16 ตุลาคม 2567

การชำระหนี้ตามอำเภอใจ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 407 เป็นการชำระหนี้ทั้งที่รู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้นั้น มีผลให้ ผู้นั้นไม่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์

          ป.พ.พ.มาตรา 407 บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่

          การชำระหนี้ตามอำเภอใจเป็นการชำระหนี้โดยสมัครใจ คือ มิได้กระทำโดยหลงผิด สำคัญผิด โดยเป็นการกระทำการชำระหนี้ทั้งที่รู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้นั้น มีผลให้ ผู้นั้นไม่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ เช่น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 745/2565 การออกหุ้นกู้ต้องอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 1229 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 65 กล่าวคือ ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นความผิดและต้องได้รับโทษตาม มาตรา 268 การที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเป็นเหตุให้การออกหุ้นกู้ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจใช้บังคับในฐานะหุ้นกู้ตามกฎหมายได้ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์ และมีกำหนดเวลาการชำระคืน ถือได้ว่า สำเนาใบหุ้นกู้มีข้อความครบถ้วนเพียงพอให้รับฟังได้ว่า เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่เป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังสำเนาใบหุ้นกู้เป็นพยานหลักฐานได้ ไม่เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงพยานเอกสารเมื่อฟังได้ว่าสำเนาใบหุ้นกู้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงให้ผลตอบแทนร้อยละ 2 ต่อเดือน เป็นการให้ดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 654 ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไป ส่วนผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ได้ชำระแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดขึ้นเอง จึงเป็นการชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 จำเลยที่ 1 ไม่อาจขอให้นำเงินที่ชำระไปดังกล่าวมาหักกลบกับต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6614/2562  จำเลยรับจะดำเนินการวิ่งเต้นให้โจทก์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธร โจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่าจำเลยจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยตนเองหรือผ่านบุคคลอื่นเพื่อแทรกแซงการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจแต่งตั้ง โดยมีเงินที่ได้รับจากโจทก์เป็นค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ การที่โจทก์ตกลงมอบเงินให้ตามข้อเสนอของจำเลย แต่โจทก์ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การคืนทรัพย์อันเกิดจากโมฆะกรรม ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม มาตรา 172 วรรคสอง การที่โจทก์มอบเงินให้จำเลยไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นการกระทำตามอำเภอใจ เสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ทั้งยังเป็นการชำระหนี้อันฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี จึงไม่อาจเรียกร้องเงินคืนได้ตาม มาตรา 407 และ 411

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6518/2562  ฎีกาของผู้ประกันเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เกี่ยวกับการบังคับตามสัญญาประกัน โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า การที่ผู้ประกันนำเงิน 500,000 บาท มาชำระตามสัญญาประกันในวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ทั้งที่ผู้ประกันอ้างในคำร้องฉบับลงวันที่ 7 มิถุนายน 2561 ว่า ศาลชั้นต้นสิ้นสิทธิในการบังคับคดีเพราะไม่บังคับคดีภายใน 10 ปี จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกันชำระหนี้โดยรู้ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จึงไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าวคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ประกัน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ดังกล่าว ย่อมเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง

          *** การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 411 จำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระไป แต่โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ดอกเบี้ยเป็นโมฆะ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำเงินที่จำเลยชำระดอกเบี้ยทั้งหมด ไปหักต้นเงินกู้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2560 (ประชุมใหญ่) การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยหาอาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ แต่ในข้อนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้วและจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ 7,500 บาท ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับที่หนึ่ง คงเหลือหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับนี้ 42,500 บาท เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันผิดนัดคือวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2560)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560  โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 564/2560  เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 ที่ประชุมใหญ่สหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด มีมติเลือกจำเลยเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ดังกล่าว ต่อมาสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด ได้แต่งตั้งจำเลยเป็นผู้แทนของสหกรณ์เพื่อเข้าร่วมประชุมใหญ่ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด โจทก์และที่ประชุมใหญ่ของโจทก์มีมติเลือกจำเลยเป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยเป็นไปตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายหรือมติคณะกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ การที่โจทก์จ่ายเงินค่าเบี้ยประชุมและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นให้แก่จำเลยเป็นการปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์ซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของจำเลยที่จะได้รับจากการทำงานของตน ขณะเดียวกันโจทก์ก็ได้ผลแห่งการงานที่จำเลยได้กระทำในระหว่างที่เป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์เป็นการตอบแทนด้วย แม้ภายหลังรองนายทะเบียนสหกรณ์ซึ่งควบคุมและกำกับการดำเนินกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด มีหนังสือแจ้งเพิกถอนมติการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด เรื่องการสรรหากรรมการดำเนินการ ก็เป็นเพียงเรื่องที่จำเลยขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด เป็นเหตุให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด และกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์เท่านั้น หาเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยมีสิทธิได้รับโดยชอบด้วยกฎหมายในระหว่างที่ยังเป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์คืนจากจำเลยไม่ เงินค่าเบี้ยประชุมและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยได้รับ จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยได้รับมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และต้องคืนเงินนั้นให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ ส่วนเงินโบนัสประจำปี 2553 ซึ่งเป็นบำเหน็จรางวัลแก่กรรมการดำเนินการและไม่ถือเป็นผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานโดยตรง เมื่อที่ประชุมชุมนุมสหกรณ์โจทก์มีมติให้จ่ายโบนัสดังกล่าวแก่กรรมการดำเนินการรวมทั้งจำเลย หลังจากที่รองนายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด การที่จำเลยได้รับเงินโบนัสดังกล่าวไปจากโจทก์จึงเป็นการได้รับไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ซึ่งเป็นลาภมิควรได้ การที่โจทก์จ่ายเงินโบนัสดังกล่าวให้แก่จำเลยไปย่อมเป็นกรณีที่โจทก์ได้กระทำการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินโบนัสดังกล่าวคืนจากจำเลยได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 584/2558  โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาลโจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 แม้ต่อมาจำเลยจะขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท แต่ตราบใดคดีที่จำเลยขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดโจทก์ย่อมมีอำนาจในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่จะใช้สอยที่ดินพิพาทตามกฎหมาย การที่โจทก์ถมดินในที่ดินพิพาทก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและคดีถึงที่สุดจึงย่อมมีสิทธิที่จะทำได้ และกรณีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่โจทก์สมัครใจถมดินในที่ดินพิพาทตามอำเภอใจตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 โดยรู้อยู่ว่าอาจมีการเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทภายหลังได้ ส่วนข้อสัญญาที่โจทก์ทำไว้กับเจ้าพนักงานบังคับคดี จำเลยหาอาจนำมาอ้างให้เสื่อมสิทธิของโจทก์และเป็นประโยชน์แก่จำเลยได้ เพราะเป็นข้อตกลงที่โจทก์มีต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี หาได้เกี่ยวและมีผลผูกพันจำเลย แต่เมื่อจำเลยได้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งถึงที่สุดแล้วโดยได้ดินที่โจทก์ถมไว้โดยสุจริตในที่ดินพิพาทไปด้วย อันทำให้มูลค่าที่ดินพิพาทเพิ่มขึ้น ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สิ่งใดที่จำเลยได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จึงเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 จำเลยต้องคืนดินที่ถมในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้ปรับปรุงถมดินเต็มเนื้อที่ในที่ดินพิพาทเพื่อจะปลูกสร้างบ้านเป็นเวลาล่วงเลยมานานถึง 12 ปี ดินที่โจทก์นำมาถมย่อมเปลี่ยนแปลงสภาพเกลื่อนกลืนกับที่ดินพิพาทของจำเลยไปตามกาลเวลากลายเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำเลยซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ไปแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนดินที่ถมหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนก็ตาม ก็ไม่อาจคืนดินที่ถมไปแล้วให้แก่โจทก์ได้ แต่การที่โจทก์ขอให้ใช้ราคาแทนดินที่ถม ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่เสียไปอันทำให้ที่ดินของจำเลยมีราคาสูงขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 417 ที่บัญญัติให้โจทก์เรียกจากจำเลยได้ก็เพียงเท่าราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เมื่อที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 1 ไร่ 38 ตารางวา และโจทก์ถมดินไป 3,000 คิว ประกอบกับสภาพสถานที่ตั้งของที่ดิน ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีแล้วเห็นควรกำหนดให้จำเลยใช้ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์เป็นเงิน 510,000 บาท
          ตราบใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้มีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทและคดีถึงที่สุด การที่โจทก์ถมที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้าน และมีการตัดต้นไม้ในที่ดินพิพาทเพื่อถมดิน โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะทำได้ตามกฎหมายในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ หาเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยไม่ และแม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ถึงที่สุดดังกล่าวจะมีผลเท่ากับว่าไม่มีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทมาแต่แรก ทำให้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย ล.5 ไม่มีผลบังคับ แต่ก่อนที่ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะถึงที่สุด สิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 อยู่ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยตามฟ้องแย้ง