13 พ.ค. 2561

การทำนิติกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉล ตกเป็นโมฆียะ สามารถฟ้องเพิกถอนได้


          การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉล  เป็นโมฆียะ (ป.พ.พ.มาตรา 159)

          กลฉ้อฉล ได้แก่ การใช้อุบายหลอกลวงด้วยการกล่าวความเท็จหรือปกปิดข้อความจริงเอาไว้ เพื่อจะหลอกให้หลงเชื่อ ผู้แสดงเจตนาที่ถูกกลฉ้อฉลดังกล่าวแล้วหลงเชื่อแสดงเจตนาทำนิติกรรมออกมาตามที่ถูกหลอกลวง นิติกรรมที่เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆียะ ตามมาตรา 159

          ผู้ขายหลอกลวงผู้ซื้อโดยไปนำชี้ที่ดินแปลงอื่นว่าจะขายที่ดินแปลงซึ่งเป็นที่นา แต่ความจริงที่ดินตามโฉนดเป็นที่ดินอีกแปลงที่มีสภาพน้ำท่วมขัง นิติกรรมซื้อขายที่ดินจึงเป็นโมฆียะ สามารถเพิกถอนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16512/2557  จำเลยที่ 3 มีพฤติการณ์เป็นนายหน้าชี้ช่องให้ทำการซื้อขายที่ดินพิพาท โดยจำเลยที่ 3 รับราชการอยู่ที่สำนักงานเขตมีนบุรีโดยทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษีบำรุงท้องที่ อีกทั้งมีหลักฐานสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทย่อมสามารถตรวจสอบสภาพที่ดินได้ตลอดเวลาว่าที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นบ่อดิน ป่ารก มีน้ำท่วมขังซึ่งความนี้จำเลยที่ 1 เองก็ทราบจากผู้รับมอบอำนาจของตนที่ไปขอรังวัดสอบเขตที่ดิน เมื่อจำเลยที่ 3 พาจำเลยที่ 4 ไปดูที่ดินของ ส. แต่กลับอ้างว่าเป็นที่ดินพิพาท จึงถือว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 ไม่แจ้งความจริงให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นนายหน้าฝ่ายโจทก์ทราบ ครั้นจำเลยที่ 4 พาโจทก์ที่ 1 ไปดูที่ดินตามที่จำเลยที่ 3 เคยนำชี้ไว้ ทำให้ฝ่ายโจทก์หลงเข้าใจผิดว่าที่ดินที่ต้องการซื้อเป็นที่ดินนา มิใช่ที่ดินมีสภาพน้ำท่วมขังอันเป็นสภาพแท้จริง นอกจากนี้แล้วในวันเจรจาจะซื้อจะขายครั้งแรก โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 สอบถามสภาพที่ดิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็บอกเป็นที่ดินนา เมื่อโจทก์ที่ 1 แจ้งว่ามีคนทำนาอยู่ จำเลยที่ 2 ก็รับว่าจะจัดการให้ออกไปเสียจากที่ดิน พฤติการณ์ดังกล่าวสนับสนุนได้ว่า ฝ่ายโจทก์ประสงค์ซื้อที่ดินนามิใช่ที่ดินที่มีสภาพน้ำท่วมขัง จำเลยที่ 1 เอง ขายที่ดินต่ำกว่าราคาที่ซื้อมาในปี 2535 เกือบ 3,000,000 บาท แล้วยังยอมออกค่าธรรมเนียมการโอน ค่าภาษีที่ดิน ค่านายหน้าแทนฝ่ายโจทก์อันทำให้ขาดทุนจำนวนมาก และจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงให้ฝ่ายโจทก์ทราบ นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 เป็นคนนำชี้ที่ดิน อีกทั้งตามสภาพที่ดิน แม้โจทก์ที่ 1 จะมีสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทก็ไม่อาจตรวจสอบได้โดยง่ายยังไม่ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกลฉ้อฉล อันเป็นทางให้โจทก์ทั้งหกเสียเปรียบ เมื่อโจทก์ทั้งหกส่งมอบที่ดินนาคืนแก่ ส. และมีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าซื้อขายที่ดินโดยชอบแล้ว ถือว่าโจทก์ทั้งหกซึ่งถูกกลฉ้อฉลได้บอกล้างสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะกรรม แต่จำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉย โจทก์ทั้งหกมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินเพื่อให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดคืนเงินค่าซื้อขายพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันครบกำหนดทวงถามเป็นต้นไป 

          ผู้ขายหลอกลวงผู้ซื้อว่าที่ดินมีเนื้อที่ 10 ไร่ตาม ส.ค.1 ทั้งที่ความจริงมีเนื้อที่แค่ 6 ไร่ สัญญาจะซื้อจะขายที่ทำขึ้นจึงตกเป็นโมฆียะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5975/2540  โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับจำเลยโดยโจทก์ไม่เคยไปดูที่ดินที่ซื้อ จำเลยยืนยันว่าที่ดินมีเนื้อที่ตรงตาม ส.ค.1 ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงเป็นการหลอกลวงฉ้อฉลโจทก์ให้เข้าทำสัญญา หากไม่มีการหลอกลวงโจทก์จะไม่เข้าทำสัญญา สัญญาจะซื้อขายที่ดินจึงเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โจทก์มีสิทธิบอกล้างตามมาตรา 175(3) ซึ่งต่อมาโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาให้จำเลยคืนเงินมัดจำอันเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรมทำให้สัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะตั้งแต่วันทำสัญญา


          ผู้ขายปกปิดไม่ให้ผู้ซื้อทราบความจริงว่าที่ดินมีสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่าน ทั้งที่ทราบว่าผู้ซื้อต้องการจะซื้อที่ดินไปทำโรงงาน สัญญาจะซื้อจะขายจึงตกเป็นโมฆียะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3382/2525 ที่ดินของจำเลยถูกจำกัดสิทธิห้ามปลูกสร้างอาคารเพราะถูกสายไฟฟ้าแรงสูงผ่าน ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2511 จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์โดยมิได้แจ้งเรื่องนี้ให้โจทก์ทราบ ทำให้โจทก์เข้าใจผิดในคุณสมบัติของที่ดินซึ่งเป็นสาระสำคัญเพราะโจทก์ซื้อที่พิพาทเพื่อปลูกสร้างโรงงาน การแสดงเจตนาของโจทก์เป็นโมฆียะ เมื่อโจทก์บอกล้างแล้วสัญญาจะซื้อขายจึงเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก จำเลยต้องคืนเงินที่รับไว้ให้โจทก์

          ผู้ขายอ้างว่าที่ดินซึ่งมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์สามารถออกโฉนดได้ทั้งแปลง ทั้งที่ความจริงออกโฉนดได้เพียงบางส่วน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7211/2549 โจทก์ได้โอนสิทธิในที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายให้แก่จำเลยแล้ว ส่วนจำเลยได้ชำระเงินบางส่วนให้โจทก์ในวันทำสัญญาจำนวน 100,000 บาท และจะชำระเงินส่วนที่เหลือจำนวน 39,900,000 บาท ให้โจทก์ภายหลังจากที่ที่ดินพิพาทได้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินถูกต้องเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่ของจำเลยเป็นผู้ดำเนินการ แต่การจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทได้หรือไม่เพียงใดขึ้นอยู่กับสภาพของที่ดินพิพาทที่อยู่ในขณะทำสัญญาว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ทางราชการจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มิใช่ขึ้นอยู่กับความสามารถของจำเลยที่จะไปดำเนินการได้หรือไม่ กรณีมิใช่เรื่องที่จำเลยรับรองว่าจะกระทำการใดในอนาคตแล้วไม่ได้กระทำ หรือไม่สามารถกระทำได้ตามที่รับรองไว้อันไม่ใช่ข้อความเท็จ เมื่อ บ. มารดาจำเลยหลอกลวงโจทก์ว่าสามารถขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทได้ทั้งหมด ซึ่งแท้จริงเป็นที่ดินที่ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้ทั้งหมด จึงเป็นการทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้จำเลยเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์บอกล้างนิติกรรมแล้วจึงตกเป็นโมฆะ

          ผู้ซื้อหลอกลวงว่าโอนเงินค่าที่ดินให้แก่บุตรของผู้ขายแล้ว ผู้ขายหลงเชื่อจึงไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้ผู้ซื้อไป สัญญาซื้อขายที่ดินจึงตกเป็นโมฆียะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7394 - 7395/2550 การที่โจทก์จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะหลงเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าได้โอนเงินค่าที่ดินเข้าบัญชีเงินฝากของบุตรโจทก์ตามข้อตกลงแล้วนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้กลฉ้อฉล ซึ่งหากโจทก์ทราบความจริงว่ายังไม่มีการโอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าว การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ก็คงจะมิได้กระทำขึ้น สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 ซึ่งโจทก์มีสิทธิบอกล้างเสียได้ตามมาตรา 175 (3) เท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม หรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม หรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม อันจะถือว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามบทกฎหมายดังกล่าว

          ทั้งนี้ การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลที่จะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะได้นั้น กลฉ้อฉลนั้นต้องมีผลถึงขนาดก่อให้เกิดการทำนิติกรรมนั้นด้วย



          กลฉ้อฉลโดยการนิ่ง

          ในนิติกรรมสองฝ่าย การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงหรือคุณสมบัติอันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้ การนั้นจะเป็นกลฉ้อฉล หากพิสูจน์ได้ว่าถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น นิติกรรมนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น (มาตรา 162)

          การแสดงเจตนาที่เกิดจากคู่กรณีฝ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงหรือคุณสมบัติอันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้ ทำให้ไม่ทราบข้อเท็จจริงแล้วจึงแสดงเจตนาทำนิติกรรมออกไปด้วยความหลงผิด ถ้าพิสูจน์ได้ว่าถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น นิติกรรมนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น นิติกรรมที่เกิดจากการฉ้อฉลโดยการนิ่งย่อมตกเป็นโมฆียะ

          ผู้ขายทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทกับผู้ซื้อ ระบุว่าอาคารพิพาทเป็นอาคาร 5 ชั้นพร้อมรายการประกอบแบบโดยทั่วไป ซึ่งผิดไปจากแบบที่ผู้ขายยื่นขออนุญาตไว้ การกระทำของผู้ขายถือได้ว่าเป็นการปิดบังมิให้ผู้ซื้อทราบความจริงว่าผู้ซื้อขออนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาทไว้เพียง 4 ชั้น รวมทั้งปกปิดความจริงว่าอาคารพิพาทที่ผู้ขายยื่นขออนุญาตก่อสร้างอยู่ในบริเวณที่ดินที่จะสำรวจเพื่อเวนคืน การปิดบังข้อเท็จจริงดังกล่าว ล้วนแต่เป็นกลฉ้อฉลของผู้ขายซึ่งหากผู้ขายไม่ใช้กลฉ้อฉลดังกล่าว ผู้ซื้อก็คงจะไม่แสดงเจตนาทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาท การแสดงเจตนาของผู้ซื้อจึงตกเป็นโมฆียะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 63/2544  จำเลยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์เสนอขายอาคาร 5 ชั้นพร้อมที่จอดรถใต้ดิน แต่ไปยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคาร 4 ชั้นต่อสำนักงานเขตประเวศ ต่อมาจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทกับโจทก์ระบุว่าอาคารพิพาทเป็นอาคาร 5 ชั้นพร้อมรายการประกอบแบบโดยทั่วไป ซึ่งผิดไปจากแบบที่จำเลยยื่นขออนุญาตไว้ การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการปิดบังมิให้โจทก์ทราบความจริงว่าจำเลยขออนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาทไว้เพียง 4 ชั้น นอกจากนี้ จำเลยได้ทำบันทึกการขออนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาทฯ รับทราบว่าอาคารพิพาทที่จำเลยยื่นขออนุญาตก่อสร้างอยู่ในบริเวณที่ดินที่จะสำรวจเพื่อเวนคืน แต่จำเลยยังมีความประสงค์จะก่อสร้างโดยจะไม่เรียกร้องหรือฟ้องร้องเอาเงินค่าทดแทนหรือค่าเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น ดังนี้ ที่ดินและอาคารพิพาทมีราคาสูงถึง 15,000,000 บาท หากโจทก์ทราบหรือแม้แต่เพียงสงสัยว่าจะมีการเวนคืน โจทก์ย่อมจะไม่ยอมทำสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยอย่างแน่นอน เพราะเงินค่าทดแทนที่จะได้รับจากการถูกเวนคืนนั้นไม่คุ้มกับจำนวนเงินที่จะต้องชำระให้แก่จำเลย การที่จำเลยปิดบังข้อเท็จจริงเรื่องการเวนคืนที่ดินและขออนุญาตก่อสร้างอาคารเพียง 4 ชั้นล้วนแต่เป็นกลฉ้อฉลของจำเลยซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่า หากจำเลยไม่ใช้กลฉ้อฉลดังกล่าว โจทก์ก็คงจะไม่แสดงเจตนาทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทกับจำเลย การแสดงเจตนาของโจทก์จึงตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 ประกอบด้วยมาตรา 162 เมื่อโจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวแล้วสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทย่อมตกเป็นโมฆะ

          กลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก

          ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น (มาตรา 159 วรรคสาม)

          การแสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก จะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีที่ทำนิติกรรมอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ด้วยถึงกลฉ้อฉลนั้น แต่แม้จะไม่เป็นโมฆียะตามมาตรา 159 วรรคสาม เพราะคู่กรณีไม่รู้ถึงกลฉ้อฉลของบุคคลภายนอก ก็อาจเป็นโมฆะเพราะเหตุสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ตามมาตรา 156 หรืออาจเป็นโมฆียะเพราะสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน ตามมาตรา 157

          กลฉ้อฉลที่เป็นมูลเหตุจูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักขึ้นยิ่งกว่าปกติ

          ถ้ากลฉ้อฉลเป็นแต่เพียงเหตุจูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่คู่กรณีฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ คู่กรณีฝ่ายนั้นจะบอกล้างการนั้นหาได้ไม่ แต่ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้ (มาตรา 161)



          นิติกรรมที่เกิดจากกลฉ้อฉลที่เป็นเหตุจูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักขึ้นยิ่งกว่าที่จะยอมรับโดยปกตินี้ เนื่องจากคู่กรณีที่จะทำนิติกรรมนั้นมีเจตนาต้องการทำนิติกรรมอยู่แล้ว จึงไม่เป็นโมฆียะ เพียงแต่มีผลให้ผู้ที่ยอมรับข้อกำหนดหนักขึ้นเพราะถูกกลฉ้อฉลนั้นมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 696/2531  โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 โดยโจทก์ที่ 4 ซื้อที่ดินตามโฉนดที่พิพาทโดยหลงเชื่อตามที่จำเลยฉ้อฉลว่าที่ดินดังกล่าวติดแม่น้ำ ไม่มีที่ดินแปลงอื่นคั่นอยู่ ซึ่งเป็นกลฉ้อฉลเพื่อเหตุ กล่าวคือ เพียงจูงใจให้โจทก์ยอมรับเอาซึ่งราคาที่ดินอันแพงกว่าที่จะยอมรับโดยปกติ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉล ส่วนที่โจทก์ต้องเสียค่าทำภาระจำยอมเพื่อออกสู่ทางสาธารณะปรากฏว่าก่อนซื้อที่ดินโจทก์ทราบแล้วว่าที่ดินพิพาทไม่มีถนนออกสู่ทางสาธารณะจึงมิใช่ผลโดยตรงจากกลฉ้อฉลของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในส่วนนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5246/2543  จำเลยให้คำรับรองว่าที่ดินพิพาทที่จะขายให้แก่โจทก์ติดกับทางสาธารณะ แต่ปรากฏว่าที่ดินพิพาทไม่ติดทางสาธารณะตามที่จำเลยให้คำรับรอง เมื่อโจทก์มีเจตนาซื้อที่ดินของจำเลยเพื่อเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ และได้ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยในราคาที่แพงกว่าปกติของที่ดินในบริเวณเดียวกับที่ไม่ติดทางสาธารณะ ถือว่าจำเลยขายที่ดินแก่โจทก์โดยทำกลฉ้อฉล เป็นเหตุให้โจทก์ต้องชำระราคาสูงขึ้นกว่าราคาซื้อขายปกติ แต่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทเพราะติดกับที่ดินแปลงอื่นของโจทก์ด้วย จึงเป็นกลฉ้อฉลแต่เพียงเหตุจูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่เขาจะยอมรับโดยปกติ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 161
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4045/2534  จำเลยโฆษณาโอ้อวดคุณสมบัติของรถยนต์ที่ขายให้โจทก์ ว่าเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ เพิ่งพ่นสีใหม่เป็นสีเดิม ความจริงเป็นรถยนต์รุ่นเก่า และเคยเปลี่ยนสีมาหลายครั้งกับกล่าวอ้างคุณสมบัติของรถยนต์ซึ่งไม่เป็นความจริงอีกหลายประการ โจทก์ตกลงซื้อรถยนต์โดยเชื่อคำโฆษณาโอ้อวดของจำเลย การซื้อขายรถยนต์จึงเกิดจากกลฉ้อฉลให้สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่ซื้อขายกัน แต่รถยนต์ยังคงเป็นยี่ห้อเดียวกับที่โจทก์ต้องการซื้อ กลฉ้อฉลของจำเลยจึงมิได้ถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลเช่นนั้นโจทก์จะไม่ซื้อรถยนต์จากจำเลย โจทก์ยอมรับข้อกำหนดอันหนักขึ้นเท่านั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้

          ผลของกลฉ้อฉลต่อบุคคลภายนอก

          การบอกล้างโมฆียะกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลตามมาตรา 159 ห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต (มาตรา 160)

          กฎหมายห้ามมิให้คู่กรณียกการบอกล้างโมฆียะกรรมที่เกิดขึ้นตามมาตรา 159 นั้นขึ้นมาต่อสู้กับบุคคลภายนอกทำการโดยสุจริต แต่หากบุคคลภายนอกกระทำการโดยไม่สุจริตก็ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6396/2545  โจทก์ทั้งสองทำนิติกรรมขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรม ย่อมถือว่าโจทก์ได้บอกล้างโมฆียะกรรมนั้นแล้วนิติกรรมการซื้อขายที่ดินจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินมาจากโจทก์ทั้งสองด้วยวิธีการไม่ถูกต้องชอบธรรม จึงเป็นการได้ที่ดินมาโดยไม่สุจริตการบอกล้างโมฆียะกรรมของโจทก์ทั้งสองย่อมยกเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 160 โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิขอเพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้

          กรณีที่ต่างฝ่ายต่างได้กระทำการโดยกลฉ้อฉลด้วยกันทั้งสองฝ่าย

          ถ้าคู่กรณีต่างได้กระทำการโดยกลฉ้อฉลด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะกล่าวอ้างกลฉ้อฉลของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อบอกล้างการนั้นหรือเรียกค่าสินไหมทดแทนมิได้ (มาตรา 163)

          กรณีที่ทั้งสองฝ่ายต่างกระทำการโดยกลฉ้อฉลด้วยกัน ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่สามารถยกเหตุกลฉ้อฉลขึ้นอ้างเพื่อบอกล้างโมฆียะกรรมหรือเรียกค่าสินไหมทดแทนไม่ได้ ซึ่งก็เป็นไปตามสุภาษิตกฎหมายที่ว่า "บุคคลที่มาศาล ต้องมาด้วยมือที่สะอาด (He who comes to equity must come with clean hands.)"