11 มี.ค. 2561

สัญญาเช่าซื้อ


          มาตรา 572  "อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว
          สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ"

          สัญญาเช่าซื้อเป็นลักษณะของสัญญาเช่าทรัพย์ที่ประกอบด้วยคำมั่นว่า หากผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราวครบถ้วนตามที่ตกลงกันแล้ว ก็จะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า

          แบบของสัญญาเช่าซื้อ
          สัญญาเช่าซื้อกฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือ ทั้งนี้ ตามมาตรา 572 วรรคสอง "สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ"
          การทำเป็นหนังสือ คือ คู่สัญญาทั้งฝ่ายผู้เช่าซื้อและผู้ให้เช่าซื้อจะต้องลงลายมือชื่อในสัญญาด้วยกัน หากสัญญามีเพียงลายมือชื่อของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเท่านั้น ก็เท่ากับไม่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อเป็นหนังสือ มีผลให้สัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะ


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 953/2520  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรค 2 บัญญัติว่าสัญญาเช่าซื้อนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ ซึ่งหมายความถึงว่า เจ้าของทรัพย์สินและผู้เช่าซื้อจะต้องลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อด้วยกันทั้งสองฝ่าย
          โจทก์เป็นบริษัทจำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลและจดทะเบียนข้อบังคับไว้ว่าลายมือชื่อกรรมการใดๆ สองนายร่วมกันพร้อมด้วยตราบริษัทพึงมีผลผูกพันบริษัทแต่ตามสัญญาเช่าซื้อกรรมการบริษัทโจทก์ลงชื่อเพียงคนเดียวและไม่ได้ประทับตราบริษัท ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของบริษัทซึ่งได้จดทะเบียนไว้ เท่ากับว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์หรือผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ

          การสิ้นสุดของสัญญาเช่าซื้อ

          (1) ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญา
          มาตรา 573  "ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2522  โจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อ เพราะตำรวจยึดไปสอบสวนกรณีรถนั้นถูกลักมา เป็นการผิดวัตถุประสงค์ของการเช่าซื้อ โจทก์บอกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องคืนรถแก่จำเลยผู้ให้เช่าซื้อ แม้จำเลยมิได้ประมาทเลินเล่อในการที่ถูกตำรวจยึดรถไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14324/2558  จำเลยเป็นฝ่ายเริ่มต้นติดต่อกับโจทก์เพื่อคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ แสดงให้เห็นจุดประสงค์ของจำเลยที่ต้องการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น เมื่อโจทก์ได้รับการติดต่อก็ตกลงและนัดหมายรับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนโดยมอบหมายให้ ส. ตัวแทนโจทก์ การที่จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ ส. จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการส่งมอบทรัพย์คืนแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับแต่วันดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะตกลงขายสิทธิการเช่าซื้อให้ ส. ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและไม่ปรากฏว่าขณะเลิกสัญญาจำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3238/2552  การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์เพื่อขอโอนสิทธิการเช่าซื้อให้แก่ ท. และโจทก์ได้เรียกเก็บเงินค่าเปลี่ยนสัญญา ค่าเปลี่ยนชื่อในเล่มทะเบียนโดยใช้แบบพิมพ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าตรวจสภาพรถ ค่าปรับล่าช้าและสั่งจ่ายเช็ครวม 6 ฉบับ เพื่อชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าและโจทก์ยึดรถจากผู้ครอบครองคือ ท. และเป็นการยึดรถที่จังหวัดยโสธรอันเป็นภูมิลำเนาของ ท. ซึ่งโจทก์รับในฎีกาว่ายึดรถยนต์ได้จาก ท. พฤติการณ์ดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ซึ่งเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าการเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 เป็น ท. นั้น โจทก์จะไม่อนุมัติในภายหลัง สัญญาเช่าซื้อก็เป็นอันเลิกกันแล้วนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้เช่าซื้อเลิกสัญญา เมื่อสัญญาเลิกกันโดยจำเลยที่ 1 มิได้ประพฤติผิดสัญญาและไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7024/2548  จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เรื่อยมาโดยไม่มีการผิดนัดจนถึงงวดที่ 5 จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อกับ พ. พนักงานของโจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์ว่าจะเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อใหม่ โดยให้ ย. เป็นผู้เช่าซื้อ และให้ ก. เป็นผู้ค้ำประกันแทนจำเลยทั้งสอง พ. จึงให้จำเลยที่ 1 และ ย. ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อเดิมและผู้เช่าซื้อใหม่ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์ให้ ย. ลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อโดยไม่มีการกรอกข้อความและลงลายมือชื่อรับมอบรถยนต์ในหนังสือหลักฐานการรับมอบรถยนต์ที่ทำขึ้นโดยบริษัทโจทก์ โดย พ. พนักงานของโจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นฝ่ายโอนสิทธิและผู้ส่งมอบ มีการตรวจสอบความถูกต้องในการจัดทำเอกสารพนักงานฝ่ายอื่นของโจทก์อีกด้วย ทั้งในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าธรรมเนียมในการโอนสิทธิให้แก่โจทก์รับไปถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติในการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้วในวันดังกล่าว ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อระหว่าง ย. กับโจทก์จะได้ทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ สัญญาเช่าซื้อระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ก็เป็นอันเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันได้


          (2) ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญา
          มาตรา 574  "ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย
          อนึ่ง ในกรณีกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราวที่สุดนั้น ท่านว่าเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนและกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อระยะเวลาใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2764/2559  หนังสือบอกกล่าวที่จำเลยมีถึงโจทก์และผู้ค้ำประกัน นอกจากแจ้งเตือนให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระติดต่อกัน 3 งวดแล้ว ยังได้ระบุถึงหนี้รายการอื่น ๆ คือค่าทนายความและค่าดอกเบี้ยล่าช้า ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าของโจทก์ทำให้มีค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4 และ ข้อ 9 ส่วนค่ามิเตอร์ ค่าปรับ และค่าวิทยุอันเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถรับจ้างสาธารณะหรือรถแท็กซี่ โดยปกติโจทก์ในฐานะผู้ใช้ประโยชน์รถยนต์ต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยในฐานะผู้ให้เช่าซื้อชำระค่าใช้จ่ายแทนไปก็ชอบที่จะทวงถามจากโจทก์ได้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 จำเลยจึงบอกกล่าวให้ชำระหนี้ตามที่พึงมีสิทธิ เมื่อมีการส่งหนังสือบอกกล่าวโดยมีผู้รับแทนเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 โจทก์จะต้องชำระหนี้ตามที่ทวงถามภายใน 30 วัน ซึ่งครบกำหนดวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 แต่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 15 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 และชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16 พร้อมดอกเบี้ยล่าช้าเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 ส่วนค่าเช่าซื้องวดที่ 17 โจทก์ชำระเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 เมื่อโจทก์มิได้นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลยภายในกำหนดเวลา 30 วัน ตามหนังสือบอกกล่าว สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับถัดจากวันครบกำหนดดังกล่าว ส่วนข้อความที่ว่า หากชำระล่าช้ากว่าวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 จะต้องชำระเพิ่มอีก 1 งวด เป็นแต่เพียงระบุค่างวดเช่าซื้อที่ค้างให้สอดคล้องกับระยะเวลาการชำระหนี้ โดยโจทก์ต้องชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว แต่หากโจทก์ชำระหนี้หลังจากวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 โจทก์ต้องชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 18 เพิ่มอีก 1 งวด หรือชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างรวม 4 งวด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยประสงค์ให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่คงค้างให้ครบทันงวด มิใช่ยอมให้มีการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้า ประกอบกับตามพฤติการณ์ของจำเลยที่เคยคิดดอกเบี้ยล่าช้าจากโจทก์ ก็เป็นข้อสนับสนุนอีกส่วนหนึ่งว่าจำเลยยึดถือกำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ อีกทั้งการที่จำเลยให้พนักงานไปติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อจนสามารถยึดรถยนต์กลับคืนมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ชี้ชัดอยู่ว่าจำเลยเคร่งครัดตามหนังสือบอกกล่าวโดยไม่ประสงค์ให้สัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับต่อไป ส่วนที่โจทก์ชำระเงินโดยนำฝากเข้าบัญชีของจำเลยภายหลังสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยคงรับไว้เป็นค่าเสียหายตามที่ระบุในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 15.3 ซึ่งจำเลยมีหนังสือชี้แจงไปยังโจทก์แล้วว่าการที่โจทก์ไม่ส่งมอบรถยนต์คืนหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ทำให้จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการติดตามสืบหารถยนต์ จำเลยสืบทราบว่าโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปขายโดยวิธีให้เช่าซื้อแก่ ป. การที่จำเลยจะนำเงินที่ได้รับชำระจากโจทก์มาหักเป็นค่าเสียหายในการติดตามรถยนต์คืนนับว่ามีเหตุผลอันสมควรและเป็นไปตามข้อสัญญา ทั้งเป็นการหักกับค่าเสียหายในค่าขาดประโยชน์ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับรถคืนอีกด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันจากเหตุที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว
          แต่ถ้าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ หากผู้ให้เช่าซื้อประสงค์จะเลิกสัญญา จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาอันควรก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10417/2551  สัญญาเช่าซื้อว่าเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 เมษยน 2540 เช่นนี้ เมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 9 จึงเป็นงวดประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดที่ 9 นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2541 แสดงว่าโจทก์ยอมรับชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามงวดที่ระบุในสัญญา เช่นนี้ถือว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาอันควรก่อน การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2541 จึงไม่ชอบ

          (3) สัญญาเช่าซื้อระงับลงด้วยเหตุอื่น เช่น ทรัพย์สินที่เช่าซื้อสูญหายไปทั้งหมด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2805/2540  สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายสัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 แต่สัญญาเช่าซื้อข้อ 5 ระบุว่า "ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัย..สูญหาย ผู้เช่าซื้อยอมรับผิดฝ่ายเดียว... และยอมชำระเงินค่าเช่าซื้อจนครบ..." หมายความว่า ผู้เช่าซื้อจะต้องชำระราคารถยนต์ที่เช่าซื้อที่ยังไม่ได้ชำระตามสัญญาจนครบ โดยไม่ได้ระบุให้ผู้เช่าซื้อผ่อนชำระเป็นงวด ๆ เหมือนกรณีที่ทรัพย์ที่เช่าซื้อไม่ถูกโจรภัยหรือไม่สูญหาย อันมีลักษณะกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้า ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ไม่เป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายและศาลมีอำนาจลดหย่อนลงได้หากเห็นว่ากำหนดไว้สูงเกินควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก
          โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 5 เนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป และโจทก์ไม่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมา จึงมิใช่เป็นการฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 กรณีไม่มีการส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อ ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30


          กรณีสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภค***
          ปัจจุบันนี้มีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561  ซึ่งออกโดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 35 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ประกอบกับมาตรา 3 มาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกากําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกําหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะสัญญา พ.ศ. 2522 ดังนั้น การทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคจึงต้องมีข้อความเป็นไปตามที่ประกาศดังกล่าวข้างต้นกำหนดไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14578/2557  โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์แล้วผิดสัญญา โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมเรียกให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญา โดยโจทก์แนบสำเนาสัญญาเช่าซื้อพร้อมคำฟ้องและอ้างส่งต่อศาล ทั้งมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาพร้อมค่าเสียหาย ซึ่งสัญญาเช่าซื้อข้อ 6 ระบุความรับผิดของผู้เช่าซื้อในกรณีทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายไว้ว่า หากเป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดชอบชำระค่าเช่าซื้อให้แก่เจ้าของจนครบถ้วนตามสัญญา แต่หากมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดชอบค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดเพียงเท่าที่เจ้าของได้จ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร ซึ่งเห็นได้ว่า แม้รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายอันเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อระงับไป จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อก็ยังคงมีความรับผิดอันจะต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามข้อสัญญาที่โจทก์นำมาเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีนี้ ส่วนจะใช้ค่าเสียหายอย่างไร เพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับว่าความสูญหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ดังนั้น ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์จึงพอถือได้ว่า โจทก์เรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายรวมอยู่ด้วยแล้ว
          สัญญาเช่าซื้อข้อ 6 ข้างต้นมิได้กำหนดบังคับให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาดทุกกรณี หากแต่ได้แบ่งความรับผิดในแต่ละกรณีไว้ต่างหากจากกัน จึงมิใช่การเอาเปรียบหรือทำให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระเกินกว่าที่คาดหมายตามปกติ ทั้งข้อสัญญาดังกล่าวยังเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 ข้อ 4 (4) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และเป็นประกาศฉบับที่ใช้ในขณะทำสัญญาเช่าซื้อคดีนี้ ประกาศดังกล่าวเป็นประกาศที่ออกมาเพื่อคุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคในการเข้าทำสัญญาเช่าซื้อ ดังนี้ ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
          สัญญาเช่าซื้อข้อ 6 กำหนดว่า หากทรัพย์สินที่เช่าซื้อสูญหายโดยมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดชอบค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามทรัพย์ที่เช่าซื้อ ค่าทนายความ หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดเพียงเท่าที่เจ้าของจ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร ดังนี้ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงนั้น แต่เนื่องจากโจทก์มิได้นำสืบให้ได้ความว่า โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการทวงถาม การติดตามทรัพย์ที่เช่าซื้อ ค่าทนายความหรือค่าใช้จ่ายอื่นไปหรือไม่ เพียงใด จึงไม่กำหนดให้ คงมีเพียงค่าเสียหายจากการที่ทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายไป ซึ่งแม้สัญญาเช่าซื้อจะเป็นอันระงับไปเพราะรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายอันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายเป็นราคารถยนต์นั้นได้ แต่เมื่อพิจารณาว่าหากรถยนต์ที่เช่าซื้อไม่สูญหาย และจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนทั้ง 42 งวด โจทก์จะได้รับผลประโยชน์เป็นเงินรวม 77,209.44 บาท แต่คดีนี้โจทก์ได้รับผลประโยชน์จากจำเลยที่ 1 มาเพียง 5 งวด รถยนต์ก็มาสูญหายเสียก่อน จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 68,100 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์