16 ตุลาคม 2567

จดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน


          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 1300 "ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้"

          ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนในอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แต่ว่ายังไม่ได้ไปจดทะเบียน และในขณะที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนั้นก็มีบุคคลภายนอกที่ได้ตัวทรัพย์นั้นหรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไปโดยการจดทะเบียน ผลของมาตรา 1300 คือ ถ้าการได้ไปของบุคคลภายนอกทำให้บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนต้องเสียเปรียบ บุคคลซึ่งอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนก็มีสิทธิจะฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการได้ไปของบุคคลภายนอกได้โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าบุคคลภายนอกนั้นได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ไปโดยไม่สุจริตหรือได้ไปโดยไม่เสียค่าตอบแทน แต่ถ้าการโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งบุคคลภายนอกผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้

          ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน มี 2 ประเภท คือ

          1 บุคคลที่ได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม และยังมิได้จดทะเบียนการได้มานั้น คือ บุคคลตามมาตรา 1299 วรรคสอง เช่น การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ยังมิได้มีการจดทะเบียน เป็นต้น

          2 บุคคลผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรมเรียบร้อยทุกอย่าง แต่ยังมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นการได้มาตามมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เช่น ทำสัญญาซื้อที่ดินโดยชำระราคากันเรียบร้อยพร้อมทั้งส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แล้วเหลือเพียงการจดทะเบียนโอนเช่นนี้ถือได้ว่าผู้ซื้ออยู่ในฐานะจะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1619/2494  ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันโดยผู้ขายได้รับชำระราคาที่ดินแล้ว แต่ยังทำโอนไม่ได้เพราะพนักงานที่ดินส่งโฉนดไปยังกรมที่ดินเสีย ผู้ขายจึงมอบที่ดินที่ขายให้ผู้ซื้อครอบครองไปพลางก่อนจนกว่ากรมที่ดินจะส่งโฉนดคืนมาจึงจะทำโอนกัน ผู้ซื้อจึงได้เข้าครอบครองที่ดินนั้นตลอดมา 4 ปีเศษ  ดังนี้ ถือได้ว่าผู้ซื้ออยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนเกี่ยวกับที่ดินนั้นได้ก่อนแล้วตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา 1300
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1254/2500  จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้โจทก์แล้ว แต่ยังไม่ได้ไปทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพราะการผัดผ่อนของจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 2 สมคบกันยินยอมใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4,5,6,7 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่พิพาทแม้การยอมให้จำเลยที่ 2,4,5,6,7 ลงชื่อในโฉนดที่พิพาทนั้น เพราะจำเลยที่ 1 ได้ยกที่พิพาทให้ก็ดี แต่การที่จำเลยได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่พิพาทเป็นทางเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนแล้ว โจทก์อาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1300
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3011/2540  การที่จำเลยทั้งสามนำที่ดินจำนวน 23 แปลง ของจำเลยที่ 2 ที่ผู้ร้องซื้อจากการขายทอดตลาดรวมอยู่ด้วยมาเป็นหลักประกันการทุเลาการบังคับโดยจำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันไว้ต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินมิให้ทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นนั้น แม้หนังสือสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้ต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวจะมีผลจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์จนครบถ้วนก็ตาม แต่ที่ดินที่จำเลยที่ 2 นำมาเป็นหลักประกันศาลชั้นต้นเพียงแต่มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินมิให้ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ที่ดินดังกล่าวยังมิได้ถูกยึดหรืออายัดตามบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ.หรือกฎหมายอื่น จึงไม่ต้องห้ามมิให้กรมสรรพากรยึดที่ดินดังกล่าวตาม ป.วิ.พ.มาตรา 290 กรมสรรพากรย่อมมีอำนาจยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 ที่นำมาเป็นหลักประกันไว้ต่อศาลออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ค่าภาษีได้ การที่ผู้ร้องซื้อที่ดินที่กรมสรรพากรขายทอดตลาดและได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะจะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1300 และเมื่อกรมสรรพากรมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ผู้ร้อง แต่เจ้าพนักงานที่ดินมิอาจดำเนินการให้ได้เพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามมิให้ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ชัดแจ้งว่าผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ได้สั่งห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่ผู้ร้องซื้อมา ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่ผู้ร้องซื้อมาจากการขายทอดตลาดได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา57 (1) กรณีไม่มีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมายในการที่จะไม่เพิกถอนคำสั่งห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว

          กรณีสัญญาจะซื้อจะขาย สัญญาจะให้ หรือจะแลกเปลี่ยน คงมีสิทธิตามสัญญาเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 601/2497  สิทธิตามสัญญาจะซื้อขายอสังหาาริมทรัพย์นั้น เป็นเพียงบุคคลสิทธิ ไม่ใช่ทรัพย์สิทธิซึ่งจะติดตามตัวทรัพย์เอากลับคืนจากบุคคลภายนอกได้และไม่เป็นสิทธิที่จะจดทะเบียนได้ จึงไม่มีสิทธิที่จะจดทะเบียนได้ จึงไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องให้เพิกถอนการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้วตามมาตรา 1300
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5113/2540  ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ให้แก่โจทก์ ตามสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินเอกสารท้ายฟ้องต่อมาจำเลยที่ 1 กลับจดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 4 โดยความยินยอมของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ใช้อำนาจปกครอง เป็นทางให้เสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 นั้น เมื่อสิทธิของโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวเป็นเพียงบุคคลสิทธิซึ่งมีสิทธิเพียงที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 ไปทำการโอนขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ให้แก่โจทก์ตามสัญญาเท่านั้น โจทก์หามีทรัพย์สิทธิที่จะไปบังคับแก่จำเลยที่ 4 ผู้ซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์จากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดไม่ ดังนี้โจทก์จึงมิใช่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1300 จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวได้

          ทางแก้ของบุคคลที่ไม่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน คือการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237

           ***โดยสรุป ในกรณีที่เป็นสัญญาประเภทเด็ดขาดคงเหลือแต่การไปจดทะเบียนโอนเท่านั้น คนที่มีสิทธิตามสัญญานั้นถือว่าอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน แต่ถ้าเป็นสัญญาประเภทจะซื้อจะขายนั้นเป็นเพียงบุคคลสิทธิ ไม่อยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน แต่ถ้าจะเพิกถอนก็อาจใช้บทบัญญัติในเรื่องหนี้ตามมาตรา 237 มาปรับใช้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 90/2516   จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทจาก ม.แต่ยังชำระราคาไม่ครบ จำเลยจึงไม่ใช่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตามมาตรา 1300 คดีของจำเลยต้องด้วยมาตรา 237 แต่ศาลก็ไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนระหว่าง ม. กับ ห. และระหว่าง ห.กับโจทก์ได้  โดยที่จำเลยมิได้ฟ้อง ม. กับ ห. เข้ามาในคดีด้วย

          การรับมรดกเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ถือเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน จึงใช้สิทธิเพิกถอนตามมาตรา 1300 ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1169/2487  ผู้รับมรดกปกครองที่ดินมรดกร่วมกันมา ผู้รับมรดกคนหนึ่งโอนที่ดินมรดกให้แก่บุตรของตนโดยไม่สุจริต ผู้รับมรดกอื่นฟ้องขอเพิกถอนได้ตามมาตรา 1300 และ 1359
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4187/2566 จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมรับซื้อฝากที่ดินพิพาทจาก จ. โดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมอันอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทเพื่อกลับคืนสู่กองมรดกได้ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามมีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวกลับมาเป็นของ จ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. หรือ ต. เพื่อให้ที่ดินพิพาทกลับสู่กองมรดกของ ก. หรือ ต. ดังนี้ ตามคำขอดังกล่าวจึงมีความหมายรวมอยู่ในตัวว่า โจทก์ทั้งสามมีคำขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่าง จ. ในฐานะส่วนตัวกับ จ. ในฐานะผู้จัดการมรดกด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพียงพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากและสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่จากการขายฝากที่ดินระหว่าง จ. กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น จึงยังไม่ครบถ้วนตามคำฟ้องและคำขอของโจทก์ แต่ที่โจทก์ทั้งสามฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำพิพากษา หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมตามคำขอท้ายดังกล่าวของโจทก์แล้ว ย่อมมีผลทำให้ที่ดินกลับสู่กองมรดกของ ก. หรือ ต. โดยผลของคำพิพากษา อีกทั้ง ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 61 วรรคแปด บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด จึงไม่จำต้องบังคับให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายอีก

          ผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยครอบครองปรปักษ์ ซึ่งถือเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1886/2536   จำเลยทั้งสามได้ไปจดทะเบียนรับโอนมรดกที่พิพาทอันเป็นเวลาภายหลังที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว จำเลยทั้งสามได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการรับมรดกต้องรับไปทั้งสิทธิและตลอดจนความรับผิดต่างๆ จำเลยทั้งสามจึงมิใช่บุคคลภายนอกผู้ได้กรรมสิทธิ์มาโดยเสียค่าตอบแทนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์ผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยครอบครองปรปักษ์ ซึ่งบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแล้ว จึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสาม และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าว ที่ทำให้ตนเสียเปรียบได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300

          ผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมาโดยผลของคำพิพากษา แม้ยังไม่ได้ไปจดทะเบียนโอน แต่ก็ถือว่าเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา 1300 ย่อมมีสิทธิขอให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นเพิกถอนการยึดได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2961/2517   โจทก์นำยึดที่ดินมีโฉนดของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินใช้หนี้เงินกู้ตามคำพิพากษา ปรากฏว่าที่ดินแปลงนี้จำเลยได้ขายให้ผู้ร้องขัดทรัพย์แล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2511 แต่การโอนขัดข้อง ผู้ร้องขัดทรัพย์ได้ฟ้องจำเลย ศาลพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง หากจำเลยไม่จัดการโอน ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย คดีถึงที่สุดแล้ว แม้ศาลได้พิพากษาให้จำเลยใช้เงินให้แก่โจทก์ และโจทก์ยึดทรัพย์จำเลยก่อนที่ศาลจะพิพากษาให้ผู้ร้องชนะคดีจำเลยดังกล่าว และกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดนี้ยังไม่ได้เปลี่ยนมือและยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องได้สิทธิที่จะจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้โดยผลแห่งคำพิพากษาคดีที่ผู้ร้องฟ้องจำเลยให้โอนที่ดินให้ซึ่งถึงที่สุดแล้วเช่นนี้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินนี้ก่อนโจทก์ ซึ่งเพียงแต่ยึดที่ดินแปลงนี้ไว้เพื่อบังคับคดีเท่านั้น ผู้ร้องย่อมจะขอให้เพิกถอนการยึดของโจทก์ได้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 เช่นกัน กรณีต่างกับมาตรา 1299 ซึ่งเป็นเรื่องของการได้มาซึ่งทรัพย์สิทธิซึ่งยังไม่บริบูรณ์จนกว่าจะได้จดทะเบียนทรัพย์สิทธินั้น ๆ แล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 407/2532  แม้โจทก์ยึดที่พิพาทก่อนศาลพิพากษาให้จำเลยโอนขายที่พิพาทให้แก่ผู้ร้องก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยขายที่พิพาทให้แก่ผู้ร้องย่อมถือได้ว่าผู้ร้องมีสิทธิตามคำพิพากษาที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ตราบใดที่ยังไม่มีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท ผู้ร้องย่อมใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ได้

          แม้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 แต่หากไม่ได้ตั้งประเด็นต่อสู้ไว้ในคดี ศาลก็ไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนการโอนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6655/2542  เดิมจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาท ต่อมาได้ขายให้แก่ ค. และ ค.ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านพิพาทระหว่างพิจารณาคดีค. และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า จำเลยจะซื้อที่ดินพร้อมบ้านพิพาทคืนและจะชำระเงินให้ภายใน 6 เดือน ซึ่งศาลได้พิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แต่หลังจากที่จำเลยชำระราคาบ้านและที่ดินให้แก่ ค.ครบถ้วนแล้ว ค. ได้ขายบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ โดยทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ปรากฏว่าหลังจากจำเลยชำระราคาบ้านและที่ดินให้ ค. แล้วก็ยังไม่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด ทำให้บ้านพิพาทดังกล่าวยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย จำเลยจึงเป็นเพียงบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 เท่านั้น ซึ่งจำเลยอาจยกเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ หากการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างโจทก์และ ค. ไม่เสียค่าตอบแทนหรือกระทำการโดยไม่สุจริต แต่เมื่อคำให้การของจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์รับโอนบ้านพิพาทโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือโดยไม่สุจริตอย่างไร คดีจึงไม่มีประเด็นที่จำเลยจะนำสืบเพื่อยกเป็นข้อต่อสู้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ได้แม้ก่อนหน้านี้จำเลยจะเคยแถลงต่อศาลทำนองว่า โจทก์รับโอนบ้านพิพาทมาโดยไม่สุจริต แต่การตั้งประเด็นในคดีต้องตั้งด้วยคำคู่ความ จะตั้งด้วยคำแถลงของคู่ความเพียงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหาได้ไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้รับโอนบ้านพิพาทมาจาก ค. ตามสัญญาซื้อขายที่สมบูรณ์และมีผลบังคับโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงเป็นเจ้าของบ้านพิพาทมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้
          ***ข้อสังเกต ข้อเท็จจริงตามฎีกานี้ จำเลยเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ซึ่งสามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ แต่ที่แพ้คดีเพราะเป็นเรื่องความบกพร่องในการต่อสู้คดี เนื่องจากไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ในเรื่องนี้คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบเพื่อต่อสู้โจทก์

          คู่สมรสที่ได้รับอสังหาริมทรัพย์มาจากสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาจากการจดทะเบียนหย่า เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้ว ถือว่าได้แบ่งทรัพย์สินเรียบร้อย แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนโอน แต่ถือว่าผู้นั้นอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14884/2558   ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 หย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ป.พ.พ. มาตรา 1532 (ก) บัญญัติให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า ข้อตกลงตามสำเนาบันทึกด้านหลังทะเบียนการหย่าระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยินยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 32498 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 6/82 ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามบทมาตราดังกล่าว มิใช่สัญญาให้ทรัพย์สินอันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 525 เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้ว ถือว่าทั้งสองฝ่ายได้จัดการแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว การที่จำเลยที่ 1 ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนของตนให้แก่ผู้ร้อง มีผลเพียงทำให้การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องยังไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่สิทธิของผู้ร้องตามสัญญาแบ่งทรัพย์สินที่นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้แล้วและผู้ร้องได้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวตลอดมา ทั้งเป็นผู้ชำระหนี้จำนองและไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ผู้ร้องไม่ใช่ผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ซึ่งนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์เท่านั้น โจทก์มิใช่ผู้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์จึงมิใช่บุคคลภายนอกที่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนของจำเลยที่ 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7695/2557  คำสั่งศาลชั้นต้นที่ห้ามจำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมใดๆ อันเป็นการจำหน่าย จ่าย โอนก่อให้เกิดภาระติดพันซึ่งที่ดินพิพาทและให้เจ้าพนักงานที่ดินระงับการจดทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาทไว้จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น เป็นคำสั่งอันเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวที่ศาลชั้นต้นได้สั่งไว้ในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (2) (3) ซึ่งเมื่อศาลชั้นต้นตัดสินให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี และคำพิพากษาที่ชี้ขาดตัดสินคดีนั้นมิได้กล่าวถึงวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ศาลได้สั่งไว้ ป.วิ.พ. มาตรา 260 (2) บัญญัติให้คำสั่งของศาลเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลคดีนี้ คำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ หากไม่สามารถจดทะเบียนโอนได้ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแทน สิทธิของโจทก์ในอันที่จะบังคับตามคำพิพากษาแก่จำเลยทั้งสามย่อมเป็นสิทธิของบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และสิทธิเช่นว่านี้มีลักษณะเป็นทรัพยสิทธิที่ไม่สูญสิ้นไปเพราะเหตุแห่งการไม่ใช้สิทธินั้น แม้โจทก์มิได้ร้องขอให้บังคับคดีจนล่วงพ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ก็ตาม คำสั่งวิธีการชั่วคราวของศาลก็หาได้หมดความจำเป็นแก่โจทก์เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลแต่อย่างใดไม่ จึงยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไปเพื่อการบังคับตามคำพิพากษาตามสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่

          ผู้ที่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ย่อมมีสิทธิดีกว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาด 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18606/2556   แม้การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 จะห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วก็ตาม แต่โจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและนำยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาด มิใช่ผู้ที่ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จึงไม่เป็นบุคคลภายนอกที่จะมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง และแม้ขณะโจทก์ยึดที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ถือว่าเป็นการยึดโดยชอบก็ตาม แต่เมื่อต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 การที่โจทก์นำยึดที่ดินพิพาทเป็นการบังคับคดีที่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องชอบจะขอให้ถอนการยึดที่ดินพิพาทได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288

           ***เมื่อผู้รับโอนคนแรกไม่สุจริตแล้ว ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1300 ผู้รับโอนคนถัดไปแม้จะรับโอนโดยเสียค่าตอบแทนและสุจริตก็ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองเช่นกัน ตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13689/2556  จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายและในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเอง แล้วโอนต่อไปให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นและโจทก์ทั้งสอง ย่อมเป็นการโอนไปหรือการจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสองจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300
          จำเลยที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งรับโอนมาจากจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยไม่มีค่าตอบแทน จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะกรณีไม่ต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสองให้แก่จำเลยที่ 3 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันโจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินพิพาทได้

          การรับมรดกที่ดิน (หรืออสังหาริมทรัพย์) เป็นการได้ทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินพิพาท จึงไม่อาจยกสิทธิการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง และมาตรา 1300
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1480/2563 เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใดแล้วต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะที่ตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมและทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดกไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาท และการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวไม่ตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 150 แม้จะทำให้โจทก์ทั้งสี่ผู้เป็นทายาทโดยธรรมได้รับความเสียหายไม่ได้รับมรดกที่ดินพิพาทก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 1 จะว่ากล่าวกันต่างหาก ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 3 กระทำการโดยไม่สุจริต แต่กลับบรรยายฟ้องว่าแม้จำเลยที่ 3 รับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เท่ากับโจทก์ทั้งสี่ยอมรับว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากโดยสุจริต คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากโดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตหรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นยินยอมให้โจทก์ทั้งสี่นำสืบพยานหลักฐานกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นการนำสืบพยานหลักฐานนอกเหนือไปจากคำฟ้อง คำให้การ อันเป็นการนำสืบไม่เกี่ยวแก่ประเด็นข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามมาตรา 87 (1) การที่โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทส่วนของผู้ตายเป็นการได้ทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งโจทก์ทั้งสี่ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินพิพาท จึงไม่อาจยกสิทธิการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง และมาตรา 1300 โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ได้ เมื่อจำเลยที่ 3 รับซื้อฝากที่ดินไว้โดยสุจริตแล้วจำเลยที่ 2 ไม่ไถ่ถอนการขายฝาก กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทย่อมตกแก่จำเลยที่ 3 โดยเด็ดขาด จำเลยที่ 3 ย่อมมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ได้ โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ได้เช่นเดียวกัน เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 แล้ว การที่จะเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและมิได้ฎีกาขึ้นมาด้วยแต่มูลความแห่งคดีระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 252

ความผิดฐานยักยอก


          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 352 "ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง"

          ความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352 ผู้กระทำผิด จะต้อง

          1.มีการครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
          2.เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง หรือเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปเป็นของบุคคลที่สาม
          3.กระทำโดยเจตนา
          4.ต้องกระทำโดยทุจริต (มีเจตนาพิเศษ)

           



          ความผิดฐานยักยอก ตาม ป.อ. มาตรา 352 นั้น ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งการกระทำที่ผู้กระทำความผิดครอบครองอยู่จะต้องเป็นวัตถุที่มีรูปร่างหรือจับต้องสัมผัสได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3256/2563  เมื่อศาลตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ว. แล้ว จำเลยไม่อาจจัดการมรดกให้เป็นไปทางหนึ่งทางใดตามอำเภอใจได้ แต่จักต้องทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกภายใต้กรอบและหลักเกณฑ์ที่ ป.พ.พ. กำหนดไว้ โดยประการสำคัญ จำเลยมีหน้าที่ต้องรวบรวมทรัพย์มรดกทั้งหลายของ ว. แล้วนำมาจัดการมรดกโดยทั่วไปและจัดสรรแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิทุกคนให้เป็นไปตามกฎหมายและตามพินัยกรรมของ ว. ซึ่งในการนี้ จำเลยต้องกระทำเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกด้วยความสุจริต โปร่งใสและตรงไปตรงมาอย่างเปิดเผยเพื่อไม่ได้เป็นที่คลางแคลงใจ อันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งต่อความสัมพันธ์อันดีในระหว่างทายาทผู้มีสิทธิทุกคน มิฉะนั้น จำเลยอาจต้องรับผิดในทางแพ่งต่อทายาทตามมาตรา 1720 ทั้งหากกระทำการโดยทุจริตเพื่อประโยชน์แก่ตนเองเป็นที่ตั้ง จำเลยก็อาจต้องรับผิดทางอาญาในความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 และ 354 
          ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งมีอำนาจและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ทั้งการจัดการมรดกเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องจัดการโดยตนเอง เว้นแต่เข้าข้อยกเว้นให้ผู้จัดการมรดกมอบให้ตัวแทนทำการได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้งหรือโดยปริยายในพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล หรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามมาตรา 1723 นอกจากนี้ ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งมิใช่ตัวแทนของทายาท โดยอำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกที่มีต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้จัดการมรดกจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทที่จะต้องจัดการมรดกเพื่อประโยชน์แก่ทายาทและกองมรดก โดยทายาทไม่มีอำนาจที่จะสั่งการให้ผู้จัดการมรดกกระทำการใด ๆ ได้ เพียงแต่ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 โดยกฎหมายให้นำบทบัญญัติบางมาตราในลักษณะตัวแทนมาใช้บังคับโดยอนุโลม และทายาทอยู่ในฐานะเป็นผู้ควบคุมการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกให้อยู่ในขอบอำนาจตามที่พินัยกรรมและกฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งมีอำนาจที่จะขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกที่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เมื่อการจัดการมรดกของ ว. เป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกที่จะต้องกระทำด้วยตนเอง โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ว. จึงไม่มีอำนาจบังคับจำเลยให้ดำเนินการขายที่ดินพิพาทในรูปแบบของคณะกรรมการขายที่ดินตามมติที่ประชุมทายาทและในทางกลับกัน จำเลยย่อมมีอำนาจเต็มที่ที่จะจัดการมรดกของ ว ได้โดยไม่จำต้องขออนุญาตหรือต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์หรือที่ประชุมทายาทก่อน  ว. เจ้ามรดก มิได้กำหนดให้ผู้จัดการมรดกกระทำโดยวิธีการใด เพียงแต่ระบุให้ทายาทรวม 6 คน ได้รับส่วนแบ่งทรัพย์สินคนละส่วนเท่า ๆ กัน ดังนั้น การแบ่งปันทรัพย์มรดกจึงต้องดำเนินการไปตามหลักเกณฑ์ที่มาตรา 1750 กำหนดไว้โดยเฉพาะ กล่าวคือ การแบ่งปันทรัพย์มรดกสามารถกระทำได้ 3 วิธี โดยวิธีแรก ให้ทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด วิธีที่สอง ให้ดำเนินการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท และวิธีที่สาม ให้ทายาทตกลงกันด้วยการทำรูปแบบของสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 และ 852 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทายาทหรือตัวแทนของทายาทเป็นสำคัญ จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกเลือกวิธีการแบ่งมรดกด้วยการขายที่ดินพิพาทเพื่อเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาทแม้จำเลยจะเป็นทายาทของ ว. ที่มีส่วนในทรัพย์มรดกมากกว่าโจทก์และทายาทคนอื่น แต่เมื่อการประมูลขายที่ดินพิพาทของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่ชอบมาพากลหลายประการ รูปคดีจึงบ่งชี้ว่าจำเลยไม่เพียงจัดการมรดกโดยมิชอบในทางแพ่งเท่านั้น แต่ยังมีเจตนากระทำความผิดทางอาญาด้วยการวางแผนแสวงหาประโยชน์จากที่ดินพิพาทอย่างเป็นขั้นเป็นตอนโดยทุจริต ซึ่งความในข้อนี้เห็นได้ชัดจากการที่จำเลยมอบหมายให้ อ. บุตรชายของจำเลยเข้าประมูลซื้อที่ดินพิพาทเพื่อให้เป็นของจำเลย โดยจำเลยไม่ได้นำมูลค่าของที่ดินพิพาท ที่ประมูลซื้อในราคา 8,150,000 บาท มาแบ่งปันแก่ทายาทแต่อย่างใด อีกทั้งจำเลยยังดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นที่ดินแปลงย่อย 4 แปลง แล้วขายที่ดินแปลงคงและแปลงย่อยรวม 5 แปลง ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. ให้แก่ ศ. ในราคาสูงถึง 19,000,000 บาท แล้วนำเงินเข้าบัญชีของจำเลย แม้ต่อมาจำเลยได้ถอนเงินจำนวน 9,000,000 บาท นำเข้าฝากในบัญชีกองมรดกของ ว. ก็ตาม แต่เงินอีก 10,000,000 บาท ไม่ใช่เงินส่วนตัวของจำเลยเพราะจำเลยขายที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกของ ว. คดีจึงรับฟังได้มั่นคงว่า จำเลยในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกของ ว. ตามคำสั่งศาลได้ครอบครองและเบียดบังเอาทรัพย์มรดกของ ว. เป็นของตนหรือของบุคคลที่สามโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ประกอบมาตรา 354
          โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญว่า จำเลยในฐานที่เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลได้กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยเบียดบังเอาทรัพย์สินของกองมรดกของ ว. ไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ซึ่งการเบียดบังเอาที่ดินมรดกไปหรือเบียดบังเอาเงินที่ได้จากการขายที่ดินมรดกไปก็ย่อมถือเป็นความผิดที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสิ้นฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยนำแคชเชียร์เช็คค่าซื้อที่ดินไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยจำนวนเงิน 10,000,000 บาท และ 9,000,000 บาท ตามลำดับ โดยเจตนาทุจริต ซึ่งคำฟ้องในลักษณะเช่นนี้ย่อมทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินค่าขายที่ดินมรดกไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ชอบ และเมื่อจำเลยได้รับสำเนาคำฟ้องแล้ว จำเลยก็ให้การปฏิเสธว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้อง อันเป็นการแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีและไม่หลงข้อต่อสู้ ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13089-13090/2558  ความผิดฐานยักยอก ตาม ป.อ. มาตรา 352 นั้น ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งการกระทำที่ผู้กระทำความผิดครอบครองอยู่จะต้องเป็นวัตถุที่มีรูปร่างหรือจับต้องสัมผัสได้ แต่หุ้นตามฟ้องเป็นเพียงสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงสิทธิและหน้าที่หรือส่วนได้เสียของโจทก์ร่วมทั้งสองที่มีอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จะเบียดบังยักยอกได้ ทั้งปรากฏว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นเพียงการยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนเท่านั้น ยังหามีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในหุ้นของโจทก์ร่วมทั้งสองไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสามตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2744/2562  ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 86 บัญญัติว่า "คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินก็โดยอาศัยบทสนธิสัญญาซึ่งบัญญัติให้มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้ และอยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ด้วย ภายใต้บังคับมาตรา 84 คนต่างด้าวดังกล่าวจะได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย... ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวง และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี" และมาตรา 94 บัญญัติว่า "บรรดาที่ดินที่คนต่างด้าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ได้รับอนุญาต ให้คนต่างด้าวนั้นจัดจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ซึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปี ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้น และให้นำบทบัญญัติเรื่องการบังคับจำหน่ายที่ดินตามความในหมวด 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" แม้โจทก์ร่วมเป็นคนต่างด้าว แต่บทบัญญัติมาตรา 86 แห่ง ป.ที่ดินมิได้ห้ามเด็ดขาดกรณีคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยคนต่างด้าวอาจขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ และแม้จะไม่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คนต่างด้าวก็ยังมีสิทธิที่จะจำหน่ายที่ดินต่อไปภายในระยะเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดตามมาตรา 94 คนต่างด้าวจึงมีความสามารถในการทำสัญญาเพื่อซื้อที่ดินได้ ดังนี้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นคนต่างด้าวทำกับ ก. เพื่อซื้อที่ดินจึงไม่ใช่นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย โจทก์ร่วมทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับ ก. ในราคา 9,000,000 บาท ชำระเงินมัดจำ 1,000,000 บาท โจทก์ร่วมในฐานะผู้ซื้อจึงมีหน้าที่ต้องชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่ ก. การที่โจทก์ร่วมโอนเงิน 8,000,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย ก็มีวัตถุประสงค์ให้จำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ร่วมนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลืออยู่แก่ ก. จำเลยได้รับมอบเงินของโจทก์ร่วมไว้ในครอบครองของจำเลยแล้ว จำเลยไม่นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระให้แก่ผู้ขาย แต่จำเลยเบียดบังเอาเงินนั้นไว้เป็นของตนเองโดยทุจริต โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง อันถือได้ว่าเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมจึงมีอำนาจร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวน และโจทก์มีอำนาจฟ้อง 
          โจทก์ร่วมโอนเงิน 8,000,000 บาท ไปยังบัญชีเงินฝากของจำเลย เพื่อให้จำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือแก่ ก. แต่จำเลยไม่นำเงินไปชำระ และไม่คืนเงินให้แก่โจทก์ร่วม จำเลยครอบครองเงินของโจทก์ร่วมแล้วเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นของตนเองโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอกและต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ร่วม 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6811/2559  ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพียงแต่โจทก์อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนผู้อื่นเท่านั้น ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 จะต้องได้ความในเบื้องต้นเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เมื่อที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อยู่ โจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ถูกผู้อื่นยักยอกทรัพย์ได้และสิทธิดังกล่าวที่โจทก์มีอยู่ ไม่ใช่ทรัพย์ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 352 ซึ่งหมายถึงทรัพย์ที่มีรูปร่าง จึงไม่อาจถูกยักยอกได้ เมื่อทางนำสืบของโจทก์เองโจทก์มิเคยได้มอบหมายให้จำเลยที่ 5 นำสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไปดำเนินการใดๆ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 5 ไปดำเนินการโดยพลการ เงินที่ได้มาจึงมิใช่เงินที่จำเลยที่ 5 จะต้องส่งมอบให้แก่โจทก์ โจทก์มีแต่สิทธิที่จะบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น

          ฟ้องว่าจำเลยยักยอกผลกำไร ดังนั้น ผลกำไรอันจำเลยเบียดบังไปมีจำนวนเท่าใดย่อมถือเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดอันเป็นมูลกรณีของความผิด โจทก์จึงต้องแสดงในฟ้องให้ชัดเจน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 264/2564  เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า ป. บิดาโจทก์กับจำเลย ซึ่งเป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการค้าไม้และจำหน่ายโลงศพมีผลกำไรจากการประกอบกิจการซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนต้องแบ่งปันกัน และจำเลยเบียดบังผลกำไรในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. ไปโดยทุจริต ผลกำไรอันจำเลยเบียดบังไปมีจำนวนเท่าใดย่อมถือเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดอันเป็นมูลกรณีของความผิด โจทก์จึงต้องแสดงในฟ้องให้ชัดเจนว่าเมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันเนื่องจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งตายแล้ว สินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนที่เหลืออยู่ภายหลังการชำระหนี้ที่กฎหมายกำหนดลำดับก่อนหลังไว้ อันถือเป็นผลกำไรของห้างหุ้นส่วนนั้นมีอยู่จำนวนเท่าใด และผลกำไรในส่วนของ ป. ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเบียดบังเอาไปโดยทุจริตมีอยู่เท่าใด เพื่อที่จำเลยจะได้ตรวจสอบและต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้องว่าผลกำไรนั้นหากมีอยู่จริง ใช่ตามจำนวนที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาหรือไม่ โจทก์จะบรรยายฟ้องเพียงว่าห้างหุ้นส่วนมีผลกำไรแล้วสืบพยานในภายหลังเพื่อแสดงให้เห็นจำนวนผลกำไรในส่วนของ ป. หาได้ไม่


          ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12675/2558  ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 96 คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมเองว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 จำเลยยอมรับกับโจทก์ร่วมว่าได้ยักยอกเงินค่าจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วมไปจริง ดังนี้ จึงเท่ากับโจทก์ร่วมได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว การที่โจทก์ร่วมให้จำเลยนำเงินมาชดใช้คืนและจะตรวจสอบบัญชีเพื่อทราบยอดเงินที่สูญหายไปให้ชัดแจ้งอีกครั้งดังที่อ้าง เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมยอมผ่อนผันหรือให้โอกาสแก่จำเลยในฐานะที่เคยเป็นลูกจ้างของตนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิในการร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมขยายออกไป ดังนั้นเมื่อโจทก์ร่วมเพิ่งไปร้องทุกข์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 จึงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมในความผิดฐานยักยอกจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2566  เช็คตามฟ้องข้อ 2.4, 2.5, 2.7 ถึงข้อ 2.13 โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเกินกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 ส่วนเช็คตามฟ้องข้อ 2.1, 2.2, 2.3 และข้อ 2.14 โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนร่วมกับเช็คตามฟ้องข้อ 2.6 ให้ดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาปลอมเอกสาร โดยไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีข้อหายักยอก ซึ่งความผิดข้อหาปลอมเอกสารและความผิดข้อหายักยอกมีองค์ประกอบความผิดที่แตกต่างกัน อีกทั้งความผิดข้อหายักยอกเป็นความผิดอันยอมความได้ หากผู้เสียหายไม่มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตามระเบียบแล้ว พนักงานสอบสวนไม่อาจรับคดีไว้ดำเนินการได้ การที่โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีข้อหาปลอมเอกสาร แสดงว่าโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีข้อหายักยอก เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้เกินกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 เช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626/2565  กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตฯ จัดตั้งขึ้นตามแนวทางที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด โดยมีคณะกรรมการที่ได้รับคัดเลือกโดยมติที่ประชุมสมาชิก เงินฝากที่สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฝากมาเพื่อให้สมาชิกกู้ยืมถือเป็นกิจการของกลุ่มออมทรัพย์ และคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในเงินส่วนนี้ การที่คณะกรรมการเลือกให้จำเลยทั้งสามเป็นตัวแทนดูแลเงินฝากของสมาชิก ก็มีวัตถุประสงค์ให้จำเลยทั้งสามเป็นตัวแทนของคณะกรรมการในการเก็บรักษาเงิน เมื่อเงินที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสามหายไป คณะกรรมการย่อมเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทุจริตเงินดังกล่าว และมีอำนาจทำหนังสือมอบอำนาจแต่งตั้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นตัวแทนร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้ ธ. ผู้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการจึงมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม เมื่อ ธ. เป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ที่นำฝากเงินกับกลุ่มออมทรัพย์ดังกล่าวด้วยคนหนึ่ง เมื่อมีผู้ยักยอกเงินที่นำฝากไป ธ. ย่อมได้รับความเสียหาย ธ. จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากสมาชิกอื่นหรือจากคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ การที่คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์มอบอำนาจให้ ธ. ไปร้องทุกข์ถือได้ว่า ธ. ร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหายด้วย การแจ้งความร้องทุกข์ของ ธ. จึงเป็นไปโดยชอบ และไม่จำต้องให้สมาชิกทุกคนร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง

          ความผิดฐานยักยอกเป็นความผิดอันยอมความได้ ถ้าหากมีการยอมความกันถูกต้องตามกฎหมาย คดีย่อมเป็นอันเลิกกัน สิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องย่อมเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2598/2565  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของโจทก์ร่วม ตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้น คู่ความตกลงกันได้ โดยจำเลยตกลงชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมได้รับชำระครบถ้วนแล้ว โจทก์ร่วมจะถอนคำร้องทุกข์ให้แก่จำเลย ข้อตกลงดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าโจทก์ร่วมสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันที แต่กลับมีเงื่อนไขให้จำเลยชำระหนี้ให้ครบถ้วนเสียก่อน โจทก์ร่วมจึงจะถอนคำร้องทุกข์ให้แก่จำเลย ศาลชั้นต้นจึงให้จำหน่ายคดีชั่วคราวและนัดพร้อมเพื่อฟังผลการชำระหนี้หรือนัดฟังคำพิพากษาตามคำแถลงของคู่ความเพื่อให้โอกาสแก่จำเลยนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อถึงกำหนดนัด จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมบางส่วน และประสงค์จะชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมอีก แต่จำเลยไม่สามารถชำระเงินแก่โจทก์ร่วมตามที่ตกลงกันและขอเลื่อนนัดไปอีกหลายนัด จำเลยยังคงไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วมจนครบถ้วน โจทก์ร่วมจึงแถลงขอให้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย ยิ่งทำให้เห็นเจตนาของโจทก์ร่วมชัดเจนว่า ตราบใดที่จำเลยยังไม่ได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ร่วมครบถ้วน โจทก์ร่วมก็ยังติดใจที่จะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยอยู่เช่นเดิม ดังนี้ ข้อตกลงที่โจทก์ร่วมให้จำเลยผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมดังกล่าว จึงไม่ได้มีลักษณะเป็นการยอมความอันจะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องต้องระงับสิ้นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

          ครอบครองเช็คพิพาทโดยผู้เสียหายเป็นผู้มอบการครอบครองให้แก่จำเลยซึ่งทำงานตำแหน่งสมุบัญชี การที่จำเลยเอาเช็คพิพาทของผู้เสียไปเข้าบัญชีตนเองเพื่อเรียกเก็บเงิน เป็นความผิดฐานยักยอก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2558  ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 และความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 188 นั้น แตกต่างกัน การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของแต่ละความผิดนั้น คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาทโดยโจทก์เป็นผู้มอบการครอบครองให้แก่จำเลย การที่จำเลยเอาเช็คพิพาทของโจทก์ไปเรียกเก็บเงิน นอกจากเป็นความผิดฐานยักยอกแล้ว ย่อมเป็นการกระทำให้เช็คพิพาทนั้นไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 188 อีกบทหนึ่งด้วย
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มี ม. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จำเลยเข้าทำงานเป็นพนักงานของโจทก์ตำแหน่งสมุห์บัญชี ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง จำเลยนำเช็ค 149 ฉบับ ของโจทก์ โดยมี ย. กรรมการผู้จัดการโจทก์ขณะนั้นเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย เข้าบัญชีของจำเลยที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค
          มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ซึ่งไม่มีอำนาจสอบสวนตามกฎหมาย จึงไม่เป็นการร้องทุกข์และการที่โจทก์อ้างว่ารู้ถึงการกระทำความผิดของจำเลยเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2552 ก็เพื่อให้เห็นว่า เป็นการร้องทุกข์ภายในอายุความ ซึ่งความจริงโจทก์ควรจะทราบว่าจำเลยนำเช็คของโจทก์ไปเรียกเก็บเงินตั้งแต่โจทก์ให้จำเลยออกจากงานเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2551 และในวันเดียวกันนั้น โจทก์แจ้งอายัดเช็คจำนวน 9 ฉบับ ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลย เมื่อโจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้วันที่ 6 มกราคม 2554 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 จำเลยจึงยกปัญหานี้ขึ้นฎีกาได้ ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของ ม. ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3242/2552 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ว่า โจทก์ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกรายการบัญชีและใบนำฝากของจำเลย โดยได้รับรายการบัญชีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552 และได้รับเอกสารใบนำฝากเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 จึงทราบว่าจำเลยนำเช็คของโจทก์เข้าบัญชีของจำเลย เห็นว่า อายุความในการร้องทุกข์สำหรับความผิดอันยอมความได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 มีกำหนดเวลาสามเดือน นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดประกอบกันทั้งสองประการ กฎหมายหาได้บัญญัติให้นับอายุความร้องทุกข์ตั้งแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดไม่ ดังนั้น ถึงแม้ว่าโจทก์จะให้จำเลยออกจากงานเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2551 อันจะถือได้ว่าโจทก์รู้ตัวผู้กระทำความผิดก็ตาม แต่โจทก์ก็ยังไม่รู้เรื่องความผิด จนกระทั่งโจทก์ได้รับรายการบัญชีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552 และได้รับเอกสารใบนำฝากวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 เมื่อโจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนวันที่ 29 ตุลาคม 2552 ซึ่งอยู่ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด แม้โจทก์นำคดีมาฟ้องหลังจากวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเกินสามเดือน แต่ยังอยู่ภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 95 คดีของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อที่สองว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า การกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไป ถ้าไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง เงินที่จำเลยอ้างว่าให้ ย. กู้ยืมไปนั้นมีจำนวนมาก แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการทำหลักฐานการกู้ยืมกันเป็นหนังสือ ข้อกล่าวอ้างของจำเลยคงมีเพียงคำเบิกความลอยๆ ของจำเลยและจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เช็คส่วนใหญ่จำเลยเป็นผู้เขียนไม่ได้ระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงินเจือสมกับคำเบิกความของ ม. ว่าเช็คเป็นเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายเพื่อค้ำประกันหนี้ค่าจ้าง ค่าวัสดุอุปกรณ์ให้แก่คู่ค้าของโจทก์ ที่โจทก์สั่งทำเพื่อใช้ในกิจการรับเหมาก่อสร้าง เมื่อโจทก์ชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าครบถ้วนแล้ว คู่ค้าก็จะคืนเช็คให้แก่โจทก์เพื่อทำลายต่อไป โดยเช็คจำเลยเป็นผู้ทำ ผู้ส่ง และผู้รับคืนจากคู่ค้าทั้งต้องเป็นผู้ทำลายด้วย เมื่อเช็คพิพาทรวม 129 ฉบับ เป็นเช็คที่โจทก์ออกให้แก่คู่ค้าโดยมอบให้จำเลยเป็นผู้นำไปมอบให้แก่คู่ค้าของโจทก์ จำเลยจึงเป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาท 129 ฉบับ ในฐานะตัวแทนของโจทก์ จำเลยมีหน้าที่ต้องนำเช็คพิพาท 129 ฉบับ ไปมอบให้แก่คู่ค้าของโจทก์ เมื่อจำเลยนำเช็คพิพาทเข้าบัญชีของจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงินและมีการเรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาทได้ พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการเบียดบังเอาเช็คพิพาทของโจทก์ไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอกเช็คพิพาท ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตามมาตรา 188 หมายถึง ผู้กระทำความผิดต้องเอาพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น โดยทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ โดยมิได้เอาเอกสารนั้นมาเป็นของตนเองและหากจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ก็ไม่อาจเป็นความผิดตามมาตรา 188 ได้ นั้น เห็นว่า ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตามมาตรา 188 นั้นแตกต่างกัน การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของแต่ละความผิดนั้น คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาทโดยโจทก์เป็นผู้มอบการครอบครองให้แก่จำเลย การที่จำเลยเอาเช็คพิพาทของโจทก์ไปเรียกเก็บเงิน ย่อมเป็นการกระทำให้เช็คพิพาทนั้นไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 อีกบทหนึ่งด้วย ข้อเท็จจริงตามฎีกาที่จำเลยอ้างมานั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงคดีนี้ สำหรับฎีกาข้ออื่นนอกจากนี้ เป็นประเด็นปลีกย่อย ซึ่งไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น


          จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานบัญชีมีหน้าที่ตั้งเรื่องเบิกจ่ายเสนอให้กรรมการบริษัทฯผู้เสียหายพิจารณาอนุมัติและสั่งจ่ายเช็ค มีเจตนาทุจริตแต่แรก โดยทำใบสำคัญจ่ายฉบับใหม่อำพรางให้เข้าใจว่ามีการโอนเงินที่กรรมการบริษัทฯผู้เสียหายอนุมัติเบิกจ่ายทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อยักยอกเงินตามเช็คหรือเงินส่วนต่างที่เหลือจากการโอนชำระหนี้เป็นของตนกับพวก จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานยักยอก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15733/2557  โจทก์ร่วมประกอบกิจการค้าวัสดุก่อสร้าง มี ส. และ ณ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานบัญชีมีหน้าที่ตั้งเรื่องเบิกจ่ายเสนอให้ ณ. พิจารณาอนุมัติและสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานขาย มีหน้าที่นำเช็คที่ ณ. สั่งจ่ายไปถอนเงินและโอนเงินชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ร่วม การที่จำเลยที่ 1 เสนอเรื่องให้ ณ. อนุมัติและลงชื่อสั่งจ่ายเช็คตามฟ้อง ทั้งที่ไม่มีหนี้ต้องชำระ หรือมีหนี้แต่ให้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินมีจำนวนสูงกว่ายอดหนี้ที่แท้จริง เป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริตแต่แรก โดยทำใบสำคัญจ่ายฉบับใหม่อำพรางให้เข้าใจว่ามีการโอนเงินที่ ณ. อนุมัติเบิกจ่ายทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อยักยอกเงินตามเช็คหรือเงินส่วนต่างที่เหลือจากการโอนชำระหนี้เป็นของตนกับพวก จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานยักยอก
          แม้จำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำใบสำคัญจ่าย แต่ต้องเสนอให้ ณ. พิจารณาอนุมัติก่อนจึงจะมีการจ่ายเงินชำระหนี้ได้ ดังนั้นใบสำคัญจ่ายที่ ณ. ลงชื่ออนุมัติย่อมเป็นหลักฐานการเบิกจ่ายเงินที่เสร็จสมบูรณ์ จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจแก้ไขโดยพลการ การที่จำเลยที่ 1 ทำใบสำคัญจ่ายฉบับใหม่แทนฉบับเดิม โดยมีจำนวนเงินที่อนุมัติสั่งจ่ายลดลงจากเดิมเพื่อยักยอกเงินส่วนต่างของโจทก์ร่วม เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และทำให้โจทก์ร่วมเสียหาย มิใช่การกระทำตามอำนาจหน้าที่ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานปลอมเอกสาร

          ความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดอันยอมความได้หรือความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน ยกเว้นแต่จะต้องมีคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14785/2557  วันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ร่วมร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าโจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบกิจการขายรถยนต์ใช้แล้วด้วยกัน โดยโจทก์ร่วมเป็นผู้ออกเงินทุนซื้อรถยนต์ใช้แล้วจากนั้นนำไปมอบให้จำเลยทั้งสองเสนอขาย เมื่อขายได้โจทก์ร่วมจะได้รับเงินทุนคืนพร้อมเงินกำไรร้อยละหกสิบ ส่วนจำเลยทั้งสองจะได้เฉพาะเงินกำไรร้อยละสี่สิบ โจทก์ร่วมนำรถยนต์ 6 คันตามฟ้องไปมอบให้จำเลยทั้งสองเสนอขาย เมื่อจำเลยทั้งสองขายได้แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันเบียดบังเอาเงินที่ขายได้ไปโดยทุจริต ซึ่งเป็นการร้องทุกข์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกเงินที่ได้จากการขายรถยนต์ของโจทก์ร่วม แต่หลังจากนั้นในวันที่ 18 เมษายน 2549 พนักงานสอบสวน สอบสวนโจทก์ร่วมเพิ่มเติมว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วม ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์ไว้ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 การสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าวจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง เพราะมิใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วมเป็นคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

          การเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นสินสมรสไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12250/2557  โจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนสมรสที่ประเทศออสเตรเลีย และลงทุนทำไร่องุ่น ต่อมาจำเลยย้ายกลับมาอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้หย่าขาดกับโจทก์ร่วม เงินค่าชดเชยที่รัฐบาลออสเตรเลียจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมและจำเลยกรณีเลิกทำไร่องุ่น เป็นเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์ร่วมส่งเงินชดเชยมาให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำเงินดังกล่าวไปซื้อทรัพย์พิพาท แม้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ทรัพย์พิพาทยังคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยขอแบ่งสินสมรสและขอใช้อำนาจปกครองบุตรที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทไว้แก่พันตำรวจเอก ม. จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
          ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย โจทก์ร่วมกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท การที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่พันตำรวจเอก ม. โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมก่อน และไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนดเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

          สัญญาการเลี้ยงไก่ซึ่งต้องวางเงินประกันไว้ก่อนจำนวนหนึ่งเพื่อรับลูกไก่จากโจทก์ร่วมมาเลี้ยงและเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่สามารถชำระค่าไก่ตั้งแต่ตอนรับลูกไก่ได้โดยไม่จำต้องรอให้ไก่ใหญ่ก่อน เป็นลักษณะสัญญาซื้อขายลูกไก่ ไม่ได้ฝากทรัพย์หรือจ้างเลี้ยงแต่อย่างใด ไก่จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของเกษตรกรผู้เลี้ยง เพียงแต่มีข้อตกลงพิเศษว่า เมื่อเลี้ยงเป็นไก่ใหญ่แล้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ต้องนำมาขายให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำแหละขายเป็นไก่เนื้อเท่านั้น ฉะนั้นการนำไก่ไปขายแก่บุคคลอื่นของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่จึงไม่มีมูลความผิดฐานยักยอก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8430-8432/2557 สัญญาการเลี้ยงไก่มีสาระสำคัญว่าจำเลยที่ 3 ต้องวางเงินประกันไว้ก่อนจำนวนหนึ่งเพื่อรับลูกไก่จากโจทก์ร่วมมาเลี้ยง และเมื่อส่งไก่ใหญ่ให้แก่โจทก์ร่วมจึงจะคิดราคาไก่ที่ส่งกับต้นทุนทุกอย่างที่รับไปจากโจทก์ร่วม เช่น ลูกไก่ อาหารไก่ วัคซีน และการขนส่ง ถ้าคิดราคาไก่ที่ส่งได้เงินสูงกว่าราคาต้นทุน จำเลยที่ 3 ก็ได้กำไร แต่หากคิดราคาไก่ได้น้อยก็ขาดทุนซึ่งโจทก์ร่วมจะหักเงินประกันชำระต้นทุนส่วนที่ขาด หลังจากโจทก์ร่วมส่งลูกไก่ให้แก่จำเลยที่ 3 แล้ว ความรับผิดชอบในตัวไก่ทั้งหมดตกไปอยู่แก่จำเลยที่ 3 ผู้เลี้ยงโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยง การดูแลรักษา หรือการป้องกันภัยต่าง ๆ ซึ่งจะเกิดแก่ตัวไก่ หากเกิดความเสียหายอย่างใด ๆ ขึ้นไม่ว่าจะเป็นไก่ตาย ไก่เป็นโรค หรือไก่พิการจำเลยที่ 3 ก็ต้องรับไปซึ่งความเสียหายนั้นเพียงผู้เดียว กล่าวคือ จำเลยที่ 3 ก็จะไม่มีไก่ไปส่งหรือไก่ที่ส่งไม่ได้น้ำหนักและราคา อันจะทำให้จำเลยที่ 3 ขาดทุนเมื่อคิดหักกับต้นทุน เช่น ค่าลูกไก่ ค่าอาหารหรือค่าวัคซีนที่รับไปจากโจทก์ร่วม ซึ่งกรณีขาดทุนโจทก์ร่วมก็จะหักเอาจากเงินประกัน แสดงว่า ในส่วนของโจทก์ร่วมลูกไก่ที่มอบให้จำเลยที่ 3 ไปเลี้ยงจะได้คืนหรือไม่ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะแม้ไม่ได้คืนหรือได้คืนในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ โจทก์ร่วมก็สามารถหักเอาเงินประกันได้ ดังนั้น โจทก์ร่วมจึงไม่อาจอ้างความเป็นเจ้าของลูกไก่หลังจากส่งมอบให้จำเลยที่ 3 ไปแล้วได้แม้ในสัญญาการเลี้ยงไก่จะเขียนให้โจทก์ร่วมยังมีกรรมสิทธิ์อยู่ก็ตาม นอกจากนั้น พิเคราะห์จากคำเบิกความของ ว. กรรมการผู้จัดการโจทก์ร่วมที่ตอบทนายจำเลยที่ 3 ถามค้านว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่สามารถชำระค่าไก่ตั้งแต่ตอนรับลูกไก่ได้โดยไม่จำต้องรอให้ไก่ใหญ่ก่อน ก็เห็นได้ชัดว่า โจทก์ร่วมมอบลูกไก่ให้จำเลยที่ 3 ไปเลี้ยงในลักษณะซื้อขาย ไม่ได้ฝากทรัพย์หรือจ้างเลี้ยงแต่อย่างใด เพียงแต่มีข้อตกลงพิเศษว่า เมื่อเลี้ยงเป็นไก่ใหญ่แล้ว จำเลยที่ 3 ต้องนำมาขายให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำแหละขายเป็นไก่เนื้อเท่านั้น ฉะนั้นการนำไก่ไปขายของจำเลยที่ 3 จึงไม่มีมูลความผิดฐานยักยอก

          จำเลยมีหน้าที่นำน้ำมันของโจทก์ร่วมไปขายและรับเงินค่าขายน้ำมันจากลูกค้า ถือว่าจำเลยได้รับมอบเงินดังกล่าวไว้ในครอบครองในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วมและมีหน้าที่ส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยเบียดบังเอาไปบางส่วน จึงเป็นการยักยอกเงินค่าขายน้ำมันของโจทก์ร่วม เป็นความผิดฐานยักยอก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3859/2557  จำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำน้ำมันของโจทก์ร่วมไปขายและรับเงินค่าขายน้ำมันจากลูกค้า ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบเงินดังกล่าวไว้ในครอบครองในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วมและมีหน้าที่ส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยที่ 1 เบียดบังเอาไปบางส่วน จึงเป็นการยักยอกเงินค่าขายน้ำมันของโจทก์ร่วม เป็นความผิดฐานยักยอก แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญและจำเลยที่ 1 ไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215, 225 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังว่า โจทก์ร่วมประกอบกิจการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเปิดปั๊มน้ำมันและมีรถบรรทุกหกล้อนำน้ำมันไปขายแก่ลูกค้า จำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างโจทก์ร่วมประจำรถบรรทุกหกล้อคันหนึ่งโดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขับรถบรรทุกน้ำมัน เขียนใบเสร็จรับเงิน จดชื่อลูกค้า จำนวนน้ำมันและเงินค่าขายน้ำมันลงในสมุดคุมรายการชื่อลูกค้า และเก็บเงินค่าขายน้ำมันจากลูกค้านำส่งให้แก่โจทก์ร่วม ส่วนจำเลยที่ 2 ทำงานคู่กับจำเลยที่ 1 มีหน้าที่จับหัวจ่ายน้ำมันจากรถบรรทุกน้ำมันจ่ายน้ำมันให้แก่ลูกค้า ในช่วงวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยที่ 1 ลักเงินค่าขายน้ำมันเบนซินของโจทก์ร่วมรวม 21 ครั้ง เป็นเงิน 92,706 บาท ไปโดยจำเลยที่ 1 รับเงินค่าขายน้ำมันและเขียนใบเสร็จรับเงินเท่าที่ขายไป แต่ลงรายการขายน้ำมันในสมุดคุมรายการชื่อลูกค้าน้อยกว่าที่เขียนในใบเสร็จรับเงิน ตามใบเสร็จรับเงินและสมุดคุมรายการชื่อลูกค้า แล้วเอาเงินค่าน้ำมันที่เป็นส่วนต่างของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างไป
          มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 เอาเงินค่าขายน้ำมันซึ่งเป็นส่วนต่างจากใบเสร็จรับเงินไปนั้น นอกจากจำเลยที่ 1 ลงรายการขายน้ำมันในสมุดคุมรายการชื่อลูกค้าน้อยกว่าที่เขียนใบเสร็จรับเงินแล้ว จำเลยที่ 1 ยังต้องหมุนตัวเลขมิเตอร์แถบบนให้น้อยลงให้ตรงตามที่ปรากฏในสมุดคุมรายการชื่อลูกค้าในแต่ละวันก่อนกลับด้วย ดังนี้ แม้จำเลยที่ 2 ทำงานร่วมกับจำเลยที่ 1 ทั้งวัน แต่จำเลยที่ 2 มีหน้าที่เพียงจับหัวจ่ายน้ำมันจากรถบรรทุกน้ำมันจ่ายน้ำมันให้แก่ลูกค้า ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรับเงินค่าขายน้ำมัน การเขียนใบเสร็จรับเงินและการลงสมุดคุมรายการชื่อลูกค้า ส่วนการหมุนตัวเลขมิเตอร์แถบบนย้อนกลับนั้น โจทก์ร่วมฎีกาว่า จะกระทำคนเดียวไม่ได้ต้องมีคนช่วยอย่างน้อย 2 คน โดยคนหนึ่งยกมิเตอร์ออก อีกคนหมุนตัวเลขย้อนกลับ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที และใช้เวลาประกอบมิเตอร์เข้าไปอีกประมาณ 30 นาที นั้น เห็นว่า นายเพทายเบิกความถึงวิธีการหมุนตัวเลขมิเตอร์แถบบนย้อนกลับเท่านั้น ไม่ได้เบิกความว่าต้องใช้จำนวนคนเท่าใด และใช้เวลาเท่าใด อย่างไรก็ดีเมื่อพิเคราะห์ภาพถ่ายแล้ว เป็นภาพถ่ายแสดงการหมุนตัวเลขมิเตอร์แถบบนย้อนกลับโดยวิธีถอดแกนสลักออกแล้วหมุนตัวเลขย้อนกลับและนำแกนสลักใส่กลับตามเดิม โดยไม่ต้องยกมิเตอร์ออกมา ดังนี้ คนเพียงคนเดียวก็สามารถหมุนตัวเลขมิเตอร์แถบบนย้อนกลับได้และใช้เวลาไม่นาน จำเลยที่ 1 อาจกระทำการดังกล่าวโดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยก็ได้ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมตกอยู่ในความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 เอาเงินค่าขายน้ำมันของโจทก์ร่วมไปหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
          อนึ่ง จำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำน้ำมันของโจทก์ร่วมไปขายและรับเงินค่าขายน้ำมันจากลูกค้า ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบเงินไว้ในครอบครองในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วมและมีหน้าที่ส่งมอบเงินให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยที่ 1 เบียดบังเอาไปบางส่วน จึงเป็นการยักยอกเงินค่าขายน้ำมันของโจทก์ร่วม เป็นความผิดฐานยักยอก แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญและจำเลยที่ 1 ไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215, 225 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

          กรณีที่จำเลยมิได้รับมอบหมายให้รับสิ่งของไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ หากแต่จำเลยครอบครองโดยอาศัยอำนาจแห่งสัญญาที่โจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน เมื่อจำเลยไม่ส่งเงินที่ขายได้หรือไม่ส่งคืนสิ่งของที่ยังขายไม่ได้ให้โจทก์ ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7836/2556  จำเลยรับเครื่องประดับจากโจทก์ไปจำหน่าย โดยจำเลยสั่งจ่ายเช็คระบุจำนวนเงินตามมูลค่าเครื่องประดับนั้น ๆ ให้โจทก์ยึดถือไว้ เมื่อจำเลยนำเงินค่าเครื่องประดับมาชำระ โจทก์จะคืนเช็คให้จำเลย พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุให้เชื่อได้ว่า ราคาที่โจทก์กำหนดตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องนั้น แท้จริงแล้วคือราคาที่จำเลยจะต้องออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้ ดังนั้น ผลประโยชน์ตอบแทนที่จำเลยจะได้รับจากการทำธุรกิจเช่นนี้กับโจทก์ก็คือ ส่วนต่างของราคาเครื่องประดับที่จำเลยขายให้แก่ลูกค้ากับราคาที่โจทก์กำหนดโดยจำเลยต้องออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้นั่นเอง กรณีจึงมิใช่จำเลยได้รับมอบหมายให้รับเครื่องประดับไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ หากแต่จำเลยครอบครองโดยอาศัยอำนาจแห่งสัญญาที่โจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน เมื่อจำเลยไม่ส่งเงินที่ขายได้หรือไม่ส่งคืนเครื่องประดับที่ยังขายไม่ได้ให้โจทก์ ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอก แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6331/2562  โจทก์ร่วมมอบทับทิมให้จำเลยไปขายโดยกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ จำเลยจะขายในราคาที่สูงกว่าก็ได้ จำเลยเพียงแต่มีหน้าที่นำเงินตามราคาที่โจทก์ร่วมกำหนดไว้มาชำระคืนให้แก่โจทก์ร่วมเท่านั้น ลักษณะเช่นนี้จำเลยย่อมมีสิทธิขายทับทิมอย่างเป็นของของตนเอง หาใช่เป็นตัวแทนไปขายในนามของโจทก์ร่วมไม่ แม้จะมีข้อตกลงให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 3 ของเงินที่ขายทับทิมได้ ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเปลี่ยนแปลงไป เมื่อจำเลยขายทับทิมได้แล้วไม่ส่งเงินให้แก่โจทก์ร่วมจนครบถ้วน ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาทางแพ่งต่อโจทก์ร่วมเท่านั้น การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์


          ความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัว หากคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้  และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7832/2556  จำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ ขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ เมื่อในขณะกระทำความผิดผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อดังกล่าว การกระทำของจำเลยกับพวกย่อมทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายที่ 1 แต่ก็ถือว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะที่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายด้วยเช่นกัน ผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ และย่อมมีอำนาจในการถอนคำร้องทุกข์ เมื่อความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัวและคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา ผู้เสียหายที่ 2 ถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

          การครอบครองทรัพย์อันจะเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้นจะต้องได้รับมอบการครอบครองดูแลจัดการโดยเด็ดขาด มิใช่เพียงชั่วคราว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4169/2556  จำเลยเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสำนักงานของโจทก์ร่วม การควบคุม ดูแล เก็บรักษาสินค้า เบิกจ่ายสินค้าและทำบัญชีเบิกจ่ายสินค้าในสต็อกจึงเป็นเพียงการทำงานในหน้าที่และดูแลสินค้าชั่วคราวในเวลาที่จำเลยทำงานเท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมได้มอบการครอบครองสินค้าให้แก่จำเลยไปดูแลจัดการโดยเด็ดขาดไม่ ดังนี้ แม้หากมีสินค้าของโจทก์ร่วมขาดหายไปจากสต็อกซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยยักยอกสินค้าของโจทก์ร่วมหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสำนักงานของโจทก์ร่วม การควบคุม ดูแล เก็บรักษาสินค้า เบิกจ่ายสินค้าและทำบัญชีเบิกจ่ายสินค้าในสต็อกจึงเป็นเพียงการทำงานในหน้าที่และดูแลสินค้าชั่วคราวในเวลาที่จำเลยทำงานเท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมได้มอบการครอบครองสินค้าให้แก่จำเลยไปดูแลจัดการโดยเด็ดขาดไม่ ดังนี้ แม้หากมีสินค้าของโจทก์ร่วมขาดหายไปจากสต็อกซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก คงมีปัญหาว่า จำเลยลักทรัพย์สินค้าของโจทก์ร่วมหรือไม่ อันมิใช่ข้อแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญหรือเป็นเรื่องเกินคำขอ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง เห็นว่า ในคดีอาญาที่จำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องนำสืบพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำผิดให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดจริง แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ความเพียงว่า นางสิริพัชรเพียงนำรายการสินค้าที่โจทก์ร่วมขอเบิกมาจากบริษัทไมด้าเอ็กซ์เซ็ส จำกัด มาเปรียบเทียบกับรายการสินค้า BARTER ส่งฝากขายที่ไมด้า ใบสรุปรายการรับเงินจากการขายของ BARTER/ค่าขายนิตยสาร ซึ่งจำเลยทำขึ้น แล้วพบว่าสินค้าขาดหายไปหลายรายการตามใบสรุปผลการตรวจนับสินค้า BARTER และใบสรุปยอดสินค้าขาดสต็อกเท่านั้น หาได้มีผู้ใดพบเห็นว่าจำเลยเป็นผู้ที่ลักสินค้าดังกล่าวไปอย่างไรและเมื่อใดไม่ ลำพังการตรวจสอบด้านเอกสารแล้วพบว่ามีสินค้าขาดหายไปจากสต็อกในขณะอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยแล้วจะพึงอนุมานเอาว่าจำเลยต้องเป็นคนเอาไปย่อมไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นที่นางสิริพัชรเบิกความตอบโจทก์ว่า พยานตรวจสอบเอกสารที่จำเลยทำขึ้นพบว่ามีผู้มาขอเบิกสินค้าไปจากจำเลยแล้วเรียกเก็บค่าสินค้าไม่ได้หลายรายการ กับพบว่าจำเลยเรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากผู้เบิกสินค้าได้แล้ว แต่จำเลยไม่ได้นำเงินเข้าบัญชีให้แก่บริษัทไมด้าเอ็กซ์เซ็ส จำกัด กับเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยืนยันในเรื่องดังกล่าวว่า มีสินค้าบางรายการที่พนักงานของโจทก์ร่วมเบิกไปและยังไม่ได้ชำระค่าสินค้าและบางรายการเป็นสินค้าที่นำไปวางจำหน่ายตามร้านค้าของลูกค้าหรือบริษัทในเครือของโจทก์ร่วมและยังเรียกเก็บเงินไม่ได้ แต่จำเลยไม่มีเอกสารมายืนยัน พยานจึงไม่ตัดออกจากรายการสินค้าสูญหาย ย่อมแสดงว่าการเบิกสินค้าหลายรายการตามเอกสารมีผู้ขอเบิกไปจากจำเลยจริง มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยเอาสินค้าไปเองโดยพลการโดยทุจริต และที่จำเลยไม่นำเงินค่าสินค้าที่รับมาเข้าบัญชีให้แก่บริษัทไมด้าเอ็กซเซ็ส จำกัด มิใช่เป็นเหตุผลว่าจำเลยได้ลักสินค้าไป พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาฟังไม่ได้ว่าจำเลยลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          จำเลยครอบครองเงินที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ร่วมบอกให้จำเลยคืนเงินแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังยักยอกเอาเงินซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22267/2555  กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบของการร้องทุกข์ว่าต้องดำเนินการอย่างไร การที่โจทก์ร่วมแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย และพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำโจทก์ร่วมไว้ จึงถือว่าเป็นการร้องทุกข์แล้ว แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกการมอบคดีความผิดอันยอมความไว้ก็ตาม พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง
          โจทก์ร่วมมอบเงินให้จำเลยไว้ใช้จ่ายร่วมกันในครอบครัว การที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ จำเลยจึงเปิดบัญชีและฝากเงินในชื่อของจำเลยเพียงคนเดียว ถือได้ว่าจำเลยครอบครองเงินที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ร่วมบอกให้จำเลยคืนเงินแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังยักยอกเอาเงินซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่ แต่เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันในเงินดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเพียงกึ่งหนึ่งในเงินจำนวนดังกล่าวเท่านั้น


          ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองทรัพย์ ผู้อื่นหากได้ร่วมมือร่วมใจกระทำการยักยอกกับผู้ครอบครองทรัพย์ ก็ถือว่าเป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3324/2560  ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวเท่านั้น ผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองทรัพย์ได้ หากได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ได้รับมอบหมายให้ครอบครองทรัพย์ แม้จำเลยที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกมิใช่พนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมโดยยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 เมื่อธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้น เงินตามเช็คของโจทก์ร่วมจึงเข้าไปอยู่ในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 ซึ่งถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองเงินตามเช็คของโจทก์ร่วมแล้ว และเมื่อจำเลยที่ 4 ไปถอนเงินตามเช็คจากบัญชีของตน จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วม กับจำเลยที่ 1 ฐานยักยอกทรัพย์ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 

           

ความผิดฐานฉ้อโกง


          ประมวลกฎหมายอาญา 
          มาตรา 341  "ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          ความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำผิดจะต้องมีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งชัด และต้องมีเจตนามาตั้งแต่ต้น และโดยผลของการหลอกลวงนั้น ผู้กระทำผิดได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ  

          ถ้าหากมีเจตนาทุจริตและทำการหลอกลวงในภายหลังจากที่ได้ทรัพย์สินไปแล้ว ก็ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่อาจเป็นความผิดฐานยักยอก

          ความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ผู้กระทำผิด จะต้อง
          1. หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
          2. โดยการหลอกลวงดังว่านั้น 
               (1) ผู้กระทำผิดได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ
               (2) ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ
          3. กระทำโดยเจตนา
          4. กระทำโดยทุจริต (มีเจตนาพิเศษ)

         
          
          1. กรณีที่ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
          
          ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยมีเนื้อที่ โฉนดที่ดินและที่ตั้งตรงกับที่ดินพิพาท ทั้งรูปแผนที่ก็ตรงตามผังแสดงแนวเขตที่ดินของที่ดินทุกแปลง เพียงแต่ตอนนำชี้แนวเขตที่ดินเพียงคร่าวๆ ก่อนที่จะตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายกับตอนที่รังวัดแนวเขตชัดเจนแล้วปรากฏว่า ทิศทางและแนวเขตแตกต่างไปจากที่เจรจาตกลงกันตอนแรก การที่จำเลยชี้แนวเขตที่ดินในตอนแรกโดยที่ยังไม่มีการรังวัด เป็นการกะประมาณเท่านั้น การกระทำของจำเลยยังไม่พอที่จะฟังว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5566/2558  จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท อ. ประกอบกิจการก่อสร้างบ้านพร้อมจัดสรรที่ดินขายให้แก่ลูกค้า ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยมีเนื้อที่ โฉนดที่ดินและที่ตั้งตรงกับที่ดินพิพาท ทั้งรูปแผนที่ก็ตรงตามผังแสดงแนวเขตที่ดินของที่ดินทุกแปลง เพียงแต่ตอนนำชี้ก่อนที่จะตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขาย ได้ชี้แนวเขตที่ดินเพียงคร่าว ๆ ครั้นรังวัดแนวเขตชัดเจนแล้วปรากฏว่า ทิศทางและแนวเขตแตกต่างไปจากที่เจรจาตกลงกันตอนแรก ที่โจทก์และโจทก์ร่วมอ้างว่า การก่อสร้างกำแพงตามแนวเขตดังกล่าว ทำให้บดบังทัศนียภาพของท้องน้ำนั้น เมื่อดูจากภาพถ่ายก็ยังสามารถมองเห็นทัศนียภาพของท้องน้ำได้อย่างชัดเจน พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ที่โจทก์ร่วมกับจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านรวมราคากว่า 7,000,000 บาท แต่โจทก์ร่วมชำระเงินไปเพียง 400,000 บาท หลังจากรังวัดแล้ว เนื้อที่ดินทั้งหมดก็ยังเป็นไปตามสัญญาจะซื้อจะขาย การที่จำเลยชี้แนวเขตที่ดินในตอนแรกโดยที่ยังไม่มีการรังวัด เป็นการกะประมาณเท่านั้น การกระทำของจำเลยยังไม่พอที่จะฟังว่าจำเลยมีเจตนาหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

          ขายบ้านและที่ดินในโครงการหมู่บ้าน โดยปกปิดข้อความจริงว่าโครงการหมู่บ้านไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรตามกฎหมาย กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2283/2565 โจทก์ทั้งสิบสองซื้อบ้านและที่ดิน โครงการหมู่บ้าน ศ. 1 โดยจำเลยทั้งสองและ จ. ปกปิดข้อความจริงว่า โครงการหมู่บ้าน ศ. 1 ไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรตามกฎหมายและ จ. แจ้งว่าโครงการจัดให้มีลานจอดรถอันเป็นสาธารณูปโภค โจทก์ทั้งสิบสองชำระเงินครบถ้วนและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านแล้ว ดังนั้น เงินค่าซื้อที่ดินและบ้านที่จำเลยทั้งสองได้รับจากโจทก์ทั้งสิบสอง จึงเกิดจากการซื้อขายที่ดินและบ้าน มิใช่เกิดจากการปกปิดข้อความจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดิน ทั้งการที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ขออนุญาตจากทางราชการให้ดำเนินการจัดสรรที่ดิน ก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่จะฉ้อโกงโจทก์ทั้งสิบสอง และที่จำเลยทั้งสองไปขออนุญาตก่อสร้างอาคารบนที่ดินที่ จ. จัดให้เป็นลานจอดรถโดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทั้งสิบสองทราบนั้น มิใช่การปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งเพราะจำเลยทั้งสองไม่จำเป็นต้องแจ้งให้โจทก์ทั้งสิบสองทราบ ทั้งจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้ทรัพย์สินไปจากโจทก์ทั้งสิบสองเพราะที่ดินเป็นลานจอดรถยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของ จ. ส่วนการที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารเจ็ดชั้นบนที่ดินสาธารณูปโภคที่เป็นลานจอดรถ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามคำมั่นของ จ. ที่ให้ไว้กับโจทก์ทั้งสิบสองเท่านั้น กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341

          จำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์มาตั้งแต่ต้น การที่บริษัทเงินทุน จ. ยกเลิกการเช่าซื้อในเวลาต่อมาเนื่องจากจำเลยไม่นำรถไปตรวจสภาพ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้เสียหายส่งมอบรถกระบะแล้ว มิได้เกิดจากการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1429/2555  จำเลยกับพวกติดต่อขอซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายในราคา 430,000 บาท ชำระเงินดาวน์ในวันทำสัญญา 150,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยจะทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเงินทุน จ. ในวันดังกล่าวจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ไม่ได้กรอกข้อความไว้พร้อมมอบสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการและสำเนาทะเบียนบ้านให้แก่ผู้เสียหาย แล้วพนักงานของบริษัทเงินทุน จ. นำสัญญาเช่าซื้อที่ยังไม่ได้กรอกรายละเอียดให้จำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้เช่าซื้อไว้ จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์มาตั้งแต่ต้น การที่บริษัทเงินทุน จ. ยกเลิกการเช่าซื้อในเวลาต่อมาเนื่องจากจำเลยไม่นำรถไปตรวจสภาพ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้เสียหายส่งมอบรถกระบะแล้ว มิได้เกิดจากการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ การที่จำเลยมิได้ชำระราคาเช่าซื้อส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น

          สัญญาซื้อขายแร่เหล็กระหว่างจำเลยผู้ขายกับโจทก์ผู้ซื้อ ไม่ได้ระบุว่าแร่เหล็กที่จะขายให้โจทก์นั้นจะต้องนำมาจากที่ใด โดยกำหนดแต่เพียงคุณภาพ ขนาด ราคา การขนส่ง การตรวจสอบ ตลอดจนการชำระราคาเท่านั้น หากจำเลยไม่สามารถหาแร่เหล็กมาส่งให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้ก็เป็นการผิดสัญญาเท่านั้น หาใช่เป็นการกระทำโดยทุจริตปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11089/2557  สัญญาซื้อขายแร่เหล็กระหว่างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจผู้ขายกับโจทก์ผู้ซื้อ ไม่ได้ระบุว่าแร่เหล็กที่จะขายให้โจทก์นั้นจะต้องนำมาจากที่ใด โดยกำหนดแต่เพียงคุณภาพ ขนาด ราคา การขนส่ง การตรวจสอบ ตลอดจนการชำระราคาเท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 นำหนังสือมอบอำนาจจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ท.เหมืองแร่ ที่ให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการติดต่อกับพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 ตลอดจนภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินแสดงต่อโจทก์ แต่ตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 นำแร่เหล็กไปขาย เพียงแต่ให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนไปติดต่อกับพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ในกิจการที่ระบุไว้เท่านั้น โจทก์ก็มีแร่เหล็กในที่ดินของโจทก์แต่ไม่มีประทานบัตรจึงนำออกมาไม่ได้ ต้องอาศัยประทานบัตรของบุคคลอื่นโดยต้องเสียค่าตอบแทน แสดงว่าโจทก์เองก็ทราบดีว่าการที่จำเลยที่ 1 นำประทานบัตรและหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาแสดง ก็เพื่อยืนยันว่าจำเลยที่ 1 สามารถขนแร่เหล็กของจำเลยที่ 1 มาขายให้แก่โจทก์ได้ โดยอาศัยประทานบัตรดังกล่าว เช่นเดียวกับโจทก์ที่ต้องขนแร่เหล็กในส่วนของตนไปขายให้แก่ลูกค้าที่ประเทศจีนก็ใช้วิธีการเดียวกัน ดังนี้ หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถหาแร่เหล็กมาส่งให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้ก็เป็นการผิดสัญญาเท่านั้น หาใช่เป็นการกระทำโดยทุจริตปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่

          ถ้าการหลอกลวงนั้นถึงแม้จะสำเร็จ ก็ไม่มีผลให้ผู้ถูกหลอกลวงต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ไปแก่ผู้หลอกลวงแต่อย่างใด แต่อาจจะไม่ได้ผลประโยชน์หรือค่าจ้างจากผู้หลอกลวง เช่นนี้เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น ไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2728/2557  โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นตัวแทนของบริษัท ด. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลง ทำสัญญานายหน้ากับโจทก์กับพวกเพื่อให้โจทก์กับพวกทำหน้าที่ชี้ช่องติดต่อหาผู้ซื้อที่ดินดังกล่าว ต่อมาโจทก์กับพวกติดต่อจำเลยที่ 2 ว่าจะซื้อที่ดิน แต่ยังไม่มีการนัดจดทะเบียนโอน จำเลยทั้งสองร่วมกันไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 3 แปลง และจำเลยที่ 2 ให้บริษัท จ. ซึ่งมี ธ. เป็นตัวแทนเป็นผู้ซื้อที่ดิน โจทก์กับพวกมีสิทธิได้รับค่านายหน้าตามสัญญาเป็นเงิน 5,560,000 บาท แต่จ่ายค่านายหน้าให้โจทก์เพียง 250,000 บาท การให้บริษัท จ. โดย ธ. เป็นผู้ซื้อที่ดินทั้งสามแปลง เพื่อให้ตนได้รับค่านายหน้าทั้งหมดหรือบางส่วน อันเป็นการแสดงตนเป็นคนอื่น และการติดต่อทำสัญญากับโจทก์และพวกให้มีการซื้อขายที่ดินของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงได้ไปซึ่งเงินค่านายหน้าของโจทก์ ดังนี้ หากจะฟังว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ตามฟ้องจริง การหลอกลวงเช่นนั้นก็มิได้ทำให้จำเลยทั้งสองได้เงินไปจากโจทก์ซึ่งอ้างว่าถูกหลอกลวงแต่อย่างใด เงินที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้ไปนั้นเป็นเพียงเงินค่านายหน้าซึ่งโจทก์ถือว่าตนมีสิทธิจะได้ และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้เท่านั้น เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องว่ากล่าวกันในทางแพ่ง ทั้งข้อเท็จจริงตามฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองแสดงตนเป็นบุคคลอื่นหรือฉ้อโกงประชาชนแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามฟ้องโจทก์และไม่มีมูลเป็นความผิด

          ถ้าพฤติการณ์ของจำเลยยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กล่าวเท็จต่อโจทก์ด้วยเจตนาทุจริตมาแต่ต้นก็ไม่ผิดฉ้อโกง แต่อาจเป็นเรื่องการผิดนัดผิดสัญญาในทางแพ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1667/2506 การที่จำเลยนำรถยนต์ของจำเลยซึ่งศาลได้มีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้โอนขายหรือจำหน่ายในคดีหนึ่งอยู่แล้วไปทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์โดยรับรองกับโจทก์ว่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยผู้เดียว โดยไม่นำไปขายหรือจำนำหรือทำสัญญาใดผูกพันรถยนต์ดังกล่าวเลย แล้วจำเลยไม่ส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวให้โจทก์นั้น แม้ศาลจะได้มีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยโอนขายหรือจำหน่ายรถยนต์ของจำเลย คำสั่งนั้นก็เป็นเพียงคำสั่งห้ามชั่วคราว รถยนต์ของจำเลยอยู่ในวิสัยที่จำเลยอาจโอนขายให้โจทก์ได้ตามสัญญา เพราะคำสั่งห้ามชั่วคราวนั้นย่อมยกเลิกไปในตัวเมื่อจำเลยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาคดีนั้นแล้ว (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 260 (2)) พฤติการณ์ของจำเลยจะฟังว่าจำเลยได้กล่าวเท็จต่อโจทก์ด้วยเจตนาทุจริตมาแต่ต้นหาได้ไม่ เมื่อจำเลยไม่ส่งมอบหรือโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้โจทก์ตามสัญญา ก็เป็นเรื่องการผิดนัดผิดสัญญาในทางแพ่งการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง 

          จำเลยได้รับประโยชน์เพียงไม่ถูกดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งเท่านั้น ไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ผู้ถูกหลอกลวง จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10577/2557 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันนำโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินมาหลอกลวงโจทก์ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาทั้งสองและคดีแพ่ง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงว่าขอนำที่ดินโฉนดเลขที่ 67633 และ 70225 ตีใช้หนี้โจทก์ โจทก์หลงเชื่อหนังสือรับรองราคาประเมินว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 70225 มีราคาประเมิน 1,302,000 บาท จึงรับโอนที่ดินและถอนคำร้องทุกข์และถอนฟ้องทั้งสามคดี ความจริงที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมินเพียง 117,180 บาท ไม่ได้มีราคาประเมินตามหนังสือรับรองดังกล่าว
          จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับประโยชน์เพียงไม่ถูกดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งเท่านั้น ไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโจทก์ด้วย การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ การถอนฟ้องคดีแพ่งนั้นโจทก์สามารถฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความ การที่โจทก์ถอนคำร้องทุกข์คดีอาญาทั้งสองคดีและถอนฟ้องคดีแพ่งก็ไม่ใช่การถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ เพราะคำฟ้องคดีแพ่งและคำร้องทุกข์ไม่ใช่เอกสารสิทธิ จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341

          จำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์มาตั้งแต่ต้น การที่บริษัทเงินทุนยกเลิกการเช่าซื้อในเวลาต่อมาเนื่องจากจำเลยไม่นำรถไปตรวจสภาพ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้เสียหายส่งมอบรถกระบะแล้ว มิได้เกิดจากการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ การที่จำเลยมิได้ชำระราคาเช่าซื้อส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1429/2555   จำเลยกับพวกติดต่อขอซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายในราคา 430,000 บาท ชำระเงินดาวน์ในวันทำสัญญา 150,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยจะทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเงินทุน จ. ในวันดังกล่าวจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ไม่ได้กรอกข้อความไว้พร้อมมอบสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการและสำเนาทะเบียนบ้านให้แก่ผู้เสียหาย แล้วพนักงานของบริษัทเงินทุน จ. นำสัญญาเช่าซื้อที่ยังไม่ได้กรอกรายละเอียดให้จำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้เช่าซื้อไว้ จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์มาตั้งแต่ต้น การที่บริษัทเงินทุน จ. ยกเลิกการเช่าซื้อในเวลาต่อมาเนื่องจากจำเลยไม่นำรถไปตรวจสภาพ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้เสียหายส่งมอบรถกระบะแล้ว มิได้เกิดจากการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ การที่จำเลยมิได้ชำระราคาเช่าซื้อส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น

          เจ้าหนี้เพียงแค่ทำผิดคำรับรองที่ให้ไว้ ไม่เข้าลักษณะฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 917/2504 ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ยและผ่อนชำระต้นเงินกู้ให้แก่เจ้าหนี้ โดยเจ้าหนี้รับรองว่าจะสลักหลังสัญญากู้ให้ในภายหลัง แต่แล้วไม่สลักหลังให้ ถือได้เพียงว่ากระทำผิดคำรับรองที่ให้ไว้ ไม่เข้าลักษณะฉ้อโกง 

          ถ้าเป็นเรื่องที่จำเลยผิดคำมั่นสัญญาที่ได้บอกแก่ผู้เสียหายไว้เท่านั้น การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 707/2516 ความผิดฐานฉ้อโกงว่าความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 นั้น ต้องมีการเอาความเท็จมากล่าวหรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง แต่ความปรากฏว่าขณะจำเลยพูดเอาเงินจากผู้เสียหายไปนั้น จำเลยได้บอกผู้เสียหายว่าเพื่อนำเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงตำรวจ การที่จำเลยยืมเงินไปซื้อเบี้ยเลี้ยงตำรวจจึงเป็นเรื่องที่จำเลยรับจะไปทำกิจการอย่างหนึ่งในการใช้เงินที่ยืมไปนั้นเพื่อกิจการของจำเลยเองในโอกาสข้างหน้า จึงเป็นเรื่องที่จำเลยให้คำมั่นสัญญาแก่ผู้เสียหายถึงผลงานที่จำเลยจะไปกระทำ จำเลยมิได้เอาความเท็จมากล่าวหรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งมีอยู่แล้วในขณะนั้นแก่ผู้เสียหาย เมื่อจำเลยไม่เอาเงินที่ยืมไปนั้นไปซื้อเบี้ยเลี้ยงตำรวจ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยผิดคำมั่นสัญญาที่ได้บอกแก่ผู้เสียหายไว้เท่านั้น การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

          2. กรณีที่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

          การปลอมใบถอนเงินนำไปหลอกลวงเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว แม้จะเป็นเงินที่เจ้าหน้าที่ธนาคารทำพิธีการทางบัญชีของธนาคารหักจากบัญชีของผู้เสียหายก็ตาม แต่เป็นเพราะจำเลยนำเอกสารปลอมไปหลอกลวงจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ของธนาคารหลงเชื่อ เงินที่จำเลยได้ไปจึงเป็นเงินของธนาคาร จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกเงินผู้เสียหาย แต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงธนาคาร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9663/2554  ผู้เสียหายไม่ได้มอบหมายให้จำเลยเบิกเงิน 490,000 บาท จากบัญชีของผู้เสียหายที่เปิดไว้ที่ธนาคาร แต่เป็นเจตนาของจำเลยที่ต้องการได้เงินโดยมิชอบและหาวิธีการโดยการปลอมใบถอนเงินนำไปหลอกลวงเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว ดังนั้น เงินที่จำเลยได้มาตามฟ้อง แม้จะเป็นเงินที่เจ้าหน้าที่ธนาคารทำพิธีการทางบัญชีของธนาคารหักจากบัญชีของผู้เสียหายก็ตาม แต่เป็นเพราะจำเลยนำเอกสารปลอมไปหลอกลวงจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ของธนาคารหลงเชื่อ เงินที่จำเลยได้ไปจึงเป็นเงินของธนาคาร มิใช่เงินของผู้เสียหาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกเงินผู้เสียหาย แต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงธนาคาร

          หลอกลวงให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลที่สาม อันเป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงให้ทำเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 341 เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 282/2566 โจทก์ร่วมหลงเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงจึงไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แม้ผู้รับโอนจะไม่ใช่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้หลอกลวง แต่การที่ ฐ. ได้ไปซึ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ร่วม จึงเป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงให้ทำเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ใช่เป็นการที่จำเลยที่ 1 ได้ไปซึ่งเงินค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจาก ฐ. จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นของโจทก์ร่วมให้แก่โจทก์ร่วม หากจำเลยที่ 1 คืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เป็นของโจทก์ร่วมไม่ได้ จำเลยที่ 1 จะต้องใช้ราคาแทนให้แก่โจทก์ร่วม

          ขายที่ดินโดยหลอกลวงว่ามีอาคารอาพาร์ตเม้นต์ตั้งอยู่ ซึ่งเป็นความเท็จ ผิดฐานฉัอโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4893 - 4895/2565 โจทก์ร่วมทั้งสองตกลงซื้อที่ดินพิพาทเพราะหลงเชื่อคำหลอกลวงว่า ที่ดินพิพาทมีอาคารอะพาร์ตเมนต์ตั้งอยู่ มิใช่เพราะหลงเชื่อว่าจะมีการซื้อคืนในราคา 17,000,000 บาท ตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำพวกของตนมาแอบอ้างแสดงตนเป็น บ. ผู้จะซื้อคืน ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่การหลอกลวงขายที่ดินพิพาทอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงสำเร็จแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 (เดิม) เท่านั้น หาเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นตามมาตรา 342 (1) (เดิม) ประกอบมาตรา 341 (เดิม)

          ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ แม้ทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้หลอกลวง ถ้าหากผู้หลอกลวงโดยทุจริตหลอกลวงผู้ถูกหลอกลวงและโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2062/2558  ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ แม้ทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้หลอกลวง ถ้าหากผู้หลอกลวงโดยทุจริตหลอกลวงผู้ถูกหลอกลวงและโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง 
          โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโดยเจตนาทุจริตใช้อุบายหลอกลวงให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 30277 และ 30301 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่จำเลยอ้างว่าจะนำโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงไปดำเนินการยื่นคำร้องขอแบ่งแยกและโอนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ โจทก์หลงเชื่อจึงได้มอบโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยไปซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยกลับนำที่ดินทั้งสองแปลงไปโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ ค. ซึ่งเกี่ยวดองเป็นญาติทางการสมรสกับจำเลย ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงที่ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ได้

          จำเลยหลอกขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากผู้เสียหาย ว่าจะนำไปเข้าร่วมโครงการต่อต้านยาเสพติดให้โทษ แต่กลับนำไปใช้เป็นเอกสารยื่นคำขอและทำสัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับผู้เสียหายที่ 16 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21183/2556  การที่จำเลยแอบอ้างขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 15 โดยอ้างว่าจะนำไปเข้าร่วมโครงการต่อต้านยาเสพติดให้โทษ แต่กลับนำไปใช้เป็นเอกสารยื่นคำขอและทำสัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับผู้เสียหายที่ 16 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 188 และ 341

          ผู้เสียหายจะต้องไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงนั้นด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 340/2506 การที่จำเลยกล่าวข้อความเท็จหลอกลวงโจทก์ว่า จำเลยเป็นผู้ใกล้ชิดกับพนักงานอัยการและผู้พิพากษาเรียกร้องเอาเงินโจทก์เพื่อจะนำไปให้พนักงานอัยการและผู้พิพากษาเพื่อให้ช่วยเหลือบุตรของโจทก์หลุดพ้นคดีอาญาโจทก์หลงเชื่อว่าเป็นความจริงได้มอบเงินให้จำเลยไปนั้น การกระทำของโจทก์เป็นการร่วมกับจำเลยในการนำสินบนไปให้เจ้าพนักงานอันอาจถือได้แล้วว่าโจทก์เป็นผู้ใช้ให้จำเลยกระทำความผิด
          โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะนำคดีมาฟ้องร้องได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5612/2556  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341, 83 โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหาย ให้ผู้เสียหายนำเงินมาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 และพวกเล่นการพนันเพื่อเอาเงินจากจำเลยที่ 2 ซึ่งมีเงินเป็นจำนวนมาก ผู้เสียหายถูกหลอกนำเงิน 3,000,000 บาท มาร่วมลงทุนเล่นการพนันโดยจำเลยทั้งสองกับพวกมิได้มีเจตนาที่จะเล่นการพนันเอาทรัพย์สินกัน แต่การพนันเป็นเพียงแผนการที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกเอาเงินของผู้เสียหายให้แนบเนียน ทั้งผู้เสียหายก็ไม่มีเจตนาที่จะร่วมเล่นการพนันกับพวกจำเลยทั้งสองมาตั้งแต่ต้น การที่ผู้เสียหายมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองกับพวกเพื่อเล่นการพนันดังกล่าวเป็นการตกหลุมพรางที่วางไว้ ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายเข้าร่วมเล่นการพนันกับพวกจำเลยทั้งสอง ทั้งถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง จึงถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายร่วมเล่นการพนันกับจำเลยทั้งสองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันจะเป็นการร่วมกับจำเลยทั้งสองกระทำผิด ผู้เสียหายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงและพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 335/2563  พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่า จำเลยกับพวกกล่าวอ้างว่า สามารถช่วยเหลือฝากโจทก์ร่วมเข้าทำงานรับราชการในองค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ได้ อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถช่วยเหลือฝากโจทก์ร่วมเข้าทำงานรับราชการในองค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ตามที่กล่าวอ้างได้ โดยการหลอกลวงของจำเลยกับพวกเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าเป็นความจริงและมอบเงิน 550,000 บาท ให้จำเลยไปดำเนินการตามที่จำเลยกับพวกกล่าวอ้าง ถือว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีในข้อหานี้ได้ ส่วนที่โจทก์ร่วมมอบเงิน 550,000 บาท ให้จำเลยไปนั้นล้วนเกิดขึ้นเพราะถูกจำเลยหลอกลวง ถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8013/2561  โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ฟ้อง และเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลังด้วย ดังนั้น ข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้นที่โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ได้ แต่ในส่วนที่เป็นต้นเงินกู้นั้นโจทก์ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้เอกสารปลอมหลอกลวงโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อยอมให้จำเลยที่ 2 กู้ยืมโดยมอบเงินให้ไป การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าวนี้ด้วย
          สำหรับจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และโจทก์รู้อยู่ว่าจำเลยที่ 1 จะนำเงินไปปล่อยกู้และเรียกเอาผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ฟ้อง แสดงให้เห็นว่าโจทก์เจตนาทุจริตมุ่งประสงค์ต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 นำเงินที่กู้ยืมดังกล่าวไปปล่อยกู้โดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ก็ตาม ถือว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฉ้อโกง

          จำเลยได้รับเช็คจาก ก. เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีประจำที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมาโดยแสดงคำสั่งแต่งตั้งเพื่อให้เข้าใจว่าตนได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรับเงินโดยชอบ จน ก. หลงเชื่อมอบเช็คดังกล่าวให้ไป แล้วจำเลยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารในการนำเช็คไปขอเบิกเงินสดจากธนาคารตามเช็คด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการหลอกลวงผู้อื่นแล้วได้มาซึ่งเช็คและเงิน ย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3812-3814/2556  จำเลยเป็นเสมียนตราอำเภอโนนแดง มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินและบัญชีของอำเภอโนนแดง เงินค่าวัสดุก่อสร้างโครงการฝายประชาอาสาทั้งสี่โครงการรวม 1,308,104.40 บาท เป็นเงินที่ทางอำเภอโนนแดงต้องเบิกจากทางจังหวัดนครราชสีมาไปชำระให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. แต่จำเลยไม่ได้เป็นกรรมการรับเงินที่จะมีอำนาจหน้าที่ไปเบิกและรับเงินค่าวัสดุก่อสร้างดังกล่าว การที่จำเลยใช้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับเงินซึ่งไม่ใช่คำสั่งที่ผู้ลงชื่อประสงค์จะตั้งจำเลยไปดำเนินการดังกล่าว ทั้งบางคำสั่งก็ตั้งกรรมการไม่ครบตามกฎระเบียบไปแสดงต่อเสมียนตราจังหวัดเพื่อขอเบิกและรับเงินโครงการดังกล่าว เมื่อได้รับเช็คแล้วนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารเอาไปโดยทุจริต เป็นการกระทำในส่วนที่นอกอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของตน ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำความผิดในฐานะเจ้าพนักงาน จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 147 ตามฟ้องอันเป็นบทเฉพาะได้ แต่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์เงินดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดในตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องมาได้ อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นจำเลยไม่ได้รับมอบทรัพย์โดยชอบแล้วเบียดบังไว้โดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานยักยอก แต่จำเลยได้รับเช็คจาก ก. เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีประจำที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมาโดยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อ ก. เพื่อให้เข้าใจว่าตนได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรับเงินโดยชอบ จน ก. หลงเชื่อมอบเช็คดังกล่าวให้ไป แล้วจำเลยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารในการนำเช็คไปขอเบิกเงินสดจากธนาคารตามเช็คด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการหลอกลวงผู้อื่นแล้วได้มาซึ่งเช็คและเงิน ย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษฐานนี้ก็ตาม แต่เมื่อศาลอาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกได้ จึงเป็นการแตกต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง และยักยอก เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสาม แต่อำเภอโนนแดงร้องทุกข์เมื่อล่วงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

          จำเลยเป็นลูกจ้างร้านทองใช้กลอุบายนำสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำ และแหวนพลอยของผู้เสียหายที่จำเลยมีหน้าที่ขายให้แก่ลูกค้าไปบอกแก่พนักงานเก็บเงินในร้านของผู้เสียหายว่าเป็นของลูกค้าที่นำมาจำนำแก่ทางร้าน เมื่อพนักงานเก็บเงินส่งมอบเงินซึ่งเป็นของผู้เสียหายที่จะต้องนำไปมอบให้แก่ลูกค้าที่นำทรัพย์มาจำนำให้แก่จำเลยตามที่จำเลยอ้าง จำเลยก็รับเอาเงินดังกล่าวไปเป็นของตน การที่จำเลยได้เงินของผู้เสียหายไปจึงเกิดจากการที่พนักงานเก็บเงินซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายหลงเชื่อการหลอกลวงของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16889/2555  จำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายซึ่งประกอบอาชีพค้าขายทองคำและเป็นผู้จัดการร้าน มีหน้าที่ขายทองคำของผู้เสียหายให้แก่ลูกค้า และยังมีหน้าที่รับจำนำทองคำของลูกค้าด้วย จำเลยใช้กลอุบายนำสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำ และแหวนพลอยของผู้เสียหายที่จำเลยมีหน้าที่ขายให้แก่ลูกค้าไปบอกแก่พนักงานเก็บเงินในร้านของผู้เสียหายว่าเป็นของลูกค้าที่นำมาจำนำแก่ทางร้าน เมื่อพนักงานเก็บเงินส่งมอบเงินซึ่งเป็นของผู้เสียหายที่จะต้องนำไปมอบให้แก่ลูกค้าที่นำทรัพย์มาจำนำให้แก่จำเลยตามที่จำเลยอ้าง จำเลยก็รับเอาเงินดังกล่าวไปเป็นของตน การกระทำของจำเลยมิใช่เอาเงินของผู้เสียหายไปโดยพลการโดยทุจริต หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำ และแหวนพลอยของผู้เสียหายเป็นของลูกค้าที่นำมาจำนำ การที่จำเลยได้เงินของผู้เสียหายไปจึงเกิดจากการที่พนักงานเก็บเงินซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายหลงเชื่อการหลอกลวงของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง

          การกู้ยืมเงินดังกล่าวโดยจำเลยที่ 2 ร่วมปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ผู้เสียหายว่า จำเลยที่ 1 ตกเป็นบุคคลล้มละลายแล้วก่อนที่จะทำสัญญากู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายเข้าใจว่า จำเลยที่ 1 สามารถทำสัญญากู้ยืมเงินและมีผลบังคับตามกฎหมายได้ จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินกับจำเลย การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1334/2555   แม้ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 61 วรรคสอง บัญญัติให้มีการประกาศโฆษณาคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้บัญญัติไว้ด้วยว่า เมื่อได้มีการประกาศโฆษณาดังกล่าวแล้วให้ถือว่าบุคคลภายนอกทุกคนต้องทราบคำพิพากษานั้นและมิได้ระบุถึงผลของการประกาศโฆษณาโดยแจ้งชัด ซึ่งตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินี้พออนุมานได้ว่าประสงค์จะให้การประกาศโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า บุคคลภายนอกทราบคำพิพากษาให้ล้มละลายที่ประกาศโฆษณาแล้วหรือไม่เท่านั้น ดังนี้ ผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอาจไม่ทราบถึงคำพิพากษาให้ล้มละลายก็ได้ 
          จำเลยที่ 1 ขอกู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย และให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าวโดยจำเลยที่ 2 ร่วมปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ผู้เสียหายว่า จำเลยที่ 1 ตกเป็นบุคคลล้มละลายแล้วก่อนที่จะทำสัญญากู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายเข้าใจว่า จำเลยที่ 1 สามารถทำสัญญากู้ยืมเงินและมีผลบังคับตามกฎหมายได้ จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและได้มอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองไป การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง

          3. ความผิดฐานฉ้อโกง เป็นความผิดที่สามารถยอมความได้ การดำเนินคดีจึงอยู่ภายใต้อายุความร้องทุกข์ตามมาตรา 96 แห่งประมวลกฎหมายอาญาด้วย กล่าวคือ ต้องร้องทุกข์ภายในเวลา 3 เดือนหรือกรณีไม่มีการร้องทุกข์ก็จะต้องฟ้องคดีภายในเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิเช่นนั้น คดีย่อมขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1394/2564  ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลฉลองกรุงบันทึกไว้เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2560 มีใจความว่า โจทก์ร่วมแจ้งแก่พนักงานสอบสวนว่าประมาณเดือนเมษายน 2559 โจทก์ร่วมว่าจ้างจำเลยก่อสร้างสนามฟุตบอล โดยจำเลยมีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้าง การจ่ายเงินในการก่อสร้าง การสั่งสินค้าต่าง ๆ ต่อมาโจทก์ร่วมเห็นว่าค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเกินกว่างบที่ตั้งไว้ จึงให้จำเลยส่งมอบใบเสร็จรับเงินมาให้ตรวจสอบ เมื่อโจทก์ร่วมตรวจสอบแล้วจึงทราบว่าจำเลยนำใบเสร็จรับเงินซึ่งมีจำนวนเงินค่าสินค้าสูงเกินกว่าความเป็นจริงมาแอบอ้างแก่โจทก์ร่วมว่าเป็นใบเสร็จรับเงินที่ร้านค้าออกให้ ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและโอนเงินเข้าบัญชีให้จำเลยไป เหตุเกิดที่ แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งไว้และจะได้สอบสวนต่อไป ข้อเท็จจริงที่โจทก์ร่วมแจ้งแก่พนักงานสอบสวนดังกล่าวพอเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์ร่วมถูกจำเลยหลอกลวงด้วยการนำใบเสร็จรับเงินซึ่งหมายถึงบิลเงินสดที่ระบุจำนวนเงินค่าอุปกรณ์ก่อสร้างสูงกว่าความเป็นจริงมาแสดงแก่โจทก์ร่วม ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและจ่ายเงินค่าอุปกรณ์ก่อสร้างให้จำเลยไปเกินกว่าความเป็นจริง อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยฉ้อโกงโจทก์ร่วม ทั้งยังได้ความดังกล่าวข้างต้นว่าโจทก์ร่วมส่งมอบบิลเงินสดให้พนักงานสอบสวนไว้ด้วย และในข้อที่พนักงานสอบสวนบันทึกในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่าจะได้สอบสวนต่อไป ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้ขอให้พนักงานสอบสวนระงับการดำเนินการสอบสวนไว้ก่อน พฤติการณ์ของโจทก์ร่วมเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ร่วมได้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยแก่พนักงานสอบสวนโดยมีเจตนาจะให้จำเลยได้รับโทษแล้ว จึงเป็นคำร้องทุกข์ซึ่งได้กระทำภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ระงับไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5302/2562  การที่ อ. รับฟังจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเพื่อนของ อ. แนะนำว่าจำเลยที่ 2 สามารถฝากผู้เข้าสอบเข้ารับราชการเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรได้ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แสดงออกให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไปถึงเรื่องดังกล่าวอย่างไร เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และมิได้ร่วมมือกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยรับหน้าที่ให้มากระจายข่าวในหมู่ผู้เข้าสอบให้แพร่หลาย เมื่อ อ. ไปพบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่บ้านเพื่อให้ช่วยเหลือโจทก์ทั้งสองเข้ารับราชการตำรวจ โดยยอมเสียค่าใช้จ่ายตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกร้อง เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ทั้งสองเป็นการส่วนตัวเท่านั้น หาได้มีพฤติการณ์อันเป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไปไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 โจทก์ทั้งสองทราบการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2558 โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 จึงล่วงเลยกำหนดระยะเวลา 3 เดือน จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ทั้งสองย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)
          โจทก์ร่วมทราบว่าถูกหลอกลวงเมื่อโจทก์ร่วมไปตามหาจําเลยที่หน่วยงานของจําเลย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 โจทก์ร่วมย่อมทราบได้ว่า จําเลยคือผู้ที่หลอกลวงโจทก์ร่วมตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ร่วมไปพบพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ข้อความที่ปรากฏในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานระบุแจ้งชัดว่า เป็นการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานและผู้แจ้งขอไปติดตามการสนทนาระหว่างผู้แจ้งกับจําเลยเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป มิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ การแจ้งความตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน จึงไม่เป็นคําร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ โจทก์ร่วมเพิ่งแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจําเลย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 เมื่อโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ว่าจําเลยเป็นผู้กระทำความผิด ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2561 การร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมจึงพ้นกำหนดระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ สิทธิของโจทก์และโจทก์ร่วมในการนําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)