1 มี.ค. 2567

การครอบครองทรัพย์มรดกในฐานะเจ้าของร่วมและแทนกันของทายาทโดยธรรม‬

          การครอบครองทรัพย์มรดกในฐานะเจ้าของร่วมและแทนกันของทายาทโดยธรรม

          ป.พ.พ.มาตรา 1745  "ถ้ามีทายาทหลายคน ทายาทเหล่านั้นมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกร่วมกันจนกว่าจะได้แบ่งมรดกกันเสร็จแล้ว และให้ใช้มาตรา 1356 ถึงมาตรา 1366 แห่งประมวลกฎหมายนี้บังคับ เพียงเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติแห่งบรรพนี้"

          กรณียังไม่มีการแบ่งปันทรัพย์มรดก ต้องถือว่าครอบครองในฐานะเจ้าของร่วมและแทนกัน ดังนี้ ทายาทจึงไม่มีสิทธินำทรัพย์มรดกส่วนของทายาทอื่นไปจำหน่ายจ่ายโอนโดยลำพัง

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่‬ 3340/2526 โจทก์ทั้งสี่และบิดาจำเลยร่วมกันครอบครองที่นามรดกแปลงพิพาทต่อจากเจ้ามรดก ถือได้ว่าร่วมกันรับมรดกดังกล่าวและเป็นเจ้าของที่นามรดกรายนี้ร่วมกันแล้ว แม้ภายหลังบิดาจำเลยจะเป็นฝ่ายครอบครองที่นาพิพาทแต่เพียงผู้เดียวก็ต้องถือว่าครอบครองในฐานะเจ้าของร่วมกันและแทนกันมิใช่เป็นการแย่งการครอบครองตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 จำเลยอยู่ในฐานะผู้สืบสิทธิของบิดาจำเลย การที่บิดาจำเลยยกที่นาแปลงพิพาทให้แก่บุตรของตนรวมทั้งจำเลยแล้วจำเลย เอาที่นาดังกล่าวขอออก น.ส.3 เป็นชื่อจำเลยและพี่น้อง ไม่ทำให้จำเลยได้สิทธิครอบครองในที่นาแปลงพิพาทในส่วนของโจทก์ทั้งสี่ เมื่อโจทก์ทั้งสี่ยื่นฟ้อง จำเลยยังไม่ถึง 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยไม่ยินยอมแบ่งที่นาแปลงพิพาทให้ โดยอ้างว่าที่นาดังกล่าวเป็นของจำเลยและพี่น้องของจำเลยโจทก์จึงไม่หมดสิทธิที่จะฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2528 การที่จำเลยยื่นคำร้องขอจัดการมรดกเกี่ยวกับที่ดินพิพาท ทั้งสองแปลงตามที่โจทก์ขอแบ่ง แสดงว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นทรัพย์สินในกองมรดกซึ่งอยู่ระหว่างจัดการมรดกถึงแม้ว่าจำเลยจะครอบครองที่พิพาทนั้นตั้งแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมแต่ผู้เดียว ก็เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกัน และต่อมาจำเลยก็ได้เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ดังนั้น การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะทายาทก็ดีและในฐานะผู้จัดการมรดกก็ดี ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จำเลยจึงจะยกอายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกย่อมมีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์พิพาทจากจำเลยได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2528)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 383/2535 โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ และห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องแต่ได้ความว่าโจทก์เป็นภริยาของ ต. จำเลยยกที่พิพาทให้ ต. ไม่ได้ยกให้โจทก์ด้วย หลังจาก ต. ตายโจทก์ครอบครองที่พิพาทตลอดมา โดยไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้ครอบครองอย่างเจ้าของ โดยเปลี่ยนลักษณะการยึดถือ ถือว่าโจทก์ครอบครองแทนทายาทของ ต. โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่พิพาทและไม่มีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3455/2537 การที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตร กับจำเลยที่ 2 และโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นหลาน โดยโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้น เมื่อเจ้ามรดกตายที่พิพาทจึงตกได้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ขอออก น.ส.3 ก. สำหรับที่พิพาท โดยใส่ชื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้รับมรดกคนหนึ่งและเป็นพี่ของโจทก์ทั้งสองร่วมด้วย อันเป็นการเข้ารับมรดกแสดงว่าจำเลยที่ 1 เข้าครอบครองที่พิพาทในฐานะทายาทตามพินัยกรรมและเป็นการเข้าครอบครองแทนโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยเมื่อจำเลยที่ 1 มิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจึงยังคงเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกัน การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการขายเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้นจำเลยที่ 3 ได้สิทธิไปเท่าที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอยู่การครอบครองที่พิพาทในส่วนของโจทก์ทั้งสองจะถือว่าเป็นการแย่งการครอบครองไม่ได้ โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์นั้นได้และจะนำอายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสองไม่ได้ คดีของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2627/2542 ประเด็นที่ผู้ร้องยกขึ้นกล่าวอ้างในคำร้องขอมีเพียงว่าผู้ร้องครอบครองทำนาในที่ดินพิพาทโดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องติดต่อกันมา 56 ปีเศษ จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ไม่มีประเด็นเรื่องการได้รับที่ดินพิพาทโดยการยกให้จากบิดามารดาก่อนบิดามารดาถึงแก่ความตาย ศาลจึงไม่อาจหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยให้ได้ เพราะจะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เมื่อบิดามารดาของผู้ร้องถึงแก่ความตายโดยมิได้ยกที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะทั้งก่อนตายและโดยพินัยกรรมนอกจากนี้ระหว่างทายาทด้วยกันเองก็ยังไม่มีการแบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าวแม้ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทนั้นนานสักเพียงใด ตราบใดที่ผู้ร้องไม่เคยแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังทายาททั้งหลายว่า ผู้ร้องมีเจตนายึดถือเพื่อตน ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ของมารดาทายาทผู้หนึ่งที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกร่วมกับผู้ร้องยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้ร้องมิได้กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์และขับไล่ผู้คัดค้านที่ 3 ออกจากที่ดินพิพาท การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องจึงเป็นการครอบครองแทนทายาททั้งปวงที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่จะแบ่งให้แก่ทายาทผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์