คำร้องทุกข์

          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

          มาตรา 2 (7) “คำร้องทุกข์” หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตามซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ

          มาตรา 121 วรรคสอง "แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ"

          มาตรา 120  "ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน" 

          คำร้องทุกข์มีความสำคัญในการดำเนินคดีในความผิดต่อส่วนตัว (ความผิดอันยอมความได้) เกี่ยวกับเรื่องอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนและอำนาจฟ้องของพนักงานอัยการ กล่าวคือ อำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนสำหรับความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้นั้น จะต้องมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบก่อน ตามมาตรา 121 วรรคสอง ถ้าไม่มีคำร้องทุกข์หรือคำร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยตามมาตรา 2(7) พนักงานสอบสวนจะไม่มีอำนาจสอบสวน หากพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนไปจะทำให้การสอบสวนที่ทำไปโดยปราศจากอำนาจนั้นเสียไป และส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120 หากข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏต่อศาล ศาลต้องยกฟ้อง

          ผู้มีอำนาจร้องทุกข์ คือ ผู้เสียหายตาม มาตรา 2 (4) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งได้แก่
          (1) ผู้เสียหายซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง  
          (2) ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายตามมาตรา 4, 5 และ 6
          (3) ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหาย (แนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกา)




          ร้องทุกข์ที่ใคร?
          ในมาตรา 2 (7) กำหนดให้ร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ซึ่งได้แก่
          (1) ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตามมาตรา 123 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
          (2) ร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่รองหรือเหนือพนักงานสอบสวน และเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายตามมาตรา 124 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

          ลักษณะของคำร้องทุกข์ตามมาตรา 2 (7)
          (1) เป็นการกล่าวหาของผู้เสียหายต่อเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจรับคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายนี้
          (2) เป็นการกล่าวหาว่ามีผู้กระทำความขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตามซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และ
          (3) การกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
          คำร้องทุกข์ต้องมีรายละเอียดครบถ้วนทั้งสามข้อข้างต้น หากขาดข้อหนึ่งข้อใดไปย่อมไม่ใช่คำร้องทุกข์ตามกฎหมาย

          ผู้เสียหายต้องมีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 391/2527   ในคดียักยอก ข้อความที่ว่า นำความมาแจ้งเพื่อชะลอการดำเนินคดีไว้ก่อน ถ้าหากจำเลยไม่ชำระเงินจะได้มาแจ้งดำเนินคดีต่อไปอีก จึงนำความมาแจ้งไว้เป็นหลักฐานดังนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย เพราะขณะแจ้งยังไม่ประสงค์จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี ครั้นพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำผิด ผู้เสียหายจึงได้มาแจ้งความให้ดำเนินคดีกับจำเลยคดีโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 758/2523   การที่โจทก์ร่วมไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเรื่องข้าวสารและน้ำตาลทรายที่ถูกจำเลยยักยอกไปโดยระบุว่าเพียงแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการแจ้งในลักษณะของการกล่าวหาโดยมีเจตนาจะให้จำเลยได้รับโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 2(7) จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายฉะนั้นเมื่อข้อหาความผิดฐานยักยอกตามที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอันยอมความได้แต่โจทก์ร่วมมิได้ร้องทุกข์เสียภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความ

          ระยะเวลาในการร้องทุกข์สำหรับความผิดต่อส่วนตัว (ความผิดอันยอมความได้)
          ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 "ภายใต้บังคับมาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ"
          อายุความร้องทุกข์สำหรับความผิดอันยอมความได้ จะต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คือ นับจากรู้เรื่องการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว จึงจะเริ่มนับอายุความร้องทุกข์ ดังนั้น แม้จะรู้เรื่องการกระทำความผิด แต่หากยังไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด คือ ยังไม่รู้ตัวคนร้าย อายุความร้องทุกข์ย่อมยังไม่เริ่มนับ แต่อย่างไรก็ตามอายุความร้องทุกข์ย่อมอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 95 เรื่องอายุความฟ้องคดีด้วย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12675/2558    ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 96 คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมเองว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 จำเลยยอมรับกับโจทก์ร่วมว่าได้ยักยอกเงินค่าจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วมไปจริง ดังนี้ จึงเท่ากับโจทก์ร่วมได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว การที่โจทก์ร่วมให้จำเลยนำเงินมาชดใช้คืนและจะตรวจสอบบัญชีเพื่อทราบยอดเงินที่สูญหายไปให้ชัดแจ้งอีกครั้งดังที่อ้าง เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมยอมผ่อนผันหรือให้โอกาสแก่จำเลยในฐานะที่เคยเป็นลูกจ้างของตนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิในการร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมขยายออกไป ดังนั้นเมื่อโจทก์ร่วมเพิ่งไปร้องทุกข์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 จึงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมในความผิดฐานยักยอกจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้

          การถอนคำร้องทุกข์ในคดีความผิดต่อส่วนตัว (ความผิดอันยอมความได้)
          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
          มาตรา 35 วรรคสอง "คดีความผิดต่อส่วนตัวนั้น จะถอนฟ้องหรือยอมความในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ แต่ถ้าจำเลยคัดค้าน ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย"
          มาตรา 39  "สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้
          (2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย"
          มาตรา 126  "ผู้ร้องทุกข์จะแก้คำร้องทุกข์ระยะใด หรือจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้
          ในคดีซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัว การถอนคำร้องทุกข์เช่นนั้นย่อมไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนที่จะสอบสวน หรือพนักงานอัยการที่จะฟ้องคดีนั้น" 

          การถอนคำร้องทุกข์จะถอนเมื่อใดก็ได้ตามมาตรา 126 แต่ทั้งนี้ต้องก่อนคดีถึงที่สุด ซึ่งการถอนคำร้องทุกข์ในคดีความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้นั้นทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ซึ่งมีผลว่าหากคดียังพิจารณาอยู่ในศาลเมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปแล้วศาลก็ต้องสั่งจำหน่ายคดี       
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1706/2551   คดีความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ การที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ในระหว่างระยะเวลาฎีกา และศาลชั้นต้นยังไม่มีคำสั่งรับฎีกา ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งคำร้องดังกล่าวได้ เมื่อปรากฏว่าผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ก่อนที่คดีจะถึงที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคสอง แล้วจำเลยไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะอนุญาตให้ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ได้ แม้ต่อมาจำเลยฎีกา คดีก็ไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาในชั้นฎีกาต่อไป ไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายอีก แต่เมื่อคดีได้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจสั่งคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ของผู้เสียหาย โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสั่งอีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2583/2551  คดีความผิดต่อส่วนตัวและยังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมจะถอนคำร้องทุกข์หรือยอมความเมื่อใดก็ได้ โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้ทนายโจทก์ร่วมมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสอง ถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและเจรจาทำความตกลงประนีประนอมยอมความแทนโจทก์ร่วมได้ แม้โจทก์ร่วมมิได้มอบอำนาจให้ทนายโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ต่อศาล ทนายโจทก์ร่วมก็มีอำนาจยอมความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคสอง และมีผลผูกพันโจทก์ร่วม การที่ทนายโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์เนื่องจากจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วมบางส่วน จึงมีผลเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8732/2554   ตามบันทึกถอนการร้องทุกข์เอกสารหมาย จ.14 ระบุข้อความว่า “...ผู้เสียหายไม่ประสงค์จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับ ว. ผู้ต้องหา และผู้เกี่ยวข้องอื่นอีกต่อไป...” คำว่าผู้เกี่ยวข้องอื่นนั้น มีความหมายได้ว่า อาจเป็นตัวการร่วมกันหรือเป็นผู้จ้างวาน ใช้หรือเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าวก็ได้ การถอนคำร้องทุกข์นั้นย่อมเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายไม่ประสงค์ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทุกคน ที่พยานโจทก์เบิกความว่า กรณีเป็นการถอนคำร้องทุกข์เฉพาะสำหรับ ว. ซึ่งเป็นเยาวชนเท่านั้น จึงขัดกับข้อความในบันทึกถอนการร้องทุกข์ดังกล่าวย่อมรับฟังไม่ได้ เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 66 ของ พระราชบัญญัติดังกล่าว การถอนคำร้องทุกข์ดังกล่าวย่อมมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป

          แต่ถ้าเป็นการถอนคำร้องทุกข์ในความผิดที่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งมีทั้งความผิดอันยอมความได้และที่มีใช่ความผิดอันยอมความได้ เมื่อผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ ก็มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเฉพาะความผิดอันยอมความได้เท่านั้น พนักงานอัยการคงมีอำนาจดำเนินคดีในความผิดที่มิใช่ความผิดอันยอมความได้ต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6550/2548   แม้ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์จะเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 ด้วย อันเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลล่างลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดและความผิดฐานดังกล่าวไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ก็ไม่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 ระงับไป คงระงับไปเฉพาะความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 358 เท่านั้น