27 ก.พ. 2567

นิติกรรมอำพราง


          มาตรา  155 วรรคสอง "ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ"

          นิติกรรมอำพรางเป็นเรื่องที่คู่กรณีได้แสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันตามมาตรา 155 วรรคหนึ่งเช่นกัน แต่นอกจากที่จะได้แสดงเจตนาลวงแล้ว คู่กรณียังได้ทำนิติกรรมที่ตรงกับเจตนาที่แท้จริงของเขาไว้อีกนิติกรรมหนึ่ง เพียงแต่ไม่แสดงนิติกรรมนั้นให้ปรากฏแก่บุคคลอื่น กลับแสดงเจตนาทำนิติกรรมอีกอย่างหนึ่งออกมาให้ปรากฏ ทั้งที่นิติกรรมที่แสดงออกมาให้ปรากฏนั้นคู่กรณีไม่ต้องการผูกพัน เป็นการกระทำเพื่อจะหลอกบุคคลภายนอกให้เข้าใจว่าคู่กรณีได้ทำนิติกรรมตามที่แสดงออกให้ปรากฏนั้น ดังนั้น นิติกรรมที่แสดงออกให้ปรากฏซึ่งเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง จึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง ในขณะที่นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาที่แท้จริงซึ่งไม่แสดงออกมาให้ปรากฏ ซึ่งเรียกว่านิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้น ตามมาตรา 155 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ คือ นิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้นเป็นนิติกรรมอะไร ก็ให้นำกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติกรรมนั้นๆมาใช้บังคับ เช่น นิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้นเป็นสัญญากู้ยืม ก็ให้นำกฎหมายที่เกี่ยวกับลักษณะกู้ยืมมาใช้บังคับ อาทิเช่น

           1. ทำสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน สัญญาขายฝากเป็นโมฆะ ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2514/2561  ดอกเบี้ยที่โจทก์ผ่อนชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน เป็นเงิน 2,100 บาท หรือเท่ากับ 25,200 บาท ต่อปี เมื่อนำไปรวมกับต้นเงิน 70,000 บาท เป็นเงิน 95,200 บาท เป็นจำนวนใกล้เคียงกับราคาสินไถ่ 95,000 บาท การที่โจทก์ชำระดอกเบี้ยทุกเดือน จึงเป็นการชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้และแสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินตั้งแต่ต้น ไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายฝาก การนำโฉนดที่ดินมาวางเป็นเพียงให้จำเลยที่ 1 ยึดถือประกันหนี้เงินกู้ยืมเท่านั้น สัญญาขายฝากที่ทำไว้จึงเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10834/2556  โจทก์และจำเลยมีเจตนาจะผูกพันในเรื่องการกู้ยืมเงินระหว่าง อ. กับจำเลยโดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน และให้โฉนดที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้ หาได้มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามสัญญาขายฝากไม่ แม้การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งในการทำนิติกรรมอำพรางตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสองนั้น คู่กรณีจะต้องแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรมคือ นิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฏออกมาโดยเปิดเผย คู่กรณีไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับอย่างใดตามกฎหมาย ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งเป็นนิติกรรมที่ไม่เปิดเผยเรียกว่านิติกรรมที่ถูกอำพรางปกปิดไว้ โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่ถูกอำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้ แม้คู่กรณีในเรื่องนิติกรรมอำพรางจะต้องมีเพียงคู่เดียวก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์เป็นสามีของ อ. ผู้กู้ ทั้งยังเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญากู้เงิน โดยโจทก์มีความประสงค์ต้องการใช้เงิน แสดงว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในเงินกู้ดังกล่าวด้วย การที่โจทก์และ อ. ทำนิติกรรมดังกล่าวจึงมีผลประโยชน์ร่วมกัน และถือได้ว่าเป็นฝ่ายเดียวกัน ดังนี้ แม้คู่กรณีในนิติกรรมขายฝากจะเป็นนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลย ส่วนนิติกรรมการกู้ยืมเป็นนิติกรรมระหว่าง อ. กับจำเลย ก็ถือได้ว่าคู่กรณีในนิติกรรมทั้งสองนิติกรรมนั้นเป็นคู่กรณีเดียวกัน ฟังได้ว่านิติกรรมขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืม จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญากู้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง โดยจำเลยยังมีสิทธิยึดโฉนดที่ดินพิพาทเป็นประกันได้
          เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่ามีการชำระหนี้ตามสัญญากู้ครบถ้วนแล้วหรือไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากกับขอให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินพิพาทได้ และเมื่อการขายฝากที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างตกเป็นโมฆะดังกล่าว ศาลฎีกาก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนเสีย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4686/2552  เมื่อสัญญาขายฝากที่ดินเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงินจึงเป็นนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จำเลยจะขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองชำระเงินตามราคาขายฝากที่ดินเป็นต้นเงินกู้ไม่ได้ แต่ต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง โดยถือเพียงว่าสัญญาขายฝากที่ดินเป็นหลักฐานว่าโจทก์ทั้งสองได้กู้ยืมเงินจากจำเลย และโจทก์ทั้งสองได้มอบโฉนดที่ดินของตนให้จำเลยยึดถือไว้เป็นหลักประกันเงินกู้เท่านั้น สำหรับการขายฝากที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยเมื่อตกเป็นโมฆะดังวินิจฉัยแล้ว ศาลชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนเสียได้โดยจำเลยยังคงยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสองไว้ได้จนกว่าโจทก์ทั้งสองจะชำระเงินกู้และดอกเบี้ยแก่จำเลยครบถ้วน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4698/2551  ค. กับจำเลยทั้งสามขอกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 2,000,000 บาท มีที่ดินและบ้านพิพาทเป็นประกัน โดยจำเลยทั้งสามยินยอมทำเป็นสัญญาขายฝากตามความประสงค์ของโจทก์มีการทำรายการคิดการชำระเงินกัน กำหนดค่าไถ่ถอน 3,500,000 บาท และมีการคิดดอกเบี้ยกับหักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าจำนวน 300,000 บาท ด้วย เมื่อตามกฎหมายมิได้บัญญัติให้นิติกรรมขายฝากมีการเรียกดอกเบี้ยกันได้ ประกอบกับโจทก์เองเบิกความรับว่า ค. ติดต่อเพื่อขอกู้ยืมเงินโจทก์ จึงฟังได้ว่าการทำสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินโดยมีที่ดินและบ้านพิพาทเป็นประกัน จึงต้องนำกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมกู้ยืมมาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 เป็นผลให้ที่ดินและบ้านพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสาม โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามได้


          2. ทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินเพื่อเป็นการอำพรางการยกให้ นิติกรรมซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะ ต้องบังคับตามสัญญาให้ที่ถูกอำพรางไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6342/2552  ท. มีเจตนายกที่ดินให้แก่จำเลยแต่จดทะเบียนนิติกรรมเป็นการขาย ถือได้ว่าการจดทะเบียนนิติกรรมขายที่ดินเป็นการอำพรางนิติกรรมให้ นิติกรรมขายที่ดินย่อมเป็นการแสดงเจตนาด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณี ย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนนิติกรรมให้ต้องบังคับบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูกอำพรางตามมาตรา 155 วรรคสอง การที่ ท. จดทะเบียนนิติกรรมขายมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน คือที่ดินเช่นเดียวกับนิติกรรมให้ต่างกันเพียงว่ามีค่าตอบแทนแก่กันหรือไม่เท่านั้น ย่อมถือได้ว่าการจดทะเบียนขายดังกล่าวเป็นการทำหนังสือและจดทะเบียนสำหรับการให้ที่ถูกอำพรางด้วยโดยอนุโลมนิติกรรมการให้ที่ดินระหว่าง ท. และจำเลย จึงไม่เป็นโมฆะและมีผลบังคับตามมาตรา 155 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1871/2549   ผ. กับจำเลยทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทและจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมให้แก่จำเลยจำนวน 2,000 ส่วน โดยจำเลยเสียค่าตอบแทน แต่ความจริง ผ. ได้โอนกรรมสิทธิ์ยกที่ดินให้แก่จำเลยโดยไม่มีค่าตอบแทน เพื่อลวงไม่ให้บิดาโจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ผ. ทราบ ถือได้ว่า ผ. ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมซึ่งก็คือนิติกรรมซื้อขายที่ดินไว้กับจำเลยเป็นการอำพรางการยกให้นิติกรรมอันแรกคือบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ย่อมเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณีที่จะไม่ผูกพันกันตามเจตนาที่แสดงออกมานั้น ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคแรก ส่วนนิติกรรมอันหลังคือสัญญาให้ที่ถูกอำพรางไว้นั้นต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมอันที่ถูกอำพรางไว้ตามมาตรา 155 วรรคสอง เมื่อ ผ. มีเจตนาทำสัญญาให้ที่ดินจำเลยแล้ว การที่ ผ. จดทะเบียนบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเช่นเดียวกัน ต่างกันเพียงแต่ว่ามีค่าตอบแทนหรือไม่ไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าเป็นการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนสำหรับนิติกรรมการให้ที่ถูกอำพรางด้วยโดยอนุโลม นิติกรรมให้ที่ดินพิพาทระหว่าง ผ. กับจำเลยจึงไม่เป็นโมฆะ

           3. ทำสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นการอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน นิติกรรมซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะ โดยต้องบังคับตามสัญญาที่แท้จริงคือสัญญากู้เงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1335/2561 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกันมาตั้งแต่ต้น มิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายที่ดินกันจริง สัญญาขายที่ดินตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์ โดยให้ที่ดินแก่โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน และย่อมถือได้ว่าสัญญาขายที่ดินเป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์กับจำเลยและถูกอำพรางไว้ ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพราง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อสัญญาขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะจึงต้องเพิกถอนสัญญาดังกล่าว เป็นผลให้ที่ดินยังเป็นของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574/2556  จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนแรกว่า ต. และจำเลยที่ 1 ไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่สัญญาซื้อขายตามฟ้องเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ที่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์ จึงเป็นคำให้การที่แสดงการปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ รวมทั้งอ้างเหตุแห่งการนั้น ว่าสัญญาซื้อขายเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนหลังว่า สัญญาซื้อขายตามฟ้องมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ และตัดฟ้องโจทก์ว่าโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ก็มิใช่ว่าเป็นคำให้การที่ยอมรับหรือถือว่า ต. และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์จริง จึงมิได้ขัดแย้งกันเองหรือไม่ชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงแสดงโดยชัดแจ้งว่าปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งหมด รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้ว ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธินำพยานเข้าสืบหักล้างสัญญาซื้อขายตามฟ้องได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
          การที่โจทก์ปล่อยปละละเลยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 20 ปี นับแต่ที่อ้างว่าซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจาก ต. และจำเลยที่ 1 โดยมิได้จัดให้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนในที่ดินพิพาททั้งสองซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติที่ไม่ดำเนินการปกป้องสิทธิของตนเองเช่นนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อพิรุธของโจทก์อย่างยิ่ง ส่อแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทราบดีว่าตนมีสิทธิเพียงเข้าทำกินในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่างดอกเบี้ยเท่านั้นเอง การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องจึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน ทำให้นิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคแรก และต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง
          แม้กรณีเช่นนี้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ต.และจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาซื้อขายก็ตาม ย่อมถือได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้อง เป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่าง ต. กับโจทก์ จึงมีผลบังคับกันได้
          การที่ ต. และจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ แต่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์และให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นการทำกินต่างดอกเบี้ย ต. และจำเลยที่ 1 มิได้สละการครอบครองให้แก่โจทก์แต่อย่างใด แม้ว่าโจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์ เพราะยังถือได้ว่าโจทก์ครอบครองแทน ต. หรือทายาทของ ต. และจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2976/2548   แม้จำเลยจะได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์กับโจทก์และได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินก็ตาม เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาฉบับดังกล่าว จำเลยก็สามารถนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่า ความจริงเป็นการทำสัญญากู้เงินกัน ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคสอง เพราะเป็นการนำสืบว่า สัญญาซื้อขายนั้นเป็นนิติกรรมอำพราง ต้องบังคับตามสัญญาที่แท้จริงคือสัญญากู้เงิน
          การที่จำเลยไปยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อเจ้าพนักงานที่ดินและให้ปากคำว่าต้องการซื้อขายกันจริงโดยยินยอมเสียค่าธรรมเนียมต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามระเบียบ เป็นการยืนยันเจตนาแท้จริงของจำเลยที่ต้องการขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ต้องการขายที่ดินพิพาทให้โจทก์จริงดังจำเลยอ้าง ก็น่าจะทำสัญญาจะซื้อขายกันไว้เป็นหลักฐานก็พอ ดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้เงิน

           4. ทำสัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายกิจการ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5457/2560  โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยทั้งสองต่างให้การรับว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์และยกข้อต่อสู้ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางการซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้จำเลยที่ 1 ถูกจำกัดสิทธิบางประการตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 ดังนี้ คดีย่อมมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ ดังที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 ที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวด้วยการให้ผู้มีสัญชาติไทยมีชื่อถือหุ้นแต่เพียงในนาม สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 กรณีเป็นเรื่องโจทก์รู้อยู่ว่า การที่โจทก์ซื้อกิจการจำเลยที่ 1 ทั้งหมดและให้ผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นแต่เพียงในนามแทนโจทก์ที่เป็นคนต่างด้าว อันเป็นการจงใจกระทำการฝ่าฝืนและต้องห้ามตามกฎหมายมาแต่ต้น เมื่อได้ความดังนี้ เงินที่โจทก์อ้างว่าให้กู้ยืมแต่แท้ที่จริงเป็นเงินที่โจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อกิจการจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายและไม่อาจเรียกคืนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411

          5. สัญญาร่วมลงทุนเพื่ออำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13219/2556  เมื่อสัญญาที่โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงทำกันในรูปสัญญาร่วมลงทุนเพื่ออำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงินต่อกัน สัญญาร่วมลงทุนจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง กรณีคงต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องกู้ยืมเงินที่ถูกอำพราง และสัญญาร่วมลงทุนที่ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์เป็นหลักฐานแห่งสัญญากู้ยืมเงินได้หรือไม่ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า "ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์ครบจำนวน จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้" คำว่าตราสารดังกล่าวหมายความถึงหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่คู่สัญญาเจตนาแสดงออกว่าเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกัน ไม่ได้หมายรวมไปถึงหลักฐานแห่งสัญญากู้ยืมเงินที่ถูกอำพรางไว้ในรูปสัญญาอื่น เพราะคู่สัญญาไม่ได้ต้องการที่จะแสดงออกอย่างเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกัน หนังสือสัญญาในลักษณะเช่นนี้ จึงไม่ได้เป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามความหมายของคำว่าตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 คงเป็นได้เพียงหลักฐานเป็นหนังสือแสดงการกู้ยืมเงินเท่านั้น เมื่อสัญญาร่วมลงทุนนี้มีเนื้อความครบถ้วนว่าจำเลยที่ 1 รับเงินจากโจทก์ไป แบ่งจ่ายแต่ละครั้งเมื่อใด และจะคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เมื่อใด โดยมีการลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ไว้ หนังสือสัญญาร่วมลงทุนจึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่ไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ แม้สัญญาร่วมทุนจะตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่เมื่อถือว่าสัญญาร่วมทุนดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินแล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันด้วย

          6. ทำสัญญาซื้อขายเพื่ออำพรางนิติกรรมสัญญาจ้างทำของ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3918/2563  สัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. ซึ่งคู่สัญญาทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย แม้ว่าอนุญาโตตุลาการจะวินิจฉัยว่าสัญญาดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางตกเป็นโมฆะ ต้องบังคับตามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางและให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะสัญญาจ้างทำของมาใช้บังคับ ซึ่งสัญญาที่ทำเป็นหนังสือในรูปแบบของสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. นี้เป็นโมฆะ เพราะเกิดจากเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แต่ก็มีลักษณะสมบูรณ์ในลักษณะของสัญญาจ้างทำของได้ หากมีลักษณะเข้าทุกองค์ประกอบของสัญญา และไม่มีข้อบกพร่องขององค์ประกอบทุกข้อในทางกฎหมาย ทั้งไม่มีข้อบกพร่องในการแสดงเจตนา ซึ่งสัญญาจ้างทำของนี้ไม่ต้องทำตามแบบแต่อย่างใด สัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. เป็นสัญญาจ้างทำของจึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ เมื่อมีการทำสัญญาดังกล่าวไว้เป็นหนังสือ แม้จะเป็นโมฆะในลักษณะของสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. แต่เนื้อหาของสัญญานั้นยังอยู่และสมบูรณ์ในลักษณะของสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ข้อสัญญาหรือข้อตกลงในการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการจึงยังคงมีอยู่ในรูปของหนังสือ สัญญาอนุญาโตตุลาการจึงมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ต้องตามหลักเกณฑ์ใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 วรรคสอง นอกจากนี้ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “...และเพื่อวัตถุประสงค์นี้ (ซึ่งหมายถึงอำนาจของอนุญาโตตุลาการในการวินิจฉัยถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ) ให้ถือว่าข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหลัก เป็นข้อสัญญาแยกต่างหากจากสัญญาหลัก คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการที่ว่าสัญญาหลักเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์จะไม่กระทบกระเทือนถึงข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ” ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ที่เป็นหนังสือนั้นยังมีอยู่ อนุญาโตตุลาการจึงมีอำนาจวินิจฉัยและทำคำชี้ขาดได้ และคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงชอบด้วยกฎหมาย สามารถบังคับได้ตามคำชี้ขาดนั้น ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง, 43, 44

          8. ทำสัญญาโอนที่ดินพิพาทและสำเนาบันทึกถ้อยคำข้อตกลงเรื่องโอนชำระหนี้จำนอง เพื่อเป็นการอำพรางสัญญาซึ่งมีข้อตกลงว่าให้ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้อันเป็นสัญญาขายฝาก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5440/2561  การที่โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสอง แต่ได้เงินไม่ครบตามที่จดทะเบียนจำนองไว้ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้ว วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 ก็ทำสัญญาให้โจทก์ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้ นอกจากนี้โจทก์ยังเป็นผู้เก็บค่าเช่าในที่ดินพิพาทมาโดยตลอด แสดงว่าการที่โจทก์โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงการแสดงเจตนาลวง โดยไม่มีเจตนาผูกพันกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง สัญญาโอนที่ดินพิพาทตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบันทึกถ้อยคำข้อตกลงเรื่องโอนชำระหนี้จำนอง จึงเป็นการอำพรางสัญญาซึ่งมีข้อตกลงว่าให้ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้อันเป็นสัญญาขายฝาก เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 152 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาขายฝากต่างมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมที่จำเลยทั้งสองให้โจทก์กู้ การทำสัญญาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นไปในฐานะส่วนตัวและในฐานะตัวแทนของจำเลยอีกคนหนึ่งด้วย เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวต่างเป็นโมฆะ กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ เมื่อโจทก์ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 จนครบจำนวนที่โจทก์ยืมจากจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนโจทก์ 

          9. ทำสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนำจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญาจำนำตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3692/2564  พยานโจทก์และพยานจำเลยเบิกความยันกันอยู่ว่าโจทก์จำนำหรือขายฝากรถยนต์ ยากที่รับฟังว่าฝ่ายใดเบิกความตามจริง แต่ตามคำเบิกความของโจทก์และ ส. ได้ความว่า โจทก์ชำระหนี้จำนำรถยนต์แก่จำเลย 5 ครั้ง และ ส. เบิกความตอบคำถามติงทนายโจทก์ว่าโจทก์และจำเลยเข้าใจตรงกันว่าให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน นอกจากนั้น จำเลยเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์รับว่า โจทก์โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยและข้อความสนทนาทางแอปพลิเคชันไลน์เป็นการติดต่อระหว่างโจทก์และจำเลย โดยข้อความดังกล่าวระบุว่าเป็นการโอนเงินชำระดอกเบี้ยไม่ได้ระบุว่าเป็นค่าซื้อรถยนต์คืนจากจำเลย ตามพฤติการณ์จึงเชื่อว่า โจทก์ส่งมอบรถยนต์ให้จำเลยเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้อันเป็นการจำนำรถยนต์ อีกทั้งการขายฝากนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายฝากย่อมตกเป็นของผู้ซื้อฝากตั้งแต่เมื่อทำสัญญาขายฝาก แต่ตามคำเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ปรากฏว่าจำเลยหักเงินที่จ่ายให้โจทก์เป็นค่าจอดรถยนต์และค่าดูแลรักษาไว้ด้วย ส่อแสดงว่าจำเลยถือว่ารถยนต์ดังกล่าวยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และตามสำเนาสัญญาขายฝากรถยนต์ มีข้อความว่า “ข้อ 1 ผู้ขายตกลงขายฝากและผู้ซื้อตกลงซื้อรถยนต์...ในราคา 90,000 บาท...ผู้ขายได้รับเงินไปเรียบร้อยแล้ว จึงได้มอบรถพร้อมใบคู่มือจดทะเบียน...ให้แก่ผู้ซื้อไว้เพื่อกระทำการโอนรถได้หากพ้นกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนแล้ว ข้อ 2 ผู้ขายฝากจะกระทำการไถ่รถในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ทำสัญญามิฉะนั้นถือว่าสละสิทธิ์ ข้อ 6 ถ้าในระหว่างสัญญาขายฝาก...จะด้วยเหตุผลใดก็ตามทำให้รถที่ขายฝากไม่สามารถที่จะกระทำการโอนได้ในภายหลังที่ผู้ขายฝากสละสิทธิ์ไถ่รถ...ผู้ขายฝากจะต้องคืนเงินที่รับไปตามข้อ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ย...ให้แก่ผู้ซื้อ...” ข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายเพียงว่า โจทก์จะยอมให้รถยนต์ตกไปยังจำเลยก็ต่อเมื่อโจทก์ไม่ชำระเงิน 90,000 บาท คืนแก่จำเลยเมื่อถึงเวลาที่กำหนด ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ตกลงให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตกไปยังจำเลยทันทีโดยมีข้อตกลงกันว่าโจทก์อาจไถ่รถยนต์นั้นคืนได้ในภายหลัง อันจะต้องด้วยลักษณะของสัญญาขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยมีเจตนาผูกพันตามสัญญาจำนำ หาได้มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาขายฝากไม่ สัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนำจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญาจำนำตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่รับชำระหนี้จำนำในส่วนที่เหลือ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับชำระหนี้จำนำในส่วนที่เหลือกับขอให้จำเลยคืนรถยนต์ตามฟ้องได้ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน

          10. ทำสัญญาจำนองเพื่ออำพรางสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่ยังไม่อาจโอนสิทธิในที่ดินได้เพราะมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ สัญญาจำนองจึงเป็นนิติกรรมอำพราง ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8887/2563  ย. ตกลงขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้พันเอก พ. เมื่อปี 2519 ต่อมาปี 2520 เมื่อมีการเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่เนื่องจากติดข้อกำหนดที่ห้ามมิให้ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่นภายใน 10 ปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน ย. และพันเอก พ. จึงทำสัญญาจำนองโดยไม่มีการกู้ยืมเงินจริง แต่ทำเพื่ออำพรางสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่ยังไม่อาจโอนสิทธิในที่ดินได้เพราะมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ สัญญาจำนองจึงเป็นนิติกรรมอำพราง ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 เมื่อสัญญาจำนองเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยได้การทำสัญญาการซื้อขายที่ดินพิพาทจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามกฎหมาย เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้น การที่ ย. ทำสัญญาการซื้อขายและมอบให้พันเอก พ. ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท พันเอก พ. ก็หาได้สิทธิครอบครองตามกฎหมายไม่เพราะอยู่ในกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อพ้นระยะเวลาห้ามโอนคือวันที่ 24 สิงหาคม 2530 พันเอก พ. และทายาทครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างต่อเนื่องและเป็นผู้ชำระภาษีบำรุงท้องที่มาโดยตลอดตั้งแต่ พ.ศ.2528 ถึง พ.ศ.2559 โดยไม่ปรากฏว่า ย. หรือทายาทเข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ย. หรือทายาทได้สละการครอบครองที่พิพาทให้แก่พันเอก พ. แล้ว ย่อมถือว่าพันเอก พ. ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนต่อแต่นั้นมา พันเอก พ. ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ.มาตรา 1367 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการได้มา

          แต่ถ้าเดิมคู่กรณีตั้งใจทำนิติกรรมอย่างหนึ่งแล้วปรากฏว่าต่อมาเกิดความไม่สะดวกที่จะทำนิติกรรมนั้นๆ ก็เลยเปลี่ยนใจไปทำนิติกรรมอีกอย่างหนึ่ง โดยที่คู่กรณีตกลงตั้งใจผูกพันกันตามนิติกรรมที่ทำในภายหลัง กรณีนี้นิติกรรมที่ทำนั้นมีผลสมบูรณ์และไม่ใช่เรื่องนิติกรรมอำพราง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 956/2519   จำเลยมีเจตนาจะจำนองที่ดินและบ้าน แต่โจทก์ไม่ยอม โจทก์ขอให้ทำเป็นสัญญาขายฝาก เหตุที่จำเลยยอมทำสัญญาขายฝากตามความประสงค์ของโจทก์ก็เพื่อจะได้เงินตามที่ต้องการ สัญญาขายฝากจึงมิใช่นิติกรรมอำพราง

          ถ้าคู่กรณีทำนิติกรรม 2 อย่าง โดยประสงค์จะผูกพันกันตามนิติกรรมทั้ง 2 อย่าง นิติกรรมที่เกิดจากนิติกรรมที่แท้จริงจึงมีผลผูกพันตามที่ทำ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 530/2546   เดิมจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทที่จดทะเบียนจำนองแก่ธนาคาร ก. และจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมโจทก์จำนวนหนึ่ง ต่อมาธนาคาร ก. ทวงให้จำเลยชำระหนี้จำนอง จำเลยจึงตกลงทำสัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทแก่โจทก์ แล้วโจทก์นำไปจำนองธนาคาร ท. โดยมีข้อตกลงให้จำเลยผ่อนชำระหนี้แทนโจทก์เมื่อชำระครบถ้วนแล้วโจทก์จะโอนที่ดินและบ้านพิพาทคืนจำเลย ดังนั้น สัญญาขายบ้านและที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทำขึ้นโดยมีเจตนาที่แท้จริง แต่มีเงื่อนไขในการโอนกลับคืนอันถือเป็นข้อตกลงที่บังคับได้ การซื้อขายบ้านและที่ดินดังกล่าวจึงมิใช่การแสดงเจตนาลวง แต่เมื่อจำเลยไม่ได้ผ่อนชำระหนี้แทนโจทก์ และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ประสงค์ให้จำเลยและบริวารอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทอีกต่อไป โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 829/2537   ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยกู้ยืมเงินจาก จ.สามีโจทก์มาประกอบการค้าโดยมอบเช็คลงวันที่ล่วงหน้า รวมทั้งเช็คตามเอกสารหมาย ล.5 ถึง ล.15 แก่ จ.เพื่อชำระหนี้เงินที่จำเลยกู้ยืมมา มิใช่เป็นการประกันหนี้ เมื่อจำเลยไม่สามารถชำระหนี้ด้วยเช็คเพราะยังไม่มีเงินในบัญชี จ.จึงให้จำเลยโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทแก่โจทก์แทนและโจทก์ทำสัญญาให้จำเลยอาศัยอยู่ในตึกแถวพิพาท จึงเป็นกรณีที่ จ.ยอมรับชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ การทำนิติกรรมอำพรางนั้นขณะทำนิติกรรมคู่กรณีจะต้องมีเจตนาทำนิติกรรมอันหนึ่งขึ้นมาอำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่ง แต่คดีนี้ขณะจำเลยกู้ยืมเงินจาก จ.สามีโจทก์ โจทก์จำเลยยังไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทและสัญญาให้จำเลยอาศัยอยู่ในตึกแถวพิพาทมาปิดบังอำพรางนิติกรรมที่จำเลยกู้ยืมเงินสามีโจทก์ สัญญาโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทและสัญญาให้อาศัยได้ทำขึ้นภายหลัง และมิได้ทำขึ้นโดยบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีเดียวกันจึงไม่อยู่ในความหมายของนิติกรรมอำพราง สัญญาให้อาศัยระหว่างโจทก์จำเลยจึงมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยอยู่ในตึกแถวพิพาทครบกำหนดตามสัญญาแล้ว ไม่ยอมออกไปโดยโจทก์ไม่ยินยอม จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์

          สามารถนำสืบพยานบุคคลว่าสัญญาที่ทำนั้นเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมอื่นได้ ไม่เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร อันต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 273-274/2501  โจทก์จำนองที่ดินไว้เป็นประกันเงินกู้แต่ทำหลักฐานทางทะเบียนเป็นการขายฝากและโจทก์คงครอบครองที่ดินมาดังนี้ โจทก์ย่อมนำสืบว่าสัญญาขายฝากที่ทำต่อเจ้าพนักงานว่าเป็นนิติกรรมอำพรางการจำนองได้ไม่เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร อันต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เพราะถ้าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการจำนองก็เป็นโมฆะเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้ (อ้างฎีกา 272/2498 ประชุมใหญ่ 4/2498)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272/2498 (ประชุมใหญ่)  โจทก์บรรยายฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งได้ขายให้แก่จำเลยบางส่วนแต่ได้โอนชื่อทางทะเบียนเป็นชื่อจำเลยเป็นเจ้าของทั้งแปลงส่วนของโจทก์ที่ยังเหลือโจทก์ฝากจำเลยไว้ เพราะการแบ่งแยกโฉนดไม่สะดวก ดังนี้ถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องได้ความชัดแล้วว่าเป็นเรื่องนิติกรรมอำพราง เป็นเรื่องทำสัญญาขายอำพรางสัญญาฝาก โจทก์จึงมีสิทธินำสืบถึงนิติกรรมที่อำพรางไว้ได้ ไม่ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2629/2531   โจทก์ได้รับการยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินจากบิดา แต่เนื่องจากพี่น้องของโจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนบิดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวการโอนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์จึงทำเป็นสัญญาซื้อขาย แล้วโจทก์ได้ขายที่ดินไปหลังจากได้กรรมสิทธิ์มาเป็นเวลาถึง 14 ปี แม้ระหว่างนั้นจะมีการจำนองและไถ่จำนองที่ดินและการรวมที่ดินเป็นแปลงใหญ่รวมทั้งจัดหาที่ดินทำทางเข้าออกติดกับถนนใหญ่ด้วย ก็เป็นการกระทำเพียงเพื่อจะให้ได้ขายที่ดินได้ในราคาสูงซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของปุถุชนและไม่ได้ความว่าโจทก์ได้เคยซื้อขายที่ดินมาก่อนคงมีการขายที่ดินครั้งพิพาทนี้ครั้งเดียว การกระทำของโจทก์ยังไม่เป็นการกระทำเพื่อมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร โจทก์ได้รับการยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินจากบิดา แต่ทำเป็นสัญญาซื้อขาย การที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าสัญญาซื้อขายไม่สมบูรณ์นั้นย่อมนำสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง
          การกระทำของโจทก์ในการจดทะเบียนนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่ดินนั้นเป็นการแสดงเจตนาลวง แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 118 วรรคแรก ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายแต่การแสดงเจตนาลวงนั้นก็ตาม แต่ในการประเมินเรียกเก็บภาษีของเจ้าพนักงานประเมิน จะกระทำได้ก็ต้องให้ได้ความด้วยว่าโจทก์ได้มุ่งในทางการค้าและหากำไรด้วยซึ่งข้อนี้จำต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง

          ถ้านิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้นั้นมีกฎหมายกำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้ว นิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้นจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย มิฉะนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ หรือกรณีที่นิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้นมีกฎหมายกำหนดแบบไว้ นิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้นต้องทำให้ถูกต้องตามแบบ มิฉะนั้นนิติกรรมนั้นย่อมเป็นโมฆะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1038-1039/2509 (ประชุมใหญ่)  ทำสัญญาจ้างทำนาเป็นหนังสือโดยอำพรางนิติกรรมการเช่านาสัญญาเช่านาที่ถูกอำพรางนั้นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้  มิฉะนั้นไม่มีผลบังคับและจะถือเอาหลักฐานสัญญาจ้างทำนาเป็นหลักฐานการเช่านามิได้ เมื่อการเช่านามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ  และโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากนาแล้ว  จำเลยก็ไม่มีสิทธิอยู่ในนาที่เช่านั้นต่อไปได้  การอยู่ต่อมาของจำเลยจึงเป็นละเมิด (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 20/2509)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5440/2561  โจทก์ฟ้องว่าโจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสอง โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกัน และกำหนดเวลาชำระคืนกันไว้ แต่จำเลยทั้งสองมีเงินให้โจทก์กู้ยืมเพียงบางส่วน จึงขอให้โจทก์ลงลายมือชื่อ ในหนังสือมอบอำนาจที่มิได้กรอกข้อความให้จำเลยทั้งสองยึดถือไว้เพื่อทำนิติกรรมกู้ยืมจากบุคคลอื่นมาให้โจทก์ เมื่อครบกำหนดโจทก์ไม่ชำระเงินต้นและกู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสองอีกหลายครั้ง ต่อมาจำเลยทั้งสองนำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงชื่อไปกรอกข้อความและโอนที่ดินพิพาทตีใช้หนี้แก่จำเลยที่ 1 ภายหลัง โจทก์ทราบการโอน โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงกันว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมีสิทธิไถ่ถอนที่ดินคืน ภายใน 3 ปี หากไม่ไถ่ถอนถือว่าสละสิทธิและโจทก์จะได้รับเงินคืนจากจำเลยทั้งสองเพิ่มเติมพร้อมดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี แต่หากโจทก์ไถ่ถอนที่ดินพิพาทก่อนครบกำหนด โจทก์ต้องชำระภาษีพร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินที่ยืมไปทั้งหมด จำเลยทั้งสองให้การตอนแรกว่าไม่เคยตกลงทำสัญญากับโจทก์ แต่ตอนท้ายกลับให้การว่า หากฟังว่าจำเลยที่ 2 ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ชำระเงินไม่ครบจึงเป็นฝ่ายผิดนัด ผิดสัญญาและไม่มีสิทธิมาฟ้องเรียกร้องตามสัญญา เท่ากับจำเลยทั้งสองให้การยอมรับว่ามีการทำสัญญากับโจทก์จริง คำให้การของจำเลยทั้งสองจึงขัดแย้งกันเอง จึงเป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ การที่โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสอง แต่ได้เงินไม่ครบตามที่จดทะเบียนจำนองไว้ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้ว วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 ก็ทำสัญญาให้โจทก์ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้ นอกจากนี้โจทก์ยังเป็นผู้เก็บค่าเช่าในที่ดินพิพาทมาโดยตลอด แสดงว่าการที่โจทก์โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงการแสดงเจตนาลวง โดยไม่มีเจตนาผูกพันกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง สัญญาโอนที่ดินพิพาทตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบันทึกถ้อยคำข้อตกลงเรื่องโอนชำระหนี้จำนอง จึงเป็นการอำพรางสัญญาซึ่งมีข้อตกลงว่าให้ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้อันเป็นสัญญาขายฝาก เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 152 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาขายฝากต่างมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมที่จำเลยทั้งสองให้โจทก์กู้ การทำสัญญาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นไปในฐานะส่วนตัวและในฐานะตัวแทนของจำเลยอีกคนหนึ่งด้วย เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวต่างเป็นโมฆะ กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ เมื่อโจทก์ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 จนครบจำนวนที่โจทก์ยืมจากจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนโจทก์

          ซึ่งศาลฎีกาได้อนุโลมโดยนำหลักเรื่องนิติกรรมที่เป็นโมฆะอาจสมบูรณ์ในฐานะที่เป็นนิติกรรมอย่างอื่นมาใช้วินิจฉัยคดีกรณีนิติกรรมที่ถูกอำพรางนั้นมีกฎหมายให้ทำตามแบบ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2239/2517   การที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนสัญญาขายฝากที่ดินพิพาท ถ้าโจทก์จำเลยไม่มีเจตนาจะผูกพันกันตามสัญญาขายฝาก สัญญานั้นก็เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคแรก (เดิม)
          ก่อนทำสัญญาขายฝากก็ดี ขณะทำสัญญาขายฝากก็ดี ภายหลังทำสัญญาขายฝากก็ดีโจทก์จำเลยมิได้ตั้งใจจะผูกพันกันตามสัญญาขายฝาก  เป็นเรื่องที่จำเลยต้องการดอกเบี้ยเท่านั้นโดยจำเลยสัญญาจะไม่เอาที่ดินหลุดเป็นสิทธิ  ถือได้ว่าโจทก์ทำสัญญาขายฝากอำพรางการจำนอง
          การที่นิติกรรมอันหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่งนิติกรรมอันแรกคือสัญญาขายฝากย่อมเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณี  ที่จะไม่ผูกพันตามเจตนาที่แสดงออกมานั้น  นิติกรรมอันแรกที่ปรากฏออกมานั้นย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคแรก (เดิม) ส่วนนิติกรรมอันหลังคือสัญญาจำนองที่ถูกอำพรางไว้โดยนิติกรรมอันแรก ต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตามมาตรา 118 วรรค 2 (เดิม) เมื่อโจทก์จำเลยมีเจตนาทำสัญญาจำนองแล้วแต่การจำนองไม่ได้จดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงเรียกไม่ได้ว่าเป็นการจำนอง เป็นเพียงการที่โจทก์กู้เงินจากจำเลย และให้ที่ดินแก่จำเลยยึดถือไว้เป็นประกัน  และย่อมถือได้ว่าเอกสารการขายฝากที่โจทก์จำเลยทำไว้ ณ สำนักงานที่ดิน  เป็นนิติกรรมสัญญากู้เงินที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์จำเลยนั้น ฉะนั้น  เมื่อโจทก์ฟ้องขอนำเงินมาไถ่ถอนที่พิพาท  ก็เท่ากับโจทก์ขอชำระหนี้เงินกู้ จำเลยมีหน้าที่รับชำระและคืนที่พิพาทที่เป็นประกันนั้นให้โจทก์ไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4696/2536  จำเลยกู้เงินโจทก์โดยมอบรถยนต์ให้โจทก์ยึดไว้เป็นประกันแต่ทำหนังสือการรับเงินค่าขายรถยนต์มอบให้โจทก์เป็นหลักฐานนิติกรรมการซื้อขายรถยนต์จึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้เงินและตกเป็นโมฆะ ต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา155 วรรคสอง แม้จะต้องถือว่าหนังสือการรับเงินค่าขายรถยนต์ใช้บังคับเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4686/2552   เมื่อสัญญาขายฝากที่ดินเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงินจึงเป็นนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จำเลยจะขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองชำระเงินตามราคาขายฝากที่ดินเป็นต้นเงินกู้ไม่ได้ แต่ต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง โดยถือเพียงว่าสัญญาขายฝากที่ดินเป็นหลักฐานว่าโจทก์ทั้งสองได้กู้ยืมเงินจากจำเลย และโจทก์ทั้งสองได้มอบโฉนดที่ดินของตนให้จำเลยยึดถือไว้เป็นหลักประกันเงินกู้เท่านั้น สำหรับการขายฝากที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยเมื่อตกเป็นโมฆะดังวินิจฉัยแล้ว ศาลชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนเสียได้โดยจำเลยยังคงยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสองไว้ได้จนกว่าโจทก์ทั้งสองจะชำระเงินกู้และดอกเบี้ยแก่จำเลยครบถ้วน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1871/2549   ผ. กับจำเลยทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทและจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมให้แก่จำเลยจำนวน 2,000 ส่วน โดยจำเลยเสียค่าตอบแทน แต่ความจริง ผ. ได้โอนกรรมสิทธิ์ยกที่ดินให้แก่จำเลยโดยไม่มีค่าตอบแทน เพื่อลวงไม่ให้บิดาโจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ผ. ทราบ ถือได้ว่า ผ. ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมซึ่งก็คือนิติกรรมซื้อขายที่ดินไว้กับจำเลยเป็นการอำพรางการยกให้นิติกรรมอันแรกคือบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ย่อมเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณีที่จะไม่ผูกพันกันตามเจตนาที่แสดงออกมานั้น ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคแรก ส่วนนิติกรรมอันหลังคือสัญญาให้ที่ถูกอำพรางไว้นั้นต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมอันที่ถูกอำพรางไว้ตามมาตรา 155 วรรคสอง เมื่อ ผ. มีเจตนาทำสัญญาให้ที่ดินจำเลยแล้ว การที่ ผ. จดทะเบียนบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเช่นเดียวกัน ต่างกันเพียงแต่ว่ามีค่าตอบแทนหรือไม่ไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าเป็นการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนสำหรับนิติกรรมการให้ที่ถูกอำพรางด้วยโดยอนุโลม นิติกรรมให้ที่ดินพิพาทระหว่าง ผ. กับจำเลยจึงไม่เป็นโมฆะ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2711/2544   โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท โจทก์กู้เงินจากมารดาจำเลยหลายครั้ง โจทก์มอบโฉนดที่ดินให้มารดาจำเลยไว้เป็นประกัน ต่อมามารดาจำเลยแจ้งว่าโจทก์ค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ย โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทและในวันเดียวกันนั้น โจทก์กับจำเลยก็ได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทที่บ้านของมารดาจำเลยในราคา 180,410 บาท เจตนาของโจทก์จำเลยที่แท้จริง คือต้องการขายฝากที่ดินพิพาท โจทก์จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาขายที่ดินพิพาท สัญญาขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนสัญญาขายฝากที่ถูกอำพรางไว้ก็ตกเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 155 วรรคสองและมาตรา 152 เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับต่างตกเป็นโมฆะ คู่สัญญาคือโจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ คือ โจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลย และจำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิเสธในยอดหนี้ที่มารดาจำเลยกล่าวอ้าง อีกทั้งยอมไถ่ถอนที่ดินพิพาทในราคา 180,410 บาท ตามคำขอท้ายฟ้อง ต้องถือว่ามีการรับเงินหรือหักกลบลบหนี้กันตามจำนวนดังกล่าว เมื่อสัญญาตกเป็นโมฆะโจทก์จึงต้องคืนเงินจำนวน 180,410 บาท แก่จำเลย แต่จำเลยฎีกาขอให้โจทก์คืนเงินเพียง 180,000 บาท ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาเกินไปจากคำขอฎีกาของจำเลยได้