28 ก.พ. 2567

อำนาจปกครองบุตร


          บุตรอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา
          อำนาจปกครองของบิดามารดาที่มีต่อบุตรมีขึ้นนับตั้งแต่บุตรถือกำเนิดมา เป็นอำนาจที่ใช้ในการเลี้ยงดูรักษาบุตรให้เจริญเติบโตต่อไปในภายหน้า โดยมาตรา 1566 กำหนดให้บิดาและมารดา เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ซึ่งบุตรที่จะอยู่ภายใต้อำนาจปกครองนี้มีเฉพาะบุตรผู้เยาว์เท่านั้น หากบรรลุนิติภาวะแล้วก็ไม่อยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาอีกต่อไป สำหรับการใช้อำนาจปกครองบุตรนี้ บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งสามารถใช้อำนาจปกครองโดยลำพัง และจะสละอำนาจปกครองบุตรให้บุคคลอื่นไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 482/2537  โจทก์ยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 แม้บิดาโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ก็หาเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อยู่ใต้อำนาจปกครองของมารดาไม่ เมื่อมารดายังเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโจทก์จึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ตาม มาตรา 1569 มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3484/2542  โจทก์เป็นภริยาจำเลยโดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน 1 คน คือเด็กหญิง ธ. ผู้เยาว์จึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1546 โจทก์จึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิง ธ. ตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว ส่วนจำเลยเป็นบิดามิชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ การที่โจทก์ทำบันทึกระบุข้อความมอบผู้เยาว์ให้อยู่ในความปกครองของพี่สาวจำเลยจึงเป็นการตั้งผู้ปกครองกันเองย่อมไม่มีผล เพราะการตั้งผู้ปกครองตามกฎหมายจะมีได้เฉพาะด้วยคำสั่งศาลหรือบิดามารดาตกลงกันตาม ป.พ.พ.มาตรา 1566 (6) เท่านั้น ข้อความตามบันทึกดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดที่อยู่ของบุตรผู้เยาว์ให้อยู่กับพี่สาวจำเลยเท่านั้น และกรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ผู้เป็นมารดาได้สละการใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ เพราะไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้บิดาหรือมารดาสามารถสละการใช้อำนาจปกครองให้แก่บุคคลอื่นได้ ทั้งมิใช่กรณีที่บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1566 (6) เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นมารดายังเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์อยู่ จำเลยซึ่งเป็นบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีหน้าที่ต้องส่งผู้เยาว์ให้แก่โจทก์
          เมื่อจำเลยมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกโจทก์ผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์โต้แย้งสิทธิ จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์แต่ผู้เดียว


          แต่กรณีที่มีเหตุให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับบิดาหรือมารดาเพียงฝ่ายเดียวก็ย่อมมีได้ ตามมาตรา 1566 วรรคสองและวรรคท้าย และมาตรา 1568 ซึ่งได้แก่กรณีดังต่อไปนี้
          (1) มารดาหรือบิดาตาย บิดาหรือมารดาที่เหลืออยู่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว
          (2) ไม่เป็นการแน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย เช่น มารดาหรือบิดาหายไปไม่ทราบว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร ดังนี้ บิดาหรือมารดาที่เหลืออยู่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว
          (3) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเมือนไร้ความสามารถ เช่นนี้บิดาหรือมารดาที่เหลืออยู่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว
          (4) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะโรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน บิดาหรือมารดาที่เหลืออยู่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเพียงผู้เดียว
          (5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา ซึ่งการที่ศาลจะมีคำสั่งเช่นนี้ศาลจะต้องคำนึงถึงความุขและประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ เช่น บิดามารดาหย่าขาดจากกันขณะที่บุตรยังเล็กอยู่ ศาลอาจจะมีคำสั่งให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับมารดาคนเดียวก็ได้
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1106/2550   แม้คำฟ้องแย้งจะมีข้อความระบุว่า หากศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยและค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ก็ตาม แต่จำเลยให้การต่อสู้คดีและบรรยายคำฟ้องแย้งมาแต่แรกว่า เหตุหย่ามิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลย โจทก์เป็นฝ่ายออกจากบ้านละทิ้งไม่ดูแลไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยและบุตรผู้เยาว์ทั้งสองซึ่งอยู่ในระหว่างศึกษาเล่าเรียนขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลย ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์และให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว แสดงให้เห็นถึงเจตนาแท้จริงตามคำฟ้องแย้งของจำเลยว่าไม่ประสงค์จะหย่ากับโจทก์ แต่ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่าบิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ซึ่งโจทก์ในฐานะบิดามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว ไม่ว่าโจทก์จำเลยยังคงเป็นสามีภริยาหรือหย่าขาดกันแล้วหรือไม่ ทั้งย่อมเป็นเหตุผลอันสมควรให้ศาลมีคำสั่งให้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์อยู่แก่จำเลยผู้เป็นมารดาฝ่ายเดียวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 (5) ไม่ว่าโจทก์จำเลยจะหย่าขาดกันหรือไม่เช่นเดียวกัน เมื่อโจทก์ไม่อุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรผู้เยาว์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษาให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองและให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
          (6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่กฎหมายบัญญัติให้ตกลงกันได้ กรณีนี้อำนาจปกครองบุตรก็อยู่กับคนใดคนหนึ่งตามที่ตกลงกันไว้ แต่ทั้งนี้เฉพาะที่กฎหมายยอมให้ตกลงกันได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1000/2544  โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันโดยมีบันทึกข้อตกลงเป็นหนังสือท้ายทะเบียนหย่าให้โจทก์ซึ่งเป็นบิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียว กรณีต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลยังไม่ได้สั่งเพิกถอนอำนาจปกครองของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 วรรคหนึ่งแล้วโจทก์จึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566(6) ข้อตกลงตามสัญญาหย่าระบุเพียงให้จำเลยไปมาหาสู่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้ ตลอดเวลา หามีข้อตกลงให้จำเลยรับบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอุปการะเลี้ยงดูไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะนำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่ด้วย
          (7) บุตรเกิดจากหญิงที่ไม่ได้สมรสกับชาย จึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงแต่เพียงผู้เดียว  
          (8) เมื่อบุคคลใดมีบุตรติดมาได้สมรสกับบุคคลอื่น อำนาจปกครองที่มีต่อบุตรอยู่กับผู้ที่บุตรนั้นติดมา คู่สมรสของบุคคลนั้นไม่มีอำนาจปกครองบุตรด้วย

          สิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครอง
          ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ ดังนี้
          (1) กำหนดที่อยู่ของบุตร
          (2) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
          (3) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป
          (4) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
          (5) สิทธิในการให้ความยินยอมบุตรผู้เยาว์ทำการหมั้นและสมรส
          (6) สิทธิที่เกี่ยวข้องกับการอุปการะเลี้ยงดูบุตรในด้านต่างๆ เช่นการให้ความยินยอมในการเข้ารับการรักษาพยาบาลการผ่าตัดหรือการทำนิติกรรมต่างๆ

          ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรโดยอำนาจของกฎหมาย