8 พ.ค. 2557

ค้ำประกัน

มาตรา 680  "อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่"

สัญญาค้ำประกันจะต้องมีลักษณะ 3 ประการ คือ

1. ผู้ค้ำประกันต้องเป็นบุคคลภายนอก กล่าวคือ สัญญาค้ำประกัน เป็นสัญญาที่บุคคลภายนอกผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ดังนั้น ผู้ค้ำประกันต้องเป็นบุคคลภายนอกหรือบุคคลที่สาม มิใช่ตัวเจ้าหนี้หรือตัวลูกหนี้เอง โดยสัญญาค้ำประกันเป็นการประกันการชำระหนี้ด้วยตัวบุคคล ไม่ใช่ประกันการชำระหนี้ด้วยทรัพย์หรือนิติกรรมอื่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2223/2539  การที่โจทก์ทำหนังสือมอบสิทธิการรับเงินฝากให้ไว้แก่ธนาคารผู้ให้กู้ มิใช่การค้ำประกันตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 แต่ก็เป็นเรื่องความตกลงกันในทางฝากเงินเพื่อเป็นประกันหนี้อันเป็นสัญญารูปแบบหนึ่ง เมื่อโจทก์ชำระหนี้แก่ธนาคารแทนจำเลยตามที่จำเลยขอร้องโดยจำเลยรับจะชำระเงินคืนโจทก์ และธนาคารผู้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยก็ยอมรับชำระหนี้แล้ว จำเลยจึงต้องใช้เงินคืนโจทก์ตามข้อสัญญาที่โจทก์และจำเลยได้ตกลงกันไว้ 

          2. ต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ซึ่งเรียกว่าหนี้ประธาน โดยอาจเกิดเป็นหนี้ที่เกิดจากสัญญาหรือละเมิดก็ได้ ถ้าไม่มีหนี้ประธาน หากทำสัญญาค้ำประกันเอาไว้ ผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิด
          3. ผู้ค้ำประกันต้องผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น คือ ผู้ค้ำประกันต้องทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อเจ้าหนี้ หากทำสัญญาไว้กับบุคคลอื่น สัญญานั้นย่อมไม่ใช่สัญญาค้ำประกัน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3781/2533  โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้เงินและค้ำประกัน ทางพิจารณาข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้ตามฟ้องไปจากโจทก์แต่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองเช่าหลักทรัพย์ที่ดินของโจทก์เพื่อประกันตัวนาย ว. ญาติของจำเลยที่ 2 โดยโจทก์เรียกค่าตอบแทนและให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโดยให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้เพื่อเป็นประกันในการที่โจทก์ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวนาย ว. ในคดีอาญาต่อศาล การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญากู้เงินและค้ำประกันต่อโจทก์ก่อนแล้วโจทก์จึงไปยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวนาย ว. นั้น ขณะทำสัญญากู้เงินและค้ำประกันดังกล่าว สัญญาประกันตัวนาย ว. ยังไม่ได้ทำและความเสียหายอันเกิดจากสัญญาประกันตัวนาย ว. ยังไม่ได้เกิดขึ้น ทำให้ไม่มีมูลหนี้เดิมที่จะแปลงเป็นมูลหนี้ในสัญญากู้เงินได้ จึงไม่เป็นการแปลงนี้ อีกทั้งยังไม่รู้ว่าศาลจะตีราคาประกันเท่าใด จึงเป็นหนี้ที่ไม่แน่นอนและไม่อาจทำสัญญากู้เงินเพื่อประกันหนี้นั้นได้ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ผู้กู้เงินและจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4783/2543  ผู้ร้องทำหนังสือสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้ต่อศาล ซึ่งเป็นองค์กรแห่งรัฐ เพื่อทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาของศาล มิใช่ทำสัญญาค้ำประกันกับเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างบุคคล จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.ในเรื่องค้ำประกัน ที่ให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอาแก่จำเลยที่ 1 ก่อน แล้วจึงบังคับเอาแก่ผู้ร้องในฐานะผู้ค้ำประกันในภายหลังมาปรับใช้แก่กรณีของผู้ร้อง โดยอาศัยเทียบบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5370/2549  มูลหนี้ที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้นั้นเนื่องมาจากลูกหนี้ที่ 1 ขอให้เจ้าหนี้ออกหนังสือค้ำประกันผลงานและหนังสือค้ำประกันเงินเบิกล่วงหน้าของบริษัท ฮ. ต่อบริษัท ก. ต่อมาเจ้าหนี้ถูกบริษัท ก. ฟ้องเป็นคดีแพ่งและศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีแพ่งดังกล่าวรับผิดต่อบริษัท ก. ภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาเจ้าหนี้ได้ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่บริษัท ก. แล้วจึงมายื่นขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ ดังนั้นการที่ลูกหนี้ที่ 1 ขอให้เจ้าหนี้ค้ำประกันผลงานและค้ำประกันเงินเบิกล่วงหน้าของบริษัท ฮ. ต่อบริษัท ก. โดยลูกหนี้ที่ 1 รับรองกับเจ้าหนี้ผู้ค้ำประกันว่าถ้าเจ้าหนี้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอย่างใด ๆ ในการค้ำประกันนั้น ลูกหนี้ที่ 1 จะใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าหนี้ผู้ค้ำประกันทั้งสิ้น การรับรองเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นสัญญาค้ำประกันแต่ถือได้ว่าเป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่มีผลบังคับได้ในระหว่างเจ้าหนี้ผู้ค้ำประกันกับลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขอให้เจ้าหนี้ออกหนังสือค้ำประกัน เมื่อเจ้าหนี้ต้องเสียหายโดยชำระหนี้แทนบุคคลที่ตนค้ำประกันไปตามคำพิพากษาของศาล เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ใช้เงินนั้นได้ตามสัญญา เมื่อต่อมาปรากฏว่าลูกหนี้ที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้จึงนำหนี้ดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ หนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและไม่ต้องห้ามที่จะขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 94



สัญญาค้ำประกันจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ 

          สัญญาค้ำประกันต้องการเพียงหลักฐานเป็นหนังสือที่ผู้ค้ำประกันลงชื่อฝ่ายเดียวก็ใช้บังคับสำหรับฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เจ้าหนี้หาจำต้องลงชื่อในสัญญาด้วยไม่ ตามมาตรา 680 วรรคท้าย หลักฐานเป็นหนังสือที่จะใช้ในการฟ้องร้องไม่จำเป็นต้องทำไว้กับเจ้าหนี้โดยตรง จะทำไว้ต่อบุคคลอื่น แม้จะไม่มีเจตนาจะใช้เป็นหลักฐานก็ได้ เช่น จดหมาย บันทึกข้อความ รายงานการประชุม รายงานประจำวันเกี่ยวแก่คดี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7103/2539  ข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุถึงการที่โจทก์ประสงค์จะขอถอนคำร้องทุกข์คดีอาญา เนื่องจากไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 อีกต่อไป เพราะตกลงกันได้โดยจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คพิพาท 3 ฉบับ สั่งจ่ายเงินรวม 410,000 บาท เพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ และมีจำเลยที่ 2 ยืนยันว่าหากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสามฉบับ จำเลยที่ 2 ยินยอมรับชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งให้แก่โจทก์นั้น ย่อมแสดงให้เข้าใจได้ชัดเจนว่าถ้าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยที่ 2 จะยอมชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์นั่นเอง ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ลงลายมือชื่อท้ายเอกสารดังกล่าวในช่องที่ระบุว่าผู้ค้ำประกัน รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานเป็นหนังสือที่จำเลยที่ 2 ยอมตนเข้าค้ำประกันการชำระเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3847/2541  คำว่าหลักฐานเป็นหนังสือที่จะรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคสอง กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องมีข้อความบรรจุอยู่ในเอกสารฉบับเดียวกัน อาจเป็นข้อความที่รวบรวมจากเอกสารหลายฉบับที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้ 
          เอกสารหมาย จ.17 มีข้อความว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ และในเอกสารหมาย จ.11 มีข้อความว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันการชำระหนี้ของลูกหนี้ต่อโจทก์ เอกสารทั้งสองฉบับนี้ย่อมรับฟังประกอบกันเป็นหลักฐานแห่งการค้ำประกันได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ กรณีมิใช่ศาลรับฟังพยานบุคคลประกอบข้ออ้างว่าเอกสารหมาย จ.11 ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 94 (ข) 

          หนี้ที่ค้ำประกันนั้นต้องเป็นหนี้ที่สมบูรณ์

          สัญญาค้ำประกัน สามารถทำได้ทั้งเพื่อค้ำประกันการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ก่อนแล้ว และหนี้ในอนาคตก็ได้ ที่สำคัญคือหนี้ที่ค้ำประกันนั้นต้องเป็นหนี้ที่สมบูรณ์ ตามมาตรา 681

          (1) หนี้ประธานไม่สมบูรณ์เพราะวัตถุประสงค์ของสัญญาต้องห้ามตามกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 375/2537  จำเลยทำสัญญายอมชำระหนี้ให้โจทก์แทน ส. เป็นการตอบแทนที่จำเลยขอให้โจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาที่โจทก์ฟ้อง ส.วัถตุประสงค์ของสัญญาเป็นการตกลงให้ระงับคดีอาญาแผ่นดิน ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 (มาตรา 113 (เดิม))
          (2) หนี้ประธานไม่สมบูรณ์เพราะไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1800/2511  สัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ถ้าหากทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เช่าซื้อฝ่ายเดียวย่อมเป็นโมฆะ เจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อจะฟ้องผู้เช่าซื้อให้รับผิดตามสัญญาหาได้ไม่ 
          ทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อซึ่งสัญญาเป็นโมฆะผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด เพราะการค้ำประกันจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์
          (3) หนี้ประธานสมบูรณ์แต่ขาดหลักฐานเป็นหนังสือ เช่น กู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป โดยส่งมอบเงินที่กู้ยืมให้แก่ผู้กู้แล้ว แต่ไม่ได้ทำสัญญาหรือหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนี้ สามารถทำสัญญาค้ำประกันได้เพราะมีหนี้ประธานที่สมบูรณ์ แต่เจ้าหนี้ฟ้องผู้กู้ไม่ได้เพราะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ส่วนผู้ค้ำประกันหากมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้ เจ้าหนี้ย่อมสามารถฟ้องผู้ค้ำประกันได้ แต่ผู้ค้ำประกันก็มีสิทธิตามมาตรา 694 ที่สามารถยกข้อต่อสู้ของผู้กู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้
          (4) หนี้ประธานอันเกิดแต่นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้น ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดเพียงใดหรือไม่ ก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 681 วรรคสี่ "หนี้อันเกิดแต่สัญญาซึ่งไม่ผูกพันลูกหนี้เพราะทำด้วยความสำคัญผิดหรือเพราะเป็นผู้ไร้ความสามารถนั้นก็อาจจะมีประกันอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าผู้ค้ำประกันรู้เหตุสำคัญผิดหรือไร้ความสามารถนั้นในขณะที่เข้าทำสัญญาผูกพันตน"

          สัญญาค้ำประกันตามกฎหมายใหม่ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม
          (1) หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขตามมาตรา 681 วรรคสอง ต้องระบุวัตถุประสงค์ในการก่อหนี้รายที่ค้ำประกัน ลักษณะของมูลหนี้ จำนวนเงินสูงสุดที่ค้ำประกัน และระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ำประกัน เว้นแต่เป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวตามมาตรา 699 จะไม่ระบุระยะเวลาดังกล่าวก็ได้
          (2) สัญญาค้ำประกันต้องระบุหนี้หรือสัญญาที่ค้ำประกันไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ค้ำประกันย่อมรับผิดเฉพาะหนี้หรือสัญญาที่ระบุไว้เท่านั้น ตามมาตรา 681 วรรคสาม
          (3) ถ้าไม่ระบุหรือระบุข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากมาตรา 681 วรรคสอง และวรรคสาม ย่อมตกเป็นโมฆะ
          (4) ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ ตามมาตรา 681/1 (แต่ไม่รวมถึงผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคล)
          (5) เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ (มาตรา 686 วรรคหนึ่ง)
          ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง (มาตรา 686 วรรคสอง)

          สรุป มาตรา 681/5 ที่ห้ามมิให้ตกลงแตกต่าง หากมีการตกลงแตกต่างจากบทมาตราที่กำหนดไว้ เฉพาะข้อตกลงนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ คือ
          (1) มาตรา 681 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม เรื่องความสมบูรณ์และเนื้อหาของสัญญาค้ำประกัน
          (2) มาตรา 686 เมื่อลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ต้องบอกกล่าวผู้ค้ำประกันก่อนจึงจะฟ้องผู้ค้ำประกันได้
          (3) มาตรา 694 ผู้ค้ำประกันมีสิทธิยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้
          (4) มาตรา 698 ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับ
          (5) มาตรา 699 ผู้ค้ำประกันหนี้ในอนาคตมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเพื่อคราวอันเป็นอนาคต
          ทั้งนี้ มาตรา 681/1 มีผลใช้บังคับแก่สัญญาค้ำประกันที่ทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ยกเว้นกรณีตามมาตรา 686 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2558

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 795/2545  การซื้อขายสินค้าของจำเลยที่ 1 ตามใบแจ้งหนี้สำเร็จบริบูรณ์ก่อนเวลาที่จำเลยที่ 2 เข้ามาค้ำประกันแล้ว ดังนี้ แม้วันที่ครบกำหนดชำระราคาค่าสินค้าจะเป็นเวลาภายหลังวันที่ทำสัญญาค้ำประกันก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็คงต้องรับผิดเฉพาะหนี้ค่าสินค้าตามใบแจ้งหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากวันที่จำเลยที่ 2 เข้าค้ำประกันการซื้อสินค้าของจำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 431/2544  - การที่โจทก์กรอกข้อความลงในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำ ประกันที่จำเลยลงลายมือชื่อ แต่ยังไม่ได้กรอกข้อความอื่นใดว่าได้มีการกู้ยืมเงิน และค้ำประกันในจำนวนเงินถึง 100,000 บาทเกินกว่าจำนวนหนี้ที่เป็นจริง โดยจำเลยทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันจึงไม่สมบูรณ์ ทำให้เอกสารนั้นเป็นเอกสารปลอม โจทก์จึงอ้างเอกสารนั้นมาเป็น พยานหลักฐานในคดีอย่างใดไม่ได้ ฉะนั้น การกู้ยืมเงินและการค้ำประกันที่ฟ้อง จึงถือว่าไม่มีพยานหลักฐานเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 และ มาตรา 680 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4057/2548  - สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียว การตีความให้ผู้ค้ำประกันรับผิดจึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด จะตีความไปในทางขยายความรับผิดของผู้ค้ำประกันให้เกินเลยไปกว่าข้อความที่ปรากฏชัดแจ้งในสัญญาค้ำประกันไม่ได้ จำเลยเข้าทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของ ภ. วันใดย่อมหมายถึงจำเลยยอมค้ำประกันการทำงานของ ภ. นับแต่วันที่ทำสัญญาค้ำประกันนั้นเป็นต้นไป มิใช่หมายความถึงยอมค้ำประกันหนี้ที่ ภ. เป็นหนี้โจทก์อยู่แล้วก่อนหน้าวันที่จำเลยตกลงยอมเข้าเป็นผู้ค้ำประกันซึ่ง เป็นการขยายความรับผิดของผู้ค้ำประกัน หากโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยรับผิดในหนี้ที่ ภ. ก่อให้เกิดขึ้นก่อนหน้าวันที่จำเลยเข้าเป็นผู้ค้ำประกันก็ต้องระบุไว้ให้ ชัดเจน เมื่อสัญญาค้ำประกันไม่มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับผิดในหนี้ที่ ภ. ก่อให้เกิดขึ้นแล้วก่อนวันทำสัญญา แต่หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นหนี้ที่ ภ. ก่อให้เกิดขึ้นก่อนวันที่จำเลยเข้าเป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์