01 มีนาคม 2567

หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน


          คำพิพากษาศาลฎีกาหลายเรื่องอาศัยหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนในการวินิจฉัยคดี โดยกล่าวถึง "ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน" ข้อเท็จจริงในคดีที่มีการอ้างหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนส่วนมากจะเป็นกรณีที่ผู้โอนไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่โอน เป็นเหตุให้ผู้รับโอนไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น คำพิพากษาศาลฎีกาบางเรื่องกล่าวไว้ชัดเจนว่าหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนเป็น "หลักกฎหมายทั่วไป" โดยเป็นการใช้กฎหมายตามมาตรา 4  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 4 "กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใดๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้นๆ
          เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7393/2550  ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ และ พ. เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ พ. ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลย แม้จำเลยจะรับโอนมาโดยเสียค่าตอบแทนและเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่า พ. ผู้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6436/2550  จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์และส่งมอบการครอบครองให้แล้ว โดยไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาเป็นหนังสือจึงตกเป็นโมฆะ แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า การที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองเป็นการโอนการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 ที่ดินพิพาทจึงเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 2 เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5640/2541  จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีหลักฐานเป็นแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) และสละสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์แล้ว ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำไปขายให้แก่จำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะได้ออก น.ส. 3 ก. แต่จำเลยที่ 3 ก็มิได้ครอบครองที่ดินพิพาท การที่จำเลยที่ 3 มีชื่อใน น.ส.3 ก. จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิครอบครองในที่ดินนั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ไป แม้จำเลยที่ 4 ซื้อไว้โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 4 ก็ไม่มีสิทธิอย่างใดในที่ดินพิพาท ตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
          โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์มีสิทธิครอบครองไปขายโดยไม่ชอบ และขอให้เพิกถอน น.ส. 3 ก.ที่จำเลยที่ 3 ออกโดยไม่ชอบ กรณีจึงมิใช่เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่วันทราบมูลคดีนี้ คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้

          หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน มีข้อยกเว้นตามมาตรา 1299 วรรคสอง ซึ่งเป็นหลักคุ้มครองบุคคลภายนอกที่ได้อสังหาริมทรัพย์ไปทางทะเบียนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2549   จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำเลยที่ 1 ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ ส. โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ส. ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต ครั้นครบกำหนดจำเลยที่1 ไม่ใช้สิทธิไถ่คืน แต่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) มิใช่หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์บุคคลจะพึงมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทคงมีแต่สิทธิครอบครอง แม้โจทก์จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท แต่การได้มาของโจทก์ก็เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรม ซึ่งถ้ายังมิได้จดทะเบียน โจทก์จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 427/2538  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) แม้โจทก์จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาจริงดังโจทก์กล่าวอ้าง การได้มาของโจทก์ก็เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ โจทก์ก็จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7007/2540   โจทก์เป็นทายาทได้รับที่ดินมรดกของ ป. เป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ส่วนจำเลยกับ น.รับโอนที่ดินดังกล่าวมาโดยผู้โอนขายให้ โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริต เมื่อที่ดินส่วนของ น. น.มีสิทธิดีกว่าโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคสอง แม้ต่อมาที่ดินส่วนนี้จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ห. เมื่อ ห.ถึงแก่กรรมจำเลยและ ถ.เป็นผู้รับโอนมรดกที่ดินส่วนของ ห. โดยไม่เสียค่าตอบแทน โจทก์ก็ไม่อาจยกสิทธิของตนใช้ยันจำเลยได้ เพราะสิทธิของโจทก์ขาดตอนไปแล้ว ตั้งแต่ น. รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริต จะนำหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้บังคับไม่ได้เพราะสิทธิหลักกฎหมายทั่วไปดังกล่าว
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำขอท้ายฟ้องหรือไม่ โจทก์นำสืบอ้างว่า เดิมนาย ป. และนาง จ. ต่างเป็นเจ้าของที่ดินตามตราจอง ศก.108 ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่แปลงละประมาณ 25 ไร่ ที่ดินของนาย ป. อยู่ทางด้านทิศใต้ ภายหลังนาย ป. ถึงแก่กรรม นาง จ.ขอออกโฉนดที่ดินโดยรวมเอาที่ดินของนาย ป. เข้าด้วยกัน ที่ดินส่วนของนาย ป. เนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ จึงรวมอยู่ในโฉนดที่ 952 โจทก์เป็นบุตรนาง ล. นาง ล. เป็นทายาทโดยธรรมของนาย ป. โจทก์จึงเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของนาย ป. และศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ป. โจทก์และทายาทของนาย ป. จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ 952 กึ่งหนึ่งนั้น เห็นว่า แม้จะฟังตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ก็เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เมื่อสิทธิของโจทก์ยังมิได้จดทะเบียน โจทก์จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง คดีได้ความว่า จำเลยกับนาย น. รับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวโดยผู้โอนขายกรรมสิทธิ์ให้เมื่อปี 2491 ตามหนังสือสัญญาขายกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสารบาญจดทะเบียนท้ายสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.21 และ ล.9 ตามลำดับ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต เมื่อโจทก์มิได้อ้างว่าจำเลยและนาย น. รับโอนโดยไม่สุจริต ข้อเท็จจริงต้องฟังว่า จำเลยและนาย น. รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนของโจทก์ต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 1299 ซึ่งเป็นข้อยกเว้นโดยสุจริตแล้ว เมื่อที่ดินส่วนของนาย น. นาย น.มีสิทธิดีกว่าโจทก์ แม้ต่อมาที่ดินส่วนนี้จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนาง ห. เมื่อนาง ห.ถึงแก่กรรม จำเลยและนาง ถ. เป็นผู้รับโอนมรดกที่ดินส่วนนาง ห.โดยไม่เสียค่าตอบแทน โจทก์ก็ไม่อาจยกสิทธิของตนตามที่กล่าวอ้างใช้ยันจำเลยได้ เพราะสิทธิของโจทก์ขาดตอนไปแล้วตั้งแต่นาย น.รับโอนทางทะเบียนโดยสุจริต กรณีนี้จะนำหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้บังคับไม่ได้ เพราะสิทธิของโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ซึ่งเป็นบทยกเว้นหลักกฎหมายทั่วไปดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่อาจอ้างเอากรรมสิทธิ์กึ่งหนึ่งในที่ดินตามโฉนดที่ 952 ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามคำขอท้ายฟ้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยของโจทก์ในข้ออื่นอีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว"