มาตรา 156 "การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ
ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมและความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น"
สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม คือ สิ่งที่จำเป็นต้องมีในนิติกรรมนั้น ถ้าไม่มีสิ่งนั้นแล้วจะไม่มีนิติกรรมนั้นขึ้นมา ได้แก่
ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมและความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น"
สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม คือ สิ่งที่จำเป็นต้องมีในนิติกรรมนั้น ถ้าไม่มีสิ่งนั้นแล้วจะไม่มีนิติกรรมนั้นขึ้นมา ได้แก่
1. ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม
2. ความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม
3. ความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม
แต่อย่างไรก็ตามการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่ 3 อย่างข้างต้น ยังมีอย่างอื่นได้อีก อะไรที่คล้ายกับ 3 อย่างข้างต้นก็เป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมได้เหมือนกัน
(1) การสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม
เป็นเรื่องที่ตังใจทำนิติกรรมอย่างหนึ่ง แต่พอแสดงเจตนาออกมากลายเป็นว่าเขาได้แสดงเจตนาทำนิติกรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่นิติกรรมที่เขาตั้งใจกระทำ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1542/2498 จำเลยลวงโจทก์ว่าจะพาโจทก์ไปหอทะเบียนที่ดินเพื่อติดต่อให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดหรือตราจองสำหรับที่พิพาทให้โจทก์ แล้วให้โจทก์ลงพิมพ์ลายนิ้วมือในเอกสารจ.9 และ ล.1 โดยจำเลยแสร้งแสดงให้โจทก์เข้าใจว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับการขอออกโฉนด โจทก์ไม่รู้หนังสือก็หลงเชื่อและลงพิมพ์ลายนิ้วมือให้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญายอมแบ่งที่นาเป็นโมฆะ ตามมาตรา 119 (เดิม) เพราะมิใช่นิติกรรมที่โจทก์เจตนากระทำ โจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 828/2508 จำเลยทำใบมอบอำนาจปลอมให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเซ็น โดยหลอกลวงว่าเพื่อมอบอำนาจให้จำเลยเช่ามา แต่ความจริงเป็นใบมอบอำนาจให้โจทก์ขายนาให้จำเลยโดยโจทก์มิได้ยินยอมด้วย ดังนี้ เป็นการที่โจทก์ทำนิติกรรมมอบอำนาจไปโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสารสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ ใบมอบอำนาจจึงใช้ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4987/2531 โจทก์มอบให้ ช. พนักงานของสหกรณ์การเกษตรจำเลยนำที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนจำนองประกันเงินกู้ของโจทก์ที่จะกู้จากจำเลยแต่ ช. กลับนำที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนจำนองประกันเงินกู้ของ ล. จึงเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของโจทก์ นิติกรรมจำนองที่ดินดังกล่าวจึงเกิดขึ้นเพราะโจทก์สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119 (เดิม)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4861/2555 การที่โจทก์ทั้งสามลงลายมือชื่อในคำขอประกันชีวิตมอบให้จำเลยที่ 1 ตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 ไปยื่นต่อจำเลยที่ 2 เพราะถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าเป็นการขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับเดิม เป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม จึงเป็นความสำคัญผิดในสาระสำคัญนิติกรรมย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2554 โจทก์ฟ้องว่าผู้ตายไม่ได้มีเจตนาทำพินัยกรรม แต่ถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงให้ลงลายพิมพ์นิ้วมือในพินัยกรรม ในขณะนอนป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล โดยหลอกลวงว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหนังสือมอบอำนาจการขอรับเงินค่าเวนคืนที่ดิน พินัยกรรมจึงเสียเปล่าเป็นโมฆะ เช่นนี้จึงเป็นคำฟ้องว่า การแสดงเจตนาของผู้ตายในการลงลายพิมพ์นิ้วมือในเอกสารดังกล่าวเกิดขึ้นโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 ไม่ใช่คำฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1710 ที่หมายถึงผู้ตายมีเจตนาทำพินัยกรรมและได้ทำพินัยกรรมแล้ว แต่มีเหตุตามกฎหมายที่จะขอให้เพิกถอนข้อกำหนดในพินัยกรรมนั้น ซึ่งต้องฟ้องภายในกำหนด 3 เดือน ตามมาตรา 1710 (1) หรือ 1710 (2) ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6255/2546 โจทก์ประสงค์ทำนิติกรรมจะขายที่ดินโดยไม่มีเจตนาทำนิติกรรมจำนองที่ดินแก่จำเลยที่ 2 ดังนั้น การทำสัญญาจำนองของโจทก์จึงเป็นการกระทำไปโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม สัญญาจำนองจึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1169/2562 โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างถึงเหตุเพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทเนื่องจากการเข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการหลอกลวงโจทก์ให้ลงลายมือชื่อลงในเอกสารต่างๆ ตั้งแต่การยื่นคำขอเพิ่มเติมจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการร่วมกับโจทก์กับ น. ของจำเลยที่ 1 การเพิ่มทุนและโอนหุ้นจากโจทก์ไปเป็นของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว ตลอดไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงกรรมการจำเลยที่ 1 ให้คงเหลือจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นและมีมติพิเศษให้ดำเนินการได้ จำเลยที่ 2 จึงเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนขายฝากไว้กับจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า นับตั้งแต่โจทก์สงสัยจำเลยที่ 2 ที่นำเอกสารต่างๆ ซึ่งเขียนด้วยภาษาไทยนำมาให้โจทก์ลงลายมือชื่อ เมื่อพิจารณาเอกสารแล้ว ก็ปรากฏว่า เป็นภาษาไทยในขณะที่โจทก์เป็นชาวต่างประเทศ จึงย่อมเป็นไปได้ว่า โจทก์ไม่เข้าใจความหมายในเอกสารดังกล่าว และเมื่อโจทก์มอบหมายให้ ด. พยานโจทก์ตรวจสอบการทำงานของจำเลยที่ 2 แล้วพบว่า มีการยื่นคำขอเพิ่มเติมจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการร่วมกับโจทก์กับ น. ก็ดี การเพิ่มและการโอนหุ้นไปเป็นของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวก็ดี การเปลี่ยนแปลงกรรมการจำเลยที่ 1 มีแต่จำเลยที่ 2 คนเดียวก็ดี ซึ่ง น. พยานโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่า ไม่มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นและมีมติพิเศษแต่อย่างใด นอกจากนี้ โจทก์ยังดำเนินการฟ้องร้องจนศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่น่าเชื่อถือว่า โจทก์จะยินยอมให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้เชื่อว่าการเข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้กับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงดังกล่าวฟังได้ว่า โจทก์ในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทนายความให้เข้ามาดูแลกิจการและผลประโยชน์จำเลยที่ 1 โดยตกลงให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และลงนามร่วมกับโจทก์ โดยตกลงให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และร่วมลงนามกับโจทก์ จึงจะผูกพันจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้นำเอกสารต่างๆ มาให้โจทก์ลงลายมือชื่อเพื่อนำไปดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุนและเพิ่มหุ้น ต่อมาตรวจสอบปรากฏว่า จำเลยที่ 2 หลอกให้โจทก์หลงเชื่อและสำคัญผิดในการจดทะเบียนเพิ่มทุนดังกล่าว และส่งผลให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนเพิ่มทุนและโอนหุ้นให้แก่ตนเอง และทำการเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการจำเลยที่ 1 ให้คงเหลือเพียงจำเลยที่ 2 เพียงคนเดียว และตรวจพบว่า จำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาท น.ส. 3 ก. เลขที่ 959 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โครงการพโนรามา ถนนนาใน ตำบลป่าตอง อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต ไปจดทะเบียนจำนองไว้กับ ส. และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและนำไปขายฝากไว้กับจำเลยที่ 3 ราคา 15,000,000 บาท มีกำหนดระยะ 1 ปี จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมไม่ว่าจดทะเบียนจำนอง จดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง และจดทะเบียนขายฝากดังกล่าวนั้น ไม่มีการเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติจากผู้ถือหุ้นและกรรมการเพื่อดำเนินการทำนิติกรรมดังกล่าว มติที่จำเลยที่ 2 ไปกระทำในฐานะของกรรมการของจำเลยที่ 1 ล้วนแต่เป็นเท็จ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า โจทก์ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ลงนามในเอกสารเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว เป็นการกระทำโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เอกสารการเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการของจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 เท่ากับไม่เคยมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว เท่ากับจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 โจทก์ในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ถูกจำเลยที่ 2 หลอกลวงให้ลงชื่อในเอกสารจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3
(2) การสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม
การแสดงเจตนาทำนิติกรรมกับบุคคลหนึ่ง แต่กลายเป็นว่าเมื่อทำนิติกรรมจริงแล้วได้แสดงเจตนาทำนิติกรรมกับอีกคนหนึ่ง โดยที่เข้าใจผิดว่าคนที่ตนแสดงเจตนาทำนิติกรรมนั้นเป็นบุคคลคนเดียวกันกับคนที่มีเจตนาตั้งใจที่จะทำนิติกรรมด้วย การสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมนั้น หมายความว่า ถ้าไม่ใช่บุคคลนั้นก็จะไม่ทำนิติกรรมด้วย
แต่ถ้าเป็นนิติกรรมที่คู่กรณีจะเป็นใครก็ได้ไม่เป็นสาระสำคัญ กรณีนี้แม้จะสำคัญผิดในตัวบุคคลที่เป็นคู่กรณีก็ไม่เป็นโมฆะ เพราะไม่ใช่เป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1245/2529 การแสดงเจตนาถ้าสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมย่อมเป็นโมฆะ และตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมก็อาจเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมได้ถ้าการทำนิติกรรมนั้นถือเอาตัวบุคคลเป็นสาระสำคัญ แต่ในบางกรณีตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีไม่ถือว่าเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเนื่องจากจุดประสงค์เพราะต้องการเพียงเงินจำนวนหนึ่งเท่านั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เดือดร้อนเรื่องเงินและรู้จักกับนาง อ.มารดาจำเลยซึ่งมีอาชีพรับซื้อฝากที่ดินเป็นธุรกิจ โจทก์ตกลงขายฝากที่ดินไว้แก่นาง อ.เพราะไม่รู้จักจำเลยมาก่อน แต่นาง อ.กับจำเลยได้สมคบกันฉ้อฉลทำหนังสือมอบอำนาจมารับซื้อฝากใส่ชื่อจำเลยไว้โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการไถ่คืนในภายหลังเพราะจำเลยไม่ได้อยู่ในประเทศไทย นิติกรรมการขายฝากจึงตกเป็นโมฆะ นั้น คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างให้เห็นเลยว่าเหตุใดจึงเจาะจงที่จะขายฝากไว้แก่นาง อ.อันพอจะทำให้เห็นได้ว่าโจทก์มีเจตนาที่จะถือเอาตัวบุคคลที่จะรับซื้อฝากเป็นสาระสำคัญ คงเห็นได้แต่เพียงว่าโจทก์ต้องการเงินจำนวนหนึ่งเท่านั้น การที่นาง อ.หรือจำเลยจะเป็นผู้รับซื้อฝากก็ไม่มีผลต่างกัน เพราะโจทก์ได้รับค่าขายฝากไปครบถ้วนแล้ว เหตุตามคำฟ้องดังกล่าวจึงไม่ทำให้นิติกรรมขายฝากเป็นโมฆะ คดีพอวินิจฉัยได้หาจำต้องฟังพยานโจทก์จำเลยอีกต่อไปไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2602/2517 โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกพิพาทมาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ซึ่งโจทก์ก็รู้ดีแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะให้ผู้อื่นเช่าตึกพิพาทนี้ได้ดังนั้น การที่โจทก์กับจำเลยทำหนังสือสัญญาหมาย จ.2 เมื่อพ.ศ. 2513 ความว่า จำเลยยอมออกไปจากตึกพิพาททั้งที่โจทก์รู้ดีว่าตึกพิพาทไม่ใช่ของตนและปกปิดความจริงไว้ เช่นนี้เป็นพฤติการณ์ที่ฟังได้ว่าการทำสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะจำเลยสำคัญผิดในสิ่งสารสำคัญว่าตึกพิพาทที่จำเลยเช่าอยู่นั้นยังเป็นของโจทก์อยู่หากจำเลยรู้ความจริงนี้แล้วจำเลยย่อมจะไม่ทำสัญญากับโจทก์สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119 (เดิม) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกพิพาท
(3) การสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม
การสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม คือ การสำคัญผิดในตัวทรัพย์สินที่จะต้องส่งมอบกัน อันเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เมื่อมีการสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมเกิดขึ้น ก็ถือว่าเป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ซึ่งทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ ตามมาตรา 156
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1710/2500 การซื้อขายที่ดินตรงไหนตามคำพยานหลักฐานได้ความว่า โจทก์ไม่เคยเห็นที่ที่จำเลยขายให้มาก่อน จำเลยชี้สภาพที่ดินให้ดูอย่างไร โจทก์ยอมเข้าใจและถือเอาตามนั้นว่าเป็นที่ดินที่จะซื้อขายกัน โจทก์ได้เห็นสภาพที่ดินตามที่จำเลยชี้ให้ดูเป็นที่เตียนทำประโยชน์ได้ดีโจทก์จึงพอใจตกลงรับซื้อในเนื้อที่ 100 ไร่ราคา 40,000 บาท เมื่อไปชี้ให้โจทก์ดูก่อนตกลงซื้อขายจำเลยชี้ที่ดินของคนอื่นซึ่งเป็นที่เตียนเช่นที่ของนายทุรวมเข้าด้วย ด้านตะวันตกของที่ดินที่ตกลงจะซื้อขายจึงปรากฏในสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.1 ว่าติดที่นายเลี่ยมซึ่งรวมเอาที่ของนายทุเข้าไปด้วย พยานหลักฐานน่าเชื่อว่าที่ดินตามสัญญาซื้อขายไม่ใช่ที่ดินตามที่จำเลยชี้ซึ่งโจทก์พอใจตกลงรับซื้อสภาพของที่ดินที่จำเลยชี้จะขายโจทก์ผิดกับสภาพของที่ดินที่ทำสัญญาซื้อขายกันมากมาย นับว่าโจทก์สำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม โจทก์ย่อมขอให้ศาลแสดงว่าสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลย เป็นโมฆะ และให้จำเลยคืนเงินมัดจำและค่าที่ดินได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 836/2537 ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ภริยาของจำเลยได้รับยกให้ฝ่ายเดียวในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยโดยมิได้จดทะเบียนสมรสจึงบังคับตามบทบัญญัติเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาไม่ได้ ทั้งมิใช่ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ด้วยกันที่จะแบ่งกึ่งหนึ่งในฐานะหุ้นส่วนได้ เมื่อที่ดินพิพาทมิใช่กรรมสิทธิ์ของจำเลย การที่จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับโจทก์ จึงเป็นกรณีที่จำเลยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เป็นเหตุให้นิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10258/2558 โจทก์เพียงต้องการจำนองที่ดินพิพาทพร้อมบ้านพิพาทจึงลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจ โดยยังไม่ได้กรอกข้อความให้ อ. นำไปจำนอง จำเลยที่ 1 ไปกรอกข้อความเป็นขาย แล้วดำเนินการจดทะเบียนเป็นว่าโจทก์ขายแก่จำเลยที่ 1 โดยที่โจทก์และ อ. ไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินในวันจดทะเบียนซื้อขาย ไม่รู้เห็นยินยอมให้ขายและไม่ได้รับเงินค่าขายแต่อย่างใด หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม ต้องถือว่านิติกรรมการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้เกิดขึ้น จำเลยที่ 1 ต้องคืนที่ดินพิพาทและบ้านพิพาทแก่โจทก์ และศาลต้องพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมนี้เสีย จริงอยู่แม้การที่โจทก์ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่ได้กรอกข้อความเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 รู้เห็นเกี่ยวกับการปลอมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว และเป็นผู้ใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้รับโอนโดยสุจริต ส่วนจำเลยที่ 2 มีเจตนาซื้อขายทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งการซื้อขายคือที่ดินและบ้านที่ ธ. กับ ก. และจำเลยที่ 1 ชี้ให้ดู อันเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งการซื้อขาย ไม่ได้มีเจตนาซื้อที่ดินพิพาทและบ้านพิพาทแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 2 เข้าทำนิติกรรมซื้อที่ดินพิพาทพร้อมบ้านพิพาทเนื่องจากถูก ธ. กับ ก. และจำเลยที่ 1 หลอกลวงจึงเป็นไปโดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมอันเป็นความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 จำเลยที่ 2 ต้องคืนที่ดินพิพาทและบ้านพิพาทแก่โจทก์และศาลต้องพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมนี้เสียเช่นกัน ในกรณีเช่นนี้ ไม่ว่าจำเลยที่ 2 สุจริตหรือไม่ จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีทางได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและบ้านพิพาท ส่วนข้อที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้เสียค่าตอบแทนอันอาจได้รับความเสียหายเพียงใดหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่จะไปว่ากล่าวเอาจาก ธ. ก. และจำเลยที่ 1 ไม่เป็นเหตุผลให้จำเลยที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและบ้านพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4997/2549 ในวันนัดจดทะเบียนขายฝากที่ดิน โจทก์ให้จำเลยที่ 1 พาโจทก์ไปดูที่ดินที่จะขายฝาก จำเลยที่ 1 กลับชี้ให้โจทก์ดูที่ดินของผู้อื่นซึ่งอยู่ติดถนนลาดยางแปลงเดียวกับที่จำเลยที่ 2 เคยพาบุคคลอื่นไปดู ซึ่งมิใช่ที่ดินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 2 หลอกลวงโจทก์ให้รับซื้อฝากที่ดินต่อโจทก์ ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงนายหน้าของจำเลยที่ 1 หรือเป็นผู้ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 แล้วนำไปขายต่อให้แก่โจทก์ และไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์หวังผลกำไรจากการรับซื้อฝากที่ดินหรือไม่ เพราะมิใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป การที่โจทก์หลงเชื่อและรับฝากที่ดินไว้จากจำเลยที่ 1 โดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินแปลงที่อยู่ติดถนนลาดยางตามที่จำเลยที่ 1 นำชี้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และเป็นกรณีที่โจทก์แสดงเจตนารับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม อันเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 มีผลเท่ากับการขายฝากที่ดินมิได้เกิดมีขึ้น และไม่ก่อสิทธิใด ๆ แก่จำเลยที่ 1 ที่จะยึดถือเอาเงินของโจทก์ไว้ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
กรณีอื่นที่ถือว่าเป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เช่น สำคัญผิดในข้อตกลงหรือข้อความของนิติกรรม กล่าวคือ เนื้อหาของนิติกรรม ซึ่งมีผลให้นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะตามมาตรา 156 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 921/2501 ผู้ทรงตั๋วแลกเงินไปยอมผ่อนเวลาการจ่ายเงินให้แก่ผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินโดยมิได้ตกลงกับผู้สั่งจ่ายเสียก่อน ผู้ทรงตั๋วนั้นย่อมสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ย และผู้สั่งจ่ายก็พ้นจากความรับผิดอย่างใด ๆ ตามกฎหมายต่อผู้ทรง ในกรณีดังกล่าว ถ้าผู้สั่งจ่ายยอมทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่ผู้ทรง ก็ย่อมถือได้ว่าเป็นการสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เพราะขณะนั้นไม่มีหนี้อะไรเหลืออยู่แล้วแม้หนี้เดิมตาม ป.พ.พ.มาตรา 1005 ก็ไม่ต้องรับผิด หนังสือรับสภาพหนี้นั้นจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 119 (เดิม)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6103/2545 โจทก์ตกลงขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยสำคัญผิดในราคาที่ดินเพราะถูกนายหน้าหลอกลวงซึ่งจำเลยที่ 1 รู้หรือควรจะได้รู้ถึงการหลอกลวงดังกล่าว การที่โจทก์สำคัญผิดในเรื่องราคาทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกัน แม้มิใช่สำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมหรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม แต่ราคาทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันย่อมมีความสำคัญมากพอกับตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม จึงถือว่าโจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156
เมื่อนิติกรรมซื้อขายที่ดินเกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมและเกิดจากกลฉ้อฉลในขณะเดียวกัน แต่ผลทางกฎหมายต่างกันกล่าวคือ นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 156 แต่นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 159 จึงต้องถือว่านิติกรรมเป็นโมฆะ เพราะเป็นผลดีต่อผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยบกพร่องยิ่งกว่าเป็นโมฆียะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 978/2567 การที่ขณะทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทโจทก์เข้าใจว่าตกลงขายฝากที่ดินพิพาทเป็นเงิน 160,000 บาท ตามจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 2 มิใช่ 500,000 บาท ตามที่ระบุในสัญญาขายฝากเป็นกรณีโจทก์สำคัญผิดในเรื่องราคาขายฝาก แม้มิใช่การสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม หรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม หรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม แต่ราคาที่ตกลงขายฝากย่อมมีความสำคัญมากพอกับตัวทรัพย์ที่เป็นวัตถุแห่งนิติกรรม ถือว่าโจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมการขายฝากโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่ง ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ศาลจึงต้องเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการขายฝากที่ดินพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2559 จำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์โดยหลอกลวงว่าเป็นการทำกรมธรรม์ที่มีลักษณะที่เหมือนกับการฝากเงินกับธนาคารสามารถที่จะถอนเงินได้แต่มีสิทธิพิเศษคุ้มครองโดยการประกันชีวิต และให้ ส. ลงชื่อในคำขอเอาประกันชีวิตแล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนนำไปยื่นต่อจำเลยที่ 2 เพื่อให้โจทก์เข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 การฉ้อฉลดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ตกลงทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 โดยสำคัญผิดในเนื้อหาหรือลักษณะของนิติกรรมอันเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาประกันชีวิตย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยไปจากโจทก์จึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้ให้โจทก์อันเนื่องมาจากเป็นลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 412
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15919/2555 การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 4410 เป็นการออกเฉพาะราย โดยมีการนำหลักฐาน ส.ค.1 ของที่ดินแปลงอื่นมาเป็นหลักฐาน เป็นการออก น.ส.3 ก. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องเพิกถอนตามมาตรา 61 แห่ง ป.ที่ดิน ซึ่งตามคำฟ้องโจทก์บรรยายชัดเจนว่า จำเลยนำ น.ส.3 ก. ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาหลอกขายให้โจทก์และได้รับเงิน 660,000 บาท จำเลยไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินแปลงนั้น โจทก์ซื้อที่ดินมาไม่ได้สิทธิครอบครอง การที่โจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยจึงเป็นการทำสัญญาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 จึงต้องคืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 412 ดังนั้น โจทก์ย่อมฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินได้ และการฟ้องคดีของโจทก์เป็นการติดตามเอาเงินคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีกำหนดอายุความ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และเมื่อโจทก์ไม่นำสืบว่ามีการทวงถามจำเลยให้ชำระเงินคืนเมื่อไร จำเลยต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5819/2552 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้แก่โจทก์รวม 6 แปลง โดยที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินจำนวน 2 แปลง คือที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 749 และ 750 ส่วนที่ดินอีก 4 แปลง เป็นที่ดินภายในเขตการนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยองที่ยังไม่มีโฉนดที่ดิน เมื่อพิจารณาตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ข้อ 2 มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า "และผู้จะซื้อจะโอนในนามผู้หนึ่งผู้ใด ผู้จะขายไม่ขัดข้อง" แสดงกับเจตนารมณ์ของคู่สัญญาว่า ในระหว่างที่สัญญาจะซื้อจะขายมีผลบังคับ โจทก์อาจไปติดต่อหาผู้มาซื้อที่ดินโดยจะโอนที่ดินผ่านจากจำเลยที่ 1 ไปยังผู้ที่จะซื้อที่ดินต่อจากโจทก์ทันทีโดยไม่ผ่านโจทก์ โจทก์จึงต้องการที่ดินที่สามารถจะโอนไปยังผู้อื่นได้โดยไม่ติดเงื่อนไขข้อกำหนดห้ามโอนเป็นเวลา 5 ปี เมื่อพิจารณาข้อสัญญาดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานของโจทก์แล้วเชื่อว่าขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน โจทก์เองทราบเพียงว่าที่ดินบางส่วนเป็นที่ดินของการนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยองซึ่งสามารถขอออกโฉนดที่ดินได้ การที่โจทก์มาทราบภายหลังว่าที่ดินแปลงที่จะซื้อจะขายจำนวน 4 แปลง มีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน จึงไม่ใช่ความผิดของโจทก์ผู้จะซื้อแต่อย่างใด และนับเป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ และตามพฤติการณ์ไม่สามารถสันนิษฐานได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ประสงค์จะให้การซื้อขายที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 749 และ 750 ซึ่งสามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้สมบูรณ์แยกต่างหากออกจากส่วนที่ไม่สมบูรณ์ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะเช่นกัน จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7666/2559 การแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาประกันชีวิตของโจทก์เกิดจากการสำคัญผิดในจำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ยประกันภัย และการสำคัญผิดเกิดจากจำเลยที่ 1 ตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับเงื่อนไขของกรมธรรม์ ซึ่งจำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ยประกันภัยถือเป็นสาระสำคัญของสัญญาประกันภัย สัญญาประกันชีวิตระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆะ จึงไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา จำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจนำเงื่อนไขทั่วไปแห่งกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ว่าโจทก์จะต้องใช้สิทธิยกเลิกกรมธรรม์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ มาใช้บังคับได้ กรณีต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเบี้ยประกันภัยแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5057/2558 เมื่อต้นปี 2534 รัฐบาลมีโครงการจัดหาที่ดินให้แก่ราษฎรมีที่ทำกิน จำเลยกว้านซื้อที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินหลายแปลงรวมทั้งที่ดินแปลงพิพาทแล้วไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2537 โดยอ้างหลักฐาน ส.ค. 1 เลขที่ 318 มี ห. เป็นผู้แจ้งการครอบครองซึ่งไม่เคยมีการเดินสำรวจที่ดินแปลงพิพาทมาก่อน ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2537 มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินแปลงพิพาทให้แก่จำเลย ครั้นวันที่ 6 กรกฎาคม 2537 จำเลยนำที่ดินแปลงพิพาทไปขายให้แก่โจทก์ ขั้นตอนตั้งแต่จำเลยจัดหาซื้อที่ดินไปจนกระทั่งนำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่โจทก์ใช้เวลาเพียงประมาณ 7 เดือน พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิในที่ดินแปลงพิพาทที่จะขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เฉพาะราย เพราะจำเลยเป็นนายหน้ากว้านซื้อที่ดินหลายแปลงจากผู้อื่นรวมทั้งที่ดินแปลงพิพาท จำเลยไม่ได้เป็นผู้ที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทอยู่ก่อนวันที่ ป. ที่ดิน พ.ศ.2497 ใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและไม่เคยแจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทไว้ต่อนายอำเภอท้องที่ แต่ร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินที่รู้เห็นกับการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยใช้ ส.ค. 1 ของที่ดินแปลงอื่นมาดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินแปลงพิพาทซึ่งเป็นการไม่ชอบ ทั้งนี้เพื่อจะหลอกลวงให้โจทก์หลงเชื่อว่า ที่ดินแปลงพิพาทมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) มิฉะนั้นโจทก์จะไม่ตกลงซื้อที่ดินแปลงพิพาท การที่โจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยจึงเป็นการทำสัญญาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 จึงต้องคืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว มาตรา 412 ว่าด้วยลาภมิควรได้กำหนดให้ต้องคืนเต็มจำนวน ดังนั้น โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินเต็มจำนวน และเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาเงินค่าที่ดินคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีอายุความ เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบว่ามีการทวงถามจำเลยให้ชำระเงินค่าที่ดินคืนเมื่อไร จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป