มาตรา 377 "เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำท่านให้ ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย"
มาตรา 378 "มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นท่านให้เป็นไปดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) ให้ส่งคืน หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้
(2) ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น
(3) ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ"
ลักษณะของมัดจำ
1. ต้องเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่มีมูลค่าที่มอบให้แก่กันในขณะทำสัญญา
หนังสือค้ำประกันของธนาคารซึ่งมอบไว้แทนการวางเงิน แม้ธนาคารจะส่งเงินมาให้เมื่อมีการผิดสัญญาก็ริบไม่ได้ เพราะมิได้มีการส่งมอบเงินให้แก่กันไว้เมื่อเข้าทำสัญญา
เงินมัดจำที่ยังไม่ได้ชำระ เมื่อสัญญาเลิกแล้วจะบังคับให้ส่งเงินไม่ได้ เพราะสัญญาได้สิ้นสุดความผูกพันแล้ว เงินมัดจำจะริบได้ต้องมีการส่งมอบกันแล้ว ถ้าไม่มีการส่งมอบก็ไม่ใช่มัดจำ ริบไม่ได้
แต่ถ้าหากการไม่ชำระหนี้เป็นความผิดของคู่สัญญาฝ่ายที่รับมัดจำแล้ว ผู้รับมัดจำจะต้องส่งคืนมัดจำให้แก่ผู้วางมัดจำ ไม่มีสิทธิที่จะริบมัดจำนั้นได้ตามมาตรา 378 (3) นอกจากจะต้องส่งคืนมัดจำ หากมัดจำนั้นเป็นเงินที่ต้องเสียดอกเบี้ยในเงินมัดจำนับตั้งแต่วันที่ตนผิดนัดอีกด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1092/2509)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 918/2558 คำว่า "มัดจำ" ป.พ.พ. มาตรา 377 บัญญัติว่า "เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว..." ดังนั้นเงินที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลยในวันทำหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านไม้สัก จึงถือว่าเป็นมัดจำตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายวางมัดจำเป็นฝ่ายผิดสัญญาละเลยไม่ชำระหนี้แก่จำเลย จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินจำนวน 50,000 บาท ดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนเงินอีกจำนวน 50,000 บาท ที่โจทก์นำมามอบไว้ให้แก่จำเลยภายหลังจากวันทำหนังสือสัญญาซื้อขายบ้านไม้สัก แม้จะมีข้อความของตอนท้ายหนังสือสัญญาดังกล่าวระบุว่า " สัญญาเพิ่มเติม ผู้ซื้อจะโอนเงินค่ามัดจำเพิ่มเติมให้แก่ผู้ขาย 50,000 บาท รวมเป็นค่ามัดจำ 100,000 บาท" ก็ตาม แต่เงินจำนวนดังกล่าวนี้ โจทก์ได้ให้ไว้แก่จำเลยภายหลังจากวันทำสัญญา จึงไม่ถือว่าเป็นมัดจำ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 377 แต่เป็นเพียงเงินที่ชำระราคาซื้อขายบ้านไม้สักบางส่วน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5941/2552 แม้ข้อความในบันทึกข้อตกลงวางเงินมัดจำราคาซื้อขายที่ดินจะเรียกเงินที่โจทก์ได้รับจากบริษัท ท. ว่าเป็น "มัดจำ" ก็ตาม แต่เนื้อหาสาระแห่งข้อตกลงและนิติสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับเงินดังกล่าวหาใช่เป็น "มัดจำ" ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 377 และ มาตรา 378 ไม่ เพราะเนื้อหาสาระแห่งข้อตกลงในข้อ 2 และข้อ 3 เพียงแต่กำหนดให้คู่สัญญาต้องเจรจาตกลงกันในสาระสำคัญ และรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินตามที่ระบุไว้ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด โดยระบุถึงผลของการที่คู่สัญญาไม่สามารถบรรลุข้อตกลงภายในกำหนดเวลาดังกล่าวเพียงว่าให้โจทก์คืนเงินมัดจำแก่บริษัท ท. เท่านั้น หาได้มีข้อตกลงให้ริบหรือส่งคืนเงินมัดจำไม่ เงินมัดจำตามข้อตกลงเช่นนี้จึงมิใช่เงินที่บริษัท ท. ให้ไว้แก่โจทก์เมื่อเข้าทำสัญญาเพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว และเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 อีกทั้งความในข้อตกลงข้อ 3.2 ระบุว่า หากคู่สัญญาไม่สามารถเจรจาตกลงเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินได้ภายในเวลาที่กำหนด โจทก์ตกลงคืนเงินมัดจำทั้งหมดให้แก่บริษัท ท. โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ซึ่งเป็นการตกลงยกเว้นหลักการเกี่ยวกับผลของมัดจำที่มาตรา 378 (1) ถึง (3) กำหนดให้ส่งคืนหรือให้ริบเสียทั้งสิ้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าต่อมาโจทก์ได้คืนเงินมัดจำทั้งหมดให้บริษัท ท. ไปแล้ว ประกอบกับข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์รับรู้รายได้เพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์โดยเลือกวิธีปฏิบัติที่จะเสียภาษีโดยคำนวณฐานภาษีขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 26 กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีรายรับจากเงินมัดจำดังกล่าวอันจะต้องนำไปเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7122/2549 คำว่า "มัดจำ" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 คือทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้ไว้ในวันอื่น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ข้อ 3 ระบุว่า ในวันทำสัญญาโจทก์ผู้จะซื้อได้วางเงินมัดจำไว้ส่วนหนึ่งเป็นเงิน 10,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 914,000 บาท จะชำระเป็นงวดรายเดือน จำนวน 10 เดือน ดังนั้น เงินที่วางมัดจำไว้ในวันทำสัญญาดังกล่าวจึงมีเพียง 10,000 บาท เท่านั้น ส่วนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยทั้งสามอีก 10 งวด เป็นเงิน 170,000 บาท นั้น แม้ตามสัญญาจะระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินมัดจำ ก็ไม่ใช่เงินมัดจำตามความหมายดังกล่าว แต่เป็นเพียงการชำระราคาที่ดินบางส่วน เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสามบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 10,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนเงินที่โจทก์ชำระค่าที่ดินบางส่วนดังกล่าว จำเลยทั้งสามต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 แต่การที่โจทก์และจำเลยทั้งสามตกลงกันให้ริบเงินดังกล่าวได้ตามสัญญาข้อ 13 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ถ้าสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาฎีกาที่ 46/2515 ใช้เช็ควางมัดจำได้ แต่เมื่อจะริบมัดจำก็ต้องฟ้องเรียกเงินตามเช็คภายในอายุความ
หนังสือค้ำประกันของธนาคาร มิใช่มัดจำ ริบไม่ได้ แม้แต่ธนาคารจะส่งเงินมาให้เมื่อมีการผิดสัญญาก็ริบไม่ได้ เว้นแต่สัญญาจะระบุให้ริบได้
การเอาหนังสือค้ำประกันธนาคารมาวาง โดยหลักมิใช่มัดจำ แต่ถ้าเขียนไว้ในสัญญาให้มีสิทธิเหมือนเป็นมัดจำ ก็มีสิทธิเรียกได้แต่ไม่ได้เรียกในฐานะที่เป็นมัดจำ แต่เรียกเพราะมีข้อสัญญาไว้เช่นนั้นโดยให้ถือเป็นเบี้ยปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2983/2541 โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารเป็นเงิน 53,200,000 บาท จำเลยที่ 1 ส่งมอบงาน 5 งวด รับเงินไปแล้ว 14,151,200 บาท เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาสร้าง จำเลยที่ 1 ไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันที่ธนาคารได้ส่งเงินตามสัญญาค้ำประกันจำนวน 2,660,000 บาท แต่หนังสือค้ำประกันมิใช่สิ่งซึ่งจะพึงริบ เมื่อมีการเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 378(2) เงินจำนวน 2,660,000 บาท ที่ธนาคารส่งมอบให้แก่โจทก์จึงมิใช่มัดจำแต่เป็นเงินประกันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสองกำหนดว่า เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นใน ฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ ฉะนั้นเมื่อโจทก์ ริบเบี้ยปรับแล้วต้องนำเบี้ยปรับที่ริบจำนวน 2,660,000 บาท ไปหักออกจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากการที่โจทก์ต้องไปจ้างบุคคลภายนอก ให้ทำการก่อสร้างจนแล้วเสร็จในราคา 62,900,000 บาท ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเพียง 21,191,200 บาท การที่สัญญาจ้างระบุว่า เมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้วบรรดางานที่ผู้รับจ้างได้ทำขึ้นผู้รับจ้างยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างโดยผู้รับจ้างจะเรียกค่าตอบแทนและค่าเสียหายใดๆไม่ได้นั้น เป็นการที่ผู้รับจ้างให้ สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นซึ่งมิใช่จำนวนเงินให้เป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 382 โจทก์ย่อมมีสิทธิริบเบี้ยปรับนี้ได้ตามมาตรา 381 วรรคแรก เมื่อพิจารณาถึงทางได้เสียของโจทก์ผู้ว่าจ้างกับผลงานและพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างที่ปฏิบัติมาตามสัญญา เห็นได้ว่าเบี้ยปรับดังกล่าวเป็นจำนวนพอสมควรแล้ว โจทก์ย่อมริบผลงานที่จำเลยที่ 1 ทำเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าตอบแทนหรือค่าเสียหายใดๆ เกี่ยวกับค่าผลงานที่ทำไปแล้วอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4246/2549 จำนวนเงินตามหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ บริษัท ล. ผู้รับจ้างนำไปมอบให้โจทก์ยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา มิใช่เงินที่บริษัท ล. มอบให้โจทก์ทันทีขณะทำสัญญา แต่เป็นเพียงหลักประกันเบื้องต้นเพื่อที่จะให้โจทก์เชื่อได้ว่า บริษัท ล. จะปฏิบัติตามสัญญา และหากบริษัท ล. ผิดสัญญาโจทก์จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ผู้ออกหนังสือค้ำประกันนั้นแทน จำนวนเงินตามสัญญาไม่ใช่เงินมัดจำที่บริษัท ล. ให้ไว้แก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 377 และ 378 จึงมิใช่หลักประกันที่โจทก์จะริบได้ทันทีเมื่อบริษัท ล. ผิดสัญญา แต่จะถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายฐานผิดสัญญา และเป็นเพียงข้อตกลงที่ให้ความสะดวกในวิธีการบังคับชำระหนี้หากมี และจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันบริษัท ล. ต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเพียงเท่ากับความรับผิดที่บริษัท ล. ต้องรับผิดต่อโจทก์เท่านั้น
2. เป็นพยานหลักฐานว่าสัญญาได้ทำกันแล้ว
แต่ไม่ใช่พยานหลักฐานหรือข้อสันนิษฐานเด็ดขาด
3. เป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา
ตราบใดที่ลูกหนี้ยังมิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นตามสัญญา จะเรียกมัดจำคืนจากเจ้าหนี้มิได้ และจะขอให้เจ้าหนี้จัดเอาเงินที่วางมัดจำไว้เป็นการชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่ง โดยยังมิได้ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1356/2499 ทำสัญญาซื้อขายกันโดยมีการวางเงินมัดจำไว้ ในสัญญากำหนดว่าจะต้องชำระราคาทรัพย์ที่ส่งมอบกันเป็นเงินสดเป็นงวดๆ ไป บัดนี้ผู้ซื้อจะไม่ชำระเงินสดให้เป็นงวดๆ แต่จะขอให้หักเอาจากเงินมัดจำนั้นไม่ได้ ต้องถือว่าผู้ซื้อผิดสัญญา ผู้ขายฟ้องเรียกเงินค่าไม้ที่ได้ส่งเป็นงวดๆ ไปแล้วได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4612/2552 ตามหนังสือสัญญาเช่ามีหมายเหตุท้ายหนังสือสัญญาเช่าที่ระบุว่า "วันที่ 9 มีนาคม 2544 วางมัดจำ 200,000 บาท" โดยจำเลยผู้ให้เช่าได้ลงลายมือชื่อไว้ท้ายหมายเหตุด้วยและในวันดังกล่าวจำเลยก็ได้ออกใบรับเงินระบุว่า วางมัดจำค่าเช่าดำเนินกิจการ 200,000 บาท โดยมิได้มีข้อความตอนใดที่จะทำให้เห็นว่าเป็นเงินกินเปล่าที่จำเลยไม่ต้องคืนแก่โจทก์ผู้เช่าก็ตาม แม้เงินจำนวน 200,000 บาท จะฟังว่าเป็นเงินมัดจำค่าเช่าดำเนินการก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าเป็นกรณีที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาหรือเป็นพยานหลักฐานว่า สัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว เพราะในวันดังกล่าวได้มีการทำสัญญาเช่ากันขึ้นด้วย จึงไม่ต้องมีสัญญามัดจำอีกเงินจำนวน 200,000 บาท ที่โจทก์วางให้แก่จำเลยดังกล่าวจึงต้องถือเป็นค่าเช่าที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยล่วงหน้า มิใช่เงินมัดจำตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 377 และมาตรา 378 ที่จำเลยจะริบได้ ทั้งไม่มีข้อสัญญาให้จำเลยมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระไว้ล่วงหน้านี้ได้ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1336/2545 จำเลยสร้างตึกแถวที่จะขายให้โจทก์เสร็จพร้อมที่จะโอนตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2539 โจทก์ย่อมมีหน้าที่รับโอนและชำระราคาส่วนที่เหลืออีก 2,000,000 บาท แก่จำเลย แต่โจทก์ไม่ชำระแม้ในช่วงเวลานั้นต่างมิได้ถือเอาเงื่อนไขในการชำระหนี้เป็นสาระสำคัญ เนื่องจากจำเลยกำลังบอกขายตึกแถวพร้อมที่ดินให้แก่ผู้อื่น เพื่อประโยชน์ของโจทก์ แต่ไม่เป็นการแน่นอนว่าจะสำเร็จได้ โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอในการเตรียมเงินชำระให้แก่จำเลยการที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินที่ค้างชำระแก่จำเลยภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ อันเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยปลูกสร้างตึกแถวแล้วเสร็จเกือบ 1 ปี จึงเป็นการบอกกล่าวให้เวลาอันสมควรแล้ว เมื่อหนังสือดังกล่าวมีข้อความแสดงเจตนาเลิกสัญญา และโจทก์ไม่ชำระเงินภายในเวลากำหนดสัญญาจะซื้อจะขายย่อมเป็นอันเลิกกันเมื่อล่วงพ้น 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือทวงถามนั้น แต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมจำเลยมีหน้าที่คืนเงิน 1,200,000 บาท ที่รับไว้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
โจทก์ชำระเงินดาวน์ 300,000 บาท อันเป็นส่วนหนึ่งของเงินจำนวน 1,200,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันทำสัญญา โดยมิใช่เป็นการให้ไว้เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา จึงต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่โจทก์ชำระล่วงหน้า มิใช่มัดจำที่จำเลยจะริบได้ เมื่อจำเลยมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือภายใน 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือแล้วโจทก์เพิกเฉย โจทก์ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง จำเลยมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่โจทก์ผิดนัดได้ตามมาตรา 215 การที่จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องคืนเงินล่วงหน้า 1,200,000 บาท ให้แก่โจทก์จนครบจำนวน เนื่องจากจำเลยได้รับความเสียหาย เพราะเหตุที่โจทก์ผิดนัดและต้องรับภาระดอกเบี้ยที่กู้ยืมเงินจากธนาคารมาลงทุนปลูกสร้างอาคารพอแปลได้ว่าจำเลยเรียกเอาเงิน 1,200,000 บาท นั้นเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้
การที่โจทก์ไม่ชำระเงิน 2,000,000 บาทให้แก่จำเลยเป็นเหตุให้จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารสำหรับจำนวนเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี แต่ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบโจทก์จึงมิได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นถึงความเสียหายเช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว จำเลยจะเรียกร้องให้โจทก์รับผิดไม่ได้ อย่างไรก็ดีการที่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่จำเลยย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหายดังนั้น แม้จำเลยจะนำสืบถึงค่าเสียหายไม่ได้ ศาลก็มีอำนาจคิดคำนวณให้ได้ตามพฤติการณ์แห่งคดีโดยเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบกับความสุจริตในการดำเนินคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5644/2540 สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างฉบับพิพาท ข้อ 20 ระบุว่า ถ้าผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างริบหลักประกันในสัญญาข้อ 3 ปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ทำงานแล้วเสร็จเรียบร้อยและโจทก์ได้รับมอบงานจากจำเลยที่ 1ตามสัญญาแล้ว ถือว่าจำเลยที่ 1 ทำงานครบถ้วนตามสัญญาแล้ว โจทก์ย่อมหมดสิทธิบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับผิดชอบต่องานที่โจทก์ได้รับมอบไปแล้วถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาข้อ 6 วรรคหนึ่ง ซึ่งหากจำเลยที่ 1 บิดพริ้วเพิกเฉย โจทก์มีสิทธิว่าจ้างผู้อื่นทำงานนั้นหรือทำการแก้ไขเองโดยจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อค่าแก้ไขซ่อมแซมเท่านั้น ดังนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิริบหลักประกันตามสัญญาข้อ 20
4. ผลของมัดจำกำหนดไว้ในมาตรา 378
ให้ส่งคืนมัดจำ ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 217/2487 ถ้ากรณีที่การชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยด้วยเหตุที่โทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ฝ่ายที่วางมัดจำย่อมหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตามมาตรา 219 ฝ่ายที่รับมัดจำก็ต้องส่งคืนมัดจำเพราะไม่มีหนี้อันจะต้องยึดมัดจำไว้เป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13389/2555 เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินที่จะซื้อจะขายไปโดยไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาตัวแทน การที่โจทก์ไม่อาจดำเนินการโอนที่ดินให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจึงถือได้ว่าเป็นกรณีการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายโจทก์ต้องรับผิดชอบ โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายที่รับผิดจำต้องส่งคืนมัดจำตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (3) โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสองจ่ายเพื่อชำระหนี้เงินมัดจำตามฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1273/2550 โจทก์ไม่ได้ออกทุนรอนหรือยุยงส่งเสริมให้ จ. เป็นความกับ ม. กับพวก ข้อกำหนดตามสัญญาจะซึ้อขาย ข้อ 4 ที่ว่าจะโอนที่ดินเมื่อผู้ขายชนะคดีความไม่มีภาระผูกพันต่อคดีนั้น มีลักษณะเป็นเงื่อนไขในสัญญาประการหนึ่งและเป็นข้อความที่คัดลอกมาจากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยกับ จ. ไม่ถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกันไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยใช้บังคับกันได้ไม่เป็นโมฆะ เงินมัดจำที่โจทก์วางไว้แก่จำเลยจึงไม่ใช่เงินที่ชำระโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411
จำเลยได้ฟ้อง จ. ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ แล้วต่อมาคู่ความได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยตกลงให้ทายาทของ จ. นำที่ดินแปลงที่ จ. ทำสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยไปขายให้แก่ผู้อื่นได้โดยทายาทของ จ. ยินยอมชำระเงินให้จำเลย 1,000,000 บาท จึงเป็นผลให้จำเลยไม่มีที่ดินโอนให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายอีกต่อไป ถือว่าการโอนที่ดินตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยต้องรับผิดชอบ จำเลยจึงต้องคืนมัดจำที่รับไปแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 (3) จึงฟังได้ว่าหนี้เงินมัดจำที่รับไว้จากโจทก์จำนวน 2,450,000 บาท เป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5347/2540 ในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจำเลยทั้งห้าไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาโดยที่โจทก์ได้นำเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือมาชำระให้ครบถ้วนแล้ว สำหรับขั้นตอนของการชำระค่าธรรมเนียม ค่าภาษีตลอดจนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นขั้นตอนภายหลังที่จำเลยทั้งห้าสามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ตรงตามสัญญาเสียก่อน ซึ่งยังไม่แน่นอนเมื่อถึงขั้นตอนนั้นโจทก์จะมีเหตุขัดข้องในค่าธรรมเนียมดังกล่าวหรือไม่ โจทก์จึงยังไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยทั้งห้าเป็นฝ่ายผิดสัญญาด้วยการละเลยไม่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ตรงตามสัญญา จำเลยทั้งห้าก็ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่มีสิทธิริบมัดจำแต่จะต้องส่งคืนโจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 378 (3)
ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินฉบับพิพาท ข้อ 8 กำหนดว่าหากผู้จะขายผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ให้ผู้จะซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนได้ทั้งหมดและเรียกค่าเสียหายได้อีกจำนวนเงิน 14,000,000 บาท (สิบสี่ล้านบาทถ้วน) หรือฟ้องบังคับให้ผู้จะขายปฏิบัติตามสัญญานี้ พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายอีกโสดหนึ่งด้วย ฯลฯ ข้อกำหนดดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับถ้าสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 379 ประกอบมาตรา 383
ให้ริบมัดจำ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3946/2553 โจทก์ทำสัญญาซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมไคโตซานและวางเงินจำนวน 200,000 บาท แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา โดยสัญญาข้อ 4 ระบุว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องขอใบอนุญาตขึ้นทะเบียนการใช้ฉลากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้แก่โจทก์ แต่ไม่ได้กำหนดเวลาว่าจำเลยต้องขอใบอนุญาตให้แล้วเสร็จเมื่อใด จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องขอใบอนุญาตดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยโดยไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาภายในเวลาที่โจทก์กำหนดเสียก่อน จึงไม่เป็นผลให้สัญญาระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ทั้งหลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญาเพียงสิบวัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็ออกใบสำคัญการใช้ฉลากอาหารให้แก่โจทก์แล้ว การกระทำของโจทก์จึงเป็นการบิดพลิ้วไม่ปฏิบัติตามสัญญาและมีผลให้โจทก์ตกเป็นผู้ผิดสัญญา การที่จำเลยมีหนังสือตอบกลับไปยังโจทก์ว่า จำเลยตกลงสนองรับการบอกเลิกสัญญาโดยไม่ยอมคืนเงินจำนวน 200,000 บาท ให้ เนื่องจากโจทก์ยังเป็นหนี้จำเลยอยู่เป็นจำนวนมากนั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยตกลงเลิกสัญญาโดยไม่มีเงื่อนไข แต่เป็นการที่จำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ อันเป็นผลมาจากการที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาเสียก่อน เมื่อโจทก์มอบเงินให้แก่จำเลยในวันทำสัญญาเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาจึงมีผลเป็นมัดจำ จำเลยย่อมริบเงินจำนวนดังกล่าวนั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8283/2551 โจทก์ทั้งสองผิดนัดไม่ชำระค่างวดตามกำหนด จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินค่างวดที่ 17 และที่ 18 ภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2541 แล้ว นับว่าเป็นการให้โอกาสโจทก์ทั้งสองในการปฏิบัติตามสัญญา ถือเป็นการกำหนดเวลาให้คู่สัญญาชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 แล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ชำระเงินค่างวดตามกำหนดรวม 2 งวดติดต่อกันและจำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์ทั้งสองปฏิบัติตามสัญญาแล้ว แต่โจทก์ทั้งสองเพิกเฉย จึงถือว่าโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาจองเพื่อจะซื้อขายที่ดินและโรงเรือนจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ทั้งสองเนื่องจากโจทก์ทั้งสองผิดสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้ชำระเงินค่าบ้านและที่ดินบางส่วนและเงินค่าอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อตกแต่งบ้านให้แก่จำเลยก่อนที่สัญญาจะเลิกกัน การที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงกันตามสัญญาว่าหากผู้จองผิดนัดไม่ชำระราคา ฯลฯ รวม 2 งวด ฯลฯ เมื่อผู้รับจองใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว ให้ผู้รับจองมีสิทธิริบเงินมัดจำและเงินที่ผ่อนชำระแล้วได้ทั้งหมดทันที ฯลฯ นั้น ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383
5. ถ้ามัดจำไม่เพียงพอ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมได้ ถ้ามัดจำที่ริบสูงเกินไป ศาลลดมัดจำได้ โดยพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 บัญญัติในมาตรา 7 ว่า “ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลง ให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้" ในปัจจุบันจึงลดมัดจำได้ โดยเป็นดุลยพินิจของศาล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7302/2559 เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายกลายเป็นสัญญาที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยบอกกล่าวให้เวลาแก่โจทก์ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาใหม่โดยชอบ แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาละเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิริบมัดจำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) และมีสิทธินำที่ดินไปเสนอขายบุคคลอื่นได้ ไม่ถือเป็นการตกลงเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์โดยปริยายแต่อย่างใด
พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 7 บัญญัติว่า ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำหากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำ ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ ซึ่งโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยในราคา 1,400,000 บาท วางมัดจำไว้ 500,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 35.71 ของราคาที่ดิน เมื่อเทียบมัดจำกับราคาที่ซื้อขายกันแล้ว เห็นได้ว่าเป็นมัดจำที่สูงเกินส่วน เห็นควรลดมัดจำที่จะให้ริบลง โจทก์และจำเลยต่างมิได้นำสืบว่าความเสียหายแท้จริงที่จำเลยได้รับมีเพียงใด แต่เห็นว่าหากจำเลยขายและได้รับเงินค่าที่ดินจากโจทก์ย่อมนำเงินไปหาประโยชน์อย่างอื่นได้ เมื่อโจทก์ผิดสัญญาแล้ว จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับผู้ซื้อรายใหม่ในราคาที่ลดลง เห็นควรลดมัดจำที่จะให้ริบลงเหลือ 200,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่จำเลยน่าจะเสียหายจริงและจำเลยต้องคืนเงินมัดจำอีก 300,000 บาท แก่โจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจศาลในการพิจารณาคดีและเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ สำหรับเงินมัดจำที่จำเลยต้องคืนแก่โจทก์นั้น มิใช่กรณีที่จำเลยผิดนัดอันจะต้องชำระดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ทั้งเป็นเหตุสืบเนื่องมาจากโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในเงิน 300,000 บาท ที่ต้องคืนแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8942/2554 เงินที่โจทก์ชำระให้จำเลยที่ 1 ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายนั้น เป็นการให้เพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญาจะซื้อจะขายได้ทำขึ้นแล้ว และเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา โดยคู่สัญญามีเจตนาจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อชำระหนี้ หรือหากโจทก์ละเลยไม่ชำระหนี้ก็ให้ริบเงินนั้นได้ตามสัญญา เงินจำนวนนี้จึงเป็นมัดจำมิใช่เบี้ยปรับ เพราะเบี้ยปรับเป็นกรณีที่ลูกหนี้สัญญาจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อตนไม่ชำระหนี้อันเป็นการกำหนดค่าเสียหายเอาไว้ล่วงหน้าเท่านั้น คู่สัญญามิได้มีเจตนาให้เอาเบี้ยปรับเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อชำระหนี้ แม้ตาม ป.พ.พ. มิได้ให้อำนาจศาลที่จะลดมัดจำดังเช่นเบี้ยปรับ แต่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 7 บัญญัติว่า ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ หากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำ ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ โดยบทกฎหมายดังกล่าวเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งให้ศาลพิจารณาตามที่เห็นสมควรหากมัดจำสูงเกินส่วน ศาลจึงมีอำนาจลดมัดจำได้
6. ถ้าเจ้าหนี้บังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิริบมัดจำ
คำพิพากษาฎีกาที่ 517/2487 โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินกัน แต่ผู้ซื้อเป็นคนต่างด้าวซึ่งแปลงสัญชาติเป็นไทย ทางการไม่อนุญาตให้โอนทะเบียน ดังนี้ มิใช่เป็นเพราะความผิดของฝ่ายใด ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและผู้ขายไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำ จะต้องให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391
คำพิพากษาฎีกาที่ 1541/2509 วางมัดจำเพื่อทำสัญญาซื้อขาย สัญญาซื้อขายยังไม่เกิดมีผลผูกพันเพียงที่จะกำหนดในสัญญา ไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญาจึงริบมัดจำไม่ได้
7. การคืนมัดจำถ้ามีดอกเบี้ยต้องเสียดอกเบี้ยในเงินมัดจำด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7117/2544 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมีข้อความว่า ผู้จะซื้อได้ชำระเงินค่าที่ดินแล้ว 432,000 บาท คงค้างชำระอีกเพียง 4,200 บาทซึ่งจะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์... หากสัญญาจะซื้อจะขายนี้ไม่ได้กระทำภายในกำหนดเวลาเพราะความผิดของผู้จะขาย ผู้จะขายต้องคืนเงินมัดจำให้แก่ผู้จะซื้อพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีดังนี้ เมื่อตามสัญญาไม่ปรากฏว่ามีการวางมัดจำกันไว้ก็ต้องถือว่าเงิน 432,000 บาท ที่จำเลยรับไปจากโจทก์แล้วนั้นเป็นมัดจำซึ่งตรงตามคำฟ้องที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงิน 432,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ในฐานที่เป็นมัดจำ อันเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378(3) และเป็นคนละกรณีกับการใช้เงินคืนเมื่อมีการใช้สิทธิเลิกสัญญาตามมาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ซึ่งกำหนดให้คิดดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลาที่รับไว้เมื่อการเรียกคืนเงินมัดจำไม่มีกฎหมายบัญญัติให้คิดดอกเบี้ยไว้โดยเฉพาะจึงต้องเป็นไปตามหลักทั่วไปตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด เมื่อหนังสือทวงถามให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ โจทก์ยังมิได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและเรียกเงินมัดจำคืน จึงต้องถือว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและเรียกเงินมัดจำคืนโดยการฟ้องคดี จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยของเงินมัดจำนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ