ตัวแทนเชิด

               ลักษณะของตัวแทนเชิด


               มาตรา  821 "บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน"

               ข้อสังเกตเรื่องตัวแทนเชิด
               ตัวแทนเชิดตามมาตรา 821 มี 2 กรณี กล่าวคือ
               1. บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี
               2. รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี
               บุคคลผู้นั้น(ตัวการ)จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน

               ตัวแทนเชิดนี้เกิดจากการกระทำด้วยพฤติกรรม กิริยา อาการ ที่ตัวการแสดงออกต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต โดยทำให้บุคคลภายนอกนั้นเข้าใจว่าตัวการได้มอบหมายให้บุคคลอีกคนหนึ่งเป็นตัวแทนของตัวการ ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น แต่กฎหมายปิดปากตัวการและให้ตัวการรับผิดแทน
               (1) การแสดงออกโดยตัวการ ไม่ได้มอบอำนาจให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้น ถือเป็นความผิดและความรับผิดชอบของตัวการ
               (2) สภาพการณ์เช่นนั้น ตัวการมีหน้าที่ต้องแสดงความจริง แต่ตัวการแสดงในทางตรงกันข้ามและทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจผิดเป็นอย่างอื่น
               (3) กฎหมายประสงค์คุ้มครองบุคคลภายนอกผู้สุจริต
               (4) ตัวการต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก แต่บุคคลภายนอกไม่ต้องผูกพันรับผิดต่อตัวการ ตัวการจึงฟ้องบุคคลภายนอกไม่ได้
               (5) ตัวแทนเชิดไม่ใช่ตัวแทนที่เกิดขึ้นโดยผลของสัญญา ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ตัวแทนเชิดรับผิดต่อบุคคลภายนอก
               (6) ตัวแทนเชิดเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 798

               มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2573/2546   จำเลยที่ 1 และที่ 3 รู้เห็นและยินยอมให้จำเลยที่ 2 มารดาเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ขายทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับโจทก์ฝ่ายผู้จะซื้อแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญา แต่การแสดงออกดังกล่าวเป็นการเชิดให้จำเลยที่ 2 ออกเป็นตัวแทนหรือยินยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันต่อโจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 และการนำสืบว่าจำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็หาจำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 ไม่ ทั้งหาใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาจะซื้อขายอันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ไม่ เพราะเป็นแต่เพียงการนำสืบความจริงว่าจำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนเข้าเป็นคู่สัญญากับโจทก์เท่านั้น

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4046/2546   ตามหนังสือรับรองระบุว่า กรรมการของจำเลยมี 4 คน ซึ่งรวมทั้ง ว. ด้วย กรรมการ 2 คน ลงชื่อร่วมกันและประทับตราของจำเลยจึงมีผลผูกพันจำเลย แต่การที่ ว. ลงชื่อสั่งซื้อสินค้าโดยใช้ใบสั่งซื้อซึ่งเป็นแบบพิมพ์ของจำเลย เมื่อโจทก์นำสินค้าไปส่ง พนักงานของจำเลยได้รับสินค้านั้น และต่อมา ว. ในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยมีหนังสือขอผ่อนผันการชำระหนี้ โดยใช้แบบพิมพ์ของจำเลยอีก ย่อมแสดงว่าจำเลยรู้แล้วยอมให้ ว. เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนซื้อสินค้าจากโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2548   จำเลยที่ 1 เป็นบุตรเขยจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 รับราชการ มีอายุมากแล้ว จำเลยที่ 1 ทำสัญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ลงบนที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขออนุญาตทำการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าวต่อเทศบาลด้วยตนเอง เมื่อก่อสร้างเสร็จ ท. หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างโจทก์ตกลงซื้ออาคารพาณิชย์จากจำเลยที่ 2 จำนวน 1 ห้อง โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อผู้จะขายในสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำ การที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าหนี้ตามฟ้องคดีนี้ไม่ถูกต้อง เพราะต้องหักเงินค่ามัดจำและค่าหินขัดออกก่อนนั้น หากจำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวข้องกับการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับโจทก์แล้วเหตุใดจึงจะยอมให้มีการหักเงินกันได้ เพราะไม่ใช่หนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ก่อนหน้านี้จำเลยที่ 2 เคยติดต่อว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 มาทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารพาณิชย์กับโจทก์ กรณีดังกล่าวจำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เรื่องตัวแทนเชิด เพราะการเป็นตัวแทนเชิดนั้น ตัวการไม่ปรารถนาที่จะผูกพันกับบุคคลภายนอกสำหรับการกระทำของตัวแทน

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4594/2549   จำเลยทั้งสองเคยสั่งให้โจทก์ลงโฆษณามาก่อนหลายครั้ง โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในใบสั่งโฆษณา แม้ในครั้งที่พิพาทกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 จะมิได้ลงลายมือชื่อไว้แต่ก็เป็นเรื่องข้อตกลงภายในของบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่อาจนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อปัดความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งบุคคลภายนอก ทั้งข้อความที่ลงโฆษณาก็เป็นเรื่องที่อยู่ในกิจการและประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว พฤติการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของตนว่าจ้างโจทก์โฆษณา จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันรับผิดชำระสินจ้างแก่โจทก์

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12939/2557    ต. อยู่กันฉันสามีภริยากับโจทก์ที่ 1 มาประมาณ 30 ปี และอาศัยอยู่ด้วยกันกับโจทก์ที่ 2 ที่บ้านเกิดเหตุจากสภาพโจทก์ที่ 1 ย่อมทราบถึงการซ่อมรถและซ่อมบ้านที่บริษัท ว. เป็นผู้จัดการให้เป็นอย่างดีเมื่อซ่อมบ้านเสร็จ ต. รับมอบงาน โจทก์ที่ 1 ก็ไม่คัดค้าน ครั้นซ่อมรถเสร็จ ต. กับโจทก์ที่ 2 เป็นคนลงชื่อรับค่าซ่อมในสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ที่ 1 ก็ไม่โต้แย้งคัดค้านว่า ต. และโจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนตน พฤติการณ์ย่อมฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 รู้แล้วยอมให้ ต. และโจทก์ที่ 2 เชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนในการรับค่าซ่อมบ้านและซ่อมรถตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การเป็นตัวแทนเชิดนั้นไม่อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 798 ที่ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือเหมือนการตั้งตัวแทนทั่วไป สัญญาประนีประนอมยอมความจึงมีผลบังคับถึงโจทก์ที่ 1 ด้วย

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16482/2557    ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 18, 19 และ 39 กำหนดให้การซื้อหรือการจ้างด้วยวิธีตกลงราคาซึ่งมีราคาไม่เกิน 100,000 บาท ให้เจ้าหน้าที่พัสดุติดต่อตกลงราคากับผู้ขายหรือผู้รับจ้างโดยตรงแล้วให้หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุจัดซื้อและจัดจ้างได้ภายในวงเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าส่วนราชการ แต่หากกรณีจำเป็นและเร่งด่วนที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมายไว้ก่อนและไม่อาจดำเนินการตามปกติได้ทัน ให้เจ้าหน้าที่พัสดุหรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการนั้นดำเนินการไปก่อนได้แล้วรีบรายงานขอความเห็นชอบต่อหัวหน้าส่วนราชการ จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่นและแต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีสิทธิมารับสินค้าที่ได้สั่งซื้อหลายครั้งไปจากโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันควรเชื่อว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 อยู่ในขอบเขตอำนาจที่กระทำแทนจำเลยที่ 1 ส่วนระเบียบขั้นตอนการจัดจ้างหรือสั่งซื้อที่ระบุว่าจำเลยที่ 3 ละเลยไม่ปฏิบัตินั้นก็เป็นระเบียบภายในของจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้ประกาศให้บุคคลภายนอกทราบ ดังนั้นแม้จำเลยที่ 3 จะทำการจัดซื้อสินค้าจากโจทก์แทนจำเลยที่ 1 โดยผิดระเบียบขั้นตอนและเพื่อประโยชน์ของตนโดยไม่สุจริต แต่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดระเบียบขั้นตอนของจำเลยที่ 3 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและต้องได้รับความคุ้มครอง

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18460/2557   การขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ จึงจะบังคับกันได้  การไม่นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คงมีผลทำให้คู่สัญญาไม่อาจยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง ดังนั้น การตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่ตามหนังสือขอต่อสัญญาขายฝาก ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ผู้รับไถ่ลงลายมือชื่อไว้ แม้มิได้นำไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้ไม่ได้ลงลายมือชื่อ แต่การที่จำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมในการกระทำของจำเลยที่ 1 กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการตกลงและทำหนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์ การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับไถ่ด้วย หนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่จึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยนำทรัพย์สินที่รับซื้อฝากไปขายก่อนครบกำหนดเวลาไถ่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์

               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5896/2558   สัญญาเช่าข้อ 7 ระบุว่า สมาชิกต้องไม่นำรถยนต์ไปให้ผู้อื่นขับขี่เป็นอันขาด แสดงว่าจำเลยที่ 2 ทราบแต่แรกว่าไม่สามารถนำรถของตนให้ผู้อื่นหรือจำเลยที่ 1 เช่า สัญญาดังกล่าวนี้จึงเป็นการทำขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการนำรถออกรับจ้างเท่านั้น เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญายอมผูกพันให้จำเลยร่วมที่ 2 ใช้รอยตราหรือเครื่องหมายและคำว่า “สหกรณ์แท็กซี่รวมมิตร จก” ไว้ที่ด้านข้างของรถแท็กซี่เพื่อออกแล่นรับผู้โดยสารในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย จำเลยร่วมที่ 2 เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 การนำรถแท็กซี่เข้าร่วมเป็นกิจการและตรงตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงได้ผลประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถแท็กซี่ที่มีตราของจำเลยที่ 2 ออกแล่นรับจ้าง จำเลยร่วมที่ 2 เจ้าของรถย่อมต้องได้รับผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 ได้เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน จำเลยร่วมที่ 2 และจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วยเช่นกัน