนิติกรรมอันจะต้องจดทะเบียนตามมาตรา 1299)
2. เป็นการได้มาโดยการรับมรดก (คำพิพากษาฎีกาที่ 1619/2506
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599
ทายาทย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกตั้งแต่เจ้ามรดกตาย
แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธินั้นตามมาตรา 1299 ก็ตาม)
ผู้เขียนมีความเห็นเป็นส่วนตัวว่า
การรับมรดกไม่ว่าจะเป็นในฐานะทายาทโดยธรรม หรือเป็นผู้รับพินัยกรรมก็ตาม
ก็น่าจะถือว่าเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมทั้งสิ้น แม้ว่าจะมี
คำพิพากษาฎีกาที่ 1840/2514 วินิจฉัยว่า
การได้มาซึ่งสิทธิอาศัยโดยพินัยกรรมถือเป็นการได้มาโดยนิติกรรมตามมาตรา
1299 วรรคค้นก็ตาม ทั้งนี้ เพราะนอกจากจะมี คำพิพากษาฎีกาที่ 1812/2506
ซึ่งวินิจฉัยว่า “เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย
ที่ดินที่ระบุไว้ในพินัยกรรมย่อมตกได้แก่ผู้รับพินัยกรรมทันทีตามมาตรา 1673
โดยมิต้องทำการรับมรดกและเข้าครอบครองที่ดินนั้น”
แล้วการรับทรัพย์สินตามพินัยกรรมก็ยังเป็นการได้ทรัพย์สินต่อเมื่อมีความตาย
ของผู้ทำพินัยกรรมเกิดขึ้น เพราะกฎหมายบัญญัติไว้ให้มีผลเช่นนั้น (มาตรา
1673) จึงน่าจะถือว่าเป็นการได้มาโดยผลแห่งกฎหมาย
แม้ว่าผลนั้นจะเริ่มมาจากพินัยกรรมซึ่งเป็นนิติกรรมก็ตาม
แต่นิติกรรมนั้นก็ไม่สามารถจะกำหนดผลของนิติกรรมเองได้ นอกเสียจากที่มาตรา
1673 กำหนดไว้ จึงจะอ้างว่าผลของพินัยกรรมเป็นผลของนิติกรรมย่อมไม่ถนัด
3. เป็นการได้มาโดยคำพิพากษาของศาล (คำพิพากษาฎีกาที่ 352/2488
วินิจฉัยว่า
คำพิพากษาของศาลซึ่งแสดงหรือให้บุคคลได้สิทธิหรือมีสิทธิอย่างใดนั้น
บุคคลนั้นย่อมได้สิทธิ หรือมีสิทธิตามคำพิพากษาโดยสมบูรณ์
แม้จะเป็นพวกอสังหาริมทรัพย์ ก็ไม่จำต้องขอให้จดทะเบียนเสียก่อน)
การได้มาโดยคำพิพากษาของศาลที่จะถือเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม
นั้น น่าจะต้องมิใช่คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
เพราะคำพิพากษาเช่นว่านี้
ย่อมเป็นคำพิพากษาที่ตัดสินไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นนิติกรรม
การได้ทรัพยสิทธิตามคำพิพากษาดังกล่าว
แท้ที่จริงแล้วจึงเป็นการได้ทรัพยสิทธิโดยนิติกรรม
การได้ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรมตามมาตรา
1299 วรรคแรกนั้น
ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ย่อมไม่บริบูรณ์
กล่าวคือ ไม่สมบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ ใช้ยันต่อบุคคลภายนอกมิได้เลย
โดยไม่ต้องคำนึงว่าบุคคลภายนนอกนั้นสุจริตหรือไม่ หรือเสียค่าตอบแทนหรือไม่
แต่การได้มาโดยนิติกรรมที่ไม่บริบูรณ์นั้นยังมีผลใช้บังคับกันได้ในฐานะเป็น
บุคคลสิทธิ ในระหว่างคู่สัญญาหรือผู้สืบสิทธิของคู่สัญญาอยู่
หาถึงกับเสียเปล่าหรือเป็นโมฆะดังเช่นที่บัญญัติไว้ในเรื่องซื้อขาย
แลกเปลี่ยน หรือให้อสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 456, 519 และ 525 เป็นต้น