01 มีนาคม 2567

คำมั่นจะให้เช่า

 

          ตามบทบัญญัติมาตรา 538 กำหนดให้การเช่าอสังหาริมทรัพย์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ และการเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่มีกำหนดเวลาเกินกว่า 3 ปี หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้น จะบังคับได้เพียง 3 ปี ดังนั้น ถ้าหากคู่สัญญาเพียงแค่มีหลักฐานการเช่าอสังหาริมทรัพย์เป็นหนังสือ หรืออาจจะทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็มีผลให้การเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะบังคับได้เพียง 3 ปีเท่านั้น

          ในกรณีที่คู่สัญญาอาจจะยังไม่แน่ใจว่าจะเช่าระยะยาวท่าใด ก็อาจจะทำสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์เพียงไม่เกิน 3 ปี โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว ผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าได้เช่าทรัพย์สินนั้นต่อไป กรณีเช่นนี้ เป็นเรื่องผู้ให้เช่าแสดงเจตนาเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่าจะตกลงต่อสัญญาเช่าต่อไปหรือไม่ก็ยังไม่แน่นอน การแสดงเจตนาของผู้ให้เช่าดังกล่าว จึงเป็นเพียงคำมั่นที่จะให้เช่า และมีผลบังคับได้ 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626/2490  ทำสัญญาเช่าและมีข้อสัญญาว่า "ถ้าครบกำหนด 2 ปี ตามสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่ามีสิทธิจะเช่าต่ออีก 2 ปีและเมื่อแจ้งความประสงค์ต่อผู้ให้เช่าแล้วผู้ให้เช่าจะปฏิเสธไม่ได้ และเมื่อครบแล้วก็มีสิทธิเช่นนี้ในเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว" ดังนี้เป็นคำมั่นของผู้ให้เช่าซึ่งสมบูรณ์ ผู้เช่าบังคับตามสัญญาได้



          คำมั่นจะให้เช่ามีหลักเกณฑ์ ดังนี้


          1. คำมั่นจะให้เช่าต้องมีลักษณะเป็นคำเสนอของผู้ให้เช่า โดยมีข้อความชัดเจน และแสดงให้เห็นว่าผู้ให้เช่าตกลงผูกพันจะให้เช่าต่อไป ถ้าผู้เช่าต้องการ แต่ถ้ามีข้อความที่ไม่แน่ชัด เช่น จะต้องมาตกลงเงื่อนไขหรือค่าเช่ากันใหม่ ดังนี้ ก็มิใช่คำมั่น 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2555  สัญญาเช่ามีคำมั่นว่าก่อนครบสัญญาเช่า โจทก์และจำเลยจะปรับเปลี่ยนค่าเช่าหรือระยะเวลาเช่าในอัตราที่เป็นธรรม ดังที่ปฏิบัติมาเป็นปกติประเพณี ข้อความดังกล่าวไม่มีรายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับค่าเช่าหรือระยะเวลาเช่าที่แน่นอนอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า จึงยังไม่เข้าลักษณะคำมั่นจะให้เช่า

          คำมั่นจะให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ด้วยวาจาก็อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากคำมั่นเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 538 แต่ทั้งนี้ ตราบใดที่มิได้มีการทำหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้เช่า ผู้เช่าก็ไม่อาจบังคับให้ผู้ให้เช่าให้ต้องยอมให้เช่าทรัพย์สินนั้นได้ 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1062/2539  คำมั่นจะให้เช่าที่ดินพิพาทต่อของโจทก์เป็นเพียงคำมั่นด้วยวาจาซึ่งอยู่นอกเหนือจากข้อตกลงตามสัญญาเช่าเดิมแม้จำเลยจะสนองรับคำมั่นนั้นก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าเดิมและเกิดสัญญาเช่าขึ้นใหม่ก็ตาม แต่ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ทำหลักฐานการเช่าที่ดินพิพาทใหม่เป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้รับผิดเป็นสำคัญ จำเลยย่อมไม่อาจขอบังคับให้โจทก์ต้องยอมให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538


          2. ถ้าคำมั่นจะให้เช่ามีกำหนดเวลา ย่อมมีผลผูกพันผู้ให้เช่าที่จะต้องยินยอมตกลงให้ผู้เช่าได้เช่าทรัพย์สินนั้นภายในเวลาที่กำหนดไว้ถ้าหากผู้เช่าต้องการ แต่ถ้าคู่สัญญาตกลงยกเลิกคำมั่นก่อนครบกำหนดเวลา คำมั่นจะให้เช่าดังกล่าวก็ย่อมไม่ผูกพันผู้ให้เช่าอีกต่อไป 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2509/2555  ประกาศการรถไฟแห่งประเทศไทยมีข้อความระบุถึงการจัดพื้นที่ชดเชยให้แก่กลุ่มร้านค้าบริเวณตลาดนัดซันเดย์ที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่กับจำเลย จะได้รับสิทธิการเช่าโครงการใหม่มีกำหนดระยะเวลา 10 ปี ข้อความดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยผู้ให้เช่าฝ่ายเดียว ประกาศดังกล่าวจึงถือเป็นคำมั่นแก่ผู้ค้ารวมทั้งโจทก์ว่าหากผู้ค้าตกลงเข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิเช่าอาคารมีกำหนด 10 ปี โดยเงื่อนไขว่าผู้จะได้รับสิทธิการเช่าจะต้องร่วมออกค่าก่อสร้างโครงการใหม่ ต้องชำระค่าเช่าตามอัตราที่จำเลยกำหนด และชำระค่าธรรมเนียมจัดประโยชน์ล่วงหน้าจำนวน 10,000 บาท ตลอดจนให้ความร่วมมือในการรื้อถอนอาคารร้านค้าเดิมที่กีดขวางการก่อสร้างโครงการใหม่
          โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทต่อกัน แสดงว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่จำเลยกำหนดไว้ในประกาศของจำเลยซึ่งเป็นคำมั่นจะให้เช่า และเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ที่จะสนองรับคำมั่นตามประกาศของจำเลยภายในเวลาที่กำหนดแล้ว จำเลยจึงต้องผูกพันตามคำมั่นของตนและตกเป็นลูกหนี้ที่โจทก์มีสิทธิจะฟ้องบังคับให้จำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทกับโจทก์ต่อไปจนครบระยะเวลาตามประกาศดังกล่าวได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3078 - 3079/2552  แม้คำมั่นจะให้เช่าจะผูกพันผู้ให้เช่าในอันที่ต้องยอมให้ผู้เช่าได้เช่าทรัพย์สินต่อไปอีก และผู้ให้เช่าไม่อาจถอนคำมั่นนั้นได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ก็ตาม แต่ก็มิได้ห้ามคู่สัญญาในอันที่จะตกลงกันยกเลิกคำมั่นนั้นเสียได้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยตกลงยกเลิกข้อความในสัญญาเช่าต่างตอบแทนเกี่ยวกับคำมั่นนั้นเสียแล้ว คำมั่นดังกล่าวย่อมสิ้นผลไป โจทก์ย่อมไม่อาจบังคับให้จำเลยทำสัญญาเช่าต่อไปภายหลังครบกำหนดเวลาเช่าได้อีก

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 976/2495  ทำสัญญาเช่าห้องกันมีกำหนด 3 ปี สัญญาข้อหนึ่งมีว่า "เมื่อผู้ให้เช่าจะต้องการคืนห้องทั้งสองฝ่ายจะต้องบอกให้รู้ล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนไม่น้อยกว่า 30 วัน" แต่คู่สัญญาก็ได้เขียนสัญญาต่อไปอีกข้อหนึ่งว่า "เมื่อสิ้นอายุสัญญาฉะบับนี้แล้ว ผู้ให้เช่ายินดีจะทำสัญญาต่อให้แก่ผู้เช่าต่อไปอีกเป็นงวด ๆ จนครบ 10 ปี" ดังนี้ ก็ต้องแปลข้อสัญญาข้อหลังนี้เป็นข้อยกเว้นข้อสัญญาข้อแรกเสียแล้ว โดยผู้ให้เช่ายอมสละสิทธิตามที่เขียนไว้แต่เดิมในข้อแรกนั้นเสียแล้ว ฉะนั้นเมื่อผู้เช่าได้แสดงเจตนาขอเช่าต่อไปแล้ว ผู้ให้เช่าก็ไม่มีสิทธิบอกเลิกการเช่าได้


          3. ผู้เช่าต้องแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นก่อนครบกำหนดสัญญาเดิม ถ้าหากผู้เช่าแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นภายหลังสัญญาเดิมครบกำหนดแล้ว คำมั่นจะให้เช่านั้นย่อมระงับไปโดยไม่มีผลผูกพันผู้ให้เช่าอีก 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1170/2506  คำมั่นที่ผู้ให้เช่าตกลงว่า เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดแล้ว ยินยอมจะให้ต่ออายุสัญญาเช่าต่อไปอีกได้นั้น ผู้เช่าต้องแสดงความจำนงขอปฏิบัติตามคำมั่นเสียก่อนครบกำหนดอายุสัญญาเช่า มิฉะนั้น หามีผลที่จะบังคับกันได้ไม่

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1051/2514  สัญญาเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างห้องแถวมีกำหนดระยะเวลาสามปีและผู้ให้เช่าให้คำมั่นไว้ว่า จะยอมให้ผู้เช่าได้เช่าที่ดินนั้นต่อไปอีกครั้งละสามปีจนกว่าห้องแถวจะถูกทำลายหรือเสื่อมสภาพ หากผู้เช่าไม่แสดงความจำนงสนองรับคำมั่นโดยแจ้งขอเช่าที่ดินตามคำมั่นต่อไปเสียก่อนสัญญาเช่าสิ้นอายุ คำมั่นนั้นย่อมสิ้นผล


          4. เมื่อผู้เช่าแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นภายในกำหนดเวลาโดยถูกต้อง ย่อมมีผลให้เกิดสัญญาเช่าใหม่ขึ้นทันที โดยไม่ต้องไปทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือกันใหม่ 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1925/2517  สัญญาเช่ามีข้อความว่า ผู้ให้เช่าให้คำมั่นแก่ผู้เช่าว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่าตามสัญญาแล้ว ผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก 3 ปี ตามเงื่อนไขประเพณีที่ได้กระทำกันในวันทำสัญญานี้ ทั้งนี้ ผู้เช่าต้องแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งให้ผู้ให้เช่าทราบภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันสัญญาเช่านี้ครบกำหนด ดังนี้ เป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่าให้คำมั่นไว้ เมื่อผู้เช่ามีหนังสือแสดงความจำนงขอทำสัญญาเช่าต่อภายในกำหนดเวลา เท่ากับผู้เช่าสนองรับคำมั่นของผู้ให้เช่าแล้ว และถือว่ามีสัญญาเช่าเกิดขึ้นใหม่ทันทีตามเงื่อนไขและประเพณีที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าฉบับเดิม โดยไม่ต้องทำสัญญาเช่ากันใหม่อีก
          
          แต่ถ้าคำมั่นจะให้เช่าที่ผู้เช่าแสดงเจตนาสนองรับนั้นมีผลทำให้ระยะเวลาการเช่าครั้งใหม่มีกำหนดเกิน 3 ปี ก็ต้องไปจดทะเบียนการเช่าเพื่อให้มีผลบังคับได้เกิน 3 ปีตามกฎหมาย 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2533  หนังสือสัญญาเช่ามีข้อตกลงว่า ผู้ให้เช่าสัญญาว่าเมื่อครบกำหนดอายุสัญญานี้แล้ว ผู้ให้เช่าก็จะให้ผู้เช่าได้เช่าต่อไปอีกเป็นเวลา 10 ปี ทั้งนี้ โดยผู้ให้เช่าตกลงยินยอมให้ผู้เช่าเช่าที่ดินดังกล่าวแล้วในค่าเช่าเดือนละ 800 บาท โดยผู้เช่ามิต้องจ่ายเงินเป็นก้อนเพิ่มเติม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นคำมั่นของฝ่ายผู้ให้เช่าที่จะให้ผู้เช่าเลือกจะบังคับผู้ให้เช่าให้ต้องยอมทำสัญญาเช่าต่อไปอีกเป็นเวลา 10 ปีหรือไม่ และตามข้อตกลงนี้มีผลทำให้ผู้ให้เช่าตกเป็นฝ่ายลูกหนี้ที่ผู้เช่ามีสิทธิที่จะเรียกร้องบังคับเอาได้ก่อนครบกำหนดตามสัญญาเช่า ผู้เช่าได้แจ้งความจำนงขอเช่าต่ออีก 10 ปี ผู้ให้เช่าจะไม่ยอมให้เช่าไม่ได้.


          5. ถ้าผู้ให้เช่าซึ่งเป็นผู้ให้คำมั่นได้ถึงแก่ความตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ และผู้เช่าได้ทราบข้อเท็จจริงนั้นก่อนสนองรับคำมั่น คำมั่นจะให้เช่าย่อมสิ้นผลผูกพัน ตามมาตรา 360 ประกอบมาตรา 169 วรรค 2

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1213/2517 (ประชุมใหญ่)  หนังสือสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับนาย จ. ข้อ 5 ที่มีข้อความว่า เมื่อครบอายุสัญญาเช่าแล้ว ผู้ให้เช่ายินยอมจดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่าให้แก่ผู้เช่าอีกสิบปีตามสัญญาเดิม เป็นแต่เพียงคำมั่นของนาย จ. ว่าจะให้โจทก์เช่าต่อไปเท่านั้นยังมิได้ก่อให้เกิดสัญญาแม้สัญญาเช่าเดิมจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนไว้ คำมั่นนี้ก็ไม่มีผลผูกพันนาย จ. เพราะโจทก์ไม่ได้สนองรับก่อนนาย จ. ตาย และเมื่อโจทก์ได้รู้อยู่แล้วว่านาย จ. ตายก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนดสิบปี กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 130 วรรคสอง มาใช้บังคับคำมั่นของนาย จ. ย่อมไม่มีผลบังคับ ไม่ผูกพันจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกที่ดินส่วนที่โจทก์เช่าให้ต้องปฏิบัติตาม โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่จดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่าให้โจทก์อีกสิบปีไม่ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5995 - 5996/2538  สัญญาเช่ามีข้อความว่า "มีกำหนดเวลาการเช่า 10 ปี และให้ผู้เช่ายินยอมต่อสัญญาให้ผู้เช่า 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปีนับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไป" ข้อความตามสัญญาเช่าดังกล่าวเป็นเพียงคำมั่นของ ย.ว่าจะให้โจทก์เช่าที่ดินต่อไปเท่านั้นยังมิได้ก่อให้เกิดสัญญา เมื่อโจทก์ไม่ได้สอนงอรับก่อน ย.ตาย และโจทก์รู้แล้วว่า ย ตายก่อนจะครบกำหนด 10 ปี ตามสัญญาเช่า กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 130 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่มาตรา 169 วรรคสอง) มาใช้บังคับ คำมั่นของ ย ย่อมไม่มีผลบังคับ แม้สัญญาเช่าข้อ 3 จะระบุให้สัญญาเช่ามีผลผูกพันไปถึงทายาทผู้รับพินัยกรรมของ ย. ด้วยก็ตาม แต่เมื่อคำมั่นของ ย. ไม่มีผลบังคับเสียแล้ว ก็ไม่เป็นมรดกตกทอดอันจะผูกพันจำเลยในฐานะทายาท

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4392/2547  ต. ให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทมีกำหนด 30 ปี และจะให้จำเลยที่ 1 เช่าต่อไปอีก 30 ปี หลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงถ้าจำเลยที่ 1 ต้องการ โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้ ต. กู้ยืมเงิน 300,000 บาท เพื่อนำไปซื้อที่ดินพิพาท การกู้ยืมเงิน ต. จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยังไม่เรียกให้ ต. ชำระดอกเบี้ยนับแต่กู้ยืมเงินแต่ให้ชำระเมื่อครบกำหนดการเช่า 30 ปี ถ้ามีการต่ออายุสัญญาเช่าเป็นงวดที่สองอีก 30 ปี จำเลยที่ 1 จะไม่เรียกร้องดอกเบี้ยดังกล่าว ดังนี้ การได้มาซึ่งที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่มีสภาพบังคับโดยสมบูรณ์ในตัวของแต่ละสัญญา สัญญาทั้งสองประเภทแม้จะผูกโยงสิทธิประโยชน์ต่อกัน แต่โดยผลแห่งสัญญาแล้ว แต่ละฝ่ายได้ป้องกันสิทธิอันจะก่อผลได้เสียภายหน้าของแต่ละสัญญาแล้ว ถ้าหากมี หาใช่ข้อตกลงที่เพิ่มภาระแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าให้ต้องปฏิบัติยิ่งกว่าหน้าที่ของผู้เช่าตามปกติ สัญญาเช่าที่ดินพิพาทระหว่าง ต. กับจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา

          ข้อความตามข้อตกลงในสัญญาเช่าที่ดินพิพาทเป็นแต่เพียงคำมั่นของ ต. ว่าจะให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทต่อไปเท่านั้น ยังไม่ก่อให้เกิดสัญญา แม้สัญญาเช่าเดิมจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ แต่คำมั่นนี้ก็ยังไม่มีผลผูกพัน ต. เพราะยังไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้สนองรับก่อน ต. ถึงแก่ความตาย ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รู้อยู่แล้วว่า ต. ถึงแก่ความตายก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนด 30 ปี กรณีก็ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติว่ามิให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ คำมั่นของ ต. ย่อมไม่มีผลบังคับ และไม่เป็นมรดกของ ต. จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นทายาทผู้รับมรดกที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 เช่าให้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 จำเลยที่ 1 จึงฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนต่ออายุการเช่าที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 อีก 30 ปีไม่ได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2548  สัญญาเช่ามีข้อความว่า เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วผู้ให้เช่าต้องให้ผู้เช่าเช่าอยู่ต่อไป โดยผู้ให้เช่าจะต่ออายุสัญญาเช่าให้ทุก ๆ 3 ปี ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นคำมั่นของ ป. ผู้ให้เช่า ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทราบก่อนจะสนองรับว่า ป. ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว กรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 360 ต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ คำมั่นจึงไม่เสื่อมเสียไป มีผลผูกพันโจทก์ผู้รับโอนซึ่งเป็นทายาทให้ต้องปฏิบัติตาม โดยให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาเดิม โจทก์ต้องยินยอมให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ส่วนการต่ออายุสัญญาเช่าในระยะ 3 ปีถัดมานับแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป ต้องแยกพิจารณาต่างหากอีกกรณีหนึ่ง หาใช่มีผลผูกพันตลอดไปไม่
          แม้ข้อความในสัญญาเช่าจะมีคำมั่นที่ ป. ผู้ให้เช่าให้ไว้ แต่คำมั่นดังกล่าวจะมีผลผูกพันในการต่ออายุสัญญาเช่าครั้งต่อไปและตกทอดแก่โจทก์ได้ก็ต่อเมื่อคำมั่นนั้นมีผลบังคับก่อนครบกำหนดอายุสัญญาเช่าครั้งท้ายสุดด้วยการที่จำเลยได้แสดงเจตนาสนองรับคำมั่นโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อ ป. ถึงแก่ความตายแล้วตึกแถวพิพาทตกเป็นของโจทก์ผู้เป็นทายาท จำเลยทราบว่า ป. ถึงแก่ความตายแล้งจึงมีหนังสือขอต่ออายุสัญญาเช่าไปยังโจทก์เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2538 กรณีเช่นนี้จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติมิให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับหากว่าก่อนจะสนองรับนั้นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตาย คำมั่นดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับและไม่เป็นมรดกตกทอดอันจะผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นทายาท หนังสือต่ออายุสัญญาเช่าจึงไร้ผลและไม่ก่อให้เกิดสัญญาเช่าขึ้นใหม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิไม่ต่ออายุสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยได้ เมื่อโจทก์มีหนังสือไปยังจำเลย แจ้งว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทอีกต่อไปและบอกเลิกสัญญาเช่า สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจึงต้องสิ้นสุดลงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 อันเป็นวันครบกำหนดการต่ออายุสัญญาเช่า โจทก์ย่อมฟ้องขับไล่จำเลยได้


          6. คำมั่นจะให้เช่านั้นไม่มีผลผูกพันผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากคำมั่นจะให้เช่าเป็นเพียงข้อตกลงต่างหากที่อยู่นอกเหนือสัญญาเช่า จึงไม่ตกทอดไปยังผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์ด้วย

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6491/2539  สัญญาเช่าระหว่างผู้ให้เช่าเดิมกับจำเลยระบุว่า ผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าต่อระยะเวลาการเช่าไปอีกหลังจากที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วเป็นเพียงข้อตกลงต่างหากนอกเหนือจากสัญญาเช่าซึ่งเป็นบุคคลสิทธิ ไม่ใช่เป็นทรัพยสิทธิที่จะได้เช่าต่อไป คงผูกพันเฉพาะคู่สัญญาคือผู้ให้เช่าห้องพิพาทเดิมกับจำเลยเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องพิพาท ซึ่งมิได้ตกลงกับจำเลยในข้อตกลงดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้โจทก์ต่อสัญญาเช่าให้อีก เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่ในห้องพิพาทต่อไป จำเลยก็ต้องออกไปจากห้องพิพาทนั้น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6975/2537  เดิมตึกแถวตามฟ้องเป็นของ ด.ให้จำเลยเช่า ต่อมา ด.โอนตึกแถวให้ อ. แล้ว อ. โอนขายให้โจทก์ แม้ ด.จะให้คำมั่นแก่จำเลยว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว ด. จะให้จำเลยเช่าตึกแถวต่ออีก 3 ปี คำมั่นดังกล่าวก็ไม่ผูกพันโจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก