28 ก.พ. 2567

คนไร้ความสามารถ


          คนไร้ความสามารถ คือ บุคคลวิกลจริต ที่คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้นั้น ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการ ร้องขอต่อศาล และศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ตามมาตรา 28 ดังนั้น แม้จะเป็นบุคคลวิกลจริต แต่ถ้าศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ก็ยังไม่ถือว่าเป็นคนไร้ความสามารถ ทั้งนี้ บุคคลไร้ความสามารถนั้นต้องอยู่ในความอนุบาลของผู้อนุบาล เพื่อทำหน้าที่อนุบาลดูแลคนไร้ความสามารถ และทำนิติกรรมต่างๆแทนคนไร้ความสามารถ

          อย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็นบุคคลวิกลจริต
          บุคคลวิกลจริต มิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติ หรือตามที่เข้าใจกันทั่วๆไปว่าเป็นบ้าเท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลผู้มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรับผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารถประกอบกิจการของตนหรือประกอบกิจส่วนตัวของตนได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5466/2537)


          โรคสมองฝ่อหรือสมองเสื่อมขั้นรุนแรง ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ไม่อาจปฏิบัติภารกิจส่วนตัวได้ เป็นบุคคลวิกลจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5466/2537  คำว่าบุคคลวิกลจริตตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 เดิม (มาตรา 28 ใหม่) นั้นมิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติ หรือตามที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไปว่าเป็นบ้าเท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลผู้มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรับผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารถประกอบกิจการของตนหรือประกอบกิจส่วนตัวของตนได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จ. ซึ่งผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถนั้นไม่รู้สึกตัวเอง และพูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ซึ่งแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองฝ่อหรือสมองเสื่อมขั้นรุนแรงไม่สามารถรักษาให้หายได้ตลอดจนไม่อาจปฏิบัติภารกิจส่วนตัวได้ แสดงให้เห็นว่าจ. เป็นคนไม่มีสติสัมปชัญญะ ไร้ความสามารถที่จะดำเนินกิจการทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเองได้ พอถือได้ว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว และผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของ จ. ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน ย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิรับมรดกของ จ. ผู้ร้องจึงสมควรเป็นผู้อนุบาล จ.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 74/2527 คำว่า บุคคลวิกลจริต ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 29 (มาตรา 28 ใหม่) นั้น มิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติหรือตามที่เข้าใจกันทั่วๆ ไปว่าเป็นบ้า เท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลที่มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรับผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารถประกอบกิจการของตนหรือประกอบกิจส่วนตัวของตนได้ทีเดียว 
          มารดาผู้ร้องและผู้คัดค้านมีอาการไม่รู้สึกตัวเอง ไม่รู้จักสถานที่และเวลาพูดจารู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ซึ่งนายแพทย์เรียกอาการเช่นนี้ว่า สมองเสื่อมหรือวิกลจริตและไม่มีโอกาสที่จะรักษาให้หายได้ ทั้งเดินทางไปไหนไม่ได้อีกด้วย แสดงให้เห็นว่ามารดาผู้ร้องเป็นคนไม่มีสติสัมปชัญญะ ไร้ความสามารถที่จะดำเนินการทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเองได้ พอถือได้ว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 29 (มาตรา 28 ใหม่) แล้ว (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 490/2509 ประชุมใหญ่)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 490/2509 (ประชุมใหญ่)  คำว่า บุคคลวิกลจริต ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 (มาตรา 28 ใหม่) นั้น มิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติหรือตามที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไปว่าเป็นบ้าเท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลที่มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรู้สึกผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารประกอบกิจการงานของตนหรือประกอบกิจส่วนตัวของตนได้ทีเดียว
          ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเนื้องอกในสมอง ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา มีอาการพูดไม่ได้ หูไม่ได้ยิน ตาทั้งสองข้างมองไม่เห็น มีอาการอย่างคนไม่มีสติสัมปชัญญะใด ๆ ไร้ความสามารถที่จะดำเนินกิจการทุกสิ่งทุกอย่าง ถือว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 (มาตรา 28 ใหม่) แล้ว.

          ผู้ที่มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งบุคคลวิกลจริตให้เป็นคนไร้ความสามารถ
          (1) คู่สมรส 
          (2) บุพการี ได้แก่ บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด 
          (3) ผู้สืบสันดาน ได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื่อ
          (4) ผู้ปกครอง ซึ่งผู้ปกครองมีหน้าที่ดูแลผู้เยาว์ในกรณีที่ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา หรือมีบิดามารดาแต่ไม่สามารถใช้อำนาจปกครองได้
          (5) ผู้พิทักษ์ สำหรับผู้พิทักษ์นี้คือผู้มีหน้าที่ดูแลคนเสมือนไร้ความสามารถ หากคนเสมือนไร้ความสามารถนั้นวิกลจริต ผู้พิทักษ์ก็สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้คนเสมือนไร้ความสามารถดังกล่าวเป็นคนไร้ความสามารถได้ 
          (6) ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ คือผู้ที่ปกครองดูแลบุคคลวิกลจริตนั้นอยู่
          (7) พนักงานอัยการ 
          บุคคล 7 ประเภทข้างต้นเท่านั้นที่กฎหมายอนุญาตให้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งบุคคลวิกลจริตให้เป็นคนไร้ความสามารถได้ บุคคลอื่นนอกจากนี้ไม่มีสิทธิ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2534   โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรที่รับรองแล้วของ ส. เป็นผู้สืบสันดานของ ส.มีสิทธิรับมรดกของส. กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1627 ซึ่งบัญญัติให้ถือว่าบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ โจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ศาลสั่งให้ ส. ซึ่งเป็นบุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถ ตามมาตรา 29 (เดิม) ได้ และโดยนัยเดียวกัน แม้จำเลยเป็นผู้อนุบาลของ ส. ตามคำสั่งศาลอยู่แล้วก็ตาม ถ้า มีเหตุอันสมควร โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียก็ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้อนุบาลและตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นผู้อนุบาลต่อไปได้.

          ความสามารถในการทำนิติกรรมของคนไร้ความสามารถ
          นิติกรรมที่คนไร้ความสามารถได้ทำลงตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม จะต้องให้ผู้อนุบาลเป็นผู้ทำแทนเท่านั้น ตามมาตรา 29
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827/2530  จำเลยเป็นบุตรย่อมมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้มารดาเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือเป็นคนไร้ความสามารถได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 34 หรือ 29 โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นบิดาจำเลยและสามีของมารดาจำเลยทั้งศาลมีอำนาจแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลของมารดาได้ตามมาตรา 1463 แม้ตามปกติคู่สมรสจะเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลตามกฎหมายก็ตาม

          เมื่อศาลได้มีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลของมารดาแล้ว จำเลยย่อมมีอำนาจกระทำการใด ๆ อันเป็นการอนุบาลคนไร้ความสามารถได้ แต่กรณีตามฟ้องเป็นเรื่องที่อ้างว่าจำเลยทำให้โจทก์เสียหายเท่านั้น โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องจำเลยได้ คดีไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งที่ตั้งจำเลยเป็นผู้พิทักษ์และผู้อนุบาลแล้วตั้งโจทก์เป็นแทน

          สำหรับนิติกรรมที่ต้องทำเป็นการเฉพาะตัว เช่น การสมรส การทำพินัยกรรม นั้นกฎหมายห้ามทำทั้งหมด
          มาตรา 1449 ."การสมรสจะกระทำมิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ"
          มาตรา 1704 วรรคหนึ่ง "พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ"
          แต่มีข้อสังเกตุว่า กรณีคนวิกลจริตที่ศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถย่อมถือว่าอยู่ในฐานะเป็นผู้มีความสามารถเหมือนบุคคลธรรมดาทั่วไป จึงสามารถทำนิติกรรมใดๆได้โดยสมบูรณ์ เว้นแต่ จะเป็นโมฆียะได้ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่า นิติกรรมนั้นได้ทำขึ้นในขณะที่ผู้นั้นวิกลจริตอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่ว่าผู้นั้นเป็นคนวิกลจริต ตามมาตรา 30
          มาตรา 1704 วรรคสอง "พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริต แต่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้น จะเป็นอันเสียเปล่าก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าในเวลาที่ทำพินัยกรรมนั้นผู้ทำจริตวิกลอยู่"

          ความสิ้นสุดของการเป็นคนไร้ความสามารถ
          ถ้าเหตุที่ทำให้เป็นคนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดไปแล้ว การสิ้นสุดแห่งการเป็นคนไร้ความสามารถ จะมีได้ในกรณีที่เมื่อศาลได้สั่งเพิกถอนคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้นเสีย โดยการที่คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้นั้น หรือพนักงานอัยการร้องขอ ตามมาตรา 31