1 มี.ค. 2567

การแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาอันเนื่องมาจากผลของการหย่า


           1. การเริ่มต้นมีผลของการหย่า


          มาตรา 1531  การสมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายนั้น การหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีผลนับแต่เวลาจดทะเบียนการหย่าเป็นต้นไป
          การหย่าโดยคำพิพากษามีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว 

          การหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีผลนับตั้งแต่เวลาจดทะเบียนการหย่าเป็นต้นไปตามมาตรา 1531 วรรคแรก  ส่วนการหย่าตามคำพิพากษาของศาลมีผลนับแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่หากยังไม่ได้จดทะเบียนการหย่านั้นจะนำเหตุการหย่าไปอ้างเป็นเหตุให้เสื่อมเสียสิทธิของบุคคลภายนอกผู้สุจริตไม่ได้
          คำสั่งคำร้องของศาลฎีกาที่ 952/2531  การหย่าโดยคำพิพากษาจะมีผลต่อเมื่อเวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1531 และเมื่อหย่ากันแล้วจึงให้มีการแบ่งทรัพย์สินของสามีภรรยาได้ ตามมาตรา 1532 แต่ในเมื่อคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะขอทุเลาการบังคับในระหว่างฎีกาให้ยกคำร้องค่าคำร้องเป็นพับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2141/2531  การจดทะเบียนการหย่าโดยคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1531 วรรคสอง คู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนการหย่าต่อนายทะเบียนอีก ทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 16 ก็บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียน และขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนเท่านั้นศาลจึงไม่จำต้องสั่งคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่า หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย.

          อย่างไรก็ตาม การหย่าตามมาตรา 1531 จะต้องมีเจตนาจดทะเบียนหย่ากันอย่างแท้จริง มิใช่จดทะเบียนหย่ากัน โดยที่คู่สมรสไม่ได้มีคเจตนาหย่ากันจริง เช่น จดทะเบียนหย่าเพราะเหตุผลทางธุรกิจ หรือความสะดวกในการทำนิติกรรมต่างๆ เท่านั้น กรณีนี้ การหย่าย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 155 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8333/2560  ภายหลังจากจำเลยกับ ส. จดทะเบียนหย่ากันแล้ว จำเลยกับ ส. ยังคงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาพักอาศัยอยู่ที่บ้านเดียวกัน ทั้งจำเลยยังเป็นผู้ดูแล ส. เมื่อยามเจ็บไข้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนกระทั่ง ส. ถึงแก่ความตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า การจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยกับ ส. กระทำขึ้นโดยมีเจตนาที่จะไม่ประสงค์ให้ผูกพันตามนั้น จึงเป็นโมฆะใช้บังคับมิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยจะเบิกความว่า เหตุที่จำเลยจดทะเบียนหย่าเพราะเหตุผลทางธุรกิจการค้าของจำเลย แตกต่างจากเหตุผลการหย่าในคำให้การก็ตาม ก็ไม่ทำให้ข้อต่อสู้ของจำเลยเสียไป เพราะเหตุผลการหย่าไม่ได้เป็นสาระสำคัญ สาระสำคัญอยู่ที่การแสดงเจตนา เมื่อการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ การสมรสยังคงมีอยู่ มีผลทำให้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการยกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้ ส. ใช้บังคับมิได้ จำเลยอ้างความเป็นโมฆะดังกล่าวใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกของ ส. ที่จะต้องรับไปทั้งสิทธิและความรับผิดต่าง ๆ ได้
          


           2. การแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา


          ก. เวลาที่จะกำหนดจำนวนทรัพย์สิน
          เมื่อมีการสิ้นสุดการสมรสโดยการหย่า ตามมาตรา 1532 ให้จัดการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา หากเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า 

          มาตรา 1532  เมื่อหย่ากันแล้วให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา
          แต่ในระหว่างสามีภริยา
           (ก) ถ้าเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า
           (ข) ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า

          ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8803/2559  เงินฝากในบัญชีธนาคารและสลากออมสินนั้น โจทก์นำสืบว่า ระหว่างสมรสจำเลยนำเงินส่วนที่โจทก์มอบให้ไปเปิดบัญชีเงินฝากและซื้อสลากออมสิน ทางนำสืบจำเลยไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินดังกล่าวที่อ้างว่าเป็นสินส่วนตัวของจำเลยได้มาอย่างไร จึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาจากโจทก์ที่ให้เงินมาในระหว่างเป็นสามีภริยา จึงเป็นการได้มาภายหลังจากที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่า ทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ กรณีต้องถือตามข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 วรรคท้ายว่า เงินฝากในบัญชีธนาคาร และสลากออมสินเป็นสินสมรส ชายและหญิงพึงได้ส่วนเท่ากัน โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากสินสมรสดังกล่าวกึ่งหนึ่งมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันฟ้องหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ข) และ 1533
          รถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์และรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า โจทก์ซื้อมาใส่ชื่อจำเลยในใบคู่มือจดทะเบียน ก่อนจดทะเบียนสมรส จำเลยได้ครอบครองใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซีเดสเบนซ์ จำเลยนำสืบประกอบภาพในสื่อสังคมออนไลน์ (facebook) ที่ลงภาพเพื่อขอบคุณโจทก์ มีของใช้ส่วนตัวของจำเลยวางในรถ มีสติ๊กเกอร์ชื่อจำเลยแปะกระจกรถ โจทก์ได้แสดงความเห็นในเชิงหยอกล้อการขับรถของจำเลย และโจทก์เองก็มีรถยนต์ใช้อยู่แล้ว ถือว่าโจทก์ให้จำเลยโดยเสน่หา เป็นสินส่วนตัวจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) โจทก์ต้องคืนรถทั้งสองคันดังกล่าวที่โจทก์เอาไปให้จำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7860/2559  เมื่อมีการหย่ากันโดยจดทะเบียนหย่าย่อมมีผลนับแต่จดทะเบียนและให้จัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 และ 1532 (ก) ซึ่งมาตรา 1532 (ก) มีจุดมุ่งหมายให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่คู่หย่าจะแยกจากกัน หากมีการตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินแล้ว ถือว่าเป็นการตกลงแบ่งทรัพย์สินตามมาตราดังกล่าว เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1533 ที่บัญญัติว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน ก็ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดโดยคู่หย่าสามารถตกลงให้แบ่งสินสมรสเป็นอย่างอื่นได้และในส่วนสินส่วนตัวก็ตกลงแบ่งกันอย่างใดก็ได้
          เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันในขณะจดทะเบียนหย่าแล้วว่าให้จำเลยอุปการะเลี้ยงดูบุตร ให้บ้านและที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์จำเลย ให้โจทก์ออกจากบ้านดังกล่าว ให้รถยนต์ 2 คัน เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โดยจำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์รวม 3,500,000 บาท โดยโจทก์ไม่ต้องชำระหนี้อีก ก็ต้องเป็นไปตามนั้น และลงลายมือชื่อโดยมีพยาน 2 คน และนายทะเบียนลงลายมือชื่อไว้ด้วย แม้บันทึกข้อตกลงจะไม่มีข้อความ "ทรัพย์สินอื่นนอกจากนี้โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้อง" ก็ตาม แต่โจทก์เบิกความลอย ๆ ว่า ไม่มีการตกลงว่าจะไม่ขอแบ่งอีก โดยไม่มีพยานอื่นสนับสนุนคำเบิกความ จำเลยมีพยานบุคคลซึ่งเป็นคนกลางยืนยันถึงการเจรจาตามบันทึกข้อตกลง ทั้งจำเลยได้ดำเนินการตามข้อตกลงแก่โจทก์แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่หย่ากันแล้วจะไม่เจรจาเกี่ยวกับทรัพย์สินให้เสร็จสิ้น จึงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งทรัพย์สินกันชัดเจน โดยโจทก์ตกลงเอาทรัพย์สินตามที่บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเท่านั้น ส่วนทรัพย์สินอื่นตามฟ้องนอกจากที่ตกลง หากมีชื่อของโจทก์หรือจำเลยก็ให้ตกเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนหนี้สินให้จำเลยรับผิดชอบ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาและเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วย ต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามมาตรา 850 ผลของสัญญาย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งโจทก์และจำเลยได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้โจทก์และจำเลยได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นเป็นของตน ตามมาตรา 852 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินตามฟ้องอีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4345/2559  ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์และจำเลยตกลงหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันโดยจะไปจดทะเบียนหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรีในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 โจทก์และจำเลยไม่อุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 การหย่าระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีผลสมบูรณ์ในวันดังกล่าว โดยไม่จำต้องไปจดทะเบียนการหย่า เพียงแต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตไม่ได้เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 วรรคสอง
          แม้ข้อตกลงจะระบุให้ไปจดทะเบียนหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรี แต่ในวันที่ศาลพิพากษาตามยอมโจทก์และจำเลยไม่ได้ไปจดทะเบียนการหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรี โจทก์และจำเลยคนใดคนหนึ่งย่อมนำคำพิพากษาไปจดทะเบียนหย่าได้ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2541 ข้อ 6 ระบุว่า ในการขอจดทะเบียนและบันทึกการหย่าจะร้องขอต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ และการจดทะเบียนหย่าโดยคำพิพากษาต้องนำสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้สามีภริยาหย่ากันและมีคำรับรองถูกต้องมาแสดงนั้นสามารถดำเนินการฝ่ายเดียวได้ ดังจะเห็นได้ในข้อ 22 (4) ที่ระบุว่า สำหรับในกรณีที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องเพียงฝ่ายเดียวให้เก็บรักษาใบสำคัญการหย่าฉบับที่เหลือไว้และแจ้งให้อีกฝ่ายมารับไป การที่จำเลยนำสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความกับสำเนาคำพิพากษาตามยอมซึ่งมีคำรับรองถูกต้องไปจดทะเบียนการหย่าที่สำนักงานเขตลาดพร้าวจึงถูกต้องแล้ว การหย่าระหว่างโจทก์และจำเลยมีผลสมบูรณ์
          สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมแล้ว มีข้อตกลงในการหย่าระหว่างโจทก์และจำเลย การแบ่งทรัพย์สินและความรับผิดเกี่ยวกับหนี้สินอันเป็นหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงเป็นกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ซึ่งมิได้มุ่งหมายให้เป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสมรสโดยแท้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 ที่โจทก์จะมีสิทธิบอกล้างได้ เพราะหากให้โจทก์ใช้สิทธิบอกล้างได้ในกรณีนี้ก็เท่ากับยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงผลของสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามยอมของศาล ย่อมเป็นการไม่ชอบและขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 145
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14884/2558  ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 หย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ก) บัญญัติให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า ข้อตกลงตามสำเนาบันทึกด้านหลังทะเบียนการหย่าระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32498 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 6/82 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทมาตราดังกล่าว มิใช่สัญญาให้ทรัพย์สินอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้ว ถือว่าทั้งสองฝ่ายได้จัดการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนของตนให้แก่ผู้ร้อง มีผลเพียงทำให้การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องยังไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่สิทธิของผู้ร้องตามสัญญาแบ่งทรัพย์สินที่นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้วและผู้ร้องได้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวตลอดมา ทั้งเป็นผู้ชำระหนี้จำนองและไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ผู้ร้องไม่ใช่ผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์เท่านั้น โจทก์มิใช่ผู้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนของจำเลยที่ 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4961/2558  ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เดิมผู้ร้องเคยสมรสกับจำเลยที่ 3 ต่อมาเมื่อปี 2535 ผู้ร้องหย่ากับจำเลยที่ 3 และได้ตกลงสัญญาในการหย่าให้ที่ดินพิพาทตกแก่ผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาโดยจำเลยที่ 3 ไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้อง โจทก์ให้การต่อสู้คดี โดยมิได้ให้การปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าวของผู้ร้อง ถือได้ว่าโจทก์ยอมรับว่าผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 จดทะเบียนหย่ากันและได้ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 ว่าให้ที่ดินพิพาทตกเป็นของผู้ร้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบมาตรา 84 (3) เช่นนี้ เมื่อผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 จดทะเบียนสมรสกันในปี 2527 ต่อมาปี 2534 ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทแม้จะใส่ชื่อผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเพียงคนเดียวก็ตาม ที่ดินพิพาทก็เป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (2) ซึ่งเมื่อทั้งสองจดทะเบียนหย่ากันและทำบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 ว่าให้ที่ดินพิพาทตกเป็นของผู้ร้อง สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 ผู้ร้องมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเพียงคนเดียวอยู่แล้ว แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสิทธิของผู้ร้องนับแต่เวลาจดทะเบียนหย่า และเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องมีอยู่ก่อนสมรสกับจำเลยที่ 3 ใหม่ ในปี 2549 จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 โจทก์จึงยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ไม่ได้ ผู้ร้องมีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6388/2550  บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนการหย่าให้แล้ว ถือว่าได้มีการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น นับตั้งแต่วันที่มีการทำบันทึกแบ่งแยกทรัพย์สินท้ายทะเบียนการหย่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์จึงตกเป็นสิทธิของ ร. ตั้งแต่เวลานั้น ไม่ใช่สินสมรสระหว่าง ร. และโจทก์ที่โจทก์จะมาขอแบ่งแยกได้อีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6080/2540  โจทก์และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่ากันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ย่อมสิ้นสุดลง และขาดจากการเป็นสามีภริยาตาม ป.พ.พ.มาตรา 1501 โดยมีผลสมบูรณ์เมื่อจดทะเบียนหย่าแล้ว ตามมาตรา 1515 และศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเฉพาะที่เกี่ยวกับทรัพย์สินว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์กึ่งหนึ่งในทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องหรือไม่ และการโอนขายที่ดินโฉนดพิพาทพร้อมบ้านระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาลวงหรือไม่เท่านั้น โดยไม่มีประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง รวมทั้งการแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ยกประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้หย่าขาดจากกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้แบ่งทรัพย์สินขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการไม่ชอบ
          การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ขาดจากการเป็นสามีภริยากันแล้วทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ระหว่างอยู่ร่วมกันและมิได้แบ่งกันต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมและสันนิษฐานว่ามีส่วนเท่ากันตามมาตรา 1357
          โจทก์ฟ้องขอใส่ชื่อโจทก์ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ แม้ใบคู่มือดังกล่าวมิใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปี ซึ่งแสดงว่าผู้มีชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้นก็ตาม แต่ในกรณีที่เจ้าของขายรถยนต์แล้วกรรมสิทธิ์ในรถยนต์โอนเป็นของผู้ซื้อทันที แม้ไม่จดทะเบียนโอนก็ใช้ได้ แต่ ป.พ.พ.มาตรา 1361 วรรคสอง บัญญัติว่า ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่ายได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน ดังนั้น การมีชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ย่อมเป็นการคุ้มครองประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์คันที่มีเจ้าของรวมให้ทราบว่าการซื้อรถยนต์คันดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมของเจ้าของรวมทุกคนก่อนเป็นการตัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่รถยนต์เป็นทรัพย์ของบุคคลหลายคน แต่มีชื่อเจ้าของรวมเพียงคนเดียวในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ซึ่งผู้ซื้อซื้อไปโดยไม่ทราบว่ามีเจ้าของรวมที่ไม่ได้ให้ความยินยอมในการขาย ทำให้เจ้าของรวมที่ไม่ยินยอมและผู้ซื้อได้รับความเสียหายจากการที่ต้องฟ้องและถูกฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขาย
          ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ไม่มีบทบัญญัติห้ามลงชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ดังนั้น การลงชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์นอกจากไม่ขัดต่อกฎหมายแล้ว ยังมีประโยชน์มากกว่าการไม่ลงชื่อไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ เมื่อได้ความว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมในรถยนต์คันพิพาท จึงสมควรพิพากษาให้โจทก์ลงชื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวได้ตามขอ
          การที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองสังหาริมทรัพย์ตามฟ้องแก่โจทก์นั้น เมื่อปรากฏว่า แต่เดิมสังหาริมทรัพย์ตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์รวมอยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 1 โดยอาศัยสิทธิแห่งการเป็นเจ้าของรวม และไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิการเป็นเจ้าของรวม ประกอบกับไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้เจ้าของรวมจำต้องครอบครองทรัพย์สินที่ตนมีกรรมสิทธิ์รวมโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยส่งมอบการครอบครองสังหาริมทรัพย์ตามฟ้องแก่โจทก์


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4561/2544  บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสินสมรสต่อท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ตกลงยกบ้านพิพาทให้แก่บุตรทั้งสามนั้นเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 วรรคหนึ่ง แต่บุตรทั้งสามไม่ได้แสดงเจตนาต่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตามมาตรา 374 วรรคสอง กรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทจึงยังเป็นของโจทก์กับจำเลยที่ 1 คนละครึ่ง นอกจากนี้โจทก์ยังอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส ซึ่งหากฟังได้ตามที่โจทก์อ้าง โจทก์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทคนละครึ่งหนึ่งเช่นเดียวกัน การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมด้วยไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้ยินยอมด้วย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้
          ว. ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ระหว่างปี 2514 ถึง 2516 ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิม มาตรา 1466 เพราะการให้มิได้แสดงว่าให้ไว้เป็นสินส่วนตัวตามมาตรา 1464(3) และกรณีเป็นการยกให้ก่อนปี 2519 จึงไม่อาจใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 บังคับ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 เคยขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่ ท. เมื่อปี 2525 และมิได้ไถ่คืนภายในกำหนด ต่อมาจึงได้ซื้อคืนจาก ท. เมื่อปี 2526 แม้จะใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ก็ต้องถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1474(1) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519
          ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 2 จะทำสัญญาดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนสัญญาดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ส่วนของโจทก์ตามมาตรา 1361 วรรคสอง แต่ยังคงมีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1361 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์ของโจทก์ได้
 
          แต่บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าทีคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ย่อมไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1291/2558  ข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า แม้จะเป็นข้อตกลงที่แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า ในอนาคตหากจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินสิ่งหนึ่งสิ่งใด จำเลยที่ 1 จะยอมแบ่งให้แก่บุตรทั้งสาม อันหมายถึงบุตรของโจทก์และจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เนื้อหาตามข้อตกลงดังกล่าวเป็นลักษณะที่ตกลงกันกว้าง ๆ ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการระบุทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ เป็นการระบุที่ครอบคลุมทรัพย์สินทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งย่อมรวมทรัพย์สินทุกชนิดที่ได้มาในอนาคตและไม่จำกัดเวลา และในข้อตกลงส่วนที่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 นั้น ก็ไม่ระบุชัดเจนว่าจะแบ่งแก่บุตรคนใด เท่าใด อันหมายความแล้วแต่ดุลยพินิจของจำเลยที่ 1 ข้อตกลงดังกล่าวนี้ จึงไม่ชัดแจ้ง ไม่มีสภาพบังคับให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งสามารถปฏิบัติให้ตรงตามวัตถุที่ประสงค์แห่งข้อตกลงได้

          ข. วิธีแบ่งทรัพย์สิน
          ในการแบ่งทรัพย์สินนี้ มาตรา 1533 กำหนดให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน ถ้าสินสมรสที่มีอยู่ไม่พอใช้หนี้ก็ไม่ต้องแบ่ง ส่วนวิธีการแบ่งก็โดยการแบ่งกันเองหรือการขายแล้วเอาเงินที่ได้มาแบ่งกัน หรือการประมูลราคากันเองระหว่างชายและหญิง หรือขายทอดตลาดก็ได้

          มาตรา 1533  เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน

          มาตรา 1534  สินสมรสที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำหน่ายไปเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวก็ดี จำหน่ายไปโดยเจตนาทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเสียหายก็ดี จำหน่ายไปโดยมิได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีที่กฎหมายบังคับว่าการจำหน่ายนั้นจะต้องได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งด้วยก็ดี จงใจทำลายให้สูญหายไปก็ดี ให้ถือเสมือนว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา 1533 และถ้าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้รับส่วนแบ่งสินสมรสไม่ครบตามจำนวนที่ควรจะได้ ให้คู่สมรสฝ่ายที่ได้จำหน่ายหรือจงใจทำลายสินสมรสนั้นชดใช้จากสินสมรสส่วนของตนหรือสินส่วนตัว 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7860/2559  บทบัญญัติมาตรา 1533 ที่บัญญัติว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน ก็ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดโดยคู่หย่าสามารถตกลงให้แบ่งสินสมรสเป็นอย่างอื่นได้ และในส่วนสินส่วนตัวก็ตกลงแบ่งกันอย่างใดก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2857/2558  ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. เมื่อ อ.ถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. ย่อมสิ้นสุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501 มีผลให้ต้องคิดส่วนแบ่งทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. ตั้งแต่วันที่การสมรสสิ้นไปด้วยเหตุความตายนั้น ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1625 ที่ดินพิพาทจึงต้องแบ่งให้จำเลยที่ 1 และ อ. ได้คนละส่วนเท่ากัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533 ที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งส่วนของ อ. ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมคือ โจทก์กับบุตรอีก 4 คน ของ อ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 และจำเลยที่ 1 คู่สมรสซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเสมือนเป็นทายาทชั้นบุตร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599, 1629 (1) และ 1635 (1) ดังนี้ ที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นมรดกของ อ. จึงต้องแบ่งให้แก่ บุตรทุกคนรวมทั้งโจทก์ โจทก์และจำเลยที่ 1 คนละ 1 ใน 6 จำเลยที่ 1 จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท 7 ใน 12 ส่วน และมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้เฉพาะส่วนของตนเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทรวมทั้งส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งมิใช่ทายาทโดยธรรม ของ อ. โดยไม่มีค่าตอบแทน เป็นทางเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของ อ. คนหนึ่งย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเฉพาะส่วนของตนและเรียกทรัพย์มรดกของ อ. ในส่วนของตนได้ ตาม ป.พ.พ มาตรา 1300 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 กึ่งหนึ่งของที่ดินพิพาท นั้น จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19772/2557  การสมรสสิ้นสุดด้วยความตาย การหย่าหรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน เมื่อโจทก์กับผู้ตายจดทะเบียนสมรสกันวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2517 และจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ดังนี้ ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2517 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 การสมรสของโจทก์กับผู้ตายยังมีอยู่ เมื่อคู่ความรับว่าทรัพย์สินตามฟ้องผู้ตายได้มาระหว่างสมรสกับโจทก์ ย่อมเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตาย และในทะเบียนหย่าก็ไม่มีบันทึกเป็นหลักฐานลงลายมือชื่อโจทก์ระบุข้อความว่าโจทก์สละสินสมรสที่ตนมีสิทธิได้ ทั้งกรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส เมื่อโจทก์กับผู้ตายจดทะเบียนหย่ากัน ต้องแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวในวันจดทะเบียนหย่าให้โจทก์และผู้ตายคนละครึ่งหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3786/2546  ประเด็นในการฟ้องหย่าในคดีก่อนมีสาระเป็นเรื่องของสภาพการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา แต่เรื่องการขอแบ่งสินสมรสในคดีหลังเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์สินโดยมีสาระอยู่ที่ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรสหรือไม่ จึงเป็นคนละมูลคดีกันแม้จะมีผลมาจากการฟ้องหย่าแต่ก็หาจำต้องขอแบ่งสินสมรสมากับคดีฟ้องหย่าไม่ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติว่าจะต้องฟ้องขอแบ่งสินสมรสมาพร้อมกันกับการฟ้องหย่า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3819/2547  ทรัพย์สินส่วนที่เป็นสินสมรสอันเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์และจำเลยมีเพียงตึกแถว 2 หลัง การจะให้ขายทอดตลาดที่ดินทั้งแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด ซึ่งมีบ้านพักอันเป็นสินส่วนตัวของจำเลยอยู่อีก 1 หลังย่อมเป็นการไม่ชอบ เพราะทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นสินส่วนตัวของจำเลย ไม่ใช่กรรมสิทธิ์รวม แต่หากจะให้ขายทอดตลาดเฉพาะตึกแถว 2 หลัง ที่เป็นสินสมรสแล้วนำเงินมาแบ่งกันก็คาดหมายได้ว่าจะไม่มีผู้ซื้อ หรือถึงจะขายได้ก็จะได้ราคาที่ไม่เหมาะสม เพราะผู้ซื้อไม่มีสิทธิในที่ดิน จึงเห็นควรแบ่งทรัพย์โดยให้ตึกแถว 2 หลังที่เป็นสินสมรส เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน และนำค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มขึ้นถือเป็นสินสมรสอันจะต้องนำมาแบ่งให้แก่โจทก์ตามส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1310 ประกอบมาตรา 1364
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 960/2552  ข้อตกลงระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยซึ่งเป็นสามีภริยาที่ว่าเรื่องทรัพย์สินที่ดิน 21 ตารางวา พร้อมบ้านอันเป็นทรัพย์พิพาท ซึ่งอยู่ระหว่างผ่อนส่งกับบริษัท หากผ่อนส่งชำระเสร็จสิ้นแล้วจะยกกรรมสิทธิ์ให้ฝ่ายหญิง ไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่าจำเลยยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ร่วมทั้งหมด เพียงแต่ถ้าหากโจทก์ร่วมผ่อนชำระหมดแล้ว โจทก์ร่วมจะยกกรรมสิทธิ์ส่วนของโจทก์ร่วมให้แก่จำเลยเท่านั้น เมื่อไม่มีข้อตกลงแบ่งแยกสินสมรสกันไว้ การแบ่งสินสมรสต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533
          โจทก์ร่วมนำทรัพย์พิพาทไปขายให้โจทก์โดยมิได้รับความยินยอมจากจำเลย สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมจึงผูกพันแต่เฉพาะส่วนกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วม ผลตามกฎหมายจึงมีว่าโจทก์และจำเลยต่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์พิพาทคนละเท่าๆ กันในทุกส่วนของทรัพย์พิพาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากทรัพย์พิพาท และจำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการซื้อขายทรัพย์พิพาทระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมในส่วนที่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของจำเลยได้ ในกรณีที่ไม่อาจโอนส่วนกรรมสิทธิ์ของจำเลย โจทก์และโจทก์ร่วมต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ราคาในส่วนนี้แทน

          อย่างไรก็ตาม ในการแบ่งสินสมรสนี้ ถ้าสินสมรสขาดหายไปก็อาจมีการชดใช้สินสมรสที่ขาดหายไปนั้นได้ตามมาตรา 1534
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6244/2550  บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1522 กำหนดให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้เป็นกรณีเฉพาะเมื่อศาลพิพากษาให้หย่าหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูไว้ ดังนั้น แม้จำเลยมิได้ฟ้องแย้งขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง ศาลชั้นต้นก็กำหนดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเป็นรายเดือนจนกว่าบุตรทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะได้ ปัญหาการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรดังกล่าว แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นพิพากษาเป็นประโยชน์แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองของโจทก์จำเลย
          ในการเช่าซื้อรถยนต์พิพาท บิดาโจทก์เป็นผู้วางเงินจองให้ 10,000 บาท และบิดามารดาโจทก์ออกเงินดาวน์ให้อีกส่วนหนึ่ง รถยนต์คันดังกล่าวโจทก์จำเลยได้ออกเงินบางส่วนเป็นค่ารถยนต์ด้วย ทั้งเงินที่บิดามารดาโจทก์ช่วยออกเป็นค่ารถยนต์ ภายหลังก็ไม่ปรากฏว่าบิดามารดาโจทก์ได้ทวงถามให้โจทก์จำเลยชำระหนี้ส่วนนี้แต่อย่างไร แสดงว่าบิดามารดาโจทก์มีเจตนาที่จะออกเงินค่ารถยนต์ส่วนนี้ให้แก่โจทก์จำเลย รถยนต์คันดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยได้มาในระหว่างสมรส เป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์โอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่ ว. ในระหว่างที่โจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยากัน โดยจำเลยไม่ทราบเรื่องจึงเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์อันเป็นสินสมรสไปโดยมีเจตนาทำให้จำเลยได้รับความเสียหายซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1534 ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา 1533 โจทก์ต้องแบ่งสินสมรสดังกล่าวให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่ง
          แม้การกู้เงินของจำเลยทั้งสองครั้งจะเป็นการกู้หลังจากจำเลยแยกมาอยู่กับบิดามารดาจำเลยแล้ว แต่จำเลยได้นำบุตรไปเลี้ยงดูด้วย จึงต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ โจทก์เป็นบิดาต้องมีส่วนอุปการะเลี้ยงดูบุตรเช่นกัน จำเลยนำสืบว่าจำเลยกู้เงินในการกู้ปี 2543 จำเลยได้ระบุในวัตถุประสงค์ขอกู้ว่า ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ และมีหลักฐานใบสั่งซื้อสินค้า ส่วนการกู้ในปี 2546 เป็นการกู้เงินเพื่อเหตุฉุกเฉิน ฟังได้ว่า จำเลยกู้เงินสองครั้งดังกล่าว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของบุตรอันเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในครอบครัวและเป็นหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นในระหว่างสมรสจึงเป็นหนี้ที่โจทก์จำเลยต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490



          แม้ว่าจะจดทะเบียบหย่าแล้ว แต่ในเมื่อยังไม่ได้แบ่งสินสมรส ก็ยังสามารถฟ้องแบ่งสินสมรสได้ในภายหลัง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333/2538  การที่โจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบข้อตกลงหย่าว่า"เรื่องทรัพย์สินไม่มี" แต่ต่อมาภายหลังจดทะเบียนหย่าแล้วโจทก์ทราบว่ามีสินสมรสที่โจทก์มีสิทธิจะแบ่งได้ตามกฎหมาย โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอแบ่ง แม้โจทก์จะตั้งสิทธิเรียกร้องในการขอแบ่งว่านิติกรรมหย่าเป็นโมฆียะและคดีฟังไม่ได้ว่าข้อตกลงหย่าเป็นโมฆียะก็ตาม ในการแบ่งสินสมรสศาลย่อมพิพากษาให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 ที่ศาลล่างพิพากษาให้จดทะเบียนโอนหุ้นให้โจทก์ครึ่งหุ้นนั้นแม้จะไม่อาจแบ่งแยกหุ้นออกเป็นครึ่งหุ้นได้ก็ตาม แต่ในการบังคับตามคำพิพากษาในกรณีเช่นนี้เป็นการฟ้องขอแบ่งสินสมรสซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 เว้นแต่ศาลจะพิพากษาเป็นอย่างอื่น เมื่อศาลมิได้พิพากษาเป็นอย่างอื่นหากมีข้อขัดข้องในชั้นบังคับคดีก็ต้องดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4381/2539  โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากันแล้วแต่ยังคงอยู่กินฉันสามีภริยาตลอดมาโดยยังมิได้แบ่งสินสมรสกัน หลังจากนั้นจำเลยนำที่ดินสินสมรสไปจำนองและซื้อที่ดิน 3 แปลงและร่วมกันทำประโยชน์จนกระทั่งตกลงเลิกอยู่กินฉันสามีภริยากัน โจทก์จำเลยจึงร่วมกันเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว ต่อมาจำเลยขายที่ดินทั้งสามแปลงแล้วนำเงินไปซื้อที่ดินใหม่ 2 แปลงและรถยนต์ 2 คันพร้อมด้วยสิทธิการเดินรถ ดังนี้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวพร้อมสินสมรสที่ยังมิได้แบ่งด้วยกึ่งหนึ่ง



          3. ความรับผิดในหนี้สิน


          เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง ชายและหญิงต้องแบ่งความรับผิดในหนี้สินร่วมกันคนละครึ่ง ตามมาตรา 1535 ถ้าฝ่่ายใดชำระหนี้ร่วมแทนไปแล้วก็มาไล่เบี้ยแบ่งความรับผิดเอาจากอีกฝ่ายได้อีกครึ่งหนึ่ง

          มาตรา 1535  เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง ให้แบ่งความรับผิดในหนี้ที่จะต้องรับผิดด้วยกันตามส่วนเท่ากัน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2980/2533  การที่จำเลยเมาสุรากลับเข้าบ้านและด่า โจทก์ว่า "มึงเลว มึงมีชู้ ไม่สมควรอยู่กับกู แม่มึงไม่ดี ไม่เคยสั่งสอน" แล้วจำเลยยังได้ตบ ตีโจทก์ได้รับบาดเจ็บบริเวณขอบตาซ้าย จนโจทก์ต้องรับการรักษาจากแพทย์ในวันรุ่งขึ้น โจทก์ต้องออกจากบ้านไปอาศัยอยู่กับน้องสาวเพราะได้รับความคับแค้นใจจากการอยู่กินกับจำเลยนั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์และบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรง พร้อมทั้งเป็นการทำร้ายร่างกายโจทก์ จึงมีเหตุให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยได้ จำเลยกู้เงินบุคคลภายนอกมาใช้จ่ายเกี่ยวกับที่ดินและบ้านซึ่งเป็นสินสมรสโดยโจทก์มีส่วนรู้เห็นในการกู้เงินดังกล่าวโจทก์จึงต้องร่วมกับจำเลยในการชำระหนี้รายนี้ ฉะนั้นศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ศาลย่อมกำหนดให้โจทก์จำเลยร่วมกันรับผิดชำระหนี้รายนี้คนละครึ่งได้.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2556  ข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอาจกระทำในขณะจดทะเบียนหย่า โดยให้นายทะเบียนบันทึกไว้หรือไม่ก็ได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติใด ๆ กำหนดให้ความตกลงในการแบ่งสินสมรสต้องกระทำต่อหน้านายทะเบียนหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การจะฟังว่ามีข้อตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาจากพยานทั้งสองฝ่ายประกอบกับพฤติการณ์ของแต่ละคดีไป พฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยต่างครอบครองสินสมรสแต่ละรายการต่างหากจากกัน และมีภาระการผ่อนชำระหนี้ในทรัพย์สินที่ตนถือครองกรรมสิทธิ์อยู่ภายหลังการหย่าจนถึงเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีเป็นเวลาเกือบ 5 ปี แม้ไม่มีหลักฐานข้อตกลงแบ่งสินสมรสในขณะจดทะเบียนหย่า แต่ฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาโดยให้สินสมรสทั้งสองรายการรวมทั้งหนี้สินตกแก่จำเลย การที่โจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสระหว่างกัน มีผลให้แต่ละฝ่ายได้รับทรัพย์สินและมีภาระหนี้ต้องชำระหนี้สินซึ่งเป็นหนี้ร่วมมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งผิดแผกแตกต่างจาก ป.พ.พ. มาตรา 1533 และมาตรา 1535 บัญญัติไว้ แต่มิใช่บทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลบังคับและไม่ตกเป็นโมฆะ