28 ก.พ. 2567

พินัยกรรม


          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          มาตรา 1646  "บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้"

          มาตรา 1647  "การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายนั้นย่อมทำได้ด้วยคำสั่งครั้งสุดท้ายกำหนดไว้ในพินัยกรรม"
          มาตรา 1648  "พินัยกรรมนั้นต้องทำตามแบบซึ่งระบุไว้ในหมวด 2 แห่งลักษณะนี้"

          พินัยกรรมเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายด้วยคำสั่งครั้งสุดท้ายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนเองเสียชีวิต โดยพินัยกรรมต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ได้แก่ พินัยกรรมแบบธรรมดา, พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ, พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง, พินัยกรรมแบบเอกสารลับ, พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา, พินัยกรรมแบบทำตามกฎหมายต่างประเทศ และ พินัยกรรมที่ทำขึ้นในภาวะการรบหรือสงคราม 

          
          1. ผู้ที่จะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จะกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18489/2556  ป.พ.พ. มาตรา 1646 บัญญัติว่า บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้ จากบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่จะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินได้นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จะกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่ผู้ตายฝากเงินกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยเปิดบัญชีเงินฝากใช้ชื่อ ผู้ตายเพื่อผู้เยาว์ แสดงว่าผู้เยาว์เป็นเจ้าของเงินฝากในบัญชี เช่นนี้ กรรมสิทธิ์ในเงินย่อมตกเป็นของผู้เยาว์ในทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 รับเงินเข้าบัญชีเงินฝาก ผู้ตายจึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกเงินฝากดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ข้อกำหนดในพินัยกรรมส่วนนี้ไม่มีผลบังคับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3614/2547  ช. และ ป. ยกที่ดินพิพาทให้ ภ. มารดาโจทก์ แม้การให้จะไม่สมบูรณ์เพราะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 แต่ไม่ปรากฏว่ามีการโต้แย้งการครอบครองที่ดินพิพาทของ ภ. จากบุคคลอื่น ภ. ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของตั้งแต่ได้รับการยกให้ตลอดมาจนถึงแก่ความตาย โจทก์ซึ่งเป็นบุตรได้ครอบครองต่อมาโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ดังนั้น การที่ ป. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทซึ่งไม่ใช่ทรัพย์ของตนเองให้แก่จำเลยจึงไม่ชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3921/2546  การทำพินัยกรรมเป็นการจำหน่ายทรัพย์สินที่จะมีผลเมื่อตายและเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ทำพินัยกรรมซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 บัญญัติว่า "บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง… เมื่อตนตายก็ได้"  นอกจากนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติว่า "เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จะจำหน่ายส่วนของตนหรือ… ก็ได้" แม้ผู้ตายและผู้ร้องจะมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 8372 ก็ตาม ผู้ตายย่อมมีอำนาจทำพินัยกรรมยกที่ดินส่วนของผู้ตายให้แก่ผู้คัดค้านได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ร้อง ข้อกำหนดแห่งพินัยกรรมในส่วนนี้จึงมีผลบังคับได้

          ที่ดินในนิคมสร้างตนเอง เมื่อยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ที่ดินจึงยังคงเป็นที่ดินของรัฐ ไม่สามารถทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3917/2563  ผู้ตายครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินในนิคมสร้างตนเอง เมื่อยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นที่ดินของรัฐ การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่ บ. มิใช่การตกทอดโดยมรดก เป็นการขัดต่อ พ.ร.บ. ดังกล่าว ผู้ตายมีเพียงสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทถือเป็นทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย เมื่อทายาททุกคนของผู้ตายตกลงให้ บ. เป็นผู้รับโอนสิทธิในที่ดินของผู้ตายตามที่พระราชกฤษฎีกานิคมสร้างตนเองกำหนดให้ทายาทเข้ารับสิทธิได้เพียงผู้เดียว บ. จึงเป็นแต่เพียงผู้มีชื่อในหนังสือแสดงการทำประโยชน์แทนบุตรทุกคนของผู้ตายเท่านั้น ต่อมา บ. ไปขอออกโฉนดที่ดินจนได้รับโฉนดที่ดินพิพาท ก็ยังต้องถือว่าเป็นการดำเนินการแทนทายาทอื่น ทายาททุกคนมีส่วนเท่า ๆ กันและเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท บ. ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาททั้งแปลงให้แก่จำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 ขอรับโอนมรดกที่ดินใส่ชื่อของตนเองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ก็ยังคงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนของผู้ตาย สิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้รับโอนคงมีสิทธิในทำนองเดียวกันกับสิทธิของ บ. ผู้โอน จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาททั้งแปลงไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 นิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองไม่ชอบ จำเลยที่ 1 ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แบ่งแยกที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทของผู้ตาย แต่หากการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินแก่โจทก์ทั้งสองไม่อาจดำเนินการได้ ก็ต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง

          2. การแสดงเจตนาทำพินัยกรรม จะต้องกระทำในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6297/2556  การทำพินัยกรรมคือการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 และ 1647 แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะทำพินัยกรรม ผู้ตายไม่รู้สึกตัว ไม่มีสติสัมปชัญญะ พูดจาไม่ได้ บังคับร่างกายของตนก็ไม่ได้ จึงไม่สามารถที่จะแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายได้ด้วยตนเอง ข้อความในพินัยกรรมจึงมิใช่เจตนาอันแท้จริงของผู้ตาย แต่เป็นข้อความที่แสดงเจตนาของผู้แอบอ้างจัดทำขึ้นเอง จึงเป็นพินัยกรรมปลอม ไม่มีผลบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า พินัยกรรมเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้คัดค้านไม่มีหลักฐานนำสืบให้เห็นว่าพินัยกรรมมิใช่ของจริง ผู้ร้องมีพยานที่ลงชื่อรับรองในพินัยกรรมเบิกความยืนยันว่า พินัยกรรมทำขึ้นจริงขณะที่ผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดี และรู้เรื่องดีตลอด ลายพิมพ์นิ้วมือในพินัยกรรมเป็นของผู้ตาย พินัยกรรมจึงไม่ปลอม หรือมีการลงลายพิมพ์นิ้วมือปลอม และหากผู้ตายขาดคุณสมบัติหรือสภาวะความสามารถของผู้ทำโดยการบกพร่อง ตามกฎหมายก็บัญญัติไว้เพียงว่า พินัยกรรมนั้นไม่มีผลบังคับและเสียไปเท่านั้น หาอาจให้ศาลก้าวล่วงฟังว่าเป็นพินัยกรรมปลอมได้ไม่นั้น ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนปรากฏว่า ผู้คัดค้านมีนาวาอากาศโท ส. แพทย์ผู้รักษาผู้ตายเบิกความประกอบประวัติการรักษาผู้ตายโดยเฉพาะคำวินิจฉัยเบื้องต้นของแพทย์เวรผู้ทำการรักษาว่า ผู้ตายถูกนำส่งตัวมาโรงพยาบาลด้วยอาการหมดสติไม่รู้สึกตัว แพทย์เวรใส่ท่อช่วยหายใจและให้ยาเบื้องต้นพบว่าผู้ตายมีอาการเลือดออกในสมอง นาวาอากาศโท ส. นำผู้ตายไปผ่าตัดสมองใส่ท่อเพื่อระบายน้ำและเลือดภายในโพรงสมองผู้ตาย หลังผ่าตัดผู้ตายมีอาการดีขึ้นเล็กน้อย ไม่เกร็ง แต่ก็ไม่สามารถรู้สึกตัว แม้จะกระตุ้นอย่างแรงก็ไม่รู้สึกตัว ต่อมานาวาอากาศโท ส. ผ่าตัดผู้ตายอีกครั้งเพื่อเปลี่ยนท่อระบายเลือดและน้ำออกจากโพรงสมอง ซึ่งต้องผ่าตัดเปลี่ยนทุก 5 ถึง 7 วัน มิฉะนั้นจะเกิดอาการติดเชื้อ ในวันเดียวกันนั้นได้เจาะคอผู้ตายเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจด้วย หลังผ่าตัดผู้ตายไม่มีอาการดีขึ้น ยังมีอาการทรงตัวเหมือนเดิมคือ ไม่รู้สึกตัว ไม่สามารถพูดจาโต้ตอบได้ หลับตาตลอด ซึ่งอาการแย่กว่าตอนที่เข้ามาในครั้งแรก ต่อมาผู้ตายได้เสียชีวิต นาวาอากาศโท ส. มีความเห็นว่า ผู้ตายไม่สามารถที่จะกลับมามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ได้ตั้งแต่แรก เนื่องจากก้านสมองของผู้ตายถูกกดมาตลอดตั้งแต่แรก ดังนั้นผู้ป่วยจึงไม่สามารถทำนิติกรรมอะไรได้เลย ตามความเห็นที่ทำส่งศาล นอกจากนี้ผู้คัดค้านยังมีพยานนำสืบตรงกับพยานผู้ร้องว่า ตั้งแต่ผู้ตายเข้ารักษาในโรงพยาบาลต้องอยู่ในห้องไอ.ซี.ยู. และใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่รู้สึกตัวมาโดยตลอด พยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่นำสืบมาจึงรับฟังข้อเท็จจริงได้โดยแจ้งชัดว่า ตั้งแต่ผู้ตายเข้ารักษาในโรงพยาบาลจนถึงวันตายนั้น ผู้ตายไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่รู้สึกตัว ไม่รับรู้และไม่สามารถพูดจาโต้ตอบกับใครได้ ดังนั้น เมื่อการทำพินัยกรรมคือการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 และ 1647 แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏผู้ตายไม่รู้สึกตัว ไม่มีสติสัมปชัญญะ พูดจาไม่ได้ บังคับร่างกายด้วยตนเองก็ไม่ได้ ผู้ตายจึงไม่สามารถที่จะแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายได้ด้วยตนเองในวันเวลาที่ระบุว่ามีการทำพินัยกรรม ข้อความทั้งหมดในพินัยกรรมจึงมิใช่เจตนาที่แท้จริงของผู้ตาย แต่เป็นข้อความที่แสดงเจตนาของผู้แอบอ้างจัดทำขึ้นเอง พินัยกรรมจึงเป็นพินัยกรรมปลอมไม่มีผลบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาข้างต้น และเมื่อพินัยกรรมเป็นพินัยกรรมปลอมแล้ว ข้ออ้างฎีกาอื่น ๆ ของผู้ร้องก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปแต่ประการใด ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

          3. การทำพินัยกรรมต้องมีข้อความกำหนดการเผื่อตายไว้ในเรื่องทรัพย์สิน หากทำหนังสือโดยต้องการมอบทรัพย์สินให้ก่อนตายก็มิใช่พินัยกรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10243/2554  การตีความเจตนาต้องอาศัยข้อความในหนังสือเป็นสำคัญ การที่ ว. ทำหนังสือ 2 ฉบับ ฉบับแรกแม้จะใช้ชื่อหนังสือว่า หนังสือมอบมรดก แต่มีข้อความตอนหนึ่ง ให้ผู้คัดค้านเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นต่อจาก ว. นับแต่วันทำหนังสือฉบับนั้นเป็นต้นไป แสดงให้เห็นว่า ว. ประสงค์จะยกทรัพย์สินของตนให้แก่ผู้คัดค้านในวันนั้น หาใช่ให้ทรัพย์ตกเป็นของผู้คัดค้านเมื่อ ว. ถึงแก่ความตายไม่ ส่วนหนังสืออีกฉบับหนึ่งใช่ชื่อว่า หนังสือมอบกรรมสิทธ์ มีข้อความสรุปว่า ว. ขอยกที่ดินพร้อมบ้านให้แก่ผู้คัดค้านเพื่อเป็นการชำระหนี้ที่ ว. ค้างชำระแก่ผู้คัดค้าน ทั้งยังมีข้อความว่า ว. พร้อมที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธ์ในที่ดินและบ้านให้แก่ผู้คัดค้านหากผู้คัดค้านร้องขอ โดยไม่มีข้อความตอนใดแสดงให้เห็นว่า ว. ประสงค์จะให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของผู้คัดค้านเมื่อ ว. ถึงแก่ความตายแล้วเช่นกัน หนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวที่ไม่มีข้อความกำหนดการเผื่อตายไว้ จึงมิใช่พินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 เมื่อหนังสือทั้งสองฉบับไม่เป็นพินัยกรรมตามที่ผู้คัดค้านฎีกา ผู้คัดค้านจึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ว. ทั้งไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกนั้น จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ว. ได้

          4. ถ้าข้อกำหนดพินัยกรรมบางข้อไม่สามารถทำได้ ข้อกำหนดพินัยกรรมข้อนั้นก็สิ้นผล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7249/2553  ผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับแรก ข้อ 1 ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2668 ให้แก่บุตร 5 คน คนละ 626.8 ตารางวา ข้อ 2 ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2308 เฉพาะส่วนของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 เท่ากับที่ยกให้บุตรตามข้อ 1 ต่อมาผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับที่สองว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2308 เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา ที่เหลือจากยกให้จำเลยที่ 2 ยินดียกให้โจทก์ทั้งหมด ดังนี้ เห็นได้ว่าเกิดจากการคำนวณเนื้อที่ดินเฉพาะส่วนของผู้ตายผิดพลาดว่าเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา หรือ 710 ตารางวา แต่ความจริงที่ดินส่วนของผู้ตายมีเนื้อที่เพียง 606.66 ตารางวา เมื่อยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2308 เฉพาะส่วนของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 606.66 ตารางวา ยังไม่ครบตามจำนวนเนื้อที่ดินที่ผู้ตายระบุไว้ตามที่พินัยกรรมฉบับแรก จึงไม่มีที่ดินโฉนดเลขที่ 2308 เหลือแบ่งแก่โจทก์ ข้อกำหนดพินัยกรรมที่ยกที่ดินแก่โจทก์จึงสิ้นผล

           5. สถานที่ทำพินัยกรรมไม่ใช่ข้อสาระสำคัญของแบบแห่งพินัยกรรมซึ่งจำต้องระบุไว้ การที่ระบุสถานที่ทำพินัยกรรมผิดจากความเป็นจริงไม่ทำให้พินัยกรรมต้องเสียไปแต่อย่างใด

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8747/2550  สถานที่ทำพินัยกรรมไม่ใช่ข้อสาระสำคัญของแบบแห่งพินัยกรรมซึ่งจำต้องระบุไว้แต่อย่างใด ดังนั้น การที่ระบุสถานที่ทำพินัยกรรมผิดจากความเป็นจริงไม่ทำให้พินัยกรรมต้องเสียไปแต่อย่างใด
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามเป็นบุตรของนาง ล.ผู้ตาย เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2541 นาง ล.ได้ถึงแก่ความตาย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามว่า พินัยกรรมมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ และสมควรตั้งผู้คัดค้านทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ พยานผู้ร้องมีตัวผู้ร้องและ จ. เบิกความว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2541 จ. ได้ทำพินัยกรรมให้กับผู้ตาย จากนั้นพากันเดินทางไปที่สำนักงานเขตดินแดงและผู้ตายลงชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรม จ. ลงชื่อเป็นพยานและ อ. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตดินแดงลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมและมอบพินัยกรรมให้หัวหน้าฝ่ายทะเบียนเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานเขตด้วย พินัยกรรมดังกล่าวระบุให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้รบมรดกตามพินัยกรรม ผู้คัดค้านทั้งสามนำสืบว่า นาง ล. ผู้ตายมีอาการสมองฝ่อ สติเลอะเลือนไม่สามารถจำบุตรหลานได้ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้ร้องพาผู้ตายไปรักษาตัวที่สถาบันประสาทวิทยา ผู้ตายพูดจาไม่รู้เรื่อง จึงพาไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลเดอะซีเนียร์ หลังจากนั้นกลับมาพักที่บ้านผู้ร้องและผู้ตายผูกคอตายที่บ้านผู้ร้อง แต่นายแพทย์ ส.กับนายแพทย์ ฉ. เบิกความว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2541 นายแพทย์ ส.ได้ทำการตรวจรักษาผู้ตาย พบว่า ผู้ตายมีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอสมองขาดเลือดเป็นจุดๆ มีอาการวิงเวียนเป็นบางครั้ง แต่สติสัมปชัญญะยังสมบูรณ์ สามารถพูดคุยกันรู้เรื่องดี เห็นว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามต่างเบิกความโต้แย้งกันโดยผู้ร้องยืนยันว่าผู้ตายขณะทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ แต่ผู้คัดค้านทั้งสามอ้างว่าขณะผู้ตายทำพินัยกรรม ผู้ตายมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ แต่นายแพทย์ ส. และนายแพทย์ ฉ. พยานผู้คัดค้านทั้งสามซึ่งเป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใด กลับเบิกความว่า พยานเป็นผู้ตรวจรักษาผู้ตายก่อนถึงแก่ความตายระหว่างปี 2541 ถึง 2543 โดยนายแพทย์ ส. ตรวจรักษาผู้ตายก่อนถึงแก่ความตายหลังทำพินัยกรรมประมาณ 1 เดือน และนายแพทย์ ฉ. ตรวจรักษาผู้ตายเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2543 หลังจากผู้ตายทำพินัยกรรมได้ประมาณ 2 ปี เบิกความยืนยันว่าผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ นอกจากนี้ นายแพทย์ ส.และนาย ฉ.ยังเบิกความตอบคำถามค้านของผู้ร้องว่า ผู้ตายสามารถพูดคุยรู้เรื่องและมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์พอที่จะทำพินัยกรรมได้ ประกอบกับหนังสือรับรองของแพทย์ก็ไม่ได้ระบุว่าทำขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แตกต่างกับคำเบิกความของ จ.ที่ว่า พินัยกรรมทำขึ้นที่สำนักงานของ จ. ที่กรุงเทพมหานคร เห็นว่า สถานที่ทำพินัยกรรมไม่ใช่ข้อสาระสำคัญของแบบแห่งพินัยกรรมซึ่งจำต้องระบุไว้แต่อย่างใด ดังนั้น การที่ระบุสถานที่ทำพินัยกรรมผิดจากความเป็นจริง ไม่ทำให้พินัยกรรมต้องเสียไปแต่อย่างใด สำหรับฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามที่ว่าผู้ร้องไม่ได้นำตัวนาง อ. พยานในพินัยกรรมมาเบิกความเป็นพยาน จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ขณะทำพินัยกรรมนั้น การที่ผู้ร้องจะนำพยานเข้าสืบแค่ไหนเพียงใดเป็นเรื่องดุลยพินิจของผู้ร้อง และฝ่ายผู้คัดค้านทั้งสามเองก็สามารถอ้างนาง อ. เป็นพยานของตนได้ ไม่มีข้อพิรุธแต่อย่างใด พยานหลักฐานผู้ร้องมีน้ำหนักดีกว่าพยานผู้คัดค้านทั้งสาม จึงรับฟังได้ว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมในขณะที่ผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์พินัยกรรมดังกล่าวใช้บังคับได้ตามกฎหมาย จึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและไม่มีเหตุที่จะตั้งผู้คัดค้านทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามฟังไม่ขึ้น”

          6. ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของพินัยกรรมคือ ต้องเป็นคำสั่งครั้งสุดท้ายในการแสดงเจตนากำหนดเผื่อตายของตน กล่าวคือ ในขณะที่ตายนั้นไม่มีคำสั่งที่ออกมาภายหลังลบล้างคำสั่งนั้น ทั้งนี้ตามมาตรา 1697 "ถ้าผู้ทำพินัยกรรมมิได้แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น และปรากฏว่าพินัยกรรมฉบับก่อนกับฉบับหลังขัดกัน ให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง เฉพาะในส่วนที่มีข้อความขัดกันนั้นเท่านั้น" หากปรากฏว่ามีพินัยกรรมฉบับใหม่ออกมามีข้อความลบล้างพินัยกรรมฉบับเก่า พินัยกรรมฉบับเดิมก็ถือว่ายกเลิกไป เพราะไม่ใช่คำสั่งครั้งสุดท้าย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8055/2556   ทรัพย์มรดกที่ ด. ได้รับจากกองมรดกของ ธ. เป็นที่ดิน ซึ่งผู้จัดการมรดกของ ธ. ได้ดำเนินการขายที่ดินทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งเงินแก่ทายาทของ ธ. เป็นคราว ๆ และ ด. ได้รับเงินส่วนแบ่งมรดกดังกล่าวด้วย เมื่อ ด. ได้รับเงินส่วนแบ่งมรดกของ ธ. แล้ว ก็หาได้ระบุกันเงินส่วนดังกล่าวไว้ต่างหากเป็นพิเศษไม่ เงินที่ ด. ได้รับจากกองมรดกของ ธ. จึงระคนกับเงินส่วนอื่นที่ ด. มีอยู่ ไม่อาจถือเป็นทรัพย์สินเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างได้ การที่ ด. ทำพินัยกรรมฉบับก่อนยกเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ จึงหาเป็นพินัยกรรมลักษณะเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1651 (2) ไม่ เมื่อต่อมา ด. ได้ทำพินัยกรรมฉบับหลังยกเงินจำนวนเดียวกันให้จำเลยอีก ข้อความของพินัยกรรมทั้งสองฉบับที่ระบุให้เงินของ ด. ตกแก่ทายาทต่างคนกันจึงขัดกัน และ ด. ผู้ทำพินัยกรรมมิได้แสดงเจตนาในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 1697 ที่ให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง โจทก์จึงหามีสิทธิใดๆ ในทรัพย์มรดกของ ด. ไม่ เพราะสิทธิของโจทก์ถูกยกเลิกไปแล้ว

          7. แต่ถ้าคำสั่งครั้งสุดท้าย ไม่มีข้อความลบล้างคำสั่งในการแสดงเจตนากำหนดเผื่อตายของตนก่อนหน้านี้ พินัยกรรมฉบับเดิมก็ยังคงอยู่ ใช้บังคับได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7462/2555  พินัยกรรมฉบับแรก ผู้ทำพินัยกรรมยกที่ดิน 4 แปลง และบ้านให้แก่จำเลยกับพี่น้องของผู้ทำพินัยกรรม และระบุตัดทายาทอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมไม่ให้รับมรดก พินัยกรรมฉบับที่ 2 ผู้ทำพินัยกรรมยกที่ดินอีก 3 แปลง ซึ่งไม่ใช่ที่ดินที่ระบุในพินัยกรรมฉบับแรกให้พี่น้องของผู้ทำพินัยกรรม เมื่อพินัยกรรมฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นพินัยกรรมฉบับหลังไม่มีข้อความให้เพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรกหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมฉบับแรก จึงต้องถือว่าพินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมฉบับแรกยังคงมีอยู่ และกรณีไม่ใช่พินัยกรรมฉบับก่อนและฉบับหลังขัดกัน เมื่อพินัยกรรมฉบับแรกสมบูรณ์ ทรัพย์สินในพินัยกรรมฉบับแรกจึงไม่ใช่ทรัพย์สินนอกพินัยกรรมฉบับที่ 2 แต่เป็นการที่ผู้ตายกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินแต่ละรายไว้ในพินัยกรรมแต่ละฉบับ โจทก์แม้เป็นทายาทโดยธรรมแต่ไม่ใช่ผู้รับพินัยกรรมจึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ทำพินัยกรรมในส่วนที่ไม่ได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมเท่านั้น

          8. ผู้ทำพินัยกรรมสามารถทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะได้รับในอนาคตได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3523/2532  การทำพินัยกรรมอาจกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินที่จะได้มาในอนาคตได้ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมมีข้อความระบุว่าทรัพย์สินของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะทำพินัยกรรมหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้า ผู้ตายยกให้แก่จำเลยแต่ผูเดียว ดังนั้น ทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ได้มาภายหลังที่ผู้ตายทำพินัยกรรมก็ย่อมตกเป็นของจำเลยซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมด้วย

          การเพิกถอนพินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรมก่อนผู้ทำพินัยกรรมตาย สามารถทำได้ 3 วิธี คือ
          (1) ทำพินัยกรรมฉบับหลังเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อน
          (2) ผู้ทำพินัยกรรมทำลายหรือขีดฆ่าพินัยกรรมฉบับนั้นด้วยความตั้งใจ
          (3) โอนหรือทำลายทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมไปด้วยความตั้งใจ กรณีนี้ หากเป็นการโอนต้องเป็นการโอนที่มีผลสมบูรณ์ด้วย คือ ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากหากการโอนไม่มีผลแล้วทรัพย์นั้นก็กลับมาเป็นของผู้ทำพินัยกรรมเหมือนเดิม
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1364/2516  การที่ผู้ทำพินัยกรรมได้โอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมใด ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1696 วรรคแรก บัญญัติให้ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นเป็นอันเพิกถอนไปนั้น จะต้องเป็นเรื่องที่การโอนนั้นสมบูรณ์และมิได้ถูกเพิกถอนในภายหลัง เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกสินเดิมของตนคือที่ดินมีโฉนดพร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินให้แก่ ล. ซึ่งเป็นบุตรแล้วต่อมาเจ้ามรดกได้ไปจดทะเบียนโอนทรัพย์ตามพินัยกรรมให้แก่ ล. ผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมดังกล่าว โดยมิได้รับความยินยอมจากสามีเจ้ามรดก ต่อมาเมื่อสามีเจ้ามรดกบอกล้างนิติกรรมการโอนและฟ้องขอให้เพิกถอนการโอน ซึ่งศาลได้พิพากษาให้เพิกถอนการโอน และเจ้าพนักงานได้แก้สารบาญในโฉนดใส่ชื่อเจ้ามรดกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามเดิมแล้ว ข้อกำหนดพินัยกรรมของเจ้ามรดกจึงยังมิได้ถูกเพิกถอนไป ล. ยังคงมีสิทธิที่จะรับมรดกตามพินัยกรรมในทรัพย์ดังกล่าวได้

          การเพิกถอนพินัยกรรมภายหลังผู้ทำพินัยกรรมตาย
          หากผู้ทำพินัยกรรมแสดงเจตนาทำพินัยกรรมโดยบกพร่องเนื่องจากสำคัญผิด ถูกข่มขู่ หรือถูกกลฉ้อฉล เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายไปผู้มีส่วนได้เสียอาจเพิกถอนเสียได้โดยร้องขอต่อศาลภายในเงื่อนไขและระยะเวลา ตามมาตรา 1708 ถึง 1710