01 มีนาคม 2567

การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้

 

          
          เมื่อลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องที่จะบังคับเอาจากบุคคลภายนอกซึ่งเป็นลูกหนี้ของลูกหนี้ แต่กลับเพิกเฉยไม่ยอมใช้สิทธินั้น ย่อมทำให้เจ้าหนี้ไม่มีทรัพย์สินของลูกหนี้ที่จะบังคับชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้จึงต้องเรียกร้องโดยการฟ้องลูกหนี้ของลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกให้ชำระหนี้ได้ตามมาตรา 233 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถ้าชเจ้าหนี้นะคดีแล้ว แต่บุคคลภายนอกยังไม่ยอมชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็บังคับยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ได้ 

          มาตรา 233  ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้

          อย่างไรก็ตาม ถ้าเจ้าหนี้ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้โดยการฟ้องบังคับเอาจากบุคคลภายนอก เจ้าหนี้ก็อาจเลือกใช้วิธีฟ้องลูกหนี้ของตนให้ชำระหนี้ แล้วนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ออกขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินมาชำระหนี้ก็ได้ เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิเรียกร้องเหนือบุคคลภายนอกที่จะต้องชำระหนี้เป็นเงินให้แก่ลูกหนี้ กรณีนี้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจอายัดสิทธิเรียกร้องนั้นโดยให้บุคคลภายนอกชำระเงินคืนให้แก่เจ้าหนี้ผ่านทางเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ได้ ถ้าบุคคลภายนอกไม่ชำระ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็สามารถยึดทรัพย์สินของบุคคลภายนอกออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเสมือนบุคคลได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 773/2549  สิทธิเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระเป็นสิทธิเรียกร้องที่บริษัทจำเลยมีต่อผู้ถือหุ้นเป็นสิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ เมื่อบริษัทจำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้ ว. ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดค่าหุ้นที่ค้างชำระนั้น เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งอายัดให้ ว. ส่งเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 312 วรรคสอง ที่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่บุคคลภายนอกนั้นและดำเนินการไปเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
          ป.พ.พ. มาตรา 1120 ถึง 1125 เป็นเรื่องวิธีการเรียกค่าหุ้นค้างชำระของบริษัทในกรณีปกติ แต่เมื่อกรรมการบริษัทจำเลยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนี้ ก็ไม่ห้ามเจ้าหนี้ที่จะให้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 ทั้งไม่ห้ามเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะขออายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ

          การที่ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง จะต้องเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ ถ้าเจ้าหนี้ไม่เสียประโยชน์ก็ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2536  การที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ฟ้องคดีในนามของตนเองนั้น นอกจากลูกหนี้จะต้องขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว การขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเช่นนั้นจะต้องทำให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์ด้วย ซึ่งหมายความว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีอยู่โดยไม่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องนั้นไม่พอจะชำระหนี้ หากลูกหนี้มีทรัพย์สินอยู่พอที่จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้แล้ว การที่ลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง ก็ไม่ทำให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์แต่ประการใด โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 19 ตามตั๋วเงินจำนวน 58,267,483.30 บาทแต่โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่า หากมีการชำระบัญชีถึงที่สุดจำเลยที่ 19 มีความสามารถชำระหนี้เป็นเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทแสดงว่าขณะโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 19 มีทรัพย์สินประมาณ 500 ล้านบาทซึ่งหากโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าหนี้จำนวนดังกล่าวจริง ทรัพย์สินของจำเลยที่ 19 ก็สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้ครบถ้วน ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามฟ้องโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 18 กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 19 และจำเลยที่ 19 ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องก็ก็ไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 จึงไม่สามารถใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233มาฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 18 ได้โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2562  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง อันเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์นั้น กฎหมายมิได้ระบุว่าสิทธิเรียกร้องอะไรบ้างที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้ได้ เพียงแต่ห้ามมิให้ใช้สิทธิซึ่งมีลักษณะเป็นการส่วนตัวของลูกหนี้โดยแท้เท่านั้น สิทธิดังกล่าวจึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินหรือเป็นเรื่องหนี้เงินเท่านั้น สิทธิซึ่งเป็นการเฉพาะตัวจึงอาจเป็นได้ทั้งสิทธิที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับทรัพย์สินก็ได้ แต่ต้องมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ซึ่งโดยปกติทั่วไปสิทธิเรียกร้องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินมักจะไม่เป็นการเฉพาะตัว แต่ในบางกรณีอาจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างลูกหนี้กับบุคคลภายนอกหรือเป็นเรื่องที่ลูกหนี้แต่ผู้เดียวเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่ เช่น การเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณ หรือสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน กรณีที่มีการผิดสัญญาหมั้น หรือชายคู่หมั้นเรียกค่าสินไหมทดแทนจากชายผู้ล่วงละเมิดหญิงคู่หมั้น สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งเป็นหนี้ระหว่างสามีภริยาและบิดามารดากับบุตร สิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะเกี่ยวกับทรัพย์สิน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจเข้าไปเรียกร้องแทนลูกหนี้ได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ แต่สำหรับสิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จะเห็นได้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 1614 ได้บัญญัติเป็นการเฉพาะว่า ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่าการที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้ สิทธิในการเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จึงมิใช่เป็นสิทธิในข้อที่เป็นการส่วนตัวโดยแท้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แต่อย่างใด เมื่อจ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกโดยทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง รวมถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 จึงใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 4 ในนามของโจทก์เพื่อให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โอนที่ดินพิพาทในส่วนที่ตกทอดเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 4 ได้
          จ่าสิบตำรวจ ส. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 โดยไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ที่ดินพิพาทจึงย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคน แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจะได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาก็ตาม เพราะการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าว ก็เป็นการมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนทายาททุกคน เมื่อที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกันและตกทอดแก่ทายาททุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 4 และในภายหลังจากนั้นจำเลยที่ 4 ได้สละมรดกดังกล่าว แต่โจทก์ยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 อยู่ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิร้องขอเพิกถอนนิติกรรมหรือเพิกถอนการสละมรดกดังกล่าวนั้นได้ เพราะสิทธิเรียกร้องซึ่งลูกหนี้ไม่ยอมใช้นั้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังหนี้ของเจ้าหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เพราะว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ว่าจะมีอยู่ก่อนหรือได้มาในภายหลังย่อมอยู่ภายใต้การบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสิ้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ได้ แม้จะปรากฏว่านอกจากที่ดินพิพาทดังกล่าวแล้ว เจ้ามรดกยังมีที่ดินพิพาทอีกแปลงหนึ่ง คือที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9097 ซึ่งจำเลยที่ 4 ก็ถือเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินดังกล่าวเช่นเดียวกับที่ดินแปลงพิพาทก็ตาม แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 47 ตารางวา และมีการโอนเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 จะมีทรัพย์สินอื่นหรือที่ดินดังกล่าวจะมีมูลค่าเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 4 เป็นหนี้โจทก์เป็นเงินจำนวนถึง 1,332,000 บาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้โอนทรัพย์มรดกส่วนของจำเลยที่ 4 ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ตามฟ้องได้
          การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน แม้จ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดก จะถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 อันเกินระยะเวลา 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 หรือการที่โจทก์ฟ้องเกิน 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจ ส. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ก็ตาม ที่ดินพิพาทดังกล่าวก็ยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้มีการจัดการเสร็จสิ้นและแบ่งปันกัน คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งแยกให้จำเลยที่ 4 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา โดยปราศจากภาระผูกพันซึ่งเป็นกรณีที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งส่วนให้แก่จำเลยที่ 4 จำนวน 1 ใน 8 ส่วน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีว่าหากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16273/2557  จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 2 ผู้เป็นตัวแทน เมื่อจำเลยที่ 2 รับเงินค่าทดแทนจากอาคารของจำเลยที่ 1 ถูกทางราชการเวนคืน อันเกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนแล้วไม่ยอมส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 เมื่อจำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 และต้องเสียประโยชน์จากการเพิกเฉยของจำเลยที่ 1 ก็ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องในนามของตนเองแทนจำเลยที่ 1 เพื่อป้องกันสิทธิของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 ได้ ในขณะเดียวกันเมื่อจำเลยที่ 5 และที่ 6 ไม่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนที่แท้จริง และจำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ทวงถามเอาจากจำเลยที่ 5 และที่ 6 โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงสามารถใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในนามของตนเองตามมาตรา 233 บังคับจำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้จ่ายเงินค่าทดแทนให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ได้

          ในการฟ้องคดีนั้น เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้ได้เลย โดยไม่ต้องรับมอบอำนาจจากลูกหนี้อีก แต่ต้องบรรยายฟ้องให้เข้าหลักเกณฑ์เรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2546  บริษัท ท. หรือผู้ชำระบัญชีมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงิน ส่วนแบ่งซึ่งเป็นสินทรัพย์ของบริษัท ท. ในฐานลาภมิควรได้และหากบริษัท ท. ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนั้น เป็นเหตุให้กรมสรรพากรโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ค่าภาษีอากรค้างต้องเสียประโยชน์ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนบริษัท ท. ลูกหนี้ได้โดยโจทก์จะต้องขอหมายเรียกบริษัท ท. เข้ามาในคดีด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 และมาตรา 234แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ฟ้องคดีแทนบริษัท ท. เพราะบริษัท ท. ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินส่วนแบ่งที่จำเลยรับไปโดยมิชอบหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง รวมทั้งโจทก์มิได้ขอหมายเรียกบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรงของโจทก์เข้ามาในคดี จึงต้องถือว่าเป็นการฟ้องเรียกให้จำเลยคืนเงินส่วนแบ่งสินทรัพย์ที่ได้รับจากผู้ชำระบัญชีโดยมิชอบให้แก่โจทก์เองโดยตรง ซึ่งโจทก์หามีอำนาจที่จะฟ้องจำเลยเช่นนั้นไม่ เนื่องจากจำเลยไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมหรือตามกฎหมายที่จะต้องคืนเงินสินทรัพย์ของบริษัท ท. ที่ตนได้รับไว้คืนให้แก่โจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1633/2565  แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีแทนจำเลยที่ 1 แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาอำพรางไม่ให้โจทก์บังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงสภาพแห่งข้อหาว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้และบรรยายฟ้องถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคสอง แต่จำเลยที่ 1 ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทกลับเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 หรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์เสียประโยชน์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วยแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 และมาตรา 234
          
          การฟ้องคดีเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้นั้น เจ้าหนี้จะต้องฟ้องภายในอายุความด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18624/2555  จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ท. ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2536 จดทะเบียนเลิกบริษัทโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระบัญชี ในระหว่างการชำระบัญชี โจทก์ตรวจสอบแล้วพบว่า บริษัทเป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้างชำระ จึงแจ้งให้ชำระ ขณะนั้น จำเลยที่ 1 ก็รวบรวมทรัพย์สินของบริษัทแล้วแบ่งคืนเป็นเงินให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์จึงยื่นฟ้องบริษัทต่อศาลภาษีอากรกลางและยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อเรียกเงินคืน จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 2 รับเงินไว้โดยปราศจากมูลจะอ้างด้วยกฎหมาย จึงเป็นลาภมิควรได้ที่จะต้องคืนให้แก่บริษัท แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องในนามของตนแทนลูกหนี้รวมทั้งไม่ได้เรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีด้วย จึงให้ยกฟ้องแต่ไม่ตัดสิทธิที่โจทก์จะฟ้องใหม่ คำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จะกล่าวอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์หาได้ไม่ เมื่อสิทธิของโจทก์เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แล้ว โจทก์จะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่รู้หรือ 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นมีขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 การที่โจทก์ได้ฟ้องคดีก่อนภายในอายุความแล้ว แม้ระหว่างนั้นไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะนำเงินบางส่วนไปชำระให้แก่โจทก์หรือไม่ก็ตาม ย่อมถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง และต่อมาเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีนั้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2546 ซึ่งอายคุวามครบกำหนดสิบปีไปแล้วโจทก์จึงต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ภายใน 60 วัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ สำหรับจำเลยที่ 2
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5806/2539  โจทก์ฟ้องขอใช้สิทธิเรียกร้องแทนบริษัท บ. โดยอ้างว่าก่อนที่จำเลยจะพ้นจากการเป็นกรรมการบริษัท บ. จำเลยเบียดบังทรัพย์สินของบริษัท บ.ไปโดยทุจริต บริหารงานหรือจัดการทรัพย์สินของบริษัท บ.ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท บ. ซึ่งเท่ากับกล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อบริษัท บ. บริษัท บ.ชอบจะฟ้องร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของบริษัท บ.ชอบจะใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 ฟ้องเรียกร้องบังคับเอาจากจำเลยแทนบริษัท บ.เท่าที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องแก่บริษัท บ.อยู่ การเรียกร้องดังกล่าวเป็นการเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่กระทำละเมิดต่อบริษัท บ.มีอายุความตามมาตรา 448 เมื่อการกระทำละเมิดเกิดขณะจำเลยเป็นกรรมการบริษัท บ.อยู่ คือก่อนวันที่ 17 กันยายน 2525 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยลาออกจากบริษัท บ. โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 23 กันยายน 2535 พ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่จำเลยได้กระทำละเมิดแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ

          การฟ้องคดีนั้น เจ้าหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้มาในคดีนั้นด้วย

          มาตรา 234  เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นั้นจะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้มาในคดีนั้นด้วย

          เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเงินเต็มจำนวนที่ยังค้างชำระแก่ลูกหนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนก็ได้

          มาตรา 235  เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเงินเต็มจำนวนที่ยังค้างชำระแก่ลูกหนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนก็ได้ ถ้าจำเลยยอมใช้เงินเพียงเท่าจำนวนที่ลูกหนี้เดิมค้างชำระแก่เจ้าหนี้นั้น คดีก็เป็นเสร็จกันไป แต่ถ้าลูกหนี้เดิมได้เข้าชื่อเป็นโจทก์ด้วย ลูกหนี้เดิมจะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาต่อไปในส่วนจำนวนเงินที่ยังเหลือติดค้างอยู่ก็ได้
          แต่อย่างไรก็ดี ท่านมิให้เจ้าหนี้ได้รับมากไปกว่าจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนนั้นเลย

          จำเลยสามารถยกข้อต่อสู้ที่มีต่อลูกหนี้เดิมขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้    
       
          มาตรา 236  จำเลยมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใดๆ ท่านว่าจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1748/2540  จำเลยทั้งสองต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้วซึ่งกันและกัน และเป็นหนี้เงินเหมือนกัน ทั้งเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดจะชำระแล้วด้วย จึงเป็นหนี้ที่สามารถนำมาหักกลบลบกันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 การที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรที่จะต้องชำระให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ใช้สิทธิบังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ จึงขอใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในนามของโจทก์ เพื่อบังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 เช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233 และในกรณีเช่นนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 236 กำหนดให้จำเลยที่มีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใดๆจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 2 จึงยกข้อต่อสู้ที่มีอยู่กับจำเลยที่ 1 ขึ้นต่อสู้โจทก์ โดยขอหักกลบลบหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 และ 342 ได้