04 กรกฎาคม 2559

การแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้

          ป.พ.พ. มาตรา 350 "แปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น จะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่"

          การแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ที่ทำกันถูกต้องย่อมมีผลให้หนี้เดิมระงับไป ลูกหนี้เดิมหลุดพ้นจากความรับผิด และให้มาผูกพันกันตามสัญญาฉบับใหม่โดยลูกหนี้คนใหม่

          การแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ เช่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5433/2551  การที่จำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันของจำเลยทั้งสองในการเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจำนวน 22 คัน ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัทซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าว โดยโจทก์จะเป็นผู้ชำระหนี้ให้แก่บริษัทจำนวน 14,683,970 บาท โดยบริษัทจะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกทั้งหมดให้แก่โจทก์ และไม่ติดใจจะเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ อีกต่อไป ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ โดยลูกหนี้เก่าคือจำเลยทั้งสองให้ความยินยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 ดังนั้น หนี้เดิมตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันจึงเป็นอันระงับไปตามมาตรา 349 วรรคหนึ่ง


          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติ จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจำนวน 22 คัน จากบริษัท อ. โดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาจำเลยทั้งสองทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ตกลงให้โจทก์รับผิดชอบชำระหนี้ จำนวน 22,770,975 บาท แทนจำเลยทั้งสองให้แก่บริษัท อ. และต่อมาโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท อ. โดยโจทก์ตกลงชำระหนี้ให้แก่บริษัท อ. เป็นเงิน 14,683,970 บาท และบริษัทเอ็มเอ็มซี สิทธิผล จำกัด ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ต่อไป
          คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้หรือไม่เพียงใด โจทก์มีนาย ส. และนาย อ.อ เบิกความว่า โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจำนวน 22 คัน ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเช่าซื้อจากบริษัท อ.  ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์จึงไปตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท อ. โดยตกลงจะชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 14,683,970 บาท และบริษัท อ. ตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกทั้ง 22 คัน ให้แก่โจทก์ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันของจำเลยทั้งสองในการเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจำนวน 22 คัน ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท อ. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าว โดยโจทก์จะเป็นผู้ชำระหนี้ให้แก่บริษัท อ. จำนวน 14,683,970 บาท โดยบริษัท อ. จะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกทั้งหมดให้แก่โจทก์ และไม่ติดใจจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ อีกต่อไป ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ โดยลูกหนี้เก่าคือจำเลยทั้งสองให้ความยินยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 ดังนั้น หนี้เดิมตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันจึงเป็นอันระงับไปตามมาตรา 349 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อบริษัท อ. อีกต่อไป และการที่โจทก์ได้รับรถยนต์บรรทุกทั้งหมดไปไว้ในการครอบครอง โดยบริษัท อ. ตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้ตกลงซื้อรถยนต์บรรทุกจากบริษัท อ. แล้ว ที่โจทก์อ้างว่ารถยนต์บรรทุกทั้งหมดเป็นซากรถที่ใช้งานไม่ได้แล้ว เห็นว่า เป็นความพอใจของโจทก์เองในการทำสัญญา ข้อ 4 ที่ยอมรับมอบกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขว่ารถยนต์จะอยู่ในสภาพใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจปฏิเสธเรื่องสภาพของรถยนต์บรรทุกที่รับคืนมา และที่โจทก์เรียกค่าติดตามรถยนต์คืนจากจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 4,000,000 บาท นั้น เห็นว่า นาย ส. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เบิกความว่า บริษัท อ. เป็นผู้คืนซากรถยนต์บรรทุกทั้ง 22 คัน ให้แก่โจทก์ ดังนั้น ผู้ติดตามรถยนต์บรรทุกทั้งหมดคือบริษัท อ. มิใช่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใดๆ ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้

          การทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้คนใหม่นั้น กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ จึงสามารถแสดงเจตนาทำสัญญาด้วยวาจาได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2339/2551   ป.พ.พ. มาตรา 350 มิได้บัญญัติว่าต้องทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่เป็นหนังสือระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ การแสดงเจตนาด้วยวาจาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ต่อกันได้แล้ว
          ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง ต้องมีกรณีเป็นที่สงสัย จึงนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใดๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไป เพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัท ธ. แล้ว ซึ่งตามมาตรา 361 สัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ การที่โจทก์รับโอนที่ดินจึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัท ธ. ผู้เสนอแล้วย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้น โดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยสั่งซื้อสีทาอาคารจากโจทก์เป็นเงิน 641,865.57 บาท ต่อมาวันที่ 24 กันยายน 2541 บริษัท ธ. ได้ส่งโทรสารถึงโจทก์ขอชำระหนี้แทนจำเลย โดยเสนอโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 37692 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2541 โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวจากบริษัท ธ. โดยใส่ชื่อกรรมการผู้จัดการของโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน
          ปัญหาต้องวินิจฉัยว่า หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้นได้มีการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า ยังไม่มีการทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับบริษัท ธ. หนี้ตามสัญญาซื้อขายเดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังไม่ระงับสิ้นไปนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 บัญญัติว่า แปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้นจะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่ ตามมาตราดังกล่าวที่กฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นสัญญานั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ การแสดงเจตนาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ย่อมถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาต่อกันได้แล้ว ตามคำเสนอข้อตกลงการชำระหนี้ของบริษัท ธ. โดยบริษัทดังกล่าวเสนอโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตีมูลค่าราคาที่ดินเป็นเงิน 448,000 บาท ส่วนหนี้ที่เหลืออีกจำนวน 193,865.57 บาท ผู้รับสัญญาคือบริษัท ธ. ตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้ทำบันทึกข้อตกลง ซึ่งต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2541 โจทก์ก็ได้สนองรับคำเสนอตามเอกสารหมาย จ.10 โดยโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวจากบริษัท ธ. โดยใส่ชื่อกรรมการผู้จัดการโจทก์ไว้แทน คำเสนอของบริษัท ธ. จึงตรงกับคำสนองของโจทก์ เพราะโจทก์ได้รับโอนที่ดินไว้แล้วโดยใส่ชื่อกรรมการผู้จัดการโจทก์ การโอนหนี้ดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีการขืนใจลูกหนี้แต่อย่างใด จึงเป็นการแปลงหนี้โดยชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 หนี้จึงเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 หนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ จึงเป็นหนี้ระหว่างโจทก์กับบริษัท ธ. ที่จะต้องว่ากล่าวกันต่อไป
          ที่โจทก์ฎีกาว่า เจตนาของคู่สัญญาทั้งสามฝ่ายที่มีอยู่ในร่างบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.12 ย่อมแสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาทั้งสามฝ่าย อันได้แก่ โจทก์ จำเลยและบริษัท ธ. ประสงค์ที่จะทำความตกลงกันโดยละเอียดก่อนแล้วจึงทำเป็นหนังสือ แต่เมื่อปรากฏว่าคู่สัญญาทั้งสามฝ่ายยังไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือ จึงถือว่าสัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับบริษัท ธ. ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งโจทก์เห็นว่ากรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง ดังนั้น การที่บริษัท ธ. ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์จึงเป็นการชำระหนี้บางส่วนของจำเลย หนี้ส่วนที่เหลือระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่ระงับสิ้นไปนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นต้องทำเป็นหนังสือไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ เห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใดๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไป เพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัท ธ. โดยใส่ชื่อกรรมการผู้จัดการของโจทก์ไว้แทนแล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 361 บัญญัติว่า อันสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางนั้น ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ การที่โจทก์รับโอนที่ดินจึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัท ธ. ผู้เสนอแล้วย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นโดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ หนี้ระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันระงับ

          กรณีผู้จัดการมรดกและทายาทยอมรับสภาพหนี้ของเจ้ามรดกต่อเจ้าหนี้่ มีผลผูกพันกองมรดกเท่านั้น ไม่อาจถือว่าแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3242/2543   จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทของ ด. ยอมรับสภาพหนี้ของ ด. ต่อโจทก์ มีผลผูกพันกองมรดกของ ด. เท่านั้นที่จะต้องรับผิดในหนี้สินตามที่ปรากฏในหนังสือรับสภาพหนี้ ไม่อาจถือได้ถึงขนาดว่าจำเลยยอมเข้าผูกพันตนเป็นลูกหนี้แทนในลักษณะแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จำเลยจึงมิใช่ลูกหนี้โดยตรงของโจทก์
          แม้จำเลยจะเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกแต่ก็รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่อาจก้าวล่วงไปบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่มิใช่ทรัพย์มรดก ประกอบกับหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่ ด. ก่อขึ้นเอง หาก ด. ยังคงมีชีวิตอยู่ ด. อาจถูกฟ้องขอให้ล้มละลายได้ ด. จึงมีหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายล้มละลายต่อโจทก์และเป็นหน้าที่และความรับผิดโดยเฉพาะของ ด. ไม่ใช่เป็นมรดกที่จะตกทอดแก่จำเลยผู้เป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ ด. โจทก์จึงนำหนี้ตามฟ้องมาฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ด. ให้ล้มละลายไม่ได้แต่ชอบที่จะฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของ ด. ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 82
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6225/2539   ป. เป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ เมื่อ ป. ถึงแก่กรรมแล้วจำเลยทั้งสองทำหนังสือเพื่อชำระหนี้แทน ป. ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาจำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นหนี้โจทก์ โดยระบุว่า ขณะทำสัญญาฉบับนี้ ป.ยังคงเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนเงิน 2,720,000 บาทจำเลยทั้งสองยินยอมชดใช้หนี้จำนวนดังกล่าวโดยจะชำระเป็นงวดเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ป. ทำขึ้นเพื่อยอมรับสภาพหนี้ของเจ้ามรดก มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันจะเป็นเหตุให้มูลหนี้เดิมระหว่างโจทก์กับ ป. ระงับลง เพราะ ป. ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะมีการจัดทำหนังสือดังกล่าวแล้วและข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ยอมตนเข้าผูกพันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทผู้ตายมิใช่รับผิดเป็นส่วนตัวและเป็นสัญญาที่มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่คงรับผิดต่อโจทก์ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสองจะได้รับ
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันและไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า นาย ป.เป็นลูกหนี้โจทก์อยู่เป็นเงินจำนวน 2,720,000 บาท เมื่อนาย ป.ถึงแก่กรรมแล้วจำเลยทั้งสองทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 เพื่อชำระหนี้แทนนาย ป.ผู้ตายซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาจำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นหนี้โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหาข้อกฎหมายว่า หนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ตามที่โจทก์ฟ้องมีผลบังคับหรือไม่และจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดหรือไม่เพียงใด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองได้ทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งความในข้อ 1 ระบุว่า"ขณะทำสัญญาฉบับนี้ นาย ป. ยังคงเป็นลูกหนี้นาย ก.(โจทก์) อยู่เป็นจำนวนเงิน 2,720,000 บาทข้าพเจ้าทั้งสองตกลงยินยอมชดใช้หนี้จำนวนดังกล่าวโดยจะชำระเป็นงวด งวดละเดือนเดือนละไม่น้อยกว่า 200,000 บาท ชำระงวดแรกในวันที่ 20 ตุลาคม 2534 งวดต่อไปภายในวันที่ 20 ของทุกเดือนและจะชำระให้เสร็จภายในวันที่ 25 มกราคม 2535" เป็นที่เห็นได้ว่าหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของนาย ป.ผู้ตายลูกหนี้ทำขึ้นเพื่อยอมรับสภาพหนี้ของเจ้ามรดก เอกสารหมาย จ.1 มิใช่เป็นกรณีของการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันจะเป็นเหตุให้มูลหนี้เดิมระหว่างโจทก์กับนาย ป.ระงับลงเพราะนาย ป.ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะมีการจัดทำเอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าวแล้วและ เมื่อพิเคราะห์ข้อความในเอกสารหมาย จ.1 แล้วแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยทั้งสองที่ยอมตนเข้าผูกพันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทผู้ตายมิใช่รับผิดเป็นส่วนตัวและเป็นสัญญาที่มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมาย หากแต่จำเลยทั้งสองคงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทของผู้ตายไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสองจะได้รับ