1 มี.ค. 2567

หน่วยงานรัฐสร้างทางรุกล้ำที่ดินเอกชน เป็นละเมิด ต้องรื้อถอน | ละเมิด | คดีปกครอง

 
          การก่อสร้างหรือขยายถนนหนทาง และการจัดทําระบบระบายน้ำ ซึ่งมีแนวเขตคาบเกี่ยวกับที่ดินของเอกชนที่อยู่อาศัยบริเวณดังกล่าว เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบแนวเขตที่ดินให้มีความชัดเจนก่อนที่จะทําสัญญาจ้างก่อสร้าง ทั้งนี้ หากทำการก่อสร้างรุกล้ำที่ดินเอกชนโดยเจ้าของที่ดินไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย เจ้าของที่ดินก็มีสิทธิขอให้รื้อถอนได้ โดยผู้มีหน้าที่ไม่อาจทําการสร้างไปโดยพละการก่อนแล้วค่อยดําเนินการตามขั้นตอนในการจ่ายค่าทดแทน รวมทั้งไม่อาจอ้างว่าดําเนินการเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยสุจริตแล้วกระทบกระเทือนต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอื่น โดยที่ยังไม่มีการเวนคืนที่ดินตามกฎหมาย หรือตกลงซื้อขาย หรือเจ้าของยังมิได้อุทิศที่ดินให้ ดังคดีตัวอย่างนี้
 
          ข้อเท็จจริงมีว่า ... กรมทางหลวงโดยแขวงทางหลวงได้ทําสัญญาว่าจ้างให้บริษัทเอกชนทําการปรับปรุงทางและสร้างระบบระบายน้ำใต้ทางเท้าของทางหลวงแผ่นดินสายหนึ่ง ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในบริเวณดังกล่าว เห็นว่าได้มีการก่อสร้างทางเท้าและท่อระบายน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของตนด้านทิศใต้ยาวตลอดแนวที่ดิน และลึกเข้าไปในที่ดินทางทิศตะวันตกประมาณ 64 ซม. และทิศตะวันออก 94 ซม. ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือขอให้สํานักงานทางหลวงแก้ไขปัญหาดังกล่าว
          เมื่อทำการตรวจสอบที่ดินส่วนพิพาท ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าเขตทางบางช่วงมีการรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านรายอื่นจริง จึงมีการอนุมัติลดระยะเขตทางให้ตรงกับข้อเท็จจริง และแต่งตั้งคณะกรรมการปรองดอง เพื่อพิจารณากําหนดค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเขตทางต่อไป
          แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการที่กรมทางหลวงก่อสร้างทางเท้าและท่อระบายน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของตนเป็นการกระทําละเมิดทําให้ไม่สามารถใช้ที่ดินในส่วนที่รุกล้ำได้ จึงยื่นฟ้องกรมทางหลวง และ
สํานักงานทางหลวง ต่อศาลปกครองเพื่อขอให้รื้อถอนทางเท้าและท่อระบายน้ำออกจากที่ดินพิพาท

          โดยศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่า กรมทางหลวงกระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีจึงพิพากษาให้รื้อถอนทางเท้าและท่อระบายน้ำในส่วนที่ก่อสร้างรุกล้ำออกเสีย 
          แต่กรมทางหลวงอุทธรณ์ว่า ได้ดําเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ซึ่งจะมีการเวนคืนที่ดินต่อไป และแม้ว่าหากจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีอยู่บ้างแต่ก็เป็นพื้นที่ไม่มากนัก และเป็นการดําเนินการเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยสุจริต การให้รื้อถอนจะทําให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณของทางราชการ

          คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า กรมทางหลวงกระทําละเมิดโดยก่อสร้างทางเท้าและท่อระบายน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และต้องรับผิดเพียงใด

          ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อกรมทางหลวงโดยแขวงทางหลวงได้ทําสัญญาว่าจ้างให้บริษัทเอกชนทําการปรับปรุงทางหลวงผ่านย่านชุมชนและทําระบบระบายน้ำใต้ทางเท้า ซึ่งตามบัญชีเขตทางเดิมกว้างข้างละ 20 เมตร ทั้งที่ในความเป็นจริงเขตทางมีความกว้างน้อยกว่า 20 เมตร ทําให้ผู้รับจ้างปรับปรุงทางรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเพื่อให้เขตทางกว้างข้างละ 20 เมตร ตามที่กําหนดในสัญญา ดังนั้น เมื่อกรมทางหลวงยังไม่ได้ทําการเวนคืนที่ดินส่วนที่รุกล้ำตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามที่กําหนดไว้ในกฎหมายทางหลวงว่า “เมื่อมีความจําเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวง ถ้ามิได้ตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่นให้ดําเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์” รวมทั้งยังไม่มีการตกลงซื้อขายที่ดินส่วนดังกล่าว และไม่มีหลักฐานว่าผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้อุทิศที่ดินส่วนพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์หรือมีหลักฐานการมอบอํานาจของผู้ฟ้องคดีให้บุคคลใดดําเนินการเช่นว่านั้น

          กรณีจึงเป็นการกระทําละเมิดทําให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายตามนัยมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์ขอที่ดินคืนในสภาพเดิม และไม่ประสงค์จะขายที่ดินให้แก่กรมทางหลวง ประกอบกับเมื่อพิจารณาภาพถ่ายทางเท้าและท่อระบายน้ำที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยคํานึงถึงความเหมาะสม ความจําเป็น และดุลยภาพระหว่างประโยชน์สาธารณะกับความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับแล้ว การทําให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีกลับคืนสู่สภาพเดิม โดยรื้อถอนทางเท้าและท่อระบายน้ำเฉพาะส่วนที่ก่อสร้างรุกล้ำออกนั้น มิได้กระทบต่อประโยชน์สาธารณะแต่ประการใด เนื่องจากเมื่อรื้อถอนในส่วนที่รุกล้ำแล้วยังคงเหลือทางเท้าและท่อระบายน้ำขนาดกว้างเพียงพอที่ประชาชนจะใช้ประโยชน์ได้
 
          ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ให้กรมทางหลวงดําเนินการรื้อถอน
ทางเท้าและท่อระบายน้ำส่วนที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่ศาลกําหนด (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อผ. 58/2565