1 มี.ค. 2567

การร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก


          กรณีผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่หรือมีเหตุอย่างอื่นที่สมควร ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดย่อมจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกเสียได้ โดยจะต้องร้องขอต่อศาลเสียก่อนที่การปันมรดกจะเสร็จสิ้นลง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1727

          มาตรา 1727  "ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง
          แม้ถึงว่าจะได้เข้ารับตำแหน่งแล้วก็ดี ผู้จัดการมรดกจะลาออกจากตำแหน่งโดยมีเหตุอันสมควรก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล"

          1. ผู้ร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2559  พินัยกรรมของ พ. ที่ว่า ทรัพย์เหล่านี้ขอยกให้ผู้ตายรักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป ต่อมาผู้ตายทำพินัยกรรมขอยกให้ผู้ร้องรักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป ถือเป็นข้อกำหนดตั้งผู้รับพินัยกรรม คือผู้ตายและผู้ร้องตามลำดับ ข้อความในพินัยกรรมทั้งสองในส่วนที่ว่า รักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไปนั้น เป็นเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมแก่บุคคลอื่น ป.พ.พ. มาตรา 1707 ให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย เมื่อพินัยกรรมกำหนดให้ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของ พ. ตกได้แก่ผู้ตายเพียงคนเดียวและผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องเพียงผู้เดียว โดยข้อความต่อท้ายที่ว่า "ให้รักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป" ถือเป็นเงื่อนไขที่เป็นอันไม่มีเลย ผู้คัดค้านย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์มรดกของผู้ตาย กรณีจึงถือว่าผู้คัดค้านมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14777/2558  พินัยกรรมระบุยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายให้แก่บุตรทั้งสาม คือ เด็กหญิง บ. เด็กชาย ฉ. และเด็กหญิง ก. ดังนั้นแม้จะฟังว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้วอันถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ซึ่งมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ก็ตาม ผู้คัดค้านก็ถูกตัดมิให้รับมรดก ตามมาตรา 1608 วรรคสอง ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านและร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1713 และ 1727 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6628/2550  การที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่าที่ดินตามใบจอง (น.ส.2) เลขที่ 342 ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 และผู้ตายเป็นเจ้าของร่วมกัน เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เลิกร้างกับผู้ตายแล้วได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดโดยผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิครอบครองเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินในส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิครอบครองนี้ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายที่จะมาร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หากผู้คัดค้านที่ 1 มีข้อโต้แย้งอย่างใดหรือผู้ร้องได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินตามใบจอง (น.ส.2) เลขที่ 342 ดังกล่าวอันเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิครอบครองของผู้คัดค้านที่ 1 ตามคำร้องขอ ก็ชอบที่จะไปฟ้องเป็นคดีใหม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3724/2548  การที่โจทก์อ้างว่าเป็นสามีไม่ชอบด้วยกฎหมายของ ส. เจ้ามรดกและมีกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์มรดกเพราะทำมาหาได้ร่วมกัน ถือว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้

          2. ผู้มีส่วนได้เสียต้องร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกเสียก่อนที่การปันมรดกจะเสร็จสิ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2150/2561 (ประชุมใหญ่) การร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องได้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแล้วโดยไม่มีทรัพย์มรดกของผู้ตายหลงเหลือให้จัดการอีกต่อไป จึงถือได้ว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้ว แม้ผู้คัดค้านจะอ้างเหตุว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยมีเจตนาทุจริตปกปิดผู้คัดค้านและบุตรซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ทั้งได้โอนทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิ หรือมีเหตุอื่นตามกฎหมายอันอาจเป็นเหตุในการร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าการปันมรดกรายดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกภายหลังการปันมรดกเสร็จสิ้นแล้วย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2561)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2210/2559  ผู้ตายเป็นผู้จัดการปกครองดูแลศาลจ้าวใต้เซียฮุดโจ๊วจะต้องมีคุณสมบัติตามกฎเสนาบดีฯ ข้างต้น ซึ่งเป็นการประกอบกิจการอาชีพอันเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ย่อมไม่เป็นมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 อันจะตกแก่ทายาทตาม มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง
          ตามพินัยกรรมที่ผู้ตายทำเมื่อไม่มีทรัพย์สินที่ตามพินัยกรรมที่จะปันแก่ทายาท และทรัพย์สินนอกพินัยกรรมของผู้ตายก็ไม่มีแล้ว การจัดการมรดกของผู้ตายโดยผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกย่อมเสร็จสิ้น ผู้คัดค้านจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13399/2556 การร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดในกองมรดกต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการปันทรัพย์มรดกรายนี้ได้เสร็จสิ้นลงแล้วก่อนที่ผู้คัดค้านจะมายื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่าการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น เพราะผู้ร้องยักยอกทรัพย์มรดกไปเป็นของผู้ร้องและสามีเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการจัดการมรดกโดยทุจริตไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ข้ออ้างดังกล่าวอาจเป็นเหตุในการร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม แต่หาเป็นเหตุทำให้การจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้นลงแต่อย่างใด ไม่เช่นนั้นแล้วก็เท่ากับเป็นการขยายอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ออกไปอีกไม่สิ้นสุดเพราะเหตุที่กองมรดกอยู่ในระหว่างจัดการโดยมีผู้จัดการมรดกครอบครองแทนตามมาตรา 1748

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12752/2556  กิจการโรงเรียน ป. นั้น เป็นเพียงการงานอาชีพของผู้ตายและผู้ร้องที่ร่วมประกอบกิจการเท่านั้น อันเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้และไม่ตกทอดเป็นมรดกอันจะต้องมาแบ่งปันกัน ส่วนอาคารของโรงเรียนซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินตามเอกสารหมาย ร.6 หรือ ค.4 ผู้ร้องในฐานะทายาทโดยธรรมก็รับโอนมาแล้ว การที่ผู้ร้องนัดประชุมเพื่อตั้งมูลนิธิหรือจดทะเบียนโรงเรียนเป็นนิติบุคคลตามที่ผู้ตายเคยสั่งเสียด้วยวาจาก่อนตายก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการทำพินัยกรรมแบบทำด้วยวาจาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1663 เนื่องจากไม่มีพฤติการณ์พิเศษอันเป็นเงื่อนไขของบทกฎหมายดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น เมื่อคู่คัดค้านมายื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องหลังการปันมรดกเสร็จสิ้นแล้ว จึงต้องห้ามตามมาตรา 1727

          3. มูลเหตุที่ผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกจึงมีอยู่ 2 กรณี คือ
          (1) ผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือ
          (2) มีเหตุอย่างอื่นที่สมควรถอนผู้จัดการมรดก

          (1) กรณีผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หมายความว่า ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกซึ่งกฎหมายบังคับไว้ เช่น หน้าที่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดก ตามมาตรา 1728 หน้าที่แจ้งหนี้อันเป็นคุณหรือโทษระหว่างผู้จัดการมรดกกับกองมรดก หน้าที่หาประกันในการจัดการมรดกและแถลงความเป็นไปในการจัดการมรดกแก่ทายาท ตามมาตรา 1730 หน้าที่ฟ้องคดีหรือแก้ฟ้อง รวมทั้งเรียกเก็บหนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดก ตามมาตรา 1736 วรรคสอง หรือหน้าที่ทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้เสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุไว้ในมาตรา 1728 เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม ทายาทโดยจำนวนข้างมาก หรือศาลจะได้กำหนดเวลาให้ไว้เป็นอย่างอื่น ตามมาตรา 1732 เป็นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9317/2556  ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่งอ้างเหตุเพียงประการเดียวว่า ผู้ร้องไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายในเวลาอันสมควร ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1732 บัญญัติว่า "ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่และทำรายงานแสดงบัญชีและแบ่งปันมรดกให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุไว้ในมาตรา 1728" แสดงว่า ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการแบ่งปันมรดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี หากไม่ดำเนินการในเวลาดังกล่าวอาจถูกศาลถอดถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันมรดกให้แก่ทายาทให้เสร็จภายในหนึ่งปี การที่ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกก่อนที่จะครบกำหนดเวลาหนึ่งปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1732 ซึ่งยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องกระทำผิดหน้าที่ไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดอันจะเป็นเหตุให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 และจะถือว่าผู้ร้องไม่มีความสามารถตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 (2) อันจะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น ในวันที่ผู้คัดค้านยื่นร้องขอ จึงยังไม่มีเหตุตามคำร้องขอ ที่จะถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือจำต้องใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แม้ต่อมาระหว่างการพิจารณาผู้ร้องยังไม่แบ่งทรัพย์มรดกก็เป็นเหตุการณ์ภายหลังอันจะถือว่าเป็นเหตุตามคำร้องขอหาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18893/2555  ป.พ.พ. มาตรา 1726 บัญญัติว่า "ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก...ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด" ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันตามคำสั่งศาล การฟ้องคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกประการหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์แต่ผู้เดียวไม่มีอำนาจยื่นฟ้องเพียงลำพัง แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นปฏิปักษ์และเสียหายต่อกองมรดกก็ตาม เพราะโจทก์สามารถยื่นคำร้องต่อศาลแสดงเหตุขัดข้องเพื่อขออนุญาตฟ้องหรือขอให้ศาลถอดถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ได้ นอกจากนี้โจทก์อาจใช้สิทธิความเป็นทายาทฟ้องคดีในฐานะส่วนตัวเพื่อให้จำเลยที่ 1 รับผิดในการจัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6847/2555  ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างร้องขอให้ถอนอีกฝ่ายจากการเป็นผู้จัดการมรดกร่วม ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอถอนผู้คัดค้านโดยอ้างว่า ผู้คัดค้านไม่ให้ความร่วมมือโดยไม่ยอมลงลายมือชื่อเบิกถอนเงินมรดกจากบัญชีเงินฝากของผู้ตายโดยไม่มีเหตุอันสมควร ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้คัดค้านยอมลงชื่อถอนเงินฝากของผู้ตายแล้วบัญชีหนึ่ง โดยผู้ร้องตกลงว่าจะแบ่งเงินให้ผู้คัดค้าน 10,000 บาท แต่ผู้ร้องไม่แบ่งให้ตามตกลง การที่ผู้คัดค้านไม่ยินยอมลงลายมือชื่อเบิกถอนเงินให้อีก ยังถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านละเลยไม่ทำตามหน้าที่ ไม่มีเหตุสมควรที่จะถอนผู้คัดค้านออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก แต่การที่ผู้ร้องเบิกเงินของผู้ตายออกจากบัญชีธนาคาร ก. ไปเพียงผู้เดียวโดยไม่แบ่งให้แก่ผู้คัดค้าน ถือได้ว่าผู้ร้องละเลยมิได้ปฏิบัติการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดก หากให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้คัดค้านต่อไปจะล่าช้าติดขัดก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกและผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย จึงมีเหตุสมควรให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9217/2547  ป.พ.พ. มาตรา 1716 บัญญัติว่า หน้าที่ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้ง ให้เริ่มนับแต่วันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว และมาตรา 1728 (2) บัญญัติว่า ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1716 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน คงมีแต่ฝ่ายผู้ร้องที่ขวนขวายจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกและติดต่อฝ่ายผู้คัดค้านเพียงฝ่ายเดียวแม้ผู้คัดค้านพอมีเหตุผลในข้อขัดข้อง โดยเฉพาะกรณีที่ไม่ไปตามนัดเพื่อร่วมจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกของผู้ตาย เพราะเหตุติดไปท่องเที่ยวตามที่ได้ซื้อตั๋วทัวร์ไว้ล่วงหน้า แต่เมื่อผู้คัดค้านตอบขัดข้องแล้ว ก็น่าจะเป็นฝ่ายกำหนดวันสะดวกแจ้งแก่ฝ่ายผู้ร้องบ้าง หาใช่ถือเป็นภาระหน้าที่ของผู้ร้องฝ่ายเดียวไม่ เพราะเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องร่วมมือกันกระทำภารกิจให้ลุล่วง นอกจากนี้เมื่อพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อผู้ร้องได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกของผู้ตายเสนอศาลชั้นต้น ซึ่งผู้คัดค้านได้ไปขอถ่ายสำเนาแล้วคงค้านแต่เพียงทรัพย์สินรายการเดียวว่าไม่ใช่มรดกของผู้ตาย หากเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านและเบิกความรับว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมดอยู่ในความครอบครองของผู้ร้อง กับตอบคำถามค้านทนายผู้ร้องโดยรับว่าผู้คัดค้านไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องกับกิจการร้านค้าของผู้ตายนับแต่ปี 2541 และผู้คัดค้านมีอายุถึง 80 ปี ในปี 2547 แล้วเช่นนี้ หากยังคงให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การจัดการมรดกจะยังคงมีปัญหาและไม่ลุล่วงตามที่ควรกรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะถอนผู้คัดค้านจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง


          (2) มีเหตุอย่างอื่นที่สมควรถอนผู้จัดการมรดก เช่น ผู้จัดการมรดกมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริต เป็นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4703/2552  แม้การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกกฎหมายจะไม่บังคับให้ต้องยื่นบัญชีเครือญาติพร้อมไปกับคำร้องก็ตาม แต่การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคท้าย บัญญัติให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม ถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และมาตรา 1719 บัญญัติให้ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ดังนั้น ผู้จัดการมรดกจึงเป็นบุคคลที่เจ้ามรดกให้ความไว้วางใจหรือเป็นบุคคลที่ศาลเห็นว่าน่าจะจัดการเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกมากที่สุดและให้สมดังเจตนาของเจ้ามรดก ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพิเคราะห์ดูจากพฤติการณ์และความสุจริตใจของผู้ร้องขอเป็นสำคัญ เมื่อฟังว่าผู้ร้องมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริต แสดงบัญชีเครือญาติเป็นเท็จเพื่อปิดบังข้อเท็จจริงในเรื่องจำนวนทายาทของผู้ตายอันอาจเป็นการเสียหายแก่ทายาทของผู้ตายที่ถูกปิดบังเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นเหตุอย่างอื่นอันสมควรที่ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่งได้แล้ว
          นับแต่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ร้องไม่เคยแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และทายาทอื่นเลย ซึ่งเมื่อนับแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก จนถึงวันที่ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกเป็นเวลาถึง 2 ปีเศษ จึงเป็นระยะเวลานานพอสมควรที่ผู้ร้องจะสามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอื่นได้แล้ว การที่ผู้ร้องไม่ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และทายาทอื่นของผู้ตายจนเวลาล่วงเลยมาหลายปีแล้วเช่นนี้ ถือได้ว่าผู้ร้องทำผิดหน้าที่และละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกอันเป็นเหตุอย่างอื่นที่ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง

          4. ถ้าผู้จัดการมรดกไม่ได้ละเลยการตามหน้าที่หรือไม่มีเหตุอย่างอื่นที่สมควร ก็ไม่มีเหตุให้ถอดถอน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6911/2560  คดีนี้ ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องมิได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันทรัพย์มรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทน ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 และข้อ 6 มีเงื่อนไขบังคับก่อนให้ทายาททุกคนที่เป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความและผู้ที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาต้องเฉลี่ยออกค่าใช้จ่ายร่วมกับทายาทอื่นในการจดทะเบียนโอนที่ดิน และตามข้อ 6 ศ. ต้องออกค่าใช้จ่ายในการรับโอนที่ดินและทาวน์เฮาส์ แต่ทายาททุกคนรวมทั้ง ศ. ไม่ออกค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดิน ผู้ร้องจึงไม่อาจทำหน้าที่แบ่งมรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 ถึงข้อ 6 ได้ ทั้งผู้คัดค้านไม่ยอมรับโอนที่ดินส่วนของตนและได้อายัดที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นเวลา 30 วัน แต่ไม่ใช้สิทธิทางศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินจึงเพิกถอนการอายัด ทนายผู้ร้องมีหนังสือลงวันที่ 3 ธันวาคม 2557 แล้วให้ผู้คัดค้านไปรับโอนที่ดิน แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องได้พยายามดำเนินการแบ่งปันมรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกแล้ว กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แม้ผู้คัดค้านจะเป็นทายาท ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งของกองมรดก แต่การมอบหน้าที่ให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกเพียงคนเดียวอาจกระทบถึงสิทธิของทายาทคนอื่นของกองมรดกได้ ดังนั้น หากผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่อาจร่วมกันจัดการมรดกของผู้ตายได้ ผู้ร้องหรือผู้คัดค้านหรือผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดได้ หรือหากฝ่ายใดกระทำผิดหน้าที่หรือละเลยไม่กระทำตามหน้าที่ อีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้เช่นกัน รวมทั้งทายาทคนอื่นก็สามารถยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไปได้
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4067/2560  เมื่อผู้ตายยังมีทายาทโดยธรรมและร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเข้ามาเช่นนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมย่อมสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายยิ่งกว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นเพียงเจ้าของรวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันมากับผู้ตายในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ทั้งทรัพย์สินที่มีชื่อผู้ตายถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นของมารดาผู้คัดค้านและผู้ตาย เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้าน และเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตาย แสดงว่าผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินของผู้ตายเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกและผู้คัดค้านเอง ไม่ใช่กระทำไปเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก ซึ่งย่อมเป็นอุปสรรคต่อการรวบรวม จัดการและแบ่งทรัพย์มรดกให้ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย นอกจากนี้ในคดีที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันชีวิตนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องของผู้คัดค้านด้วยเหตุผลว่าผู้คัดค้านมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลอมลายมือชื่อของผู้ตาย น่าเชื่อว่าผู้คัดค้านวางแผนทำสัญญาประกันชีวิตให้ผู้ตายเพื่อต้องการได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขในกรมธรรม์มากกว่าทำสัญญาประกันชีวิตเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตให้ผู้ตาย ผู้คัดค้านใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน และผู้ร้องยังฟ้องผู้คัดค้านต่อศาลชั้นต้นในข้อหาเบิกความเท็จ นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีที่ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ยิ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
          การที่ศาลใช้ดุลพินิจตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนั้น นอกจากจะต้องเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แล้ว ศาลยังจะต้องพิเคราะห์ถึงเหตุอื่น ๆ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องจัดการนั้นด้วย ทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าการที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านได้รับประโยชน์จากการทำสัญญาประกันชีวิตของผู้ตายแต่ผู้เดียวสูงถึง 22,000,000 บาทเศษ อันเป็นเรื่องผิดปกติทั้งๆ ที่ผู้คัดค้านเป็นภริยาซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาก่อนผู้ตายจะเสียชีวิตเพียง 2 ปีเศษ อีกทั้งสาเหตุที่ผู้ตายถูกคนร้ายยิงจนถึงแก่ความตายยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าผู้คัดค้านมีส่วนรู้เห็นที่ผู้ตายถูกยิงหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยถึงความน่าเชื่อถือในตัวผู้คัดค้านว่าสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ส่วนการวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย และกิจการโรงเรียนกวดวิชาขาดทุนและปิดกิจการไปแล้ว ประกอบกับการที่ผู้ร้องยื่นฟ้องผู้คัดค้านข้อหาเบิกความเท็จ แสดงว่าต่างมีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย การจัดการมรดกร่วมกันมีข้อขัดข้อง ไม่อาจจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกกันต่อไปได้ ทั้งหมดเหล่านี้ย่อมเป็นการวินิจฉัยถึงเหตุอื่นๆ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องจัดการต่อไปประกอบการตั้งผู้จัดการมรดกหรือการเพิกถอนผู้จัดการมรดกคนใดคนหนึ่ง ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกสำนวน และเมื่อประเด็นที่ว่า ผู้คัดค้านละเลยต่อหน้าที่ในการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9929/2551  ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายและศาลได้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว การที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกจึงต้องมีเหตุตามกฎหมาย คือ ผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 แต่ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้เรียกร้องให้ผู้ร้องแบ่งทรัพย์มรดกให้ผู้คัดค้านแต่อย่างใด จึงไม่อาจถือว่าผู้ร้องละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ และได้ความว่าที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตาย แม้หากจะฟังว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์ส่วนของผู้ตายให้แก่ผู้คัดค้าน ผู้ร้องก็ยังคงมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่ จึงไม่มีเหตุอย่างอื่นที่สมควรจะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6473/2548  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่เหตุที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอ้างว่าทรัพย์สินตามคำร้องมิใช่ทรัพย์ของเจ้ามรดกแต่เป็นของผู้คัดค้าน มิใช่เหตุตามกฎหมายดังกล่าวอันจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4410/2547  ผู้ขอถอดถอนเป็นทายาทเจ้ามรดกอ้างว่าเงินในบัญชีเงินฝากประจำที่ธนาคารเป็นทรัพย์มรดกทั้งหมด แต่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกอ้างว่ามีสิทธิในเงินฝากดังกล่าวหนึ่งในสี่ส่วน และไม่ยอมลงลายมือชื่อถอนเงินดังกล่าวมาแบ่งปันให้แก่ทายาท ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมไปยื่นคำร้องต่อสำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตเพื่อให้ช่วยไกล่เกลี่ย ผลการไกล่เกลี่ยตกลงกันว่าให้กันเงินตามส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่ามีกรรมสิทธิ์เฉพาะตนไว้ในบัญชีที่เหลือนอกนั้นคงถอนมาแบ่งกันตามส่วนของทายาท ซึ่งผู้ร้องได้จัดการเสร็จสิ้นแล้ว พฤติการณ์ของผู้ร้องดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ขอถอดถอนเท่านั้น แต่หาใช่เหตุที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้ละเลยไม่กระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 802/2542  แม้ผู้คัดค้านเป็นผู้ไถ่ถอนจำนองที่ดินมรดกจากธนาคารก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านไม่ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกผู้ร้องย่อมไม่สามารถจัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทได้การที่ผู้คัดค้านเป็นผู้ไปไถ่ถอนจำนองที่ดินจากธนาคารไม่ใช่เหตุที่จะอ้างไม่ส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การที่ผู้ร้องไม่สามารถจัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทเพราะเหตุดังกล่าวจึงไม่ใช่ความผิดของผู้ร้อง นอกจากนี้ผู้คัดค้านเป็นบุตรเจ้ามรดก ส่วนผู้ร้องเป็นมารดาผู้คัดค้านและเป็นภริยาเจ้ามรดกและทุกฝ่ายทราบดีอยู่แล้วว่าทรัพย์มรดกมีอะไรบ้าง การที่ผู้ร้องไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกจึงไม่พอฟังว่าผู้ร้องมีเจตนาปิดบังทรัพย์มรดก ส่วนเรื่องผู้ร้องไม่เรียกประชุมทายาทก็ปรากฏว่าทายาทของเจ้ามรดกบางคนอยู่ต่างประเทศบางคนอยู่ต่างจังหวัดจึงเป็นการยากที่จะจัดประชุมทายาทดังนั้น ที่ผู้ร้องไม่จัดประชุมทายาทเพราะเหตุดังกล่าวมาจึงไม่พอฟังว่าผู้ร้องละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ และแม้ผู้ร้องจะไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1728 และ 1729 บัญญัติไว้ก็ตาม แต่มาตรา 1731 ก็ให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาว่า มีเหตุสมควรจะถอนผู้จัดการมรดกเพียงใดหรือไม่ ซึ่งตามพฤติการณ์ดังกล่าวยังไม่มีเหตุผลสมควรที่จะสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก