28 ก.พ. 2567

การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต


          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์


          มาตรา 5 "ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต"

          มาตรา 5 เป็นหลักทั่วไปที่ใช้บังคับในการใช้สิทธิหรือชำระหนี้ทางแพ่งของบุคคล เป็นหลักที่นำมาใช้ในกรณีที่บุคคลจะใช้สิทธิหรือชำระหนี้ของตนในเมื่อกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างกันมิได้กำหนดรายละเอียดถึงการปฏิบัติต่อกันไว้ ก็ให้ถือเอาความสุจริตเป็นที่ตั้ง ดังสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “บุคคลที่มาศาลต้องมาด้วยมือสะอาด" (He who comes to equity must come with clean hands.) หมายถึง การที่บุคคลใช้สิทธิหรือบังคับตามสิทธิของตนที่เกิดขึ้นมาแล้วนั้นจะต้องใช้โดยสุจริต มิฉะนั้นศาลจะไม่รับรองสิทธินั้นหรือไม่รับบังคับให้ รวมทั้งการชำระหนี้ก็ต้องกระทำโดยสุจริตด้วยเช่นเดียวกัน โดยถือว่าในการที่บุคคลได้ผูกนิติสัมพันธ์ต่อกันแล้วทุกคนต้องซื่อสัตย์และไว้วางใจต่อกัน และต้องปฏิบัติต่อกันด้วยความซื่อสัตย์และไว้วางใจด้วย ถ้าการกระทำใดเป็นปฏิปักษ์ต่อความซื่อสัตย์และความไว้วางใจดังกล่าว ย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต 
          การใช้สิทธิที่ไม่สุจริตนั้นมีผลถึงเรื่องการไม่มีอำนาจฟ้องคดี ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง แม้คู่ความจะไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาไว้ก็ตาม

          มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ 

          บังคับให้ทำสัญญากู้เกินจากความจริง แล้วนำสัญญากู้มาฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13707/2558   โจทก์บังคับให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน 100,000 บาท ทั้งที่ความจริงกู้ยืมเงินกันเพียง 10,000 บาท เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่อาจแสวงหาผลประโยชน์จากสัญญากู้ที่ทำขึ้นโดยไม่สุจริต ปัญหาว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้




          การอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่แล้วนำมาฟ้อง หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีเดิม การฟ้องคดีของโจทก์ในคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6799/2558  คดีก่อน โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกับจำเลย ในราคา 450,000 บาท จำเลยตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงภายในเดือนมกราคม 2554 จำเลยได้รับเงินครบถ้วนและส่งมอบที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่โจทก์แล้ว เมื่อครบกำหนด โจทก์แจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย เท่ากับโจทก์ยอมรับว่า เคยมีการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจริง และที่ดินพิพาททั้งสองเป็นของจำเลย แต่คดีนี้โจทก์กลับอ้างว่า โจทก์ทำสัญญาขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยในราคา 400,000 บาท โดยโจทก์ประสงค์เพียงให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ อันเป็นการแสดงเจตนาลวง คำฟ้องคดีนี้จึงขัดกับคำฟ้องก่อน ทั้งเป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีก่อน อันแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า การฟ้องคดีของโจทก์ในคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

          เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2  มิได้รับซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไว้โดยสุจริต จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่อาจยกเอาความประมาทเลินเล่อของโจทก์ดังกล่าวขึ้นอ้างเป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ เพราะในการรับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวมาเป็นของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6454/2558  แม้ตามทางพิจารณาจะได้ความว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจที่มิได้เขียนกรอกข้อความและมอบโฉนดที่ดินพิพาทพร้อมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวกับเอกสารอื่นๆ ให้จำเลยที่ 1 ไป เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 นำเอกสารชุดดังกล่าวมอบให้จำเลยที่ 4 และให้จำเลยที่ 4 เขียนกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจผิดจากวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2  มิได้รับซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไว้โดยสุจริต จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่อาจยกเอาความประมาทเลินเล่อของโจทก์ดังกล่าวขึ้นอ้างเป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ เพราะในการรับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวมาเป็นของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต เมื่อคดีฟังได้ว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเอกสารปลอม จึงถือได้ว่านิติกรรมซื้อขายดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นและไม่มีผลใช้บังคับ กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างยังคงเป็นของโจทก์ โจทก์ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ ตาม  ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ

          โจทก์และจำเลยที่ 3 กระทำการเอื้อประโยชน์ให้แก่กันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนราชการ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องหน่วยงานราชการจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1738/2558  การซื้อขายสินค้าลูกโลกรายพิพาทนี้ จำเลยที่ 3 ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการและ ม. ผู้จัดการทั่วไปของโจทก์ ซึ่งเป็นผู้ติดต่อกับบุคคลภายนอกทราบระเบียบการจัดซื้อและจัดจ้างของส่วนราชการเป็นอย่างดี เชื่อว่า ม. ทราบว่าการจัดซื้อลูกโลกรายพิพาทนี้ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ แต่โจทก์เข้ามาเสนอขายลูกโลกให้แก่จำเลยที่ 3 ได้ทั้งๆ ที่เป็นการผิดระเบียบ แสดงว่า ม. สนิมสนมกับผู้บริหารของจำเลยที่ 3 เป็นอย่างดี และจำเลยที่ 3 ต้องทราบว่าโจทก์มีสินค้าตรงกับตัวอย่างที่นำไปเสนอประกวดราคาต่อกระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มิเช่นนั้นจำเลยที่ 3 คงไม่เสนอซื้อจากโจทก์ ยิ่งไปกว่านั้นการที่โจทก์ทำใบเสนอราคาโดยไม่มีรายละเอียดของสินค้าเป็นการชี้ให้เห็นชัดขึ้นอีกว่าคงจะได้พูดคุยรายละเอียดถึงคุณลักษณะของสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ด้วยวาจาแล้วอันเป็นการรู้กัน จึงน่าเชื่อว่าลูกโลกสินค้าตัวอย่างที่จำเลยที่ 3 นำไปแสดงต่อกระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นของโจทก์ การซื้อขายลูกโลกเป็นจำนวนมากในคราวเดียวกัน ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ ม. จะไม่สอบถามจำเลยที่ 3 ว่าซื้อไปขายให้แก่ใคร เชื่อว่า ม. ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 3 ซื้อลูกโลกไปขายให้แก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและประการสำคัญโจทก์ต้องดัดแปลงตัวสินค้าเปลี่ยนฐานและแกนลูกโลกเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก หากไม่แน่ใจว่าขายได้ย่อมเป็นการเสี่ยงแสดงให้เห็นว่าโจทก์กับจำเลยที่ 3 ต้องไว้ใจกันเป็นพิเศษ อันมีลักษณะช่วยเหลือและเอื้อเฟื้อกัน นอกจากนี้เมื่อโจทก์นำสินค้าไปส่งมอบแก่จำเลยที่ 3 คณะกรรมการตรวจรับสินค้าก็รับมอบสินค้าโดยไม่อิดเอื้อน ทั้งๆ ที่สินค้าไม่ตรงตามใบเสนอราคายิ่งแสดงให้เห็นว่ามีการพูดคุยกันแล้วล่วงหน้า เมื่อจำเลยที่ 3 ขอผัดผ่อนชำระราคา โจทก์ก็ยินยอม จนสุดท้ายจำเลยที่ 3 แจ้งว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวต้องการให้ทำมาตราส่วนที่แกนลูกโลกและขอให้เพิ่มแขวงใหม่ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โจทก์ก็ยินยอม ซึ่งการแก้ไขมีค่าใช้จ่ายไม่น้อย ทั้งๆ ที่โจทก์มีสิทธิที่จะไม่แก้ไข แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโจทก์และจำเลยที่ 3 กระทำการเอื้อประโยชน์ให้แก่กันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนราชการ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ชำระหนี้ได้

          จำเลย(ธนาคาร)มิได้รับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวมาตามธุรกรรมที่เป็นปกติธุระของจำเลย แต่เป็นการรับสลักหลังโอนโดยซื้อมาในราคาต่ำ โดยมีเจตนามุ่งหมายจะนำมูลหนี้ตามตั๋วแลกเงินนั้น ไปหักกลบลบหนี้กับหนี้อันเกิดจากการซื้อขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลย อันจะมีผลให้จำเลยได้รับการปลดเปลื้องความรับผิดจากการเป็นลูกหนี้โจทก์ การที่จำเลยรับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวและขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์ ย่อมเป็นการใช้สิทธิแห่งตนโดยไม่สุจริต 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19395/2557  จำเลยมิใช่ผู้รับโอนตั๋วแลกเงินมาจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและรับรองตั๋วแลกเงินโดยตรง แต่รับสลักหลังโอนมาจากผู้ทรงซึ่งรับสลักหลังโอนมาจากผู้ทรงคนเดิมที่โจทก์ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปแล้ว โดยขณะจำเลยรับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินมานั้น จำเลยซึ่งเป็นธนาคารอันเป็นสถาบันการเงินซึ่งอยู่ภายใต้กำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ย่อมทราบว่าโจทก์ได้ประสบปัญหาด้านการเงินและถูกระทรวงการคลังสั่งระงับการดำเนินกิจการ อันเป็นที่เห็นได้โดยสุจริตว่าตั๋วแลกเงินที่จำเลยรับสลักหลังโอนมาในขณะนั้น มีมูลค่าลดน้อยลงไปกว่าราคาที่ผู้ทรงคนเดิมรับสลักหลังโอนมาเป็นจำนวนมาก หรือนัยหนึ่งตั๋วแลกเงินดังกล่าวน่าจะไม่มีมูลค่าเพียงพอที่จะจูงใจให้มีการซื้อขายเพื่อสลักหลังโอนกันตามปกติแล้ว ทั้งกรณีที่ผู้ทรงประสงค์จะได้รับชำระหนี้ตามตั๋วแลกเงิน ก็ชอบที่จะต้องนำมูลหนี้ตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปขอรับชำระหนี้ต่อองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) หรือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในกรณีที่โจทก์ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งจักได้ชำระบัญชีหรือดำเนินการรวบรวมทรัพย์สินของโจทก์มาจัดสรรชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายของโจทก์ ให้ได้รับส่วนแบ่งโดยทัดเทียมกันอย่างเป็นธรรมตามสัดส่วนแห่งหนี้ พฤติการณ์การรับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินมาดังกล่าว จึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าจำเลย มิได้รับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวมาตามธุรกรรมที่เป็นปกติธุระของจำเลย แต่เป็นการรับสลักหลังโอนโดยซื้อมาในราคาต่ำ โดยมีเจตนามุ่งหมายจะนำมูลหนี้ตามตั๋วแลกเงินนั้น ไปหักกลบลบหนี้กับหนี้อันเกิดจากการซื้อขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลย อันจะมีผลให้จำเลยได้รับการปลดเปลื้องความรับผิดจากการเป็นลูกหนี้โจทก์ การที่จำเลยรับสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวและขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์ ย่อมเป็นการใช้สิทธิแห่งตนโดยไม่สุจริต ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 5 จำเลยจึงไม่อาจนำมูลหนี้ ตามตั๋วแลกเงินทั้ง 11 ฉบับ มาหักกลบหนี้กับหนี้การซื้อขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐล่วงหน้าที่จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ได้




          โจทก์เองเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญามาแต่แรก การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและประวิงคดีที่จำเลยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองให้ล่าช้าออกไปนั้นเอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17523/2557  ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยทั้งโจทก์และจำเลยต่างมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาต่อกัน หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประพฤติผิดสัญญาอีกฝ่ายย่อมมีสิทธิงดเว้นหรือเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามสัญญาได้ เมื่อโจทก์ไม่เคยชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงินให้แก่จำเลยนับแต่ทำสัญญาเป็นต้นมา การที่จำเลยยอมทำหนังสือยินยอมให้โจทก์ไปดำเนินการรวมโฉนดและแบ่งแยกที่ดินนั้นถือว่าเป็นการผ่อนผันให้โจทก์ติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินเบื้องต้น แต่ที่ไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 8 ฉบับ ไปด้วยก็สืบเนื่องจากโจทก์ผิดนัดชำระดอกเบี้ยแก่จำเลยตามสัญญา กรณีจะฟังว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหาได้ไม่
          การที่จำเลยฟ้องโจทก์เพื่อให้ชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนอง โจทก์จำเลยได้ตกลงขอให้ศาลจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า โจทก์ชำระเงินกู้ 14,000,000 บาท แก่จำเลย แต่แล้วโจทก์เพิกเฉยเป็นเหตุให้จำเลยขอศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดที่ดินที่จำนองทั้ง 8 แปลง ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ พฤติการณ์แห่งคดีบ่งชี้ให้เห็นว่า โจทก์เองเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญามาแต่แรก การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและประวิงคดีที่จำเลยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองให้ล่าช้าออกไปนั้นเอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย

          โจทก์มิได้หักหนี้ในวันที่สัญญาเลิกกันตามที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับจำเลย แต่กลับคิดดอกเบี้ยตลอดมาแล้วนำมาหักกลบลบหนี้ ให้จำเลยชำระหนี้ที่เหลือตามคำฟ้อง ตามพฤติการณ์ถือเป็นการใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยโดยไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14405/2557  การที่โจทก์มิได้หักหนี้ในวันที่สัญญาเลิกกันตามที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2546 แต่กลับคิดดอกเบี้ยตลอดมาแล้วนำมาหักกลบลบหนี้ ให้จำเลยชำระหนี้ที่เหลือตามคำฟ้อง ตามพฤติการณ์ถือเป็นการใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยโดยไม่สุจริต จึงไม่อาจนำดอกเบี้ยมารวมกับต้นเงินดังที่โจทก์คำนวณมาในคำฟ้อง เมื่อภาระหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์มีจำนวนน้อยกว่าค่าจ้างที่โจทก์ต้องรับผิดชำระแก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247

          ผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องมีหนี้สินจำนวนมากจึงตัดสินใจหย่าตามความต้องการของ ท. โดยไม่มีการแบ่งทรัพย์สินกัน เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องหนี้สินกระทบต่อฐานะ ตำแหน่ง ของ ท. ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ ทั้งนี้เพื่อจะได้ขอรับบำเหน็จตกทอดของ ท. คำร้องขอคดีนี้จึงขัดกับบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ทั้งเหตุผลในคำร้องเป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่เพื่อประโยชน์ในเชิงคดีของผู้ร้องเท่านั้น คำร้องขอของผู้ร้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8941/2557   บันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ระบุไว้ชัดเจนว่าคู่หย่าทั้งสองฝ่ายสมัครใจจดทะเบียนหย่ากันโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียน โดยตอนท้ายบันทึกยังระบุอีกว่า บันทึกไว้เป็นหลักฐานและอ่านให้ฟังแล้วรับว่าเป็นความจริงทุกประการ จึงลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานเป็นสำคัญ คดีนี้ผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องมีหนี้สินจำนวนมากจึงตัดสินใจหย่าตามความต้องการของ ท. โดยไม่มีการแบ่งทรัพย์สินกัน เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องหนี้สินกระทบต่อฐานะ ตำแหน่ง และความก้าวหน้าในทางราชการของ ท. ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ ทั้งนี้เพื่อจะได้ขอรับบำเหน็จตกทอดของ ท. คำร้องขอคดีนี้จึงขัดกับบันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ทั้งเหตุผลในคำร้องเป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่เพื่อประโยชน์ในเชิงคดีของผู้ร้องเท่านั้น อันแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าคำร้องขอของผู้ร้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้อง

          โจทก์คาดหมายได้ว่าศาลอาจจะอนุญาตให้จำเลยลงโทษโจทก์โดยการไล่ออกหรือเลิกจ้าง โจทก์จึงชิงลาออกเสียก่อน พฤติการณ์ทั้งหลายส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์เพื่อที่จะแสวงหาประโยชน์จากการลาออก เนื่องจากหากโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุทุจริตย่อมทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะได้รับเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือสิทธิประโยชน์อื่นที่อาจจะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างผิดทำนองคลองธรรมและขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แม้จำเลยจะมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์หลังจากโจทก์ลาออก แต่โจทก์อาศัยเหตุลาออกดังกล่าวมาเป็นมูลฟ้องร้องคดีนี้เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลย อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6998/2557   เดิมจำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลแรงงานกลางเพื่อลงโทษโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างโดยการไล่ออกเนื่องจากโจทก์กระทำทุจริตต่อหน้าที่เรียกเงินจากลูกหนี้ของจำเลยที่มาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โจทก์เบิกความในคดีดังกล่าวว่าได้รับเงินจากลูกหนี้ของจำเลยจริงแต่เป็นเงินที่ลูกหนี้ประสงค์จะให้นำไปทำบุญโดยโจทก์นำไปทำบุญแล้ว โจทก์ไม่เคยยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นปฏิเสธต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของจำเลย เพิ่งยกขึ้นอ้างขณะเบิกความในคดีดังกล่าว เมื่อศาลสืบพยานในคดีดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วโจทก์กลับยื่นใบลาออกก่อนวันนัดฟังคำพิพากษา ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยเนื่องจากเห็นว่าเมื่อโจทก์ลาออกแล้วก็ไม่มีเหตุที่จะพิจารณาว่าโจทก์กระทำทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ หากโจทก์ไม่ลาออกศาลต้องพิจารณาว่าโจทก์กระทำทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ หากโจทก์กระทำผิดศาลก็ต้องมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยลงโทษไล่โจทก์ออกได้ ทั้งจำเลยก็ไม่ได้อนุมัติให้โจทก์ลาออกเนื่องจากเห็นว่าคดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างพิจารณาและโจทก์มิได้ยื่นใบลาออกล่วงหน้าตามระเบียบของจำเลย แสดงให้เห็นว่าโจทก์คาดหมายได้ว่าศาลอาจจะอนุญาตให้จำเลยลงโทษโจทก์โดยการไล่ออกหรือเลิกจ้าง โจทก์จึงชิงลาออกเสียก่อนเพื่อไม่ให้กระบวนการพิจารณาในการขอลงโทษกรรมการลูกจ้างตามกฎหมายดำเนินต่อไปได้ พฤติการณ์ทั้งหลายส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์เพื่อที่จะแสวงหาประโยชน์จากการลาออก เนื่องจากหากโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุทุจริตย่อมทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะได้รับเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือสิทธิประโยชน์อื่นที่อาจจะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างผิดทำนองคลองธรรมและขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แม้จำเลยจะมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์หลังจากโจทก์ลาออก แต่โจทก์อาศัยเหตุลาออกดังกล่าวมาเป็นมูลฟ้องร้องคดีนี้เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุจากการลาออกโดยไม่สุจริตมาขอเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยเพื่อให้โจทก์ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากการลาออกและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเกี่ยวกับการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

          โจทก์เคยไปดูที่ดินพบว่ามีการทำนาปลูกต้นยูคาลิปตัสและมันสำปะหลัง ไม่เคยถามผู้ที่ทำนาเหล่านั้นว่าขายที่ดินหรือไม่ ทราบเพียงว่าเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จึงตกลงซื้อภายหลังซื้อที่ดินทั้งหมดประมาณ 18,000 ไร่ จึงวางแผนพัฒนาที่ดินเสนอต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เพื่อให้ได้เงินไปขยายธุรกิจขนส่งทางทะเลโดยไม่เคยทำประโยชน์ตามแผนพัฒนาที่ดินที่เสนอต่อผู้ให้กู้ สัญญาซื้อขายที่อ้างจำนวนมากถึง 92 ฉบับ มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ฉบับเดียวที่ตรงกับที่ดิน 66 ฉบับ ที่ถูกเพิกถอน วันที่ตามสัญญาซื้อขายแตกต่างกับวันที่ซึ่งลงในสารบัญรายการจดทะเบียน จึงเป็นพิรุธว่ามีการจดทะเบียนซื้อขายโดยชอบหรือไม่ เชื่อว่าโจทก์ได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบ ไม่อาจอ้างสิทธิได้ตามฟ้อง เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10424/2556   การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทั้ง 66 ฉบับ ดำเนินการโดยผู้ครอบครองที่ดินมิได้ยื่นคำขอพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์จริง ไม่ทราบตำแหน่งที่ดิน ไม่มีการรังวัดสอบสวนการทำประโยชน์ระบุตำแหน่งที่ดินในระวางแผนที่ ออกทับที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยจำเลยร่วมทำเอกสารปลอมและเอกสารอันเป็นเท็จเสนอต่อนายอำเภอ เพื่อขออนุมัติต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เฉพาะราย ไม่มีการจัดทำตามขั้นตอนรายละเอียดดังที่ระบุในเอกสารประกอบเรื่องราวขึ้นจริง เลขต่อในทะเบียนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 8) บางส่วนถูกฉีกขาดหายไป ไม่พบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ฉบับสำนักงานที่ดินทั้ง 66 ฉบับ ที่ถูกเพิกถอน โดยจำเลยร่วมดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทั้ง 66 ฉบับ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการสามารถใช้เป็นสินทรัพย์เพื่อจำหน่าย จ่าย โอน รวมทั้งใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อในการประกอบธุรกิจ บ่งบอกว่าการกระทำทั้งปวงมิได้มุ่งหมายให้ได้ที่ดินเพื่อใช้เป็นประโยชน์ตามสภาพของทรัพย์สิน แต่มุ่งหมายเพียงเพื่อให้ได้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เพื่อเป็นสินทรัพย์จำนองเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเท่านั้น ทั้งโจทก์เคยไปดูที่ดินพบว่ามีการทำนาปลูกต้นยูคาลิปตัสและมันสำปะหลัง ไม่เคยถามผู้ที่ทำนาเหล่านั้นว่าขายที่ดินหรือไม่ ทราบเพียงว่าเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จึงตกลงซื้อภายหลังซื้อที่ดินทั้งหมดประมาณ 18,000 ไร่ จึงวางแผนพัฒนาที่ดินเสนอต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เพื่อให้ได้เงินไปขยายธุรกิจขนส่งทางทะเลโดยไม่เคยทำประโยชน์ตามแผนพัฒนาที่ดินที่เสนอต่อผู้ให้กู้ สัญญาซื้อขายที่อ้างจำนวนมากถึง 92 ฉบับ มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ฉบับเดียวที่ตรงกับที่ดิน 66 ฉบับ ที่ถูกเพิกถอน วันที่ตามสัญญาซื้อขายแตกต่างกับวันที่ซึ่งลงในสารบัญรายการจดทะเบียน จึงเป็นพิรุธว่ามีการจดทะเบียนซื้อขายโดยชอบหรือไม่ เชื่อว่าโจทก์ได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบ ไม่อาจอ้างสิทธิได้ตามฟ้อง เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็ชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้ร่วมกันรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิด กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันมิอาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 4 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบ มาตรา 247

          โจทก์มอบเอกสารโฉนดที่ดิน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมกับใบมอบอำนาจที่มีการลงลายมือชื่อโจทก์โดยไม่ได้กรอกข้อความให้แก่ ต. ไปนั้น แสดงว่า โจทก์ก็รู้ดีและยอมรับอยู่แล้วว่า ต. สามารถนำที่ดินโจทก์ไปโอนขายหรือจำนองหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการเปิดโอกาสให้นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้ ถือได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และจะยกเอามาเป็นมูลเหตุฟ้องร้อง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองโดยสุจริตหาได้ไม่ เมื่อทั้งสองฝ่ายไม่อาจนำ ต. มาเบิกความให้ได้ข้อเท็จจริงจนกระจ่างชัด จึงต้องใช้หลักผู้ประมาทเลินเล่อย่อมเป็นผู้เสียเปรียบ ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่มีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14437/2555   โจทก์มอบโฉนดที่ดิน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์และใบมอบอำนาจที่ลงลายมือชื่อโจทก์ไว้แล้วแต่ยังไม่ได้กรอกข้อความ ให้แก่ ต. เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ ต่อมา ต. นำที่ดินของโจทก์ไป จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ค่าซื้อสินค้าแก่จำเลยที่ 1 แล้วไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือบังคับจำนองดังนี้ การที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 กระทำการโดยไม่สุจริต จะต้องมีภาระการพิสูจน์ แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ไม่สุจริตอย่างไร ลำพังเพียงเหตุที่โจทก์ไม่รู้จักกับจำเลยที่ 1 และการกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์นั้น ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต การที่โจทก์มอบเอกสารดังกล่าวพร้อมกับใบมอบอำนาจที่มีการลงลายมือชื่อโจทก์โดยไม่ได้กรอกข้อความให้แก่ ต. ไปนั้น แสดงว่า โจทก์ก็รู้ดีและยอมรับอยู่แล้วว่า ต. สามารถนำที่ดินโจทก์ไปโอนขายหรือจำนองหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการเปิดโอกาสให้นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้ ถือได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และจะยกเอามาเป็นมูลเหตุฟ้องร้อง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองโดยสุจริตหาได้ไม่ เมื่อทั้งสองฝ่ายไม่อาจนำ ต. มาเบิกความให้ได้ข้อเท็จจริงจนกระจ่างชัด จึงต้องใช้หลักผู้ประมาทเลินเล่อย่อมเป็นผู้เสียเปรียบ ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์รับผิดในดอกเบี้ย ของต้นเงินที่ ต. จะต้องรับผิดต่อ จำเลยที่ 1 ก่อนที่ ต. จะผิดนัดชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เป็นการพิพากษาเกินกว่าความรับผิด อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย อีกเช่นกัน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.พ.พ. 142 (5), 246 และ 247

          โจทก์ใช้ทั้งสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินกู้ทั้งหมด ในขณะเดียวกันก็รับการผ่อนชำระของจำเลยไปเรื่อยๆ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11482/2555   แม้ข้อตกลงที่จำเลยยอมให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินกู้ค้างชำระทั้งหมดหากจำเลยพ้นจากการเป็นพนักงานจะมีผลบังคับได้ แต่หลังจากจำเลยลาออกแล้วโจทก์ก็ยังรับผ่อนชำระเงินกู้จากจำเลยมาตลอดโดยจำเลยไม่เคยผิดนัด แสดงว่าโจทก์ได้สละสิทธิที่จะเรียกเงินกู้ค้างชำระทั้งหมดด้วยเหตุจำเลยพ้นสภาพการเป็นพนักงานของโจทก์โดยปริยาย นอกจากนั้นการกู้เงินของจำเลยเป็นการกู้เงินสวัสดิการของพนักงานเพื่อที่อยู่อาศัยโดยมีที่ดินพร้อมบ้านจำนองเป็นประกัน ซึ่งหากจำเลยผิดนัดโจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ได้โดยไม่เสียหายอยู่แล้ว การลาออกของจำเลยก็มิได้เกิดจากการกระทำผิดหรือกระทำโดยมิชอบของจำเลย แต่เป็นเรื่องสุขภาพที่ฝ่ายโจทก์ขอให้จำเลยลาออกเอง ทั้งหลังจากลาออกแล้วจำเลยยังมีรายได้เพียงพอแก่การผ่อนชำระเงินกู้อีก ดังนั้น ที่โจทก์ใช้ทั้งสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินกู้ทั้งหมดในขณะเดียวกันก็รับการผ่อนชำระของจำเลยไปเรื่อยๆ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติว่า “ในการใช้สิทธิแห่งตน บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต” เมื่อการใช้สิทธิของโจทก์ไม่สุจริตอันไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแล้ว โจทก์ก็ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง

          การกระทำของโจทก์ตามข้ออ้างในคดีทั้งสองเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่แตกต่างและขัดกัน การดำเนินคดีที่โจทก์มุ่งประสงค์ต่อผลให้โจทก์ชนะคดีแน่นอนไม่ว่าศาลใดศาลหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงข้อความจริงซึ่งโจทก์ย่อมรู้ดี และเมื่อพิจารณาถึงคดีที่โจทก์ฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่อ้างเหตุว่าจำเลยปลอมเอกสารอันอาจเป็นมูลเหตุให้จำเลยถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาปลอมแปลงเอกสารด้วยแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10847/2555   การที่โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยอ้างว่าจำเลยปลอมหนังสือมอบอำนาจไปจดทะเบียนว่าโจทก์ให้ทรัพย์สินที่พิพาทแก่จำเลย และมาฟ้องคดีนี้ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ อ้างว่าโจทก์ทำสัญญาให้ทรัพย์สินที่พิพาทแก่จำเลยซึ่งแสดงว่าจำเลยไม่ได้ปลอมหนังสือมอบอำนาจ การกระทำของโจทก์ตามข้ออ้างในคดีทั้งสองเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่แตกต่างและขัดกัน ซึ่งหากศาลจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่าเป็นการปลอมหนังสือมอบอำนาจ ไม่ใช่การให้ทรัพย์สินพิพาทแก่จำเลย โจทก์ก็ชนะคดีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ แต่หากศาลจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่าไม่เป็นการปลอมเอกสาร ย่อมมีผลโดยปริยายว่าเป็นการให้อันเป็นประโยชน์แก่คดีนี้ จึงเป็นการดำเนินคดีที่โจทก์มุ่งประสงค์ต่อผลให้โจทก์ชนะคดีแน่นอนไม่ว่าศาลใดศาลหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงข้อความจริงซึ่งโจทก์ย่อมรู้ดี และเมื่อพิจารณาถึงคดีที่โจทก์ฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่อ้างเหตุว่าจำเลยปลอมเอกสารอันอาจเป็นมูลเหตุให้จำเลยถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาปลอมแปลงเอกสารด้วยแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

          ผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ศาลทราบความจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นป่าช้าฝังศพ เนื่องจากผู้ร้องเกรงว่าจะเป็นสาเหตุให้ศาลทราบว่าผู้ร้องไม่ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทอย่างสงบ เปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามที่ผู้ร้องอ้าง การดำเนินคดีของผู้ร้องดังกล่าวมาทั้งหมด เป็นการกระทำที่ไม่สุจริต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9757/2555   ตามพฤติการณ์ของผู้ร้องตั้งแต่ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและนำสืบพยานผู้ร้องในชั้นไต่สวนคำร้องขอเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ศาลทราบความจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นป่าช้าฝังศพ เนื่องจากผู้ร้องเกรงว่าจะเป็นสาเหตุให้ศาลทราบว่าผู้ร้องไม่ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทอย่างสงบ เปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามที่ผู้ร้องอ้าง การดำเนินคดีของผู้ร้องดังกล่าวมาทั้งหมดเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 5 ไม่สมควรที่ผู้ร้องจะได้รับประโยชน์จากการกระทำอันไม่สุจริตของตน คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จึงไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้

          พฤติการณ์ของโจทก์เสมือนหนึ่งว่าได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในถึงเรื่องที่จำเลยที่ 5 จะต้องถูกทางการสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการ และทางการจะให้ความช่วยเหลือเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 5 โดยออกมาตรการให้นำตั๋วแลกเงินซึ่งเป็นของสถาบันการเงินไปแลกเปลี่ยนเป็นบัตรเงินฝากของจำเลยที่ 4 ซึ่งหากยังคงเป็นตั๋วแลกเงิน 4 ฉบับ เดิมซึ่งเป็นของบริษัท น. อยู่ โจทก์ก็ไม่อาจนำไปแลกเปลี่ยนเป็นบัตรเงินฝากของจำเลยที่ 4 ได้ และดอกเบี้ยที่คิดรวมให้ในตั๋วแลกเงินตามฟ้องก็นำสืบให้รับฟังไม่ได้ว่าเป็นอัตราตามตลาดเงิน กรณีจึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมส่อไปในทางไม่สุจริตหรือไม่เป็นประเพณีการค้าปกติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5250/2555   โจทก์นำตั๋วแลกเงินของบริษัท น. ที่สั่งจ่ายแก่จำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 5 เป็นผู้รับอาวัลแก่โจทก์จำนวน 4 ฉบับ ไปไถ่ถอนคืนจากจำเลยที่ 5 ก่อนครบกำหนดอ้างว่าขอรับเป็นเงินสด แต่จำเลยที่ 5 ไม่มีเงินสด จำเลยที่ 5 จึงออกตั๋วแลกเงินตามฟ้องจำนวน 4 ฉบับ ให้แทน หลังจากนั้น 4 วัน จำเลยที่ 5 ถูกระงับการดำเนินกิจการชั่วคราว โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า โจทก์เคยไถ่ถอนก่อนครบกำหนดใช้เงินมาก่อนครั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการไถ่ถอนก่อนกำหนดเป็นประเพณีการค้าปกติ การเปลี่ยนเป็นตั๋วแลกเงินตามฟ้องเป็นผลให้มีเพียงจำเลยที่ 5 ต้องรับผิดต่อโจทก์เท่านั้น โดยบริษัท น. ซึ่งต้องร่วมรับผิดด้วยแต่เดิมหลุดพ้นความรับผิดไป ทั้งเป็นการเร่งรีบออกตั๋วแลกเงินตามฟ้องให้ใหม่ โดยพฤติการณ์เสมือนหนึ่งว่าได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในถึงเรื่องที่จำเลยที่ 5 จะต้องถูกทางการสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการ และทางการจะให้ความช่วยเหลือเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 5 โดยออกมาตรการให้นำตั๋วแลกเงินซึ่งเป็นของสถาบันการเงินไปแลกเปลี่ยนเป็นบัตรเงินฝากของจำเลยที่ 4 ซึ่งหากยังคงเป็นตั๋วแลกเงิน 4 ฉบับ เดิมซึ่งเป็นของบริษัท น. อยู่ โจทก์ก็ไม่อาจนำไปแลกเปลี่ยนเป็นบัตรเงินฝากของจำเลยที่ 4 ได้ และดอกเบี้ยที่คิดรวมให้ในตั๋วแลกเงินตามฟ้องก็นำสืบให้รับฟังไม่ได้ว่าเป็นอัตราตามตลาดเงิน กรณีจึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมส่อไปในทางไม่สุจริตหรือไม่เป็นประเพณีการค้าปกติ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้รับแลกเปลี่ยนตั๋วแลกเงินตามฟ้องเป็นบัตรเงินฝากของจำเลยที่ 4 ได้

          การทำนิติกรรมอำพรางเพื่อให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้อง ย่อมแสดงว่าผู้ร้องตระหนักดีว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ร้องฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกพฤติการณ์ของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8477/2563  การที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 มีชื่อร่วมในโฉนดที่ดินและสัญญาจำนองเป็นการถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ร้องนั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อในการถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทในส่วนที่จำเลยที่ 2 ยึดถือไว้แทนผู้ร้อง การที่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะได้รับความคุ้มครองไม่ให้ต้องเสื่อมเสียถึงสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้สามัญตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อไว้ต่อโจทก์ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นตัวแทนของผู้ร้องในการถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาท โจทก์จึงไม่ได้อยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 806 แต่เมื่อคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดของผู้ร้องระบุว่าการมีชื่อจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในโฉนดที่ดิน หนังสือสัญญาขายที่ดิน และสัญญาจำนอง เป็นการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้อง ย่อมแสดงว่าผู้ร้องตระหนักดีว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ร้องฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกพฤติการณ์ของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาท ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7