ประเภทของผู้จัดการมรดก
มาตรา 1711 "ผู้จัดการมรดกนั้นรวมตลอดทั้งบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล"
1. ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม ตามมาตรา 1712 กำหนดวิธีการตั้งไว้ 2 วิธี ประการแรกโดยผู้ทำพินัยกรรม ประการที่สองโดยบุคคลซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ตั้ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2340/2519 ข้อความในพินัยกรรมมีว่า ขอมอบพินัยกรรมให้แก่ ม. และขอตั้งให้ ม. เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมฯ เป็นการชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่าตั้ง ม. เป็นผู้จัดการมรดก โดยไม่จำกัดว่าเป็นทรัพย์มรดกสิ่งใดบ้าง
ศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมให้เป็นผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลได้ กรณีผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมไม่สามารถจัดการมรดกให้เป็นไปตามพินัยกรรมได้เนื่องจากเหตุขัดข้อง เช่น เจ้าพนักงานที่ดินไม่โอนที่ดิน ซึ่งศาลมีอำนาจแต่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมให้เป็นผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลได้ ตามมาตรา 1713 วรรคสอง "การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งตาม ข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่ข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร "
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1481/2518 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ชี้แนวทางให้ศาลปฏิบัติในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก หาใช่เป็นบทบังคับให้ศาลจำต้องตั้งผู้จัดการมรดกตามที่ระบุในพินัยกรรมไม่ แม้ผู้ร้องจะร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายโดยอ้างว่ามีพินัยกรรมระบุไว้ก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องคัดค้าน และขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก จึงเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาว่าผู้ใดในระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านและขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อศาลได้ดำเนินการพิจารณาอย่างคดีมีข้อพิพาท เป็นการเปิดโอกาสให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งคัดค้านก่อนได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังได้มีการสืบพยานไปบ้าง แต่ยังไม่หมดปาก และแต่ละฝ่ายต่างอ้างสำนวนคดีอื่นที่คู่ความในคดีนั้นได้ประนีประนอมยอมความกันในเรื่องทรัพย์มรดกผู้ตาย พร้อมพยานหลักฐานในสำนวนนั้นเป็นพยานเมื่อได้มีการเปิดโอกาสให้คู่ความคัดค้านก่อนได้แล้วการที่ศาลพิพากษาตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกก็เป็นการชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว
2. ผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาล มี 2 ประเภท คือ (1) ผู้จัดการมรดกที่มีอำนาจทั่วไป และ (2) ผู้จัดการมรดกที่มีอำนาจเฉพาะ โดยบุคคลที่มีอำนาจร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกนั้นก็จะต้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14777/2558 พินัยกรรมระบุยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายให้แก่บุตรทั้งสาม คือ เด็กหญิง บ. เด็กชาย ฉ. และเด็กหญิง ก. ดังนั้น แม้จะฟังว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้วอันถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ซึ่งมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ก็ตาม ผู้คัดค้านก็ถูกตัดมิให้รับมรดก ตามมาตรา 1608 วรรคสอง ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านและร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1713 และ 1727 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2052/2558 แม้ผู้ร้องไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น อำนาจปกครอง ณ. อยู่กับผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1569 ซึ่งการยื่นคำร้องขอดังกล่าวผู้ร้องมิได้ยื่นในฐานะส่วนตัวแต่ยื่นในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ในคำร้องขอนั้นนอกจากมีข้ออ้างว่ามีการยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายแล้วยังมีข้ออ้างว่าผู้ร้องได้รับคำบอกเล่าว่าแท้จริงผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ ณ. ไว้ด้วย ดังนั้นการยื่นคำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นไปตามหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองเพื่อระวังรักษาประโยชน์ของ ณ. ให้ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสิทธิที่แท้จริง ผู้ร้องในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองของ ณ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ที่มีสิทธิจะร้องต่อศาลขอให้ถอนผู้จัดการมรดกหรือขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้
เจ้าหนี้กองมรดกที่ไม่มีทายาทก็ถือว่ามีส่วนได้เสียร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1695/2531 (ประชุมใหญ่) กองมรดกซึ่งไม่มีทายาทนั้น แม้มรดกจะตกทอดแก่แผ่นดินแผ่นดิน ก็มิใช่ทายาท เจ้าหนี้ไม่อาจบังคับชำระหนี้จนกว่าจะได้ตั้งผู้จัดการมรดกขึ้น และหากไม่มีผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใด เจ้าหนี้ก็ไม่มีทางได้รับชำระหนี้ได้เลย การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากกองมรดกขึ้นอยู่กับการที่กองมรดกมีผู้จัดการมรดก ในกรณีเช่นนี้ จึงต้องถือว่าเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713
ผู้ที่มีอำนาจร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกนั้นจะขอตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดกก็ได้ แต่ผู้จัดการมรดกต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม ทั้งนี้ ตามมาตรา 1718 "บุคคลต่อไปนี้จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้
(1) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(2) บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
(3) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย"
หลักทั่วไปในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดก
1. ผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จจากกองมรดก เว้นแต่พินัยกรรมหรือทายาทโดยจำนวนข้างมากจะได้กำหนดไว้ (มาตรา 1721)
2. ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใดซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตหรือได้รับอนุญาตจากศาลตามมาตรา 1722
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10738/2551 ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ซึ่งเป็นมารดาของผู้ร้องและจำเลยเนื่องจากจำเลยอ้างว่า บ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้จำเลย แล้วจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและนำไปจำนองเป็นประกันหนี้ต่อโจทก์ต่อมาศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์และให้ยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดซึ่งโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับคดีแล้ว แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องในคดีที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกขอให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ศาลไต่สวนและมีคำสั่งถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเนื่องจากพินัยกรรมที่จำเลยอ้างเป็นโมฆะ และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแทน คดีถึงที่สุดแล้ว กรณีจึงต้องถือว่าขณะจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเองในฐานะส่วนตัวทั้งที่ตนไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมที่อ้าง เป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ บ. อันเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังเป็นของกองมรดกของ บ. อยู่ตามเดิม สัญญาจำนองที่จำเลยในฐานะส่วนตัวทำกับโจทก์ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ แก่โจทก์ที่จะบังคับเอาแก่ที่ดินพิพาท เพราะผู้จำนองไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองโดยสุจริตก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3408/2525 การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของสามีโจทก์ร่วมกับโจทก์ เอาทรัพย์สินกองมรดกมาทำสัญญาแบ่งให้ตนเอง ประโยชน์ส่วนได้เสียของจำเลยย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก แม้จะเป็นการกระทำในฐานะส่วนตัวก็ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 สัญญาแบ่งทรัพย์นั้นจึงตกเป็นโมฆะ
3. ผู้จัดการมรดกต้องจัดการด้วยตนเอง เว้นแต่จะทำการโดยตัวแทนได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้งหรือโดยปริยายในพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาลหรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดก ตามมาตรา 1723
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2516 - 2517/2521 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1723 จะเห็นว่าไม่ได้ห้ามผู้จัดการมรดกตั้งตัวแทนเสียเลยทีเดียว หากเป็นการตั้งตัวแทนกระทำการเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกย่อมจักกระทำได้ ดังนี้ แม้ผู้จัดการมรดกทั้งสองได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ฉ. ซึ่งเป็นทนายความจัดการแทน. ฉ. ได้แต่เพียงมีหนังสือถึงทายาทให้ส่งทรัพย์มรดกเฉพาะผู้ร้องให้ส่งมอบโฉนดและให้แจ้งทรัพย์มรดกเท่านั้น ซึ่งก็ได้ทำไปเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกนอกนั้นผู้จัดการมรดกทั้งสองได้จัดการมรดกด้วยตนเอง จึงฟังไม่ได้ว่าผู้จัดการมรดกทั้งสองมิได้กระทำการตามหน้าที่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2953/2523 ป. บ. และ ส. กับจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ได้จัดแบ่งที่ดินมรดกและตกลงให้มีการทำถนนเพื่อให้ผู้เป็นเจ้าของที่ดินด้านในๆ มีทางออกสู่ถนนได้กับตกลงกำหนดแนวทางที่จะทำถนนไว้แล้ว ป. บ. และ ส.เป็นโจทก์ โดยป.และบ.มอบอำนาจให้ส. ฟ้อง อ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยไม่ยอมสละที่ดินให้ทำถนนอันเป็นการฟ้องให้สละที่ดินทำถนนเพื่อทายาทอื่นใช้ร่วมกันตามข้อตกลงแบ่งมรดกตามที่ ป. บ. และ ส. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเห็นพ้องต้องกัน ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการมรดกร่วมกันนั่นเอง ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผู้จัดการมรดกตั้งตัวแทนให้จัดการมรดกรายนี้โดยไม่มีอำนาจอันจะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1723
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1217/2543 ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งมีอำนาจและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรมและเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก และเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกจะต้องจัดการโดยตนเอง จะให้ผู้ใดทำแทนไม่ได้ เว้นแต่กรณีเข้าข้อยกเว้นให้ผู้จัดการมรดกมอบให้ตัวแทนทำการได้ตามอำนาจที่ให้ไว้โดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยายในพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล หรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดก ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งมิใช่ตัวแทนของทายาท อำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย จึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทที่จะต้องจัดการมรดกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกและทายาท ทายาทหามีอำนาจที่จะสั่งการให้ผู้จัดการมรดกกระทำการใดได้ เพียงแต่ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดต่อทายาท โดยกฎหมายอนุโลมให้นำบทบัญญัติบางมาตราของลักษณะตัวแทนมาใช้ และทายาทย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้ควบคุมการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกให้อยู่ในขอบอำนาจที่พินัยกรรมและกฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งมีอำนาจที่จะขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกที่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1729, 1731, 1726, 1732 และ 1727 วรรคสอง เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลเป็นผู้ดูแลให้ผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เพื่อให้การจัดการมรดกเป็นไปโดยเรียบร้อย ดังนั้น วิธีการจัดการมรดกซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะกระทำเองทายาทและศาลไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้ผู้จัดการมรดกปฏิบัติตามมติที่ประชุมทายาทได้
4. ผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมกับบุคลภายนอกโดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อันบุคคลภายนอกได้ให้หรือได้ให้คำมั่นว่าจะให้เป็นลาภส่วนตัวไม่ได้ เว้นแต่ทายาทจะได้ยินยอมด้วย ตามมาตรา 1724 วรรคสอง
5. การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกหลายคนต้องถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด ตามมาตรา 1726 ซึ่งหากเป็นกรณีผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลให้จัดการร่วมกันแล้วมีคนใดเสียชีวิตไป ที่เหลือก็ทำอะไรไม่ได้เลย ต้องมาขออำนาจศาล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6857/2553 แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1715 วรรคสองบัญญัติว่า "เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน แต่ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นบางคนไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียวผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการได้โดยลำพับ แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้" ก็มีความหมายถึงผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม การที่ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 ที่ให้กระทำการโดยถือเอาเสียงข้างมาก หากปรากฏว่าผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกที่เหลือย่อมต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม เมื่อการฟ้องคดีเพื่อจัดการทรัพย์มรดกเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมารตรา 1736 วรรคสอง และมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 ที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้วจึงไม่อาจนำวิธีการตามมาตรา 1715 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมาใช้บังคับได้ ดังนั้น เมื่อ ป. ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตาย โดยโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมจะจัดการมรดกต่อไปเพียงสองคนโดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกต่อไป ย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลและไม่มีอำนาจจะจัดการได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ความรับผิดของผู้จัดการมรดก หากผู้จัดการมรดกไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือประมาทเลินเล่อ ก็จะต้องรับผิดต่อทายาทหรือบุคคลภายนอก ทั้งนี้ตามมาตรา 1720
ถ้าปรากฏว่าผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกและทายาท หรือละเลยไม่จัดการมรดกตามหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกและทายาท ผู้จัดการมรดกนั้นต้องรับผิดต่อทายาท แต่ทายาทจะต้องฟ้องให้รับผิดภายในกำหนด 5 ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ตามมาตรา 1733 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4606/2540 อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เป็นอายุความทั่วไปที่ทายาทเรียกเอาทรัพย์มรดก ส่วนมาตรา 1733 วรรคสอง เป็นอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดก คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจึงต้องใช้อายุความตามมาตรา 1733 วรรคสอง หาใช่อายุความตามมาตรา 1754 ซึ่งอายุความเริ่มนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5720/2541 แม้คำฟ้องโจทก์ในช่องจำเลยจะมิได้ระบุว่า จำเลยมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกก็ตาม แต่ในคำฟ้องก็ได้บรรยายโดยรายละเอียดว่า เมื่อจำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยกระทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยมิได้จัดการโอนมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสองตามพินัยกรรม แต่กลับโอนเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียวในชั้นสืบพยานโจทก์ทั้งสองก็นำสืบว่า ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งมีอายุความ 5 ปี นับแต่จัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ.มาตรา 1733 วรรคสอง หาใช่คดีมรดกซึ่งมีอายุความ 1 ปีไม่ โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2536 ยังไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยโอนที่ดินมรดกมาเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว แม้จะถือว่าวันดังกล่าวจัดการมรดกเสร็จสิ้นก็ตาม คดีก็ยังไม่ขาดอายุความ
ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2252 เดิมมีเนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ป.เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ขอยกให้จำเลย 5 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ส่วนที่เหลือยกให้โจทก์ทั้งสองคนละเท่าๆ กัน หมายความว่ายกให้โจทก์คนละ 2 ไร่ 2 งาน เมื่อคำนวณเป็นสัดส่วนแล้วจำเลยจะได้ที่ดิน 59 ส่วน โจทก์จะได้ที่ดินคนละ 25 ส่วน แต่ก่อน ป.ตาย ป.ได้โอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่ ม.กึ่งหนึ่งกรณีต้องด้วย ป.พ.พ.มาตรา 1696 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินจำนวนกึ่งหนึ่งที่ยกให้ ม.เป็นอันเพิกถอนไป คงเหลือที่ดินจำนวนกึ่งหนึ่งตกเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยตามเจตนารมณ์ของผู้ทำพินัยกรรมโดยการแบ่งตามสัดส่วนคือจำเลยได้ 59 ส่วน โจทก์ทั้งสองได้คนละ 25 ส่วน ของที่เหลือ หรือได้รับที่ดินน้อยลงคนละกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ระบุในพินัยกรรมคิดแล้วจำเลยได้ที่ดิน 2 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา โจทก์ได้ที่ดินคนละ 1 ไร่ 1 งานมิใช่แบ่งให้จำเลยได้ที่ดินครบ 5 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ก่อน เมื่อมีที่ดินเหลือจึงตกเป็นของโจทก์ทั้งสองไม่