ผู้เสียหายและผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย

          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

          มาตรา 2 (4) “ผู้เสียหาย”  หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง  รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6

          ผู้เสียหายจะต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ข้อ ได้แก่
          (1) มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น
          (2) บุคคลนั้นได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดนั้น
          (3) บุคคลนั้นต้องไม่เป็นผู้เข้าไปเกี่ยวข้องร่วมกระทำความผิดนั้นด้วย

          ผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วยจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5342/2549   ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามฟ้องโจทก์ว่า เหตุที่รถทั้งสองเกิดเฉี่ยวชนกันทำให้รถยนต์ทั้งสองคันเสียหายและผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม มาตรา 30 ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ศ. บุตรผู้ตายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225
          ผู้เสียหายได้ก่อหรือเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4077/2549   การที่ผู้เสียหายได้ใช้ให้ อ. สั่งให้จำเลยซื้อแผ่นซีดีละเมิดสิขสิทธิ์ของกลางจากตลาดนัดมาให้เพื่อที่จะได้หลักฐานในการกระทำความผิด โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าด้วยความสมัครใจของตนเองมาก่อนและพร้อมที่จะจัดหาแผ่นซีดีที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวมาได้ทันที นอกจากนี้เจ้าพนักงานตำรวจก็ไม่ทราบเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายในคดีนี้ และไม่ทราบเรื่องที่ อ. ได้ติดต่อขอซื้อแผ่นซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ของกลางจากจำเลยไว้ก่อน แต่เป็นการที่ผู้เสียหายดำเนินการแสวงหาพยานหลักฐานด้วยตนเอง แล้วแจ้งความร้องทุกข์เพื่อนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลย จึงเป็นกรณีที่ผู้เสียหายได้ชักจูงใจหรือก่อให้จำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์และไม่อาจถือว่าเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย การแจ้งความร้องทุกข์จึงไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมาย ทำให้การสอบสวนไม่ชอบและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
          เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิด จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1343/2549   จำเลยทั้งสองกับพวกและผู้เสียหายได้ทำพิธีปลุกเสกเหรียญรัชกาลที่ 5 เพื่อให้ได้เลขท้าย 2 ตัว ของรางวัลที่ 1 สลากกินแบ่งรัฐบาล เมื่อได้เลข 96 มาแล้วจำเลยทั้งสองกับพวกและผู้เสียหายตกลงกันว่าจะไปซื้อหวยใต้ดิน ผู้เสียหายได้มอบเงินจำนวน 50,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 เพื่อซื้อหวยใต้ดิน หลังจากมอบเงินให้จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 กับพวกก็หลบหนีไป พฤติการณ์ของผู้เสียหายดังกล่าวข้างต้นเป็นการร่วมกับจำเลยทั้งสองกับพวกเล่นการพนันสลากกินรวบอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมีโทษทางอาญา ผู้เสียหายคดีนี้จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง


          อำนาจดำเนินคดีของผู้เสียหาย
          (1) ร้องทุกข์
          (2) เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ
          (3) เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
          (4) ถอนฟ้องคดีอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
          (5) ยอมความในคดีความผิดต่อส่วนตัว

          ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย
          มาตรา 2 (4)  “ผู้เสียหาย”  หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง  รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 สรุปได้ว่า ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายมีสามประการ
          (1) ผู้มีอำนาจจัดการแทนโดยความยินยอมของผู้เสียหาย ตามมาตรา 4
          (2) ผู้มีอำนาจจัดการแทนโดยอำนาจกฎหมาย ตามมาตรา 5
          (3) ผู้มีอำนาจจัดการแทนโดยคำสั่งศาล ตามมาตรา 6

          อำนาจจัดการแทนโดยความยินยอมของผู้เสียหาย ตามมาตรา 4 วรรคสอง "ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 5 (2) สามีมีสิทธิฟ้องคดีอาญาแทนภริยาได้ ต่อเมื่อได้รับอนุญาตโดยชัดแจ้งจากภริยา" ซึ่งภริยาตามมาตรานี้ หมายถึงภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

          อำนาจจัดการแทนโดยอำนาจกฎหมาย ตามมาตรา 5 "บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
          (1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
          (2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
          (3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆ ของนิติบุคคล เฉพาะความผิดซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น"
          ซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมซึ่งเป็นบิดามารดาตามมาตรา 5 (1) ต้องเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย  ส่วนคำว่า ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ตามมาตรา 5 (2) นั้น การเป็นบิดามารดาหรือบุตร ถือเอาตามสายโลหิตกันตามความเป็นจริง ไม่จำเป็นต้องชอบด้วยกฎหมาย แต่คำว่าสามีภริยาจะต้องเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

          อำนาจจัดการแทนโดยคำสั่งศาล ตามมาตรา 6  วรรคหนึ่ง "ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือเป็นผู้วิกลจริตหรือคนไร้ความสามารถไม่มีผู้อนุบาล หรือซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลไม่สามารถจะทำการตามหน้าที่โดยเหตุหนึ่งเหตุใด รวมทั้งมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถนั้นๆ ญาติของผู้นั้น หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องอาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งเขาเป็นผู้แทนเฉพาะคดีได้"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6047/2531  การร้องขอให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดี ผู้ร้องอาจยื่นคำร้องได้แต่ฝ่ายเดียวการที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โฆษณาประกาศวันนัดไต่สวนทางหนังสือพิมพ์ก็เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบโดยทั่วไป หากผู้ที่เกี่ยวข้องจะคัดค้านประการใดให้ยื่นคำคัดค้านได้ตามวันเวลาที่กำหนดนัด ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของการไต่สวนคำร้องว่ามีความจำเป็นต้องตั้งผู้แทนเฉพาะคดีหรือไม่ จึงไม่จำต้องส่งสำเนาคำร้องและกำหนดวันนัดไต่สวนให้ผู้ใดทราบเป็นการเฉพาะตัว และการที่ศาลจะตั้งผู้หนึ่งผู้ใดเป็นผู้แทนเฉพาะคดีก็โดยคำนึงถึงประโยชน์เฉพาะตัวของผู้เสียหายเท่านั้น
          เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้แทนเฉพาะคดีแล้ว ผู้หนึ่งผู้ใดจะร้องขอให้พิจารณาใหม่ไม่ได้

          อำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย
          มาตรา 3  "บุคคลดั่งระบุในมาตรา 4, 5 และ 6 มีอำนาจจัดการต่อไปนี้แทนผู้เสียหายตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ
          (1) ร้องทุกข์
          (2) เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ
          (3) เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
          (4) ถอนฟ้องคดีอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
          (5) ยอมความในคดีความผิดต่อส่วนตัว"

          การมอบอำนาจให้ดำเนินคดีอาญาแทน
          แนวคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ไม่มีกฎหมายห้ามจึงมอบอำนาจให้ดำเนินคดีอาญาได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 755/2502   ตามธรรมดาบุคคลย่อมตั้งตัวแทนทำแทนตนได้เสมอ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษทำนองว่า ให้ต้องกระทำด้วยตนเอง หรือตามสภาพไม่เปิดช่องให้มอบหมายจัดการแทนกันได้
          เรื่องร้องทุกข์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 3 และ 5 นั้น มิใช่หมายความว่า ห้ามขาดไม่ให้มีการมอบอำนาจกัน เป็นแต่บัญญัติให้บุคคลดังกล่าวในมาตรา 5 มีอำนาจกระทำกิจการที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 3 โดยไม่ต้องมีการมอบอำนาจซึ่งกันและกัน ส่วนกิจการในมาตรา 3 กิจการใดจะมอบอำนาจกันได้หรือไม่ ต้องเป็นไปตามหลักธรรมดา สุดแต่ว่ากรณีใดมีกฎหมายห้าม หรือเป็นกรณีตามสภาพต้องกระทำเองหรือไม่ เรื่องร้องทุกข์ไม่มีกฎหมายบังคับว่า ต้องกระทำด้วยตนเอง และตามสภาพของการร้องทุกข์ก็เป็นเรื่องเปิดช่องให้จัดการแทนกันได้ การร้องทุกข์จึงมอบอำนาจให้ร้องแทนกันได้
          หนังสือถึงพนักงานสอบสวน ซึ่งมีข้อความว่า "เนื่องด้วยธนาคารมีเรื่องบางอย่างที่ต้องแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจแต่เนื่องจากข้าพเจ้า (กรรมการผู้จัดการนิติบุคคล) มีกิจจำเป็นไม่สามารถมาแจ้งความด้วยตนเองได้ โดยหนังสือฉบับนี้ ข้าพเจ้าขอมอบอำนาจให้นายสุรินทร์ เจ้าหน้าที่ของธนาคาร เป็นผู้แจ้งความแทนข้าพเจ้า และข้าพเจ้าขอรับรองผิดชอบในการที่นายสุรินทร์ปฏิบัติแทนข้าพเจ้า" และลงชื่อกรรมการผู้จัดการนิติบุคคลนั้น ถือว่า ไม่ใช่คำร้องทุกข์ โดยตนเองตามป.วิ.อ. มาตรา 123 จะว่าเป็นการมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ก็ไม่ถนัด เพราะการแจ้งความนั้น อาจเป็นการร้องทุกข์ก็ได้ ไม่ใช่ก็ได้ และก็ไม่มีข้อความให้เห็นว่า ให้มาแจ้งความเรื่องอะไร อันจะพอวินิจฉัยได้ว่าเป็นการมอบให้มาร้องทุกข์ ถือไม่ได้ว่าเป็นเอกสารมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2502)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 890/2503   ผู้เสียหายไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา ย่อมมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอาญาแทนได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2503) (ดูเทียบกับฎีกาที่ 755/2502 ซึ่งวินิจฉัยว่า การร้องทุกข์นั้น ย่อมมอบอำนาจให้ร้องทุกข์แทนกันได้)
          เมื่อผู้เสียหายมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอาญาแล้ว ผู้ที่รับมอบอำนาจก็ย่อมลงชื่อในฟ้องแทนโจทก์ได้ ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158  (7)

          ความสามารถในการดำเนินกระบวนพิจารณาของผู้เสียหาย
          ความสามารถในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญา จะพิจารณาความรู้เรื่องราวของผุ้ดำเนินกระบวนพิจารณานั้นเป็นสำคัญ ดังนั้น ถ้าผู้เสียหายรู้เรื่องราวแม้จะยังเป็นผู้เยาว์ก็สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1982/2494  ผู้เยาว์อายุ 18 ปี ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน โดยไม่ต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรม ลงลายมือชื่อในการร้องทุกข์ด้วย ก็ใช้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 218/2477  ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์อายุ 14 ปี ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ก็มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้ โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง