27 ก.พ. 2567

การแย่งการครอบครองและการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดิน


          ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์ดีกว่า ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้ ทั้งนี้การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่ถูกแย่งการครอบครอง ตามมาตรา 1375 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          มาตรา 1375  ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้
          การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง

          ผู้ครอบครองอาจถูกแย่งการครอบครองได้ในกรณีดังต่อไปนี้
          ก. ถูกแย่งเอาทรัพย์สินโดยตรง
          ข. กรณีมีผู้ครอบครองแทนผู้อื่น แล้วต่อมาได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าต่อไปจะยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้เพื่อตน จะไม่ครอบครองแทนอีกต่อไป

          สำหรับที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง เช่น ที่ดินที่มีเพียง นส. 3,  นส.3 ก., สค.1  เป็นต้น ผู้ที่จะได้สิทธิในที่ดินประเภทนี้จะต้องเป็นผู้ยึดถือที่ดินนั้นหรือมีผู้ยึดถือแทน หากขาดการยึดถือโดยมีผู้แย่งการครอบครอง ผู้แย่งการครอบครองย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครอง แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้บัญญัติทางแก้ไว้ให้สามารถฟ้องเรียกคืนได้ภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1635/2509  จำเลยที่ 1 - 2 ออกโฉนดทับที่ซึ่งโจทก์ครอบครองอยู่ก่อน การออกโฉนดทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 - 2 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 3 - 4 รับจำนองที่พิพาทโดยไม่สุจริต ต่อมาจำเลยที่ 3 - 4 ฟ้องบังคับจำนองและซื้อที่พิพาทจากการขายทอดตลาดของศาล ย่อมเป็นการซื้อโดยไม่สุจริต ต่อมาจำเลยที่ 3 โอนทะเบียนยกที่พิพาทให้จำเลยที่ 5 - 6 โดยเสน่หา โจทก์ย่อมขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมได้
          การที่จำเลยขอให้ออกและรับโฉนดที่พิพาทโดยโจทก์ไม่รู้ และการที่จำเลยฟ้องขับไล่โจทก์จากที่พิพาท ไม่ใช่การแย่งการครอบครองที่พิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1566 - 1567/2509  การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 นั้น ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง มิใช่นับแต่วันรู้ว่าถูกแย่งการครอบครอง
          ตั้งแต่จำเลยขอรังวัดออกโฉนดทับที่ของโจทก์ และเจ้าพนักงานได้นัดให้เจ้าของที่ข้างเคียงไปคอยระวังเขตทำการรังวัดลงหลักเขตและออกโฉนดให้จำเลยรับไปแล้วจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี ย่อมถือว่าโจทก์ถูกแย่งการครอบครองเกินกว่า 1 ปีแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 318/2522  ที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า โจทก์จำเลยมีที่ดินแนวเขตติดต่อกัน โจทก์ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อนายอำเภอ จำเลยคัดค้านอ้างว่าโจทก์ขอทับที่ดินจำเลย จำเลยเข้าไปเก็บมะพร้าวในที่พิพาทถูกโจทก์ดำเนินคดีอาญาหาว่าบุกรุกที่พิพาท จำเลยต่อสู้ว่าต้นมะพร้าวอยู่ในที่ดินของจำเลย พฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเพียงจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์เท่านั้น จำเลยยังมิได้เข้าไปแย่งการครอบครองที่พิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375

          ที่ดิน ส.ป.ก.ที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น บุคคลที่มิได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่มีสิทธิแย่งการครอบครองผู้ที่ได้รับจัดสรรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 ได้ เพราะเมื่อผู้ได้รับจัดสรรที่ดินละทิ้งการครอบครองไป การครอบครองที่ดินก็กลับตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมใหม่ ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดให้เกษตรกรที่เหมาะสมได้รับต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5172/2560  การซื้อขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า "ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม...ฯลฯ" ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ที่ดินตาม ส.ป.ก. 4 - 01 นั้น จะโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่ตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม การที่โจทก์ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินตาม ส.ป.ก. 4 - 01 ให้แก่จำเลย ถือว่าเป็นการโอนสิทธิในที่ดินเช่นเดียวกัน นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยอ้างไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินจึงไม่มีผลบังคับ ส่วนที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า หลังจากจำเลยซื้อที่ดินพิพาทโจทก์ จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว จึงได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง ซึ่งโจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์ถูกแย่งการครอบครองนั้น ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเกษตรกรรม ฯลฯ ดังนี้ จะเห็นได้ว่า บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินได้ต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน และตามมาตรา 37 ก็ห้ามมิให้ยกอายุความครอบครองขึ้นต่อสู้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเรื่องที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 โดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าว เห็นว่า ในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น บุคคลที่มิได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่มีสิทธิแย่งการครอบครองผู้ที่ได้รับจัดสรรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 ได้ เพราะเมื่อผู้ได้รับจัดสรรที่ดินละทิ้งการครอบครองไป การครอบครองที่ดินก็กลับตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมใหม่ ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดให้เกษตรกรที่เหมาะสมได้รับต่อไป และไม่ปรากฏว่าได้มีการพิจารณาและอนุมัติให้จำเลยได้รับสิทธิในที่ดินพิพาทแต่ประการใด จึงไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปขึ้นมาได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์แบ่งขายที่ดินพิพาทให้จำเลยและได้ส่งมอบการครอบครองให้จำเลยแล้ว ทั้งจำเลยได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามตนเอง การที่โจทก์กลับมาอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01) และมาฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท แม้จำเลยไม่มีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็เป็นกรณีที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป

          ที่ดินที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตาม ป.ที่ดิน มาตรา 14 อนุมัติให้หน่วยงานราชการนำมาจัดให้แก่ประชาชนได้อยู่อาศัยและประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพ เป็นการจัดที่ดินโดยรัฐให้แก่ประชาชนตาม ป.ที่ดิน และระเบียบว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชน ผู้ที่ได้รับใบจองย่อมมีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินได้ แต่เมื่อทางราชการยังไม่ได้ออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้ ก็ยังถือไม่ได้ว่ารัฐได้มอบสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ได้รับใบจองแล้ว ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของรัฐ จึงไม่อาจแย่งการครอบครองได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8600/2563  ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินป่าผืนใหญ่จอมทองที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตาม ป.ที่ดิน มาตรา 14 อนุมัติให้หน่วยงานราชการนำมาจัดให้แก่ประชาชนได้อยู่อาศัยและประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพ เมื่อเป็นการจัดที่ดินโดยรัฐ การพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทจึงต้องพิจารณาจาก ป.ที่ดิน และระเบียบว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชน ฉบับลงวันที่ 24 สิงหาคม 2498 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม ป.ที่ดิน มาตรา 20 (6), 27 และ 33 เป็นสำคัญ ซึ่งตามระเบียบว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชน ข้อ 3 ได้กำหนดลักษณะของที่ดินที่จะนำมาจัดให้แก่ประชาชนไว้ และที่ดินที่จะนำมาจัดสรรตามระเบียบฉบับนี้ก็คือที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่บุคคลอาจจะได้มาตามกฎหมายที่ดินตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1334 นั้นเอง ส่วนผู้ที่จะเข้าอยู่อาศัยหรือประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพในที่ดินที่รัฐจัดให้นั้น ต้องเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมีคุณสมบัติและอยู่ในลักษณะข้อกำหนดโดยครบถ้วนตามข้อบังคับ ระเบียบ ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติกำหนด ตามระเบียบข้อ 4 ข้อ 10 ข้อ 11 ข้อ 14 และข้อ 21 ตามระเบียบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ป.ที่ดิน ในหมวดว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชนมีเจตนารมณ์ที่จะให้ประชาชนที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง หรือมีอยู่แล้วแต่มีจำนวนน้อยไม่พอเลี้ยงชีพได้มีที่ดินไว้เป็นที่อยู่อาศัยและทำมาหาเลี้ยงชีพ โดยได้มอบอำนาจให้คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาตินำที่ดินซึ่งเป็นของรัฐไปจัดสรรให้แก่ประชาชนกลุ่มดังกล่าว โจทก์ซึ่งได้รับการจัดสรรที่ดินพิพาทให้เป็นที่ทำมาหาเลี้ยงชีพและได้รับใบจองเลขที่ 1557 จากทางราชการแล้วจึงมีสิทธิตามใบจองในอันที่จะเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท และต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้ได้รับสิทธิในที่ดินตาม ป.ที่ดิน โดยชอบ อย่างไรก็ตามเมื่อทางราชการยังไม่ได้ออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้แก่โจทก์ ก็ยังถือไม่ได้ว่ารัฐได้มอบสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของรัฐ ดังนั้น จำเลยจึงหาอาจอ้างเรื่องการแย่งการครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ไม่ อีกทั้งจะยกเรื่องระยะเวลาการฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 ขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้มีสิทธิตามใบจองไม่ได้เช่นกัน ส่วนที่โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว ต่อมามีกลุ่มคนบุกรุกเข้ามาครอบครองที่ดินพิพาทและขู่ฆ่า โจทก์และชาวบ้านรายอื่น ๆ อีกหลายร้อยรายที่ถูกบุกรุกที่ดินได้รวมตัวกันไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และร้องเรียนไปยังหน่วยงานราชการต่าง ๆ และคดีถึงที่สุดโดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 9600 ที่ออกทับที่ดินพิพาท ก็ต้องถือว่าโจทก์ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว แต่มีเหตุจำเป็นทำให้โจทก์ไม่สามารถทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามใบจองเลขที่ 1557 ให้แล้วเสร็จได้ภายใน 3 ปี ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อ 17 โจทก์จึงยังคงเป็นผู้มีสิทธิตามใบจองเลขที่ 1557 อยู่ จำเลยไม่อาจยกการครอบครองตาม ป.พ.พ. ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งได้สิทธิมาโดยชอบตาม ป.ที่ดิน ได้ เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองเชียงใหม่ซึ่งเป็นศาลปกครองชั้นต้นที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน 9600 ที่ออกทับที่ดินพิพาทตามใบจองเลขที่ 1557 โดยเห็นว่าการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 9600 เป็นการออกโดยอาศัยแบบแจ้งการครอบครองที่ดินที่ทำปลอมขึ้น จำเลยก็ย่อมไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทตามใบจองเลขที่ 1557 อีกต่อไป การที่จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทจึงเป็นการอยู่โดยละเมิด จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์

          กรณีที่มีการครอบครองที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย ผู้ที่เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินย่อมจะได้สิทธิครอบครองต่อเมื่อพ้นกำหนดเวลาห้ามโอนแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6157/2558  ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตาม ป. ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ นับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2519 โจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทจาก ค. และเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2525 ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย มีผลทำให้การโอนที่ดินพิพาทเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
          ป. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2522 ก่อนครบกำหนดห้ามโอน แต่ผู้ร้องสอดที่ 1 เพิ่งยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ป. เพื่อกล่าวอ้างสิทธิที่ดินพิพาทในปี 2540 โดยก่อนหน้านั้นผู้ร้องสอดที่ 1 และทายาทของ ป. รวมทั้ง พ. ที่อ้างว่าครอบครองที่ดินพิพาทแทนไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวอ้างสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่ประการใด แสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องสอดที่ 1 และทายาทของ ป. สละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว เมื่อโจทก์ที่ 1 ยังครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจนล่วงเลยระยะเวลาห้ามโอนต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปี นับแต่ระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมายล่วงเลยไปแล้ว และโจทก์ที่ 1 เป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาทตลอดมา การครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการยึดถือโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 นับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน คือนับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2529 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิของ ป. และผู้ร้องสอดที่ 1 มีลักษณะเป็นการแย่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว และกรณีดังกล่าวโจทก์ที่ 1 มิได้ครอบครองแทน ป. หรือทายาทของ ป. จึงไม่จำต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือไปยัง ป. หรือทายาท เมื่อผู้ร้องสอดที่ 1 ยื่นคำร้องสอดเข้ามาครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2529 ที่โจทก์ที่ 1 แย่งการครอบครอง ผู้ร้องสอดที่ 1 จึงไม่มีอำนาจร้องสอดหรือฟ้องโจทก์ที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง
          


          การแย่งการครอบครองจะต้องเข้าไปครอบครองที่ดินด้วยตนเองหรือโดยผู้แทน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 633/2538  ผู้แย่งการครอบครองจะต้องเข้าไปครอบครองที่ดินด้วยตนเองหรือโดยผู้แทน ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเพียงว่าประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2531  ก. ไปบอกโจทก์ว่าได้ออก น.ส.3 ก. ทับที่ดินพิพาทของโจทก์ ยังไม่พอจะนำมาวินิจฉัยว่า ก.ได้แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่เวลาดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ทราบว่า ก. ออก น.ส.3 ก. ทับที่ดินพิพาทของโจทก์ ย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าโจทก์ได้ทราบว่า ก. ได้แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2531 แล้ว โจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเกินกว่าหนึ่งปีขาดสิทธิฟ้องเอาคืนเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ
          เมื่อ ก. ไม่เคยเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทหรือให้บุคคลอื่นครอบครองแทน ก. เพียงขอออก น.ส.3 ก. ทับที่ดินโจทก์ แม้โจทก์ทราบการกระทำดังกล่าวของ ก.แล้ว ก็ไม่ใช่การแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์

           ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องแย่งการครอบครองจะมีได้เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น ดังนั้น กรณีที่จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของตนเอง จึงทำให้คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องแย่งการครอบครอง และโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนการครอบครองภายใน 1 ปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหรือไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6286/2539  โจทก์ไม่ได้มาให้ถ้อยคำยินยอมต่อเจ้าพนักงานที่ดินทั้งมิได้มอบอำนาจให้ บ. ซึ่งเป็นภริยาไปให้ถ้อยคำยินยอมแทนในการที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาท การกระทำของ บ. ไม่ผูกพันโจทก์ จำเลยที่ 1 มิได้นำทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทั้งหมดมาให้ถ้อยคำยินยอมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่การจดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 เฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทคนอื่น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 81 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2516) การจดทะเบียนรับมรดกคงสมบูรณ์เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1
          สิทธิครอบครองที่ดินที่จะมีการแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ต้องเป็นของผู้อื่น หาได้หมายถึงที่ดินที่ตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเองไม่ เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อสู้ว่าได้ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต และมีสิทธิครอบครองแล้วจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเรื่องแย่งการครอบครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8107/2544  โจทก์ฟ้องว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นของ ด. บิดาจำเลย ต่อมาก่อน ด. จะถึงแก่ความตาย ด. ได้ขายให้โจทก์โดยการส่งมอบ โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนตลอดมา จึงได้สิทธิครอบครอง จำเลยให้การว่า ด. ไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อทำกินต่างดอกเบี้ย มิได้ครอบครองเพื่อตน หลังจาก ด. ถึงแก่ความตายโจทก์จำเลยฟ้องร้องกันเป็นคดีอาญาและต่างฝ่ายต่างถอนฟ้องไป แล้วจำเลยได้กลับเข้าครอบครองที่ดินพิพาท เพราะเป็นของจำเลย แสดงว่าจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยมาตั้งแต่ต้น ไม่เคยตกเป็นของโจทก์ กรณีจึงไม่อาจมีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่น จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนการครอบครองภายใน 1 ปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหรือไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7381/2558  จำเลยมิได้ให้การยอมรับว่าที่ดินเป็นมรดกของนาย ต. ซึ่งตกทอดแก่ทายาทและจำเลยแย่งการครอบครองจากทายาทอื่นจนได้สิทธิการครอบครองแล้วแต่อย่างใด หากแต่ให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของนาย ต. ไม่อาจนำไปแบ่งปันแก่ทายาทได้ เพราะนาย ต. ยกให้นาย อ. บิดาจำเลยตั้งแต่นาย ต. มีชีวิตอยู่ เท่ากับอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของนาย อ. และตกทอดมายังจำเลย โดยนาย อ. และจำเลยมิได้แย่งการครอบครองมาจากผู้ใด คดีจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องแย่งการครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่น ไม่อาจแย่งการครอบครองในที่ดินซึ่งตนเองมีสิทธิครอบครองหรือเป็นเจ้าของได้ แม้ภายหลังโจทก์มีหนังสือแจ้งให้ทายาทและนาย อ. ไปตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของนาย ต. นาย อ. ได้มีหนังสือไปถึงโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของนาย ต. ที่จะต้องนำไปแบ่งปันแก่ทายาท ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เพราะจำเลยมิได้ให้การยอมรับว่าที่ดินเป็นทรัพย์มรดกของนาย ต. การโต้แย้งตามหนังสือของนาย อ. ดังกล่าวจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องแย่งการครอบครองเช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องเกิน 2 ปี นับแต่จำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเอาคืนการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6627/2560  คดีนี้จำเลยร่วมทั้งสองให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของตน ประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองจึงไม่มี เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของบุคคลอื่น ไม่ใช่ที่ดินของตนเอง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2561  โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปล้อมรั้วและรื้อบ้านของโจทก์ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท โจทก์ห้ามปรามแล้วแต่จำเลยทั้งสามไม่ฟัง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสามให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของ ช. เป็นของจำเลยที่ 3 โดยซื้อมาจาก ช. ตามคำให้การของจำเลยทั้งสามจึงไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ จึงไม่มีการอ้างสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสามยกเหตุเป็นข้อต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองเกิน 1 ปี หรือไม่

          การโต้แย้งสิทธิต้องโต้แย้งต่อผู้มีสิทธิครอบครองเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1208/2496   บุตรเช่านาของมารดาส่วนหนึ่งทำกิน ครั้นน้องมาทวงค่าเช่าก็ไม่ให้ และกลับว่าเป็นที่ของตนเช่นนี้ จะถือว่ามารดาถูกแย่งสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ.มาตรา 1375 ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเนื่องจากการเช่าที่ส่วนหนึ่งของมารดา แล้วจะกลับมาเถียงสิทธิกับน้องแย่งการครอบครองจากมารดาย่อมไม่ได้

          กรณีขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือเสียภาษีบำรุงท้องที่ ยังไม่ถือว่าแย่งการครอบครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 404/2518   นาพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าของ  ม.  มี  ส.ค.1  โจทก์ซื้อนาพิพาทจาก  ม.  และครอบครองตลอดมา  ม.  ตาย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตร  ม.  ให้อำเภอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เป็นของจำเลยที่ 1 ดังนี้ เป็นการออก  น.ส.3  ทับที่ดินของโจทก์ โจทก์ขอให้เพิกถอนเสียได้ กรณีเช่นนี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เข้าแย่งการครอบครองนาพิพาท ทั้งมิใช่เกี่ยวกับการเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกอันจะปรับเข้าเรื่องอายุความมรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3016/2528  ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ผู้มีสิทธิครอบครอง และโจทก์เป็นฝ่ายครอบครองตลอดมา การที่จำเลยขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และได้นำเจ้าหน้าที่ไปรังวัดที่ดินพิพาทกับนำหลักซีเมนต์ไปปักไว้เป็นแนวเขตที่ดินพิพาท หาใช่เป็นการเข้าแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทไม่ตามพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์เท่านั้น ดังนี้ ข้ออ้างการแย่งสิทธิครอบครองของจำเลยย่อมจะยังไม่เกิดขึ้น จะนำเอาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374, 1375 มาบังคับแก่คดีหาได้ไม่


          แต่ถ้าปรากฏว่าผู้ที่คัดค้านการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้นได้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ กรณีนี้ถือว่าเป็นการแย่งการครอบครองแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4072/2528  เดิมจำเลยอาศัยที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าของโจทก์อยู่ เมื่อโจทก์ทั้งสามไปขอให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) สำหรับที่ดินของโจทก์รวมถึงที่ดินพิพาทด้วยจำเลยคัดค้านจึงออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทไม่ได้ การที่จำเลยคัดค้านดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยได้บอกกล่าวไปยังโจทก์ทั้งสามแล้วว่าจำเลยไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนผู้ครอบครองต่อไปโดยตนเป็นผู้ครอบครองเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องคดีเพื่อเอาคืนภายใน 1 ปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยคัดค้าน การรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อออก น.ส.3 ก.ให้โจทก์ โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาท แม้โจทก์จะคัดค้าน การออก น.ส.3 ก. ของจำเลยในที่ดินพิพาทก็ไม่ทำให้สิทธิการครอบครองของจำเลยเสียไป

          ถ้าขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน แม้ยังไม่มีการเข้าครอบครองที่ดินจริงจัง ก็ถือว่าได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง จึงเป็นการแย่งการครอบครองนับตั้งแต่วันที่รู้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 570/2519   เดิมที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินมี น.ส.3 ของโจทก์  ต่อมา พ.ศ. 2511  ย. ได้นำรังวัดเพื่อออกโฉนดผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน ย.  โฉนดออกให้เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2513  และต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2514   ย. ได้ขายที่ดินตามโฉนดดังกล่าวให้แก่จำเลย  ดังนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373  ให้สันนิษฐานว่า ผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง  ย. และจำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อเนื่องกัน จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานดังกล่าว ส่วนที่ดินโจทก์เป็นที่ น.ส.3  ผู้ยึดถือมีเพียงสิทธิครอบครองตลอดเวลาที่ยังคงยึดถืออยู่ เมื่อถูกรบกวนหรือถูกแย่งการครอบครองจะต้องฟ้องขอให้ปลดเปลื้องหรือเรียกคืนการครอบครองเสียภายใน 1 ปี  ตามมาตรา 1374,  1375  เมื่อปรากฏว่าโจทก์เองไม่เคยเข้าไปครอบครองที่พิพาทจริงจัง เพิ่งรู้ว่ามีการบุกรุกออกโฉนดทับที่เมื่อโจทก์ไปขอรังวัดออกโฉนดที่ดินของตนเมื่อต้นปี พ.ศ. 2513  และโจทก์จะขอเจรจากับ ย. เจ้าของที่ดินในขณะนั้นก็ถูกปฏิเสธ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่พิพาท แสดงว่าโจทก์รู้ว่าถูกแย่งการครอบครองตั้งแต่ขณะนั้น โจทก์มิได้ดำเนินการอย่างไร คงปล่อยปละละเลยเพิ่งมาฟ้องคดีขอให้เพิกถอนโฉนดและขับไล่จำเลยเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2517 เกิน 1 ปี นับแต่ถูกแย่งสิทธิครอบครอง  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกคืนการครอบครองที่พิพาทจากจำเลย

          การครอบครองในระหว่างดำเนินคดี หรือครอบครองในฐานะเจ้าของรวม ถือเป็นการครอบครองแทนเจ้าของ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3157/2540    เดิม ร. พ. และ น. ร่วมกันแจ้ง ส.ค.1 สำหรับที่ดินพิพาท ต่อมาบุคคลทั้งสามร่วมกันยื่นคำขอออก น.ส.3 ไว้ แต่ทางราชการยังไม่ออกให้ จนกระทั่งบุคคลทั้งสามถึงแก่กรรมไปก่อน โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรของ ร. และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ร. ตามคำสั่งศาล ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมของ น. เมื่อโจทก์ที่ 1 ร่วมเสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาทและจำเลยที่ 1 เพิ่งจะเข้าไปทำประโยชน์เพียงส่วนน้อยซึ่งไม่ถึง 1 ใน 3 ของที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 มีส่วนอยู่ แม้จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอออกโฉนดในที่ดินพิพาทและลงประกาศหนังสือพิมพ์เอาที่ดินพิพาทเป็นของตนแต่ผู้เดียว ก็ไม่ทำให้เกิดสิทธิใดๆ ขึ้นใหม่แก่จำเลยที่ 1 โดยเฉพาะการที่จำเลยที่ 1 คัดค้านมิให้แนวเขตที่ดินราชพัสดุรุกล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาท เป็นการกระทำในทางจัดการเพื่อรักษาทรัพย์สินโดยใช้สิทธิต่อสู้บุคคลภายนอกซึ่งเจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งมีอำนาจกระทำได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการแย่งการครอบครองจากเจ้าของรวมคนอื่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3685/2562  คดีก่อนที่ ช. ฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลยมีประเด็นพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นของ ช. หรือไม่ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่ดินพิพาทมิใช่ของ ช. ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ช. ถึงแก่ความตาย จำเลยขอเข้าเป็นคู่ความแทนในฐานะทายาทของ ช. และศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยชี้ขาดว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกฎีกา คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันคู่ความคือโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิในฐานะทายาทของ ช. มิให้โต้เถียงสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทกับโจทก์อีก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และจำเลยในฐานะผู้สืบสิทธิของ ช. จะโต้เถียงโดยให้การและฟ้องแย้งในคดีนี้ว่า จำเลยแย่งการครอบครองและได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนมีการฟ้องคดีเดิมไม่ได้ เพราะเป็นการกล่าวอ้างให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงขัดกับข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีเดิมที่วินิจฉัยว่า ในช่วงเวลาพิพาทในคดีเดิมโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยชอบที่จะกล่าวอ้างการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ได้ก็แต่เมื่อเป็นการกระทำภายหลังมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิมแล้ว แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายหลังศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีเดิมเพียง 4 เดือนเศษ จำเลยย่อมไม่มีทางได้สิทธิครอบครองโดยการแย่งการครอบครองตามที่อ้าง