ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ หลักทั่วไป ลักษณะ ๔ นิติกรรม หมวด ๒ การแสดงเจตนา


                          


          มาตรา ๑๕๔  การแสดงเจตนาใดแม้ในใจจริงผู้แสดงจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม หาเป็นมูลเหตุให้การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆะไม่ เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น

          มาตรา ๑๕๕  การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้
          ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ

          มาตรา ๑๕๖  การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ
          ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมและความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น

          มาตรา ๑๕๗  การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สินเป็นโมฆียะ
          ความสำคัญผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าวการอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น

          มาตรา ๑๕๘  ความสำคัญผิดตามมาตรา ๑๕๖ หรือมาตรา ๑๕๗ ซึ่งเกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้นจะถือเอาความสำคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้

          มาตรา ๑๕๙  การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ
          การถูกกลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น
          ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น

          มาตรา ๑๖๐  การบอกล้างโมฆียะกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลตามมาตรา ๑๕๙ ห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต

          มาตรา ๑๖๑  ถ้ากลฉ้อฉลเป็นแต่เพียงเหตุจูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่คู่กรณีฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ คู่กรณีฝ่ายนั้นจะบอกล้างการนั้นหาได้ไม่ แต่ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้

          มาตรา ๑๖๒  ในนิติกรรมสองฝ่าย การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงหรือคุณสมบัติอันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้ การนั้นจะเป็นกลฉ้อฉล หากพิสูจน์ได้ว่าถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น นิติกรรมนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

          มาตรา ๑๖๓  ถ้าคู่กรณีต่างได้กระทำการโดยกลฉ้อฉลด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะกล่าวอ้างกลฉ้อฉลของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อบอกล้างการนั้นหรือเรียกค่าสินไหมทดแทนมิได้

          มาตรา ๑๖๔  การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ
          การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

          มาตรา ๑๖๕  การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่
          การใดที่กระทำไปเพราะนับถือยำเกรง ไม่ถือว่าการนั้นได้กระทำเพราะถูกข่มขู่

          มาตรา ๑๖๖  การข่มขู่ย่อมทำให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆียะแม้บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ข่มขู่

          มาตรา ๑๖๗  ในการวินิจฉัยกรณีความสำคัญผิด กลฉ้อฉล หรือการข่มขู่ให้พิเคราะห์ถึง เพศ อายุ ฐานะ สุขภาพอนามัย และภาวะแห่งจิตของผู้แสดงเจตนาตลอดจนพฤติการณ์และสภาพแวดล้อมอื่น ๆ อันเกี่ยวกับการนั้นด้วย

          มาตรา ๑๖๘  การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่ผู้รับการแสดงเจตนาได้ทราบการแสดงเจตนานั้น ความข้อนี้ให้ใช้ตลอดถึงการที่บุคคลหนึ่งแสดงเจตนาไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งโดยทางโทรศัพท์ หรือโดยเครื่องมือสื่อสารอย่างอื่น หรือโดยวิธีอื่นซึ่งสามารถติดต่อถึงกันได้ทำนองเดียวกัน

          มาตรา ๑๖๙  การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา แต่ถ้าได้บอกถอนไปถึงผู้รับการแสดงเจตนานั้น ก่อนหรือพร้อมกันกับที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา การแสดงเจตนานั้นตกเป็นอันไร้ผล
          การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

          มาตรา ๑๗๐  การแสดงเจตนาซึ่งกระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้ เว้นแต่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี ของผู้รับการแสดงเจตนานั้นได้รู้ด้วย หรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว
          ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับ ถ้าการแสดงเจตนานั้นเกี่ยวกับการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์หรือคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโดยลำพัง

          มาตรา ๑๗๑  ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร



          คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7602/2553  จำเลยทำบันทึกข้อตกลงระบุข้อความว่า "จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามเช็คที่ฟ้องจำนวน 431,103 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนี้จำนวน 1,565,486 บาท ที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ และจำเลยจะผ่อนชำระแก่โจทก์" โดยบันทึกดังกล่าวมิได้ระบุว่าจำเลยกระทำการแทนบริษัท ซ. ย่อมแสดงให้เห็นถึงการที่จำเลยทำบันทึกข้อตกลงเป็นส่วนตัวยอมผูกพันตนเข้าเป็นลูกหนี้ของโจทก์เพื่อชำระหนี้จำนวน 1,565,486 บาท อีกคนหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งคือโจทก์จะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของจำเลยว่าจะชำระหนี้เพียงบางส่วน หนี้ส่วนที่เหลือจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาให้มีผลผูกพันบริษัท ซ. อันจะเป็นเหตุให้การแสดงเจตนาตกเป็นโมฆะตามที่บัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 154 จำเลยจึงต้องผูกพันตามเจตนาที่แสดงออกมานั้น เมื่อจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ให้โจทก์ตามข้อตกลง จึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท และโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกชำระหนี้จากจำเลยหรือบริษัท ซ. คนใดคนหนึ่งได้ การที่โจทก์ไม่เลือกใช้สิทธิบังคับเอาแก่บริษัท ซ. จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต 
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2711/2544  โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท โจทก์กู้เงินจากมารดาจำเลยหลายครั้ง โจทก์มอบโฉนดที่ดินให้มารดาจำเลยไว้เป็นประกัน ต่อมามารดาจำเลยแจ้งว่าโจทก์ค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ย โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทและในวันเดียวกันนั้น โจทก์กับจำเลยก็ได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทที่บ้านของมารดาจำเลยในราคา 180,410 บาท เจตนาของโจทก์จำเลยที่แท้จริง คือต้องการขายฝากที่ดินพิพาท โจทก์จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาขายที่ดินพิพาท สัญญาขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนสัญญาขายฝากที่ถูกอำพรางไว้ก็ตกเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 155 วรรคสองและมาตรา 152 เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับต่างตกเป็นโมฆะคู่สัญญาคือโจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ คือ โจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลย และจำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิเสธในยอดหนี้ที่มารดาจำเลยกล่าวอ้าง อีกทั้งยอมไถ่ถอนที่ดินพิพาทในราคา 180,410 บาท ตามคำขอท้ายฟ้อง ต้องถือว่ามีการรับเงินหรือหักกลบลบหนี้กันตามจำนวนดังกล่าว เมื่อสัญญาตกเป็นโมฆะโจทก์จึงต้องคืนเงินจำนวน 180,410 บาท แก่จำเลย แต่จำเลยฎีกาขอให้โจทก์คืนเงินเพียง 180,000 บาท ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาเกินไปจากคำขอฎีกาของจำเลยได้
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4928/2562  โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขอยืมที่ดินพิพาทเพื่อไปกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาหรือบันทึกข้อตกลงถือสิทธิครอบครองที่ดินแทนโจทก์ กับทำหนังสือมอบอำนาจให้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนขายคืนแก่โจทก์ภายใน 1 ปี นับแต่วันจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดิน และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินตามที่ตกลงกันไว้ โดยโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะซื้อขายที่ดินกันจริง แต่เพื่อนำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวถือว่าโจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 จะนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินแก่จำเลยที่ 2 และโจทก์เบิกความตอบทนายความจำเลยที่ 1 ถามค้านรับว่า เงินที่ได้จากการจำนอง 4,500,000 บาท โจทก์นำไปซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายธนาคาร ก. จำนวน 3,000,000 บาท ชำระค่าที่ดินที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซื้อจาก พ. โดยมีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์และเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ในใบคำขอซื้อเช็ค ตรงกับบันทึกท้ายหนังสือสัญญาขายที่ดินที่จำเลยที่ 1 เขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์ มีข้อความว่า "นำเงินที่ได้จากการจำนองที่ดิน 3,000,000 บาท ไปชำระค่าซื้อที่ดิน เนื้อที่ 58 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา ที่ลงทุนร่วมกัน" และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงเขียนด้วยลายมือตนเองให้โจทก์มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจาก พ. และ ด. โดยโจทก์เป็นผู้ชำระเงินให้แก่ผู้จะขาย 2,750,000 บาท และชำระด้วยแคชเชียร์เช็คให้แก่ธนาคาร ก. จำนวนเงิน 3,000,000 บาท สนับสนุนให้เห็นว่าการจำนองที่ดินพิพาทนั้นเป็นความประสงค์ของโจทก์ที่ต้องการเงินไปชำระค่าที่ดินที่ซื้อร่วมกับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองธนาคาร ส. สาขาแหลมฉบัง จำนวนเงิน 4,500,000 บาท ระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินเพื่อให้โจทก์นำเช็คไปชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 ดังนี้ โจทก์ย่อมทราบดีว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จำนอง โจทก์อาจนำหนังสือมอบอำนาจและเช็คดังกล่าวไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจากจำเลยที่ 2 ได้เอง ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ก็ยอมรับว่าประสงค์จะชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ด้วย พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวบ่งชี้ชัดแจ้งว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 นิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันโจทก์เสมือนหนึ่งว่าโจทก์เป็นผู้จำนองเอง การที่โจทก์มาฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เพื่อที่โจทก์ไม่ต้องชำระหนี้จำนองแก่จำเลยที่ 2 นั้น ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8727/2561  โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 มีเจตนาเช่าที่ดินพิพาทกันตามสัญญาเช่าที่ดินฉบับที่ระบุค่าเช่าเดือนละ 1,800,000 บาท มิได้มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินฉบับที่ระบุค่าเช่าเดือนละ 120,000 บาท ที่ได้นำไปจดทะเบียนต่อสำนักงานที่ดิน ซึ่งทำขึ้นโดยมีเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จึงต้องผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าฉบับค่าเช่าเดือนละ 1,800,000 บาท ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาเช่า ระบุค่าเช่าต่ำกว่าความเป็นจริงและนำไปจดทะเบียนเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการเช่าและภาษีอากร ถือว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจโดยไม่สุจริตด้วยกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์ทั้งสองไม่อาจยกเอาความไม่สุจริตดังกล่าวขึ้นมาเรียกร้องค่าเช่าที่ดินและขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาท โดยอาศัยหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน ที่ระบุค่าเช่าที่ดินเดือนละ 1,800,000 บาท ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ได้อำพรางไว้ได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม)
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5440/2561  โจทก์ฟ้องว่าโจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสอง โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกัน และกำหนดเวลาชำระคืนกันไว้ แต่จำเลยทั้งสองมีเงินให้โจทก์กู้ยืมเพียงบางส่วน จึงขอให้โจทก์ลงลายมือชื่อ ในหนังสือมอบอำนาจที่มิได้กรอกข้อความให้จำเลยทั้งสองยึดถือไว้เพื่อทำนิติกรรมกู้ยืมจากบุคคลอื่นมาให้โจทก์ เมื่อครบกำหนดโจทก์ไม่ชำระเงินต้นและกู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสองอีกหลายครั้ง ต่อมาจำเลยทั้งสองนำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงชื่อไปกรอกข้อความและโอนที่ดินพิพาทตีใช้หนี้แก่จำเลยที่ 1 ภายหลัง โจทก์ทราบการโอน โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงกันว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมีสิทธิไถ่ถอนที่ดินคืน ภายใน 3 ปี หากไม่ไถ่ถอนถือว่าสละสิทธิและโจทก์จะได้รับเงินคืนจากจำเลยทั้งสองเพิ่มเติมพร้อมดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี แต่หากโจทก์ไถ่ถอนที่ดินพิพาทก่อนครบกำหนด โจทก์ต้องชำระภาษีพร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินที่ยืมไปทั้งหมด จำเลยทั้งสองให้การตอนแรกว่าไม่เคยตกลงทำสัญญากับโจทก์ แต่ตอนท้ายกลับให้การว่า หากฟังว่าจำเลยที่ 2 ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ชำระเงินไม่ครบจึงเป็นฝ่ายผิดนัด ผิดสัญญาและไม่มีสิทธิมาฟ้องเรียกร้องตามสัญญา เท่ากับจำเลยทั้งสองให้การยอมรับว่ามีการทำสัญญากับโจทก์จริง คำให้การของจำเลยทั้งสองจึงขัดแย้งกันเอง จึงเป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ การที่โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสอง แต่ได้เงินไม่ครบตามที่จดทะเบียนจำนองไว้ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้ว วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 ก็ทำสัญญาให้โจทก์ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้ นอกจากนี้โจทก์ยังเป็นผู้เก็บค่าเช่าในที่ดินพิพาทมาโดยตลอด แสดงว่าการที่โจทก์โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงการแสดงเจตนาลวง โดยไม่มีเจตนาผูกพันกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง สัญญาโอนที่ดินพิพาทตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบันทึกถ้อยคำข้อตกลงเรื่องโอนชำระหนี้จำนอง จึงเป็นการอำพรางสัญญาซึ่งมีข้อตกลงว่าให้ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้อันเป็นสัญญาขายฝาก เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 152 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาขายฝากต่างมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมที่จำเลยทั้งสองให้โจทก์กู้ การทำสัญญาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นไปในฐานะส่วนตัวและในฐานะตัวแทนของจำเลยอีกคนหนึ่งด้วย เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวต่างเป็นโมฆะ กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ เมื่อโจทก์ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 จนครบจำนวนที่โจทก์ยืมจากจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนโจทก์
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2514/2561  ดอกเบี้ยที่โจทก์ผ่อนชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน เป็นเงิน 2,100 บาท หรือเท่ากับ 25,200 บาท ต่อปี เมื่อนำไปรวมกับต้นเงิน 70,000 บาท เป็นเงิน 95,200 บาท เป็นจำนวนใกล้เคียงกับราคาสินไถ่ 95,000 บาท การที่โจทก์ชำระดอกเบี้ยทุกเดือน จึงเป็นการชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้และแสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินตั้งแต่ต้น ไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายฝาก การนำโฉนดที่ดินมาวางเป็นเพียงให้จำเลยที่ 1 ยึดถือประกันหนี้เงินกู้ยืมเท่านั้น สัญญาขายฝากที่ทำไว้จึงเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง 
          แม้การขายฝากที่ดินจะตกเป็นโมฆะ ต้องเพิกถอนสัญญาขายฝาก เป็นผลให้ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ไปก่อนแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่ารับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้ว ประกอบกับโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริต และจากทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 จะได้รู้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทกันจริง จำเลยที่ 2 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวง ย่อมได้รับคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย โจทก์จึงไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ 
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1169/2562  โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างถึงเหตุเพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทเนื่องจากการเข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการหลอกลวงโจทก์ให้ลงลายมือชื่อลงในเอกสารต่างๆ ตั้งแต่การยื่นคำขอเพิ่มเติมจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการร่วมกับโจทก์กับ น. ของจำเลยที่ 1 การเพิ่มทุนและโอนหุ้นจากโจทก์ไปเป็นของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว ตลอดไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงกรรมการจำเลยที่ 1 ให้คงเหลือจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นและมีมติพิเศษให้ดำเนินการได้ จำเลยที่ 2 จึงเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนขายฝากไว้กับจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า นับตั้งแต่โจทก์สงสัยจำเลยที่ 2 ที่นำเอกสารต่างๆ ซึ่งเขียนด้วยภาษาไทยนำมาให้โจทก์ลงลายมือชื่อ เมื่อพิจารณาเอกสารแล้ว ก็ปรากฏว่า เป็นภาษาไทยในขณะที่โจทก์เป็นชาวต่างประเทศ จึงย่อมเป็นไปได้ว่า โจทก์ไม่เข้าใจความหมายในเอกสารดังกล่าว และเมื่อโจทก์มอบหมายให้ ด. พยานโจทก์ตรวจสอบการทำงานของจำเลยที่ 2 แล้วพบว่า มีการยื่นคำขอเพิ่มเติมจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการร่วมกับโจทก์กับ น. ก็ดี การเพิ่มและการโอนหุ้นไปเป็นของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวก็ดี การเปลี่ยนแปลงกรรมการจำเลยที่ 1 มีแต่จำเลยที่ 2 คนเดียวก็ดี ซึ่ง น. พยานโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่า ไม่มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นและมีมติพิเศษแต่อย่างใด นอกจากนี้ โจทก์ยังดำเนินการฟ้องร้องจนศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่น่าเชื่อถือว่า โจทก์จะยินยอมให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้เชื่อว่าการเข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้กับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงดังกล่าวฟังได้ว่า โจทก์ในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทนายความให้เข้ามาดูแลกิจการและผลประโยชน์จำเลยที่ 1 โดยตกลงให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และลงนามร่วมกับโจทก์ โดยตกลงให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และร่วมลงนามกับโจทก์ จึงจะผูกพันจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้นำเอกสารต่างๆ มาให้โจทก์ลงลายมือชื่อเพื่อนำไปดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุนและเพิ่มหุ้น ต่อมาตรวจสอบปรากฏว่า จำเลยที่ 2 หลอกให้โจทก์หลงเชื่อและสำคัญผิดในการจดทะเบียนเพิ่มทุนดังกล่าว และส่งผลให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนเพิ่มทุนและโอนหุ้นให้แก่ตนเอง และทำการเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการจำเลยที่ 1 ให้คงเหลือเพียงจำเลยที่ 2 เพียงคนเดียว และตรวจพบว่า จำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาท น.ส. 3 ก. เลขที่ 959 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โครงการพโนรามา ถนนนาใน ตำบลป่าตอง อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต ไปจดทะเบียนจำนองไว้กับ ส. และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและนำไปขายฝากไว้กับจำเลยที่ 3 ราคา 15,000,000 บาท มีกำหนดระยะ 1 ปี จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมไม่ว่าจดทะเบียนจำนอง จดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง และจดทะเบียนขายฝากดังกล่าวนั้น ไม่มีการเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติจากผู้ถือหุ้นและกรรมการเพื่อดำเนินการทำนิติกรรมดังกล่าว มติที่จำเลยที่ 2 ไปกระทำในฐานะของกรรมการของจำเลยที่ 1 ล้วนแต่เป็นเท็จ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า โจทก์ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ลงนามในเอกสารเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว เป็นการกระทำโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เอกสารการเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการของจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 เท่ากับไม่เคยมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว เท่ากับจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 โจทก์ในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ถูกจำเลยที่ 2 หลอกลวงให้ลงชื่อในเอกสารจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15577/2558  โจทก์มีเจตนาซื้อที่ดินพิพาทเพื่อก่อสร้างอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น โจทก์และ จ. ซึ่งต่างเป็นนักธุรกิจได้แสดงเจตนาและรู้ถึงเจตนาโจทก์ว่ามีเจตนาทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเพื่อก่อสร้างอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ดังกล่าว เมื่อภายหลังปรากฏว่าองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอิฐแจ้งว่าที่ดินพิพาทติดถนนสาธารณะ การก่อสร้างอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ต้องมีระยะร่นจากแนวถนนสาธารณะ 15 เมตร แต่ที่ดินพิพาทมีระยะที่วัดจากแนวถนนสาธารณะจรดเขตที่ดินเพียง 16 เมตร จึงไม่สามารถก่อสร้างอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ได้ตามที่โจทก์ขอยื่นแบบก่อสร้าง กรณีถือได้ว่าโจทก์แสดงเจตนาทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลย โดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าว สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวคงจะมิได้กระทำขึ้น การแสดงเจตนาของโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157
          เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆียะ และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญากับจำเลยแล้ว ถือได้ว่าโจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก โจทก์และจำเลยผู้เป็นคู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องคืนเงินมัดจำ 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ 
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4906/2558  คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยปกปิดข้อความจริงหรือนิ่งเสียไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ และเป็นกลฉ้อฉลลวงโจทก์เพื่อการลงทุนถึงขนาดทำให้โจทก์เข้าใจผิดในคุณสมบัติของที่ดินที่จะซื้อขายและถือว่าเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ทราบความจริงจะไม่ทำสัญญาจะซื้อจะขาย เพราะโจทก์ไม่สามารถที่จะดำเนินการขออนุญาตจัดสรรจัดจำหน่ายและทำกำไรตามวัตถุประสงค์ ซึ่งพอแปลได้ว่าโจทก์ถูกกลฉ้อฉลและสำคัญผิดในคุณสมบัติของที่ดินที่จะซื้อจะขายว่าสามารถดำเนินการขออนุญาตจัดสรรได้ ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในส่วนนี้เพียงว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดจากกลฉ้อฉลไม่ผูกพันโจทก์ และจำเลยต้องรับผิดชำระเงินคืนโจทก์หรือไม่ โดยวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้ฉ้อฉลโจทก์ แล้ววินิจฉัยเพิ่มเติมไปว่า โจทก์ทำสัญญากับจำเลยโดยสำคัญผิดว่าสามารถนำที่ดินไปขออนุญาตจัดสรรได้ สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นสัญญาที่โจทก์สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินที่จะซื้อจะขายซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญจึงตกเป็นโมฆียะนั้น จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
          โจทก์ไม่สนใจที่จะตรวจสอบที่ดินที่จะซื้อจะขายว่า มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการหรือไม่ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลย ประกอบกับจำเลยก็ได้ให้คำเตือนให้โจทก์ต้องตรวจสอบแล้ว แต่โจทก์กลับไม่นำพา จึงเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ โจทก์จะถือเอาความสำคัญผิดในคุณสมบัติของที่ดินที่จะซื้อจะขายนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 158 สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวยังคงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลย ไม่ตกเป็นโมฆียะ 
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4328/2559  สัญญาค้ำประกันเป็นกรณีที่ผู้ค้ำประกันเข้าผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้จึงไม่ใช่สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมที่ผู้ค้ำประกันจะถือเป็นเงื่อนไขว่าจะเข้าทำสัญญาค้ำประกันหรือไม่ การแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาของผู้ค้ำประกันโดยไม่รู้เรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ จึงไม่ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลอันเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง
          ข้อความใดที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง บังคับให้จำเลยจะต้องอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้โดยชัดแจ้ง ถ้าไม่ทราบว่ารับหรือปฏิเสธ ต้องถือว่าจำเลยไม่ได้ปฏิเสธ ซึ่งมีผลเท่ากับรับ ไม่เป็นประเด็นต้องวินิจฉัยอีกและไม่มีกรณีต้องรับฟังตราสารเป็นพยานหลักฐาน 
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16512/2557  จำเลยที่ 3 มีพฤติการณ์เป็นนายหน้าชี้ช่องให้ทำการซื้อขายที่ดินพิพาท โดยจำเลยที่ 3 รับราชการอยู่ที่สำนักงานเขตมีนบุรีโดยทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษีบำรุงท้องที่ อีกทั้งมีหลักฐานสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทย่อมสามารถตรวจสอบสภาพที่ดินได้ตลอดเวลาว่าที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นบ่อดิน ป่ารก มีน้ำท่วมขังซึ่งความนี้จำเลยที่ 1 เองก็ทราบจากผู้รับมอบอำนาจของตนที่ไปขอรังวัดสอบเขตที่ดิน เมื่อจำเลยที่ 3 พาจำเลยที่ 4 ไปดูที่ดินของ ส. แต่กลับอ้างว่าเป็นที่ดินพิพาท จึงถือว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 ไม่แจ้งความจริงให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นนายหน้าฝ่ายโจทก์ทราบ ครั้นจำเลยที่ 4 พาโจทก์ที่ 1 ไปดูที่ดินตามที่จำเลยที่ 3 เคยนำชี้ไว้ ทำให้ฝ่ายโจทก์หลงเข้าใจผิดว่าที่ดินที่ต้องการซื้อเป็นที่ดินนา มิใช่ที่ดินมีสภาพน้ำท่วมขังอันเป็นสภาพแท้จริง นอกจากนี้แล้วในวันเจรจาจะซื้อจะขายครั้งแรก โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 สอบถามสภาพที่ดิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็บอกเป็นที่ดินนา เมื่อโจทก์ที่ 1 แจ้งว่ามีคนทำนาอยู่ จำเลยที่ 2 ก็รับว่าจะจัดการให้ออกไปเสียจากที่ดิน พฤติการณ์ดังกล่าวสนับสนุนได้ว่า ฝ่ายโจทก์ประสงค์ซื้อที่ดินนามิใช่ที่ดินที่มีสภาพน้ำท่วมขัง จำเลยที่ 1 เอง ขายที่ดินต่ำกว่าราคาที่ซื้อมาในปี 2535 เกือบ 3,000,000 บาท แล้วยังยอมออกค่าธรรมเนียมการโอน ค่าภาษีที่ดิน ค่านายหน้าแทนฝ่ายโจทก์อันทำให้ขาดทุนจำนวนมาก และจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงให้ฝ่ายโจทก์ทราบ นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 เป็นคนนำชี้ที่ดิน อีกทั้งตามสภาพที่ดิน แม้โจทก์ที่ 1 จะมีสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทก็ไม่อาจตรวจสอบได้โดยง่ายยังไม่ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกลฉ้อฉล อันเป็นทางให้โจทก์ทั้งหกเสียเปรียบ เมื่อโจทก์ทั้งหกส่งมอบที่ดินนาคืนแก่ ส. และมีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าซื้อขายที่ดินโดยชอบแล้ว ถือว่าโจทก์ทั้งหกซึ่งถูกกลฉ้อฉลได้บอกล้างสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะกรรม แต่จำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉย โจทก์ทั้งหกมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินเพื่อให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดคืนเงินค่าซื้อขายพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันครบกำหนดทวงถามเป็นต้นไป
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18358/2555  แม้โจทก์จะถูก ส. ฉ้อโกงหลอกลวงซื้อปุ๋ยจากโจทก์อันมีผลทำให้นิติกรรมระหว่างโจทก์กับ ส. ที่เกิดขึ้นโดยโจทก์ถูกกลฉ้อฉลตกเป็นโมฆียะและโจทก์จะบอกล้างโมฆียะกรรมแล้วก็ต้องห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 160 ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ได้มาซึ่งปุ๋ยพิพาทโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตเช่นนี้ สิทธิของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เสียไปถึงแม้ว่า ส. ผู้โอนทรัพย์สินให้จำเลยที่ 1 จะได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยนิติกรรมที่ทำกลฉ้อฉลต่อโจทก์อันตกเป็นโมฆียะ และนิติกรรมนั้นได้ถูกบอกล้างในภายหลังตาม ป.พ.พ. มาตรา 1329 จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่คืนปุ๋ยพิพาทให้แก่โจทก์ได้
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16897/2557  โจทก์เสียสิทธิในที่ดินทั้งสองแปลงไปเพราะถูกศาลพิพากษาเพิกถอนการโอนขายเพื่อให้กลับสู่กองทรัพย์สินของพันจ่าอากาศเอกหญิง น. ในคดีล้มละลายเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทุกคนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 115 (เดิม) ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เพียงถูกก่อการรบกวนขัดสิทธิในอันที่จะครองทรัพย์สินที่ซื้อมาโดยปกติสุขตาม ป.พ.พ. มาตรา 475 และ 476 แต่เป็นกรณีที่ที่ดินทั้งสองแปลงหลุดไปจากโจทก์ทั้งหมดเพราะการรอนสิทธิตามมาตรา 479 ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพราะเหตุการรอนสิทธิ... และซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด" ดังนั้น จำเลยที่ 1 หรือจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ข้อเท็จจริงต้องปรากฏว่าในเวลาที่ทำสัญญาซื้อขายโจทก์รู้หรือไม่ว่าเหตุรอนสิทธินั้นมีอยู่แล้ว จากพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า โจทก์โดยกรรมการของโจทก์ ก็ได้รับรู้ข่าวเกี่ยวกับแชร์น้ำมันของพันจ่าอากาศเอกหญิง น. ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงในขณะซื้อขายว่าที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 รับโอนมาโดยไม่ชอบและอาจถูกเพิกถอนได้ แต่โจทก์ก็สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงจนรู้ได้เองอยู่แล้ว การที่จำเลยที่ 1 นิ่งเสียเช่นนั้นไม่ใช่กรณีที่จะถือว่าเป็นกลฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 162 จำเลยที่ 1 หรือจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 479
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 63/2544  จำเลยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์เสนอขายอาคาร 5 ชั้นพร้อมที่จอดรถใต้ดิน แต่ไปยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคาร 4 ชั้นต่อสำนักงานเขตประเวศ ต่อมาจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทกับโจทก์ระบุว่าอาคารพิพาทเป็นอาคาร 5 ชั้นพร้อมรายการประกอบแบบโดยทั่วไป ซึ่งผิดไปจากแบบที่จำเลยยื่นขออนุญาตไว้ การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการปิดบังมิให้โจทก์ทราบความจริงว่าจำเลยขออนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาทไว้เพียง 4 ชั้น นอกจากนี้ จำเลยได้ทำบันทึกการขออนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาทฯ รับทราบว่าอาคารพิพาทที่จำเลยยื่นขออนุญาตก่อสร้างอยู่ในบริเวณที่ดินที่จะสำรวจเพื่อเวนคืน แต่จำเลยยังมีความประสงค์จะก่อสร้างโดยจะไม่เรียกร้องหรือฟ้องร้องเอาเงินค่าทดแทนหรือค่าเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนี้ ที่ดินและอาคารพิพาทมีราคาสูงถึง 15,000,000 บาท หากโจทก์ทราบหรือแม้แต่เพียงสงสัยว่าจะมีการเวนคืน โจทก์ย่อมจะไม่ยอมทำสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยอย่างแน่นอน เพราะเงินค่าทดแทนที่จะได้รับจากการถูกเวนคืนนั้นไม่คุ้มกับจำนวนเงินที่จะต้องชำระให้แก่จำเลย การที่จำเลยปิดบังข้อเท็จจริงเรื่องการเวนคืนที่ดินและขออนุญาตก่อสร้างอาคารเพียง 4 ชั้นล้วนแต่เป็นกลฉ้อฉลของจำเลยซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่า หากจำเลยไม่ใช้กลฉ้อฉลดังกล่าว โจทก์ก็คงจะไม่แสดงเจตนาทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทกับจำเลย การแสดงเจตนาของโจทก์จึงตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 ประกอบด้วยมาตรา 162 เมื่อโจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวแล้วสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทย่อมตกเป็นโมฆะ
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1724/2548  โจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการซึ่งมีอำนาจเบิกถอนเงินของจำเลยจากธนาคาร โจทก์ได้เบิกเงินของจำเลยจากธนาคารมาใช้ต่อรองกับ ค. กรรมการของจำเลยให้ยอมทำสัญญาชำระค่าชดเชยแก่โจทก์เนื่องจากจำเลยมีมติให้โจทก์ออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลย เป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของโจทก์เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของโจทก์ ทำให้จำเลยเสียหายเพราะเงินขาดหายไปจากบัญชี ซึ่งหากไม่ได้เงินนั้นคืนมา ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วก็ยังมีอยู่ต่อไป การที่ ค. ยอมทำสัญญาชำระค่าชดเชยแก่โจทก์ก็เพื่อให้ได้เงินดังกล่าวกลับคืนมา สัญญาดังกล่าวจึงเกิดจากการที่โจทก์นำเงินที่เบิกไปเก็บไว้มาข่มขู่โดยแท้ การข่มขู่จึงนับว่าร้ายแรงถึงขนาดที่ทำให้สัญญาชำระค่าชดเชยเป็นโมฆียะและนับเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4)
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6231/2556  โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขาย ซึ่งถือว่าเป็นหนี้เหนือบุคคล โจทก์มีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลก็ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์มีภูมิลำเนาที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ส่วนจำเลยมีภูมิลำเนาที่อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ในการติดต่อสั่งซื้อสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้น จำเลยจะส่งใบสั่งซื้อสินค้าทางโทรสารไปยังที่ทำการโจทก์ที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี หลังจากนั้นโจทก์จะจัดส่งสินค้าให้จำเลย ณ ที่ทำการบริษัทจำเลยที่อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี เห็นว่า การที่จำเลยทำคำเสนอส่งให้แก่โจทก์ทางโทรสารเป็นเพียงการแสดงเจตนาต่อโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์บอกกล่าวสนองรับไปถึงจำเลย ณ ที่นั้นเวลานั้นแต่อย่างใด ทั้งจำเลยไม่ได้แสดงเจตนาโดยให้ถือว่าการดำเนินการจัดส่งสินค้าเป็นการสนองรับหรือปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยมีประเพณีปฏิบัติในการค้าต่อกัน โดยไม่จำต้องมีคำสนองรับที่จะก่อให้เกิดสัญญาจนทำให้เกิดมูลหนี้ ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น การที่โจทก์จัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อไปให้จำเลย ณ ที่ทำการบริษัทจำเลยซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี และจำเลยได้ยอมรับมอบสินค้าไว้แทนการบอกกล่าวสนองรับ จึงถือว่าสถานที่รับมอบสินค้าเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้น โจทก์จึงต้องฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาและมูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล ทั้งกรณีไม่ใช่เรื่องมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันในอันที่โจทก์จะเสนอคำฟ้องได้ทั้งสองศาล โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ศาลชั้นต้น ที่โจทก์ฎีกาว่า การแสดงเจตนาของจำเลยมีผลนับแต่เวลาที่โจทก์ได้ทราบการแสดงเจตนา สัญญาซื้อขายจึงเสร็จสมบูรณ์ ณ ที่ทำการโจทก์นั้นเป็นเรื่องผลของการแสดงเจตนา เมื่อไม่มีการสนองรับในขณะนั้น จึงถือไม่ได้ว่าสัญญาซื้อขายเสร็จสมบูรณ์ ณ สถานที่และในเวลาเดียวกันกับที่มีคำเสนอตาม ป.พ.พ. มาตรา 168 และ 356
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10808/2559  การบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นการแสดงเจตนาอย่างหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา..." ถ้อยคำว่า "ไปถึง" นั้น หมายความว่า ได้มีการแสดงเจตนาโดยมีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังลูกหนี้ ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของลูกหนี้ แม้ขณะจดหมายบอกกล่าวไปถึงภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของลูกหนี้จะไม่พบลูกหนี้หรือไม่มีผู้ใดรับไว้ ก็ถือว่าผู้รับจำนองมีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองไปถึงลูกหนี้โดยชอบแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 และมาตรา 169 วรรคหนึ่ง
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1738/2562  โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงซื้อขายเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 เมื่อจำเลยทั้งสองให้การและนำสืบพยานหลักฐานรับแล้วว่า การผลิตและส่งมอบเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงทุกต้นให้แก่โจทก์เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ประกอบกับก่อนการซื้อขายเสาเข็มพิพาทมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 3568 (พ.ศ.2549) ให้ยกเลิกเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2524 และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ซึ่งจำเลยที่ 2 เบิกความยอมรับว่า มีการยกเลิกการอนุญาตให้ผลิตเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2524 แล้วกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 โดยกฎหมาย ดังนั้น แม้ว่าตามใบเสนอราคา/อนุมัติสั่งซื้อจะมิได้ระบุการซื้อขายเป็นการซื้อขายเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง มาตรฐานเลขที่ มอก.396-2549 ก็ต้องตีความการซื้อขายนี้ตามเจตนาของโจทก์และจำเลยทั้งสองขณะมีการทำสัญญา โดยมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมควบคุมการแสดงเจตนา
 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12945/2558  โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นหนังสือโดยมีการวางเงินมัดจำด้วยการวางเงินมัดจำเป็นเพียงข้อสัญญาข้อหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ตกลงทำสัญญากันด้วยการวางเงินมัดจำ การฟ้องร้องบังคับคดีจึงต้องอาศัยหลักฐานตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำไว้ กรณีจึงต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ที่ห้ามมิให้คู่ความนำสืบพยานบุคคลว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมนอกเหนือจากสัญญาอยู่อีก เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายในข้อ 1. มีข้อความระบุชัดเจนอยู่แล้วว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงจะซื้อจะขายที่ดินตารางวาละ 100,000 บาท โดยส่วนที่เป็นถนนตามสภาพจริงจะไม่ถูกนำมาคำนวณเป็นราคาที่ดินที่จะซื้อจะขาย โดยไม่มีข้อความว่าให้จำเลยกันส่วนที่เป็นแนวเสาไฟฟ้าออกจากที่ดินจะซื้อจะขายแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ใช่ข้อความไม่ชัดเจนหรืออาจแปลความได้หลายนัย ย่อมไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องตีความการแสดงเจตนาของคู่สัญญาอีก ดังนี้ จะนำบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 171 มาบังคับใช้เพื่อสืบพยานบุคคลประกอบการตีความเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาหาได้ไม่ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่ายังมีข้อตกลงว่าให้จำเลยรังวัดแบ่งแยกกันส่วนที่เป็นแนวเสาไฟฟ้าออกจากที่ดินที่จะซื้อจะขาย นอกเหนือข้อตกลงในหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย จึงต้องห้ามมิให้รับฟังและถือไม่ได้ว่ามีข้อตกลงดังกล่าว