29 มิถุนายน 2567

การกระทำ "โดยทุจริต"


          ป.อ. มาตรา 1 (1) “โดยทุจริต” หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

          คำว่า โดยทุจริต อยู่ในบทบัญญัติของกฎหมายอาญา โดยเฉพาะในความผิดอาญาที่เกี่ยวกับทรัพย์
          องค์ประกอบของคำว่า "โดยทุจริต" 
          (1) แสวงหาประโยชน์
          (2) ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
          (3) สำหรับตนเองหรือผู้อื่น

          (1) แสวงหาประโยชน์ ซึ่งหมายถึง ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินและประโยชน์ที่มิใช่ทรัพย์สินด้วย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2565  ตามมาตรา 1 (1) แห่ง ป.อ. กำหนดบทนิยามคำว่า “โดยทุจริต” หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การกระทำโดยทุจริตจึงมิได้จำกัดว่าต้องเป็นการแสวงหาประโยชน์เกี่ยวกับทรัพย์เท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาเอาฮาร์ดดิสก์ของโจทก์ร่วมไปเพื่อไม่ให้โจทก์ร่วมมีหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของตนหรือเป็นการเอาไปเพื่อทำลายหลักฐาน จึงเป็นการเอาทรัพย์นั้นไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ และถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองอันเป็นการลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริตแล้ว การที่จำเลยทั้งสามไปที่ร้านที่เกิดเหตุโดยอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดขอตรวจค้นและใส่กุญแจมือโจทก์ร่วมไพล่หลังมิได้กระทำเพื่อเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา 339 (1) ถึง (5) ในการที่จะเอาฮาร์ดดิสก์ของโจทก์ร่วมไป แต่เป็นการทำเพื่อไม่ให้โจทก์ร่วมขัดขืนหรือหลบหนี ดังนั้น การลักเอาฮาร์ดดิสก์ของโจทก์ร่วมไปจึงเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นในภายหลัง การใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุม อันจะเป็นความผิดข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีหรือใช้อาวุธปืน แต่เป็นเพียงความผิดข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืนโดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงานและโดยมีหรือใช้อาวุธปืน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10139/2557 จำเลยทั้งสี่เอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยมีเจตนาเพื่อจะตรวจดูว่าทรัพย์ที่เอาไปนั้นเป็นของจำเลยทั้งสี่ที่ถูกคนร้ายลักไปหรือไม่เท่านั้น มิใช่เป็นการเอาไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จึงไม่เป็นการกระทำ "โดยทุจริต" ตามบทนิยามความหมายของคำว่า "โดยทุจริต" ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์เพราะขาดเจตนาพิเศษเรื่องการกระทำโดยทุจริตดังกล่าว ซึ่งย่อมส่งผลทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสี่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องไปด้วย และการกระทำของจำเลยทั้งสี่เช่นนี้หาใช่ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ซึ่งถือว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีเจตนากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง ประกอบวรรคสาม ดังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13417/2555 ผู้เสียหายและจำเลยรู้จักกันก่อนเกิดเหตุ 2 เดือน และเคยทำงานด้วยกัน โดยจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างให้ผู้เสียหายนำต้นกล้ายางไปส่งมอบให้เกษตรกร วันเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นฝ่ายเชื้อเชิญให้จำเลยเข้าไปในบ้านและไปนั่งพูดคุยกันที่โต๊ะอาหาร บ่งชี้ว่าผู้เสียหายและจำเลยรู้จักและมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ขณะที่จำเลยเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไป แม้เป็นเรื่องที่กระทำไปโดยพลการแต่ก็มี ถ. น้องเขยของผู้เสียหายรู้เห็น จึงเป็นการเอาไปอย่างเปิดเผย ถ. ยังให้การในชั้นสอบสวนว่า เห็นจำเลยหยิบอาวุธปืนของผู้เสียหายไปโดยเข้าใจว่าผู้เสียหายอนุญาตจึงไม่ได้ทักท้วง อันแสดงว่า ถ. ก็เห็นว่าผู้เสียหายกับจำเลยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและจำเลยมิได้กระทำการอย่างใดที่มีพิรุธอันแสดงให้เห็นว่า ต้องการลักอาวุธปืนของผู้เสียหาย ครั้นผู้เสียหายทราบจาก ถ. ว่าจำเลยเอาอาวุธปืนไปและติดต่อสอบถามจำเลยทางโทรศัพท์ จำเลยก็รับว่าเอาอาวุธปืนไปจริงและยังบอกว่าจะนำไปคืนให้ ซึ่งผิดวิสัยของผู้ที่ต้องการลักทรัพย์ของผู้อื่นที่ย่อมปฏิเสธการกระทำของตน แม้จำเลยจะนำอาวุธปืนไปคืนล่าช้าจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายต้องเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แต่จำเลยมิได้นำอาวุธปืนไปแสวงหาประโยชน์ด้วยการนำไปจำหน่ายหรือก่อหนี้ผูกพันอื่นใด และนำไปคืนผู้เสียหายพร้อมกระสุนปืนครบถ้วน พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไปโดยถือวิสาสะ มิได้มีเจตนาเอาไปโดยทุจริต จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10143/2551 ผู้เสียหายกับจำเลยรู้จักกันมาก่อน ไปเที่ยวดื่มสุราด้วยกัน พยานโจทก์ที่ไปในที่เกิดเหตุกับจำเลยและผู้เสียหายเบิกความว่า ขณะที่กำลังรอรถโดยสารประจำทางอยู่นั้น จำเลยกับผู้เสียหายกอดกันในฐานะคนรัก หลังเกิดเหตุเมื่อสิบตำรวจเอก ป. ตามไปพบจำเลยอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุเพียงประมาณ 100 เมตร พบจำเลยถอดเสื้อเอาเสื้อพาดบ่าไว้ โดยจำเลยมีอาการมึนเมาและร้อยตำรวจโท น. พนักงานสอบสวนก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะจับตัวจำเลย จำเลยมีอาการมึนเมา จากพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อว่าจำเลยรู้จักคุ้นเคยกับผู้เสียหายและจำเลยกระทำในขณะมึนเมา การที่จำเลยเอาสร้อยข้อมือทองคำของผู้เสียหายไปนั้นไม่ได้ประสงค์จะเอาไปในลักษณะเป็นการประทุษร้ายต่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของผู้เสียหาย จำเลยมิได้เจตนาที่จะเอาทรัพย์ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีเจตนาทุจริต ไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2188/2545 จำเลยกับผู้เสียหายอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก่อนวันเกิดเหตุทะเลาะกันแล้วจำเลยหนีออกจากบ้าน ครั้นวันเกิดเหตุจำเลยไปพบผู้เสียหายที่บ้านและขอคืนดีผู้เสียหายขอค่าทำขวัญ แต่ตกลงจำนวนเงินกันไม่ได้ จำเลยโกรธทำร้ายผู้เสียหายและเอาสร้อยคอทองคำ 2 เส้น แหวนทองคำ 3 วง กับตุ้มหูทองคำ 1 คู่ ต่อมาจำเลยนำทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดคืนผู้เสียหาย และกลับมาอยู่กินด้วยกัน จำเลยเอาทรัพย์ดังกล่าวไป เนื่องจากจำเลยไม่ต้องการให้ผู้เสียหายนำไปขายเล่นการพนัน การกระทำของจำเลยเป็นไปโดยเปิดเผยต่อหน้าผู้อื่น เป็นการใช้อำนาจของการเป็นสามีปกป้องทรัพย์สินของครอบครัวด้วยความโกรธโดยเข้าใจว่ามีสิทธิกระทำได้ และการที่จำเลยได้นำทรัพย์ทั้งหมดคืนแก่ผู้เสียหายก็แสดงว่าไม่มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยหรือผู้อื่น จำเลยไม่มีเจตนาทุจริต จึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์คงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6390/2544 การที่จำเลยนำน้ำมันซึ่งจำเลยมีสิทธิเบิกไปใช้ได้ด้วยตนเองไปเติมใส่รถยนต์คันอื่นเพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้นำรถยนต์คันอื่นนั้นไปใช้ในกิจกรรมอื่นซึ่งไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่จำเลยจะพึงใช้ได้อันอาจถือได้ว่าจำเลยได้ประโยชน์จากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวเป็นส่วนตัว เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำการเบียดบังเอาน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำเลยสั่งจ่ายไปเป็นของจำเลยหรือของผู้อื่นโดยทุจริตหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2497/2541 จำเลยว่าจ้างผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปส่งจำเลยโดยจำเลยไม่ได้พกมีดปลายแหลมไป เมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยบอกให้หยุดรถ ผู้เสียหายหยุดรถเพราะรู้สึกว่ามีมีดปลายแหลมจี้ที่ด้านหลัง และโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า สิ่งที่ผู้เสียหายเข้าใจว่าเป็นมีดปลายแหลมนั้นคืออะไร และสามารถใช้เป็นอาวุธได้หรือไม่ จึงต้องสันนิษฐาน ในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยว่าสิ่งของนั้นไม่สามารถใช้เป็นอาวุธได้ การที่ผู้เสียหายตกใจกลัวจึงเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายกลัวไปเอง และคำพูดที่จำเลยบอกให้ผู้เสียหายหยุดรถ โจทก์ก็ไม่ได้ นำสืบให้เห็นว่าเป็นคำพูดลักษณะใดอันจะแสดงว่าเป็นการขู่เข็ญ ว่าในทันทีทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือข่มขืนใจให้ผู้เสียหายหยุดรถ นอกจากนั้น ผู้เสียหายทราบว่าในขณะนั้นจำเลยจะไปเยี่ยมภริยาจำเลยที่โรงพยาบาล การที่จำเลยนำรถจักรยานยนต์ไปจอดที่ลานจอดรถของโรงพยาบาลในลักษณะเปิดเผย จนกระทั่งเจ้าพนักงานตำรวจตามยึดคืนได้ในวันรุ่งขึ้น ประกอบกับจำเลยไม่ได้หลบหนีไปที่ใดทั้งที่รู้ว่าผู้เสียหายและเพื่อนผู้เสียหายทราบที่อยู่ของจำเลย จึงเป็นการแสดงว่าเมื่อผู้เสียหายกระโดดหนีจากรถจักรยานยนต์แล้วจำเลยก็ขับรถจักรยานยนต์ไปยังจุดมุ่งหมายแล้วจอดรถทิ้งไว้โดยไม่ประสงค์จะเอารถจักรยานยนต์ไว้เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับตนหรือผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนาทุจริตในการลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 863/2513 คำว่า 'โดยทุจริต' หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองและผู้อื่น การที่จำเลยทั้งสองสมคบหลอกลวงโจทก์โดยจำเลยที่ 2 แสดงตนต่อโจทก์ว่าเป็นนาย ช. เจ้าของที่ดินตาม น.ส.3. จนโจทก์หลงเชื่อทำหนังสือรับรองทรัพย์ยื่นขอประกันตัวนาย ก.ต่อศาลนั้น แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับประโยชน์เป็นทรัพย์สินแต่อย่างใดก็ตาม ก็ทำให้นาย ก. ได้รับประโยชน์จากการใช้หนังสือรับรองทรัพย์นั้นอ้างต่อศาลจนได้รับประกันตัวไป ซึ่งย่อมถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์สำหรับผู้อื่นอันเป็นการกระทำโดยทุจริตเช่นกัน

          (2) ประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย คือ ต้องเป็นประโยชน์ที่ผู้แสวงหานั้นไม่มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมาย ถ้าประโยชน์นั้นผู้แสวงหามีสิทธิจะได้รับตามกฎหมายแล้ว ก็ย่อมมิใช่ทุจริต 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12909/2557 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แม้พยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า ในการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว จำเลยมีเจตนาพิเศษ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมที่ดินหรือผู้หนึ่งผู้ใดก็ตาม แต่บทมาตรานี้ยังมีองค์ประกอบความผิดในกรณีเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งไม่จำต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เพียงแต่ได้ความว่าเป็นการกระทำโดยทุจริตก็เข้าองค์ประกอบเป็นความผิดแล้ว อีกทั้งตามมาตรา 1 (1) แห่งประมวลกฎหมายอาญา กำหนดบทนิยามคำว่า "โดยทุจริต "หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การที่จำเลยลงลายมือชื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1481 ตำบลพรุใน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา เนื้อที่ 16 ไร่ 2 งาน 94 ตารางวา ให้แก่นาย ด. ซึ่งเป็นการกระทำที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลย โดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องว่านาย ด. ยื่นขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงหรือไม่ และทำให้นาย ด. ได้ไปซึ่งหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิได้รับ ถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3670/2542 ผู้เสียหายฟ้องจำเลยทั้งสองขอแบ่งนามรดก และข้าวเปลือกเหนียวที่เก็บเกี่ยวได้จากนาพิพาท ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ผู้เสียหายและจำเลยทั้งสองได้ไปตกลงกันที่สถานีตำรวจว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่เอาข้าวเปลือกเหนียวที่ได้จากการทำนาพิพาทไปขาย แต่ยอมให้แต่ละฝ่ายเอาไปสีรับประทานได้ ผู้เสียหายทำผิดข้อตกลงดังกล่าว โดยผู้เสียหายเอาข้าวเปลือกเหนียวจำนวน50 ถุงปุ๋ย ไปให้ น. เพื่อเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่ผู้เสียหายยืมจาก น. มา จำเลยทั้งสองจึงปิดยุ้งข้าวพิพาท การกระทำของจำเลยทั้งสองก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ในทรัพย์พิพาท ซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาคดีนั่นเอง ดังนั้น แม้จะปรากฏว่า จำเลยทั้งสองจะได้กวาดข้าวเปลือกเหนียวไปกองรวมไว้ ในยุ้งข้าวด้วยก็ตามพฤติการณ์การกระทำของจำเลยทั้งสอง ก็ขาดเจตนาทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8329/2540 การที่จำเลยที่ 1 เอาทรัพย์ของผู้ตายไปฝังดินไว้ภายหลังจากฆ่าผู้ตายโดยจะขุดมาแบ่งกับพวกเมื่อเรื่องเงียบแล้ว ถือได้ว่าเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต เป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เข้าลักษณะความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 แล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 จะขุดเอาทรัพย์ดังกล่าวขึ้นมาในภายหลังหรือไม่เป็นดุลพินิจของจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วเปลี่ยนแปลงไป จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์

          (3) สำหรับตนเองหรือผู้อื่น คือ การแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายนั้น เพื่อต้องการเอาประโยชน์เป็นของตนเองหรือของผู้อื่น หรือร่วมกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 565/2542  ส.ตกลงให้จำเลยเป็นนายหน้าขายที่ดินของส.และที่ดินของโจทก์ร่วมโดยสัญญานายหน้ามีข้อตกลงว่า จำเลย จะต้องนำดินลูกรังมาถมในที่ดินดังกล่าวให้สูงขึ้นประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อให้ขายได้ราคาสูงขึ้น การที่จำเลย สั่งให้ ค. ขุดทรายแก้วในที่ดินของโจทก์ร่วมโดยอ้างว่าที่ดินเป็นของตน และทำสัญญาขุดทรายกับ ค. โดยระบุว่าจำเลยได้รับมอบอำนาจมาจาก ว. และ ป. มิได้ระบุว่ารับมอบอำนาจมาจากโจทก์ร่วม เมื่อ ว. มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว คงมีเพียง ป. เท่านั้นที่มีชื่อเป็นเจ้าของรวมในที่ดิน แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาปกปิด ข้อเท็จจริงไม่ให้ ค. ทราบว่าที่ดินเป็นของโจทก์ร่วมปรากฏว่าจำเลยขายทรายแก้วที่ขุดได้ให้แก่ ค. ในราคาถึง 87,000 บาท โดยมิได้นำเงินนั้นมอบแก่โจทก์ร่วม นับว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองแล้ว การกระทำของจำเลยมีเจตนาทุจริต มิใช่การกระทำตามสัญญาโดยอาศัยสิทธิอันชอบธรรม เพื่อผลประโยชน์ของคู่สัญญาอันเป็นเรื่องทางแพ่ง แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 572/2517 จำเลยซึ่งเป็นปลัดอำเภอมีหน้าที่ทำตั๋วรูปพรรณสัตว์พาหนะลงลายมือชื่อประทับตราตำแหน่งลงในตั๋วรูปพรรณที่รู้ว่า ปลอมลายพิมพ์นิ้วมือเจ้าของสัตว์ ทำให้มีผู้ใช้เอกสารนั้นอ้างเมื่อถูกตรวจค้น แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับผลประโยชน์แต่ประการใด แต่ก็เป็นการทำให้จำเลยอื่นได้รับประโยชน์ในการใช้เอกสารนั้นไปอ้างเมื่อถูกตรวจค้นหรือถูกจับ ถือว่าเป็นการกระทำโดยทุจริตเช่นกัน จึงมีความผิดตามมาตรา 157,161 และ 162(2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14267/2558 โจทก์มีหน้าที่ต้องทำงานประจำในห้องการเงิน แต่เมื่อ ว. มาซื้อสินค้าของจำเลยที่ 1 และนำสินค้าไปยังเครื่องคิดเงิน โจทก์ได้ไปทำหน้าที่คิดเงินให้แก่ ว. ซึ่งปรากฏรายการสินค้าที่ ว. ได้รับไปโดยโจทก์ไม่ได้คิดเงินจำนวน 7 รายการ คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,931 บาท โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 ในหน้าที่คิดราคาค่าสินค้าและเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าเพื่อนำส่งให้แก่จำเลยที่ 1 มาเป็นเวลานาน ย่อมมีความชำนาญในการทำงานในหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี แม้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าเหตุที่ไม่คิดเงินจากสินค้าจำนวน 7 รายการ จาก ว. เนื่องจากหลงลืมและเกิดจากความผิดพลาดในการทำงาน แต่สินค้าจำนวน 7 รายการ ดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีลักษณะชิ้นใหญ่สามารถมองเห็นและตรวจสอบได้ง่าย การที่โจทก์ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการคิดเงินค่าสินค้าแต่กลับไม่คิดเงินค่าสินค้าจำนวน 7 รายการ จาก ว. ทำให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างเสียหายไม่ได้รับชำระค่าสินค้าดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่โจทก์อาศัยโอกาสในการปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น ถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว