16 ตุลาคม 2567

ฟ้องเพิกถอนโฉนดที่ดินซึ่งออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย ออกโฉนดทับที่ดินหรือรุกล้ำที่ดินของผู้อื่น

          ป.ที่ดิน

          มาตรา 58 ทวิ วรรคสอง  บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้ คือ
               (1) ผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” หรือเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ
               (2) ผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี
               (3) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดิน ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ

          มาตรา 61  เมื่อความปรากฏว่าได้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ใดโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีหรือผู้ตรวจราชการกรมที่ดินมีอำนาจหน้าที่สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขได้

          ...........

          มาตรา 61 วรรคแปด  ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด

          มาตรา 62  บรรดาคดีที่เกิดขึ้นเกี่ยวด้วยเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้ออกโฉนดที่ดินแล้ว เมื่อศาลพิจารณาพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว ให้ศาลแจ้งผลของคำพิพากษาอันถึงที่สุดหรือคำสั่งนั้นต่อเจ้าพนักงานที่ดินแห่งท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ด้วย


          การออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ จึงจะชอบด้วยกฎหมาย หากออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ให้แก่บุคคลที่ไม่มีสิทธิในที่ดิน เช่น ออกทับที่ดินของผู้อื่น หรือรุกล้ำที่ดินผู้อื่น กรณีเช่นนี้ ผู้ที่ได้รับความเสียหายนั้นย่อมสามารถฟ้องเพื่อให้เพิกถอนโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวเสียได้ 


          มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้


          การออกโฉนดที่ดินผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป ทำให้ที่ดินพิพาทล้ำเข้าไปในโฉนดที่ดินของผู้อื่น เมื่อเจ้าของโฉนดไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินส่วนที่รุกล้ำเข้ามา เจ้าของโฉนดย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1564/2548 การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 24285 ถึง 24289 ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป ทำให้ที่ดินพิพาทซึ่งต้องอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 24285 ของจำเลยล้ำเข้าไปอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 24286 ของโจทก์ โจทก์มีเจตนาซื้ออาคารเลขที่ 56/56 และ ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารดังกล่าวโดยไม่รวมถึงที่ดินพิพาท โดยโจทก์ได้ใช้ผนังด้านข้างของอาคารเลขที่ 56/56 กับรั้วที่สร้างต่อจากแนวผนังด้านข้างของอาคารกั้นระหว่างอาคารเลขที่ 56/56 กับที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยปลูกต้นไม้ประดับไว้ โจทก์จดทะเบียนรับโอนอาคารและที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารโดยไม่มีเจตนาซื้อที่ดินพิพาท ทั้งไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาก่อน จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง จากจำเลย
          การได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และที่ดินที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ คดีนี้โจทก์จดทะเบียนรับโอนอาคารและที่ดินโฉนดเลขที่ 24286 โดยไม่มีเจตนาซื้อที่ดินรวมไปถึงที่ดินพิพาท จำเลยจดทะเบียนรับโอนที่ดินรวมทั้งที่ดินพิพาทและจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา แต่การออกโฉนดที่ดินคลาดเคลื่อนไม่ตรงตามเจตนาของผู้ขอออกโฉนดที่ดินทำให้ที่ดินพิพาทซึ่งต้องอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 24285 กลับไปอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 24286 ของโจทก์ ดังนี้ โจทก์จะอ้างสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 24286 ซึ่งคลาดเคลื่อนไปหาได้ไม่
          โฉนดที่ดินเลขที่ 24286 ของโจทก์ ซึ่งรุกล้ำที่ดินพิพาทของจำเลยออกโดยคลาดเคลื่อน ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของโจทก์ในส่วนที่ออกโดยคลาดเคลื่อนนั้นได้ ตาม ป. ที่ดิน มาตรา 61 แม้จำเลย จะมิได้ขอให้ศาลเพิกถอนก็ตาม เนื่องจาก มาตรา 61 วรรคแปด บัญญัติรองรับว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด และเมื่อความในมาตรา 61 วรรคแปด ดังกล่าวบัญญัติถึงกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้เพิกถอนหรือแก้ไขโฉนดที่ดินโดยกำหนดวิธีการให้เจ้าพนักงานที่ดินต้องดำเนินการตามคำพิพากษานั้นอย่างไร ซึ่งจำเลยสามารถนำคำพิพากษาอันถึงที่สุดไปดำเนินการให้ได้รับผลตามคำพิพากษาได้ จึงไม่จำต้องอาศัยคำพิพากษาบังคับโจทก์ให้ไปดำเนินการขอรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินอีก

          เมื่อไม่มีสิทธิครอบครองที่ดิน แม้จะนำที่ดินที่อยู่ในความครอบครองของผู้อื่นไปออกโฉนด ก็เป็นการออกโฉนดที่ไม่ชอบ ศาลสั่งเพิกถอนได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2599/2546 จำเลยไม่มีสิทธิครอบครองที่ดิน การที่จำเลยนำที่ดินที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จึงไม่ชอบ ศาลมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 และตราบใดที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ยังไม่ถูกเพิกถอนย่อมถือว่าการละเมิดยังมีอยู่ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 369/2538  โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส.3 โจทก์จึงมีแต่เพียงสิทธิครอบครองแม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นการเรียกทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 แต่ก็เป็นการฟ้องคดีเพื่อเรียกคืนซึ่งสิทธิครอบครองต้องอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ลักษณะ 3 ว่าด้วยการครอบครองต้องฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในหนึ่งปี ตามมาตรา 1375 
          ที่ดิน น.ส.3 ของจำเลยมีการออกโฉนดที่ดินทั้งแปลงแล้ว น.ส.3 ย่อมเป็นอันยกเลิก โฉนดที่ดินซึ่งจำเลยรังวัดออกมาจากที่ดิน น.ส.3 ดังกล่าวจึงเป็นโฉนดที่ดินที่ออกมาโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 โจทก์เป็นฝ่ายครอบครองที่ดิน การที่จำเลยขอออกโฉนดที่ดินทับที่ดินน.ส.3 ของโจทก์และมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์สืบต่อกันมาโดยมิได้เข้าครอบครองที่ดิน จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินจากโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีได้แม้จะเกิน 1 ปีนับแต่วันที่ทางราชการออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย


          ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินเป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่ามีสิทธิครอบครองเท่านั้น หาก็ไม่ใช่ผู้ครอบครองจริงก็สามารถนำสืบพยานเพื่อพิสูจน์ได้ว่าโฉนดออกโดยไม่ชอบ และเมื่อปรากฏว่าโฉนดออกโดยไม่ชอบ แม้โจทก์ไม่ขอให้เพิกถอน ศาลก็ชอบจะเพิกถอนเสียได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 944/2546 แม้ที่ดินพิพาทจะมีการออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อของจำเลยก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเท่านั้น การนำสืบเพื่อพิสูจน์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ใดและการออกโฉนดที่ดินพิพาทชอบหรือไม่ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง อีกทั้งมิใช่การนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในโฉนดที่ดินพิพาท จึงสามารถนำสืบพยานบุคคลได้ว่าโฉนดที่ดินพิพาทออกโดยชอบหรือไม่ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
          เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโฉนดที่ดินพิพาทของจำเลยออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ศาลเพิกถอน ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ คำพิพากษาที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท มิใช่เป็นการบังคับผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นบุคคลภายนอก แต่เป็นการบังคับเฉพาะคู่ความในคดีนี้เท่านั้น ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินได้


          ฟ้องให้เพิกถอนโฉนดที่ออกโดยไม่ชอบ ส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินหรือทับที่ดินแปลงอื่น เป็นการฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินของเจ้าของ ฟ้องได้โดยไม่มีกำหนดอายุความ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7344/2545  การออกโฉนดที่ดินเป็นงานที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมที่ดิน เมื่อโจทก์เห็นว่าการออกโฉนดที่ดิน คลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องกรมที่ดินได้ แม้ป.ที่ดิน มาตรา 61 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมโดย ป.ที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2428 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จะมีบทบัญญัติให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินสำหรับจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครที่ออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่กฎหมายประสงค์จะกระจายอำนาจให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดได้ด้วยเท่านั้น ไม่ได้ห้ามมิให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการออกโฉนดที่ดินฟ้องกรมที่ดินแต่อย่างใด
          โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 2 เลขที่ 3816 ในส่วนรุกล้ำเข้ามาในโฉนดที่ดินพิพาทของผู้ตาย ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 61 เป็นการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินของผู้ตาย ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความและไม่อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ดังนั้น แม้จะเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้

          ผู้ที่ขอออก น.ส.3 ก. จะต้องเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินเช่นเดียวกันกับการออกโฉนด เมื่อบุคคลผู้ที่ขอออก น.ส.3 ก. มิใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ย่อมเป็นการออก น.ส.3 ก. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องเพิกถอน จะขอให้ผู้นั้นโอนให้แก่เจ้าของที่แท้จริงไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 69/2543 จำเลยมิใช่ผู้มิสิทธิครอบครองที่พิพาท ฉะนั้น การออก น.ส.3 ก. เพื่อแสดงว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองและได้ทำประโยชน์ในที่พิพาท จึงเป็นการออก น.ส.3 ก. ที่คลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง โจทก์ชอบที่จะดำเนินการออก น.ส.3 ก. สำหรับที่พิพาทตามสิทธิของโจทก์ จะบังคับให้จำเลยซึ่งไม่มีสิทธิครอบครองในที่พิพาทโอนสิทธิครอบครอง ให้แก่โจทก์หาได้ไม่ และแม้โจทก์จะมิได้ขอให้เพิกถอน น.ส.3 ก. ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาก็มีอำนาจสั่งเพิกถอน น.ส.3 ก. ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

          เมื่อการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ออกโดยผู้ไม่มีสิทธิครอบครอง ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น แม้จะมีการรับโอนสิทธิจากผู้มีชื่อตาม น.ส.3 ก. ไปอีก ผู้รับโอนก็มิได้สิทธิครองครองที่ดิน ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 544/2542 คดีก่อนศาลได้วินิจฉัยคดีถึงที่สุดว่า โจทก์ยังคงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ฉะนั้นการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินพิพาทดังกล่าวเพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มีสิทธิครอบครองและได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงเป็นการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง หนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกไว้ดังกล่าวจึงไม่ชอบ ซึ่งอาจถูกเพิกถอนได้โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 6 ผู้รับโอนสิทธิต่อจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในทำนองเดียวกันจำเลยที่ 7 ผู้รับโอนสิทธิครอบครองจากจำเลยที่ 6 ในที่ดินพิพาทย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้โอน การได้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคสอง ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อคดีก่อนศาลฎีกาฟังว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2926ของที่ดินพิพาทออกโดยไม่ชอบ ดังนี้ คดีนี้จำเลยที่ 7จะอ้างสิทธิใด ๆ ที่เกิดจากเอกสารที่ออกโดยไม่ชอบหาได้ไม่ คดีก่อนศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2926 ของที่ดินพิพาทเป็นการออกโดยคลาดเคลื่อนซึ่งอาจถูกเพิกถอนได้ตามกฎหมาย ดังนี้โจทก์ชอบที่จะดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามสิทธิของโจทก์ในคดีก่อน โจทก์จะบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในคดีนี้ซึ่งไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโอนสิทธิครอบครองให้โจทก์ไม่ได้และการที่โจทก์ขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 7 ออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วใส่ชื่อโจทก์ลงในหนังสือรับรองการทำประโยชน์แทนจะแปลว่าเป็นการขอให้บังคับให้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ก็ไม่ได้เช่นกัน ชอบที่ศาลจะยกคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ดังกล่าวเสีย คดีนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาและพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท แต่มิได้สั่งให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระต่อศาลในนามของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 158 ย่อมไม่ถูกต้องศาลฎีกาจึงแก้ไขโดยพิพากษาว่าสำหรับค่าธรรมเนียมศาลในศาลชั้นต้นที่จำเลยทั้งเจ็ดจะต้องใช้แทนโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระต่อศาลในนามของโจทก์