คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

          สัญญาทางปกครอง


          คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง เป็นคดีปกครองที่เกี่ยวข้องกับการมีนิติสัมพันธ์โดยการตกลงของคู่กรณีตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปที่จะผูกพันกันในรูปแบบของสัญญา ระหว่างเอกชนกับหน่วยงานทางปกครอง
          ทั้งนี้ ในบทนิยามศัพท์ มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 “สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
          นอกจากนี้ สัญญาทางปกครองยังจำต้องพิจารณาประกอบกับมติของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 6/2544 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2544 ซึ่งได้วางหลักไว้ว่า “สัญญาใดจะเป็นสัญญาทางปกครองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้นั้น ประการแรก คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายกระทำการแทนรัฐ ประการที่สอง สัญญานั้นมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐตกลงให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเข้าดำเนินการหรือร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง หรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองซึ่งก็คือการบริการสาธารณะบรรลุผล ดังนั้น หากสัญญาใดเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐมุ่งผูกพันตนกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค และมิได้มีลักษณะเช่นที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สัญญานั้นย่อมเป็นสัญญาทางแพ่ง”

          ลักษณะของสัญญาทางปกครอง จึงประกอบด้วย

          1.สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และ
          2.มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือสัญญาที่ให้เอกชนเข้าดำเนินการหรือร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง หรือสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ อย่างใดอย่างหนึ่ง


          คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง เป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 โดยศาลปกครองจะรับฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองไว้พิจารณาก็ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เป็นต้นว่า เงื่อนไขเกี่ยวกับการฟ้องคดีปกครองตามมาตรา 42 เงื่อนไขเกี่ยวกับคำขอซึ่งต้องเป็นคำขอที่ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับได้ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (3) รวมทั้งเงื่อนไขในเรื่องระยะเวลาฟ้องคดี ค่าธรรมเนียม หรือเงื่อนไขอื่นๆ

          ระยะเวลาในการฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

          สำหรับระยะเวลาในการยื่นฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองนั้นมีบัญญัติไว้โดยเฉพาะในมาตรา  51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งบัญญัติว่า “การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) ให้ยื่นฟ้องภายในหนึ่งปี และการฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) ให้ยื่นฟ้องภายในห้าปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี” การฟ้องคดีพิพาทที่เกี่ยวกับสัญญาทางปกครองซึ่งเป็นคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) จึงมีระยะเวลาฟ้องคดีภายในห้าปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี และเนื่องจากมีกฎหมายบัญญัติเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดีไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่นำหลักเรื่องการฟ้องคดีปกครองทั่วไป ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งกำหนดให้ฟ้องคดีปกครองภายในเก้าสิบวันมาใช้บังคับ

          คู่กรณีในสัญญาทางปกครอง

          สัญญาทางปกครองนั้น คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ
          โดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ได้ให้ความหมายคำว่า “หน่วยงานทางปกครอง” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง
          สำหรับ “บุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ” นั้น ตามที่ปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลปกครองมักจะเป็นผู้ที่มีฐานะเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ซึ่งตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ได้ให้นิยามคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า
          (1) ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคล หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง
          (2) คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท คณะกรรมการหรือบุคคลซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ คำสั่ง หรือมติใดๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล และ
          (3) บุคคลที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม (1) หรือ (2)

          เงื่อนไขเกี่ยวกับคำขอบังคับเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหาย

          การฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองจะต้องมีคำขอบังคับเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่ได้รับ ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับได้ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (3) โดยศาลมีอำนาจสั่งให้ใช้เงินหรือให้ส่งมอบทรัพย์สินหรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ โดยจะกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขอื่นๆ ไว้ด้วยก็ได้ ดังนั้น หากคำฟ้องคดีมีคำขอกำหนดคำบังคับที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองดังที่กล่าวมาข้างต้น ศาลย่อมไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้
          1. การบอกเลิกสัญญาทางปกครองด้วยเหตุผู้รับจ้างไม่เข้าดำเนินการตามสัญญาอันเนื่องมาจากมีปัญหาเกี่ยวกับรูปแบบการก่อสร้างตามที่กำหนดไว้ในสัญญา ผู้รับจ้างจึงฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ว่าจ้างพิจารณาแก้ไขรูปแบบการก่อสร้างและให้ทำสัญญากับผู้รับจ้างใหม่หรือต่ออายุสัญญาออกไป โดยกำหนดค่าจ้างและระยะเวลาจ้างตามสัญญาเดิมนั้น เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าการบอกเลิกสัญญาจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลมีอำนาจกำหนดคำบังคับได้
          คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 562/2547  กรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบลบอกเลิกสัญญาว่าจ้างก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กเพราะผู้รับจ้างไม่เข้าดำเนินการตามสัญญาจนล่วงเลยกำหนดเวลาแล้วเสร็จ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับรูปแบบในการก่อสร้างตามที่กำหนดไว้ในสัญญา โดยผู้ว่าจ้างไม่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการก่อสร้างฐานรากสะพานตามที่ผู้รับจ้างเสนอเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะของพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้าง ผู้รับจ้างจึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลกำหนดคำบังคับให้ผู้ว่าจ้างพิจารณาแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฐานรากสะพานและให้ทำสัญญาจ้างกับผู้รับจ้างใหม่ หรือต่ออายุสัญญาจ้างออกไปอีก โดยกำหนดค่าก่อสร้างและระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญาจ้างเดิม นั้น เป็นที่เข้าใจได้ว่าคำขอดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีเป็นการกล่าวอ้างว่าการบอกเลิกสัญญาจ้างข้างต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
          2. หน่วยงานทางปกครองผู้ว่าจ้างมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาจ้างและเรียกค่าเสียหายจากผู้รับจ้าง ผู้รับจ้างจึงฟ้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ว่าจ้างยกเลิกการบอกเลิกสัญญา ให้ขยายระยะเวลาตามสัญญาจ้าง และให้ระงับการเรียกร้องเงินตามหนังสือค้ำประกันสัญญา เป็นคำขอที่ศาลสามารถกำหนดคำบังคับให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้
          คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 553/2549  กรมศิลปากร (ผู้ถูกฟ้องคดี)ทำสัญญาว่าจ้างให้ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างอาคารดนตรีไทย คสล. 8 ชั้น แต่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเข้าทำงานตามสัญญาได้ทันที เนื่องจากสถานที่ก่อสร้างมีอุปสรรคในการทำงานทำให้การก่อสร้างล่าช้า ผู้ฟ้องคดีจึงขอขยายระยะเวลาในการก่อสร้างออกไปอีก แต่คณะกรรมการตรวจการจ้างของผู้ถูกฟ้องคดีไม่อนุมัติ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาจ้างและเรียกค่าเสียหายจากผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการบอกเลิกสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยข้อกำหนดในสัญญา เนื่องจากผู้ฟ้องคดีมีสิทธิที่จะขอขยายระยะเวลาในการก่อสร้าง และการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับเงินค่าจ้างในงวดงานที่ 6 รวมทั้งได้รับความเสียหายอื่นๆ เช่น ถูกริบหลักประกันสัญญาหรือถูกเรียกร้องเอาหลักประกันจากธนาคารผู้ค้ำประกันสัญญา เป็นต้น ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดียกเลิกการบอกเลิกสัญญา ให้ขยายระยะเวลาก่อสร้าง และให้ระงับการเรียกร้องเงินตามหนังสือค้ำประกันสัญญา นั้น คำขอดังกล่าวเป็นกรณีที่อยู่ในบังคับของเงื่อนไขของสัญญา และหากการบอกเลิกสัญญาของผู้ถูกฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยข้อกำหนดในสัญญาผู้ฟ้องคดีย่อมที่จะเข้าไปดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาได้ โดยผู้ถูกฟ้องคดีต้องพิจารณาการขอขยายระยะเวลาการทำงานให้แก่ผู้ฟ้องคดี เว้นแต่โดยสภาพจะไม่เปิดช่องให้ทำได้ นอกจากนี้ผู้ถูกฟ้องคดียังไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอย่างใดๆ จากผู้ฟ้องคดี อีกทั้ง หากผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายอันเกิดจากการบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบ ผู้ฟ้องคดีย่อมมีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนความเสียหายพร้อมดอกเบี้ย คำขอของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่าการบอกเลิกสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยข้อกำหนดในสัญญา ซึ่งเป็นคำขอที่ศาลสามารถกำหนดคำบังคับให้ได้ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ
          3. คำขอให้ศาลกำหนดคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นคู่สัญญาแก้ไขข้อสัญญาที่ขัดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญซึ่งออกมาใช้บังคับภายหลังการทำสัญญา และให้ผู้ถูกฟ้องคดีงดเว้นการใช้สิทธิบางประการตามสัญญาหรือให้บุคคลอื่นทำหน้าที่ตามสัญญาแทนผู้ถูกฟ้องคดี เป็นคำขอให้ศาลกำหนดให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งกระทำการหรืองดเว้นกระทำการซึ่งแตกต่างไปจากที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ศาลไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ได้
          คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 622/2545  กรณีที่ผู้ฟ้องคดีทำสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดี)ในปี 2535 ต่อมาเมื่อมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 แล้ว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผลของกฎหมายดังกล่าวทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีเปลี่ยนมาเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายหนึ่งเท่านั้น ผู้ฟ้องคดีจึงอยู่ในสถานะที่มีเสรีภาพในการแข่งขันเท่าเทียมกันกับผู้ถูกฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดียังคงอ้างอำนาจตามสัญญาดังกล่าวบางข้อซึ่งมีลักษณะที่ขัดต่อหลักการแข่งขันอย่างเสรี เท่าเทียม และเป็นธรรม จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาและมีคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีแก้ไขข้อสัญญาที่มีลักษณะข้างต้นและให้ผู้ถูกฟ้องคดีงดเว้นใช้สิทธิบางประการตามสัญญา หรือให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดทำหน้าที่ต่างๆ ตามสัญญาแทนผู้ถูกฟ้องคดี นั้น ถือได้ว่าเป็นคำขอให้ศาลปกครองกำหนดคำบังคับให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดนอกเหนือหรือแตกต่างไปจากที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ในสัญญา ซึ่งศาลไม่อาจมีคำบังคับได้ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ
          4. การมีคำขอให้ศาลแก้ไขข้อสัญญาที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่เป็นธรรมหรือให้ยกเลิกการทำสัญญาดังกล่าว เป็นกรณีที่ศาลไม่อาจมีคำบังคับได้
          คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 721/2548  กรณีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (ผู้ถูกฟ้องคดี) ทำสัญญาว่าจ้างให้ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างต่อเติมอาคารเรียน แต่ภายหลังจากทำสัญญาแล้วผู้ฟ้องคดีเห็นว่าข้อสัญญาเกี่ยวกับการแบ่งงวดงาน งวดเงินและกำหนดระยะเวลาการปฏิบัติงานไม่เป็นธรรมกับผู้ฟ้องคดี จึงมีหนังสือถึงคณะกรรมการตรวจการจ้างเพื่อขอแก้ไขข้อสัญญาที่เห็นว่าไม่เป็นธรรมดังกล่าว แต่คณะกรรมการฯ และผู้ควบคุมงานมีมติยืนยันตามข้อสัญญาเดิม และเร่งรัดให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติงานตามสัญญา ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้แก้ไขข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หรือให้ยกเลิกสัญญาฉบับดังกล่าว นั้น โดยที่อำนาจออกคำบังคับตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯเป็นอำนาจในการสั่งให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขของสัญญาเท่านั้น ศาลไม่มีอำนาจสั่งให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการนอกเหนือหรือเกินไปกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ ดังนั้น คำขอของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นคำขอที่ศาลไม่อาจออกคำบังคับให้ได้ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (3) ดังกล่าว
          5. คำขอให้ศาลกำหนดคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีแก้ไขอัตราค่าปรับตามสัญญาให้มีมูลค่าลดลง เป็นคำขอให้ศาลกำหนดให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งกระทำการหรืองดเว้นกระทำการซึ่งแตกต่างไปจากที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ศาลไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ได้
          คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 32/2549  กรณีที่ผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขงฟ้องเทศบาลตำบลซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ว่าจ้าง(ผู้ถูกฟ้องคดี) โดยขอให้ศาลกำหนดคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีแก้ไขอัตราค่าปรับจากอัตราร้อยละ 0.25 เหลืออัตราร้อยละ 0.01 ของมูลค่างานที่ว่าจ้างเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้องาน นั้น เป็นคำขอให้ศาลกำหนดคำบังคับให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งกระทำการหรืองดเว้นกระทำการนอกเหนือจากที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ในสัญญา ศาลจึงไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ได้
          6. หน่วยงานทางปกครองคู่สัญญาได้ดำเนินการตามคำขอของผู้ฟ้องคดีภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลแล้ว จึงไม่เป็นกรณีที่ศาลมีเหตุให้ต้องบังคับตามคำขออีก
          คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 834/2547 การที่กรมชลประทาน (ผู้ถูกฟ้องคดี)ทำสัญญาว่าจ้างให้ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างฝายและท่อรับน้ำลงคลองพร้อมขุดลอกลำห้วย ต่อมาเมื่อถึงกำหนดส่งมอบงาน ผู้ฟ้องคดีได้ส่งมอบงานงวดสุดท้ายล่าช้า ผู้ถูกฟ้องคดีจึงหักเงินค่าปรับจากเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างดังกล่าว ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการหักเงินค่าปรับไม่ถูกต้องตามข้อสัญญา จึงยื่นฟ้องเพื่อขอเงินค่าปรับคืนและขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือรับรองผลงานโดยให้ออกหนังสือรับรองผลงานฉบับใหม่แก่ผู้ฟ้องคดี นั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในเวลาต่อมาว่าผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะผู้ว่าจ้างได้ออกหนังสือดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้รับจ้างแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะออกคำบังคับตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ โดยการสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีออกหนังสือข้างต้นให้แก่ผู้ฟ้องคดีอีก
          7. ตามคำฟ้องเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ไม่ใช่การละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายดังที่ระบุในคำฟ้อง คำขอตามคำฟ้องซึ่งขอให้หน่วยงานทางปกครองปฏิบัติหน้าที่ภายในเวลาที่กำหนด จึงเป็นคำขอที่ศาลไม่มีอำนาจกำหนดคำบังคับให้ได้ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (3) ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ
          คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 692/2546  กรณีที่กองทัพเรือทำสัญญาว่าจ้างผู้ฟ้องคดีให้สร้างเรือตรวจการณ์ปืน แต่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถส่งมอบเรือได้ตามกำหนดโดยผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเหตุที่ทำให้ส่งมอบงานล่าช้าเกิดจากกองทัพเรือผู้ว่าจ้างนั้นเอง จึงขอให้กองทัพเรือลดค่าปรับแต่ปลัดกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาเกี่ยวกับค่าปรับตามที่กำหนดไว้ในสัญญา เห็นควรลดค่าปรับเป็นจำนวนน้อยกว่าที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอ ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์การลดค่าปรับดังกล่าวต่อปลัดกระทรวงกลาโหมและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแต่ไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องขอให้ศาลสั่งให้หน่วยราชการต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวพิจารณาและมีคำสั่งในเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จตามระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชน พ.ศ. 2532 และตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2532 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง นั้น การที่ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งการพิจารณาลดค่าปรับเป็นการโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองระหว่างกองทัพเรือกับผู้ฟ้องคดี ส่วนการใช้อำนาจในการงดหรือลดค่าปรับแก่คู่สัญญาเป็นกรณีที่ปลัดกระทรวงกลาโหมใช้สิทธิตามสัญญาว่าจ้างไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ราชการทั่วไปตามที่กฎหมายกำหนด การที่ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้รับจ้างไม่เห็นด้วยกับการอนุมัติให้ลดค่าปรับและมีคำขอให้ผู้มีอำนาจเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวพิจารณาค่าปรับใหม่ จึงถือเป็นการโต้แย้งสิทธิตามสัญญาว่าจ้าง เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (เนื่องจากเรือตรวจการณ์ปืนเป็นเครื่องมือสำคัญของกองทัพเรือในการจัดทำบริการสาธารณะให้บรรลุผล สัญญาจ้างสร้างเรือดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง) ไม่ใช่การโต้แย้งในประเด็นการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนฯ และตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนของหน่วยงานของรัฐฯ ดังนั้น เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) ข้างต้น คำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้หน่วยงานทางปกครองปฏิบัติหน้าที่ภายในเวลาที่กำหนด จึงเป็นคำขอที่ศาลไม่มีอำนาจกำหนดคำบังคับตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นผลให้ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
          8. ผู้ให้สัมปทานกระทำการผิดเงื่อนไขในสัญญาสัมปทาน ผู้รับสัมปทานย่อมใช้สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนความเสียหายจากการผิดสัญญาได้ แต่สำหรับการยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้ขยายอายุสัมปทานนั้น กรณีนี้เป็นอำนาจดุลพินิจของผู้ให้สัมปทาน จึงเป็นคำขอที่ไม่เป็นไปตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งศาลปกครองไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ได้
          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.14-อ.22/2548  กรณีที่ผู้ฟ้องคดีทำสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) โดยมีกำหนดระยะเวลาให้สัมปทานเป็นเวลา 15 ปี แต่ในระหว่างอายุสัมปทาน อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้มีคำสั่งตามมติคณะรัฐมนตรีให้ผู้ฟ้องคดีระงับการทำไม้ตามเงื่อนไขสัมปทาน ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้ขยายระยะเวลาการทำไม้ป่าชายเลนออกไปอีก 4 ปี เพื่อทดแทนระยะเวลาที่ไม่ได้ทำไม้ในช่วงที่มีการสั่งระงับการทำไม้ดังกล่าว นั้น การสั่งระงับการทำไม้ข้างต้นเป็นการใช้อำนาจของคู่สัญญาฝ่ายเดียวที่มีผลกระทบสิทธิในการทำไม้ป่าชายเลนตามอายุสัมปทาน และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นกรณีที่ผู้ให้สัมปทานกระทำผิดเงื่อนไขและข้อกำหนดในสัญญาสัมปทาน ซึ่งผู้รับสัมปทานชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากผู้ให้สัมปทานฐานผิดสัญญาสัมปทานได้ แต่เมื่อปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีมิได้มีคำขอค่าทดแทนความเสียหายดังกล่าว แต่กลับขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ขยายระยะเวลาทำไม้ป่าชายเลนตามสัญญาสัมปทานออกไปอีก 4 ปี นับแต่วันที่สัญญาสัมปทานสิ้นสุด ซึ่งเป็นอำนาจดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่จะขยายอายุสัมปทานต่อไปให้อีกหรือไม่ก็ได้ กรณีจึงเป็นคำขอที่ศาลไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ได้ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

          ค่าธรรมเนียมศาล

          คดีพิพาทที่เกี่ยวกับสัญญาทางปกครองเป็นคดีพิพาทที่ผู้ฟ้องคดีสามารถขอให้ศาลกำหนดคำบังคับให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินได้ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง พ.ศ. 2542  ดังนั้น หากผู้ฟ้องคดีมีคำขอในลักษณะดังกล่าวผู้ฟ้องคดีย่อมมีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตามมาตรา 45 วรรคสี่ ซึ่งบัญญัติว่า "การฟ้องคดีไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เว้นแต่การฟ้องคดีขอให้สั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินอันสืบเนื่องจากคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) ให้เสียค่าธรรมเนียมศาลตามทุนทรัพย์ในอัตราตามที่ระบุไว้ในตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สำหรับคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ " หากผู้ฟ้องคดีไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมศาลก็สามารถยื่นคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลได้ตามมาตรา 45/1 ซึ่งศาลก็จะทำการไต่สวนก่อนมีคำสั่งต่อไป

          ***ตัวอย่างคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดและคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่วินิจฉัยว่ากรณีสัญญาใดเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่


          1. กรณีบริษัท ขนส่ง จำกัด จัดให้มีการเช่าพื้นที่บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารเพื่อทำร้านค้า ร้านอาหารและป้ายโฆษณาภายในบริเวณสถานีขนส่งก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าไปใช้บริการในบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารของบริษัทฯ และเป็นการดำเนินธุรกิจต่อเนื่องจากการประกอบกิจการขนส่งผู้โดยสารเยี่ยงผู้ประกอบกิจการธุรกิจทั่วไป ไม่ใช่เป็นกิจการที่ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง บริษัทฯ จึงไม่ใช่หน่วยงานทางปกครองตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ กรณีที่พิพาทไม่ใช่คดีปกครองที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
          คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 685/2547  กรณีที่บริษัท ขนส่ง จำกัด ดำเนินการเพื่อให้บุคคลภายนอกเข้าไปรับสัมปทานเพื่อให้ได้รับสิทธิเช่าพื้นที่ร้านค้า ร้านอาหารและป้ายโฆษณาภายในบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารในเขตกรุงเทพมหานคร นั้น บริษัท ขนส่ง จำกัด มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้บริษัทฯ จะเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณฯ แต่ก็เป็นเพียงรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินกิจการทางด้านธุรกิจขนส่งโดยทั่วไป มิได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา อีกทั้งการดำเนินการเพื่อจัดให้มีการเช่าพื้นที่ร้านค้า ร้านอาหาร และป้ายโฆษณาในบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าไปใช้บริการในบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารของบริษัทฯ และเป็นการดำเนินธุรกิจต่อเนื่องจากการประกอบกิจการขนส่งผู้โดยสารเยี่ยงผู้ประกอบกิจการธุรกิจทั่วไป ไม่ใช่เป็นกิจการที่ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง บริษัทฯ จึงไม่ใช่หน่วยงานทางปกครองตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ และกรณีที่พิพาทไม่ใช่คดีปกครองที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ
          ทั้งนี้ แม้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่สัญญาที่จัดทำขึ้นอาจไม่ใช่สัญญาทางปกครอง หากแต่มีฐานะเป็นเพียงสัญญาของฝ่ายปกครองที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเอกชน โดยเป็นสัญญาทางแพ่ง โดยมติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 6/2544 ได้วางหลักไว้ว่า “หากสัญญาใดเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐมุ่งผูกพันตนกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค...สัญญานั้นย่อมเป็นสัญญาทางแพ่ง” เมื่อเป็นสัญญาทางแพ่งก็ไม่ใช่คดีปกครองที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง หากแต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งส่วนมากสัญญาประเภทนี้มักจะเป็นประเภทสัญญาซื้อขาย สัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ เป็นต้น เนื่องจากเป็นสัญญาที่ผูกพันตนกันด้วยความสมัครใจบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค และมิได้มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ อย่างใดอย่างหนึ่ง

          2. สัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคซึ่งมีบริษัทมหาชนจำกัดที่แปรรูปมาจากรัฐวิสาหกิจเป็นคู่สัญญา มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง เนื่องจากเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาเป็นหน่วยงานทางปกครอง
          คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 4/2549  กรณีที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากบริษัทฯ เลิกจ้างผู้ฟ้องคดีตามสัญญาจ้างเป็นผู้บริหารตำแหน่งผู้ว่าการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับการท่าอากาศยานฯ โดยผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เมื่อในขณะทำสัญญาพิพาท การท่าอากาศยานฯ เป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ แม้ขณะเกิดข้อพิพาทคดีนี้ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยจะได้แปรสภาพจากรัฐวิสาหกิจไปเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดแล้วก็ตาม แต่ยังคงมีวัตถุประสงค์ในการประกอบและส่งเสริมการท่าอากาศยาน รวมทั้งการดำเนินกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกับการประกอบกิจการท่าอากาศยานเช่นเดิม ทั้งยังมีสิทธิได้รับยกเว้น มีสิทธิพิเศษหรือได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยหรือกฎหมายอื่นตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) พ.ศ. 2545 บริษัทฯ จึงเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง และมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ สัญญาจ้างเป็นผู้บริหารในฐานะผู้ว่าการการท่าอากาศยานฯ ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับการท่าอากาศยานฯ จึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่าจ้างให้ผู้ฟ้องคดีเข้าเป็นผู้แทนของบริษัทฯ เพื่อดำเนินกิจการประกอบและส่งเสริมการท่าอากาศยาน รวมทั้งการดำเนินกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกับการประกอบกิจการท่าอากาศยานอันเป็นบริการสาธารณะให้บรรลุผล สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ การฟ้องขอให้ชำระค่าเสียหายและค่าตอบแทนตามสัญญาจ้างเป็นผู้บริหารดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ
          คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 25/2548  กรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ผู้ว่าจ้าง (ผู้ฟ้องคดี) กับเอกชนผู้รับจ้าง (ผู้ถูกฟ้องคดี) นั้น เมื่อปรากฏว่าเดิมผู้ฟ้องคดีเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ต่อมาได้มีการประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงทุนของการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นหุ้นตามพระราชบัญญัติดังกล่าว แล้วจัดตั้งเป็นบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการดาวเทียมสื่อสาร รวมทั้งการให้บริการต่างๆ เกี่ยวกับการสื่อสารเช่นเดียวกับการสื่อสารแห่งประเทศไทยที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทยฯ ผู้ฟ้องคดีจึงมีฐานะเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครอง และเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ดังนั้น สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการสื่อสารโทรคมนาคมข้างต้น จึงเป็นสัญญาที่มีหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาและโดยที่สัญญาดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค จึงเป็นสัญญาทางปกครอง การที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญา จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

          3. สัญญาจ้างเหมาปรับปรุงระบบประปา เป็นสัญญาให้จัดทำบริการสาธารณะ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง
          คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 199/2545  สัญญาว่าจ้างวางท่อประปา เปลี่ยนมาตรวัดน้ำ และประสานมาตรวัดน้ำให้แก่ราษฎรผู้ใช้น้ำของหน่วยบริการของการประปาส่วนภูมิภาคกับเอกชนผู้รับจ้าง เป็นสัญญาให้จัดทำบริการสาธารณะในความหมายของสัญญาทางปกครองตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ เมื่อเอกชนผู้รับจ้างฟ้องขอให้ศาลสั่งให้การประปาส่วนภูมิภาคชำระค่าจ้างตามสัญญา จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

          4. สัญญาจ้างก่อสร้างหรือซ่อมแซมอาคารของส่วนราชการ เป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง
          คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 56/2548  สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารฝึกอบรมและหอพักพร้อมครุภัณฑ์ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์พืชสวนยะลา ระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรกับเอกชนผู้รับจ้าง เป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง
          คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 308/2547  สัญญาจ้างซ่อมแซมอาคารของกองสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เอกชนผู้รับจ้างดำเนินการซ่อมแซมอาคารหรือบำรุงรักษาอาคารของรัฐหรือถาวรวัตถุของรัฐ เมื่อผู้รับจ้างดำเนินการซ่อมแซมอาคารดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เข้าใช้ประโยชน์จากอาคาร อาคารดังกล่าวจึงเป็นองค์ประกอบและเครื่องมือสำคัญในการดำเนินบริการสาธารณะโดยมีลักษณะพิเศษเพื่อให้การใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองบรรลุผล การว่าจ้างดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะจึงเป็นสัญญาทางปกครอง
          คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 10/2545  สัญญาจ้างก่อสร้างปรับปรุงอาคารโรงพยาบาลอำเภอระหว่างจังหวัดชุมพรกับเอกชนผู้รับจ้าง เนื่องจากการสาธารณสุขเป็นบริการสาธารณะอย่างหนึ่งของรัฐ อาคารโรงพยาบาลของรัฐซึ่งเป็นถาวรวัตถุอันเป็นองค์ประกอบและเครื่องมือสำคัญในการดำเนินการบริการสาธารณะให้บรรลุผลและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้โดยตรง อาคารโรงพยาบาลของรัฐจึงเป็นสิ่งสาธารณูปโภค และเนื่องจากวัตถุแห่งสัญญา คือ การรับจ้างก่อสร้างปรับปรุงโรงพยาบาลจึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่หน่วยงานทางปกครองมอบให้เอกชนเข้าดำเนินการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคและเป็นสัญญาทางปกครอง
          คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 54/2547  สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ระหว่างเทศบาลตำบลกับเอกชนผู้รับจ้างมีวัตถุประสงค์ให้ผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นและเพื่อเป็นเครื่องมือในการดำเนินบริการสาธารณะภายในท้องถิ่นให้บรรลุผล อาคารดังกล่าวเป็นสิ่งสาธารณูปโภค กรณีจึงถือได้ว่าหน่วยงานทางปกครองได้มอบหมายให้เอกชนเข้าดำเนินการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง

          5. สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่จะถูกเวนคืน มีลักษณะเป็นการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค จึงเป็นสัญญาทางปกครอง
          คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 22/2545  สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่จะถูกเวนคืนเพื่อก่อสร้างถนนพุทธมณฑลสาย 1 ระหว่าง กรุงเทพมหานครกับเจ้าของที่ดิน เป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ โดยใช้อำนาจทางปกครองบังคับซื้อที่ดินจากเอกชน ทั้งการเวนคืนที่ดินพิพาทก็เพื่อใช้ในการก่อสร้างถนนซึ่งเป็นสาธารณูปโภคที่ประชาชนเป็นผู้ใช้และได้รับประโยชน์โดยตรง อันมีลักษณะเป็นการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค จึงเป็นสัญญาทางปกครอง

          ***แต่สัญญาค้ำประกันสัญญาทางปกครองเป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาทางปกครองซึ่งเป็นสัญญาหลัก ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกับสัญญาหลัก

          คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 28/2546   สัญญาจ้างปรับปรุงถนนระหว่างเทศบาลนครยะลากับเอกชนคู่สัญญา เป็นสัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคอันเป็นบริการสาธารณะ จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ สำหรับสัญญาค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างดังกล่าว แม้จะมีลักษณะเป็นสัญญาทางแพ่ง แต่ก็เป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาจ้างปรับปรุงถนนซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง ประกอบกับได้มีการฟ้องเกี่ยวกับกรณีพิพาทตามสัญญาทางปกครองซึ่งเป็นสัญญาหลักอยู่ที่ศาลปกครอง และข้อพิพาทในคดีสัญญาอุปกรณ์มีการโต้แย้งเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาหลักว่าผู้รับจ้างไม่ได้ผิดสัญญา จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยเกี่ยวข้องกับสัญญาหลักเสียก่อน ซึ่งจะมีผลไปถึงสัญญาค้ำประกันต่อไป ดังนั้น กรณีพิพาทเกี่ยวกับการฟ้องให้ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันจึงต้องฟ้องต่อศาลปกครองซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเดียวกันกับศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่พิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองอันเป็นสัญญาหลัก