12 มีนาคม 2567

วิธีการแบ่งทรัพย์มรดก


          มาตรา  1750 "การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท
          ถ้าการแบ่งปันมิได้เป็นไปตามวรรคก่อน แต่ได้ทำโดยสัญญา จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ เว้นแต่จะมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ในกรณีเช่นนี้ให้นำมาตรา 850, 852 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยประนีประนอมยอมความมาใช้บังคับโดยอนุโลม"

          การแบ่งทรัพย์มรดก ทำได้ดังนี้
          1. โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือ
          2. โดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท หรือ
          3. โดยการทำสัญญาแบ่งทรัพย์มรดก ซึ่งมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ

          1. โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด กล่าวคือ ทายาทอาจตกลงเข้าครอบครองทรัพย์มรดกเป็นส่วนๆได้ เช่น ที่ดินแปลงหนึ่ง ทายาทคนหนึ่งได้ส่วนทางทิศเหนือ อีกคนได้ส่วนตรงกลาง อีกคนได้ส่วนทางทิศใต้ เป็นต้น 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1478/2493  ทายาทได้แบ่งปันมรดกกันเป็นส่วนสัดและเข้าครอบครองเป็นกิจปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ภายหลังจะเถียงว่าการแบ่งใช้ไม่ได้ เพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ.มาตรา 1750 วรรคหลัง ย่อมไม่ได้ เพราะการแบ่งได้กระทำถูกต้องตามมาตรา 1750 วรรคแรกแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6441/2561  เจ้ามรดกทั้งสองมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลง โดยเจ้ามรดกคนที่ 1 มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เจ้ามรดกคนที่ 2 มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่เศษ และเจ้ามรดกทั้งสองมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเนื้อที่ 25 ไร่เศษ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก จากนั้นได้โอนมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวบ่งชี้ว่าที่ดิน 3 แปลง เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสองที่จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 1 จัดการโอนที่ดินมรดกของเจ้ามรดกคนที่ 2 แปลงเนื้อที่ 1 ไร่เศษ ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 หลังจากนั้นโจทก์ที่ 3 นำที่ดินไปจำนองไว้แก่ ป. แล้วโอนที่ดินดังกล่าวตีใช้หนี้ ป. เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องไปซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวกลับคืนมาจาก ป. แล้วใส่ชื่อจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 4 เป็นเจ้าของที่ดินร่วมกัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้จัดการมรดกโดยพลการและอยู่ในความรู้เห็นของโจทก์ที่ 3 และที่ 4 มาตลอด อีกทั้งโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 กับมารดาของโจทก์ที่ 2 มีเหตุขัดแย้งกับเจ้ามรดกคนที่ 2 จึงไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินและไม่ไปงานศพของเจ้ามรดกคนที่ 2 มูลเหตุแห่งการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 สืบเนื่องมาจาก ก. บุตรของโจทก์ที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โจทก์ที่ 1 กับ ส. บุตรสาวของโจทก์ที่ 1 จึงมาขอร้องให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินไปประกันตัว ก. จำเลยที่ 1 ตกลงและขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปบางส่วนเนื้อที่ 20 ไร่ แล้วมอบหมายให้ ม. ภริยาของจำเลยที่ 1 นำเงินที่ได้จากการขายไปประกันตัว อันเป็นการแสดงว่าโจทก์ที่ 1 รับรู้และเห็นชอบในการขายที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 มาแต่ต้น เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทบางส่วนมาจากจำเลยที่ 1 แล้วเข้าทำนาในที่ดินพิพาทแทนที่โจทก์ที่ 1 กับครอบครัว โจทก์ที่ 1 ก็หลีกทางให้เข้ายึดถือทำประโยชน์โดยไม่มีข้อทักท้วงโต้แย้งใด ๆ เท่ากับเป็นการยอมรับว่าจำเลยที่ 1 มีอำนาจจัดการที่ดินพิพาทได้เพียงผู้เดียว สอดคล้องกับการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทด้วยการให้จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เอง จึงมิใช่การมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่น 
          หลังจากเจ้ามรดกคนที่ 1 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลเจ้ามรดกคนที่ 2 ซึ่งมีอาการป่วยเจ็บหนักและต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนนานหลายวันต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนมาก สอดคล้องกับยอดเงินในบัญชีเงินฝากของเจ้ามรดกคนที่ 2 ที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยก่อนถึงแก่ความตาย และยังสอดคล้องกับการที่จำเลยที่ 1 นำเงินที่ได้จากการขายที่ดินมรดกไปชำระหนี้จำนองให้แก่ อ. และ ป. นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ได้อนุญาตให้ ส. บุตรของโจทก์ที่ 1 ทยอยไปขอเบิกเงินที่ได้จากการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จากจำเลยที่ 2 หลายครั้ง อันเป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาทแล้วนำเงินไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวเพียงฝ่ายเดียว แต่นำไปใช้เพื่ออุดหนุนจุนเจือโจทก์ที่ 3 และที่ 4 รวมทั้ง ก. และ ส. ซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวของโจทก์ที่ 1 มาโดยตลอด ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสองที่โจทก์ทั้งสี่ยินยอมให้ตกเป็นของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องแบ่งปันที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ทั้งมีอำนาจในการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้โดยชอบ โดยโจทก์ทั้งสี่ไม่อาจบังคับให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6905/2560  ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท แสดงว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกสามารถทำได้ 2 วิธี คือ ทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท ได้ความว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกพยายามแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงให้แก่ทายาท แต่ตกลงกันไม่ได้ว่าทายาทคนใดจะได้รับที่ดินแปลงใด จึงแจ้งให้ทายาทไปรับมรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงตามสัดส่วน โดยการใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินตามสัดส่วนที่ทายาทแต่ละคนมีสิทธิได้รับตามพินัยกรรม แสดงว่าผู้ร้องยังสามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้งเจ็ดแปลงโดยการให้ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 และทายาทอื่นเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นสัดส่วนโดยการใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินตามสัดส่วนตามสิทธิที่แต่ละคนจะได้รับได้ โดยอาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใส่ชื่อผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 และทายาททุกคนถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทรัพย์มรดก หากผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 หรือทายาทอื่นไม่ไป ให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาได้ กรณีจึงยังไม่เป็นเหตุให้ต้องขายทอดตลาดที่ดินทั้งเจ็ดแปลงเพื่อนำเงินมาแบ่งปันกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6429/2558  ในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของ ต. ฝ่ายโจทก์ทั้งสองตกลงให้ตั้งจำเลยที่ 1 และฝ่ายจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตกลงให้ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก ต. ข้อตกลงดังกล่าวเพื่อให้มีตัวแทนของแต่ละฝ่ายเป็นผู้รักษาผลประโยชน์ส่วนของตนในกองมรดกของ ต. เมื่อก่อนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพิพาทแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเดิมจำเลยที่ 2 บ. สามีโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 นำที่ดินและอาคารดังกล่าวออกให้เช่า เมื่อใกล้ครบสัญญาเช่า ผู้เช่าทำหนังสือถึงโจทก์ที่ 2 ขอทำสัญญาเช่าต่อพร้อมขออนุญาตปรับปรุงอาคารที่เช่า โจทก์ที่ 2 จึงมีหนังสือถึงจำเลยที่ 3 ให้เป็นผู้ตกลงกับผู้เช่าเอง ต่อมาจำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้ให้เช่าแทนโจทก์ที่ 2 อีก 2 ครั้ง เป็นเวลา 6 ปี ซึ่งโจทก์ที่ 2 ยอมรับว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้เก็บค่าเช่าเองโดยโจทก์ที่ 2 ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินพิพาทแทนฉบับเดิมที่สูญหาย ซึ่งโจทก์ที่ 2 ยอมรับว่าเดิม บ. เป็นผู้เก็บโฉนดดังกล่าวไว้ แต่ขณะออกโฉนดที่ดินฉบับใหม่ บ. ถึงแก่ความตายแล้ว ดังนั้น หากโจทก์ที่ 2 มิได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. โอนที่ดินพิพาทพร้อมมอบโฉนดที่ดินให้ไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่สามารถดำเนินการเองโดยลำพัง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ทั้งสองในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ยินยอมแบ่งที่ดินพร้อมอาคารพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ต. ให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็เข้าครอบครองทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัดตาม ป.พ.พ. 1750 วรรคหนึ่ง โดยการนำออกให้เช่าและเก็บค่าเช่ามาโดยตลอด โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจเรียกให้นำที่ดินและอาคารพิพาทมาแบ่งแก่โจทก์ทั้งสองได้อีก
          คำพิพากษาในส่วนเกี่ยวกับการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องการครอบครองเป็นส่วนสัด แต่เป็นอำนาจและหน้าที่ของศาลในการปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายอันเป็นการปรับบทกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8371/2557  การแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดตามมาตรา 1750 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เป็นกรณีซึ่งข้อเท็จจริงต้องได้ความชัดแจ้งแล้วว่าทายาทได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างได้เข้าครอบครองทรัพย์มรดกตามส่วนแบ่งนั้นอย่างเป็นส่วนสัดชัดเจนว่าทายาทคนใดเข้าครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกนั้นในส่วนใด มีอาณาเขตและเนื้อที่ดินเข้าครอบครองแบ่งแยกกันจนชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์กันได้ เมื่อข้อเท็จจริงจากทางนำสืบไม่ได้ความ เช่นนั้นที่ดินพิพาทจึงยังไม่พ้นสภาพจากการเป็นทรัพย์มรดกของ พ. และกรณีต้องถือว่าการที่ ต. และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่นั้นเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ๆ ของ พ. ทุกคน กรณีจึงเข้าเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ พ. เพราะเข้าสืบสิทธิในมรดกส่วนของ ต. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วก็ตาม ดังนั้น คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3399/2552  การแบ่งปันทรัพย์มรดก นอกจากไม่มีบทกฎหมายบัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือแล้ว ที่ดินพิพาทที่มีเพียงใบไต่สวน ผู้เป็นเจ้าของจึงมีเพียงสิทธิครอบครอง ดังนั้น การแบ่งปันทรัพย์มรดกจึงกระทำได้โดยการส่งมอบการครอบครองเท่านั้น เมื่อที่ดินพิพาทมีการตกลงแบ่งปันกันระหว่างทายาทเป็นส่วนสัด อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่งแล้ว ว. ทายาทซึ่งเป็นมารดาโจทก์ครอบครองที่ดินส่วนพิพาทตอนกลางเพื่อตนเองตลอดมาและมอบการครอบครองให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าว 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8042/2551  เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย ทายาทของ ส. ตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินของ ส. ว่าบุคคลใดได้รับยกให้ที่ดินแปลงใดก่อน ส. ถึงแก่ความตายและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นก็ให้ตกเป็นของบุคคลนั้น จำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ ส. ถึงแก่ความตายแต่ผู้เดียว กรณีจึงเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยทายาทก่อนเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามจะเรียกร้องเอาส่วนแบ่งให้ผิดไปจากที่ได้แบ่งปันกันไปแล้วอีกไม่ได้ แม้ภายหลังจำเลยไปยื่นขอจัดการมรดกของ ส.ก็ไม่ทำให้ที่ดินพิพาทกลับกลายเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกันระหว่างทายาท เพราะจำเลยประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทเท่านั้น มิใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาทแล้ว

          2. โดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท กรณีนี้ จะเกิดขึ้นต่อเมื่อทายาทตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะได้ทรัพย์สินอะไรส่วนไหน หรือกรณีทรัพย์มรดกไม่เปิดช่องให้แบ่งกันได้โดยวิธีแรก และทายาทไม่ต้องการถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ก็ต้องขายแล้วเอาเงินมาแบ่งกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1952/2545   การที่โจทก์ที่ 1 และทายาทอื่นของเจ้ามรดกขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของเจ้ามรดกส่วนของตนที่ได้รับนั้น เป็นการแสดงเจตนาขายสิทธิในทรัพย์มรดกส่วนของทายาทแต่ละคนให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของเจ้ามรดก และมีการโอนทางทะเบียนเป็นชื่อของจำเลยแล้ว ย่อมมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย เนื่องจากทายาทแต่ละคนมีอำนาจขายทรัพย์มรดกส่วนของตนได้ตามป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 1745 ทั้งเป็นกรณีที่ถือได้ว่า โจทก์ที่ 1 จำเลย และทายาทอื่นตกลงแบ่งทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1760 วรรคหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด

          3. โดยการทำสัญญาแบ่งทรัพย์มรดก ซึ่งมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ คือกรณีที่ตกลงกันได้ว่าใครจะได้ทรัพย์สินอะไร เพียงใด คือ เพียงตกลงกันแต่ไม่มีการเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด จึงต้องมีการทำสัญญากันไว้โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ เพื่อป้องกันการบิดพริ้วไม่ปฏิบัติตามสัญญา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 80/2497  บุตรภริยาเจ้ามรดกทำสัญญาประนีประนอมให้แบ่งทรัพย์ไปตามพินัยกรรม (พินัยกรรมจะเป็นโมฆะหรือไม่ก็ดี) ส่วนทรัพย์นอกพินัยกรรมให้เป็นของภริยาเจ้ามรดกฝ่ายเดียวสัญญานี้บังคับได้ทุกข้อตลอดจนข้อที่ตกลงกันถึงทรัพย์นอกพินัยกรรมด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 475/2511 (ประชุมใหญ่)  ถ้าคนต่างด้าวผู้รับพินัยกรรมมีสิทธิหรือมีทางที่จะขออนุญาตถือที่ดินได้ พินัยกรรมก็ไม่เป็นโมฆะ
          โจทก์จำเลยต่างเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก และได้ทำสัญญาประนีประนอมกันว่าจำเลยจะโอนที่ดินให้โจทก์ตามส่วนในพินัยกรรมเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้รับผิด จึงบังคับตามสัญญาได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 ส่วนโจทก์ที่เป็นคนต่างด้าวก็ให้ไปจัดการตามประมวลกฎหมายที่ดินก่อน (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2511)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 161/2524  สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกที่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ เป็นสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสองใช้บังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญา แม้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกบางคนจะมิได้ร่วมลงลายมือชื่อด้วยก็หาทำให้สัญญาดังกล่าวเสียไปไม่ คงมีผลเพียงไม่ผูกพันทายาทผู้มิได้ลงลายมือชื่อให้จำต้องถือตามเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1072/2527  สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรซึ่งเป็นผู้เยาว์เข้าทำสัญญาดังกล่าวเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนในอันที่จะคุ้มครองผู้เยาว์ แม้จะมิได้ว่ากล่าวกันมาศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ 
          โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกมรดกจากผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายด้วย การแบ่งทรัพย์มรดกต้องแบ่งกันตามส่วนที่แต่ละคนมีสิทธิได้รับ เมื่อปรากฏว่าทายาทผู้มีสิทธิได้รับที่ดินพิพาทตามพินัยกรรม มี 5 คนโจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเพียงคนละ 1 ใน 5 ส่วน 
          (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1602/2519)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1926/2537  โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยข้อความว่า "วันที่ 14 มีนาคม ถึงกิมเช็งทราบเรื่องเงินเหลือจากจ่ายธนาคาร 1 ล้านบาท เอาทำบุญให้แม่เขา 1 แสนบาทกิมห้องให้ไป 1 แสนห้าหมื่น เฮียเอา 5 หมื่น เหลือนอกนั้นให้แป๊ว, ณีไป เพราะเฮียต้องเอามารักษาตัว ถ้าเฮียไม่เป็นอะไรก็จะไม่เอา เวลานี้ก็มีบ้านอยู่กันไม่เดือดร้อนอะไรแล้ว ถนอม" เอกสารนี้มิได้มีลักษณะเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง เป็นแต่หนังสือที่โจทก์มีถึงจำเลยขอเงินส่วนแบ่งมรดกไปรักษาตัวจำนวน 50,000 บาท อันเป็นหนังสือที่โจทก์แสดงเจตนาเพียงฝ่ายเดียวไม่เข้าลักษณะสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 จึงไม่มีผลผูกพัน โจทก์ยังคงมีสิทธิฟ้องขอแบ่งมรดกตามสิทธิของโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4921/2552  การสละมรดกมี ป.พ.พ. มาตรา 1612 บัญญัติให้กระทำได้ 2 แบบคือ แสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ คำว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 หมายถึง ผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอหรือหัวหน้ากิ่งอำเภอและหมายรวมถึงบุคคลที่กระทำหน้าที่แทนด้วย ดังนั้น การที่บุตรทั้งเจ็ดของเจ้ามรดกไปให้ถ้อยคำและทำบันทึกหลักฐานเป็นหนังสือระบุชัดแจ้งว่าไม่ขอรับโอนมรดกที่ดินไว้ต่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการประจำสำนักงานที่ดินอำเภอสวี ในฐานะเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินปฏิบัติราชการแทนนายอำเภอ ซึ่งนายอำเภอมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 38 (10) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นที่จะมอบอำนาจให้หัวหน้าส่วนราชการที่ประจำอยู่ในอำเภอปฏิบัติราชการแทนได้ จึงเป็นการแสดงเจตนาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว แต่การที่บุตรทั้งเจ็ดระบุว่า ไม่ประสงค์ขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้และยินยอมให้จำเลยรับมรดกแปลงนี้แต่ผู้เดียว ไม่ใช่การสละมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 เพราะเป็นการสละมรดกโดยมีเงื่อนไข ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1613 อย่างไรก็ตามบันทึกดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลใช้บังคับผูกพันบุตรทั้งเจ็ดกับจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850, 852 และ 1750
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8445/2558  แม้ พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 และมาตรา 12 กำหนดให้ทางราชการออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ให้แก่สมาชิกนิคมที่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินซึ่งสมาชิกสามารถนำหนังสือดังกล่าวไปขอออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่ภายในห้าปีนับแต่วันได้รับโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากตกทอดทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี เมื่อที่ดินพิพาทยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐซึ่งราษฎรสามารถมีสิทธิครอบครองได้ และไม่มีกฎหมายห้ามโอนสิทธิครอบครองระหว่างราษฎรด้วยกัน เพียงแต่ราษฎรไม่สามารถยกการครอบครองขึ้นอ้างต่อรัฐได้เท่านั้น เมื่อราษฎรสามารถอ้างสิทธิครอบครองยันกันระหว่างราษฎรด้วยกันได้ และสิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงถือเป็นทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง
          หลักจาก ข. ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของสหกรณ์นิคมสวรรคโลก จำกัด และได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดิน (กสน.5) ถึงแก่ความตาย ทายาทของ ข. ตกลงให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ใน กสน.5 ต่อมาจำเลยที่ 1 นำหนังสือดังกล่าวไปขอออกโฉนดจึงถือได้ว่าเป็นการดำเนินการแทนทายาทอื่น บันทึกข้อตกลงให้ความยินยอมในการแบ่งแยกโฉนดที่ดินที่จำเลยที่ 1 และบรรดาทายาทของ ข. ตกลงทำขึ้นเพื่อแบ่งแยกที่ดินพิพาทกัน จึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาท ไม่ถือว่าเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมายหรือมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 ย่อมไม่มีผลเป็นโมฆะและสามารถบังคับกันได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15721/2558  ตามบันทึกถ้อยคำไม่รับมรดกที่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง และ ก. ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินมีใจความสำคัญว่า ที่ดินพิพาทที่มีชื่อ ว. เจ้ามรดกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ อ. สามีของ ว. ได้มายื่นเรื่องราวขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้ของ ว. ซึ่งโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง และ ก. ทายาทของ ว. ไม่ประสงค์จะขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้ และยินยอมให้ อ. เป็นผู้ขอรับมรดกแต่เพียงผู้เดียว ต่อมา อ. จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง ดังนี้ ไม่ใช่การสละมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612, 1613 เพราะการสละมรดกต้องเป็นการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใด แต่บันทึกถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการประนีประนอมยอมความมีผลบังคับได้ตามมาตรา 850, 852 และ 1750 วรรคสอง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ว. จึงไม่มีสิทธิฟ้องแบ่งที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสอง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3886/2566  การที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นหนังสือและต่างได้ลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 กรณีต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองจึงต้องผูกพันต่อกันและได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในบันทึกที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองตกลงกันนั้น การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 37 ให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามตามสิทธิอันพึงมีพึงได้แก่โจทก์ทั้งสามตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตาย ดังนั้น โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิฟ้องร้องให้บังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย แต่การฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์แก่ผู้ใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ป.ที่ดิน มาตรา 61 วรรคแปด บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด” ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจึงสามารถนำคำพิพากษาของศาลไปให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาได้ และการเพิกถอนดังกล่าวมิใช่หนี้ที่เป็นการทำนิติกรรมที่ศาลจะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง
          จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ให้แก่ตนเองแล้วจำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 แต่เพียงผู้เดียว จากนั้นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองไว้แก่สหกรณ์การเกษตร ป. เป็นการกระทำภายหลังวันที่ 6 สิงหาคม 2560 ที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายกัน โดยที่บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.17 ในส่วนของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 นั้น เฉพาะแต่จำเลยทั้งสองเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองย่อมสามารถกระทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ได้ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของผู้ตายที่ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมนั้นหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 และมิใช่กรณีที่จำเลยที่ 2 ยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายส่วนที่ตนจะได้โดยรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทอื่นที่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 62649 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กลับสู่กองมรดกของผู้ตายและบังคับให้จำเลยที่ 2 ไถ่ถอนจำนองได้
          ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49023 บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ. 17 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ให้แก่โจทก์ที่ 3 และที่ 2 และยังไม่มีการแบ่งปันให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายและจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น สิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมสิ้นสุดลงเพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้จัดการมรดก แม้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ได้ในฐานะทายาทของจำเลยที่ 1 แต่ไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2 ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนแบ่งปันที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49023 แทนจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ได้ เพราะกรณีเช่นนี้เป็นสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 คงพิพากษาได้แต่เพียงแสดงกรรมสิทธิ์ว่าโจทก์ที่ 3 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49023 จำนวน 1 ใน 2 ส่วน เมื่อที่ดินพิพาทดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 2 ตามบันทึกข้อตกลงแบ่งปันมรดกของผู้ตาย โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธิแบ่งส่วนเอาจากที่ดินพิพาทดังกล่าวได้

          แต่ถ้าข้อตกลงในการแบ่งปันทรัพย์มรดก ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ก็ไม่มีผลใช้บังคับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2562  จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โดยมีบุตรด้วยกัน 7 คน รวมทั้งโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่โจทก์ได้รับเงิน 6,000,000 บาท จากผู้ตายโดยเสน่หาในระหว่างเวลาที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ หาทำให้สิทธิในการแบ่งปันทรัพย์มรดกของโจทก์ต้องเสื่อมเสียไปไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1747 และแม้จะมีข้อตกลงในการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว แต่เมื่อไม่ได้ทำสัญญาโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมิอาจบังคับได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง กรณีจึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายแก่ทายาทโดยธรรมทุกคนตามสัดส่วน