28 ก.พ. 2567

ผู้เยาว์


          ผู้เยาว์ คือ บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งการบรรลุนิติภาวะนั้นไม่ว่าจะเป็นการบรรลุนิติภาวะโดยอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือจะบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสที่ทำโดยถูกต้องตามมาตรา 1448 ก็ตาม (มาตรา 19 และมาตรา 20) 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1790/2558  แม้ผู้ร้องและผู้เยาว์เป็นอิสลามศาสนิกซึ่งมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 บัญญัติให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการนั้น แต่คดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ร้องขออนุญาตศาลทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 การขออนุญาตศาลดังกล่าว เป็นการคุ้มครองผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียของผู้เยาว์ อันเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครอง สภาพแห่งข้อหาจึงไม่ใช่เป็นเรื่องครอบครัวและมรดกโดยตรงที่ให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกการบรรลุนิติภาวะของผู้เยาว์อันเป็นเรื่องความสามารถในการทำนิติกรรมได้ด้วยตนเอง จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 ที่บัญญัติว่า บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์ เมื่อผู้เยาว์อายุ 19 ปี จึงยังไม่พ้นจากภาวะผู้เยาว์ ดังนั้น ผู้ร้องจึงมีเหตุต้องขออนุญาตศาลทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 ที่ศาลชั้นต้นใช้หลักกฎหมายอิสลามว่า บุคคลบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ 15 ปี บริบูรณ์ มายกคำร้องขอของผู้ร้องจึงไม่ชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7238/2549  ขณะที่โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตนั้น โจทก์ร่วมทั้งสองยังมีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 19 และมาตรา 20 และผู้เสียหายในคดีอาญาซึ่งยังเป็นผู้เยาว์จะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (1) การที่โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ด้วยตนเอง จึงมิได้เป็นไปตามบทบังคับว่าด้วยความสามารถของบุคคลตามกฎหมาย แต่ศาลฎีกาจะยกคำร้องหรือไม่รับพิจารณาเสียทีเดียวยังไม่ได้ ชอบที่ศาลฎีกาจะสั่งแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อนตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่เมื่อนับอายุของโจทก์ร่วมทั้งสองในขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมทั้งสองมีอายุเกิน 20 ปี พ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ร่วมทั้งสองอีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6035/2541  เด็กหญิง ย. อายุยังไม่เกิน 15 ปี แม้จะได้แต่งงานตามประเพณีกับ จ. แล้ว ก็ยังไม่พ้นจากภาวะการเป็นเด็กหรือผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 20 เพราะการแต่งงานหรือการสมรสของผู้เสียหายมิได้อยู่ในเงื่อนไขตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448  เนื่องจากผู้เสียหายมีอายุไม่ครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ อีกทั้งความไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำการสมรสหรือมีการจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 การที่บิดามารดาผู้เสียหายอนุญาตให้ผู้เสียหายแต่งงานอยู่กินฉันสามีภริยากับ จ. จึงเป็นเพียงมอบการดูแลผู้เสียหายซึ่งยังเป็นเด็กหรือผู้เยาว์ให้ จ. ดูแลแทน ดังนั้น การที่จำเลยพาผู้เสียหายจากบริเวณโรงภาพยนตร์กลางแปลงไปยังห้องพักจำเลยเพื่อประสงค์จะกอดจูบลูบคลำโดยตั้งใจจะร่วมประเวณีกับผู้เสียหายในทำนองชู้สาว ถือว่าเป็นการพรากผู้เสียหายไปเสียจากการดูแลของ จ.เพื่อการอนาจารเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสามแล้ว


          ความสามารถในการทำนิติกรรมของผู้เยาว์
          โดยหลักแล้ว ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใดๆที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา 21)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2558  โจทก์เป็นผู้เยาว์ได้ทำนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของตนแก่จำเลยที่ 1 เป็นกรณีที่ผู้เยาว์กระทำนิติกรรมเอง ไม่ใช่ผู้ปกครองของจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำ จึงหาใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 ไม่ แต่ต้องปรับตามมาตรา 21 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้เยาว์จะกระทำนิติกรรมใดต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมนั้นจะเป็นโมฆียะ เมื่อมีการบอกล้างก็ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง สัญญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ กรณีมิใช่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3184/2550 โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยมี ท. บิดาโจทก์เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม แต่โจทก์เป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วในขณะฟ้อง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เยาว์ที่ต้องอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมสามารถทำการใด ๆ ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 21 แต่ขณะฟ้องโจทก์เป็นคนพิการทุพพลภาพ พูดและเดินไม่ได้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย ท. ชอบที่จะไปดำเนินการร้องขอต่อศาลขอให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถและตั้งผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณีก่อน ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งศาลก็ต้องถือว่าโจทก์เป็นบุคคลที่มีความสามารถทำการใด ๆ ได้ด้วยตนเองตามกฎหมาย ซึ่งรวมทั้งการฟ้องและดำเนินคดีต่อศาล การที่ ท. ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความให้ฟ้องคดีแทนโจทก์ โดยยังไม่มีคำสั่งศาลจึงเป็นความบกพร่องในเรื่องความสามารถตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 จึงต้องทำการแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อน แต่ศาลชั้นต้นไม่ปฏิบัติกลับพิจารณาคดีต่อไปจนเสร็จ ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถให้บริบูรณ์เสียก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5527/2541 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้รับความยินยอมจากบิดามารดาให้ฟ้องและดำเนินคดีแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นฟ้องและดำเนินคดีแทนได้หาจำต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาอีกครั้งไม่

          อย่างไรก็ตาม กฎหมายบัญญัติให้มีนิติกรรมบางอย่างที่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่อาจให้ความยินยอมหรือทำแทนผู้เยาว์ได้ โดยจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงจะทำนิติกรรมนั้นได้ ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองผู้เยาว์ ได้แก่ กรณีนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ ตามมาตรา 1574 และนิติกรรมที่ประโยชน์ของผู้แทนโดยชอบธรรมขัดกันกับผลประโยชน์ของผู้เยาว์ ตามมาตรา 1575
          มาตรา 1574  "นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
          (1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
          (2) กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
          (3) ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์
          (4) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น
          (5) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
          (6) ก่อข้อผูกพันใดๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (1) (2) หรือ (3)
          (7) ให้กู้ยืมเงิน
          (8) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา  ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์
          (9) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
          (10) ประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น
          (11) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1598/4 (1) (2) หรือ (3)
          (12) ประนีประนอมยอมความ
          (13) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
          มาตรา 1575  "ถ้าในกิจการใด ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือประโยชน์ของคู่สมรสหรือบุตรของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงทำกิจการนั้นได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ"
          มาตรา 1576  "ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือของคู่สมรสหรือบุตรของผู้ใช้อำนาจปกครองตามมาตรา 1575 ให้หมายความรวมถึงประโยชน์ในกิจการดังต่อไปนี้ด้วย คือ
          (1) ประโยชน์ในกิจการที่กระทำกับห้างหุ้นส่วนสามัญที่บุคคลดังกล่าวนั้นเป็นหุ้นส่วน
          (2) ประโยชน์ในกิจการที่กระทำกับห้างหุ้นส่วนจำกัดที่บุคคลดังกล่าวนั้นเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2125-2126/2558  การทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นนิติกรรมอันมีผลเกี่ยวถึงทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) เมื่อผู้ใช้อำนาจปกครองและผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมดังกล่าว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน ก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาลซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ ได้รับอนุญาตจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานี การทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2552  เมื่อมีผู้กระทำละเมิดต่อผู้เยาว์อันมีผลให้ผู้เยาว์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนนั้น เป็นการที่ผู้เยาว์จะได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างหนึ่ง หากมีการประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องทำสัญญาแทนผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมก็ชอบที่จะต้องขอนุญาตศาลเสียก่อน เพราะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามที่บังคับไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 1574(12) เมื่อ ช.บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์กับจำเลยได้ทำข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายและค่ารักษาพยาบาลของโจทก์กับของ ช. โดยไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ทั้งทางแพ่งและทางอาญาจากจำเลยอีก เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิด จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่ ช.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยตามลำพัง โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลย่อมเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะและไม่มีผลผูกพันโจทก์แต่ประการใด สิทธินำคดีมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนของโจทก์จึงไม่ระงับไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21793/2556   ป. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ช. โดยคำสั่งศาล ได้ขายที่ดินเฉพาะส่วนของ ช. ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 และ พ. ผู้เยาว์ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ช. จึงตกอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป. ที่จะต้องจัดการแบ่งปันแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1736 วรรคสอง ไม่ใช่เรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ที่จะต้องขออนุญาตจากศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 แต่อย่างใด การทำนิติกรรมโอนขายที่ดินเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกของ ช. ระหว่าง ป. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. กับจำเลยที่ 2 มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6838/2555  หลังจากที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ว. ทายาทคนหนึ่งของเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของ ว. จึงตกทอดแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้สืบสิทธิชั้นบุตรและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยา หลังจากนั้นได้มีการทำข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกระหว่างผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 2 โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของเจ้ามรดกให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาท ว. ซึ่งในวันที่ทำบันทึกแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่ปรากฏว่าผู้จัดการมรดกกระทำโดยมิชอบหรือทำผิดหน้าที่หรือทำเกินอำนาจหน้าที่ผู้จัดการมรดกแต่ประการใด จึงเป็นสิทธิของผู้จัดการมรดกที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย ถือได้ว่าผู้จัดการมรดกทำกิจการในขอบอำนาจที่ได้รับมอบหมายเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1724 บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงมีผลผูกพันทายาททั้งหมดของเจ้ามรดก รวมทั้งโจทก์ด้วย จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นทายาทของเจ้ามรดกทั้งไม่ใช่ทายาทผู้เข้ารับมรดกแทนที่ ว. เป็นเพียงทายาทของ ว. ซึ่งมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกที่ตกได้แก่ ว. เท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1724
          แม้บันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกจะมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) ที่ผู้แทนโดยชอบธรรมจะกระทำแทนผู้เยาว์ไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต และจำเลยที่ 2 ได้กระทำบันทึกดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์โดยไม่ได้ขออนุญาตศาลอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม แต่การขออนุญาตศาลหรือไม่ ไม่ใช่แบบของนิติกรรมและกฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นโมฆะกรรม ทั้งการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้แทนโดยชอบธรรมทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามมาตรา 1574 ไม่ได้ เว้นแต่ศาลอนุญาตนั้น เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์ให้ศาลเป็นผู้กำกับดูแลผลประโยชน์ส่วนได้เสียของผู้เยาว์ โดยดูแลให้ผู้แทนโดยชอบธรรมปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์อย่างถูกต้องแท้จริงเท่านั้น นิติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ถึงขนาดตกเป็นโมฆะกรรม คงมีผลเพียงไม่ผูกพันผู้เยาว์ที่บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองเท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) เมื่อบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่ตกเป็นโมฆะอันจะทำให้ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดก็สามารถยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง แต่มีผลเพียงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่จะยกการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างเพื่อมิให้ตนต้องผูกพันตามบันทึกดังกล่าวได้ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อเพิกถอนบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวได้
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7776/2551  ขณะทำสัญญาขายที่ดินจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 เป็นผู้เยาว์และยังไม่บรรลุนิติภาวะ การทำนิติกรรมดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 แม้โจทก์จะเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่ทำสัญญาโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาโดยตลอด ก็เป็นเพียงการเข้ายึดถือที่ดินแทนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 เท่านั้น ทั้งการที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ไปจดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินเมื่อบรรลุนิติภาวะและจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 มิได้โต้แย้งคัดค้าน ก็หาใช่เป็นการแจ้งเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดิน หรือถือว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 สละสิทธิครอบครองในที่ดินแต่ประการใดไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1099/2550   ถ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.4 ว. ซึ่งเป็นบุตรของ ถ. จึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคสอง ว. ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียของ ถ. ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ มาตรา 1713 แต่เมื่อศาลมีคำสั่งตั้ง ว. เป็นผู้จัดการมรดกของ ถ. แล้ว ว. ย่อมมีหน้าที่ต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1719 และจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกและต่อผู้ร้องซึ่งตนเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่หาได้ไม่ การที่ ว. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ถ. และเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องไปรับโอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของ ถ. ซึ่งตกทอดแก่ผู้ร้องมาเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัว ย่อมไม่เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดในพินัยกรรม แต่เป็นการทำนิติกรรม ให้ ว. มีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ ถ. อันเป็นการต้องห้ามโดยแจ้งชัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และเป็นกิจการที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1575 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างจึงยังคงเป็นมรดกของ ถ. ซึ่งตกทอดได้แก่ผู้ร้องตามเดิมหาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. ไม่ เมื่อ ว. ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างแล้วก็ไม่มีสิทธินำไปจำนองแก่ผู้ใด การที่โจทก์เป็นผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้จาก ว. ย่อมไม่เกิดผลให้โจทก์มีสิทธิตามนิติกรรมจำนอง แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองไว้โดยสุจริตก็หามีผลให้โจทก์กลับมีสิทธิตามนิติกรรมจำนองไม่ การจำนองจึงไม่ผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1489/2537  จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมีวัตถุประสงค์ค้าผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยมีจำเลยที่ 2 และนาง อ. บิดามารดาของจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนเพียงสองคน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ผู้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อยู่ในขณะนั้นทำนิติกรรมจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 แทนจำเลยที่ 3 บุตรผู้เยาว์ได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่กู้จากโจทก์เพื่อนำเงินไปลงทุนสร้างปั๊มน้ำมัน ถือได้ว่าเป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 3 โดยชอบย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 3 แม้ในการทำนิติกรรมจำนองที่ดินดังกล่าวนาง อ. มารดาจำเลยที่ 3 จะได้ลงนามร่วมกับจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เป็นผู้จำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 แทนจำเลยที่ 3 ได้ก็ตาม แต่นาง อ. ก็ได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายของจำเลยที่ 3 ด้วยคนหนึ่ง ทั้งสัญญาที่ นาง อ. ร่วมลงนามก็ไม่มีการกระทำนอกเหนือไปจากคำสั่งอนุญาตของศาล การกระทำของนาง อ. ดังกล่าวจึงไม่ทำให้นิติกรรมที่จำเลยที่ 2 ทำไว้ต่อโจทก์แทนจำเลยที่ 3 ต้องเสียไป

          ข้อยกเว้นที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์สามารถทำนิติกรรมได้มีดังนี้
          (1) ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง (มาตรา 22)
          (2) ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว (มาตรา 23)
          (3) ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตนและเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร (มาตรา 24)
          (4) ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุสิบห้าปีบริบูรณ์ (มาตรา 25)
          (5) ถ้าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ผู้เยาว์จำหน่ายทรัพย์สินเพื่อการอันใดอันหนึ่งอันได้ระบุไว้ ผู้เยาว์จะจำหน่ายทรัพย์สินนั้นเป็นประการใดภายในขอบของการที่ระบุไว้นั้นก็ทำได้ตามใจสมัคร อนึ่ง ถ้าได้รับอนุญาตให้จำหน่ายทรัพย์สินโดยมิได้ระบุว่าเพื่อการอันใด ผู้เยาว์ก็จำหน่ายได้ตามใจสมัคร (มาตรา 26)
          (6) ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในการประกอบธุรกิจทางการค้าหรือธุรกิจอื่น หรือในการทำสัญญาเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงานได้ กรณีนี้ในความเกี่ยวพันกับการประกอบธุรกิจหรือการจ้างแรงงานตามวรรคหนึ่งให้ผู้เยาว์มีฐานะเสมือนดังบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว (มาตรา 27 วรรคหนึ่งและวรคสอง)


          ผู้แทนโดยชอบธรรมคือใคร
          ผู้แทนโดยชอบธรรม ได้แก่ ผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองของผู้เยาว์ ซึ่งมีอำนาจทำการต่างๆแทนผู้เยาว์ หรือให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมของผู้เยาว์ ทั้งนี้ การใดที่ผู้แทนโดยชอบธรรมได้ทำลงไปย่อมมีผลผูกพันผู้เยาว์

          ผู้ใช้อำนาจปกครอง คือ บิดาและมารดา ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองร่วมกันในกรณีที่ผู้เยาว์นั้นมีทั้งบิดาและมารดา หรืออาจจะเป็นบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ ในกรณีที่บิดาหรือมารดาตาย ไม่แน่นอนว่าบิดาหรือมารดามีชีวิตอยู่ บิดาหรือมารดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ บิดาหรือมารดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา
          มาตรา 1566  "บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา
          อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาในกรณีดังต่อไปนี้
          (1) มารดาหรือบิดาตาย
          (2) ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย
          (3) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
          (4) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน
          (5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา
          (6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้"
          มาตรา 1569  "ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตร ในกรณีที่บุตรถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6948/2550  บุตรทั้งสองของโจทก์กับจำเลยยังเป็นผู้เยาว์และอยู่ในความอุปการะของโจทก์มาโดยตลอด โจทก์รับราชการอันเป็นอาชีพที่มั่นคง ส่วนจำเลยทำงานอยู่ประเทศญี่ปุ่นทิ้งบุตรให้อยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์มากว่า 8 ปี แล้ว เมื่อคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดอันจะเกิดแก่ผู้เยาว์ทั้งสองในปัจจุบันและในอนาคต จึงเห็นสมควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองแต่ผู้เดียว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2052/2558  แม้ผู้ร้องไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น อำนาจปกครอง ณ. อยู่กับผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1569 ซึ่งการยื่นคำร้องขอดังกล่าวผู้ร้องมิได้ยื่นในฐานะส่วนตัวแต่ยื่นในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ในคำร้องขอนั้นนอกจากมีข้ออ้างว่ามีการยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายแล้วยังมีข้ออ้างว่าผู้ร้องได้รับคำบอกเล่าว่าแท้จริงผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ ณ. ไว้ด้วย ดังนั้นการยื่นคำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นไปตามหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองเพื่อระวังรักษาประโยชน์ของ ณ. ให้ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสิทธิที่แท้จริง ผู้ร้องในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองของ ณ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ที่มีสิทธิจะร้องต่อศาลขอให้ถอนผู้จัดการมรดกหรือขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้

          ผู้ปกครอง จะมีได้ก็แต่เฉพาะในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา หรือมีบิดามารดาแต่ได้ถูกถอนอำนาจปกครองแล้ว
          มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง  "บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองเสียแล้วนั้น จะจัดให้มีผู้ปกครองขึ้นในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ก็ได้"
          มาตรา 1598/3 วรรคหนึ่ง  "ผู้ปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้อยู่ในปกครอง"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2563/2544   ป.พ.พ. มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ให้ตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ได้เฉพาะกรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง การที่มารดาตาย ส่วนบิดายังมีชีวิตอยู่และมิได้ถูกถอนอำนาจปกครอง แม้บิดามารดาจะจดทะเบียนหย่าโดยตกลงให้มารดาเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์แต่ฝ่ายเดียว ก็เป็นเรื่องการตกลงตามมาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) เท่านั้น มิใช่เป็นกรณีที่บิดาถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการจะถอนอำนาจปกครองจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 และเป็นอำนาจของศาล ดังนั้น เมื่อมารดาของผู้เยาว์ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่ผู้เดียวตามที่ตกลงขณะที่จดทะเบียนหย่าถึงแก่กรรม อำนาจปกครองผู้เยาว์จึงกลับมาอยู่แก่บิดาฝ่ายเดียวตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) เมื่อผู้เยาว์ยังมีบิดาซึ่งยังไม่ถูกถอดถอนอำนาจปกครองจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นน้าผู้เยาว์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ปกครอง
           ป.พ.พ. มาตรา 1582 ให้อำนาจศาลถอนอำนาจปกครองได้โดยลำพังไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอ หากมีเหตุตามบทบัญญัติดังกล่าว คดีนี้แม้ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนอำนาจปกครองของบิดาผู้เยาว์ แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่าบิดาของผู้เยาว์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติดและไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ โดยให้อยู่ในความดูแลของผู้ร้องถือได้ว่า บิดาประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้ถอนอำนาจปกครองบิดาผู้เยาว์ และเมื่อผู้เยาว์ไม่มีผู้ใช้อำนาจปกครองเนื่องจากมารดาตายและบิดาถูกถอนอำนาจปกครอง ประกอบกับผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องตลอดมา ทั้งบิดาผู้เยาว์ยินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้ปกครอง ศาลจึงตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ได้