27 ก.พ. 2567

ผู้ครอบครองทรัพย์สินแทนผู้อื่น ไม่ว่าจะครอบครองแทนเป็นเวลายาวนานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง


          ผู้ที่ได้ซึ่งสิทธิครอบครองจะต้องมีเจตนายึดถือทรัพย์สินไว้เพื่อตนเท่านั้น ตามมาตรา 1367 และการยึดถือทรัพย์สินไว้เพื่อตนที่ทำให้ได้สิทธิครอบครองนั้น อาจทำโดยให้ผู้อื่นยึดถือไว้ให้ ตามมาตรา 1368 ซึ่งการครอบครองแทนกันนั้น ผู้ครอบครองแทนไม่ว่าจะครอบครองมาเป็นเวลายาวนานเท่าใดก็ยังถือว่าเป็นการครอบครองแทนผู้ที่มีสิทธิครอบครองเท่านั้น ไม่อาจอ้างประโยชน์ในการครอบครองดังกล่าวเพื่ออ้างเอาสิทธิครอบครองได้ โดยได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาวางบรรทัดฐานไว้ดังนี้


           1. กรณีครอบครองทรัพย์มรดก
           ก. การครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่ง ในฐานะทายาทโดยธรรม ถือว่าทายาทนั้นครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย
           การครอบครองทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ถือว่าครอบครองในฐานะเจ้าของร่วมกันและแทนกัน ไม่ว่าทายาทผู้ครอบครองจะครอบครองทรัพย์มรดกนั้นยาวนานเพียงใดก็ต้องถือว่าครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2627/2542  เมื่อบิดามารดาของผู้ร้องถึงแก่ความตายโดยมิได้ยกที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะทั้งก่อนตายและโดยพินัยกรรม นอกจากนี้ระหว่างทายาทด้วยกันเองก็ยังไม่มีการแบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าว แม้ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทนั้นนานสักเพียงใด ตราบใดที่ผู้ร้องไม่เคยแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังทายาททั้งหลายว่า ผู้ร้องมีเจตนายึดถือเพื่อตน ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ของมารดาทายาทผู้หนึ่งที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกร่วมกับผู้ร้องยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้ร้องมิได้กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์และขับไล่ผู้คัดค้านที่ 3 ออกจากที่ดินพิพาท การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องจึงเป็นการครอบครองแทนทายาททั้งปวง ที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่จะแบ่งให้แก่ทายาท ผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3455/2537  การที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตร กับจำเลยที่ 2 และโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นหลาน โดยโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้น เมื่อเจ้ามรดกตายที่พิพาทจึงตกได้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ขอออก น.ส.3 ก. สำหรับที่พิพาท โดยใส่ชื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้รับมรดกคนหนึ่งและเป็นพี่ของโจทก์ทั้งสองร่วมด้วย อันเป็นการเข้ารับมรดกแสดงว่าจำเลยที่ 1 เข้าครอบครองที่พิพาทในฐานะทายาทตามพินัยกรรมและเป็นการเข้าครอบครองแทนโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยเมื่อจำเลยที่ 1 มิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจึงยังคงเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกัน การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการขายเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น จำเลยที่ 3 ได้สิทธิไปเท่าที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอยู่ การครอบครองที่พิพาทในส่วนของโจทก์ทั้งสองจะถือว่าเป็นการแย่งการครอบครองไม่ได้ โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์นั้นได้และจะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสองไม่ได้ คดีของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ



          ข. การครอบครองในฐานะผู้จัดการมรดก ถือว่าผู้จัดการมรดกครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย
          กรณีการครอบครองในฐานะผู้จัดการมรดกก็เช่นกัน ถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ผู้จัดการมรดกจึงไม่สามารถอ้างว่าตนเองมีสิทธิครอบครองเพื่อต่อสู้ทายาทโดยธรรมได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8661/2544  เมื่อ ป. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของ ป. ที่จะตกทอดไปยังทายาทของ ป. ตามกฎหมาย บ. อยู่กินฉันสามีภริยากับ ป. โดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายจึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. โจทก์จึงเป็นทายาทของ ป. แต่เพียงผู้เดียว ที่ดินพิพาทจึงตกได้แก่โจทก์ซึ่งยังเป็นเด็กเล็กและอาศัยอยู่กับ บ. มารดา ดังนั้น จึงต้องถือว่า บ. ครอบครองดูแลที่ดินพิพาทแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์มาตลอด แม้ต่อมา บ. จะได้ ส. เป็นสามีและรับ ส. เข้ามาอยู่ร่วมกันในที่ดินพิพาทก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บ. และ ส. ครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนหรือเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าไม่มีเจตนายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป บ. และ ส. จึงไม่เกิดสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและยังต้องถือว่าบุคคลทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์มาตลอดเมื่อ บ. โอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีไปกว่า บ. ผู้ครอบครองที่ดินแทนโจทก์ จำเลยจึงเป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนเท่านั้น
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8286/2544  ครั้งแรกที่ ล. โอนที่ดินมรดกของ ท. มาเป็นของตนในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นทุกคน แม้จะมีการโอนที่ดินมรดกดังกล่าวมาเป็นของ ล. ในฐานะส่วนตัวแล้วก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่ดินมรดกแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวโดยเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวเพราะ ล. ยังมิได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่าไม่มีเจตนายึดถือทรัพย์แทนทายาททุกคนต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ทั้งปรากฏว่าก่อนหน้านี้ ล. ได้ถูก ป. ยื่นฟ้องในอีกคดีหนึ่งของศาลชั้นต้นเรื่องขอแบ่งมรดก คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า ล. ครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกับ ส. กับ ป. ทายาทผู้ตายต้องถือว่าครอบครองแทนทายาทของ ส. คำพิพากษาจึงผูกพัน ล. และจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ล. ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ต้องถือว่า ล. ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นอยู่เช่นเดิม ล. ยังคงมีหน้าที่จะต้องจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้น การจัดการมรดกยังมิได้เสร็จสิ้นจึงจะนำอายุความ 5 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1733 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5710/2544  เมื่อข้อเท็จจริงยังมีที่ดินมรดกอีก 3 แปลงที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกยังไม่ได้จัดการแบ่งให้ทายาทแสดงว่าการจัดการมรดกยังอยู่ในระหว่างจัดการ เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกจึงเป็นผู้แทนของทายาททั้งปวงโดยนำลักษณะตัวการตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720 การที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างจัดการมรดกถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทตามมาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1368 โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทชอบที่จะฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยได้แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 ทั้งนี้ ตามมาตรา 1748

           2. กรณีครอบครองในฐานะเจ้าของรวม ถือว่าเจ้าของรวมนั้นครอบครองแทนเจ้าของรวมคนอื่นด้วย
          กรณีบุคคลหลายคนเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกัน การที่เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ก็ต้องถือว่าครอบครองแทนเจ้าของรวมคนอื่นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 600/2536  แม้เดิมที่พิพาทจะเป็นของ ป. แต่ผู้เดียว แต่เมื่อออกโฉนดแล้ว ที่ดินพิพาทกลับมีชื่อ ช. ด. และผู้คัดค้าน เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย แสดงให้เห็นเจตนาของ ป.ว่า ต้องการให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้มีชื่อในโฉนดทุกคน การที่ ป.ยกที่ดินพิพาทให้แก่ ช. แต่ผู้เดียว โดยผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นมิได้แสดงเจตนายกให้โดยชัดแจ้ง ช. จึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทในส่วนของเจ้าของรวมคนอื่น โดยเฉพาะในส่วนของผู้คัดค้าน การที่ ช. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งครอบครองที่ดินพิพาทต่อมา จึงถือว่า ครอบครองแทนผู้คัดค้านและเจ้าของรวมคนอื่น ผู้ร้องสืบสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทต่อจาก ช.ย่อมไม่มีสิทธิดีกว่า ช. ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะครอบครองที่ดินพิพาทแทนผู้คัดค้าน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของผู้ร้องว่าเมื่อปลายปี 2532 ผู้คัดค้านได้มาพบเพื่อขอแบ่งที่ดินพิพาท แต่ผู้ร้องปฏิเสธอ้างว่า ที่ดินเป็นของผู้ร้อง เท่ากับผู้ร้องเพิ่งเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1381 นับแต่วันดังกล่าวถึงวันยื่นคำร้อง ยังไม่ครบ 10 ปีตามมาตรา 1382 ผู้ร้องจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3135/2529  ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์จำเลยร่วมกัน จำเลยไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ไปขายโดยโจทก์ไม่ยินยอม จำเลยคงมีสิทธิขายได้เฉพาะส่วนของตนเท่านั้นการที่จำเลยทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องจึงมีผลผูกพันเฉพาะส่วนของจำเลยส่วนของโจทก์ยังคงมีอยู่ตามเดิม
          ผู้ร้องเข้าครอบครองทำกินในที่ดินพิพาทก่อนจำเลยทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องนั้น เป็นการเข้าครอบครองทำกินต่างดอกเบี้ย ถือว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์จำเลย ส่วนหลังจากจำเลยทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องถือได้ว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขาย ซึ่งผู้ร้องได้สิทธิเฉพาะส่วนของจำเลยเท่านั้น ที่ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาททั้งแปลงย่อมถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของร่วม มิใช่เป็นการแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 มาใช้บังคับไม่ได้
          ผู้ร้องขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็ดีเสียภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดินพิพาทก็ดี ไม่ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมได้รู้เห็นในการกระทำดังกล่าวด้วย ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการครอบครองต่อโจทก์ผู้ร้องจึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์

           3. กรณีผู้ขออาศัยในที่ดิน ถือว่าผู้อาศัยนั้นครอบครองแทนเจ้าของที่แท้จริง
          ผู้ครอบครองที่ดินในฐานะเป็นผู้ขออาศัยโดยการอนุญาตจากเจ้าของ ถือได้ว่าเป็นการยึดถือครอบครองไว้แทนเจ้าของที่ดินที่แท้จริงเท่านั้น ดังนั้น ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่อาศัยในที่ดินยาวนานเพียงใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2476/2536  จำเลยอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดิน น.ส.3 ก่อนที่โจทก์จะรับซื้อฝาก จาก ส. เมื่อ ส. ไม่ไถ่ถอนภายในกำหนดโจทก์จึงได้ซึ่งสิทธิครอบครองบ้านและที่ดินพิพาท การที่จำเลยยังคงอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทจึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ การที่จำเลยฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากระหว่าง ส.กับโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือบ้านและที่ดินพิพาทโดยบอกกล่าวแสดงเจตนาไปยังโจทก์ว่าจะไม่ยึดถือบ้านและที่ดินพิพาทแทนโจทก์ต่อไป อันเป็นการแย่งการครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทจากโจทก์แล้วในคดีดังกล่าวนั้นโจทก์ในฐานะจำเลยได้ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งขอให้ขับไล่จำเลย แม้ต่อมาศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีของจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนั้น ซึ่งเป็นผลทำให้ฟ้องแย้งของโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นจำเลยจะตกไปด้วยผลของกฎหมายก็ตาม แต่จะถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องแย้งด้วยหาได้ไม่ คำสั่งดังกล่าวย่อมไม่ลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องแย้งของโจทก์ในคดีก่อน และในคดีดังกล่าวโจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2531 การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีนี้ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2531 จึงเป็นกรณีสืบเนื่องมาจากฟ้องแย้งเดิมซึ่งโจทก์ได้ใช้สิทธิฟ้องเพื่อเอาคืน ซึ่งการครอบครองภายในกำหนดหนึ่งปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองแล้ว โจทก์จึงไม่ขาดสิทธิฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1720/2536  ที่ดินของโจทก์ออก น.ส.3 มาก่อนกฎกระทรวงประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินของโจทก์ยังไม่ถูกเพิกถอน น.ส.3 โจทก์จึงยังคงมีสิทธิในที่ดินตามมาตรา 12 วรรคท้าย ของพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ การที่จำเลยทั้งห้าทำนาในนาพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ต้องถือว่าจำเลยทั้งห้ายึดถือนาพิพาทแทนโจทก์ จำเลยทั้งห้าจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ว่าไม่เจตนาจะยึดถือนาพิพาทแทนโจทก์ต่อไป ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 เท่านั้น เพียงแต่การไปขอให้ทางราชการออกหนังสืออนุญาตให้ได้รับการผ่อนผันให้มีสิทธิทำกินในนาพิพาทได้ชั่วคราว หรือ สทก.1 ยังไม่ถือว่าเป็นการบอกกล่าวแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการครอบครอง


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1166/2536  โจทก์อนุญาตให้จำเลยเข้าอยู่อาศัยและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของโจทก์ การที่จำเลยครอบครองที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของโจทก์และยึดถือแทนโจทก์ จำเลยจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือเพื่อตัวจำเลยเองได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ว่าจำเลยไม่เจตนาจะยึดถือแทนโจทก์ต่อไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1381 แม้จำเลยจะได้คัดค้านการออกโฉนดที่ดินพิพาทของโจทก์แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งการคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ทราบอันจะถือได้ว่าจำเลยได้บอกกล่าวไปยังโจทก์ว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ต่อไป ดังนั้น เมื่อสำนักงานที่ดินมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ และกำหนดวันเวลาให้โจทก์ไปพบเจ้าพนักงานเพื่อดำเนินการสอบสวนเปรียบเทียบ เมื่อโจทก์และจำเลยได้พบกันในวันดังกล่าวจึงน่าเชื่อว่าจำเลยได้บอกให้โจทก์ทราบในวันนั้นแล้วว่าจำเลยคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์และไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ต่อไป โจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองยังไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันดังกล่าวซึ่งถือได้ว่าเป็นวันที่จำเลยแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

           4. การครอบครองในกรณีที่เจ้าของส่งมอบที่ดินให้ทำกินต่างดอกเบี้ย
          ผู้ครอบครองที่ดินโดยการอาศัยสิทธิจากเจ้าของที่มอบให้ทำกินต่างดอกเบี้ย ถือว่าเป็นการครอบครองแทนเจ้าของเช่นเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 35/2531  โจทก์มอบที่พิพาทให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ย การที่จำเลยได้ไปยื่นขอรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทเมื่อปี พ.ศ. 2520 และโจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2520 เจ้าหน้าที่จึงมิได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลย กรณีเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่า จำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการถือที่พิพาทโดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ว่าตนไม่เจตนาที่จะยึดถือที่พิพาทไว้แทนโจทก์อีกต่อไปดังที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 จึงต้องถือว่าจำเลยยังคงยึดถือครอบครองที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์อยู่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1057/2525  โจทก์กู้เงินจำเลยแล้วมอบที่นาให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยการที่จำเลยครอบครองทำกินในที่นาแปลงพิพาท และเสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมานั้น เป็นการครอบครองแทนโจทก์

           5. กรณีการครอบครองในฐานะเป็นตัวแทน
          กรณีที่ตัวแทนครอบครองทรัพย์สินแทนตัวการนั้น เมื่อพ้นหน้าที่ตัวแทนแล้ว ตัวแทนจะต้องส่งมอบทรัพย์สินคืนตัวการ ทรัพย์สินใดที่ยังไม่ส่งคืนแก่ตัวการ ต้องถือว่าตัวแทนยังคงยึดถือครอบครองไว้แทนตัวการเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 385/2544  ทางราชการออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทเมื่อปี 2508 โดยม.มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ หลังจากปี 2508 ช.และผู้ร้องก็อยู่ร่วมบ้านเดียวกันโดยอาศัยสิทธิของ ม. แม้เมื่อปี 2515 ผู้ร้องจะได้ปลูกบ้านขึ้นใหม่เลขที่ 17/1 แทนบ้านเดิมบนที่ดินพิพาทและอยู่ต่อมาโดย ม.มิได้ว่ากล่าว ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องอาศัยสิทธิของ ม.ครั้นปี 2523 ม. ขายที่ดินโฉนดที่พิพาทให้แก่บริษัท ส. ผู้ร้องก็มิได้โต้แย้งคัดค้านแม้จะปรากฏว่าในปี 2524 ม.ได้รื้อบ้านของตนออกจากที่ดินพิพาทไปปลูกบ้านขึ้นใหม่และมารดาผู้ร้องได้ย้ายออกไปอยู่ที่บ้านที่ปลูกขึ้นใหม่ด้วย ส่วนผู้ร้องยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทมาจนถึงวันยื่นคำร้องขอเป็นเวลาประมาณ 15 ปี ก็ฟังไม่ได้ว่า ผู้ร้องครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทเพราะ ม. ขายที่ดินพิพาทให้แก่ อ. ผู้ซื้อแล้ว อ. ฝากให้ ม. ช่วยดูแล ม.จึงอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาอยู่อาศัย จึงต้องถือว่าผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนบริษัท ส. เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังเจ้าของตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ดังนี้ แม้ผู้ร้องจะอยู่ในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาช้านานเท่าใด ผู้ร้องก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 963/2493  ตัวแทนเมื่อพ้นหน้าที่เป็นตัวแทน จะต้องส่งมอบทรัพย์สินที่ตนปกครองดูแลคืนให้ตัวการโดยสิ้นเชิง ทรัพย์สิ่งใดที่ตัวแทนยังคงยึดถือครอบครองไว้ ไม่ส่งคืนให้ตัวการ โดยตัวการไม่ทราบนั้น ตัวแทนจะอ้างว่าเป็นการครอบครองโดยปรปักษ์เพื่อเอาเป็นของตนเสียมิได้ ต้องถือว่ายังคงยึดถือครอบครองไว้แทนตัวการและผู้อื่นที่เข้าครอบครองโดยตัวแทนแบ่งให้เมื่อทราบว่าตัวแทนไม่มีอำนาจเอาทรัพย์นั้นมาแบ่งให้ตนแล้ว การที่ผู้อื่นเข้าครอบครอง จึงตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ครอบครองแทนตัวการเช่นเดียวกับตัวแทนนั้นซึ่งจะอ้างมาใช้ยันตัวการไม่ได้ จนกว่าจะได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการครอบครองแห่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 แล้ว

           6. การครอบครองของผู้รับโอน ในกรณีที่ผู้โอนไม่มีอำนาจ
          กรณีที่ผู้โอนที่ดินมีฐานะเป็นเพียงผู้ครอบครองแทนเจ้าของที่แท้จริงเท่านั้น ผู้รับโอนก็คงต้องมีสิทธิเท่าที่ผู้โอนมีอยู่เท่านั้น ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ผู้รับโอนจึงมีฐานะเป็นเพียงผู้ครอบครองแทนเจ้าของที่แท้จริงเช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3917/2563  ผู้ตายครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมสร้างตนเอง เมื่อยังไม่มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นที่ดินของรัฐ การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่ บ. มิใช่การตกทอดโดยมรดก เป็นการขัดต่อ พ.ร.บ. ดังกล่าว ผู้ตายมีเพียงสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทถือเป็นทรัพย์มรดกอย่างหนึ่ง ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย เมื่อทายาททุกคนของผู้ตายตกลงให้ บ. เป็นผู้รับโอนสิทธิในที่ดินของผู้ตายตามที่พระราชกฤษฎีกานิคมสร้างตนเองกำหนดให้ทายาทเข้ารับสิทธิได้เพียงผู้เดียว บ. จึงเป็นแต่เพียงผู้มีชื่อในหนังสือแสดงการทำประโยชน์แทนบุตรทุกคนของผู้ตายเท่านั้น ต่อมา บ. ไปขอออกโฉนดที่ดินจนได้รับโฉนดที่ดินพิพาท ก็ยังต้องถือว่าเป็นการดำเนินการแทนทายาทอื่น ทายาททุกคนมีส่วนเท่า ๆ กันและเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท บ. ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาททั้งแปลงให้แก่จำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 ขอรับโอนมรดกที่ดินใส่ชื่อของตนเองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ก็ยังคงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนของผู้ตาย สิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้รับโอนคงมีสิทธิในทำนองเดียวกันกับสิทธิของ บ. ผู้โอน จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาททั้งแปลงไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 นิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองไม่ชอบ จำเลยที่ 1 ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แบ่งแยกที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทของผู้ตาย แต่หากการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินแก่โจทก์ทั้งสองไม่อาจดำเนินการได้ ก็ต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3830/2542  ล. ในฐานะส่วนตัวและในฐานะบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์ทั้งสี่ซึ่งขณะนั้นยังเป็นผู้เยาว์ ได้โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่ ก. โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสี่ และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสี่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง ล. กับ ก. จึงไม่มีผลผูกพันส่วนของโจทก์ทั้งสี่ แม้ ล. ได้มอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้ ก. และจำเลยซึ่งเป็นสามีภริยากันเข้าทำประโยชน์ตลอดมาเป็นเวลาถึง 16 ปีเศษ ก็ต้องถือว่า ก. และจำเลยเข้ายึดถือที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสี่แทนโจทก์ทั้งสี่ ก. และจำเลยจึงไม่อาจยกเอาระยะเวลาที่ ก. และจำเลยเข้าทำนาในที่ดินพิพาทขึ้นต่อสู้กับโจทก์ทั้งสี่ จนกว่าจำเลยกับ ก. จะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาท โดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ทั้งสี่ว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสี่อีกต่อไป แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวจำเลยจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งสี่
          แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง ล. กับ ก. จะไม่ผูกพันที่ดินส่วนของโจทก์ทั้งสี่ แต่เมื่อได้ความว่าหลังจากทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทแล้ว ล. ยอมให้จำเลยกับ ก. เข้าทำนาในที่ดินพิพาทตลอดมา ประกอบกับที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าซึ่งบุคคลมีเพียงสิทธิครอบครอง และอาจโอนการครอบครองให้กันได้ด้วยการส่งมอบทรัพย์สิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 การที่ ล. มอบที่ดินพิพาทให้จำเลยกับ ก. เข้าทำนาจึงมีผลเป็นการโอนการครอบครองที่ดินพิพาท ส่วนของ ล. ให้แก่จำเลยและ ก. จำเลยและ ก. ย่อมมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในส่วนนี้ การที่จำเลยฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งหมด แต่เมื่อได้ความว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทบางส่วน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยได้รับส่วนแบ่งตามสิทธิของจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2)


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5681/2538  ที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่มีข้อกำหนดห้ามโอน 10 ปีตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 เป็นที่ดินที่รัฐยังไม่ได้มอบสิทธิครอบครองจนกว่าจะพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน ผู้ที่ได้ที่ดินยังไม่มีสิทธิครอบครองไม่ว่าจะตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่อาจโอนสิทธิครอบครองให้แก่บุคคลใด จะโอนกันได้ต่อเมื่อพ้นกำหนดเงื่อนไขห้ามโอนแล้ว เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกหรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์ การที่โจทก์อ้างว่า ย.ยกที่ดินและมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้ในระหว่างเวลาที่มีเงื่อนไขห้ามโอน ถือได้ว่า ย. ยังไม่มีสิทธิครอบครอง จึงไม่อาจโอนสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ได้ เมื่อ ย. ถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทจึงตกทอดทางมรดกแก่จำเลยซึ่งเป็นทายาท การที่โจทก์ยังคงครอบครองอยู่จึงเป็นการครอบครองแทนทายาทของ ย. โจทก์จะต้องเปลี่ยนลักษณะการครอบครองโดยบอกกล่าวไปยังทายาทของ ย. เพื่อเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองแทนมาเป็นยึดถือครอบครองเพื่อตนเสียก่อนจึงจะได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท

          7. การครอบครองที่ดินซึ่งมีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามสัญญาจะซื้อจะขาย เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ต้องถือว่าผู้จะซื้อครอบครองที่ดินแทนผู้จะขาย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2074/2542  ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 ทวิ ซึ่งเพิ่มเติมโดยข้อ 2 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96(พ.ศ. 2515) บัญญัติว่า "นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดิน ซึ่งมีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่" เมื่อหนังสือสัญญาการซื้อขายที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ระหว่างโจทก์และ ผ. ทำขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 และมีบันทึกที่ด้านหลังของเอกสารว่า โจทก์และ ผ. นัดจะไปจดทะเบียนโอนกันภายในวันที่ 2 มิถุนายน 2520 หากผู้ขายบิดพลิ้วประการใดประการหนึ่ง ผู้ขายยินยอมให้ผู้ซื้อปรับสามเท่าของราคาหลังจากทำสัญญาซื้อขายแล้ว โจทก์ได้ติดต่อ ผ. เพื่อขอรับโอนที่ดินพิพาท แต่ ผ. แจ้งว่ายังไม่พร้อม หลังจากที่ ผ. เสียชีวิต โจทก์ไปติดต่อ จ. ภริยาของ ผ. จ. แจ้งว่าจะโอนให้ภายหลัง ดังนี้หนังสือสัญญาที่โจทก์และ ผ. ทำขึ้นจึงเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายและคู่สัญญามุ่งถึงการจดทะเบียนเป็นสำคัญในการโอนสิทธิครอบครอง ตราบใดที่โจทก์และ ผ. ยังไม่ได้ไปจดทะเบียนโอนกัน การครอบครองที่ดินตามหนังสือสัญญาการซื้อขายของโจทก์ก็ย่อมเป็นการครอบครองแทน ผ. ผู้ขายอยู่ตราบนั้น เมื่อ ผ. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของ ผ. และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดกฟ้องร้องภายในหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องร้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คดีของโจทก์ย่อมเป็นอันขาดอายุความ

           8การครอบครองแทนกรณีอื่นๆ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7672/2544  ก. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยจึงได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ส่วนที่จำเลยมิได้คัดค้านในกรณีที่โจทก์แจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค.1 ก็ดี หรือขอรังวัดออกโฉนดที่ดินทั้งแปลงรวมเอาที่ดินส่วนที่พิพาทกันนี้ไปด้วยก็ดี อาจเป็นไปได้ว่าจำเลยไม่ทราบเรื่องหรือไม่เข้าใจ เพราะโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินส่วนใหญ่และเป็นผู้ไปดำเนินการเองโดยไม่บอกกล่าวให้จำเลยทราบ ถึงกระนั้นจำเลยก็ยังคงครอบครองที่ดินส่วนที่พิพาทมาตลอดจนถึงปัจจุบัน การที่โจทก์ไปขอออกโฉนดที่ดินโดยรวมเอาที่ดินพิพาทเข้าไปด้วยนั้น หาเป็นเหตุให้สิทธิของจำเลยเหนือที่ดินส่วนที่พิพาทที่มีอยู่แล้วโดยสมบูรณ์เสียไปไม่
          ที่จำเลยฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ดำเนินการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้จำเลยเข้าชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์นั้น โจทก์ไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมในอันที่จะต้องปฏิบัติต่อจำเลย แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินเฉพาะส่วนที่พิพาทคือส่วนที่ขีดเส้นสีเขียวตามแผนที่พิพาทเป็นของจำเลย การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดออกโฉนดรวมเอาที่ดินส่วนที่พิพาทกันนี้เข้าไปด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจเพิกถอนโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนที่ทับที่ดินส่วนที่พิพาทกันนี้เสียได้ตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 61 และเมื่อเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบแล้ว จำเลยจะขอให้ใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์ในโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบหาได้ไม่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะไปดำเนินการออกโฉนดที่ดินเองตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินฯ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1806/2535  บิดาโจทก์ยกที่พิพาทให้โจทก์ก่อนที่บิดาโจทก์จะสมรสกับจำเลยการที่จำเลยและบิดาโจทก์อยู่ในที่พิพาทต่อมาโดยจำเลยรู้แล้วว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ดังนี้ การครอบครองที่พิพาทของจำเลยจึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ เมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยได้แสดงเจตนาต่อโจทก์ว่า ไม่ประสงค์จะครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์ต่อแล้วอันเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ย่อมถือว่าจำเลยยังครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์อยู่เช่นเดิมแม้จำเลยจะครอบครองที่พิพาทติดต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้วจำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทในฐานะครอบครองปรปักษ์ตาม มาตรา 1382.